แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 816
นิพพานน่าเลื่อมใสไหม มีจริง และดับกิเลสได้จริง เพราะเป็นสภาพธรรมที่ ไม่เกิด การเลื่อมใสจริงๆ คือ อบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์ให้สมกับความเลื่อมใส มิฉะนั้นแล้วก็เป็นความเลื่อมใสที่มีกำลังน้อยมาก เพราะยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์จริงๆ
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์ลักษณะของนิพพาน โดยทรงแสดงว่า มรรคมีองค์ ๘ เลิศกว่าสังขตธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมที่เป็นทาน หรือเป็นศีล หรือเป็นความสงบ ในบรรดาสังขตธรรม คือ ธรรมที่เกิดดับทั้งหลาย ไม่มีธรรมใดที่จะเลิศกว่ามรรคมีองค์ ๘ เพราะว่าเป็นหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ดับกิเลส
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในธรรม คือ อริยมรรค ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ
เป็นการระลึกถึงพระธรรมคุณอีกนัยหนึ่ง ที่แสดงถึงความเลิศของสังขตธรรม ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘
ข้อความต่อไป เป็นความเลื่อมใสในพระสงฆ์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด หมู่สาวกของ พระตถาคต คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่และคณะเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในหมู่ผู้เลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เมื่อชนทั้งหลายเลื่อมใสแล้วในพระรัตนตรัยที่เลิศ รู้แจ้งธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม เลื่อมใสแล้วในธรรมอันเลิศ ซึ่งเป็นที่สิ้นกำหนัดและเป็นที่สงบ เป็นสุข เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม ถวายทานในพระรัตนตรัยที่เลิศ บุญที่เลิศย่อมเจริญ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติคุณ สุขะและพละอันเลิศย่อมเจริญ นักปราชญ์ถวายไทยธรรมแก่พระรัตนตรัยที่เลิศ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันเลิศแล้ว เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศบันเทิงอยู่ ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล ฯ
จบ สูตรที่ ๑
ถ. มีคนพูดว่า ทำบุญไม่เห็นตัวบุญ ทำบาปไม่เห็นตัวบาป เขาว่าไม่มีสวรรค์ ไม่มีนรก นรกมีจริงไหมในพระไตรปิฎก
สุ เขาว่า ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ทางที่จะรู้ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้ามีความเลื่อมใสในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ศึกษาพระธรรมในพระไตรปิฎกซึ่งทรงแสดงเหตุและผล เจตนามีไหม ความจงใจ ความตั้งใจ มี ซึ่งความจงใจ ความตั้งใจ บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล เมื่อความตั้งใจหรือความจงใจซึ่งเป็นเหตุมี เพราะฉะนั้น ผลของความจงใจหรือความตั้งใจนั้นก็ต้องมี
ถ. ฉันก็ไม่รู้ซึ้ง ฉันได้ยินเขาพูดว่า นรกสวรรค์ไม่มีหรอก เขาพูดอย่างนี้
สุ. สำหรับเขา แต่สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกพร้อมทั้งเหตุและผล แต่จะให้พาไปดู พาไปไม่ได้ แต่ว่าโดยเหตุโดยผล ทรงแสดงไว้
ถ. แสดงไว้ว่าทำบาป …
สุ. มีอกุศลเป็นเหตุ ก็ต้องมีผลทำให้เกิดในทุคติภูมิ อกุศลต้องให้ผลเป็นอกุศลวิบาก คือ การเกิดในทุคติภูมิ หรือถึงแม้จะเกิดในสุคติภูมิแล้ว ก็ยังมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจต่างๆ ในโลกนี้ ในชาตินี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้
ถ. ฉันได้ยินเขาพูด ก็มาปรึกษาอาจารย์ ได้ยินบ่อยว่า ทำบาปไม่เป็นไรหรอก ไม่มีนรก ไม่มีเวร ไม่มีกรรม เขาพูดอย่างนี้
สุ. ต้องเทียบเคียงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และดูว่าควรจะเชื่อใคร เรื่องนรก สวรรค์ ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกว่า เป็นผลของอกุศลกรรมที่จะต้องเกิดในทุคติภูมิ ทุคติภูมินี้น่ากลัวมาก ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่ปฏิสนธิในทุคติภูมิ
ถ. เรื่องอุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสงบ คือ พระนิพพาน ถ้าเราไม่เห็นพระนิพพาน จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ได้ แต่ถ้าเราได้เห็นพระนิพพานแล้ว ก็ไม่ต้องระลึกพิจารณาอะไรกันอีก เราเห็นไปแล้ว ก็ไม่ต้องอบรมอะไรกันอีก
