แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 822

ถ. ท่านที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังเสวยสุขและทุกข์ คำว่าเสวยสุขและทุกข์ของพระอรหันต์มีความหมายอย่างไร

สุ. สภาพของนามธรรมที่เกิดขึ้น จำแนกออกได้โดยลักษณะการเกิดเป็น ๔ ชาติ หรือภาษาบาลีใช้คำว่า ชา - ติ คือ เป็นอกุศล ๑ เป็นกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ และเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น บางขณะที่จิตเกิดเป็นอกุศลเวทนาก็เป็นอกุศล บางขณะที่จิตเกิดเป็นกุศลเวทนาก็เป็นกุศล บางขณะที่จิตเกิดเป็นวิบากเวทนาก็เป็นวิบาก และบางขณะที่จิตเกิดเป็นกิริยาเวทนาก็เป็นกิริยา

สำหรับอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี ที่เศร้าหมอง ที่ให้ผลเป็นทุกข์ ส่วนกุศลเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ให้ผลเป็นสุข กุศลและอกุศลธรรมเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ วิบากจิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นวิบากจิตและเจตสิกซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตนั้นจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นวิบาก เวทนาที่เกิดและเจตสิกอื่นที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตก็เป็นชาติวิบากเพราะเป็นผลของกรรม ไม่ใช่เป็นตัวกรรม กรรมได้กระทำแล้ว ดับไป แต่สะสมอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกันทุกขณะ เพราะฉะนั้น ในจิตแต่ละขณะมีปัจจัยมากมาย ทั้งปัจจัยที่เป็นกุศลเหตุ อกุศลเหตุ เป็นกุศลกรรม เป็นอกุศลกรรม และยังเป็นปัจจัยอื่นๆ พร้อมที่จะให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา แล้วแต่ปัจจัยที่สะสมอยู่ในจิต

เมื่อกรรมที่ได้กระทำไปดับไปแล้ว เป็นปัจจัยสะสมที่จะทำให้เมื่อจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดพร้อมกับวิบากเจตสิกและกัมมชรูปทันที ขณะนี้รูปที่เกิดเพราะกรรมกำลังเกิดอยู่ แต่หามีบุคคลใดไม่ที่รู้ว่า รูปที่กำลังเกิดในขณะนี้เป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว

กรรมเป็นนามธรรมดับไปแล้ว แต่สภาพของกรรมที่เกิดแล้วเป็นปัจจัยอยู่ในจิตทุกดวงสะสมสืบต่อที่จะทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดพร้อมกับกัมมชรูป เพราะฉะนั้น เวทนาที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก ถึงแม้ว่าจะเป็นโสมนัสเวทนาเพราะรู้อารมณ์ที่ดี หรือว่าเป็นอุเบกขาเวทนาเพราะรู้อารมณ์ปานกลาง ขณะนั้นก็เป็นเพียงเวทนาที่ เป็นวิบาก เพราะเป็นเพียงผลของกรรม กรรมทำให้สภาพความรู้สึกเช่นนั้นเกิดขึ้น

ผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ แต่ยังไม่ปรินิพพานเพราะมีกรรมทำให้วิบากจิตและเจตสิก และรูปเกิดดับสืบต่อกันจนกว่าจะถึงปรินิพพาน เพราะฉะนั้น เวลาที่บุคคลใดเป็นพระอรหันต์แล้ว ปัจจัยที่สะสมอยู่ในจิต ไม่มีอกุศลปัจจัยหรือกุศลปัจจัยที่จะเป็นเหตุให้เกิดกุศลจิตหรืออกุศลจิตอีกต่อไป แต่ยังมีปัจจัย คือ กรรมที่สะสมแล้ว ทำให้วิบากจิตและเจตสิก และรูปเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเหมือนบุคคลอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ความต่างกัน คือ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดับกิเลสนั้น เวลาที่เห็นมีปัจจัย คือ กิเลส ความยินดีพอใจ ทำให้เกิดความพอใจขึ้น หรือว่ามีปัจจัย คือ โทสะ ความไม่ยินดี ทำให้เกิดความยินร้าย หรือไม่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่ผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้วเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอกุศลปัจจัย หรือกุศลปัจจัยอีกต่อไป เพราะฉะนั้น มีแต่เพียงจิตที่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิต

สำหรับวิบากจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรม ซึ่งผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็มีอดีตอกุศลกรรมและกุศลกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้ไม่มีอกุศลจิตและกุศลจิต แต่ก็มีอกุศลวิบากจิตและเจตสิก มีกุศลวิบากจิตและเจตสิกซึ่งเกิดเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย และมีกิริยาจิต คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น แม้ความรู้สึกก็เป็นเพียงวิบาก หรือว่าเป็นเพียงกิริยา ไม่เหมือนกับของผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ซึ่งย่อมเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

