แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 820
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงมูลเหตุแห่งความวิวาทว่า มี ๖ อย่าง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาทนั้นมี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน ดูกร อานนท์
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ ภิกษุที่เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา
เพราะถ้าไม่เคารพในพระศาสดา ไม่เคารพในพระธรรม ไม่เคารพในพระสงฆ์ จะเป็นผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ในข้อประพฤติปฏิบัติ ย่อมเป็นไปไม่ได้
ผู้ที่จะปฏิบัติถูก ต้องเป็นผู้ที่เคารพในพระศาสดา ในพระธรรม และในพระสงฆ์ ไม่ถือความเห็นของตน และผูกโกรธเวลาที่บุคคลอื่นไม่เห็นด้วย แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรวจสอบพระธรรมวินัยโดยละเอียดด้วยความเคารพ จึงจะเป็นการเคารพใน พระศาสดา ในพระธรรม และในพระสงฆ์
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุที่ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิด ในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาทมีเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อเกิดการวิวาทขึ้นควรจะกระทำอย่างไร ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในสมัยพระผู้มีพระภาค หรือเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานใหม่ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นในยุคไหน ถ้าพุทธบริษัทมีการวิวาทกันเกิดขึ้น ก็ควรที่จะระงับความวิวาทนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
ดูกร อานนท์ ถ้าหากพวกเธอพิจารณาเห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ ในภายในหรือในภายนอก พวกเธอพึงพยายามละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นเสียในที่นั้น ถ้าพวกเธอพิจารณาไม่เห็นมูลเหตุแห่งความวิวาทเช่นนี้ ในภายในหรือ ในภายนอก พวกเธอพึงปฏิบัติไม่ให้มูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนั้นแล ลุกลามต่อไปในที่นั้น การละมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้ ความไม่ลุกลามต่อไปของมูลเหตุแห่งความวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยอาการเช่นนี้ ฯ
ถ้ามีการวิวาทเกิดขึ้น อย่าปล่อย อย่าละเลย ต้องพยายามทุกประการที่จะระงับความวิวาทนั้น โดยพิจารณาว่า ขณะนี้มีความวิวาทไหม ถ้าไม่มี ก็อย่าให้เกิดขึ้น โดยการแสดงธรรมตรงตามธรรมวินัย เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการวิวาท หรือถ้ามีการวิวาทเกิดขึ้น ก็ต้องพยายามระงับที่จะไม่ให้ลุกลามโดยการแสดงธรรมวินัยตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเหตุแห่งการวิวาทประการที่ ๒ จนถึงประการที่ ๖ ซึ่งไม่ควรจะคิดว่า จะมีแต่ในบุคคลอื่น และถ้ายังมีอยู่ในท่านผู้ใด ก็ควรที่จะได้ระงับและละเหตุแห่งการวิวาทนั้นเสีย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
ดูกร อานนท์ ประการอื่นยังมีอีก
(๒) ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ...
(๓) ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่...
(๔) ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา...
(๕) ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด...
