แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 804
ถ. การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ต้องให้ถึงพระอริยะขั้นใดขั้นหนึ่ง แม้แต่การเริ่มประพฤติปฏิบัติไปตามปกติ หมั่นมีสติบ่อยๆ ความเป็นอยู่ตามธรรมดาที่เคยสับสนยุ่งเหยิง วุ่นวาย หรือว่าความเดือดร้อนทั้งหลายที่เกิดจากกิเลส ก็จะทำให้ตัวของผู้ปฏิบัติเองได้รับความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นทีละน้อยๆ อย่างนี้ถูกต้องไหม
สุ. แล้วแต่กำลังของปัญญา เพราะว่าชีวิตของแต่ละคนนั้นต่างกัน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานบางท่านก็ยุ่งมาก มีธุรกิจ มีเรื่องกังวลใจ มีเหตุการณ์สำหรับตัวท่านเองและวงศาคณาญาติมากมาย แต่แม้กระนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ยังรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นั่นเป็นขั้นเข้าใจ และรู้ด้วยว่า ขณะใดที่สติเกิดบ้าง ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด ซึ่งก็เป็นหนทางที่จะต้องอบรมเจริญไปในสังสารวัฏฏ์ฎ์ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะเลือกได้ว่า ขออย่าให้เป็นอย่างนี้ หรือว่าขอให้เหมือนคนอื่นที่สงบกว่านี้ ที่วุ่นวายน้อยกว่านี้ แต่ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และสติก็จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง
ผู้ฟัง มีผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่อาจารย์สอนผู้หนึ่งกล่าวกับดิฉันว่า เมื่อก่อนยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็มีชีวิตอยู่ตามปกติ แต่ขณะที่ได้มีการเจริญ สติปัฏฐานแล้วเป็นปี บ้านก็หลังเก่า สามีก็คนเก่า ความยากจนร่ำรวยก็เท่าเก่า ความเดือดร้อนวุ่นวายในฐานะแม่บ้านก็อย่างเก่า แต่จิตเขามีที่พึ่งที่อาศัย ขณะใดที่เกิดความเดือดร้อนยุ่งเหยิง หรือว่าได้รับความสุขกาย ทุกข์กาย สุขใจ ทุกข์ใจ ด้วยประการใดก็ตาม สติก็ระลึกรู้ ชีวิตก็ได้รับความร่มเย็นเป็นอันมากจากพระธรรมที่อาจารย์แนะนำ
สุ. เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติ คือ สภาพธรรมที่ระลึก คือ รู้ที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนั้นไม่มีการระลึก คือ รู้ที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงชื่อของสภาพธรรม ต้องหมายความว่ามีกิจการงานของสภาพธรรมนั้นด้วย เวลานี้มีสภาพธรรมปรากฏ แต่กำลังคิดเป็นเรื่องราวเพลิดเพลินต่างๆ ไม่ใช่การระลึกรู้ที่ลักษณะที่ปรากฏทางหนึ่งหรือทางใด คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งขณะนั้นหลงลืมสติ คือ สติไม่เกิด
ลักษณะของสติจะปรากฏก็ต่อเมื่อสติเกิดขึ้น ที่ว่าสติเกิด คือ กำลังระลึกรู้ที่ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด จะเป็นทางตาในขณะนี้ หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏให้รู้ เพราะสติกำลังระลึก ลักษณะนั้นจึงปรากฏ
อย่างอ่อนหรือแข็ง ซึ่งทุกท่านต้องมีอยู่ แต่เวลาที่คิดนึกบ้าง ได้ยินบ้าง เพลิดเพลินไปในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดบ้าง ไม่ได้รู้ที่ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้ามีการรู้ตรงแข็ง ตรงอ่อน พร้อมทั้งการสังเกต สำเหนียกที่จะรู้ในสภาพของแข็งของอ่อนที่ปรากฏว่า เพียงแข็ง เพียงอ่อนเท่านั้น ตัวตนอยู่ที่ไหนในแข็งในอ่อน ไม่มี วัตถุอะไรอยู่ที่ไหนในแข็งในอ่อน ไม่มี โต๊ะ เก้าอี้ เสื้อผ้า อาหาร กระเป๋า รองเท้าอะไรจะอยู่ในแข็งในอ่อน ก็ไม่มี เพราะขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ เพียงอ่อน เพียงแข็ง