สุ. การที่กล่าวถึงลักษณะของนิพพาน แม้ว่าท่านผู้ฟังจะยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเข้าใจถูก ไม่เข้าใจผิดในลักษณะของนิพพาน คือให้เข้าใจว่า สภาพของนิพพานนั้นมีจริง แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งประจักษ์ยาก แม้แต่ในขั้นความเข้าใจ
ต้องเข้าใจให้ถูกว่า นิพพานเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับลักษณะของ สังขารธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ก็จะไม่เข้าใจว่า สังขารธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏในขณะนี้คืออะไร เพราะไม่เคยอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็น ปรมัตถธรรม ที่กล่าวว่าเป็นสังขารธรรม ต้องไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นสภาพธรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
อย่างนามธรรมที่กำลังเห็นนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าไม่เคยน้อมระลึกว่า กำลังเห็น จริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ย่อมไม่สามารถที่จะระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนิพพานว่า นิพพานต้องไม่ใช่เห็นที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ
นิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่เกิดขึ้น ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่โผฏฐัพพะ ไม่ใช่นามธรรมที่กำลังรู้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่จะดับกิเลสได้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญญาที่รู้ลักษณะของสังขารธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น การที่กล่าวถึง ลักษณะของนิพพาน ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเข้าใจถูก ให้เห็นความละเอียด เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จะได้น้อมไปสู่สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม เพราะสภาพของธาตุนั้นไม่มีการเกิดขึ้นเลย จึงเป็นธรรมที่ดับกิเลสได้
อย่าเข้าใจผิดว่า ไปนั่งนิ่งๆ เฉยๆ พอไม่รู้สึกตัวก็เป็นนิพพาน ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วยปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น ต้องรู้ชัดในลักษณะของสังขารธรรมก่อนและจะรู้ว่า มีสภาพธรรมที่ไม่ใช่สังขารธรรม จึงเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้
ข้อความใน ปสาทสูตร พระธรรมคุณ ได้แก่ นวโลกุตตรธรรม ๙ ไม่ใช่เฉพาะนิพพานเท่านั้นที่เป็นโลกุตตรธรรม ยังรวมถึงโลกุตตรมรรคจิต ผลจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานด้วย รวมเป็นนวโลกุตตรธรรม ๙
เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะรู้นิพพานโดยไม่ปฏิบัติ ไม่มีใครสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานโดยไม่อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ และท่านผู้ใดก็ตามที่เริ่มอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ แล้ว แม้จะรู้สึกว่า ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่น้อมไปที่จะศึกษา เริ่มรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่การเริ่มรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ย่อมทำให้เกิดความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏมากขึ้น ชัดเจนขึ้น ตรงขึ้น ถูกต้องขึ้น และขณะนั้นก็จะน้อมไประลึกถึงลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม มิฉะนั้นแล้ว ย่อมมืด ไม่สามารถแม้แต่จะเข้าใจในลักษณะของนิพพานได้
ข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มหาวรรคที่ ๗ โกสัมพีสูตร ข้อ ๒๖๘ – ๒๗๕ มีว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระมุสิละ ท่านพระปวิฏฐะ ท่านพระนารทะ และท่าน พระอานนท์ อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตเมืองโกสัมพี ฯ
ท่านพระปวิฏฐะได้สนทนาธรรมกับท่านพระมุสิละเรื่องนิพพาน ตอนท้ายของพระสูตรนี้ คือ ข้อ ๒๗๔ ท่านพระปวิฏฐะได้ถามท่านพระนารทะว่า
ดูกร ท่านนารทะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ท่านนารทะมีญาณเฉพาะตัวท่านว่า ภพดับเป็นนิพพาน ดังนี้หรือ ฯ
ทิฏฐิในที่นี้ คือ ปัญญา ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ทิฏฐิหมายความถึงสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นอกุศล หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ
ภพ คือ การเกิดขึ้น สภาพลักษณะของนิพพานนั้นไม่ใช่ภพ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด
ข้อความต่อไป
ท่านพระนารทะกล่าวว่า
ท่านปวิฏฐะ เว้นจากความเชื่อ ความพอใจ การฟังตามเขามา ความตรึกไปตามอาการ การทนต่อความเพ่งพินิจด้วยทิฏฐิ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็นอย่างนี้ว่า ภพดับเป็นนิพพาน ฯ
หมายความว่า ท่านประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน ไม่ใช่เพียงเชื่อ พอใจ โดยฟังตามเขามา หรือว่าตรึกไปตามอาการที่พิจารณา
ท่านพระปวิฏฐะกล่าวว่า
ถ้าอย่างนั้น ท่านนารทะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพหรือ ฯ
ท่านพระนารทะตอบว่า
อาวุโส ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ อาวุโส เปรียบเหมือนบ่อน้ำในหนทางกันดาร ที่บ่อนั้นไม่มีเชือก โพงจะตักน้ำก็ไม่มี ลำดับนั้นบุรุษถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิว ระหาย เดินมา เขามองดูบ่อน้ำนั้น ก็รู้ว่ามีน้ำ แต่จะสัมผัสด้วยกายไม่ได้ ฉันใด ดูกร อาวุโส ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
การรู้แจ้งนิพพาน ไม่ได้หมายความว่า เมื่อประจักษ์ลักษณะของนิพพานครั้งแรกแล้วจะเป็นพระอรหันต์ นี่แสดงถึงความยากอย่างยิ่งของการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
กิเลสมีมาก และมองไม่ค่อยจะเห็น ไม่ค่อยจะรู้ว่าเป็นกิเลส ถ้าเป็นกิเลสอย่างหยาบที่ล่วงเป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา ทุกคนเห็น ทุกคนเข้าใจ สำหรับกิเลสอย่างกลางที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมเป็นนิวรณธรรม หลายท่านก็รู้ก็เข้าใจว่า ขณะนี้หมกมุ่นในเรื่องของความยินดี พอใจ ติดข้องในรูปทางตาบ้าง ในเสียงทางหูบ้าง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะบ้าง หรือว่าบางครั้งก็อาจจะหมกมุ่นไปด้วยพยาปาทะ ความผูกโกรธ ความไม่แช่มชื่นของจิต แต่ว่าเวลาที่กิเลสซึ่งยังไม่ใช่นิวรณธรรม ยังไม่กลุ้มรุมให้ปรากฏว่า ขณะนั้นเป็นขณะที่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องของโลภะ หรือว่าในเรื่องของโทสะ ขณะที่เป็นอกุศลบางๆ เบาๆ ไม่รู้สึกเลย ชั่วขณะที่เห็น ไม่มีใครยับยั้งความยินดีพอใจซึ่งเป็นโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นมีใครรู้สึกตัวบ้างไหมว่า ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน เป็นอกุศลทันที เมื่อการเห็นดับไปแล้ว หรือว่าเมื่อการได้ยินดับไปแล้ว
เพราะฉะนั้น อกุศลมีมาก และก็ดับยากจริงๆ แม้แต่ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ถ้าไม่อบรมปัญญาจริงๆ ไม่ทราบเลยว่า มีการยึดถือในสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เหนียวแน่นเพียงไร
การประจักษ์ลักษณะของนิพพานครั้งแรก สามารถที่จะดับกิเลส คือสักกายทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย ดับวิจิกิจฉา ความสงสัยในลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็น ในรูปธรรมที่กำลังปรากฏเป็นสมุจเฉท ดับอวิชชาที่เกิดร่วมกับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และอวิชชาที่เกิดร่วมกับความยินดีพอใจที่เห็นผิดยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสอื่นได้เลย ยังมีความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่ เพราะยังไม่ใช่พระสกทาคามี ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญญาที่เริ่มเจริญขึ้นนี้จะละเอียดสักแค่ไหน มีขั้นต่างๆ กันก็จริง คือ ขั้นที่สติเพิ่งเกิด ยังไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ หรือเมื่อถึง นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ปัญญานั้นก็ยังจะต้องอบรมเจริญต่อไป ยังไม่ถึง ปัจจยปริคคหญาณ และเมื่อถึงปัจจยปริคคหญาณแล้ว ช่วงที่จะถึงสัมมสนญาณ การสะสมของแต่ละคน ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ละขณะที่สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไป ก็ย่อมมีความละเอียดต่างกันไปอีก แม้แต่ในวิปัสสนาญาณ ความละเอียดของแต่ละขั้นย่อมมี ซึ่งปัญญาของบุคคลนั้นจะรู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมละเอียดขึ้น การรู้ก็ละเอียดขึ้น ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น
และผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันจะไม่เข้าใจผิดว่า ท่านเป็น พระสกทาคามี หรือพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ท่านพระนารทะจึงได้ตอบท่าน ปวิฏฐะว่า อาวุโส ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันตขีณาสพ