แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 815

ความไปเป็นสังขาร ความไม่ไปเป็นนิพพาน

ขณะนี้ทุกท่านกำลังไปอยู่หรือเปล่า หรือบางท่านจะตอบว่า กำลังนั่งอยู่ไม่ได้ไปไหน อย่าลืม ไปทุกขณะจิต ไม่มีการย้อนกลับเลย มีแต่การไป ไป อยู่ทุกขณะ ไปไหน ไปกับอารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งปรากฏแล้วก็ดับไป และอารมณ์นั้นก็เกิดอีก ปรากฏอีก ไปอีก ทันทีที่เกิดก็ไป แล้วแต่ว่าท่านจะไปทางโลภะ หรือท่านจะไปทางโทสะ หรือว่าท่านจะไปทางโมหะ หรือว่าท่านจะไปทางกุศล

ขณะนี้ทุกคนกำลังไปอยู่ทุกขณะจิตตามการเกิดขึ้นและดับไปของจิต จิตเกิดขึ้นแล้ว ไปแล้ว เมื่อครู่นี้ไปไหน จิตเมื่อครู่นี้ไปไหน ไปทางโลภะ หรือว่าไปทางโทสะ หรือว่าไปทางโมหะ หรือว่าไปทางกุศล อย่าลืมว่า กำลังไป และต้องไปอยู่เรื่อยๆ ไปไม่รู้จบ ไปทุกขณะของจิต

เพราะฉะนั้น เวลาที่สิ้นชีวิตลง ทุกคนก็กล่าวว่า ไปตามยถากรรม คือ กรรมของตนเองของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา แต่แท้ที่จริงแล้วไปอยู่ทุกขณะจิต แม้ในขณะนี้ก็กำลังไป แล้วแต่ว่าท่านจะไปทางไหนมาก จะไม่ไปได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะจิตเกิดขึ้นแล้วก็ต้องไป ไปแล้วก็ดับ และก็เกิดอีก ไปอีก ไปอยู่เรื่อยๆ ที่จะไม่ไปได้จริงๆ คือ ปรินิพพานเท่านั้น

ความบังเกิดเป็นสังขาร ความไม่บังเกิดเป็นนิพพาน

นี่ก็เหมือนกัน หมายความถึงการบังเกิดของแต่ละขณะจิต ซึ่งการไปจะไปได้ ก็ต่อเมื่อมีการเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเกิดขึ้น ก็ไปไม่ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่ไป ก็ไม่ได้ เพราะสภาพธรรมเกิดแล้วไปทันที

ความอุบัติเป็นสังขาร ความไม่อุบัติเป็นนิพพาน

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้ ท่านผู้ฟังไม่สามารถจะคาดคะเนได้เลยว่าอะไรจะอุบัติขึ้น เพราะว่ามีปัจจัยที่ได้สะสมมาในอดีต เป็นเหตุที่จะให้มีการอุบัติ เกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ที่อุบัติเกิดขึ้นนี้ มีเหตุที่ได้กระทำสะสมไว้แล้วเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า การอุบัติเกิดขึ้นนั้นเป็นมาอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุที่สะสมไว้แล้ว การอุบัตินั้นก็จะต้องมี จนกว่าการสะสมทางฝ่ายกุศลจะ คมกล้าสามารถที่จะดับการอุบัติ ไม่มีการเกิดขึ้น คือ การดับสนิท เป็นนิพพานเท่านั้น

สำหรับข้อความต่อไป เป็นที่เข้าใจอยู่แล้ว คือ

ความเกิดเป็นสังขาร ความไม่เกิดเป็นนิพพาน

ความแก่เป็นสังขาร ความไม่แก่เป็นนิพพาน

ความป่วยไข้เป็นสังขาร ความไม่ป่วยไข้เป็นนิพพาน

ความตายเป็นสังขาร ความไม่ตายเป็นนิพพาน

ความเศร้าโศกเป็นสังขาร ความไม่เศร้าโศกเป็นนิพพาน

ความรำพันเป็นสังขาร ความไม่รำพันเป็นนิพพาน

ความคับแค้นใจเป็นสังขาร ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพาน ฯ

ขณะนี้จะน้อมไประลึกถึงสภาพธรรมที่สงบ คือ ไม่เกิดของนิพพานได้ไหม ในเมื่อยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสมถภาวนาและการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา จึงเป็นการอบรมที่ต่างขั้นกัน เพราะสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานรู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว รู้เหตุปัจจัยของสังขารธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ ไม่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แม้จิตที่น้อมระลึกถึงพระนิพพาน คือ อุปสมานุสสติจะเกิดขึ้น บุคคลนั้นก็รู้ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งนิพพาน การที่จะระลึกถึงอุปสมานุสสตินั้นก็ยาก และน้อย และถ้าจะระลึก ก็อาจระลึกเพียงชื่อนิพพาน แต่ว่าลักษณะแท้ๆ ของนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็ได้แต่เพียงอาศัยการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้าง และก็เห็นโทษ และก็น้อมไประลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขารธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่เกิด

เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของนิพพาน ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๕๖๓ ซึ่งมีข้อความว่า

คำว่า ผู้ใดพึงปฏิบัติตามธรรม ความว่า ผู้ใดพึงปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบ ข้อปฏิบัติสมควร ข้อปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก ข้อปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์ ข้อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ผู้ใดพึงปฏิบัติตามธรรม

ข้อ ๕๖๖

กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ท่านกล่าวว่า ที่มิใช่ฝั่ง ในอุเทศว่า อปารา ปารํ คจฺเฉยฺย ดังนี้ อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า ฝั่ง

คำว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่ง ความว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่ง คือ พึงบรรลุถึง พึงถูกต้อง พึงทำให้แจ้งซึ่งฝั่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่ง

จะเห็นได้ว่า สภาพของนิพพานนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และจะถึงได้ บรรลุได้ ประจักษ์แจ้งได้ ไม่ใช่ว่าจะหมดหนทางหรือหมดหวัง แต่ต้องอบรมเจริญไปจริงๆ

ข้อ ๕๖๗

มรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ท่านกล่าวว่า มรรค ในคำว่า ซึ่งมรรค ในอุเทศว่า ภาเวนฺโต มคฺคมุตฺตมํ ดังนี้

คำว่า อันอุดม คือ อันเลิศ ประเสริฐ วิเศษ เป็นประธาน สูงสุดอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มรรคอันอุดม

คำว่า เมื่อเจริญ ความว่า เมื่อเจริญ ซ่องเสพ ทำให้มาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อเจริญมรรคอันอุดม

ข้อ ๕๖๘

คำว่า มรรคนั้น (ย่อมเป็นไป) เพื่อให้ถึงฝั่ง ความว่า มรรค ปันถะ ปถะ ปัชชะ อัญชสะ วฏมายนะ นาวา อุตตรเสตุ ปกุลละ สังกมะ (แปลว่าทาง ทุกศัพท์)

คำว่า เพื่อให้ถึงฝั่ง ความว่า เพื่อให้ถึงฝั่ง ให้ถึงพร้อมซึ่งฝั่ง ให้ตามถึงพร้อมซึ่งฝั่ง คือ เพื่อข้ามพ้นชราและมรณะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มรรคนั้น (ย่อมเป็นไป) เพื่อให้ถึงฝั่ง

นิพพานมีจริง แต่ว่าต้องถึงจึงจะจริง จึงจะประจักษ์ และไม่ใช่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมว่านิพพานมีจริงเท่านั้น โดยที่ไม่ทรงแสดงหนทางว่าจะถึงได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะถึง คือ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ แต่พระผู้มีพระภาคประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ทรงรู้แจ้งหนทางที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพาน และทรงแสดงหนทางที่จะอบรม ซ่องเสพ เจริญปัญญาเพื่อที่จะให้รู้แจ้งนิพพานได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงว่า มรรคนั้นเพื่อให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน ไม่ใช่ว่าไม่มีหนทาง

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านผู้ใดเข้าใจลักษณะของสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิจริงๆ แม้เพียงชั่วขณะหนึ่งที่มรรคเกิดขึ้น นั่นเป็นหนทางที่ท่านกำลังเดินที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานในวันหนึ่ง แต่ต้องเป็นหนทางนี้หนทางเดียว เพราะไม่ได้แสดงหนทางอื่นเลย

เพราะฉะนั้น ท่านที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเริ่มที่จะรู้ว่า หนทางที่จะดำเนินไปสู่การรู้แจ้งสภาพธรรมจนกระทั่งประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้จริงๆ นั้น มี เพราะเกิดขึ้นแล้วกับท่านเวลาที่สัมมาสติเกิดขึ้น และมีการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ข้อ ๕๖๙

คำว่า เพราะเหตุนั้น มรรคท่านจึงกล่าวว่า เป็นที่ให้ถึงฝั่ง ความว่า เพราะเหตุนั้น คือ เพราะการณะนั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะนิพพานนั้น

อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ... ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่า ฝั่ง

มรรค ท่านกล่าวว่า อายนะ เป็นที่ให้ถึง

คำว่า อิติ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า อิติ นี้ เป็นไปตามลำดับบท เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะเหตุนั้น มรรคท่านจึงกล่าวว่า เป็นที่ให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ว่า

บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันอุดม พึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่ง

มรรคนั้น (ย่อมเป็นไป) เพื่อให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุนั้น มรรคท่านจึงกล่าวว่า เป็นที่ให้ถึงฝั่ง

ถ. ผู้ที่ยังไม่ถึงนิพพาน ย่อมจะยึดเอานิพพานมาเป็นอารมณ์ของ สมถกัมมัฏฐานไม่ได้ ถูกไหม

