แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 794

สุ. ปัญญาเกิด ปัญญารู้อะไร แม้แต่อรรถของนามธรรม อย่าคิดว่ารู้แล้ว ต้องมีการประจักษ์ และการที่จะรู้ว่ารู้แล้วหรือยัง คือ ทางตากำลังเห็น รู้ไหม ทางหูกำลังได้ยิน รู้ไหม เมื่อไม่รู้ก็ต้องอบรม จนกว่าจะประจักษ์ในความหมาย ในลักษณะที่แท้จริงของนามธรรม และจะรู้ในอรรถจริงๆ ว่า ที่กล่าวว่าเป็นนามธรรม เป็นนามธาตุนั้นคืออย่างไร ไม่ใช่เพียงเข้าใจ และเมื่อรู้แล้ว ทางตาก็เป็นนามธาตุหรือ นามธรรมที่เป็นการเห็น ทางหูก็เป็นสภาพรู้ เป็นนามธาตุหรือนามธรรมที่เป็นการได้ยิน ถ้ารู้ในอรรถของนามธาตุ นามธรรมจริงๆ ไม่ว่าทางไหนก็ต้องรู้

เพราะฉะนั้น วิธีพิสูจน์ว่ารู้หรือยัง เข้าถึงอรรถของนามธาตุ นามธรรมจริงๆ หรือยัง ก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องพิสูจน์เพื่อให้รู้ว่า รู้หรือยังในความหมายของนามธรรม นามธาตุ ธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้

ผู้ฟัง ธรรมของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งจริงๆ เพราะผู้ที่ปฏิบัตินำข้อความที่ว่า เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว โดยยึดถือข้ออุปมาของอรรถกถา แต่ไปตีความหมายพยัญชนะในอรรถกถาผิด จึงนำมาซึ่งข้อปฏิบัติที่ผิด ธรรมของพระผู้มีพระภาครู้สึกว่า ละเอียดจนกระทั่งเหลือวิสัย จนกระทั่งศึกษาพระไตรปิฎกก็แล้ว ศึกษาอรรถกถาก็แล้ว แต่ก็ยังตีความผิด ลำบากจริงๆ

สุ. ลำบากมากที่จะเข้าใจในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ได้บำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม และทรงแสดงธรรมให้ผู้อื่นได้รู้ตาม เพราะฉะนั้น ธรรมที่จะรู้ต้องเป็นสิ่งที่ยากแน่นอน ซึ่งต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ จนกระทั่งเป็นความรู้จริงๆ เพราะคำว่า ญาณ หรือปัญญา หมายความถึง ความเข้าใจ ซึ่งมีขั้นต่างๆ ถ้าในขั้นต้น ขั้นการฟัง ยังไม่เข้าใจในอรรถที่ว่า นามธรรมหรือนามธาตุ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ รูปธรรมเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ มีลักษณะต่างๆ กัน ปรากฏทางตาก็ลักษณะหนึ่ง รูปหนึ่ง ปรากฏทางหูก็ลักษณะหนึ่ง รูปหนึ่ง ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ก่อน ความเข้าใจ หรือปัญญา หรือที่จะเป็นญาณ คือ การประจักษ์แจ้ง ในขณะที่ธาตุนั้นๆ กำลังเกิดกระทำกิจการงาน ก็ย่อมจะมีไม่ได้

เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องจดจ้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีความเข้าใจ หรือไม่มีความรู้อะไร และจะเข้าใจว่าเป็นญาณ เป็นปัญญาไม่ได้

ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โทณสูตร มีข้อความที่แสดงว่า แม้ผู้ที่เห็นพระผู้มีพระภาค ก็ไม่อาจที่จะทราบได้ว่า พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อความใน โทณสูตร มีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะและเมืองเสตัพยะ แม้โทณพราหมณ์ก็เดินทางไกลในระหว่างเมืองอุกกัฏฐะและเมือง เสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้เห็นรอยกงจักรในรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาคมี ซี่ตั้งพัน ประกอบด้วยกงและดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ครั้นเห็นแล้วจึงรำพึงว่า อัศจรรย์จริงหนอท่านผู้เจริญ สิ่งไม่เคยมีมามีขึ้น รอยเท้าเหล่านี้ชะรอยจักไม่ใช่รอยเท้ามนุษย์

