แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 830

สำหรับพระอริยบุคคลสามารถที่จะเข้าผลสมาบัติ คือ จิตสงบถึงอัปปนาสมาธิโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะขณะนั้นผลจิตเกิดขึ้น

พระอริยเจ้าทั้งหลายที่ท่านบรรลุฌานสมาบัติแล้ว ฌานไม่เสื่อม ไม่เหมือนกับปุถุชน เพราะท่านดับกิเลสเป็นสมุจเฉทด้วย เพราะฉะนั้น พระโสดาบันที่ได้ปฐมฌาน สามารถมีนิพพานเป็นอารมณ์ที่ประกอบพร้อมด้วยองค์ของปฐมฌาน เป็นผลสมาปัตติขั้นปฐมฌาน

สำหรับพระโสดาบันที่ได้บรรลุถึงทุติยฌาน สามารถที่จะเข้าผลสมาบัติ มีนิพพานเป็นอารมณ์ ประกอบด้วยองค์ของทุติยฌาน สำหรับพระโสดาบันที่สามารถบรรลุถึงตติยฌาน ก็สามารถที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ประกอบพร้อมด้วยความสงบที่มั่นคงเป็นอัปปนาสมาธิขั้นตติยฌาน

นี่คือ ผลสมาบัติ คือ การสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมทั้งฝ่ายความสงบขั้น อัปปนาสมาธิ ขั้นฌานจิต และการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล

สำหรับสมาบัติประการที่ ๓ คือ นิโรธสมาบัติ ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าขั้นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ และยังต้องเป็นผู้ที่สามารถบรรลุฌานจิตที่เป็นขั้นอรูปฌานขั้นสูง คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

สำหรับฌานสมาบัติ มีอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ที่สามารถจะถึงฌานจิตได้เป็นอารมณ์ และสำหรับผลสมาบัติมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่สำหรับนิโรธสมาบัติ สามารถที่จะดับจิตเจตสิก คือ ในระหว่างที่เป็นนิโรธสมาบัติไม่มีจิตเจตสิกเกิดในระหว่างนั้น

พระโสดาบันที่ได้ฌาน ไม่สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ พระสกทาคามีที่ ได้ฌาน ไม่สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ไม่สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ พระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌานถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ไม่สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้

นี่เป็นความต่างกันของคุณวิเศษทางฝ่ายของฌาน และทางฝ่ายของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ยาก และต้องเป็นปัญญาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา

ถ. พระอรหันต์ที่เข้านิโรธสมาบัติ ท่านดับจิตและเจตสิกทั้งหมด ก็เหมือนกับคนตาย จะมีอะไรต่างกับคนตายไหม

สุ. ที่ใช้คำว่า ตาย หมายความว่า จุติจิต ซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากการเป็นบุคคลในภพนี้ ในชาตินี้ แต่สำหรับคนที่นอนหลับ จุติจิตยังไม่ได้เกิด ผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติ จุติจิตก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ไม่มีจิตที่กระทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ ในชาตินี้ ไปสู่ภพใหม่ และสำหรับพระอรหันต์นั้นไม่มีการเกิดเลย แต่สำหรับพระอนาคามี เมื่อจุติจิตเกิดและดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที

เพราะฉะนั้น ความต่างกันของผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติกับคนที่ตาย คือ จุติจิตยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่กระทำกิจเคลื่อนจากภพนี้ ชาตินี้ และรูปของผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติกับรูปของคนที่ตายแล้วก็ต่างกัน เพราะระหว่างที่เข้านิโรธสมาบัติ เมื่อไม่มีจิต จึงไม่มีจิตตชรูป แต่ยังมีกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดจากกรรม ยังมีอุตุชรูป คือ รูปซึ่งเกิดจากอุตุ ยังมีอาหารชรูป คือ รูปซึ่งเกิดจากอาหาร แต่สำหรับคนที่ตาย ทันทีที่จุติจิตดับไป กัมมชรูปดับหมด ถึงแม้ว่าจะยังมีรูปซึ่งดูเหมือนตา คือ จักขุ แต่ว่าปสาทรูปไม่มีเลย เพราะก่อนที่จุติจิตจะเกิด ๑๗ ขณะ กัมมชรูปไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น กัมมชรูปซึ่งเกิดครั้งสุดท้ายที่เกิดพร้อมกับจิตที่เกิดก่อนจุติจิต ๑๗ ขณะ ก็ดับพร้อมกับจุติจิต ดังนั้น ในซากศพหรือรูปของคนตายจึงไม่มีกัมมชรูป และสำหรับจุติจิตของคนตาย มีรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจุติจิตจริง และก็มีอายุสืบต่อไปเพียง ๑๗ ขณะ ซึ่งเร็วเหลือเกิน เวลานี้รูปก็ดับไปแล้ว ๑๗ ขณะนั่น เพราะฉะนั้น รูปของคนตายหลังจาก จุติจิตดับไปแล้ว ต่อจากนั้น ๑๗ ขณะ จิตตชรูปก็ดับหมด ยังคงเหลือแต่อุตุชรูปซึ่งเกิดเพราะความเย็นความร้อน ทำให้ซากศพนั้นแปรสภาพเปลี่ยนไป เพราะไม่มีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ไม่มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิต และไม่มีรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร เพราะฉะนั้น รูปของผู้ที่เข้านิโรธสมาบัติกับรูปของคนที่ตายแล้วก็ต่างกันด้วย