ถ้าท่านผู้ฟังสังเกต จะมีคำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน อนุปาทิเสสนิพพาน สอุปาทิเสสบุคคล และอนุปาทิเสสบุคคล ซึ่งมีความหมายต่างกัน สำหรับสอุปาทิเสสนิพพาน และอนุปาทิเสสนิพพาน ได้กล่าวถึงแล้ว

อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สอุปาทิเสสสูตร ข้อ ๒๑๖ มีข้อความที่อธิบาย ถึงสอุปาทิเสสบุคคล และอนุปาทิเสสบุคคลว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ฯ

อนุสสติ เตือนให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ พระอริยเจ้าท่านหนึ่ง คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะฉะนั้น กุศลจิตย่อมเกิดได้ในขณะที่ฟังธรรม แทนที่จะเบื่อว่า ซ้ำอีกแล้ว ทำไมจะต้องบอกว่า ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เพราะทุกคนก็ทราบอยู่ว่า พระวิหารเชตวันนั้นสร้างโดย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แต่ว่ากุศลจิตย่อมเกิดได้ สังฆานุสสติ เตือนให้ระลึกถึงคุณของพระอริยสาวกท่านหนึ่ง ซึ่งได้กระทำคุณความดีไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ท่านพระสารีบุตรมีความคิดดังนี้ว่า

เห็นไหมว่า ไม่มีใครยับยั้งความคิดได้ แม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ก็ยังคิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าให้หยุดคิด คิดไม่ได้ แต่แม้ขณะที่คิดก็รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าสะสมความรู้จริงจนชำนาญ จะไม่หวั่นไหวกับความคิดเลย จะรู้ตลอดว่า ขณะแม้กำลังคิดๆ นั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิด

ท่านพระสารีบุตรมีความคิดดังนี้ว่า การเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถียังเช้าเกินไป ผิฉะนั้น เราพึงเข้าไปยังอารามของอัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด

สมัยนั้นทั้งพระสาวกและปุถุชนก็อยู่ปะปนกัน ไม่มีใครรู้ว่า ใครเป็นพระสงฆ์สาวก เป็นพระอริยเจ้า และการที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่น แม้ว่าจะเป็นอัญญเดียรถีย์ปริพาชก พระสาวกทั้งหลายท่านก็มีเมตตาจิตที่จะอนุเคราะห์

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ได้ปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ก็สมัยนั้น อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันในระหว่างว่า ดูกร อาวุโสทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งที่ยังเป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ ผู้นั้นล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรไม่ยินดี ไม่คัดค้านถ้อยคำที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าว ครั้นแล้วลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า เราจักรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตใน พระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร อัญญเดียรถีย์ปริพาชกบางพวกโง่เขลา ไม่ฉลาด อย่างไรจักรู้ผู้ที่เป็นสอุปาทิเสสะว่าเป็นสอุปาทิเสสะ หรือจักรู้ผู้ที่เป็นอนุปาทิเสสะว่าเป็นอนุปาทิเสสะ ดูกร สารีบุตร บุคคล ๙ จำพวกนี้ ที่เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำกาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ๙ จำพวกเป็นไฉน ฯ

มีพระอรหันต์รวมอยู่ด้วยหรือเปล่า สูตรก่อนกับสูตรนี้ ข้อความต้องสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้น บุคคล ๙ จำพวกที่เป็นสอุปาทิเสสจะเป็นพระอรหันต์ด้วยหรือเปล่า เป็นไหม ไม่เป็น เพราะฉะนั้น สำหรับสอุปาทิเสสบุคคลยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ เมื่อกระทำกาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน พ้นจากเปรต พ้นจากอบาย ทุคติและวินิบาต คือ เกิดในสุคติ แต่สำหรับพระอรหันต์ ไม่ต้องเกิดอีกเลย ไม่ว่าในทุคติหรือสุคติ

สำหรับผู้ที่จะพ้นจากทุคติ แต่ยังเกิดในสุคติ ต้องเป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่ พระโสดาบันถึงพระอนาคามีบุคคล เพราะยังเป็นผู้ที่ยังมีการเกิดอยู่ แต่ว่าพ้นจากอบายภูมิ

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๙ จำพวก ที่เป็นสอุปาทิเสส

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอันตราปรินิพพายี เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๑ ผู้เป็นสอุปาทิเสสะ กระทำ กาละ พ้นจากนรก พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน พ้นจากเปรตวิสัย พ้นจากอบาย ทุคติ และวินิบาต ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสอุปาทิเสสบุคคลตั้งแต่ขั้นสูงจนกระทั่งขั้นต้น คือ ตั้งแต่พระอนาคามีบุคคล สำหรับพระอนาคามีบุคคลนั้นมี ๕ จำพวก พวกที่ ๑ คือ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอันตราปรินิพพายี หมายความว่า เมื่อเกิดในพรหมโลกได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ก่อนครึ่งอายุของอายุในพรหมโลกจำพวกหนึ่ง ชื่อว่าอันตราปรินิพพายี

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ ๕ ขั้นต่ำที่พระอนาคามีดับได้ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนี้ดับตั้งแต่ พระโสดาบันแล้ว ไม่มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอนาคามีเพิ่มกามฉันทะอีก ๑ พยาปาทอีก ๑ รวมเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕

เพราะฉะนั้น พระโสดาบันดับสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ เป็นการดับสังโยชน์ ๓ สำหรับพระโสดาบัน และพระสกทาคามีบุคคล แต่สำหรับ พระอนาคามีดับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาปาทะ ๑

ข้อความต่อไป พระอนาคามีบุคคลประเภทที่ ๒

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอุปหัจจปรินิพพายี เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๒ ... ฯ

สำหรับพระอนาคามีบุคคลประเภทที่ ๒ เวลาที่เกิดในพรหมโลก เมื่อล่วงครึ่งหนึ่งของอายุของพรหมโลก จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็น อุปหัจจปรินิพพายี บุคคล

ข้อความต่อไป พระอนาคามีบุคคลประเภทที่ ๓

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นอสังขารปรินิพพายี เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๓ ... ฯ

สำหรับพระอนาคามีที่เป็นอสังขารปรินิพพายี คือ พระอนาคามีผู้ไม่ต้องเพียรมาก ก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ นี่คือความต่างกัน ซึ่งท่านจะเห็นความยากยิ่งของการที่จะดับกิเลสหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ก็ยังมีสังโยชน์อีกมากที่จะต้องดับ เพราะผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นดับเพียงมิจฉาทิฏฐิ คือ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ใครก็ตามยังเห็นเป็นคนนั้น คนนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่มีการที่จะรู้ลักษณะของรูปารมณ์ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ซึ่งต่างกับขณะที่คิด ที่ตรึก ที่นึก ที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ถ้าไม่มีการละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะที่กำลังเห็นโดยรู้ จริงๆ อย่างนี้ ไม่สามารถที่จะดับสักกายทิฏฐิได้ และบางท่านก็มีสีลัพพตปรามาส การปฏิบัติผิด ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะต้องเป็นการปฏิบัติถูก รู้ถูก จึงจะดับวิจิกิจฉาที่เป็นอกุศลธรรม อกุศลเจตสิก ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วจะดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกตามปกติในชีวิตประจำวันนี้เอง

และถึงแม้ว่าเป็นพระโสดาบันแล้ว ประจักษ์แจ้งในอริยสัจธรรม ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส แต่กำลัง คือปัญญาของพระโสดาบัน ยังไม่ใช่ปัญญาของพระสกทาคามีบุคคล ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่มีการอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตของท่านไปอีกนานกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล และเมื่อเป็นพระสกทาคามีบุคคลสามารถที่จะดับความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างหยาบได้แล้ว ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาอีกมากกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล

และเมื่อท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว แม้ปัญญาขั้นนั้น ระดับนั้น สามารถที่จะดับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ไม่มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ ความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางลิ้น ในโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย ไม่มีพยาปาทะ ความไม่แช่มชื่น แม้เพียงชั่วเล็กน้อยเบาบางอย่างไรก็ตาม แต่แม้กระนั้น เวลาที่เกิดในพรหมโลกแล้ว บางท่านก็อยู่ในพรหมโลกจนถึงครึ่งหนึ่งของอายุของพรหมโลกจึงจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่จะดับกิเลสจนหมดจดจริงๆ โดยสิ้นเชิง ย่อมเป็นสิ่งที่ละเอียด และเป็นการยากด้วย

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอนาคามีจำพวกที่ ๔

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ในสมาธิ กระทำพอประมาณในปัญญา บุคคลนั้นเป็นสสังขารปรินิพพายี เพราะ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ดูกร สารีบุตร นี้บุคคลจำพวกที่ ๔ ... ฯ

ผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลที่เป็นสสังขารปรินิพพายีนั้น ต้องเป็นผู้ที่เพียรมาก จึงจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์

เปิด  266
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566