ถ้าท่านผู้ฟังได้เห็นอย่างนี้จริงๆ ก็คงจะอดคิดเหมือนโทณพราหมณ์ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะคงจะไม่มีใครมีรอยเท้าที่มีซี่ตั้งพัน ประกอบด้วยกงและดุมเป็นแน่ ไม่ว่าในกาลไหน

ข้อความต่อไป

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทาง ประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง ทรงคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้งนั้น โทณพราหมณ์ติดตามรอยพระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง น่าพอใจ ควรแก่ความเลื่อมใส มีพระอินทรีย์อันสงบ มีพระทัยอันสงบ ถึงความฝึกฝนและความสงบอันยอดเยี่ยม มีตนอันฝึกแล้ว คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์อันรักษาแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ

ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและอบรมเจริญความสงบ เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้น กิริยาอาการท่าทาง แม้ในการนั่ง ก็เป็นการนั่งที่น่าเลื่อมใส เพราะว่ามีพระอินทรีย์อันสงบ ท่านผู้ฟังลองดูกิริยาอาการนั่งในขณะนี้ของท่านเอง อยู่ในอาการที่สงบน่าเลื่อมใสไหม เพราะถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบจริงๆ แม้แต่การนั่ง ก็อยู่ในอาการที่น่าเลื่อมใส

ข้อความต่อไป

ครั้นเห็นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า

ท่านผู้เจริญเป็นเทวดาหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ เรามิใช่เป็นเทวดา ฯ

โทณพราหมณ์ทูลถามว่า

ท่านผู้เจริญเป็นคนธรรพ์หรือ ฯ (คนธรรพ์เป็นอมนุษย์พวกหนึ่ง ซึ่งเป็นชั้น จาตุมหาราชิกา)

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ เรามิใช่เป็นคนธรรพ์ ฯ

โทณพราหมณ์ทูลถามว่า

ท่านผู้เจริญเป็นยักษ์หรือ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ เรามิใช่เป็นยักษ์ ฯ

โทณพราหมณ์ทูลถามว่า

ท่านผู้เจริญเป็นมนุษย์ใช่ไหม ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร พราหมณ์ เรามิใช่เป็นมนุษย์

โทณพราหมณ์ต้องแปลกใจมากทีเดียว จึงได้ทูลถามว่า

เราถามท่านว่าเป็นเทวดาหรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็นคนธรรพ์หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็นยักษ์หรือ ท่านตอบว่าไม่ใช่ เราถามว่าเป็นมนุษย์หรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นท่านผู้เจริญเป็นอะไรแน่ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ เราพึงเป็นเทวดา เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ดูกร พราหมณ์ เราพึงเป็นคนธรรพ์ ... เราพึงเป็นยักษ์ ... เราพึงเป็นมนุษย์ เพราะยังละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ อาสวะเหล่านั้นเราละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้เป็นดุจตาลยอดด้วน กระทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ดูกร พราหมณ์ เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกบัวขาว เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่พ้นน้ำ แต่น้ำมิได้แปดเปื้อน แม้ฉันใด ดูกร พราหมณ์ เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดในโลก เติบโตขึ้นในโลก อยู่ครอบงำโลก อันโลกมิได้ แปดเปื้อน ดูกร พราหมณ์ ท่านจงทรงจำเราไว้ว่า เป็นพระพุทธเจ้า ฯ

ความบังเกิดเป็นเทวดา หรือคนธรรพ์ ผู้เที่ยวไปในเวหา พึงมีแก่เราด้วย อาสวะใด เราพึงถึงความเป็นยักษ์ และเข้าถึงความเป็นมนุษย์ด้วยอาสวะใด อาสวะเหล่านั้นของเราสิ้นไปแล้ว เรากำจัดเสียแล้ว กระทำให้ปราศจากเครื่องผูกพัน ดอกบัวตั้งอยู่พ้นน้ำ ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ ฉันใด เราก็ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยโลก ฉันนั้น ดูกร พราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า ฯ

จบ สูตรที่ ๖

ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะได้พบพระผู้มีพระภาค ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์ได้ ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ที่สามารถเกื้อกูล อนุเคราะห์บุคคลอื่น ด้วยการทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังได้ประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งสามารถประจักษ์ในพระคุณที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอด ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้พระคุณของพระผู้มีพระภาคจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นก็จะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลอื่นได้ประพฤติปฏิบัติตามและรู้แจ้งด้วย

