แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 812

สุ. ถ้าปัญญาเกิดขึ้น และเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อยตามความเป็นจริง เช่น แต่ก่อนนี้สติไม่เคยเกิดเลย ไม่เคยรู้ลักษณะของสติ ไม่รู้ว่าเวลาที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร ไม่รู้เลย ใช่ไหม

แต่ว่าเมื่อได้ฟัง ก็เป็นสังขารขันธ์ เป็นปัจจัยที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกและศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเริ่มมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดพร้อมสติ ก็จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เมื่อมีการเริ่มที่จะรู้ ที่จะเข้าใจ ที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาก็ย่อมจะรู้ขึ้นๆ ได้ เพราะปัญญาเริ่มแล้ว

อย่างทางตาในขณะนี้ ถ้ายังไม่เคยระลึกที่จะน้อมไปรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งความหมายของความสงบในภายใน หมายความถึงไม่ออกไปเพ่นพ่านกับอารมณ์ภายนอก ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นประเทศนี้ ไม่เป็นโลกนั้น ในขณะนั้นมีความสงบ เพราะรู้ว่ามีแต่เพียงสภาพรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นภายใน ไม่มีบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีโลกไหนทั้งสิ้น สิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏกับสภาพรู้ คือ กำลังเห็นในขณะนี้เท่านั้น

หรือว่าในขณะที่พิจารณาเสียง เสียงมีจริง เสียงปรากฏใช่ไหม ซึ่งหมายความว่า เสียงปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้เสียง เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนั้นเป็นความสงบในภายในก็เพราะปัญญารู้ว่า ไม่มีใคร ไม่มีคน ไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่สภาพรู้ที่กำลังรู้เสียงเท่านั้นเอง โลกทั้งหมดอยู่เพียงขณะจิตที่กำลังรู้เสียงในขณะที่เสียงปรากฏ

ถ้าเริ่มศึกษารู้ลักษณะของเห็น ของได้ยิน ของสิ่งที่ปรากฏทางตา ของเสียงที่ปรากฏทางหู ปัญญาก็จะรู้ว่า เมื่ออบรมไปความรู้จะต้องชัดกว่านี้อีก ความรู้จะต้องเพิ่มกว่านี้อีก ความรู้จะต้องสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางยิ่งกว่านี้อีก

แต่ถ้าสติไม่เคยเกิด ก็ดูเสมือนว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับแต่ละลักษณะตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริง

บางท่านที่ศึกษาพระอภิธรรมก็กล่าวว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าจริง ผัสสเจตสิก ฉันทเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เวลานี้ก็ไม่เห็นมีอะไรปรากฏสักอย่างเดียว

ที่ไม่ปรากฏ ก็เพราะสติไม่ได้ระลึก ไม่ได้ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างนั้น ตามที่ท่านที่ประจักษ์แจ้งแล้วทรงแสดง

อย่างฉันทะเจตสิก ไม่ใช่โลภเจตสิก สำหรับโลภเจตสิกมีลักษณะที่ติดข้อง ยึดในอารมณ์ที่ปรากฏ มีการไม่สละเป็นอาการปรากฏ แต่ฉันทะไม่ใช่โลภะ ฉันทะเป็นความพอใจ เป็นสภาพที่พอใจ ถ้าสติไม่เกิด ก็ดูเหมือนว่าไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของฉันทะได้เลย แต่บางครั้งเวลาที่เกิดความโกรธขึ้น มีความพอใจในอกุศลในขณะนั้นที่โกรธอย่างนั้น ลักษณะนั้นไม่ใช่โลภะ แต่ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของฉันทะ

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นเจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ จะเป็นฉันทะ จะเป็นวิตก จะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่าเป็นของจริงสำหรับผู้ที่ไม่ได้ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่สภาพธรรมทั้งหมดซึ่งผู้ที่ได้ ตรัสรู้แล้วทรงแสดง จะเป็นความจริงกับผู้ที่เริ่มอบรมเจริญปัญญา ซึ่งสภาพธรรมจะปรากฏตามปกติ

ลมหายใจทุกคนมี ไม่ต้องจดจ้อง เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ เลือกไม่ได้เลยว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมใด นามธรรมใด แต่ขณะใดก็ตามที่มีปัจจัยที่จะให้ปัญญาที่คมกล้าเกิดขึ้นรู้ชัดในขณะนั้น แม้สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่สุขุม เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้โดยความเป็นอนัตตา คือ โดยไม่ได้เลือก หรือว่าโดยไม่ได้จงใจ ไม่ใช่ด้วยความต้องการว่า อยากจะรู้การเกิดดับของลมหายใจ และก็ไปพากเพียรจดจ้อง ซึ่งลักษณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

