แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 803

บางท่านพอได้ยินคำว่าศึกษา ก็เริ่มงงอีกว่าศึกษาอย่างไร ยังไม่เข้าใจว่า ศึกษาพร้อมสติซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่าไตรสิกขานั้นคืออย่างไร แต่เมื่อฟังไปๆ ก็เกิดความเข้าใจว่า แท้ที่จริงศึกษา คือ ในขณะที่สติเกิดและสังเกต พิจารณาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง อย่างลักษณะที่อ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติเกิดระลึกที่ลักษณะอ่อนหรือแข็งและศึกษา คือ สังเกตว่า เมื่อเป็นสิ่งที่อ่อนหรือแข็งจะเป็นวัตถุตัวตนสิ่งหนึ่งสิ่งใด สัตว์ บุคคลใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะที่แข็ง ต่างกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง ซึ่งปัญญาเจริญตรงนี้ จะเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ก็คือในขณะที่สติเกิดแล้วรู้ และความรู้จะเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงตามปกติ

เป็นเรื่องที่ต้องอดทนมาก ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาและเห็น เสียงที่ปรากฏทางหูและได้ยิน กลิ่นที่ปรากฏทางจมูกและรู้กลิ่น เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏที่กาย และรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏที่กาย แต่ไม่ว่าสภาพธรรมขณะนั้นจะเกิดขึ้นวิจิตรต่างๆ เพราะการสะสมอย่างไร เช่น ความริษยา ความตระหนี่ ความคิดที่ไม่น่าจะคิดเลย ซึ่งทุกคนก็ต้องมีตามการสะสม แม้ขณะนั้นๆ ขณะที่ดูโทรทัศน์ หรือขณะที่อาจจะดูกีฬา หรือว่าขณะกำลังเขียนจดหมาย กำลังสนทนา กำลังคุยกันสนุกสนาน กำลังทำอาหาร กำลังทำธุรกิจ ทุกอย่างหมด ผู้ที่อบรมเจริญปัญญารู้ได้จริงๆ ว่า สติสามารถที่จะเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ใช่เป็นการไปบังคับสติว่า อย่าเกิดตอนนั้นตอนนี้

สำหรับการศึกษา การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อรู้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็นอะไรขณะไหน ทางหูได้ยินอะไรขณะไหน ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นได้ ไม่มีอะไรกั้น

การดูโทรทัศน์ การดูกีฬา การเห็นคน การอ่านหนังสือ ไม่มีอะไรที่ต่างกันเลย เมื่อเข้าถึงอรรถคือลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ และสภาพธรรมที่ปรากฏก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกลัวว่า ปัญญาจะเกิดไม่ได้ในขณะนั้นหรือขณะนี้ เพราะเมื่อเป็นปัญญาจริงๆ จะรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่มีตัวตนนอกจากนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมอะไร ปัญญาสามารถรู้ในความเป็นนามธรรมจนชิน ไม่ว่านามธรรมนั้นจะวิจิตรอย่างไร ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า แม้ขณะนั้นๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ที่จะให้สติเกิดต่อกันไป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมมาพอ และไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่ว

ถ้ารู้เพียงลักษณะของรูปเดียวเท่านั้น หรือนามเดียวเท่านั้น ซึ่งเวลานี้ไม่ใช่มีนามเดียวรูปเดียวปรากฏ เพราะฉะนั้น ความที่ไม่เคยรู้ ความที่ไม่เคยศึกษา ความที่สติไม่เคยระลึก ก็ไม่มีปัจจัยที่สามารถจะทำให้สติเกิดและปัญญารู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางทวารอื่นๆ โดยทั่ว เมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางทวารอื่น ที่เข้าใจว่าเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมหนึ่งและรูปธรรมหนึ่งแล้ว จึงไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง เพราะถ้าเป็นความรู้จริงในลักษณะของนามธรรม แม้นามธรรมทางทวารอื่นก็ต้องรู้ด้วย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะทราบได้ว่า ถ้าท่านเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นต้นว่าทางกาย ท่านยังมีความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปทางตาในขณะที่เห็น ทางหูในขณะที่ได้ยิน และทางทวารอื่นๆ จนกว่าสติจะเกิดและเริ่มศึกษาพิจารณา เพราะการที่จะรู้แจ้งธรรมจนกระทั่งถึงการที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่รู้อื่น นอกจากรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จนหมดความสงสัยจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น การเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ไม่ใช่เป็นการบังคับสติ แต่เป็นการรู้ว่า ขณะใดที่สติเกิด เป็นขณะที่จะศึกษาเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ยากเหลือเกินที่ใครจะมีปัจจัยสะสมมาที่สติจะเกิดได้บ่อยๆ ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เป็นอย่างนี้หรือเปล่า

เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมไปอีกนาน เพราะจะต้องถ่ายถอนการที่เคยยึดถือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ในขณะที่ขันธ์นั้นๆ กำลังปรากฏ อย่าลืม ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ ปัญญาอยู่ที่ไหน สติเกิดไหม รู้จริงๆ หรือเปล่าว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ นี่คือปัญญาที่จะเกิดพร้อมสติที่สามารถจะรู้อย่างนี้ได้ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ถ้าทุกครั้งที่เห็น ยังคงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ก็ยังไม่ใช่การรู้ชัดว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงได้ยินได้ฟังมาและก็เข้าใจอย่างนั้น แต่เวลาเห็น ลืมแล้ว เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งหมายความว่า แท้ที่จริงแล้วยังมีการยึดถือรูปขันธ์ที่ปรากฏ เป็นตัวตน เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ถ. ยากมาก

สุ. ไม่ใช่เรื่องเมื่อไร และหวัง แต่เป็นเรื่องระลึกรู้ ค่อยๆ น้อมไปที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น

ถ. ขณะที่เสียงปรากฏ สติระลึกนิดหนึ่งนั้น นิดเดียวจริงๆ และความเป็นตัวตนในขณะที่มีเสียงปรากฏก็ไม่มีเลย ขณะนั้นจิตได้ศึกษาพร้อมด้วยปัญญานั้นแล้ว ใช่ไหม

สุ. เริ่มน้อมไป แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าจะรู้จริงๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งด้วย มีหลายขั้นของความรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ขั้นเข้าใจเท่านั้น

ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ เมื่อฟังธรรม ทางตาให้รู้จริงๆ น้อมไปที่จะเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด ไม่ใช่อะไรเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เป็นเพียงรูปๆ หนึ่งที่เห็นได้ในบรรดารูปทั้งหมด ๒๘ รูป

ถ. ต้องระลึกใหม่ จำใหม่ ท่องใหม่ ก็ยังอยู่แค่ขั้นความเข้าใจ ดิฉันกล่าวอย่างนี้จะผิดไหม

สุ. อบรมไปอีกเรื่อยๆ

ถ. การเจริญสติปัฏฐานนั้น เราจะกระทำเป็นขั้นตอน เช่น เจริญทางกายก่อน และก็มาเจริญเวทนา จิต ธรรม

สุ. คิดอย่างนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะเป็นการจะทำสติ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าสติไม่เกิด จะไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด และเวลาที่สติเกิด จะบังคับหรือเลือกให้สติไประลึกรู้ที่อารมณ์นั้นหรืออารมณ์นี้ก็ไม่ได้ ขณะนี้สติยังไม่เกิด แต่เวลาที่สติเกิดใครจะรู้ว่า สติจะระลึกที่นามธรรมหรือรูปธรรม ที่กาย หรือที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม ถูกไหม

และขณะที่เลือกนั่น สติไม่ได้เกิด แต่เวลาที่สติเกิดก็ไม่มีใครจะรู้ว่า ชั่วขณะที่สติเกิดนั้น สติจะระลึกที่กาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม สติจะระลึกทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เพราะสติมีปัจจัยเกิดขึ้นชั่วขณะเดียว และก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครจะเลือกได้เลย แล้วแต่ปัจจัยที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด ทางไหน

ถ. การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเริ่มต้นด้วยการใช้อินทรีย์ หรือพละ ใช่ไหม