และถึงแม้ว่ายังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่เพียงฟังเรื่องของสภาพธรรมและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้หนทางข้อประพฤติปฏิบัติ และเริ่มอบรมปฏิบัติ ก็ย่อมจะเห็นแนวทางได้ว่า ทางนี้เป็นทางให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับตามความเป็นจริงได้

แต่ถ้าไม่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ก็ยังไม่ทราบว่า ทำอย่างไรจึงจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับจริงๆ ตามที่ได้เข้าใจ ตามที่ได้ฟัง ซึ่งเมื่อได้ฟังก็ทราบว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง การเห็นไม่เที่ยง เพราะไม่ได้เห็นตลอดเวลา มีการได้ยินเกิดขึ้นด้วย ชั่วขณะที่กำลังได้ยิน คือ ขณะที่กำลังรู้เสียง ขณะนั้นจะไม่มีสภาพอื่นปรากฏเลย จะไม่มีการเห็นในขณะนั้น ในขณะที่กำลังรู้เสียง ในขณะที่กำลังได้ยิน จะไม่มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้นแน่นอน หรือในขณะที่กำลังเห็น จะไม่มีการได้ยินปรากฏในขณะที่กำลังเห็นด้วย แต่เมื่อไม่อบรมเจริญปัญญา ก็เป็นเพียงความเข้าใจว่า สภาพธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ยังไม่ประจักษ์ตามความเป็นจริง

เมื่อรู้หนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้สามารถรู้ได้ และเริ่มอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ท้อถอย วันหนึ่งก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมได้ เช่นเดียวกับพระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านได้ประจักษ์แล้ว

ขณะนี้ กำลังเห็นอย่างนี้ กำลังได้ยินอย่างนี้ โดยที่เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อนก็ไม่เคยรู้เลยว่า จะเห็นอย่างนี้ จะได้ยินอย่างนี้ และพรุ่งนี้จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร ก็ไม่รู้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เห็น ทำให้ได้ยิน เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ปีก่อน ปัญญาก็ย่อมเจริญ สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ไม่ว่าจะเห็นอะไรในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้ หรือในอีก ๑๐ ปี หรือในอีก ๒๐ ปี หรือในอีก ๑๐๐ ปี อีก ๕๐๐ ปี หรืออีก ๒,๐๐๐ ปี

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ก็คือ การระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อที่จะประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่ทราบว่าจะเป็นอีก ๒,๐๐๐ ปี ๓,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปี หรืออีกกี่กัปก็แล้วแต่ แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ก็ย่อมสามารถมีปัจจัยให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตจริงๆ เพราะไม่มีใครรู้ว่า หลังจากชาตินี้แล้วชาติต่อไปจะเป็นอะไร จะเกิดที่ไหน จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะคิดนึกอย่างไร เหมือนอย่างเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน ท่านผู้ฟังก็ไม่ทราบว่า ท่านจะนั่งอยู่ที่นี่ มีการเห็น มีการได้ยินสภาพธรรม ต่างๆ เหล่านี้

ผู้ฟัง สัตว์ทั้งหลาย ที่จะไม่เคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นลูก เป็นหลานกันมา ไม่มี หาได้ยาก และสอนตนอีกข้อหนึ่งด้วยว่า ถ้าผู้ใดถูกโจรจับไปเลื่อย ผู้นั้นต้องไม่คิดอาฆาตพยาบาท ถ้าใครคิดอาฆาตพยาบาท คนนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่ข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง ให้พยายามมองในแง่ดีของบุคคลนั้น คือ คนเราทั่วไปต้องมีดีมีชั่ว บางทีทางกาย ทางวาจาเขาไม่ดี แต่ทางใจเขาดี ก็ให้พยามยามมองในแง่ดีของบุคคลนั้น โทสะ พยาบาท ก็อาจจะทุเลาเบาบางลงได้

