แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 840

สุ. ต้องเข้าใจว่า สติ คือ สภาพที่ระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ

ถ. เป็นรูป ระลึกในกาย ก็เป็นรูปกาย

สุ. อย่าเลือกระลึกแต่ที่กาย เพราะสติปัฏฐานมี ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ต้องเลือก ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏเท่านั้นที่สติจะระลึก เพราะสติจะต้องระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สิ่งที่อยากจะรู้ จึงพยายามไปรู้ แต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือ ใจเด็ดเดี่ยว อาจหาญ ร่าเริงที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่หวังอย่างอื่น ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ

ถ. ที่สติกำลังระลึกรู้เวลานี้ ระลึกว่า กำลังฟังอาจารย์กำลังบรรยายธรรม

สุ. มีเสียง ใช่ไหม

ถ. มีเสียง

สุ. และมีสภาพธรรมที่รู้เสียง ถูกไหม

ถ. ไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น

สุ. ยังไม่ต้องคิดอะไรเลย แต่จะต้องเข้าใจ เวลาที่เสียงปรากฏ และที่กล่าวว่า สติระลึกที่เสียง รู้อะไรขึ้นบ้างขณะที่สติระลึกที่เสียง ถ้าไม่รู้อะไรเลย ปัญญาก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น เสียงมีจริง สติระลึกที่เสียงได้ และเมื่อสติระลึกที่เสียงแล้ว รู้อะไรบ้างจากการที่ระลึกที่เสียง นี่คือ ผลที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน

นึกถึงเสียง หรือว่าระลึกที่ลักษณะของเสียง

ถ. เวทนา จิต ธรรม ก็เหมือนกัน

สุ. ยังไม่ต้องพูดถึงชื่ออื่น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการที่สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

ท่านผู้ฟังกำลังจะเข้าใจความหมายของใจเด็ดเดี่ยว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่อยากจะรู้กาย หรืออยากจะรู้เวทนา หรืออยากจะรู้จิต หรืออยากจะรู้ธรรม แต่ขณะนี้สภาพธรรมใดปรากฏแล้วไม่รู้เพราะหลงลืมสติ ก็จะต้องระลึก คือ ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่กำลังปรากฏแล้วรู้

ถ. เป็นสติปัฏฐานใช่ไหม

สุ. ถ้าสติเกิดก็เป็น

ถ. อย่างคนเราเวลาจะตาย มีคนมาบอกว่า ลุงระลึกถึงพระอรหันต์นะ เราก็ระลึกตามเขาไปอย่างนี้

สุ. แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

ท่านจะต้องเริ่มด้วยการรู้ลักษณะของสติ การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยไม่รู้อะไร แต่ว่าเมื่อเป็นปัญญาจริงๆ ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และก็เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น อุปการะเกื้อกูลให้ปัญญานั้นคมกล้าขึ้นจริงๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่ลักษณะของสติ สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรที่จะได้ทราบ เพื่อที่ว่าเมื่อรู้ลักษณะของสติแล้ว เวลาที่สติเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะระลึกรู้ในสภาพที่เป็นสตินั้นว่า เป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

เพื่อท่านผู้ฟังจะได้รู้ลักษณะของสติ ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๙๘ ซึ่งมีข้อความว่า

บทว่า สโต ในอุเทศว่า สโต ภิกขุ ปริพฺพเช

ความว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ๑ มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ๑ มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ๑ มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ๑

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงมีหลายขั้น มีหลายระดับตามอัธยาศัยของผู้ฟัง สำหรับผู้ที่เข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานแล้ว และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ย่อมสามารถที่จะเข้าใจข้อความที่ว่า มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย

แต่ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจชัดเจน ก็จะต้องฟัง และพิจารณา น้อมไปที่จะเข้าใจจนกว่าสติจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็จะหมดความสงสัยในสติปัฏฐานทั้ง ๔ แต่แม้กระนั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงสติประการอื่นๆ ด้วย คือ

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มี สติ ๑

ต้องเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐาน และรู้ว่าขณะที่มีสตินั้น เพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ

เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑

คือ รู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ของสติ

ท่านผู้ฟังเห็น ได้ยิน สนทนา จนกระทั่งคิดถึงเวลาที่ใกล้จะตายมีคนมาบอก ดูเป็นชีวิตประจำวัน แต่ชีวิตประจำวันแต่ละขณะ เป็นธรรมที่เป็นที่ตั้งของสติ ใช่หรือไม่ใช่ นี่จะต้องมีความเข้าใจชัดเจน สภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก สนทนา หรือว่ามีชีวิตประจำวันอย่างไร ถ้ารู้ว่าธรรมนั้นเป็นที่ตั้งของสติ สติก็ย่อมจะเกิด และเป็นผู้ที่มีสติได้

แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่มีการฟังเรื่องสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันว่า มีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ จะไม่มีสติเลยตลอดวัน ไม่รู้ด้วยว่า ธรรมอะไรเป็นที่ตั้งของสติ อย่างเช่น กำลังเห็นอย่างนี้ ก็ไม่ทราบว่าธรรมอะไรเป็นที่ตั้งของสติ ก็เห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะไม่มีความรู้ความเข้าใจว่า ธรรมในขณะที่เห็นอย่างไรจึงจะเป็นธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ

จะเอาคนมาเป็นที่ตั้งของสติได้ไหม จะเอาวัตถุ จะเอาสิ่งของต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยเห็นทุกวันๆ มาเป็นที่ตั้งของสติได้ไหม แต่ว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ ๑ เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑ เพราะละธรรมเป็นข้าศึกแก่สติ ๑ เพราะไม่หลงลืมธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ ๑

ทั้งหมดนี้ ถ้าพิจารณาก็จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงแสดงภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ

มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑ เพราะไม่กลับลงจากสติ ๑

เป็นขณะที่กำลังเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นขั้นๆ ทีเดียว เช่น มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ในขณะนี้ประกอบด้วยสติหรือเปล่า ผู้ใดกำลังประกอบด้วยสติ ผู้นั้นเป็นผู้มีสติ

เห็นไหมว่า เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ

ท่านผู้ฟังที่ใจร้อน วันนี้ก็นั่งเสียใจว่า ไม่ค่อยมีสติ อาทิตย์หนึ่งแล้วสติก็ยังไม่เกิด แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องทุกข์ร้อนเลย เพราะ ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ ... เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เวลาที่ยังไม่ชำนาญ กับเวลาที่ชำนาญ ต่างกันมาก ไม่ว่าท่านจะทำอะไร ทุกอย่างใช่ไหม ขณะที่เริ่มทำกับขณะที่ชำนาญแล้ว ย่อมต่างกัน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่อบรมพากเพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะเริ่มด้วยขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่เป็นผู้ที่เห็นคุณจริงๆ ว่า ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาเจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่สติเกิด เห็นคุณ เป็นขณะที่ปัญญาจะอบรมเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นผู้ที่ชำนาญ

และเวลาที่เป็นผู้ที่ชำนาญแล้ว จะไม่หวั่นไหวเลย กำลังดูโทรทัศน์ กำลังสนทนาสนุกสนานเพลิดเพลินกับมิตรสหาย กำลังอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ กำลังคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็แล้วแต่ ความเป็นผู้ชำนาญ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ สติย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้นโดยไม่หวั่นไหว มีใจเด็ดเดี่ยวที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพที่คิด ที่กำลังรู้เรื่อง ที่กำลังได้ยิน หรือที่กำลังเห็น หรือที่กำลังสงบในขณะนั้น และละความต้องการ แม้จะเป็นลักษณะที่สงบ แต่ถ้ายินดี ขณะนั้นย่อมไม่ละ หรือว่าเมื่อปัญญารู้แล้วเกิดความต้องการขึ้น ขณะนั้นก็ย่อมไม่ละ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเห็นบ่วงของมาร คือ ขณะใดที่มีความยินดีพอใจเกิดแทรกคั่นขึ้น ขณะนั้นติดบ่วงอีกแล้ว ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากบ่วงของความยินดี ของความต้องการ ของความพอใจ ไม่ได้ละอภิชฌาและโทมนัสในขณะนั้น