ถ. เรื่องของฌาน จะต้องบรรลุเป็นลำดับขั้นตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานใช่ไหม

สุ. แน่นอน เพราะละองค์ที่หยาบตามลำดับขั้น ถ้าตราบใดที่ยังมีวิตกหรือวิจาร ก็ยังใกล้ต่อการที่จะตรึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือแม้แต่สัญญา เพียงความจำที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน แต่ยังจำความพอใจในรูปซึ่งน่าพอใจ ในเสียงที่ น่าพอใจ ในกลิ่นที่น่าพอใจ ในรสที่น่าพอใจ ในสัมผัสที่น่าพอใจ ซึ่งก็เบียดเบียนความสงบของปฐมฌานแล้ว เพราะฉะนั้น ที่จะถึงทุติยฌานได้ ก็หมายความว่า มีความชำนาญจนกระทั่งสามารถที่จะละวิตก โดยปัญจกนัย และละวิตกและวิจาร โดยจตุกกนัย มิฉะนั้นจะไม่ชื่อว่าทุติยฌาน ถ้าไม่ได้ละองค์ของปฐมฌานออก

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า พระโสดาบันบรรลุปัญจมฌาน ก็หมายความว่า พระโสดาบันจะต้องผ่านปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานมาก่อน เมื่อยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และขณะที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน ขณะนั้นปัญจมฌานเกิดพร้อมกับมรรคจิต ใช่ไหม

สุ. เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องละ อย่าลืม เป็นเรื่องละความยินดี ความติด ความพอใจ เพราะฉะนั้น เวลาใดที่สติเกิด จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่เลือก จึงจะเป็นการละความติด ความพอใจ ในนามธรรมใด หรือรูปธรรมใดได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนามาก่อน และสามารถที่จะบรรลุถึง ปัญจมฌาน และเริ่มที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้มุ่งหวังที่จะไปให้ฌานจิตเกิดก่อนเพื่อที่จะให้มรรคจิตของท่านประกอบด้วยองค์ของฌาน แต่ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นอกุศล หรือเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล หรือขณะที่จิตสงบ แม้ยังไม่ใช่ถึงปฐมฌานเลย สติก็จะต้องระลึกรู้เพื่อละ

เรื่องของสติปัฏฐาน เป็นเรื่องละทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องของความต้องการที่จะให้บรรลุถึงฌานหนึ่งฌานใด แต่ก่อนที่จะบรรลุถึงทุติยฌาน ต้องมีความชำนาญแคล่วคล่องในวสี ๕ ประการ คือ ในการนึกถึง ในการเข้า ในการอธิษฐานให้ตั้งอยู่ ในการออก ในการพิจารณาองค์ฌาน เมื่อชำนาญจริงๆ จึงจะมีปัจจัยให้ทุติยฌานเกิดขึ้น เมื่อบรรลุถึงทุติยฌานแล้ว ก็จะต้องมีวสี พิจารณาองค์ของทุติยฌาน ชำนาญในการนึกถึงทุติยฌาน ชำนาญในการเข้าทุติยฌาน ชำนาญในการให้ทุติยฌานตั้งอยู่ ชำนาญในการออกจากทุติยฌาน เมื่อไหร่ขณะไหนก็ได้ จึงจะบรรลุถึงฌานขั้นต่อๆ ไปจนกระทั่งถึงปัญจมฌาน เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้น ท่านมีความชำนาญเป็นปัจจัย เป็นเหตุที่จะให้ฌานจิตหนึ่งฌานจิตใดเกิดขณะไหน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของฌานจิตนั้นในขณะนั้น และละการยึดถือฌานนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล แต่เป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างยิ่งในฌานทั้ง ๕ เวลาที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ไม่ได้หมายความว่า เมื่อท่านสามารถเข้าปัญจมฌานได้แล้ว ท่านจะบรรลุโสดาปัตติมรรคพร้อมปัญจมฌาน แต่แล้วแต่ฌานใดมีปัจจัยเกิดปรากฏในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเป็นปฐมฌานก็ได้ หรือทุติยฌานก็ได้ หรือตติยฌานก็ได้ หรือจตุตถฌานก็ได้ หรือปัญจมฌานก็ได้ แล้วแต่ว่าขณะที่ปัญญาของท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคลในขณะนั้นจะประกอบด้วยฌานใด ถึงแม้ว่าจะเคยได้ถึง ปัญจมฌาน แต่ในขณะที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล อาจจะประกอบเพียงปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรือปัญจมฌานก็ได้

ถ. พยัญชนะท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า พระโสดาบันบรรลุเป็นพระโสดาบันและเกิดพร้อมกับปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง

สุ. ต้องมีวสี มีความชำนาญ

ถ. ผมถึงถามว่า ต้องบรรลุเป็นลำดับขั้นหรือเปล่า

สุ. แน่นอน ทีละขั้น ถ้ายังไม่ได้ปฐมฌาน จะให้ถึงปัญจมฌานไม่ได้

ถ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว พร้อมกับปัญจมฌาน ก็หมายความว่า ท่านจะต้องได้ปัญจมฌานมาก่อน หรือจตุตถฌานมาก่อน

สุ. และต้องมีความชำนาญ ต้องได้ทั้งหมด ถ้าไม่ได้ปฐมฌาน จะไปได้ปัญจมฌานไม่ได้ และเวลาที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้ฌานใดเกิดในขณะนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็นปัญจมฌาน เพราะอาจจะมีปัจจัยให้ ตติยฌานเกิดขึ้น และปัญญาสามารถแทงตลอดในลักษณะของตติยฌาน รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลประกอบด้วยตติยฌานก็ได้ ท่านไม่เลือก ท่านไม่มีการเจาะจงว่า ท่านจะเอาโสตาปัตติมรรคพร้อมปัญจมฌาน นี่ไม่ใช่ลักษณะของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

ถ. ผมมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน คือ เรื่องของอารมณ์ เช่น เสียงนี้ จะต้องวิ่งมากระทบโสตปสาท

สุ. ขอประทานโทษ ทำไมต้องนึกว่า เสียงวิ่งมาด้วย

ถ. ความจริงเป็นอย่างนั้น

สุ. นึกใช่ไหม

ถ. ไม่ใช่นึก

สุ. ความจริงเสียงปรากฏกับได้ยิน เวลาที่เสียงปรากฏ จะปรากฏกับ โสตวิญญาณ คือ สภาพที่รู้เสียง ไม่ใช่สภาพที่คิดว่า เสียงวิ่งมา ในขณะนั้นคิดเรื่องเสียงวิ่ง ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน

ถ. จะคิดหรือไม่คิด ความจริงก็เป็นอย่างนั้น คือ เสียงมีความเร็ว จะต้องวิ่งมากระทบโสตปสาท และกลิ่นก็จะต้องวิ่งมากระทบฆานปสาท รสก็ต้องไปแตะที่ชิวหาปสาท ทำให้ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นรู้รส แต่ทางตา ขณะที่เห็นเก้าอี้ สีของเก้าอี้ ไม่ได้วิ่งมากระทบที่จักขุปสาท แต่ทำไมเกิดการเห็นได้

สุ. นี่เป็นการนึก ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเป็นเรื่องการคิด ไม่มีวันที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะขณะนั้นเป็นเรื่องคิดเท่านั้น คิดไปๆ ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น อย่าลืม สัจจะ ๒ อย่าง คือ ปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ

ก่อนที่จะได้ศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรม หรือก่อนที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ตั้งแต่เกิดมาทุกคนอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ มองเห็นโต๊ะก็ว่าเป็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ก็ว่าเป็นเก้าอี้ เห็นคนก็ว่าเป็นคน โดยที่ไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมและเข้าใจว่า ความจริงแท้คือสมมติสัจจะนั่นเอง

แต่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นปรมัตถ์สัจจะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และขณะใดเป็นสมมติสัจจะ ที่คิดไป นึกไป อยู่ในโลกของเสียงที่วิ่งมากระทบหู ซึ่งขณะนั้นเป็นเรื่องของความคิด เป็นเรื่องของ สมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ

การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะต้องรู้ว่า ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง เท่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า หรือว่ากี่กัป ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมตั้งแต่ตอนที่ตรัสรู้ใหม่ๆ ตราบจนกระทั่งถึงปรินิพพาน และผู้ฟังก็ติดตามฟังเรื่องของสภาพธรรม ก็เพื่อจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะให้ประจักษ์แจ้งถึงอรรถของสภาพรู้ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล และสิ่งที่ปรากฏซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ โดยลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่โดยคิด

เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดว่า เสียงวิ่งมา ขณะนั้นสัจจะอะไร ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ เพราะไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาเริ่มรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง แต่ไม่ใช่ขณะที่คิดว่าเสียงวิ่งมา ซึ่งขณะที่สติระลึกขณะที่กำลังได้ยินและรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียง ต่างกับขณะที่คิดว่าเสียงวิ่งมา

ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะรู้ได้ว่า โดยปรมัตถ์ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่พอถึงทางใจ สมมติสัจจะเริ่มมีขึ้นขณะที่คิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นท่านพระสารีบุตร เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นบุคคลนั้นเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ สามารถที่จะรู้ว่า กำลังรู้โลกไหน กำลังรู้โลกที่เป็นปรมัตถสัจจะ หรือว่าเป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จะไม่รู้สมมติสัจจะเลย แต่ยังรู้ด้วยว่า ขณะที่เป็นสมมติสัจจะนั้น รู้ทางทวารไหน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเรื่องลัทธิความเชื่อ ความเห็นต่างๆ หรือว่าเรื่องเสียงกระทบหู หรือว่าเรื่องราวอะไรทั้งหมด ก็เพราะมโนทวารคิดถึงเรื่องนั้น เป็นสมมติสัจจะ

แต่เวลาที่ทางตาเห็น สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังรู้สีที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นไม่ใช่สมมติสัจจะ แต่เป็นปรมัตถสัจจะ จึงจะสามารถละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เพราะรู้ว่าขณะใดเป็นการคิดเรื่องปรมัตถสัจจะ ขณะนั้นเป็นสมมติสัจจะ

ถ. พระโสดาบันเข้าผลสมาบัติมีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานนั้น กับนิพพานที่เกิดในมรรคจิต ต่างกันอย่างไร

สุ. นิพพานไม่มีวันจะต่างกัน

ถ. แต่ทำหน้าที่ต่างกัน ใช่ไหม ถ้าเป็นในองค์ของมรรค ก็คือปหานกิเลส

สุ. ในมรรควิถี โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นขณะเดียวและดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะและดับไป และถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่สามารถบรรลุฌาน ผลจิตจะไม่เกิดอีกเลย

ถ. ผู้ที่บรรลุฌานแล้ว เข้าผลสมาบัติ ผลสมาบัตินี้ทำหน้าที่อะไร ไม่ได้ปหานกิเลสแล้วหรืออย่างไร

สุ. ไม่ได้ปหาน เพราะว่าเป็นผลที่เกิดจากการปหานแล้ว การดับกิเลสแล้ว

ถ. ทำไมผู้ที่ได้ฌานแล้วไม่ยกเอาบัญญัติอารมณ์มาพิจารณา โดยความเป็นสติปัฏฐาน และบรรลุมรรคผล

สุ. ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมรู้ว่า ขณะใดเป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ เพราะฉะนั้น จะไปเอาสมมติสัจจะขึ้นมาพิจารณาทำไม

ถ. สมมติสัจจะ จะให้บรรลุมรรคผล เป็นไปไม่ได้

สุ. ไม่ได้ แต่ผู้นั้นรู้ว่า ขณะใด ทวารไหน ที่เป็นสมมติสัจจะ ซึ่งต้องเป็นขณะที่คิดทางมโนทวาร

เปิด  238
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566