แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 802

การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ตรงต่อความเป็นจริงจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นที่จะรู้ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏไม่มีสิ่งอื่นรวมอยู่ในเสียง ในขณะที่เสียงปรากฏไม่มีรูปารมณ์ ไม่มีเห็นอยู่ในขณะนั้นเลย นี่เป็นการที่จะน้อมไปศึกษา มนสิการ พิจารณาว่า ในขณะนั้นมีสภาพรู้ มีธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้เสียง และลักษณะที่รู้ ธาตุรู้ อาการรู้นั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเคยไม่รู้มาก่อนเพราะเข้าใจว่า เราได้ยินบ้าง เราเห็นบ้าง โดยที่ไม่ได้นึกถึงความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะที่เสียงปรากฏนั้น มีสภาพธรรมที่รู้เสียงที่ปรากฏ

นี่เป็นการศึกษาพร้อมสติ ที่เป็นไตรสิกขา ที่จะเป็นเหตุให้ประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน และรูปธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ได้อบรมแล้ว โดยลักษณะของสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงทีละอย่าง ซึ่งในขณะนั้นหมายความว่า ปัญญาสมบูรณ์ จึงประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร มีรูปอะไรปรากฏทางตา เวลาที่ปัญญารู้ชัด ปัญญาก็รู้ชัดในรูปที่ปรากฏทางตา ในชีวิตประจำวันเสียงปรากฏทางหูเป็นรูปที่มีจริง ปรากฏทางหูอย่างไร เวลาที่ปัญญารู้ชัด เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่เจือปนกับรูปอื่นเช่นในขณะที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ แต่เป็นเสียงที่ปรากฏทางหูพร้อมปัญญาที่รู้ชัด

นามธรรมที่เห็น นามธรรมที่ได้ยิน นามธรรมที่รู้กลิ่น นามธรรมที่ลิ้มรส นามธรรมที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นามธรรมที่คิดนึก หรือรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และปรากฏสืบต่อไปถึงทางใจตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ แม้ในพระอภิธรรมปิฎกที่ทุกท่านก็ได้ศึกษาแล้วว่า เมื่อมีการเห็นทางตาดับไปแล้ว ทางมโนทวารวิถีจิตรู้รูปที่ปรากฏทางตาต่อ เมื่อมีการได้ยินเสียงทางหูดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้เสียงทางหูต่อ เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ชัด จะเกิดขึ้น จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จะทำให้หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมซึ่งกำลังต่อทางตา ต่อทางหู และก็คิดนึกเป็นปกติทุกอย่าง

การประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะประจักษ์สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ถ้าเป็นรูปธรรมก็ได้แก่ รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา สัททารมณ์คือเสียงที่ปรากฏทางหู คันธารมณ์คือกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสารมณ์คือรสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ ธาตุดินคืออ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟคือเย็นหรือร้อน ธาตุลมคือ ตึงหรือไหวที่ปรากฏทางกาย และก็ปรากฏสืบต่อไปทางใจทุกลักษณะด้วย นี่เป็นรูปที่ปรากฏซึ่งปัญญาจะรู้ ๗ รูป ส่วนรูปอื่นไม่ใช่รูปที่ปรากฏให้ศึกษาในชีวิตประจำวัน แต่ว่าแล้วแต่ปัญญาของผู้ใดจะสะสมมา เวลาที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์ รูปอื่นที่สามารถจะรู้ได้ทางมโนทวารก็จะปรากฏให้ปัญญารู้ในขณะนั้นได้ เพราะขณะนั้นเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เกิดทางมโนทวารซึ่งอาจจะรู้รูปอื่นที่ปรากฏ แต่ว่าไม่ใช่ที่ไม่ปรากฏและไปนึกถึง

ถ. ผมได้ติดตามฟังท่านอาจารย์มาประมาณ ๑๐ ปี ได้อัดเทปไว้เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีอุปสรรคในการปฏิบัติธรรม ในการเจริญสติ ที่อาจารย์อธิบายไปเดี๋ยวนี้เองว่า หูได้ยินเสียง รูปารมณ์จะไม่ปรากฏทางใจ

สุ. มิได้ เวลาที่กำลังได้ยินเสียง ชั่วขณะที่เสียงปรากฏ เวลานี้ทุกท่านอาจจะมีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ทันทีได้ เพราะว่าเสียงกำลังปรากฏ เพียงแต่จะต้องมนสิการในขณะที่เสียงปรากฏด้วยความรู้จริงๆ ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏจริงๆ ขณะนั้นมีอย่างอื่นปรากฏพร้อมเสียงที่ปรากฏไหม

