แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 810

สุ. พูดง่ายว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ได้ยินเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แต่ว่ารู้เสียง หรือว่าการคิดนึกก็เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แต่ว่ารู้เรื่อง หรือว่ารู้คำ ในขั้นปริยัติไม่มีความสงสัยเลย แต่การพิสูจน์ว่า เป็นปัญญาจริงแล้วหรือยัง ก็โดยที่มีการเห็นในขณะนี้ และที่เคยกล่าวว่า เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ คือ รู้สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา และในขณะนี้ก็มีการได้ยินเสียง เป็นการพิสูจน์ปัญญาว่ารู้จริงๆ หรือเปล่าว่า ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน ที่ได้ยิน คือ สภาพรู้เสียงที่ปรากฏ

เสียงมี ปรากฏได้เพราะว่ามีสภาพรู้เสียงในขณะที่เสียงปรากฏ เพราะฉะนั้น การเห็นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ขณะหนึ่งขณะใด ทุกขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทจะต้องระลึก คือ สติเกิด ศึกษา คือ ปัญญาพิจารณา จนกระทั่งเป็นความรู้ในอรรถ คือ ในลักษณะของนามธรรม โดยที่ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ชื่อว่านามธรรม หรือว่าไม่เพียงแต่บอกว่าเห็นเป็นนามธรรม แต่ว่าสติจะต้องเกิดพร้อมทั้งสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่นามธรรม ส่วนนามธรรมที่กำลังเห็นที่กล่าวว่าเป็นนามธรรม ก็เพราะเป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้

นี่เป็นสิ่งซึ่งเข้าใจได้ แต่ว่าเป็นปัญญาขั้นศึกษา หรือขั้นเข้าใจ ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ขั้นแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ว่า ในขณะเห็นไม่มีการได้ยินเลย หรือว่าในขณะที่ได้ยินไม่มีการเห็นเลย หรือในขณะที่คิดนึกก็ไม่มีทั้งเห็นทั้งได้ยินใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะนั้นเป็นชั่วขณะที่เกิดขึ้นและก็รู้เรื่อง รู้คำทีละคำเท่านั้นเอง

การอบรมเจริญปัญญา เป็นการอบรมที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ปกติเป็นอย่างไร ปัญญาก็รู้ความจริงของสภาพธรรมตามปกติอย่างนั้น ไม่ใช่ไปฝืน ไม่ใช่ไปกั้น ไม่ใช่ไปห้าม ไม่ใช่ไปทำ เพราะไม่มีผู้ใดที่สามารถจะทำอะไรได้นอกจากมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งโดยปกติคือองค์ ๕ ได้แก่ สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ เกิดขึ้นกระทำกิจ คือ อบรมเจริญจนกระทั่งสามารถที่จะเพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น

ถ้าท่านอ่านพระไตรปิฎก แม้ใน สักกปัญหสูตร ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ท้าวสักกะจอมเทพได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ได้ตรัสบังคับไม่ให้ท้าวสักกะคิด หรือว่าไม่ได้ตรัสบังคับให้ท้าวสักกะออกไปจากที่เฝ้าเพื่อที่จะไปเจริญสมณธรรมหรืออะไรเลย แต่ไม่ว่าท้าวสักกะจะกราบทูลถามปัญหาใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมตอบปัญหาที่ท้าวสักกะทูลถามจนแจ่มแจ้ง ท้าวสักกะจึงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล

ไม่ได้ให้ไปทำอะไรที่ไหนเลย แต่เพราะความแจ่มแจ้งของธรรมที่ได้ฟัง ประกอบด้วยปัญญาที่ได้สะสมอบรมมาแล้ว เป็นปัจจัยทำให้สามารถที่จะแทงตลอดแม้ในขณะที่กำลังสดับธรรมจากพระผู้มีพระภาค

การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องปกติ ในขณะนี้เอง ขณะที่กำลังฟังเรื่องของนามธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่กำลังเข้าใจเรื่องของรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และขึ้นอยู่กับปัญญาที่ได้อบรมว่า พร้อมที่จะรู้แจ้งแทงตลอด ประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของนามธรรมและรูปธรรมไหม

นามธรรมต้องมีลักษณะ และนามธรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น เวลานี้เข้าถึงอรรถ ความหมายของคำว่าสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็นนี้หรือยัง นี่คือปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้ไม่ใช่ชื่อว่านามธรรม แต่ว่าเป็นลักษณะที่น้อมไปสู่อารมณ์ จึงทรงบัญญัติเรียกสภาพนั้นว่านามธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และสิ่งที่ปรากฏที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรม

ขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าพิจารณาแล้วจะรู้ได้ว่า เสียงมีจริง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่นี่หรือที่ไหนก็ตาม เวลาที่มีการกระทบกันของวัตถุที่แข็งย่อมเป็นปัจจัยให้เสียงเกิดแม้ว่าจะมีการได้ยินหรือไม่มีการได้ยิน แต่ขณะใดที่เสียงเกิดปรากฏ ขณะนั้นหมายความว่ามีสภาพที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏในขณะนั้น

จะมีเสียงปรากฏโดยไม่มีสภาพรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ลักษณะของสภาพรู้เป็นอย่างไร นี่คือผู้ที่จะหมดความสงสัยในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะหมดความสงสัยในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียงทางหู ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่กำลังคิดนึก ที่กำลังเข้าใจในแต่ละคำที่ได้ยิน

การอบรมเจริญปัญญาในขั้นต้น เป็นการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมว่าไม่ใช่รูปธรรม และรู้ลักษณะของรูปธรรมว่าไม่ใช่นามธรรมในขณะที่ปรากฏ เป็นปกติ ไม่ว่าจะเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ภพนี้ หรือว่าใครจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กำลังฟังธรรมเรื่องอะไรจากเทพชั้นนั้นๆ ก็ตามแต่ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ต้องเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละขณะ เพราะชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง ซึ่งการที่จะรู้ความจริง ก็ต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ถ้าเป็นขณะนี้ ก็ต้องรู้ขณะนี้ เพราะอนาคตยังไม่มาถึง อดีตก็ผ่านไปแล้ว ถ้าขณะนี้ล่วงไปจนถึงอีก ๒,๐๐๐ ปีข้างหน้า สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ปัญญาก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในภพนั้น ในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะรอ แต่เป็นเรื่องเดี๋ยวนี้ ที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางท่านอาจจะเคยได้ยินว่า ควรจะมีความเพียร อบรมเจริญปัญญาในขณะนี้ให้เหมือนกับบุคคลที่เหมือนมีไฟไหม้บนศีรษะ แต่นั่นไม่ใช่ขณะอื่น ถ้าจะเป็นไฟไหม้บนศีรษะ ก็คือเดี๋ยวนี้ ไฟกำลังไหม้อยู่ ในขณะที่สติไม่เกิด ไม่ใช่ว่าต้องรอให้ไปถึงสถานที่หนึ่งสถานที่ใดเพื่อที่จะไปดับไฟ ถ้าไฟกำลังไหม้ศีรษะ ก็คือ ขณะที่สติไม่เกิดขณะใด ขณะนั้นคือไฟกำลังไหม้ศีรษะ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงเป็นในขณะนี้ เดี๋ยวนี้

ซึ่งข้อความใน สักกปัญหสูตร มีศากยธิดานามว่าโคปิกา เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว ท่านก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้พบกับอดีตภิกษุ ๓ รูป ซึ่งเป็นคนธรรพ์อันต่ำกว่า เมื่อ โคปกเทพบุตรได้เห็นอดีตภิกษุ ๓ รูปเกิดเป็นคนธรรพ์ซึ่งต่ำกว่า ก็ได้เตือนสติจนกระทั่งเทวดา ๒ องค์กลับได้สติในปัจจุบัน เข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต ส่วนเทวดาอีกองค์หนึ่งก็ยังคงตกอยู่ในกามภพ

ท้าวสักกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ทรงเห็นเทวดาเหล่านั้นในท่ามกลางหมู่เทวดาแล้ว ได้ทรงสลดพระทัย เมื่อท้าวสักกะเกิดสลดพระทัยเพราะทรงพิจารณาเทวดาเหล่านั้น โคปกเทวบุตรได้ทูลท้าววาสพะ คือ พระอินทร์ว่า

พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมชน มีอยู่ในมนุษยโลก ทรงครอบงำกามเสียได้ ปรากฏพระนามว่าพระศากยมุนี เทวดาพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้เว้นจากสติแล้ว อันข้าพระองค์ตักเตือนกลับได้สติ บรรดาท่านทั้ง ๓ นั้น ท่านผู้หนึ่งคงเข้าถึงกายคนธรรพ์อยู่ในภพนี้ อีก ๒ ท่านดำเนินตามทางตรัสรู้ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว จะเย้ยพวกเทวดาก็ได้ การประกาศธรรมในพระวินัยนี้เป็นเช่นนี้ บรรดา พระสาวกมิได้มีสาวกรูปไรสงสัยอะไรเลย เราทั้งหลายขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมชน ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว บรรดาคนธรรพ์ทั้ง ๓ นั้น คนธรรพ์ ๒ คนนั้นรู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้วถึงความเป็นผู้วิเศษ เข้าถึงกายอันเป็นชั้นพรหมปุโรหิต บรรลุคุณวิเศษแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอประทานพระวโรกาส ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น หากพระองค์ทรงกระทำโอกาสแล้ว จะขอทูลถามปัญหา ฯ

เพราะความสลดใจเรื่องภิกษุ ๓ รูป ทำให้ท้าวสักกะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อที่จะได้ทูลถามปัญหาที่ยังไม่แจ่มแจ้งสำหรับพระองค์

ข้อความต่อไปมีว่า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ท้าวสักกะนี้เป็นผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน จักตรัสถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งกะเรา ท้าวเธอจักถามปัญหานั้นทุกข้อ ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่ถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ อนึ่ง เราอันท้าวเธอตรัสถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความใด ท้าวเธอจักทรงทราบข้อความนั้นได้พลันทีเดียว ฯ

ถ้าเป็นคนอื่นก็ไม่ทราบว่า คนที่มาถามนี้จะสามารถเข้าใจคำที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ได้มากน้อยแค่ไหน แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท้าวสักกะเป็น ผู้บริสุทธิ์สิ้นเวลานาน หมายความว่าเป็นผู้ที่เคยอบรมบารมีมา เพราะฉะนั้น เมื่อตรัสถามแล้ว พระองค์ทรงพยากรณ์ข้อความใด ก็สามารถเข้าใจข้อความนั้นได้ทันที

ข้อความต่อไป

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท้าวสักกะจอมเทพด้วยพระคาถาว่า

ดูกร ท้าววาสพะ พระองค์ปรารถนาไว้ในพระทัยเพื่อจะตรัสถามปัญหาข้อไร ก็จงตรัสถามปัญหาข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะกระทำที่สุดแห่งปัญหานั้นๆ แก่พระองค์ ฯ

ท้าวสักกะก็ได้ทูลถามธรรมเป็นเครื่องผูกใจของพวกเทวดา ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ธรรมซึ่งเป็นเครื่องผูกพันใจของพวกเทพไว้ คือ ความริษยาและความตระหนี่

นอกจากนั้น ท้าวสักกะยังได้ทูลถามปัญหาอีกหลายข้อ ซึ่งท่านผู้ฟังจะอ่านข้อความโดยละเอียดได้จาก สักกปัญหสูตร

ตอนท้ายของพระสูตรนี้ ท้าวสักกะกราบทูลว่า

ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด ยังมีความสงสัยเคลือบแคลง เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตอยู่ตลอดกาลนาน ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใดซึ่งเป็นผู้มีปกติอยู่เงียบสงัด เข้าใจว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า สมบัติเป็นอย่างไร วิบัติเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่ ในเวลาที่ท่านเหล่านั้นรู้ข้าพระองค์ว่าเป็นสักกะมาจากเทวโลก จึงถามข้าพระองค์ทีเดียวว่า ท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้ ข้าพระองค์จึงได้แสดงธรรมตามที่ฟังมาแก่ท่านเหล่านั้นให้ปรากฏในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าววาสพะแล้ว

นี่คือการเสาะแสวงหาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของท้าวสักกะว่า ได้ทรงเสาะแสวงหามาเป็นเวลานานมาก และเห็นว่าสมณะใดมีปกติอยู่เงียบสงัด ก็เข้าไปหา เพราะเข้าใจว่าคงจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาที่สมณะเหล่านั้นถูก ท้าวสักกะถามว่า สมบัติเป็นอย่างไร วิบัติเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ชี้แจงมรรคและข้อปฏิบัติ แต่พอรู้ว่าพระองค์เป็นท้าวสักกะก็กลับถามพระองค์ว่า เพราะทำกรรมอะไรจึงได้เป็นท้าวสักกะ เมื่อท้าวสักกะได้แสดงธรรมซึ่งทำให้เป็นท้าวสักกะ สมณะเหล่านั้นก็มีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าวสักกะแล้ว