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ต้องอบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชำนาญ และเมื่อเป็นผู้ที่ถึงความชำนาญ ย่อมมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีสติเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑ เพราะไม่กลับลงจากสติ ๑

ท่านผู้ฟังกลับลงจากสติบ่อยๆ ใช่ไหม รู้ตัวหรือเปล่าว่ากลับลงจากสติ เวลาที่สติระลึกนิดเดียว คิดต่อแล้ว เป็นตัวตนแทรกเข้ามา กลับลงมาจากสติปัฏฐานที่เมื่อครู่นี้กำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ กลับเร็วมากสำหรับผู้ที่ยังไม่ชำนาญ มีสติ นิดหนึ่งก็กลับลงจากสติที่กำลังระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันทุกขณะอยู่เรื่อยๆ ผู้ที่ถึงความชำนาญ คล่องแคล่ว สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันแต่ละลักษณะ สามารถที่จะติดตาม คือ ไม่กลับลงจากสติ ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นนามธรรม หรือจะเป็นรูปธรรมใดๆ ก็ตาม แต่ถ้ายังไม่ชำนาญ ระลึกนิดเดียว กลับลงจากสติ อีกแล้ว บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมด้วยความเด็ดเดี่ยว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยไม่หวัง

ถ. โดยปกติผู้ที่ชำนาญแล้ว ก็ปฏิบัติได้อย่างนี้ แต่ผู้ที่ไม่ชำนาญ ไม่สามารถจะปฏิบัติได้ และการที่จะกลับจากจากสติ ก็เป็นกันบ่อยเหลือเกิน ทำให้ผมเกิดความเร่าร้อนขึ้นว่า เรานี้ใกล้จะตายทุกที แต่สติเกิดน้อยเหลือเกิน

สุ. ประโยชน์ของมรณสติ คือ เมื่อระลึกแล้ว ก็ระลึกที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม

ถ. ข้อนี้รู้แล้ว แต่ชีวิตของเรานี่ใกล้จะหมด สติเกิดได้นิดๆ หน่อยๆ ไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน ถ้าไปอบายก็หมดโอกาส

สุ. เวลานี้กายมี แทนที่จะคิดถึงอบาย ก็ระลึกที่กายที่กำลังปรากฏ เวลานี้เวทนามี แทนที่จะระลึกถึงอบาย ก็ระลึกถึงเวทนาที่กำลังปรากฏ

ข้อความต่อไป เป็นเรื่องสติสำหรับบุคคลต่างๆ อัธยาศัย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติ เสมอ ๑ เพราะความเป็นผู้สงบ ๑ เพราะความเป็นผู้ระงับ ๑ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ ๑

นี่เป็นสติขั้นต่างๆ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้ เพราะว่าบางครั้งก็ระลึกถึงความตายแล้วสงบ ใช่ไหม ยังไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม

ข้อความต่อไป

มีสติเพราะพุทธานุสสติ เพราะธัมมานุสสติ เพราะสังฆานุสสติ เพราะสีลานุสสติ เพราะจาคานุสสติ เพราะเทวตานุสสติ เพราะอานาปานัสสติ เพราะมรณานุสสติ เพราะกายคตาสติ เพราะอุปสมานุสสติ สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค นี้เรียกว่าสติ

ภิกษุเป็นผู้เข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยสตินี้ ภิกษุนั้นเรียกว่ามีสติ

พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงจำกัดแม้แต่อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าจะมีสติปัฏฐาน ระลึกที่กาย ที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรมตลอดเวลา เวลาที่ฟังธรรม จิตสงบ แต่ยังไม่ปรากฏลักษณะที่สงบ ถ้าความสงบนั้นไม่มั่นคงพอ แต่เวลาที่สงบขึ้น อาการที่สงบย่อมปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นสติที่เป็นไปในธัมมานุสสติ

