แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 796

สุ. ในคราวก่อนๆ เป็นเรื่องของพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ในวันนี้ขอกล่าวถึงเรื่องสีลานุสสติ คือ การระลึกถึงศีลเนืองๆ บ่อยๆ จิตจึงจะสงบระงับจากการเป็นอกุศลที่เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

สีลานุสสติ เป็นอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต และการระลึกถึงศีลที่จะเป็นไปได้อย่างมั่นคงสงบถึงขั้นอุปจาระนั้นสำหรับผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์อย่างพระโสดาบันบุคคลและพระอริยเจ้าทั้งหลายเท่านั้น สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ยังเป็นผู้ที่ไม่มั่นคงในศีล แม้เพียงศีล ๕ ก็ยังมีการล่วงศีล ๕ ในบางครั้ง บางขณะ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีปกติล่วงศีล เวลาที่นึกขึ้นได้ย่อมกระสับกระส่าย กระวนกระวาย เดือดร้อน จิตไม่สงบเลย ฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสีลานุสสติแล้วจิตสงบ จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติรักษาศีล มีความมั่นคงในศีล

สำหรับเรื่องของศีล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกาย วาจา และถ้าเป็นเรื่องละเอียด ก็ควรที่จะถึงใจด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าท่านสังเกตดูในวันหนึ่งๆ ศีลของท่านมีพอที่จะระลึกแล้วสงบไหม ถ้าท่านรักษาศีล ๕ ได้ในวันนี้ เป็นผู้ที่ไม่ได้ทำชีวิตสัตว์อื่นให้ตกล่วงไป ไม่ได้ถือเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตน ไม่ได้ประพฤติผิดในกาม ไม่ได้มุสา ไม่ได้ดื่มสุราของมึนเมาต่างๆ แต่ว่าทางกายเวลาที่เกิดอกุศลจิต เช่น ความโกรธ มีการกระทำทางกายที่ไม่ควรจะกระทำบ้างไหม แม้ด้วยสีหน้า แววตา และน้ำเสียง ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะไม่เห็นโทษเลยว่า แม้แต่เพียงการแสดงทางกายด้วยอกุศลจิตก็เป็นสิ่งที่ควรละเว้น เพราะขณะนั้นเป็นกายวิญญัติ เป็นรูปที่เกิดจากอกุศลจิตที่ต้องการจะแสดงอาการให้ปรากฏ ให้เป็นที่รู้ ซึ่งขณะนั้นเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน

หรือทางวาจาก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่มุสาวาท ไม่ใช่ปิสุณาวาจา ไม่ใช่ผรุสวาท ไม่ใช่สัมผัปปลาปวาจา แต่ว่าเสียงที่กระด้างมีไหม ควรหรือไม่ควรที่จะงดเว้น ถ้าท่านกระทำกับบุคคลที่ท่านคิดว่าท่านควรจะกระทำด้วย ในขณะนั้นจิตอาจจะไม่เห็นโทษว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ว่าบางครั้งกระทำกับบุคคลซึ่งท่านไม่ควรจะกระทำ เช่น เป็นผู้ที่สูงอายุกว่า หรือว่าเป็นผู้ที่มีพระคุณ และสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นกายทุจริต เป็นวจีทุจริต ที่ควรจะงดเว้น

เพราะฉะนั้น ถ้าการกระทำใดๆ ก็ตามทางกาย หรือทางวาจาที่ได้กระทำไปแล้วด้วยอกุศลจิต และเกิดระลึกขึ้น เมื่อเป็นอกุศลก็ย่อมทำให้จิตเดือดร้อน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่สงบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะสงบจริงๆ นอกจากการจะระลึกถึงศีล ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะรู้สภาพลักษณะของกาย วาจา และก็งดเว้นการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจาที่ไม่สมควรด้วย

ถ้าท่านเป็นบุคคลที่อบรมเจริญสติอย่างละเอียดจริงๆ เวลาที่ระลึกถึงศีล จิตย่อมผ่องใส และถ้าท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่มีการที่จะต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับการล่วงทุจริตที่เป็นอกุศล เพราะท่านเป็นผู้ที่มีศีล ๕ ที่มั่นคง ความสงบนั้นก็สามารถถึงอุปจารสมาธิได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งที่ระลึกถึงศีลแล้วจิตจะสงบถึงอุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้น จะต้องทราบด้วย ความสงบของจิตเป็นขณะๆ จนกระทั่งมั่นคงขึ้น และปัญญาก็รู้ว่า ขณะนั้นจิตสงบมั่นคงขึ้น มั่นคงขึ้นอีก จนกว่าจะเป็นอุปจารสมาธิ และผู้นั้นย่อมประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์และรู้ชัดในลักษณะของความสงบของจิต แต่ต้องเริ่มจากปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า ขณะนี้จิตสงบไหม