(๖) ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยาก ภิกษุที่เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรง แม้ในพระศาสดา แม้ใน พระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ... ฯลฯ
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอธิกรณ์ ๔ คือ การวิวาท ๔ ประการ และการระงับอธิกรณ์ คือ อธิกรณ์สมถะ ๗ ตามพระธรรมวินัย โดยให้สติ ไม่ใช่ว่าโดยว่ากล่าวอย่างรุนแรง แต่ว่าโดยความเมตตา โดยให้สติบุคคลที่เห็นผิด เข้าใจผิด นอกจากให้สติแล้ว ก็ปลอบโยนจนกว่าจะระลึกได้ว่าผิด เพราะใครก็ตามที่จะรู้สึกตัวว่าผิด บางทียาก เพราะเป็นผู้ที่ยึดถือความเห็นของตนเองอย่างมาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะให้บุคคลอื่นรู้สึกตัวว่าผิดได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีเมตตา ให้สติ ปลอบโยนจนกว่าบุคคลนั้นจะระลึกได้ว่าผิด
และทรงแสดงธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ๖ เพื่อสงเคราะห์กัน ไม่วิวาทกัน คือ มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและที่ลับ
ท่านที่จะเจริญความสงบ เพราะว่าไม่ควรแต่จะเป็นผู้ที่ตั้งใจจะอบรมเจริญ สติปัฏฐานอย่างเดียว โดยปล่อยให้อกุศลธรรมเกิดกลุ้มรุมมากมาย แต่ควรจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลทุกประการ และการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเกื้อกูลต่อสติที่จะให้เกิดกุศลทุกขั้น แม้ในขั้นของความสงบ ซึ่งท่านผู้ฟังจะต้องเป็นผู้ที่ระลึกได้ คือ สติเกิดรู้ว่า ท่านมีกายกรรมที่ประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับหรือไม่
บางท่านอาจจะมีกายกรรมที่ดีเฉพาะในที่แจ้ง แต่ในที่ลับอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีสติ สามารถที่จะระลึกได้ว่า มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้ง และในที่ลับด้วย
มีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับ
วจีกรรมในที่ลับจะมีไหม ในที่แจ้งมีคำพูดซึ่งจะพูดกับบุคคลตั้งแต่ ๑ คน ๒ คน ๓ คน หลายคน แต่ในที่ลับ คิด นึก พูดในใจ เตรียมที่จะพูดกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะวจีทวารโดยสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ไม่ว่าจะในที่แจ้งหรือในที่ลับ เป็นสภาพธรรมที่ตรึกเป็นคำ เป็นเรื่องต่างๆ และการที่จะยับยั้งไม่ให้คิดนึกถึงใคร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่มีสภาพการจำ การรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ เป็นปัจจัยให้เกิดการนึกคิดถึงสิ่งต่างๆ ถึงบุคคลต่างๆ ซึ่งสติจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะที่คิดนั้นด้วยอกุศลหรือด้วยกุศล
เพราะฉะนั้น กายกรรมจึงมีทั้งในที่แจ้งและที่ลับ บางคนต่อหน้า ในที่แจ้ง กายกรรมงามมาก แต่เพียงคนนั้นหันหลังนิดเดียว เป็นที่ลับ กายกรรมก็ไม่งามแล้ว
เวลาที่โกรธจะเห็นได้ อาจจะแสดงกิริยาอาการบางประการลับหลัง นั่นก็เป็นกายกรรมที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาในที่ลับ แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีในที่แจ้ง ฉันใด วจีกรรมก็เช่นเดียวกัน ควรจะประกอบด้วยเมตตาทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศลโดยตลอด ไม่ว่าในที่แจ้งหรือในที่ลับ
นอกจากนั้น ควรจะมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในที่แจ้งและในที่ลับ
และควรจะ เฉลี่ยลาภที่ได้มาแม้เพียงอาหารติดบาตร สำหรับพระภิกษุที่จะเป็นธรรมที่ทำให้ระลึกถึงกัน โดยการกระทำที่เป็นกุศลต่อกัน นอกจากนั้นก็ เป็นผู้ที่เสมอกันโดยศีล เป็นประการที่ ๕ และเป็นผู้ที่เสมอกันโดยทิฏฐิ เป็นประการที่ ๖
นี่คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน ๖ ประการ