อีกข้อหนึ่ง ให้ดูพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่าง เช่น พระโพธิสัตว์ไปเกิดเป็นฤๅษี ถูกพระเจ้าแผ่นดินตัดหู ตัดจมูก ตัดลิ้น จนกระทั่งตาย พระโพธิสัตว์ก็ไม่มีความอาฆาตพยาบาท และข้อสุดท้าย ให้พยายามให้สิ่งของกับศัตรู เพื่อดับพยาบาท นี่คือวิธีสอนตนต่างๆ ใน วิสุทธิมรรค ผู้ที่จะเจริญเมตตาพรหมวิหาร ให้พยายามระลึก แผ่ส่วนกุศลให้ศัตรู เวลานึกถึงศัตรู ความโกรธจะเกิดขึ้น ก็ให้นึกถึงข้อที่จะสอนตน ๙ ประการ พยายามนึกไปเรื่อยๆ ความโกรธ โทสะ พยาบาทก็จะหายไป

สุ. และสำเร็จไหม

ผู้ฟัง ถ้าสอนตนบ่อยๆ ต้องสำเร็จแน่ ถ้าทำได้ทั้ง ๙ แบบ แบบนี้ทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ทำแบบต่อไป แบบต่อไปทำแล้วไม่สำเร็จ ต้องทำอีก พยายามทำทุกแบบ ต้องสำเร็จแน่ๆ

สุ. เป็นการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ ซึ่งไม่ใช่ว่าได้ตามหวัง หรือตามความตั้งใจ แต่ตามเหตุตามปัจจัย คือ การสะสม

อย่างท่านที่สงสัยเรื่องลักษณะของสติ ทางตากำลังเห็นอย่างนี้จะระลึกอย่างไร ทางหูกำลังได้ยินอย่างนี้ ปัญญาจะรู้ได้อย่างไรว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วันนี้สงสัย ฟังต่อไปๆ มนสิการ พิจารณาเนืองๆ เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้บ้าง แต่ขณะที่ระลึกได้ ไม่ใช่ว่าหมดความสงสัยทันที เพราะที่จะหมดความสงสัยหรือดับความสงสัยได้ไม่เกิดอีกเลยนั้น ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ชัดเจน แทงตลอดเป็นขั้นๆ

เพราะฉะนั้น การที่ยังสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม เป็นเรื่องธรรมดา ขณะใดที่สติเกิด เพียงสติเท่านั้นไม่พอ เพราะว่าสติเป็นสภาพที่ระลึก คือ ไม่หลงลืม อยู่ที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สติไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อมีการระลึกแล้ว ไม่ใช่ว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม และลักษณะของนามธรรมซึ่งกำลังเป็นสภาพรู้ในขณะนั้นว่าเป็นนามธรรม แต่จะต้องมีการน้อมไป โดยไม่ใช่คิด นี่คือการที่จะฟังเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานโดยละเอียดว่า สติปัฏฐานไม่ใช่การคิด แต่เป็นการน้อมไป เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ทีละเล็กทีละน้อย และสติก็จะเกิดเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วครู่ น้อยมากทีเดียว ในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุไร

ทางตาเห็น แต่ว่าไม่เคยระลึกลักษณะของสภาพรู้ที่เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาว่าไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏที่กายในบางครั้ง เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ว่าไม่มีความชำนาญ เพราะว่าไม่ได้อบรมการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมสภาพรู้ทางตา หรือสภาพรู้ทางหู เพียงแต่ว่าเริ่มระลึกรู้ลักษณะที่อ่อนบ้าง แข็งบ้างทางกาย เพราะฉะนั้น สติจะเกิดดับน้อยมาก สั้นมาก เพราะเมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา สติก็ไม่น้อมไปที่จะระลึกบ่อยๆ และเมื่อสติเริ่มระลึกทวารใดหรือทางใดแล้ว ย่อมดับ เพราะทวารอื่นเกิดเพราะเหตุปัจจัยปรากฏ และยังไม่ได้ระลึกเลย เพราะฉะนั้น ช่วงนั้นก็ต้องขาดไป จะให้มีสติเกิดติดต่อกันอย่างมากมาย ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะสติกับปัญญาจะต้องอบรมเจริญไปพร้อมๆ กัน

เวลาที่รู้ว่า ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตาบ้าง แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็เป็นการเริ่มต้น ด้วยเหตุนี้ในมหาสติปัฏฐานจึงมีพยัญชนะที่ว่า ปรารภ บ่อยๆ เนืองๆ คือ เริ่มอีกๆ เรื่อยๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็เริ่มอีก ทางตาหมดไปแล้ว ระลึกแล้วก็ยังไม่รู้ชัด เพราะฉะนั้น ก็เริ่มอีก

เปิด  257
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566