แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 819

ถ. เรื่องอุปสมานุสสติ เรื่องนิพพาน สมถกัมมัฏฐาน ๔๐ มีมาก่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช่ไหม

สุ. ไม่ครบทั้ง ๔๐

ถ. เมื่อผมเป็นเด็ก อายุ ๑๑ - ๑๒ ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่า มีนิพพานพรหม คือ อุปสมานุสสตินี้เขาก็มีมาก่อนพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีหลักฐาน หมายถึงว่าก่อนที่จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก เริ่มตั้งแต่สร้างโลกขึ้นมา ก็มีนิพพานพรหม ได้แก่ อรูปฌาน คนละอย่างกับนิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สุ. คำว่า นิพพาน โดยศัพท์นี้มีมานาน เพราะหมายถึงธรรมที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด เป็นธรรมที่ดับตัณหา โดยศัพท์มี และทุกคนพยายามแสวงหาธรรมนั้นโดยประการต่างๆ บางท่านก็เข้าใจว่า การบรรลุฌานแต่ละขั้นเป็นนิพพาน ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ ก็ไม่สามารถที่จะมีผู้ใดประจักษ์ลักษณะของนิพพานธาตุจริงๆ ซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลสได้ มิฉะนั้นแล้วบุคคลที่กล่าวว่า ปฐมฌานก็ดี ทุติยฌานก็ดีเป็นนิพพาน ก็ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ถ้าปฐมฌานจะเป็นนิพพานได้จริงๆ แต่นิพพานไม่ใช่ปฐมฌาน ไม่ใช่ทุติยฌาน

ถ. โลกสร้างมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ แต่ก็มีสมถะ ๔๐ นี้ก่อน

สุ. ไม่ครบ ๔๐ ไม่มีพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อุปสมานุสสติ

ถ. ตอนผมเป็นเด็ก จำได้ว่ามีนิพพานพรหม

สุ. สมัยนั้น คำว่า นิพพาน มีแล้ว แต่ไม่ใช่ลักษณะของนิพพานธาตุ เพราะผู้ที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานธาตุพระองค์แรก ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าฌานเป็นนิพพาน ผู้ที่ได้ปฐมฌานต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อริยสัจธรรม นิโรธสัจ คือ ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานธาตุ และทรงแสดงมรรค คือ หนทาง ที่จะให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน

ถ. ทำไมจิตกับเจตสิกจึงไม่เท่ากัน

สุ. เท่ากันไม่ได้ เพราะจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เกิดขึ้นทำกิจรู้อย่างเดียว ไม่สามารถที่จะกระทบ หรือจำ หรือรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ในอารมณ์ แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตทันทีที่จิตเกิด เมื่อมีผัสสเจตสิกแล้ว ก็มีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกัน สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกัน เจตสิกหลายดวงเกิดร่วมกับจิต ไม่ใช่ว่าจิตดวงหนึ่งเกิดกับเจตสิกดวงเดียว

ถ. อยากให้อาจารย์อธิบายญาณสัมปยุตต์

สุ. ญาณสัมปยุตต์ คือ การรู้ การเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตั้งแต่ในขั้นของกรรม ถ้าเชื่อว่ากรรมมี ผลของกรรมมี ขณะนั้นก็เป็นความเห็นถูกขั้นหนึ่ง

ถ. และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด

สุ. การฟัง ถ้าไม่มีการฟังก็ไม่มีการที่จะรู้ได้ ต้องฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

ขอกล่าวถึงเรื่องอุปสมานุสสติต่อจากในคราวก่อน ซึ่งการที่จะรู้ลักษณะของพระนิพพาน หรือว่าสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของนิพพานที่เมื่อน้อมระลึกถึงแล้วจิตสงบ จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรม และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐานจึงจะสามารถรู้ได้ว่า ลักษณะของนิพพานตรงกันข้ามกับลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและปรากฏในขณะนี้

ขณะนี้ทางตากำลังเห็น ไม่ใช่นิพพานแน่นอน เพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของนิพพาน เพราะเสียงเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทางหู แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ และรู้ว่าลักษณะนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทางเพราะเกิดขึ้น และเวลาที่มีความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน จะเริ่มรู้สึกหน่ายในการที่จะต้องได้ยินสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏไม่เว้นเลยทางหู และก็มีการเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา บังคับไม่ได้ ไม่เว้นเลย ในขณะนี้ที่ลืมตามีปัจจัยให้เกิดการเห็น ใครจะหยุดยั้งไม่ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทางตาก็ไม่ได้ เวลาที่ไม่หลงไปตามสิ่งที่เห็นทางตา หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินทางหู แต่เป็นการรู้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็น สภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นปรากฏเท่านั้น ขณะนั้นจึงจะน้อมไปที่จะรู้ว่า การที่ไม่ต้องรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้เลยเป็นความสงบ นั่นคือลักษณะสภาพของนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด สงบจริงๆ ที่ไม่ต้องรู้สิ่งที่เกิดขึ้นและปรากฏให้รู้