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา จะต้องมีสติพร้อมสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิต แต่ว่าเป็นปัญญาที่ต่างขั้นกัน สำหรับการอบรมเจริญสมถภาวนานั้น เป็นเพราะเห็นโทษของอกุศลจิตอย่างกลางซึ่งเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่ล่วงเป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา เมื่อเห็นโทษของอกุศลจิตอย่างกลาง ก็ต้องหมายความว่า สติและสัมปชัญญะต้องมี ซึ่งสามารถที่จะรู้ว่า จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะถ้าเป็นจิตที่สงบต้องเป็นกุศล ถ้าเป็นอกุศลจะสงบไม่ได้ และเพราะสมถภาวนานั้นละนิวรณธรรม ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบให้จิตมั่นคงจริงๆ ต้องมีสติและสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

ความยากอยู่ที่ว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อบรมเจริญสติก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ ก็ไม่สามารถเจริญความสงบได้ เพราะถ้าเป็นความยินดีพอใจทางตาตามปกติ แต่ว่ายังไม่ล่วงเป็นทุจริตกรรม ผู้นั้นก็ยังไม่รู้ว่า เป็นความยินดีพอใจทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย นี่เป็นปัญญาของผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา คือ ความสงบจากอกุศลให้มั่นคงจนกระทั่งเป็นสมาธิขั้นต่างๆ ซึ่งต่างกับปัญญาของวิปัสสนาที่รู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นความสงบ หรือไม่สงบก็ตาม ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น สมถภาวนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ หรือไม่ว่าจะเป็นอสุภกัมมัฏฐาน หรือกสิณอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งของ สมถภาวนาก็ตาม ที่สติและปัญญาจะไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบและจิตที่ไม่สงบว่าเป็นสภาพที่ต่างกันนั้น ไม่มี และการที่จะไปจดจ้องโดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพของจิต ย่อมไม่สามารถที่จะเจริญความสงบได้

ถ. นิวรณธรรมทั้ง ๕ เป็นเครื่องกั้นสมถภาวนา กั้นอย่างไร เวลาจะเจริญสมถภาวนา นิวรณ์ที่เกิดขึ้นมากั้นอย่างไร

สุ. เวลานี้มีไหม ข้อสำคัญที่จะต้องรู้ ทุกขณะที่เป็นของจริงที่กำลังปรากฏต้องมีปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า ขณะนี้มีนิวรณ์ไหม

นิวรณ์ หมายความถึงอกุศลธรรม กามฉันทนิวรณ์ คือ โลภมูลจิต จิตที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

กามฉันทะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ทราบแล้วใช่ไหมว่า มีนิวรณ์ และทราบเหตุไหมว่า เพราะอะไรจึงมีนิวรณ์

เรื่องของการอบรมเจริญภาวนา เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ถ้าเป็นสมถภาวนาก็เป็นปัญญาที่จะต้องรู้ความสงบของจิตซึ่งต่างกับความไม่สงบ ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาก็รู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม แม้แต่ความไม่สงบ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนา ในขณะนี้ทราบว่ามีนิวรณ์ ก็จะต้องรู้ด้วยว่าเพราะอะไรจึงเป็นนิวรณ์ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็อบรมเจริญสมถภาวนาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ทราบจริงๆ ว่า มีนิวรณ์ แต่นิวรณ์เกิดเพราะอะไร ถ้าไม่รู้เหตุ ไม่สามารถละนิวรณ์ได้ ลองพิจารณาเหตุผล จะทราบได้ไหมว่า นิวรณ์เกิดเพราะอะไร

