แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 835
ผู้ที่เป็นปุถุชนเคยคิดเรื่องใด เวลาที่ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ และคิดเรื่องเดียวกัน จิตที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิต แม้ว่าจะคิดเรื่องเดียวกันกับที่เคยคิดเมื่อครั้งที่เป็นปุถุชน ซึ่งความต่างกันอยู่ที่ปัญญา ที่อบรมเจริญจนกระทั่งดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็นอะไร ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตเกิด และไม่มีปัจจัยที่จะให้มหากุศลจิตเกิด
เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ว่าจะคิดเรื่องใดก็ตาม เห็นอะไรก็ตาม หลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นกิริยาจิตทั้งหมด นี่เป็นความต่างกัน ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า ทำไมจิตจึงต่างกัน ซึ่งก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนคมกล้าที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งสามารถรู้แจ้ง อริยสัจธรรม ดับกิเลสได้หมด แม้ว่าจะมีการเห็น การได้ยินเหมือนปุถุชนทุกประการ แต่ไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตที่เป็นอกุศลเกิดขึ้นได้เลย สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์
แต่สำหรับบุคคลที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เดี๋ยวนี้กำลังคิด จะให้เป็นกิริยาจิตได้ไหม พอเห็นแล้วก็เป็นกิริยา ไม่เกิดเป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโมหะในขณะนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อเห็นแล้วจิตอะไรต่อจากนั้น ถ้าหลงลืมสติ ต้องเป็นอกุศลแน่นอน และถ้าขณะใดที่ไม่รู้ จริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่ขณะใดที่รู้ จะปราศจากความยินดีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ขณะใดที่รู้ในอารมณ์นั้นด้วยความรู้สึก ไม่แช่มชื่น ไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกันกับพระอรหันต์ ต่างกันมาก เพราะท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติ จนกระทั่งเมื่อเห็นแล้ว สติเกิดเป็นมหากิริยา แล้วแต่ว่าจะเป็นญาณวิปปยุตต์ หรือญาณสัมปยุตต์
เพราะฉะนั้น ปุถุชนจะกล่าวว่า เมื่อเห็นแล้วไม่เป็นโมหมูลจิต หรือไม่เป็น โลภมูลจิต หรือไม่เป็นโทสมูลจิต ไม่ได้ แต่แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด หรือโทสมูลจิตเกิด หรือโมหมูลจิตเกิด
ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจความหมาย จะเข้าใจในลักษณะ ของจิตของพระอรหันต์ไหมว่า ต่างกับปุถุชน เพราะเมื่อปุถุชนเห็นแล้วหลงลืมสติ จึงเป็นโมหมูลจิต หรือโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต แต่สำหรับพระอรหันต์ เมื่อเห็นแล้ว ไม่ปราศจากสติ จึงไม่เป็นอกุศลจิต และไม่เป็นแม้กุศลจิต เพราะขณะนั้นเป็น มหากิริยาจิต ประกอบด้วยสติ แล้วแต่ว่าจะเป็นญาณวิปปยุตต์ หรือญาณสัมปยุตต์ แล้วแต่เหตุปัจจัย
ไม่มีปัจจัยที่จะให้กิเลสเกิด จึงมีปัจจัยที่สติจะเกิด แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นปัจจัยให้ญาณสัมปยุตต์เกิดตลอดเวลา เป็นผู้ที่มีสติ ไม่เป็นผู้ที่หลงลืม ไม่เป็นโมหมูลจิต และไม่ใช่มหากุศลจิต เพราะสะสมการเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติ ไม่ว่าจะมีการเห็น การได้ยิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติเกิดเพราะสะสมอบรมมา จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์
ถ. เมื่อไม่มีกิเลสแล้ว น่าจะเป็นการรู้สภาพธรรมตลอดเวลา เป็น มหากิริยาจิตญาณสัมปยุตต์