แต่ถ้าสติไม่เกิดขึ้น มีความยินดี มีความต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการได้กลิ่น หรือเพลิดเพลินไปทันทีกับรสต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่กระทบสัมผัสกาย ไม่เห็นเลยว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นเป็นแต่เพียงการรู้ เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏแต่ละลักษณะเท่านั้น และก็ดับไป หมดไปอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้และหมดไปทั้งลักษณะของนามธรรมและของรูปธรรม ย่อมไม่มีการน้อมไปที่จะเข้าใจในลักษณะของนิพพานได้ว่า ความสงบที่แท้จริง คือ การที่ไม่ต้องรู้สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา เป็นความสงบจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ นิพพานไม่ใช่เป็นชื่อที่เมื่อระลึกแล้วจะสงบ แต่ต้องเป็นความเข้าใจลักษณะสภาพของธาตุที่ไม่มีการเกิดขึ้น และเมื่อน้อมไประลึกถึงธาตุที่ไม่มีการเกิดขึ้น จึงรู้ความต่างกันว่า ขณะที่น้อมระลึกถึงสภาพที่ไม่มีการเกิดขึ้นนั้นจะสงบได้สักแค่ไหน

บางท่านท่านก็กล่าวว่า เวลาปิดวิทยุแล้วเป็นความไพเราะอย่างยิ่ง เคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม บางท่านเปิดวิทยุฟังเพลงและกล่าวว่า เป็นความไพเราะของเครื่องดนตรีชนิดนั้นชนิดนี้ หรือว่าเสียงเพลงลักษณะอย่างนั้น ลักษณะอย่างนี้ แต่อีกท่านหนึ่งท่านกล่าวว่า เวลาที่ปิดวิทยุแล้วเป็นความไพเราะ ไม่มีการที่จะต้องได้ยินเสียงนั้นเสียงนี้ต่างๆ ซึ่งในขณะที่กำลังเพลิดเพลินก็เห็นว่าเป็นความไพเราะ ไม่รู้สึกว่า เป็นการน่าหน่าย น่าคลายต่อการที่จะเพลิดเพลินยินดีในสิ่งที่เพียงเกิดขึ้นและก็ดับไปซึ่งยับยั้งไม่ได้ พิสูจน์ได้แม้ในขณะนี้ที่มีการได้ยินเสียง เสียงเกิดขึ้น เสียงหมดไป ยับยั้งไม่ได้ และตลอดชีวิตก็มีการเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ชั่วขณะ แต่ละขณะจริงๆ แต่เพราะสติไม่ระลึกจึงไม่เห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรจะหน่าย ควรจะละ ควรจะคลายอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น ลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นอุปสมานุสสติที่จะทำให้เมื่อระลึกแล้วจิตสงบ จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในลักษณะของนิพพาน โดยเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเทียบเคียงรู้ว่าลักษณะของนิพพานนั้นสงบกว่านั้น เพราะว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ถ้าข้อประพฤติปฏิบัติผิด ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะของนิพพาน หรือในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

ด้วยเหตุนี้ หนทางประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งเห็นความต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไปว่า ตรงกันข้ามกับลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดขึ้นและไม่ดับไป

สำหรับหนทางประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรม ด้วยเหตุที่เป็นหนทางที่ละเอียดลึกซึ้ง ย่อมทำให้ผู้ที่ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองโดยถี่ถ้วนเข้าใจผิดในหนทางนั้นได้ ซึ่งการเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติผิด ไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ไม่สามารถทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ และไม่สามารถที่จะทำให้ประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้

ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติผิดในปัจจุบันชาติ สะสมเป็นเหตุเป็นปัจจัยในชาติต่อๆ ไป ก็จะมีการสะสมให้เห็นผิด เข้าใจผิด และประพฤติปฏิบัติผิดต่อไปจนกระทั่งไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติในข้อที่ถูกได้ นอกจากนั้นยังจะชักชวนบุคคลอื่นให้มีความเข้าใจผิด มีการประพฤติปฏิบัติผิดตามไปด้วย ซึ่งเป็นโทษเป็นภัย เพราะไม่สามารถทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สามคามสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่หมู่บ้านสามคาม ในสักกชนบท ก็สมัยนั้นแล นิครนถ์นาฏบุตรตายลงใหม่ๆ ที่เมืองปาวา เพราะการตายของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์แตกกันเป็น ๒ พวก

ซึ่งใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมปัณณาสก์ สามคามสูตร มีข้อความอธิบายว่า

บทว่า สามคาเม คือ ในบ้านที่ได้ชื่ออย่างนั้น เพราะว่ามีคนสามกะ (คือ พวกผิวสีคล้ำ) อยู่กันมาก

บทว่า นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละลงใหม่ๆ คือ ทำกาละชั่วประเดี๋ยวเดียว คือ เพิ่งตายไม่นานเลย

มีคำถามว่า ก็นาฏบุตรนี้เป็นชาวเมืองนาลันทามิใช่หรือ เหตุไฉนเขาจึงทำกาลกิริยาที่เมืองปาวาเล่า