ถ. เมื่อสักครู่แสดงวิถีจิตเป็นอัตตา มีความละเอียดลออ แต่ผมจะขอความกรุณาอาจารย์แสดงวิถีจิตที่เป็นอนัตตา โดยความละเอียดลออเหมือนกับอัตตาได้ไหม

สุ. ก็ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไปทีละเล็กทีละน้อย นี่เป็นหนทางเดียว

ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เหมือนกันเลย วิถีจิตไม่ได้ผิดกันเลย มโนทวารวิถีจิตก็ปรากฏโดยลักษณะของมโนทวารวิถี ปัญจทวารวิถีก็ปรากฏโดยลักษณะของปัญจทวารวิถี ถ้าไม่มีมโนทวารวิถีคั่น ความขาดตอนของรูปารมณ์กับสัททารมณ์ คือ เสียงที่กำลังได้ยินกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะแยกขาดออกจากกันได้อย่างไร

เวลานี้ทุกคนมี ๖ ทาง คือ ๖ ทวาร แต่เกิดดับสลับติดต่อกันอย่างรวดเร็วจนไม่ปรากฏว่า ทางไหนเป็นทวารไหน เพราะทันทีที่จักขุทวารวิถีจิต วิถีจิตทางจักขุทวารดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ ก็ไม่เห็นสภาพของภวังคจิต มโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อก็ไม่ปรากฏ ดูเหมือนกับว่าการเห็นนี้ไม่ได้ขาดตอนเลย ดูเหมือนกับว่ามีจักขุวิญญาณดวงเดียวเท่านั้นที่กำลังเกิดแล้วก็ดำรงอยู่เรื่อยๆ ไม่ปรากฏการดับไป แต่ในขณะที่จักขุวิญญาณดวงหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป กว่าจักขุวิญญาณอีกดวงหนึ่งจะเกิดขึ้น จิตมากมายหลายขณะเกิดคั่น

การรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า มโนทวารวิถีเกิดคั่นอย่างไร รูปารมณ์และรูปอื่นๆ จึงปรากฏแต่เพียงลักษณะที่เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น จึงจะไม่ใช่ตัวตน

ถ. อาจารย์กล่าวว่า หลังจากปัญจทวารวิถีหมดไปแล้ว มโนทวารวิถีที่สัญญาจดจำอารมณ์นั้น และวิตกตรึกถึงอารมณ์นั้นโดยความเป็นตัวตน ช่วงนี้ผมมีความสงสัยว่า ถ้าหากเป็นโดยการรู้แบบอนัตตา คือ ตรึกนึกไปในสภาพของ ปรมัตถอารมณ์ ช่วงนี้สัญญาเจตสิกจะเกิดเหมือนกันกับการรู้แบบอัตตาหรือเปล่า หรือว่าต้องตัดวิถีนี้ออก หรืออย่างไร ผมข้องใจ

สุ. สติเกิด ต่างกับที่หลงลืมสติเพราะอะไร เพราะมีการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะเป็นสัญญาในอนัตตสัญญา อนิจจสัญญา และทุกขสัญญา ค่อยๆ อบรมไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทันทีก็เกิดอนัตตสัญญาขึ้นมา เป็นไปไม่ได้ ต้องมีการศึกษา มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่ รู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ เมื่อมีความต่างกันแล้ว การมนสิการ การศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพร้อมสติจึงต่างกับขณะที่หลงลืมสติซึ่งไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมเลย ทันทีที่เห็นก็หลงไป แต่เวลาที่มีสติไม่ได้หลงอย่างนั้น ระลึกคือ ไม่ลืมเกิดขึ้น ศึกษา สังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรม น้อมไปรู้ว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะชิน

ถ. ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ กับคำอธิบายของอาจารย์ ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้อย่างที่อาจารย์อธิบายไหม

สุ. ที่แน่นอนที่สุด คือ จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าเป็นนามธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ รู้ลักษณะของรูปธรรมว่า เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ และเพิ่มความรู้ขึ้น จนประจักษ์แจ้งความเกิดขึ้นและดับไป นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนใครที่จะรู้ได้ละเอียด รู้ได้มากน้อย รู้ได้ลึกซึ้ง รู้ได้กว้างขวาง รู้ได้ทั่วถึง รู้ได้อาจหาญร่าเริงอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละท่าน แต่ที่แน่นอนที่สุด คือ อริยสัจ ได้แก่ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนแต่ละอย่าง

ถ. หมายความว่า ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว ขณะที่เสียงปรากฏ สติระลึกรู้ทันที หรือว่ากลิ่นปรากฏ มีสติระลึกรู้ทันที