สุ. ใช้อะไรก็ไม่ได้ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดและดับไปอย่างรวดเร็วเพราะเหตุปัจจัย เวลานี้จะบังคับอะไรได้ไหม สภาพธรรมกำลังเกิดดับอยู่ จะเลือกให้อินทรีย์เกิด หรือจะไม่เลือกให้อินทรีย์เกิดก็ไม่ได้ นั่นเป็นการนึกคิด ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อินทรีย์อยู่ที่ไหน จะเอาอินทรีย์มาใช้ได้อย่างไร สภาพธรรมย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้ามีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิด สติก็เกิด แต่ถ้ายังไม่มีเหตุปัจจัย สติก็ยังไม่เกิด จะไปใช้สติได้อย่างไร ยังไม่มีปัจจัยที่สติจะเกิด อินทรีย์ก็เช่นเดียวกัน ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา

ถ. เจริญสติปัฏฐาน เราจะเริ่มต้นด้วยอะไร

สุ. เริ่มต้นด้วยการฟังให้เข้าใจว่า สติคือลักษณะอย่างไร ขณะใดที่สติเกิด ขณะใดที่สติไม่เกิด และขณะที่สติเกิดมีสภาพธรรมอะไรที่กำลังปรากฏ และจะต้องมีการพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น ง่ายๆ สั้นๆ แต่ยาก เพราะไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับให้สติเกิดและศึกษาลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดได้ แต่อาศัยการฟัง การพิจารณา การเข้าใจ ธรรมเหล่านี้เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์

สภาพธรรมซึ่งเป็นสังขารขันธ์จะปรุงแต่งขณะที่กำลังฟังอยู่ในขณะนี้ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากการที่เคยได้ฟังมาแล้ว เป็นสังขารขันธ์ เป็นปัจจัยอยู่ในจิตดวงต่อไปแต่ละดวง จนกว่าสังขารขันธ์นั้นจะปรุงแต่งคือเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ซึ่งชั่วขณะที่เกิดนั้นเอง สติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด อาจจะเป็นนามธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรืออาจเป็นรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ได้ ไม่มีใครจะรู้ว่า เมื่อไรสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิด และเมื่อเกิดแล้วก็ไม่มีใครสามารถไปใช้สติที่เกิดให้รู้ที่นามธรรมหรือรูปธรรมอะไร แต่ปัญญาที่เคยฟังมาจะทำให้เข้าใจได้ว่า สติระลึก ไม่ใช่ตัวตน สติเกิดขึ้นจึงระลึก

และเมื่อสติเกิดแล้ว ก็ศึกษาคือสังเกตที่จะรู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นเพราะเป็นรูปธรรม เป็นลักษณะที่ปรากฏทางตาบ้าง เป็นลักษณะที่ปรากฏทางหูบ้าง เป็นลักษณะที่ปรากฏทางจมูกบ้าง เป็นลักษณะที่ปรากฏทางลิ้นบ้าง เป็นลักษณะที่ปรากฏทางกายบ้าง หรือว่าเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นสภาพรู้ที่กำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้กลิ่น เป็นสภาพรู้ที่กำลังลิ้มรส เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือเป็นสภาพคิดนึก เป็นสภาพที่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เป็นสภาพของความริษยา หรือความตระหนี่ หรือความเมตตา หรือความกรุณา เป็นสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ นี่จึงเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้สติและปัญญา

ผู้ฟัง สมมติว่าเรานั่งอย่างนี้ และมีสติระลึกรู้ ไม่ใช่ต้องมีคนบอกว่า รู้เสียที ตรงนี้แข็งรู้ไหม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นสติที่ระลึกรู้เอง

สุ. ขณะที่กุศลจิตเกิด ต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดด้วย ลักษณะของศรัทธาเจตสิกเป็นสภาพที่ผ่องใส สะอาด ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะและอกุศลใดๆ ในขณะนั้น มีลักษณะที่เป็นความผ่องใส เป็นปสาทะ และมีลักษณะที่ทำให้สหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นสภาพที่ใสที่เป็นกุศล อุปมาเหมือนสารส้มที่ใส่ลงในน้ำย่อมทำให้น้ำใสขึ้น เพราะฉะนั้น ลักษณะของศรัทธาที่เกิดร่วมกับจิตดวงนั้นย่อมทำให้ สหชาตธรรมนั้นเป็นสภาพที่มีลักษณะใสปราศจากอกุศล

เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด ต่างกันมากกับขณะที่เป็นอกุศล ลองนึกดูความต่างกันก็ได้ ขณะที่สติไม่เกิด มีสภาพธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หลงทันที บางครั้งก็พร้อมกับการยึดถืออย่างเหนียวแน่นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่เวลาที่เป็นกุศล สติที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต้องเป็นสภาพที่ผ่องใส ปราศจากอกุศล ขณะที่กำลังระลึก มีศรัทธาเกิดร่วมด้วย พร้อมทั้งวิริยะก็ต้องเกิดร่วมด้วยเป็นปกติ

ถ. สติระลึกทันที

สุ. ในขณะนั้น และมีสภาพของโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ซึ่งล้วน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

ถ. ความจริงแล้วอินทรีย์จะสมบูรณ์ได้ เพิ่มขึ้นได้ ก็เมื่อมีสติระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ ทั้ง ๖ ทวาร ถูกต้องไหม

สุ. เวลาที่สติเกิด มีอินทรีย์ ๕ เกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่สติไม่เกิด ไม่ใช่ สติปัฏฐาน บางท่านมีแต่ศรัทธา แต่ว่าขาดปัญญาได้ เพราะฉะนั้น ต้องมีการฟัง มีการพิจารณาในเหตุผลเพื่อที่จะให้ศรัทธาและปัญญาเสมอกัน เมื่อเป็นสติปัฏฐาน ขณะใด จึงจะพร้อมด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕

ท่านที่ฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานและก็พิจารณา ในตอนแรกๆ ย่อมจะมีความสับสน หรือว่าเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการเข้าสู่หนทางข้อปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง ด้วยปัญญาของท่านเองที่จะเริ่มรู้ว่า ขณะใดผิดและขณะใดถูก ขณะใดเป็นเจตนาซึ่งไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เพราะในมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเจตนาเจตสิก

สติปัฏฐานแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสติว่า ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ย่อมไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ ไม่ได้ใช้คำว่า ผัสสปัฏฐาน สัญญาปัฏฐาน หรือว่าสมาธิปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การไปจดจ้อง หรือไม่ใช่ว่ามีเจตนาที่จะใช้สติ หรือว่าที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่จะต้องเป็นสัมมาทิฏฐิคือมรรคองค์ที่ ๑ ที่เข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้อง

เวลาที่สติเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าสติเองเป็นสังขารขันธ์ และการที่สติจะเกิดได้ก็จะต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด ไม่ใช่ว่าตัวตนเป็นผู้ที่ต้องการให้สติเกิด สติก็เกิดได้ และเมื่อได้ประพฤติปฏิบัติอบรมไปเรื่อยๆ การเข้าใจธรรมก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ กระจ่างขึ้น ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งทราบว่า หนทางที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากจะอบรมเจริญธรรมที่เป็นกุศลทุกประการเพื่อที่จะให้เป็นสังขารขันธ์ เป็นปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นและเจริญงอกงามขึ้น โดยการที่ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับ แต่เพราะมีความเข้าใจถูกในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ในเรื่องของสังขารขันธ์ว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น แต่ต้องแล้วแต่สังขารธรรมซึ่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแต่ละขณะๆ และไม่ใช่เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้ แม้ในอดีตชาติที่ทุกท่านมีจริตอัธยาศัยต่างกัน มีความคิดเห็น มีการกระทำทางกาย ทางวาจาต่างกัน ก็เพราะการปรุงแต่งและการสั่งสมของสังขารขันธ์ของแต่ละท่านนั่นเอง เพราะฉะนั้น แม้สติปัฏฐานก็เป็นสังขารขันธ์ทั้ง ๘ องค์ ไม่ใช่ตัวตน

เปิด  262
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566