แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 799

สุ. ลักษณะของความสงบของจิต ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ พร้อมสัมปชัญญะ จึงจะอบรมเจริญความสงบให้มากขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ระลึกถึงทานและสงบจนกระทั่งเป็นสมาธิถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิ จึงเป็นพระอริยบุคคล

แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ควรที่จะระลึกถึงทานเพื่อที่จะให้เห็นจาคะ คือ การสามารถสละวัตถุซึ่งเคยเป็นที่ติดข้องยินดีพอใจให้บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นได้ เพราะการสละแม้วัตถุเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นก็ไม่ใช่จะกระทำได้ง่าย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สามารถกระทำได้ ขณะนั้นให้เห็นกำลังของกุศลซึ่งเกิดขึ้น แล้วสละ ถ้าสามารถจะเกิดการกระทำทานกุศลและเข้าใจถูกต้องด้วยว่า ขณะนั้นเป็นกำลังของกุศลประการหนึ่งที่สามารถจะสละแม้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ขณะนั้นก็จะรู้ว่า กุศลจิตเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับอกุศลจิต ควรเจริญ และเมื่อเจริญแล้ว ก็จะทำให้จิตระลึกถึงความผ่องใสของจิตที่ปราศจากความตระหนี่ในการสละวัตถุให้บุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น โดยไม่ติดข้องผูกพันในผลที่จะเกิดขึ้น โดยไม่มีมานะความทะนงตนที่สามารถจะเป็นผู้ให้ได้

บางท่านอาจสังเกตได้ว่า ในการให้แต่ละครั้งจะติดตามมาด้วยอกุศลหรือไม่ หรือว่าอาจจะมีอกุศลเกิดสลับ เพราะบางครั้งวัตถุที่ให้เป็นสิ่งที่ประณีต เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นความประณีตในวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่ตนสละให้ ก็อาจจะเกิดความทะนงตนในการที่สามารถสละวัตถุที่ประณีตนั้นก็ได้

เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะขัดเกลากิเลสก็เป็นเรื่องที่จะต้องละเอียดตามขณะของจิตด้วย ซึ่งปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล จึงจะละอกุศล และอบรมเจริญกุศลให้มากขึ้น

สำหรับเรื่องความติด หรือความตระหนี่ ทุกคนยังมี เพราะไม่สามารถที่จะสละวัตถุทรัพย์สมบัติทั้งหมด โดยเฉพาะคฤหัสถ์ก็ไม่ใช่เพศบรรพชิต หรือแม้แต่ผู้ที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นจากความตระหนี่ หรือความติดในวัตถุซึ่งเป็นที่พอใจได้ แม้ว่าตามพระวินัยบัญญัติสิ่งที่บรรพชิตจะพึงมีก็ไม่ได้มีมากมาย แต่แม้กระนั้นความยินดี ความติดข้อง ความตระหนี่ในวัตถุที่มี ก็ยังไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท

ข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งใน ทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร ข้อ ๒๕๖ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมูลเหตุของความตระหนี่กับท้าวสักกะจอมเทพ คือ พระอินทร์ ในถ้ำอินทสาละ ณ เวทิยกบรรพต ด้านทิศอุดรแห่งพราหมณคาม ชื่ออัมพสัณฑ์ อันตั้งอยู่ด้านทิศปราจีนแห่งนครราชคฤห์ ในแคว้นมคธ

ข้อความมีว่า

... ท้าวสักกะจอมเทพได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ความริษยาและความตระหนี่มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยาและความตระหนี่จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี ฯ

ผู้ที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะละความริษยา ความตระหนี่ หรือกิเลสต่างๆ ได้ เพราะไม่ทราบว่ามีอะไรเป็นสมุทัย คือ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความริษยาและความตระหนี่จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

คงไม่มีใครอยากจะมีความริษยาและความตระหนี่มากๆ รู้ว่าความตระหนี่เป็นอกุศล อยากจะให้หมด แต่ตรงกันข้าม หมดไม่ได้ มีแต่ความพอใจ มีแต่ความ ติดข้อง มีแต่ความหวงแหน มีแต่การที่ไม่สามารถจะสละให้ จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ในเหตุของความตระหนี่ และต้องอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จอมเทพ ความริษยาและความตระหนี่มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด อันเป็นแดนเกิด เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่จึงมี เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี ฯ

ถ้าไม่มีอารมณ์ซึ่งเป็นที่รัก ก็คงจะไม่มีการติด และคงจะไม่มีการหวงแหน แต่ว่าไม่ใช่เพียงอารมณ์อันเป็นที่รักเท่านั้นที่เป็นสมุทัยของความริษยาและความตระหนี่ ยังมีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักด้วยเป็นกำเนิด เป็นแดนเกิดของความริษยาและความตระหนี่ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ความริษยาเกิดขึ้น จะริษยาในบุคคลซึ่งท่านไม่รักหรือว่าไม่เป็นที่รักของท่าน ถ้าบุคคลที่เป็นที่รักมีความเจริญรุ่งเรือง ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ท่านจะดีใจปลาบปลื้ม หรือว่าจะริษยา เพราะฉะนั้น ความริษยา มีอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นสมุทัยด้วย

ความตระหนี่ก็เช่นเดียวกัน ความหวงแหนสิ่งที่ท่านมี ไม่สามารถที่จะสละ แบ่งปันให้กับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก แต่กับบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ไม่มีการหวงแหน ไม่มีการตระหนี่เลย

เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้ฟังแล้ว ก็ได้ทูลถามถึงเหตุของอารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก เพราะจะเป็นเพียงอารมณ์ธรรมดาๆ เท่านั้นไม่ได้หรือ เพราะเหตุใด เหตุของความริษยาและความตระหนี่จึงต้องเป็นอารมณ์อันเป็นที่รัก และอารมณ์อันไม่เป็นที่รักด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จอมเทพ อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีความพอใจ เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี ฯ

นี่เป็นชีวิตประจำวันซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบว่า ทำไมเวลาที่อารมณ์ปรากฏ จึงไม่รู้ในสภาพของอารมณ์นั้นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่ามีกิเลสเป็นผู้ประมาณอารมณ์นั้นให้เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รัก ตามลักษณะของกิเลสที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพจึงตรัสถามพระผู้มีพระภาคถึงเหตุของอารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักนั้นว่าคืออะไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบว่า อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย

ทันทีที่เห็น แทนที่จะเห็นเป็นเพียงอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจตามความเป็นจริง แต่กลับมีความพอใจเป็นเหตุให้อารมณ์นั้นเป็นที่รักทันที เป็นที่พอใจทันที เป็นที่ติดข้องทันที ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบไหมว่า ทันทีที่เห็นในขณะนี้มีความพอใจ หรือไม่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า ซึ่งตามปกติย่อมมีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ แม้ว่าอารมณ์จะเกิดดับอย่างรวดเร็วสักเพียงไรก็ตาม ผู้ที่ยังมีอวิชชาอยู่เป็นปัจจัย ย่อมทำให้เกิดความยินดีในขณะที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สติไม่เกิด

ขอให้พิจารณาถึงเสียงที่กำลังปรากฏ ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ความไม่รู้เสียงยังมี เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่เสียงปรากฏ ย่อมมีจิตซึ่งยินดีพอใจในเสียงที่ปรากฏ ถ้าขณะนั้นสติไม่ระลึกรู้ในลักษณะของเสียงที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏแล้วก็หมดไป

ไม่รู้เลยใช่ไหม ในวันหนึ่งๆ แต่ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าสติไม่เกิด วันหนึ่งๆ จิตเป็นไปในอกุศลอย่างมากทีเดียว

ข้อความต่อไป ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามต่อไปถึงเหตุของความพอใจว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ความพอใจมีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี ฯ

ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ตลอดทางที่จะมาฟังธรรม หรือว่าขณะที่เดินผ่านไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง เห็นสิ่งนั้นบ้าง เห็นสิ่งนี้บ้าง บางครั้งก็ไม่ได้สังเกต ไม่ได้สนใจในสิ่งที่เห็นเลย เกือบจะไม่รู้ด้วยว่าเห็นอะไร ถ้าท่านผู้ฟังไปตามแถวที่มีของขายมากมาย ท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่วางขาย หรือว่าบางอย่างก็ไม่เห็นเลย อาจจะเข้าไปในร้านหนึ่งที่มีของขายหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้เห็นทั่วหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแต่เพียงบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น ในขณะนั้นอาจจะไม่ทราบว่า มีความพอใจในการเห็น ในสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นเพราะอะไร แต่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพว่า ดูกร จอมเทพ ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด

ความตรึก คือ ความคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิสูจน์ธรรมได้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้นไหม ที่บางครั้งเห็นเหมือนไม่เห็น เพราะว่าไม่ได้สนใจ และไม่ได้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่เวลาที่มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ขณะนั้น เพราะรู้ในรูปร่างสัณฐาน คือ ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง รู้ว่าในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ปัญญาจะรู้ละเอียดจริงๆ คือ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง รู้ว่าในขณะที่เห็นไม่ใช่ในขณะที่คิดถึงรูปร่างสัณฐาน และถ้ามีความยินดีพอใจเกิดขึ้น ลักษณะของความยินดีพอใจนั้นก็เกิดเมื่อมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ

ผู้ฟัง มีเด็กเอาของไปใช้ เป็นของใช้ส่วนตัว ความจริงในใจดิฉันก็อนุญาตให้เขาใช้อยู่แล้ว แต่วันนั้นไม่รู้ว่าเกิดคิดอะไรขึ้นมาว่า เอาไปเก็บไว้ อย่าให้เขาใช้ และสติก็ระลึกถึงความน่ารังเกียจของจิตนั้น ซึ่งก็เป็นของนิดหน่อย ทำไมไปรู้สึกอย่างนั้น แต่พอมีสติระลึกได้ ก็ให้เขาใช้

สุ. ธรรมเป็นชีวิตประจำวัน ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตจริงๆ จะรู้ได้ว่า แต่ละขณะเป็นลักษณะของสภาพธรรมตามที่ทรงแสดงไว้ทุกประการ แม้ลักษณะของความตระหนี่ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อสังเกตแล้ว พิจารณาแล้ว จึงเห็นโทษ รู้ว่าเป็นอกุศลจิตที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่พิจารณาธรรม ก็คงจะไม่เกิดสติที่จะรู้ว่า ไม่ควรที่จะตระหนี่

ผู้ฟัง เป็นอย่างนั้น แต่ก็เกิดขึ้นจนได้ เกิดขึ้นให้เห็นในความรู้สึกตัวเองว่า เป็นธรรมที่น่ารังเกียจ

สุ. ถ้าท่านผู้ฟังสังเกต จะรู้ลักษณะขณะที่จิตไม่สงบว่า ต่างกับขณะที่จิตสงบ ซึ่งจะเป็นการสามารถให้สงบขึ้นได้ ถ้ารู้ลักษณะของจิตที่สงบและไม่สงบในขณะนั้น

เรื่องของการอบรมเจริญกุศลซึ่งเป็นการภาวนา คือ การอบรมเจริญให้มีขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นสมถะ ความสงบ หรือไม่ว่าจะเป็นสติปัฏฐานซึ่งเป็นปัญญา ก็จะต้องเกิดได้ด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง ขณะที่เคยถูกชม จิตก็หวั่นไหว แต่พอสติระลึกรู้แล้ว คราวหลังความหวั่นไหวไม่ค่อยปรากฏขึ้น คือ ไม่ฟูขึ้น ตามปกติจะรู้สึกว่าฟูขึ้น ยินดีพอใจ ขณะที่ถูกตำหนิก็เหมือนกัน รู้สึกว่าขุ่นเคือง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าหากไม่เจริญสติก็จะไม่รู้จักตัวเองเลย ขณะนั้นขุ่นเคืองก็ขุ่นเคืองไป และก็ยังต่อเรื่องต่อราวไปว่า เราไม่ผิด อะไร ทำนองนั้น ซึ่งก็ยาวไปมากทีเดียว

สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญามีความรู้เพิ่มขึ้นในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดและสงบขึ้น เพราะว่าเป็นกุศล แต่ว่าอกุศลด้วยประการใดๆ จะไม่สามารถทำให้จิตสงบได้เลย

ถ้าท่านผู้ฟังเกิดความตระหนี่ และในขณะนั้นไม่รู้ว่าไม่สงบ แต่คิดว่า ถ้าเอาของไปเก็บแล้วจิตจะสงบ เพราะคนอื่นไม่ได้มาใช้ของที่ท่านหวง หรือท่านไม่ต้องการที่จะให้ใช้ ในขณะนั้น มีความเข้าใจผิดในลักษณะของกุศลธรรมและอกุศลธรรม เพราะตราบใดที่ยังติด ยังหวงอยู่ในวัตถุสิ่งนั้น ยังเป็นทาสของอกุศล ไม่ใช่ความสงบ แต่ตรงกันข้าม เวลาที่ไม่ได้คิดอย่างนั้น และเห็นความน่ารังเกียจของความตระหนี่ เกิดเมตตาจิตที่จะให้บุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์ในวัตถุที่ท่านมีด้วย จึงจะเป็นกุศล จึงจะเป็นความสงบ

ถ้าไม่พิจารณาให้ถูกต้องโดยแยบคาย บางท่านอาจจะถืออกุศลเป็นกุศล ถือความติดความพอใจในวัตถุที่มี และเป็นไปตามความปรารถนา คือ สามารถที่จะเก็บไว้ หวงแหนไว้เพื่อประโยชน์ของท่านผู้เดียว และคิดว่าในขณะนั้นสงบ เพราะไม่มีคนอื่นมาร่วมใช้ในวัตถุนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ ให้ตรงลักษณะของสภาพธรรม จึงจะเห็นความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต

เปิด  242
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565