สุ. สภาพธรรมใดปรากฏ ก็แล้วแต่สติจะเกิดระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เวลานี้รูปยังไม่ดับ แต่สติดับใช่ไหม เกิดประเดี๋ยวแล้วก็หลงลืมสติ แต่ว่ารูปก็ยังไม่ปรากฏว่าดับ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่มีสติ เป็นขณะที่ศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อสติดับไปแล้ว ก็หมดไป และเมื่อไรสติเกิดขึ้นอีก ก็แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ก็ศึกษา คือ สังเกต น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะรู้ชัด เป็นปกติธรรมดาที่สุด ไม่ต้องหวั่นไหวตื่นเต้นอะไร เพียงแต่ให้รู้ว่า ขณะใดที่สติเกิด ก็เกิด และก็ศึกษาเพื่อที่จะได้รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อหมดไปแล้ว ก็หมดไป

ถ. มีผู้ปฏิบัติบางคนสงสัยว่า ขณะที่เห็นก็ไม่มีสติ ขณะที่เห็นและรู้ว่าเป็นอะไรก็ยังไม่มีสติอีก แต่กำลังพอใจ ก็มีสติเกิดขึ้น

สุ. แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด เลือกไม่ได้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ รู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดได้ทั้งนั้นที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ

ถ. ผมสงสัยว่า ตัวรู้ คือ สติ หรือปัญญา

สุ. สติก็เป็นนามธรรม ปัญญาก็เป็นนามธรรม ความหมายของนามธรรมก็คือ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์

ถ. รู้ เป็นสติ หรือปัญญา

สุ. สติกับปัญญาต้องเกิดพร้อมกัน และมีเจตสิกอื่นด้วย

ถ. เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้แยกจากกัน

สุ. ไม่ใช่ เจตสิกแต่ละชนิด หลายชนิดเกิดพร้อมกัน แต่ไม่ใช่หมายความว่า เจตสิกทั้งหมดเป็นชนิดเดียวกัน

ต่อจากเทวตานุสสติ เป็นอุปสมานุสสติ การระลึกถึงพระนิพพาน จะยากไหม เพราะเพียงแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ยังรู้ยาก รูปธรรมแท้ๆ ไม่ใช่สัตว์บุคคลก็ยังไม่รู้ เห็นทีไรก็ยังเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่รู้ว่าลักษณะของรูปธรรมที่เพียงปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ เป็นอย่างไร ฉะนั้น การที่จะระลึกถึง พระนิพพานที่จะให้จิตสงบเป็นอุปสมานุสสตินั้น จะยากสักแค่ไหน

ที่กล่าวถึงอุปสมานุสสติต่อจากเทวตานุสสติ เพราะว่าในอนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ๑ ธัมมานุสสติ ๑ สังฆานุสสติ ๑ ศีลานุสสติ ๑ จาคานุสสติ ๑ เทวตานุสสติ ๑ ทั้ง ๖ นี้ คือ ฉอนุสสติ สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าเท่านั้นที่สามารถจะบรรลุถึงความสงบที่เป็นอุปจารสมาธิได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า บุคคลที่ไม่ใช่ พระอริยะไม่ควรที่จะระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศีล จาคะ หรือเทวดา เพราะขณะใดก็ตามที่จิตสงบได้โดยการระลึกถึงธรรมฝ่ายกุศล ก็เป็นการขจัดอกุศลไม่ให้กำเริบ หรือว่าไม่ให้เพิ่มพูนขึ้น

สำหรับอนุสสติอื่นอีก ๔ คือ อุปสมานุสสติ มรณสติ กายคตาสติ และ อานาปานสติ ก็มีอุปสมานุสสติอีก ๑ ซึ่งสำหรับพระอริยบุคคลเท่านั้นที่สามารถจะบรรลุถึงความสงบขั้นอุปจารสมาธิได้

เพราะฉะนั้น ในอนุสสติ ๑๐ มี ๗ อนุสสติ คือ ฉอนุสสติและอุปสมานุสสติ ซึ่งผู้ที่จะบรรลุถึงความสงบขั้นอุปจาระ ได้แก่ พระอริยเจ้าประเภทเดียว

สำหรับมรณสติ ผู้ที่ไม่ใช่เป็นพระอริยเจ้า เมื่อระลึกถึงบ่อยๆ เนืองๆ อย่างถูกต้อง ก็สามารถที่จะสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ เพราะฉะนั้น สำหรับมรณสติ ไม่ว่า ผู้นั้นจะเป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็สามารถที่จะบรรลุถึง อุปจารสมาธิ แต่อย่าลืมว่า ต้องสงบจนถึงอุปจารสมาธิ ไม่ใช่ว่ามีแต่สมาธิ และไม่ใช่กุศล ก็ไม่สงบ เพราะว่าเรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องการอบรมเจริญความสงบ แต่ที่ใช้คำว่า สมาธิ เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้ความสงบก็มีหลายขั้น