สุ. ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยเป็นกุศลสะสมมา บางขณะท่านก็เกิดจิตที่เมตตา บางขณะก็เกิดกรุณา ในขณะนั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า ไม่มีก็ได้ ใช่ไหม เป็นผู้ที่มีปกติมีเมตตาต่อบุคคลอื่น มีจิตใจดี หวังดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณา แต่ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเป็นอุปนิสัยที่สะสมมาที่จะมีจิตใจดีอย่างนั้น ฉันใด ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่สะสมคุณธรรม คือ ความเป็นผู้ที่มีจิตใจดี ที่ไม่ใช่กุศล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องประกอบด้วยปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทุกครั้งเพราะดับกิเลสหมดแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นพื้นของจิต แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยให้จิตประเภทไหนเกิด
ถ้าขณะใดไม่ประกอบด้วยญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นก็เป็นมหากิริยาจิตญาณวิปปยุตต์ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดอยู่ตลอดเวลา ก็เหมือนอัธยาศัยของท่านผู้ฟัง บางครั้งก็ประกอบด้วยเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามีปัจจัยที่จะให้เป็นญาณสัมปยุตทุกครั้ง ฉันใด อัธยาศัยของ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ฉันนั้น คือ ดับกิเลสหมด แต่แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีปัจจัยให้จิตที่เป็นมหากิริยาประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา
ถ. พระอรหันต์มีนิพพานเป็นอารมณ์ ในลักษณะอย่างไร
สุ. คำว่า พระอรหันต์ หมายความถึงขณะที่อรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้น รู้แจ้งนิพพาน ทำกิจดับกิเลสที่ยังเหลืออยู่จากการที่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้วให้หมด ไม่มีเหลือเลย เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับแล้ว เป็นปัจจัยให้อรหัตตผลจิตเกิดต่อ จิตเกิดดับทีละขณะ เพราะฉะนั้น อรหัตตมรรคจิตเกิดขึ้นดับกิเลสขณะเดียว และก็ดับไป ไม่มีกิเลสเหลือเลย เป็นปัจจัยให้อรหัตตผลจิตเกิดรับผล คือ ความสงบ ซึ่งไม่ต้องดับกิเลส ขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานต่อจากมรรคจิต
สำหรับอรหัตตผลจิต เกิดได้ ๒ หรือ ๓ ขณะ แล้วแต่บุคคล หลังจากนั้นแล้วเป็นภวังคจิต และก็มีการระลึกถึงอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต และนิพพานที่เพิ่งได้ประจักษ์แจ้งผ่านไป พร้อมทั้งรู้ว่า เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ช่วงขณะนั้นก็เป็นช่วงของปัญญาที่พิจารณาสภาพธรรมที่เพิ่งเกิดและหมดไป หลังจากนั้นแล้ว บุคคลซึ่งปราศจากแม้กิเลสอย่างละเอียด คือ อนุสัย ไม่ว่าจิตขณะไหนจะเกิดขึ้น ก็บัญญัติเรียกจิตนั้นว่า เป็นพระอรหันต์ หลังจากที่อรหัตตมรรคจิตและอรหัตตผลจิตดับไปแล้ว
ที่ถามว่า พระอรหันต์รู้แจ้งนิพพานในลักษณะไหน ก็คือ ในลักษณะที่กำลังประจักษ์แจ้งนิพพานด้วยอรหัตตมรรคจิตนั้นกระทำกิจดับกิเลสที่เหลืออยู่หมด เป็นสมุจเฉท และเวลาที่อรหัตตผลจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งนิพพานต่อ ก็เป็นผลของจิตที่ได้ดับกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เสวยสุขโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่ได้ทำกิจปหานกิเลสเหมือนอย่างอรหัตตมรรคจิต และหลังจากนั้นพระอรหันต์ก็มีการเห็น มีการได้ยิน ซึ่งไม่ได้มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าปัญญาของพระอรหันต์ โลกุตตรปัญญาที่เกิดกับอรหัตตมรรคจิตต่างกับโลกุตตรปัญญาที่เกิดกับโสตาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต เพราะต้องเป็นปัญญาที่ดับกิเลสที่ยังเหลืออยู่ให้หมดเป็นสมุจเฉท
ถ. ภวังคจิต กับจิตที่แนบแน่นในอารมณ์ มีลักษณะต่างกันอย่างไร