นิวรณ์เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะไม่ใช่อารมณ์ของสมถะหรือวิปัสสนา เพราะสติไม่ได้เกิดระลึกเป็นไปในอารมณ์ของความสงบ หรือในอารมณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะให้จิตละจากนิวรณ์ ก็กระทำได้โดยไม่รู้อะไร หรือว่าใครอยากจะให้ปัญญาเกิด ก็กระทำได้โดยไม่รู้อะไร ซึ่งปกติในชีวิตประจำวันมีการเห็นซึ่งเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ยังมีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลที่เกิดเพราะการเห็น คือ ความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็นเป็นปกติ โดยการศึกษาทราบว่า การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไป เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ในขณะนี้การเห็นนับไม่ถ้วนเกิดดับสืบต่อกัน สลับด้วยจิตอื่นอีกนับไม่ถ้วน แต่ด้วยความรวดเร็วของการเกิดดับทำให้ไม่เห็นว่า การเห็นเกิดขึ้นและก็ดับไป แต่ทำให้เข้าใจผิดเห็นว่า เห็นอยู่ตลอดเวลาไม่มีการเกิดดับเลย เพราะอะไร นี่ต้องมีเหตุผลอีกเหมือนกัน

เพราะเหตุว่ามีความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ เมื่อสักครู่นี้ดับไปแล้ว มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น มีความพอใจยินดีในสิ่งที่ปรากฏและในการเห็นเป็นพื้นฐาน เกือบจะไม่มีการรู้สึกตัวเลยว่า เมื่อเห็นและก็พอใจในสิ่งที่เห็น เมื่อได้ยินก็มีความพอใจ มีความต้องการได้ยินและเสียง ความยินดีพอใจซึ่งเกิดเพราะเห็น เพราะได้ยิน ก็เกิดติดตามการเห็น การได้ยินอย่างรวดเร็ว นี่เป็นเหตุที่ทำให้ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม และเป็นเหตุที่ทำให้ไม่รู้ว่า นิวรณธรรมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งแท้ที่จริงเกิดขึ้นเพราะขณะนั้นขาดสติสัมปชัญญะ ที่เป็นไปในอารมณ์ของสมถะหรือในอารมณ์ของสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ถึงความต่างกันของผู้ที่ยังเป็นปุถุชนและผู้ที่เป็น พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ เป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญปัญญา ซึ่งกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล จะต้องรู้ปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อมีนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้น และยังเห็นปัจจัย คือ ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นปัจจัยหรือสมุทัยแล้ว จึงละสมุทัย คือ ความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ความต่างกันของปุถุชนกับพระอรหันต์ คือ ปุถุชนเห็น พระอรหันต์เห็น ไม่ต่างกันเลยในเรื่องการเห็น เมื่อมีปัจจัยให้การเห็นเกิดขึ้นก็เห็นสิ่งที่เกิดปรากฏ แต่สำหรับ พระอรหันต์นั้น เมื่อเห็นแล้วไม่มีความพอใจ ยินดี ติดข้องในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏและ ในการเห็น

เมื่อศึกษาวิถีของจิตจะทราบได้ว่า หลังจากจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์นั้นต่อแล้ว สันตีรณะพิจารณาอารมณ์นั้นแล้วดับไป โวฏฐัพพนะเกิดขึ้นและดับไป อารมณ์นั้นยังไม่ดับ โลภมูลจิตเกิดต่ออีก ๗ ขณะ ๗ เท่าของการเห็นครั้งหนึ่งๆ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะไปกั้นกระแสของอกุศลธรรมเหล่านั้นได้ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิดขึ้นเป็นไปในกุศล

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับกิเลสจริงๆ ย่อมเห็นว่า มีทางเดียวเท่านั้น คือ ปัญญาที่รู้ชัด รู้จริง รู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุปัจจัย และอบรมปัญญาจนกระทั่งคมกล้า สามารถที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับ แม้ในขณะนี้ ปัญญาก็จะต้องรู้ว่าที่จิตไม่สงบ ที่กล่าวว่าเป็นกามฉันทนิวรณ์นั้น ก็เพราะสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในอารมณ์ของสมถะหรือในอารมณ์ของวิปัสสนา เพราะถ้าเป็นวิปัสสนา คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติเกิดระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นต้องสงบด้วย เพราะว่าประกอบด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลในขณะนั้นจึงสงบ ไม่ใช่สงบได้เพียงโดยการน้อมระลึกถึงอารมณ์ของสมถะเท่านั้น

ถ. ปัจจัยให้นิวรณ์เกิดขึ้น เพราะว่าไม่ได้อยู่ในอารมณ์ของสมถภาวนา หรือว่าในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ผมสงสัยว่า ขณะที่กำลังวิรัติทุจริตกรรม หรือว่ารักษาศีล หรือว่าขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล แต่ไม่ได้อยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานทั้ง ๒ ขณะนั้นจะเป็นนิวรณ์หรือไม่