ซึ่งการที่จิตในวันหนึ่งๆ จะมีสติระลึกเป็นไปในพุทธานุสสติ หรือธัมมานุสสติ หรือสังฆานุสสติ หรือสีลานุสสติ หรือจาคานุสสติ ก็ย่อมเป็นไปเพราะเหตุปัจจัย แต่ว่าไม่ควรเป็นผู้ที่ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าแยกกัน เช่น เวลาที่ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาค พุทธานุสสติเกิดขึ้น ในขณะนั้น อย่าให้แยกกับการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะแม้ในขณะนั้น สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบ หรือสภาพของเวทนาในขณะนั้น เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า มีสติเพราะพุทธานุสสติ เพราะธัมมานุสสติ เพราะสังฆานุสสติ เพราะสีลานุสสติ เพราะจาคานุสสติ เพราะเทวตานุสสติ เพราะอานาปานัสสติ เพราะมรณานุสสติ เพราะกายคตาสติ เพราะอุปสมานุสสติ และรวมสติอื่นๆ ด้วย ซึ่งละไว้ทั้งหมด และตรัสต่อไปว่า สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังไม่ควรจะเลือก จะเลือกอารมณ์สมถะนั้น จะเลือกอารมณ์สมถะนี้ ต้องการจดจ้อง แต่ให้ทราบว่า สติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสติที่ระลึกเป็นไปในพุทธานุสสติ หรือว่าธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ หรือสติอื่นๆ ก็ตาม เป็นจิตที่เป็นกุศลที่สงบ เป็นเบื้องต้นสำหรับสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งแล้วแต่ว่าจะระลึกที่กาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม แต่ไม่ใช่ว่าพอสงบแล้ว ต้องการที่จะให้สงบขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้น สติเหล่านั้นไม่ใช่เบื้องต้น เพราะไม่ใช่สิ่งที่สติจะระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ผู้ฟัง พักนี้มีความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานยิ่งขึ้น ทำให้เข้าใจคำพูดของอาจารย์ก่อนๆ ที่กล่าวไว้ อาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องเจริญในชีวิตประจำวันตามปกติ ถ้าทำอะไรขึ้นมาเป็นอารมณ์นิดเดียว ขณะนั้นก็เป็นตัวตน คำพูดนี้ผมจำได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่มีสติเกิดขึ้นพิจารณาอารมณ์ จะเป็นกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม ขณะนั้นก็พิจารณาไปตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรขึ้นมา

มีครั้งหนึ่งอยู่ที่บ้าน กำลังอ่านพระอภิธัมมัตถสังคหะอยู่ เด็กมาบอกว่า กินข้าวได้แล้ว ผมก็วางหนังสือ เดินลงมาข้างล่าง ขณะที่เดินลงมา ขณะนั้นก็มีความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงโต๊ะอาหาร ก็มีความรู้สึกตัว ขณะที่หยิบช้อน หยิบตะเกียบ ตักข้าวใส่ปาก ขณะนั้นก็ตักไปตามปกติ แต่ว่ามีความรู้สึกตัว สังเกตพิจารณาไปตามปกติ โดยไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมา ขณะนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานตามปกติจริงๆ นั้น ขณะที่สติเกิดขึ้น ขณะนั้นจะเดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี ก็เดินไปอย่างนั้น นั่งก็นั่งไปอย่างนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นมา และก็พิจารณาในขณะนั้น พิจารณาได้

สุ. ขออนุโมทนา ที่ท่านผู้ฟังเข้าใจลักษณะของสติในขณะที่สติเกิด และเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า สติย่อมเกิดในชีวิตประจำวัน จึงจะรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องทำอะไรขึ้นมาเลย และขณะนั้นที่สติเกิด เด็ดเดี่ยวที่จะไม่เปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างอื่น

เปิด  241
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566