แก้ว่า เขากระอักเลือดเพราะได้ฟังพระพุทธคุณ อันอุบาลีคฤหบดีผู้แทงตลอดสัจธรรมแล้ว กล่าวไว้ด้วยคาถา ๑๐ คาถา เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกอันเตวาสิก (คือ พวกลูกศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร) จึงนำท่านผู้ไม่สบายไปสู่เมืองปาวา เขาได้ทำกาละที่เมืองปาวานั้น

ก็เมื่อจะทำกาลกิริยา เขาครุ่นคิดอยู่ว่า ลัทธิของเราไม่เป็นลัทธิที่นำออกจากทุกข์ได้ เว้นจากสาระ พวกเราพินาศเสียแล้ว ชนที่เหลืออย่าได้แออัดกันในอบายเลย แต่ถ้าหากเราจะบอกว่า ศาสนาของเราไม่ใช่คำสอนที่ออกจากทุกข์ได้ ดังนี้ไซร้ ชนทั้งหลายก็จักไม่เชื่อ อย่ากระนั้นเลย เราไม่พึงให้ชนทั้ง ๒ คนเรียนเอาโดยทำนองเดียวกัน (คือ สอนคนหนึ่งว่าอย่างหนึ่ง และก็สอนอีกคนหนึ่งว่าอีกอย่างหนึ่ง) เพื่อที่จะให้ชนเหล่านั้นจักทะเลาะวิวาทกันเองเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว พระบรมศาสดาอาศัยวาทะนั้น จักตรัสธรรมกถาอย่างหนึ่ง เพราะการตรัสธรรมกถานั้น ชนเหล่านั้นจะเข้าใจความยิ่งใหญ่แห่งศาสนา (คือ ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นสัจธรรมพิสูจน์ได้)

เพราะฉะนั้น นิครนถ์นาฏบุตรก็สอนลูกศิษย์คนหนึ่งว่า เที่ยง เป็นสัสสตทิฏฐิ และสอนลูกศิษย์อีกคนหนึ่งว่า สูญ ตายแล้วสูญ เป็นอุจเฉททิฏฐิ ด้วยเหตุนั้น ลูกศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตรก็ทะเลาะกัน เวลาที่นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละลงใหม่ๆ คือ สิ้นชีวิตลงชั่วเวลาไม่นาน

เนื้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

สมัยนั้น สมณุทเทสจุนทะ พระสาวกของพระผู้มีพระภาคจำพรรษาที่เมือง ปาวา ได้ทราบข่าวการทำกาลกิริยาของนิครนถ์นาฏบุตร และการทะเลาะวิวาทของ ลูกศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตร ก็ได้ไปเล่าให้ท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ฟัง ท่านพระอานนท์ก็คิดว่า เป็นเวลาที่สมควรที่จะไปเฝ้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทราบ และท่านทั้งสองก็ได้ไปเฝ้ากราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ข้อ ๕๔

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่าใดอันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูกร อานนท์ เธอจะยังเห็นภิกษุของเราแม้สองรูปมีวาทะต่างกันได้ในธรรมเหล่านี้หรือ ฯ

สำหรับผู้ที่เป็นสาวก และได้ฟัง ได้อบรมการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีความเห็นต่างกัน หรือผิดจากกัน เพราะได้เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยถูกต้อง และได้อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ โดยถูกต้องด้วย

ข้อความต่อไป

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่าใดอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วแก่ ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ข้าพระองค์ยังไม่เห็นภิกษุแม้ สองรูปมีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้แลที่บุคคลทั้งหลายผู้อาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น พอสมัยพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เพราะเหตุอาชีวะ อันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่ง ความวิวาทนั้นมี แต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ

ธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เวลาที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุก็จะมีการประพฤติปฏิบัติที่ผิดจากธรรมวินัย ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ทรงโอวาท ทรงตักเตือน ทรงแสดงโทษ ทรงบัญญัติวินัยต่างๆ และทรงแสดงธรรมด้วย แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงล่วงลับไปแล้ว จะไม่มีบุคคลที่จะโอวาท ตักเตือน แสดงโทษ และบัญญัติวินัย เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์ก็เห็นโทษว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคล่วงลับไปแล้ว ภิกษุบุคคลทั้งหลายผู้อาศัยพระผู้มีพระภาค จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เพราะเหตุอาชีวะอันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ที่เกิดเพราะเหตุมรรค หรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นมี แต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ

การที่จะวิวาทในเรื่องเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่ง หรือปาติโมกข์อันยิ่ง ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการวิวาทอันเกิดในสงฆ์ที่เกิดเพราะเหตุมรรค หรือปฏิปทา คือ การประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมสำคัญที่สุด ถ้ามีการวิวาท มีการเข้าใจผิด ย่อมเป็นเหตุที่จะให้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะถ้าเข้าใจผิด ย่อมประพฤติปฏิบัติผิด สะสมการยึดมั่นในความเห็นและในข้อปฏิบัติที่ผิดไปเรื่อยๆ ทั้งในปัจจุบันชาติ และในชาติต่อไปด้ว

เปิด  267
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566