ถ. อย่างรูปารมณ์ อย่างตาเรา ยังแลเห็นอะไรต่างๆ อยู่

สุ. แสดงว่าสติไม่ได้ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ถ้าสติเกิด จะเริ่มศึกษาทันที อย่างในขณะที่เสียงปรากฏ จริงอยู่ทุกคนลืมตา ได้ยินเสียงด้วย แต่ความต่างกันของขณะที่กำลังได้ยินเสียง และไม่ใส่ใจเรื่องการเห็น เพราะว่าสติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง มีการสัมผัสกระทบด้วย ถ้าสติจะระลึกที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏจะรู้จริงๆ ว่า ชั่วขณะที่อ่อนปรากฏ ไม่มีอะไรปรากฏร่วมด้วย

ถ. หมายความถึงความใส่ใจของเราใช่ไหม คือ เมื่ออ่อนปรากฏหรือแข็งปรากฏ ไม่ใส่ใจในเสียง

สุ. ถ้าสติเกิด ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งปรากฏ สติก็กำลังระลึกศึกษาลักษณะนั้น

ถ. แต่รูปารมณ์ทางตา ก็ยังคงเห็นอยู่ แต่เราไม่ได้ใส่ใจเท่านั้น

สุ. ไม่มีใครห้ามการเกิดดับสืบต่อของจิตซึ่งเป็นไปอย่างปกติได้เลย แต่สติเริ่มระลึกศึกษาเพียงลักษณะหนึ่ง ทีละลักษณะ ซึ่งอาจจะเป็นการระลึกศึกษาลักษณะของรูปารมณ์ทางตาก็ได้ หรือเสียงที่ปรากฏทางหู หรือว่าอ่อนแข็งที่ปรากฏที่กาย เป็นปกติจริงๆ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลานี้ถ้าสติของใครจะเกิด ก็รู้ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่ผิดปกติ และก็ไม่นาน ชั่วขณะที่ลักษณะนั้นกำลังปรากฏจริงๆ เริ่มที่จะรู้ว่า ในอ่อนนั้นไม่มีสี ไม่มีเสียง และอ่อนนั้นกำลังปรากฏเฉพาะกับสภาพที่รู้อ่อน

ถ. จุดมุ่งหมายในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ส่วนมากเราทำเพื่อให้พ้นทุกข์ แต่ต้องมีปัญญาเกิดขึ้นแล้ว จึงจะพ้นทุกข์

สุ. เรื่องพ้นทุกข์เป็นเรื่องที่ยังพ้นไม่ได้ง่าย จนกว่าปัญญาจะเริ่มเจริญขึ้นเป็นขั้นๆ เพราะจะต้องมีการรู้เพื่อละความไม่รู้ ละความสงสัย ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนก่อน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติจริงๆ จะทราบว่า เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ อบรมทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ

ขอเรียนให้ทราบถึงเหตุผล สภาพธรรมมีหลายอย่างที่กำลังปรากฏ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางใจคิดนึก ทางกายกระทบสัมผัส และสติซึ่งไม่เคยอบรมมาก่อนเลย บางท่านอาจจะเพิ่งเริ่มฟัง และเพิ่งจะเข้าใจ ต้องใช้คำว่าเข้าใจ ยังไม่ถึงการรู้ และเมื่อถึงขั้นรู้ ก็ยังไม่ถึงขั้นประจักษ์แจ้ง มีหลายขั้นมาก อย่างท่านที่ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เริ่มเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยการฟัง และเริ่มเข้าใจลักษณะของสติ เพิ่งเข้าใจ อย่าข้ามขั้น เข้าใจก่อน และเวลาที่สติเกิด สติยังไม่มีกำลังพอที่จะเกิดทางตาและต่อไปเกิดทางใจ ต่อไปเกิดทางหู ต่อไปเกิดทางกาย เพราะฉะนั้น สติมีกำลังอ่อน เพราะว่าเริ่มอาศัยการฟังเข้าใจเป็นปัจจัย แต่ก็มีโอกาสจะเกิดบ้างโดยความเป็นอนัตตา ตามเหตุตามปัจจัย

สมมติว่า สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏทางกายตามปกติในขณะนี้ และบุคคลนั้นก็ศึกษาลักษณะของอ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ แต่สตินั้นไม่มีกำลังพอที่จะพิจารณาสภาพเห็นที่กำลังเห็น และรูปารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะกว่าจะชินกับความอ่อน คือ เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอ่อนหรือแข็งก็ตามที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะเกิดทันทีที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพียงชั่วขณะที่สติระลึกนั้น ต้องสำหรับผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล เพราะฉะนั้น ทุกท่านตรงต่อความเป็นจริงว่า ขณะนี้ทั้งๆ ที่สติระลึกที่อ่อนสงสัยบ้างไหมว่า สติกำลังระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมที่อ่อน หรือว่ากำลังระลึกรู้ลักษณะสภาพรู้ที่กำลังรู้อ่อน นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด

เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่ มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีการกระทบสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง แต่สติที่เพิ่งจะศึกษาลักษณะที่อ่อนชั่วขณะหนึ่ง สติยังไม่มีกำลังที่จะเกิดมาศึกษาลักษณะของนามธรรมที่เห็นและรูปารมณ์ที่ปรากฏ สติยังไม่มีกำลังที่จะตามเกิดต่อศึกษาลักษณะของเสียงและการได้ยินซึ่งเกิดต่อ เพราะฉะนั้น ช่วงที่มีการเห็นซึ่งเสมือนว่าไม่ดับเลย สติไม่ได้เกิด เกิดไม่ได้ ไม่มีกำลัง ยังไม่ได้ศึกษา ยังไม่ชำนาญเหมือนท่านที่อบรมเจริญจนกระทั่งมีการรู้ การชินในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จนกระทั่งมีปัจจัยที่สติจะเกิดต่อจากทางตามาถึงทางใจ ไปถึงทางหู และไปถึงทางใจ ไปถึงทางกายและไปถึงทางใจ เป็นปกติ

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะทราบตามความเป็นจริงว่า แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม บางครั้งทรงแสดงให้เจริญสติปัฏฐาน บางครั้งทรงแสดงให้เจริญสัมมัปปธาน บางครั้งทรงแสดงให้เจริญอินทรีย์ บางครั้งทรงแสดงให้เจริญพละ บางครั้งทรงแสดงให้เจริญโพชฌงค์ ซึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นอยู่ในขณะที่จะเจริญอินทรีย์ หรือพละ หรือโพชฌงค์ หรือสติปัฏฐาน

ถ. ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นปัญหาที่เกิดอย่างที่อาจารย์ว่า แต่เป็นปัญหาที่ว่า เวลามีอะไรมากระทบ เรามักจะขาดสติ

สุ. ถ้าสติยังไม่มีกำลัง จะให้สติเกิดขึ้นทันทีเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ. จากบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าที่ว่า ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา คือ การเข้าไปยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์นี้ หมายความว่าอย่างไร

สุ. เป็นทุกข์แน่ เมื่อไม่รู้สภาพความจริงของธรรมที่ปรากฏ ย่อมมีความยินดียินร้าย ในขณะที่ยินดี ก็เป็นลักษณะของทุกข์อย่างหนึ่ง เพราะไม่ปลอดโปร่งจากกิเลส และในขณะที่ยินร้าย ก็เป็นทุกข์

ตราบใดที่ปัญญาเกิด สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิตซึ่งปลอดจากโลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสทั้งปวง กับขณะที่เป็นอกุศล เช่น โลภะ ความสนุก ความ รื่นเริง ความพอใจ ความติด ความปรารถนา ซึ่งทุกคนพอใจ ทุกคนชอบโลภะ ว่าเป็นลักษณะที่ต่างกัน เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า ขณะใดที่มีกิเลสขณะนั้นเป็นทุกข์

แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็พอใจในกิเลส คือ ทุกข์ คือ โลภะชนิดที่ว่า ไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย

เพราะฉะนั้น การยึดถือมาจากการไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงของขันธ์ทั้ง ๕ ย่อมทำให้เกิดทุกข์

ถ. ถ้าเราระวังตอนกระทบ เช่น ตากระทบรูป หรือหูกระทบเสียง ถ้าเรามีสติตอนนั้น ก็จะไม่ปรุงเป็นความพอใจ หรือไม่พอใจ

สุ. แต่ว่าไม่มีใครบังคับสติได้ เพียงแต่รู้ความต่างกันว่า ขณะที่สติเกิดย่อมต่างกับขณะที่สติไม่เกิด

ถ. ขันธ์ ๕ ของปุถุชนก็มีเช่นเดียวกับพระอรหันต์ แต่ขันธ์ ๕ ของปุถุชนเต็มไปด้วยอุปาทานที่ทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเราจะคอยระวังตอนที่กระทบ อย่างว่าตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส อะไรทำนองนี้ และมีสติอยู่ จะเป็นการเจริญสติอย่างถูกต้องไหม

สุ. การเจริญสติที่ถูกต้อง คือ รู้สภาพธรรมที่เป็นอนัตตา และรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดสติไม่เกิด แต่ถ้ามีตัวตนที่จะระวัง ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

ถ. คำว่า อนัตตา คล้ายๆ กับว่าเส้นผมบังภูเขา คือ บางคนเข้าใจรู้ว่าอนัตตาแปลว่าอะไร หรืออัตตาแปลว่าอะไร แต่เมื่อถามแล้ว หลายคนอธิบายคำว่า อนัตตาแตกต่างกันหมด โดยมากมักปฏิเสธว่า อนัตตานี้ไม่ใช่ตัวตน ทั้งๆ ที่ตัวตนก็ยังมีอยู่ แต่บางคนอธิบายว่า อนัตตาเป็นแต่เพียงว่าไม่ใช่เป็นตัวตนที่ยืนโรงอยู่ แต่ว่ามีเหตุปัจจัยมาประกอบกันเข้า อย่างคำว่า จำนวน ๕ ประกอบด้วย ๒ กับ ๓ เป็น ๕ ถ้าเอา ๒ ออก ๕ ก็อยู่ไม่ได้ เหลือเพียง ๓ เท่านั้นเอง ถ้ามี ๒ กับ ๓ ก็เป็น ๕ ได้ อะไรทำนองนี้ แสดงว่ามีเหตุปัจจัยจึงเป็นตัวตนขึ้นได้ แต่ถ้าขาดเหตุปัจจัยก็ไม่ใช่ตัวตน

สุ. อะไรเป็นตัวตน

ถ. สมมติว่า ตัวเราเป็นตัวตน แต่พระผู้มีพระภาคท่านตรัสว่า เป็นแต่เพียงขันธ์ ๕ มาประชุมกัน

สุ. ถ้าเป็นขันธ์ ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นขันธ์ ก็เป็นตัวตน

ถ. ทั้งๆ ที่รู้ แต่ว่าเราเห็นทางตา ก็ว่าเราเป็นผู้เห็น ทางหู ...

สุ. เพราะว่ายังไม่รู้จักขันธ์ ความหมายของขันธ์ คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ซึ่งต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ถ้าไม่เกิดดับ จะเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคตไม่ได้

ขันธ์ไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ การเห็นในขณะนี้ ถ้ารู้จักขันธ์จริงๆ ก็รู้ว่าไม่เที่ยง เมื่อครู่นี้เป็นอดีต ขณะนี้เป็นปัจจุบัน และขณะที่จะเกิดต่อไปเป็นอนาคต

เพราะฉะนั้น ขันธ์ไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือไม่ใช่ชื่อ การจะรู้จักขันธ์จริงๆ คือ รู้ลักษณะของขันธ์ที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่เกิดดับ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นขันธ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ หรือว่าเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

ธรรมที่ได้ศึกษาทั้งหมดไม่ใช่ชื่อที่อยู่ในหนังสือ แต่ทั้งหมดที่ได้ศึกษาแล้วเป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าท่านจะเข้าใจสภาพธรรมที่ท่านได้ศึกษาแล้วโดยนัยอะไร ถ้าโดยนัยที่รู้ว่าเป็นขันธ์ ก็ต้องรู้ความหมายของขันธ์ว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่จำแนกเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ไกล ใกล้ หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ภายใน ภายนอก

ขณะนี้ถ้าจะรู้จักขันธ์ ก็จะรู้ว่าไม่มีตัวตนเลย เป็นขันธ์จริงๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และการยึดถือขันธ์ว่าเป็นตัวตน ก็ไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่ไม่รู้จักขันธ์ แม้ว่าขันธ์เกิดขึ้นและดับไป ก็ยึดถือขันธ์ว่า เป็นเรา เป็นตัวตน

เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ เป็นชีวิตประจำวัน เป็นปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าปัญญายังไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส เพราะไม่ใช่ความรู้

แม้แต่นามธรรมและรูปธรรมที่ชินแล้วโดยการฟัง ที่เข้าใจแล้ว ก็จะต้องทราบความต่างกันของความเข้าใจ ความรู้ กับการประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจขั้นฟัง ถ้าโดยขั้นนั้นไม่สามารถดับกิเลสได้

จะต้องรู้หนทางจริงๆ ว่า สติมีลักษณะอย่างไร เกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิด ขณะที่สติไม่เกิดทั้งหมดเป็นโมฆะ ปัญญาไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏของขันธ์ที่กำลังเกิดดับได้ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาก็ชั่วขณะที่สติเกิด ด้วยเหตุนี้การที่จะมีความรู้จริงๆ ว่า สติเกิดต่างกับขณะที่สติไม่เกิดอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่เข้าใจตอนนี้จะเจริญปัญญาไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าเวลาที่สติเกิดเป็นอย่างไร และเวลาที่สติไม่เกิดเป็นอย่างไร ซึ่งปัญญาที่จะเจริญต้องเป็นขณะที่สติเกิดเท่านั้น อย่าลืม ที่จะเป็นสติปัฏฐาน เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ฟังเข้าใจ ไม่ใช่พิจารณาแล้วเข้าใจ แต่ต้องเป็นขณะที่สติเกิด หมายความว่ามีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่สติกำลังระลึก และมีการสังเกต สำเหนียก พิจารณา ศึกษา

เปิด  289
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565