ข้อความต่อไป

ท้าวสักกะกราบทูลว่า

ข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ในเวลานั้น ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัว วันนี้ได้เข้ามานั่งใกล้พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้าผู้ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้ เป็นมหาวีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวายความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์ ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยตนเอง พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้พระนิพพาน พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก จะหาบุคคลเปรียบพระองค์มิได้ ฯ

โดยมากก่อนที่จะมีความศรัทธาอย่างมั่นคงในพระรัตนตรัย ท่านผู้ฟังหลายท่านก็คงจะติดในเทพและในพรหมอื่นๆ และบูชาสักการะเทพและพรหมเหล่านั้น แต่สำหรับท้าวสักกะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถวายความนอบน้อมนั้นแด่พระองค์

ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า

ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิดขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นพวกอื่น ปัญหาที่เชื้อเชิญให้ถามที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว ด้วยประการดังนี้ เพราะฉะนั้น คำว่า สักกปัญหา จึงเป็นชื่อของไวยากรณภาษิตนี้ ฉะนี้แล ฯ

จบ สักกปัญหสูตรที่ ๘

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็คือในขณะนี้เอง ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ได้รู้ผิดไปจากสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย

สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา ดับแล้ว เกิดอีก ดับอีก ตลอดเวลาในขณะนี้ แต่ยังไม่เป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมปัญญาที่จะแทงตลอดในความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่

ปัญหาของท่าวสักกะ เป็นเรื่องธรรมธรรมดา ซึ่งท่านผู้ฟังก็มีโอกาสจะได้ฟังเหมือนกับที่ท้าวสักกะได้รับฟังเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค จากพระโอษฐ์ของพระองค์ แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้ว ในขณะนั้นเอง เป็นปกติอย่างนั้น ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดสภาพธรรมที่เกิดดับรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่อย่าลืมว่า ต้องอบรมมานานมาก เพราะฉะนั้น ก็ปกติธรรมดาอย่างนี้ กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง หรือว่ากำลังเห็น กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

สำหรับอนุสสติ ๑๐ ที่เป็นฉอนุสสติ คือ พุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ สีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ ซึ่งผู้ที่จิตจะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิได้เมื่อระลึกถึงอนุสสติเหล่านี้ ก็มีแต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลเท่านั้น เพราะศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาของท่านมั่นคงในพระรัตนตรัย โดยการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ท่านมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตสงบมากเวลาที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หรือว่าระลึกถึงศีล ระลึกถึงจาคะ ระลึกถึงเทวดา ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีคุณเสมอกับเทวดาทั้งหลาย แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนไม่ควรจะระลึก แม้ผู้ที่เป็นปุถุชนก็ควรที่กุศลจิตจะเกิดแทนที่อกุศลจิตจะเกิด แต่ว่าไม่ใช่การบังคับ

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า สมถภาวนาจะเกิดขึ้นโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่โดยนัยของผู้ที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ ไม่เป็นผู้ที่บังคับ แต่เป็นผู้ที่แล้วแต่ขณะนั้นจิตจะน้อมระลึกถึงสิ่งใด ก็รู้ในเหตุปัจจัยที่ทำให้จิตเกิดระลึกถึงในสิ่งนั้น ถ้าขณะนั้นเป็นสติที่จะทำให้สงบขั้นสมถะ ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานก็รู้ว่า สติขั้นนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเป็นเพียงความสงบ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเกื้อกูลกับสติทุกขั้น แม้ในขั้นของการระลึกเป็นไปในเรื่องของจาคะ การสละความตระหนี่ หรือว่าเป็นไปในเรื่องของศีล คือ การวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา และยังเป็นผู้ที่ละเอียดสามารถที่จะรู้โทษซึ่งแม้ว่ายังไม่ล่วงเป็นทางกาย ทางวาจา แต่อกุศลจิตที่น่ารังเกียจก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ควรวิรัติ ละเอียดยิ่งกว่าการที่จะงดเว้นเพียงศีล ๕

นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นในการสวดมนต์กราบพระ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ลักษณะของจิตตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นสงบ หรือไม่สงบ เป็นกุศล หรือไม่เป็นกุศล เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า ไม่มีอกุศลเลยในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ อาจจะกระทำไปด้วยความรีบร้อน หรือว่าเพียงแต่กล่าวคำภาษาบาลี แต่ไม่ใช่ความสงบเพราะระลึกถึงพระพุทธคุณจริงๆ พระธรรมคุณจริงๆ พระสังฆคุณจริงๆ

เปิด  267
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566