ความสงบชั่วขณะ เป็นขณิกสมาธิ ซึ่งเป็นกุศลจิตแต่ละขณะ ไม่มั่นคง แต่ผู้ที่สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบให้มั่นคง ความสงบที่มีกำลังมั่นคงนั้นถึงขั้น อุปจารสมาธิ เพราะฉะนั้น เวลาที่ใช้คำว่าสมาธิในเรื่องการอบรมเจริญความสงบ อย่าลืมว่า หมายความถึงความสงบที่มั่นคง อย่าไปเพียรทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ โดยไม่สงบ ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่ใช่สมถภาวนา

นอกจากมรณสติ ซึ่งทั้งพระอริยเจ้าและผู้ที่ไม่ใช่พระอริยเจ้าสามารถที่จะอบรมจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ ก็มีกายคตาสติ และอานาปานสติ

สำหรับกายคตาสติ การระลึกถึงส่วนของกาย คือ ขนบ้าง ผมบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง และจิตสงบ ก็สามารถที่จะเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้นได้ถึงขั้นฌานจิต แต่แค่ปฐมฌานเท่านั้น

สำหรับอานาปานสติ ซึ่งเป็นอนุสสติ สามารถที่จะอบรมจนกระทั่งความสงบมั่นคงถึงฌานจิตขั้นปัญจมฌาน คือ ฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย หรือฌานที่ ๔ โดย จตุกกนัย

จะขอกล่าวถึงอนุสสติตามลำดับ และที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ อนุสสติ ๖ สำหรับอนุสสติต่อไป สำหรับพระอริยเจ้าที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความสงบขั้นอุปจาระ คือ อุปสมานุสสติ ซึ่งต้องเข้าใจจริงๆ จึงจะสงบได้ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่เป็นกุศลจิต จะสงบได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาจะเห็นได้จริงๆ ว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญจนกระทั่งความสงบมั่นคง ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดหลักแหลม มีปัญญา เห็นโทษของอกุศลแม้ไม่ใช่ขั้นทุจริตกรรม เพียงทันทีที่เห็น ทันทีที่ได้ยิน ผู้นั้นก็รู้แล้วว่า ถ้าจิตไม่น้อมไปในอารมณ์ที่จะให้สงบ หรือในอารมณ์ที่เป็นสติปัฏฐานแล้ว ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล เมื่อผู้นั้นมีปัญญาที่รู้ชัดอย่างนี้จริงๆ และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญความสงบ จึงจะเกิดความสงบที่มั่นคง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเป็นการระลึกถึงอารมณ์ใดในอารมณ์ของ สมถกัมมัฏฐาน ๔๐

สำหรับพุทธานุสสติ ท่านที่ศึกษาพระธรรม ก็คงพอที่จะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคได้ แต่การที่จะระลึกถึงพระนิพพาน ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของ พระนิพพานอย่างถูกต้องจริงๆ จิตจะสงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับอุปสมานุสสติ จะขอกล่าวถึงลักษณะของนิพพาน เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังน้อมไปที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งสูงสุดยิ่งกว่าธรรมใดๆ

ถ. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตาย ผมระลึกทีไรผวาทุกที ไม่สงบ เพราะอายุของเราก็เข้ามาครึ่งหนึ่งของอายุขัย จะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ นึกถึงธรรมที่ปฏิบัติที่ยังไม่สมบูรณ์ทีไร หรือพระไตรปิฎกที่ศึกษายังไม่จบ นึกทีไรเร่าร้อนทุกที เร่งเพียรที่จะศึกษาไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน ผมนึกทีไรผวากลัวทุกที ต้องรีบทำ รีบศึกษา รีบปฏิบัติ

สุ. เพราะฉะนั้น ก็ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เลย

ถ. ผมทำงานไป คิดไป บางทีหลงลืมสติไปเกือบทั้งวัน คิดถึงความตาย คิดถึงธรรมขึ้นมา ก็รีบศึกษา มรณานุสสติทำให้ผวา เสียเวลาไปแล้ว ไม่ได้อะไร วันหนึ่งพ้นไปแล้ว

สุ. ถ้าคิดถึงและกุศลจิตเกิด ก็เป็นสติปัฏฐานได้ทันที ตัดความห่วงกังวลซึ่งเป็นอกุศลออก ขณะที่คิดห่วง คิดกังวล ด้วยความเป็นตัวตน ใช่ไหม คิดอย่างนั้นละความเป็นตัวตนไม่ได้ จึงเกิดความเป็นห่วงตัวตนขึ้น

ที่จะได้ประโยชน์จริงๆ จากมรณสติ คือ ระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ก็เป็นวิตก การตรึกด้วยความห่วงใย ด้วยความกังวล ด้วยความเป็นตัวตน ขณะนั้นไม่ใช่มรณสติ

เปิด  262
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565