สุ. จิตเกิดขึ้นทีละขณะ ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่กุศล และขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล แต่ที่ไม่ทราบชัด ก็เพราะจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วเหลือเกิน ขณะนี้นับไม่ถ้วนแล้วที่เกิดขึ้นดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เริ่มเกิดขึ้นบ้าง ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและศึกษา ก็ไม่มีหนทางที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่เป็นอกุศลขณะนั้นไม่ใช่กุศล และขณะใดที่เป็นกุศลขณะนั้นไม่ใช่อกุศล

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ไม่ได้หมายความว่า กุศลจิตจะไม่เกิดเลย ท่านที่สะสมกุศลมาในอดีต บางท่านเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในการให้ทาน บางท่านเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในการรักษาศีล บางท่านเป็นผู้ที่เกิดเมตตา กรุณา มุทิตา หรืออุเบกขาตามควรแก่เหตุปัจจัยในขณะนั้น โดยที่ไม่ใช่การอบรมเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้นถึงขั้นภาวนาที่จะเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ กุศลที่เป็นไปในทานเกิดขึ้นได้ฉันใด ความสงบของจิตที่เป็นไปในอารมณ์ของสมถะย่อมเกิดขึ้นได้ ฉันนั้น เป็นขณะๆ เป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่ขณะที่จิตสงบมั่นคงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่เป็นสมาธิเป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงฌานจิต

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของความต่างกันด้วย ขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลเป็นไปในทาน ไม่ใช่ขณะที่สติระลึกถึงจาคะ การสละกิเลส ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเป็นไปได้แล้วสงบ ทานกุศลเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม แต่ไม่ใช่ในขณะที่เป็นจาคานุสสติ ซึ่งเป็นขณะที่ระลึกถึงจาคะ กุศลที่สามารถสละความตระหนี่ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ระลึกถึงกุศลนั้นและจิตสงบ ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ทานานุสสติ แต่ว่าเป็นจาคานุสสติ เพราะถ้าระลึกถึงทาน บางคนก็อาจจะยังคงเห็นว่า ทานนั้นจะมีผล และก็ปลาบปลื้มใจในผลที่จะเกิดขึ้น ขณะที่กำลังปลาบปลื้มพอใจ ในขณะนั้นย่อมไม่สงบ หรือมีความรู้สึกว่าเป็นทานของเรา ขณะนั้นก็ไม่สงบ หรือในขณะที่ระลึกถึงทานด้วยความมานะในวัตถุที่สละไปว่า เป็นวัตถุที่ประณีต เป็นของเราซึ่งเรามีของที่ประณีตและสามารถที่จะให้กับบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้ ขณะนั้นก็ ไม่สงบ

เพราะฉะนั้น กุศลจิตและอกุศลจิตใกล้เคียงกันมาก เพราะเกิดดับสลับกันได้อย่างรวดเร็ว ต้องเป็นสติและปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะรู้ชัดได้จริงๆ ว่า กุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล แม้ในจาคานุสสติ การที่จะระลึกถึงทานที่ได้กระทำแล้ว ก็ไม่ใช่การระลึกถึงที่จะทำให้เกิดอกุศล แต่ต้องเป็นจาคะ การระลึกถึงความผ่องใสของจิตที่สามารถจะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น

เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน เพราะถ้าปกติในชีวิตประจำวันจิตไม่สงบ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะสามารถทำให้เกิดความสงบที่มั่นคงถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิด้วยความไม่รู้

ถ. เรื่องของสมถภาวนา ผมได้ยินมาว่า ก่อนที่ฌานจิตจะเกิดขึ้นจะต้องเห็นโทษของกาม ฌานจิตจึงจะเกิดได้ ผมอ่านใน วิสุทธิมรรค นางอุตตราก็ดี นางสามาวดีก็ดี ท่านก็ครองเรือนมีสามี ท่านไม่ได้ละกาม ทำไมท่านจึงมีฌานได้

สุ. ฌานจิตเกิดทั้งวัน ทั้งคืน ทั้งเดือน ทั้งปี ติดต่อกันไปไม่ได้ ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ตั้งมั่นคงถึงอย่างนั้น และเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นขณะใด อกุศลธรรมก็เกิดขึ้นในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคไม่ต้องทรงตรัสรู้หนทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าใครสามารถที่จะสงบได้โดยที่อกุศลธรรมที่สะสมนอนเนื่องอยู่ในจิตไม่เกิดขึ้นเลย

เปิด  241
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566