ประโยชน์ของการที่จะรู้ลักษณะของอ่อนและแข็ง คือ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา ขา แขน หู หน้า ตา จมูก ทุกสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นของเรา แท้ที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เช่นเดียวกับอ่อนหรือแข็งทั้งหลาย
นอกจากนั้น สติยังสามารถจะระลึกรู้ว่า ในขณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏนั้น มีสภาพที่กำลังรู้อ่อนหรือแข็ง มิฉะนั้นแล้วอ่อนหรือแข็งก็ไม่ปรากฏ การรู้อย่างนี้จะเป็นปัจจัยทำให้สติน้อมไปรู้ในสภาพรู้ อาการรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเวลานี้ คนอื่นจะสามารถรู้ได้ไหม มีทางรู้ได้ไหมว่า สติปัฏฐานของใครกำลังเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะรู้จักบุคคลมากมายสักเท่าไรจะเห็นได้ว่า แต่ละคนมีอัธยาศัยสะสมมาต่างกันเป็นแต่ละบุคคลจริงๆ บางคนมีความประพฤติทางกายดีมาก น่าชม น่าเลื่อมใส ซึ่งท่านอาจจะเลื่อมใสว่า ท่านผู้นั้นคงจะเป็นผู้ที่มีสติ ระมัดระวัง รอบคอบ สำรวมดี มีปัญญามาก แต่ท่านไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้เลยว่า แท้ที่จริงบุคคลนั้นมีปัญญาจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นผู้ที่เพียงสะสมมาในการที่จะเป็นผู้ที่มีกายสะอาด มีกายสมาจารดี
หรือบางท่านทางกายอาจจะไม่ดี แต่ทางวาจาเป็นผู้ที่วิรัติวจีทุจริตได้อย่าง น่าเลื่อมใส น่านิยมจริงๆ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด เป็นอุปนิสัย น่านิยมยินดี แต่ท่านจะรู้ได้ไหมว่า บุคคลผู้นั้นเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงหรือเปล่า
บางท่านกายวาจาไม่ดีเลย ท่านอาจจะไม่พอใจ มีที่ติ แต่ท่านจะรู้ไหมว่า แท้ที่จริงแล้วบุคคลนั้นเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาพร้อมที่จะเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่มี ผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะทราบได้เลย เพราะสภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เมื่อสะสมมาที่จะมีกายวาจาอย่างไร ก็มีกายวาจาอย่างนั้นปรากฏ บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ผู้นั้นก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สามารถที่จะเพิ่มปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ยังไม่สามารถที่จะละคลายหรือดับความประพฤติทางกายทางวาจาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่เป็นที่น่าเลื่อมใสได้ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงต่างกัน
ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อุทกรหทสูตร ข้อ ๑๐๔ ซึ่งมีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ห้วงน้ำ ๔ อย่างนี้ ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ห้วงน้ำตื้นเงาลึกอย่าง ๑ ห้วงน้ำลึกเงาตื้นอย่าง ๑ ห้วงน้ำตื้นเงาตื้นอย่าง ๑ ห้วงน้ำลึกเงาลึกอย่าง ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ห้วงน้ำ ๔ อย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลเปรียบด้วยห้วงน้ำ ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลดุจห้วงน้ำตื้นเงาลึกจำพวก ๑ ดุจห้วงน้ำลึกเงาตื้นจำพวก ๑ ดุจห้วงน้ำตื้นเงาตื้นจำพวก ๑ ดุจห้วงน้ำลึกเงาลึกจำพวก ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเป็นดุจห้วงน้ำตื้นเงาลึกอย่างไร การก้าว การถอย การเหลียว การแล การคู้ การเหยียด การทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวรของบุคคลบางคนในโลกนี้ ล้วนน่าเลื่อมใส แต่เขาไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลเป็นดุจห้วงน้ำตื้นเงาลึกอย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ห้วงน้ำตื้นเงาลึก แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น
แท้ที่จริงแล้วไม่ได้มีปัญญา ดุจห้วงน้ำตื้นแต่เงาลึก คือ อาการปรากฏภายนอกเป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินได้โดยกาย วาจาภายนอก แต่เป็นเรื่องของการที่จะรู้หนทางข้อปฏิบัติจริงๆ ว่า บุคคลนั้นอบรมเจริญอย่างไร ถูกต้องอย่างไร ปัญญาจึงจะเกิดขึ้นรู้สภาพธรรม คือ อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงได้
สำหรับบุคคลที่เป็นดุจห้วงน้ำลึก เงาตื้น ก็ต้องตรงกันข้าม คือ ภายนอกดูไม่น่าเลื่อมใส แต่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นผู้ที่ทราบชัดในอริยสัจธรรม ๔
สำหรับบุคคลที่เป็นดุจห้วงน้ำตื้น เงาตื้น ได้แก่ ผู้ที่มีอาการภายนอกไม่น่าเลื่อมใส และไม่รู้ชัดในอริยสัจ ๔
บุคคลที่เป็นดุจห้วงน้ำลึกเงาลึก ก็เป็นผู้ที่น่าเลื่อมใสทั้งอาการกิริยาภายนอก และเป็นผู้ที่รู้ชัดในอริยสัจ ๔
นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงใน อัมพสูตร ข้อ ๑๐๕ โดยทรงเปรียบเทียบกับมะม่วง ๔ จำพวก คือ มะม่วงดิบผิวสุก ได้แก่ ผู้ที่ภายนอกน่าเลื่อมใส เพราะว่าผิวสุก แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นมะม่วงดิบ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่รู้อริยสัจ ๔
อีกจำพวกหนึ่งเป็นมะม่วงสุกผิวดิบ เป็นผู้ที่รู้อริยสัจ ๔ แต่อาการภายนอกไม่น่าเลื่อมใส
อีกพวกหนึ่งเป็นมะม่วงดิบผิวดิบ คือ ทั้งภายนอกก็ไม่น่าเลื่อมใส และเป็นผู้ที่ไม่รู้อริยสัจ ๔
อีกพวกหนึ่งเป็นมะม่วงสุกผิวสุก คือ เป็นผู้ที่ดีพร้อมทั้งกาย วาจาภายนอก และเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ ด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าในสมัยพระผู้มีพระภาค หรือในสมัยนี้ เป็นการยากที่จะรู้ว่าบุคคลใดมีปัญญามากน้อยเพียงใด เพราะไม่สามารถถือเอาเพียงอาการที่ปรากฏภายนอก และท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ว่า การที่ปัญญาจะเริ่มเจริญขึ้น กว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมว่าต่างกับรูปธรรม แม้ทางทวารหนึ่งๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้ง่ายเลย
ขณะใดที่ผ่านไปแล้ว ดับไปแล้ว ก็หมดไป แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ แม้ความรู้สึก แม้ความจำ แม้ความคิด แม้การเห็น แม้การได้ยิน ในแต่ละชีวิต ในแต่ละยุค ในแต่ละสมัยเปลี่ยนไป วิจิตรมากจริงๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่บุคคล แต่ละท่านอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง จากกัปหนึ่งไปสู่อีกกัปหนึ่ง ลองพิจารณาดูว่า แท้ที่จริงแล้วธรรมฝ่ายใดจะเกิดมากกว่ากัน ในชีวิตจริงๆ ของผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง จากกัปหนึ่งไปสู่อีกกัปหนึ่ง แม้ในปัจจุบันชาติย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า อะไรเกิดมากกว่ากัน ฉันใด ในอดีตที่ผ่านมาแล้วก็เช่นเดียวกัน คือ อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล
แต่ไม่ได้หมายความว่า จะหมดหวังในการที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นอบรมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ว่าอกุศลจะเกิดบ่อยๆ และสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลแต่ละขณะก็เปรียบดุจน้ำที่หยาดลงทีละหยด และไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดๆ ก็ตามที่เกิด ก็สะสมไปเหมือนกับน้ำแต่ละหยาดที่หยดลงทีละหยด แต่ว่าทางฝ่ายกุศลจะต้องอบรมจริงๆ ที่จะเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จนกว่าจะเป็นปัญญาพละ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่านามธรรมใดรูปธรรมใดในภพใดชาติใด จะมีสังขารขันธ์ปรุงแต่งวิจิตรอย่างไร ปัญญาก็คมกล้าสามารถที่จะรู้แจ้งประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม และจึงจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับ
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ยากเหลือเกินที่ใครจะรู้ว่า บุคคลใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งในครั้งนั้นเป็นกาลสมบัติ เป็นกาลสมัยที่บุคคลที่ได้สะสมเหตุปัจจัยที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมจะมีโอกาสได้ฟังธรรม หรือว่ามีโอกาสได้รับการเกื้อกูลอนุเคราะห์จากพระผู้มีพระภาคและพระสาวกที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ขอกล่าวถึงเรื่องหนึ่งใน ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาพระธรรมบท ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กิเลสอกุศลทั้งหลายที่สะสมมาไม่หมดไปเลย ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจธรรม โดยที่บุคคลอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า บุคคลนั้นได้สะสมปัจจัย คือปัญญามาพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ในคราวก่อนเป็นเรื่องของจาคานุสสติ เป็นเรื่องของความตระหนี่ ซึ่งท่านผู้ฟังท่านหนึ่งก็ได้กล่าวถึงจูเฬกสาฎกพราหมณ์ผู้มีผ้าห่มเพียงผืนเดียว เวลาที่จะไปฟังธรรมก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันใช้กับภรรยา ถ้าภรรยาไป สามีก็ต้องอยู่ ถ้าสามีไป ภรรยาก็ต้องอยู่ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบความตระหนี่ที่เป็นอกุศลธรรมที่สะสมมา ก็น่าจะเห็นใจจูเฬกสาฎกพราหมณ์ เพราะมีผ้าห่มเพียงผืนเดียวจริงๆ แต่คนอื่นซึ่งมีมากกว่านั้น ความตระหนี่ของคนอื่นนั้น ก็ย่อมน่ารังเกียจมากกว่าความตระหนี่ของจูเฬกสาฎกพราหมณ์
แต่ว่าอกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม จะเป็นกุศลธรรมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความตระหนี่ของใคร มากหรือน้อย ของคนจนยากไร้ หรือว่าของเศรษฐี อกุศลธรรมก็ต้องเป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลธรรมสามารถที่จะเกิดขณะใด ย่อมแสดงถึงกำลังทางฝ่ายกุศลที่สามารถจะเกิดในขณะนั้นทั้งๆ ที่มีปัจจัยควรที่จะให้อกุศลเกิด แต่กุศลที่มีกำลังก็ยังสามารถที่จะเกิดได้ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แต่ละชีวิต แต่ละท่าน แต่ละคนมีการสะสมมาที่ต่างกัน ท่านไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงการสะสมของบุคคลทั้งหลาย และถ้าจะกล่าวว่า เมื่อเป็นจูเฬกสาฎกพราหมณ์ก็ไม่เป็นไร จะตระหนี่ก็ควรเพราะมีผ้าห่มเพียงผืนเดียว แต่ความจริงแล้ว ความตระหนี่ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ไม่ควรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้พราหมณ์เกิดกุศลจิต
ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะเห็นได้ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประการเดียวแก่บุคคลทั้งหลาย คือ ให้เจริญกุศลทุกประการเท่าที่จะกระทำได้ ให้กระทำความดีทุกประการ และให้เว้น ให้ละการกระทำความชั่ว จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
สำหรับเรื่องความตระหนี่ซึ่งยากที่จะดับได้ รวมทั้งอกุศลธรรมอื่นๆ ด้วย ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะคนมีน้อย แม้แต่คนที่มีมาก ถ้าไม่ได้ขัดเกลา ละความตระหนี่ ก็ย่อมมีความตระหนี่มากยิ่งกว่าผู้ที่มีน้อยและขัดเกลาเรื่อยๆ เพราะอกุศลที่เกิดแต่ละครั้ง เช่น ความตระหนี่เกิดขึ้นแล้วดับไปจริง แต่ไม่หมด สะสมต่อไปในจิตดวงต่อไป จนกระทั่งจะปรากฏลักษณะของความตระหนี่ซึ่งยากที่จะคาดได้ว่า จะเป็นผู้ที่มีความตระหนี่แรงกล้าถึงอย่างนั้น
ใน ธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถาพระธรรมบท ปุปผวรรควรรณนา มีเรื่องโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ ซึ่งมีข้อความว่า
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภเศรษฐีชื่อโกสิยะผู้มีความตระหนี่ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ยถาปิ ภมโร ปุปฺผํ เป็นต้น เรื่องนี้ตั้งขึ้นแล้วในกรุงราชคฤห์
ถ้าเรื่องนี้ไม่มีประโยชน์ พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดง แต่ที่ทรงแสดงเพื่อให้เห็นโทษของอกุศลแม้เป็นความตระหนี่ว่า ถ้าสะสมทีเล็กทีละน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ย่อมเป็นความตระหนี่ที่แรงกล้า และเป็นอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจซึ่งยากที่ใครจะเป็นได้
ข้อความต่อไปมีว่า
สมบัติของเศรษฐีไม่อำนวยประโยชน์แก่ใครๆ
ดังได้สดับมา ในที่ไม่ไกลแห่งกรุงราชคฤห์ ได้มีนิคมชื่อสักกระ เศรษฐีคนหนึ่งชื่อโกสิยะ มีความตระหนี่ มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ประจำอยู่ในนิคมนั้น เขาไม่ให้แม้หยดน้ำมัน (สักหยดเดียว) ด้วยปลายหญ้าแก่คนเหล่าอื่น ทั้งไม่บริโภคด้วยตนเอง สมบัติของเขานั้นไม่อำนวยประโยชน์แก่ปิยชนทั้งหลาย มีบุตรและภรรยา เป็นต้น ไม่อำนวยประโยชน์แก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย คงเป็นของไม่ได้ใช้สอย ตั้งอยู่เหมือนสระโบกขรณี ที่ผีเสื้อน้ำหวงแหน ด้วยประการฉะนี้แล.
วันหนึ่ง เวลาจวนสว่าง พระศาสดาเสด็จออกจากสมาบัติอันประกอบด้วยความกรุณาใหญ่ ทรงตรวจดูหมู่สัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ที่พอแนะนำในการตรัสรู้ได้ใน สกลโลกธาตุ ได้ทรงเห็นอุปนิสัยโสดาปัตติผลของเศรษฐีพร้อมทั้งภรรยา ซึ่งอยู่ในที่สุดแห่งที่ ๔๕ โยชน์
ก็ในวันก่อนแต่วันนั้น เศรษฐีนั้นไปสู่พระราชมนเทียรเพื่อบำรุงพระราชา ทำการบำรุงพระราชาแล้วกลับมา เห็นคนบ้านนอกคนหนึ่งถูกความหิวครอบงำ กำลังกินขนมกุมมาส (ขนมเบื้อง) ให้เกิดความกระหายในขนมนั้นขึ้น ไปสู่เรือนของตนแล้ว คิดว่า ถ้าเราบอกว่าเราอยากกินขนมเบื้องไซร้ คนเป็นอันมากก็จัก (พากัน) อยากกินกับเรา เมื่อเป็นอย่างนั้น วัตถุเป็นอันมาก มีงา ข้าวสาร เนยใส น้ำอ้อย เป็นต้น ของเรา ก็จักถึงความหมดไป เราจักไม่บอกแก่ใครๆ