สุ. ยาก ถ้าไม่ศึกษาลักษณะของนิพพานให้เข้าใจจริงๆ การที่จะน้อมนึกถึงสภาพของนิพพานในวันหนึ่งๆ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน แต่ถ้าพิจารณา และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน มีการเริ่มรู้ลักษณะของสังขารธรรม ก็พอจะเทียบเคียงได้ว่า ลักษณะของนิพพานตรงกันข้ามกับสังขารธรรมที่เกิดปรากฏทั้งหมด

ถ. ถ้าหากยังไม่รู้แจ้งอารมณ์ที่เป็นนิพพาน จะเอาอารมณ์ของสมถภาวนามาพิจารณา หรือว่านั่งพิจารณาอารมณ์ที่ตัวเองพอที่จะพิจารณาได้ รู้สึกว่าจะเกิดปัญญาได้มากกว่า อย่างนี้จะถูกไหม

สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เวลานี้จะชักชวนให้ท่านผู้ใดระลึกถึงพระนิพพาน ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ระลึก ก็เกิดระลึกขึ้นไม่ได้ หรือว่าถ้าท่านมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดนึกถึงลักษณะของนิพพาน ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมสติก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

จุดประสงค์ คือ ให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะถ้าระลึกถึงลักษณะของพระนิพพานและสงบชั่วขณะที่ระลึกถึงบ้างเพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา ที่กำลังระลึกถึงลักษณะของนิพพาน

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใด จะเป็นทานกุศล หรือศีลกุศล หรือเป็นกุศลที่เป็นความสงบของจิต กุศลเหล่านั้นทั้งหมดไม่สามารถที่จะดับกิเลส เพราะไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต วรรคที่ ๕ ปสาทสูตร มีข้อความที่ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นธรรมประการเดียวที่ทำให้รู้แจ้งนิพพาน ดับกิเลสได้

ข้อความมีว่า

ข้อ ๒๗๐

จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ไม่มีเท้าก็ดี ๒ เท้าก็ดี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์ประมาณเท่านั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศ ก็และผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ฯ

นี่เป็นพระพุทธคุณ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สำหรับข้อความในปสาทสูตรนั้น เป็นการแสดงถึงคุณของพระรัตนตรัยอีกนัยหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศที่สุด คือ การเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่การที่จะเลื่อมใสจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินได้ฟังมา หรือว่าถ้าเป็นเด็กก็ เป็นเพราะผู้ใหญ่บอกว่าต้องนอบน้อมสักการะกราบไหว้พระพุทธเจ้า นั่นยังไม่ใช่ ปสาทะ หรือความเลื่อมใสที่แท้จริง ถ้าเป็นความเลื่อมใสจริงๆ จะต้องรู้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร จึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ต้องรู้เหตุและผล ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าอย่างไรจึงได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อะไร ความจริงที่ตรัสรู้ที่ทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คืออย่างไร

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการศึกษา แม้แต่การที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสรู้อะไร ด้วยเหตุนี้ข้อความต่อไปจึงเป็นการระลึกถึงพระธรรมคุณ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด

สังขตธรรม เป็นอีกความหมายหนึ่งของสังขารธรรม คือ ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ส่วนอสังขตธรรม คือ นิพพาน เป็นธรรมที่ไม่เกิดขึ้น ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

วิราคะ (หมายถึงพระนิพพาน) คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับนิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ

ถ้ามีความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีความเข้าใจถูกต้องว่า พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมอะไรจึงทรงดับกิเลสทั้งสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย ก็ย่อมจะมีความเลื่อมใส คือ ปสาทะในธรรมที่ดับกิเลส คือ นิพพาน

เพราะฉะนั้น จะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาที่จะให้ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมซึ่งเป็นที่เลื่อมใสแล้วว่าธรรมนั้นเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่าวิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา ต้องเข้าใจความหมายของความเมาด้วย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในอารมณ์ทั้งหลาย

นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ

ที่จะหมดความอาลัย เยื่อใยในตัวตน ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นไปได้เองไหม ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้น และปัญญาที่รู้ลักษณะของสังขารธรรม ถึงแม้ว่าจะประจักษ์ความเกิดดับก็จริง แต่สังขารธรรมนั้นก็ไม่ใช่ วิราคธรรม คือ ไม่ใช่นิพพาน เมื่อสังขารธรรมนั้นไม่ใช่นิพพาน ก็ยังเป็นอารมณ์ของอาลัย คือ ความเยื่อใย ความยินดีในสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่เมื่อยังไม่ใช่สภาพธรรมที่ไม่เกิด ก็ย่อมจะบรรเทาความเมา หรือว่าถอนความอาลัย ความระหาย ความยินดีไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อรู้สภาพธรรมคือนิพพานว่า มีลักษณะเป็นธรรมที่ไม่เกิดจึงเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้ ก็ย่อมมีปสาท คือ ความเลื่อมใสในธรรมที่ดับกิเลส โดยอบรมเจริญปัญญาที่จะให้ประจักษ์แจ้งในนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เลื่อมใสแล้ว

เปิด  282
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565