สำหรับการปฏิบัติผิด หลังจากที่พระผู้ที่พระภาคปรินิพพานจนกระทั่งถึงสมัยนี้ ก็ย่อมจะมีความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ และก็มีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งข้อความใน บุพพสิกขาวรรณนา ที่รจนาโดยท่านพระอมราภิรักขิต วัดบรมนิวาส โดยสมเด็จ พระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงชำระ มีข้อความ เรื่องการปฏิบัติผิด ตอนหนึ่งว่า
ปฏิปัตติสัทธรรมนี้ เมื่ออาศัยกาลวิบัติก็ไม่สมบูรณ์ และอาศัยปุถุชนผู้มีสันดานไม่ซื่อตรงกอปรด้วยอคารวะมาก มุ่งต่อโลกามิส ก็เป็นของไม่สมบูรณ์บริสุทธิ์ปราศจากโทษ คือ ปฏิปัตติสัทธรรมปฏิรูปก็เกิดขึ้น (ปฏิรูป หมายความว่า เปลี่ยนจากเดิม เป็นของที่ไม่ถูกต้องตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้) ดังภิกษุวัชชีบุตรบัญญัติวัตถุ ๑๐ ประการในกาลก่อนนั้น เพราะเหตุนั้น ปฏิปัตติสัทธรรมเมื่อนำสืบๆ กันมาสิ้นกาลนานจนถึงกาลบัดนี้ เป็นไฉนจะไม่เสื่อมทรามเศร้าหมอง
คือ แม้แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธปรินิพพานได้เพียง ๑๐๐ ปี ก็ยังมีการปฏิบัติผิดจากพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ อันเป็นเหตุให้มีการทำสังคายนาในครั้งที่ ๒ เพราะฉะนั้น เมื่อกาลเวลาล่วงไปเรื่อยๆ จนถึงสมัยนี้ เป็นไฉนปฏิปัตติสัทธรรมจักไม่เสื่อมทรามเศร้าหมอง ข้อปฏิบัติที่เป็นของเท็จ ของเทียม ของปลอม ที่ชื่อว่าสัทธรรมปฏิรูปก็เกิดขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ปฏิรูปก็เกิดขึ้นต่างๆ ดังถือว่า เดินจงกรมอาบัติตกหมด นานๆ อยู่ปริวาส มานัตเสียคราวหนึ่ง ชำระตัวให้บริสุทธิ์ และปฏิบัติอย่างอื่นๆ ในทางศีลก็มีอยู่มาก และถือว่าบริกรรมว่า อสํ วิสุโลปุสพุภ ชื่อว่าเจริญพุทธคุณก็มี และอัญเชิญพระปีติ ๕ และตั้งใจไว้ที่ตรงอก เป็นต้น แล้วบริกรรมว่า อรหํ อรหํ ไม่รู้อธิบายว่าอะไร แล้วเห็นสีต่างๆ สำคัญว่าพระมาโปรด แล้วถือว่าสำเร็จในภูมิสมาธิเท่านี้ และปฏิบัติในสมาธิและปัญญาที่ผิดอย่างอื่นๆ ที่หยาบและละเอียดกว่าที่กล่าวนี้ก็มีอยู่มาก เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้แสวงหาปฏิปัตติสัทธรรมที่จริงที่แท้ พึงทำตนให้เป็นคนซื่อตรง แสวงหาในปริยัติสัทธรรมที่จริงที่แท้เถิด ก็คงจะรู้จะเห็น
นี่เป็นข้อความในหนังสือ บุพพสิกขาวรรณนา เรื่องการปฏิบัติผิด
ท่านที่พยายามที่จะให้มีสติเกิดอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อย่าลำบากในการที่จะขวนขวายกระทำอย่างนั้น เพราะเหตุไม่ตรงกับผล
การสะสมอวิชชามากมายในอดีตอนันตชาติ พร้อมทั้งโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดมากกว่ากุศลในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นในชาติไหนๆ ก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่า อกุศลธรรมเกิดมากกว่า กุศลธรรม และอกุศลธรรม คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหล่านั้น ที่มีมาก ที่สะสมมามาก จะเอาไปทิ้งที่ไหน ในเมื่อเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลธรรมมากกว่ากุศลธรรม และท่านจะหวังว่า จะให้สติเกิดมากๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ให้หลงลืมสติเลย ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น หมายความว่า ท่านไม่เข้าใจในเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริงว่า ท่านสะสมโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ เป็นปัจจัยที่จะเกิดมากกว่าการสะสมกุศลหรือสติปัฏฐาน
ถ้าท่านเพียงแต่จะระลึกรู้ลักษณะของเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กำลังกระทบกาย อย่าลืม สติปัฏฐานต้องเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ และส่วนมากมักจะได้ยินท่านผู้ฟังสงสัยในเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ซึ่งแสดงว่าท่านอาจจะมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางอื่นบ้างแล้ว เช่น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ
ถ้าท่านเป็นผู้ระลึกรู้ลักษณะของเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ที่ปรากฏทางกายบ้าง แต่ทางตายังไม่ได้ระลึกเลย หรือว่าบางท่านอาจจะระลึกบ้าง แต่ยังน้อยกว่าทางอื่นอยู่ และเวลานี้มีทั้งการเห็นด้วย มีทั้งการได้ยินด้วย มีทั้งการกระทบอ่อนแข็งด้วย ถ้าสติจะเกิด ย่อมจะเกิดระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ท่านเคยระลึกบ้างแล้ว เช่น อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แต่จะให้สติเกิดตลอดเวลาจากทางกายไปสู่ทางใจ จากทางตา ไปสู่ทางใจ และจากทางหูไปสู่ทางใจ ตามวิถีจิต ตามความเป็นจริงในทุกๆ ขณะนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ชำนาญ และยังไม่ได้เริ่มระลึกรู้ลักสภาพของสภาพธรรมที่ปรากฏทั้ง ๖ ทาง โดยทั่วจริงๆ
ด้วยเหตุนี้ สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ควรที่จะละเลย เริ่มได้ในขณะที่กำลังเห็น แม้วันละเล็กวันละน้อย จะทำให้เริ่มชินกับลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น อย่าไปรวมกับลักษณะอ่อนหรือแข็งที่กระทบสัมผัส ที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่อ่อน ไม่แข็ง สัมผัสไม่ได้ กระทบไม่ได้ จับไม่ได้
ใครจะจับสีสันวัณณะที่ปรากฏได้ ไม่มีใครสามารถกระทบหรือจับได้เลย ทันทีที่กระทบหรือจับ เป็นอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ เพราะสภาพธรรมที่ปรากฏทางตามีลักษณะที่แท้จริง คือ เพียงปรากฏทางตา ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะต้องเริ่มแต่ละทาง จนกว่าจะเข้าถึงอรรถของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมว่า ต่างกับสภาพรู้ที่กำลังเห็นคือรู้สี หรือว่ากำลังได้ยินคือรู้เสียงจริงๆ
ไม่ว่าจะเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด ได้กลิ่นขณะใด ลิ้มรสขณะใด กระทบสัมผัสขณะใด สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม มีความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ เกิดพร้อมสติในขณะที่กำลังระลึกได้ ในขณะนี้เองที่กำลังเห็น ถ้าสติระลึก สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูก เห็นในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่มีใครเลย เพราะในขณะนั้นมีแต่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ
ตอนแรกๆ ความรู้อย่างนี้มีไม่ได้แน่นอน เห็นทีไรก็เป็นคน เป็นวัตถุ เป็น สิ่งต่างๆ แต่ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ โดยมั่นคงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น หาใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งจริงๆ
การที่จะเอาอัตตาออกจากการที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นอัตตา จะมีได้ก็ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ และอัตตาก็ปราศไป หมดไป เพราะเกิดความเห็นถูกขึ้นว่า สิ่งที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุ ต้องเป็นในขณะที่กำลังเห็น ความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลจึงจะออกไปได้
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เช่นเดียวกัน
แต่ทางตา คงจะเป็นการยากสำหรับทุกท่าน เพราะฉะนั้น ก็มักจะมีท่านผู้ฟังถามเสมอถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาว่า มีลักษณะอย่างไร ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ
ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ที่กำลังเห็นสีซึ่งคือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือชั่วขณะที่เริ่มจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง