แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 831
ถ. การที่จะบรรลุมรรคผล เพราะเขายกองค์ฌานขึ้นมาพิจารณาใช่ไหม
สุ. อะไรที่เป็นองค์ฌาน ที่ยกขึ้นมาพิจารณา
ถ. องค์ฌาน ๕ มีวิตก วิจาร
สุ. ส่วนมากมักจะเข้าใจกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ฌานสูตร ข้อ ๒๔๐ ซึ่งมีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสานัญจายตนฌานบ้าง วิญญาณัญจายตนฌานบ้าง อากิญจัญญายตนฌานบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง ฯลฯ
ถ้าฟังเพียงเผินๆ โดยไม่พิจารณา บางท่านอาจจะเข้าใจว่า ต้องบรรลุฌานจิตก่อน แต่อย่าลืมว่า นี่เป็น ฌานสูตร เพราะฉะนั้น นี่สำหรับผู้ที่บรรลุฌานและเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเวลาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อาจจะประกอบพร้อมด้วยปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรืออาจจะไม่ประกอบกับฌานจิตเลย เพราะสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่ปัญญากำลังระลึกรู้ในขณะนั้น เมื่อปัญญาอบรมเจริญสมบูรณ์พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมบรรลุอริยสัจธรรมได้ โดยไม่ใช่ว่าจะต้องอาศัยปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน หรืออรูปฌาน
และไม่ว่าจะเป็นฌานหนึ่งฌานใด ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานและก็มีวสี ความแคล่วคล่องชำนาญจริงๆ ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ประกอบด้วยองค์ของฌานหนึ่งฌานใด
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
เจาะจงองค์ฌานหนึ่งองค์ฌานใดหรือเปล่า หรืออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดหรือเปล่า ไม่มีเลยที่ว่า จะต้องยกองค์ฌานขึ้นพิจารณา เพราะผู้ที่จะดับกิเลสได้ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น ไม่ใช่ให้เจาะจงว่า ถ้าเป็นปฐมฌานต้องยกวิตกเจตสิกขึ้นพิจารณา หรือวิจารเจตสิกขึ้นพิจารณา ไม่มี แล้วแต่ว่าจะพิจารณารูป หรือเวทนา หรือสัญญา หรือสังขาร หรือวิญญาณ และเห็นว่าสภาพธรรมเหล่านั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุคือนิพพานว่า นั่นสงบ
ต้องเห็นว่า นั่นสงบกว่าปฐมฌาน เพราะในขณะพิจารณาปฐมฌาน ย่อมเห็นว่าปฐมฌานไม่เที่ยง ขณะนั้นเป็นการพิจารณาวิญญาณขันธ์ หรือว่าในขณะนั้นจะพิจารณารูปก็ได้ หรือจะพิจารณาเวทนาที่เกิดกับปฐมฌานก็ได้ พิจารณาสัญญาก็ได้ หรือว่าพิจารณาสังขาร คือ เจตสิกธรรมองค์หนึ่งองค์ใดก็ได้ที่เกิดขึ้นปรากฏ หรือพิจารณาปฐมฌานนั้นเองว่าไม่เที่ยง จึงจะน้อมไปเพื่ออมตธาตุ เพราะเห็นว่านิพพานนั้นย่อมสงบกว่าสภาพธรรมที่แม้เป็นปฐมฌานก็ยังเกิดดับ ไม่เที่ยง
เรื่องของนามธรรมและรูปธรรมเป็นเรื่องที่ต้องรู้จนชินและจึงละ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อยากรู้ตอนนั้น อยากให้คิดถึงตรงนี้ และจึงจะไปละตรงนั้น หรืออะไร นั่นไม่ใช่เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาที่จะละความยินดีพอใจในนามธรรมและในรูปธรรม
เรื่องของการที่จะบรรลุถึงฌานจิต หรืออัปปนาสมาธิ เป็นเรื่องยาก จนกระทั่งแม้ในพระวินัยบัญญัติก็ยังบัญญัติว่า เป็นปาราชิก เพราะเป็นการอวดอุตริมนุสสธรรม คือ ธรรมที่เหนือ หรือว่าเลิศ หรือว่ายิ่งกว่าธรรมดา ผู้ที่บอกว่า บรรลุปฐมฌานแล้ว มีจุดประสงค์อะไรที่กล่าวอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องยากจริงๆ เพราะฉะนั้น ในพระวินัยบัญญัติจึงได้ทรงแสดงไว้ว่า บุคคลใดที่อวดอุตริมนุสสธรรม คือ การบรรลุฌานจิต หรือว่ามรรคผลนิพพาน ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นภิกษุ
ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ เลย เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ ถ้าจะมีใครบอกว่า มีผู้ที่บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน หรือมีจักขุทิพย์ เห็นนรก เห็นเทวดาต่างๆ ก็จะต้องพิจารณาว่า มีเหตุสมควรที่จะให้เห็นอย่างนั้นหรือเปล่า นี่เป็นอุตริมนุสสธรรมหรือเปล่า เพราะคนธรรมดาไม่เห็น
ถ. ผู้ที่ได้ฌาน นึกถึงอาวัชชนวสี แต่ผู้ที่ใกล้จะได้ฌาน ผู้ที่กำลังฝึกฝนอยู่ในท่ามกลาง เขาจะนึกอย่างไร ต้องมีวสีทั้ง ๕ หรือเปล่า
สุ. ยังไม่มีวสีเลย ต้องหลังจากที่บรรลุปฐมฌานแล้ว จึงจะฝึกหัดอบรมจนชำนาญ ๕ ประการก่อนที่จะบรรลุถึงทุติยฌาน ไม่อย่างนั้นบรรลุถึงทุติยฌานไม่ได้ หรือว่าฌานที่ได้แล้วก็อาจจะไม่เกิดอีกเลย ถ้าไม่อบรมฝึกหัดให้ชำนาญแคล่วคล่อง
ถ. ผู้ที่จะฝึกหัดให้ชำนาญ ให้แคล่วคล่อง ให้ได้ฌาน เขาจะนึกอย่างไร จะทำอย่างไร
สุ. เวลาที่ฌานจิตเกิด ประกอบด้วยความสงบที่มั่นคงพร้อมด้วยปัญญา อย่าลืมปัญญา ปัญญาเป็นสภาพธรรมซึ่งรู้แจ้ง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นผู้นั้นจะต้องรู้ในลักษณะของอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นความสงบที่มั่นคง เพราะว่าประกอบด้วยปัญญา เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น สัญญาความจำในอัปปนาสมาธิที่เป็นปฐมฌานก็จำได้มั่นคง และต่อมาก็ฝึกหัดอบรมในการที่ไม่นึกถึงเรื่องอื่น
แต่ก่อนเคยนึกถึงรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง แต่สำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้น ให้ปฐมฌานจิตเกิดขึ้นบ่อยๆ จะต้องนึกถึงขณะที่เป็นอัปปนาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นึกถึงเรื่องอื่น จนกระทั่งมีความชำนาญ
ถ. นึกแล้วบางทีก็เป็นอกุศล บางทีก็เป็นกุศล
สุ. เรื่องของการบรรลุฌานจิต ไม่ใช่ง่าย ต้องเป็นเรื่องที่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ ถ้าใครกล่าวว่า กำลังเจริญสมถภาวนา แต่ไม่รู้อะไรเลยในขณะนั้น รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา เป็นมิจฉาสมาธิ
เพราะฉะนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือเป็นวิปัสสนาภาวนา แต่ว่าเป็นปัญญาที่ต่างขั้น เพราะปัญญาของสมถะสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลที่สงบ และสงบขึ้นๆ และรู้วิธีปฏิบัติอบรมว่า อบรมอย่างไรจึงสงบขึ้น แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
วสีทั้ง ๕ เช่น อาวัชชนวสี ชำนาญในการนึกถึง เวลานี้ถ้าจะนึก สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ปฐมฌาน ก็สามารถที่จะนึกถึงรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ได้ใช่ไหม และชำนาญไหม หรือนึกไม่ค่อยออก
ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)
สุ. ไม่จริง ไม่ใช่นึกถึงอะไรก็ได้ ขณะไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ขณะนี้ถ้าให้นึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ อาจจะนึกได้ง่ายใช่ไหม แต่ลองนึกถึงสิ่งที่ไม่ปรากฏ แม้แต่นึกก็ยังไม่ชำนาญ ลองนึกถึงเสื้อตัวหนึ่งที่อยู่ในตู้ นึกเดี๋ยวนี้ทันทีได้ไหม แต่สำหรับผู้ที่มี อาวัชชนวสี ไม่ว่าจะขณะไหน ณ สถานที่ใด เมื่อปรารถนาจะนึก นึกได้ทันที นี่คือความชำนาญที่ได้อบรมของผู้ที่ได้ปฐมฌานก่อนที่จะถึงทุติยฌาน เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ได้ฌานจิต อย่าคิดว่าไวหรือชำนาญ ความรวดเร็ว ความคล่องแคล่วยังไม่เท่ากับผู้ที่ได้อบรมจนกระทั่งมีความสงบที่มั่นคง แม้แต่การคิด ก็คิดช้ากว่ากัน แต่ท่านที่บรรลุปฐมฌานเพียงครั้งแรก ถ้าไม่ฝึกหัดอบรมที่จะคิดถึงลักษณะที่เป็นอัปปนาสมาธิที่เป็นปฐมฌาน ย่อมไม่คล่องแคล่ว ในตอนแรกๆ ยังนึกไม่คล่องแคล่ว ยังไม่ชำนาญ จะต้องฝึกหัดอบรมจนกระทั่งมีความชำนาญ ๕ ประการ ก่อนที่จะบรรลุถึงทุติยฌาน
วสี ต้องหมายความถึงหลังจากที่บรรลุปฐมฌานแล้ว ก่อนที่จะถึงทุติยฌาน จึงจะชื่อว่า อบรมความชำนาญในการเข้า ในการออก ในการอธิษฐานให้ตั้งอยู่ ในการพิจารณาองค์ฌาน และในการนึกถึง
ถ. ปรมัตถสัจจะ กับสมมติสัจจะ ขอให้อธิบายให้ละเอียดกว่านั้น
สุ. วันหนึ่งๆ คิดมากมายหลายเรื่องโดยที่สติไม่ได้ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเรื่องไม่มีจริง แต่ว่าจิตที่คิดเป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น เวลาใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้จิตที่คิด ก็รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องที่คิดทั้งหมดนั้น เป็นสมมติสัจจะเท่านั้น ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ
แต่ปรมัตถสัจจะ คือ ในขณะที่สติระลึกรู้สภาพที่กำลังคิด รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพที่คิด เมื่อเป็นเพียงสภาพที่คิด จึงเป็นปรมัตถสัจจะ ส่วนเรื่องที่กำลังคิดเป็นสมมติสัจจะ
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อรู้ชัดจึงจะสามารถแยกออกว่า ทางตาขณะที่รู้ในสภาพที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นปรมัตถสัจจะ ทางหู ขณะที่กำลังระลึกรู้สภาพที่กำลังรู้เสียงว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ขณะนั้นก็รู้ว่า นั่นเป็นปรมัตถสัจจะ แต่พอถึงทางใจที่คิดเรื่องราวต่างๆ ปัญญาก็รู้ว่า ขณะที่กำลังคิด สภาพที่คิดมีจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพที่คิดเป็นปรมัตถสัจจะ ส่วนเรื่องที่กำลังคิดอยู่เป็น สมมติสัจจะทั้งหมด
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อยู่กับสมมติสัจจะ คือ ความคิดตลอดเวลา จนกว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ จึงจะรู้ว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นจริงโดยสมมติเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์ ซึ่งผู้ที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะ แม้ว่าจะได้อ่านคัมภีร์ที่กล่าวถึงสัจจะ ๒ ประการ คือ ปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะ ก็เป็นเพียงขั้นเข้าใจตามว่า ความจริงมี ๒ อย่าง คือ ความจริงโดยสมมติ และความจริงที่เป็นปรมัตถธรรม
แต่ไม่เหมือนกับขณะที่รู้ชัด โดยสติระลึกสภาพที่เป็นปรมัตถ์ และก็รู้ว่า ในขณะที่คิด เวลาที่รู้ว่าเป็นสภาพที่รู้ นั่นเป็นปรมัตถสัจจะ แต่ว่าเรื่องทั้งหมดเป็นสมมติสัจจะ เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิด ทุกคนก็อยู่ในโลกของสมมติสัจจะเท่านั้น ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถสัจจะเลย และก็คิดว่า ทรงแสดงไว้ แต่ไม่ประจักษ์ว่าขณะไหน
ต่อเมื่อใดที่อบรมเจริญสติ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นปรมัตถสัจจะ และขณะไหนเป็นสมมติสัจจะ เมื่อเป็นอย่างนี้ ย่อมรู้สัจจะทั้ง ๒ ตามความเป็นจริง
ไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่รู้สมมติสัจจะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่รู้ละเอียดจนกระทั่งรู้ว่า ขณะใดเป็นสมมติสัจจะ และลักษณะใดเป็นปรมัตถสัจจะ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ในขณะที่กำลังเห็น โดยมากทุกท่านสงสัยทางตา รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นอย่างไร เพราะเห็นขณะไหนก็เป็นคน เป็นคนนั้น คนนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ขณะนั้นทั้งหมดที่เป็นคนชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ขณะนั้นเป็นสมมติสัจจะ แต่เวลาที่สติระลึกว่า ขณะที่กำลังเห็นมีจริง เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นปัญญารู้ปรมัตถสัจจะ จึงแยกปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะออกได้ และก็รู้ว่าขณะใดเป็นสัจจะใด จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะขณะที่เป็นสมมติสัจจะนั้น เป็นการนึกถึงเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่มีหนทางที่จะประจักษ์สภาพที่เป็นอนัตตา ก็ได้แต่พูดว่าให้ละการยึดถือ อย่าไปยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดอย่างนี้จริงๆ ไม่มีหนทางที่จะละการที่เคยยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่เหนียวแน่นเหลือเกินได้
เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องรู้เพิ่มขึ้นๆ จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
เป็นเรื่องจริง ซึ่งปัญญาจะต้องรู้จริงๆ และจะละกิเลสได้จริงๆ ดับสักกายทิฏฐิที่เคยยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ
คนที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดูโทรทัศน์ได้ไหม ดูหนังได้ไหม
บางคนกล่าวว่า จะดูได้อย่างไร เดี๋ยววุ่นวายกันไปหมด ตัวจริง ตัวปลอม มีทั้งที่อยู่นอกจอ ในจอ เต็มไปหมด แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ เวลาที่ยังไม่ได้ดูโทรทัศน์ หลงบ้างหรือเปล่า ยังไม่ต้องไปคิดถึงตอนดูโทรทัศน์ กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ หลงแล้วหรือยัง เพราะเป็นไปกับสมมติสัจจะ ท่านผู้นี้ชื่อนี้นั่งอยู่ที่นี่ ขณะนั้นยังไม่ต้องดูโทรทัศน์ก็หลงแล้ว ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถสัจจะซึ่งไม่มีท่านผู้ใดเลย มีแต่สภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนที่จะรู้ว่าชื่อนี้ นั่งที่นี่ นั่นเป็นเรื่องของการคิด
สภาพที่คิดมีจริง แต่เรื่องที่คิดทั้งหมดรู้แล้วว่า เป็นสมมติสัจจะเท่านั้น ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ จึงรู้ว่า ขณะที่คิดนั้นก็เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น เวลาที่ดูโทรทัศน์ จะไม่ต่างกันเลย คนในโทรทัศน์ชื่อนั้นจริงๆ หรือเปล่า ก็เหมือนคนที่นั่งอยู่ที่นี่ชื่อนี้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่จะหลงแต่เวลาที่ดูโทรทัศน์ แต่ว่ายังไม่ได้ดูโทรทัศน์ก็หลงแล้ว
เวลาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม อาจจะรู้ในขณะที่ดูโทรทัศน์ หรือไม่ได้ดูโทรทัศน์ ก็เหมือนกัน เพราะสามารถที่จะแยกปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะได้ สภาพที่เห็นทางตาเป็นปรมัตถสัจจะ แต่เวลาที่คนนั้นชื่อนั้นในจอ ชื่อนั้นจริงๆ เรื่องนั้นจริงๆ กำลังพูดกับคนนั้นจริงๆ ก็เป็นสมมติสัจจะ เพราะขณะนั้นคิดถึงสิ่งที่ปรากฏโดยอาศัยรูปร่างสัณฐาน และสัญญา ความจำต่างๆ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บรรลุฌานจิต หรือไม่บรรลุฌานจิตก็ตาม สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ปรากฏ ปัญญาจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงโดยไม่หวั่นไหว โดยไม่เลือกด้วยว่า จะต้องให้ถึงปฐมฌาน หรือทุติยฌาน เพราะเลือกไม่ได้
ถ้าใครจะเลือกอย่างนั้น ไม่ถึง ไม่มีวันที่จะถึงได้ เพราะไม่ได้ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ยังมีโลกของโทรทัศน์โลกหนึ่งต่างจากโลกที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ และก็ไม่กล้าจะดู โดยที่ไม่รู้ว่า แม้ไม่ดูก็หลงแล้ว ขณะใดที่เป็นสมมติสัจจะ ขณะนั้นไม่ได้รู้ปรมัตถสัจจะ ขณะนั้นหลงอยู่ ไม่ใช่ไปหลงเฉพาะเวลาดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