สุ. ต่างกัน เพราะเวลาที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่รู้อารมณ์ทางใจเลย เป็นภวังคจิต แต่เวลาที่จิตสงบ จะต้องมีอารมณ์ที่ปรากฏซึ่งบุคคลนั้นรู้ว่า ด้วยเหตุใดเมื่อมีอารมณ์นั้นแล้วปัญญาจึงเกิดและสงบ แต่ไม่ใช่อารมณ์อะไรก็ได้ อยู่ดีๆ นึกขึ้นมาและเข้าใจว่าสงบ ขณะนั้นไม่ใช่สงบ เป็นโลภมูลจิต ที่จะพ้นจากโลภมูลจิตนั้นยาก ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถพ้นจากโลภมูลจิตได้
ผู้ฟัง ขณะที่นอนหลับ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ขณะนั้นเหมือนสาบสูญไป เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีตัวตนที่จะมารู้เรื่อง ก็เหมือนไม่มีอะไร
สุ. เหมือน แต่ว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงในขณะนั้นว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ จึงมีการตื่น มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งกระทบสัมผัสกาย มีการคิดนึก
เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และต้องเป็นปัญญาที่รู้จึงจะละได้ ถ้าใครไม่รู้ในลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะละ ไม่สามารถที่จะเห็นโทษ ไม่ประจักษ์ความเกิดดับ ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง และการปฏิบัติก็เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ตรงตามที่ได้ศึกษาด้วย
ถ. การทำบุญให้ทาน เช่น เราใส่บาตรตอนเช้าทุกวัน ก็อยากได้บุญเพื่อชาติหน้าจะได้เป็นสุข เกิดเป็นตัวตนขึ้น แต่มาคิดถึงเรื่องสติปัฏฐาน เราจะทำอย่างไรให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนที่ทำบุญนี้
สุ. ยาก เพราะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติไม่สามารถที่จะเกิดได้ตามความประสงค์ ตามความต้องการได้ในทันที แม้จะเข้าใจว่าสติมีลักษณะอย่างไร สติระลึกรู้อะไร เพราะสติและปัญญาเป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่เมื่อเกิดแล้ว สะสมอยู่ในจิต เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดขึ้นประกอบด้วยสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเป็นสติปัฏฐานเมื่อไรก็แล้วแต่สังขารขันธ์ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะเกิดได้ ก็ต่อเมื่อเข้าใจจริงๆ ในเรื่องลักษณะของ สติปัฏฐาน เห็นคุณประโยชน์จริงๆ ที่จะรู้ว่า เมื่อมีการเห็น ซึ่งเป็นของจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลแล้ว ก็ควรที่จะน้อมไปรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ไม่ปรากฏทางอื่น ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งของใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เป็นเพียงรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะมองเห็นได้เท่านั้น
เวลาที่กระทบสัมผัสก็อ่อน แข็ง เย็น ร้อน เวลาที่กระทบกับจมูก ก็ปรากฏเป็นกเปกกdกลิ่นต่างๆ ไม่ใช่ลักษณะของสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา
การฟังบ่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางหนึ่งทางใดก็ได้ โดยไม่เลือก ไม่เจาะจง
ถ. สติของบุคคลก็ต้องมี ๒ อย่าง ทำบุญอย่างหนึ่ง และกลับมาเป็น สติปัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง
สุ. สติมีหลายขั้น ขณะใดที่ไม่เป็นไปในกุศล ขณะนั้นไม่ใช่สติ แต่ขณะใดที่ระลึกเป็นไปในทาน ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสติขั้นทาน จึงระลึกเป็นไปในการให้ แต่ท่านผู้ฟังก็บอกว่า ต้องการผลของบุญ เห็นกำลังของโลภะไหม พ้นยากจริงๆ เวลาที่ต้องการผลของบุญจากการให้ทานก็อย่างหนึ่ง เวลาต้องการผลของบุญจากการรักษาศีลวิรัติทุจริตก็อย่างหนึ่ง เวลาที่จิตสงบ ระลึกถึงอารมณ์ของสมถภาวนาและเกิดความสงบขึ้น ก็ยังพอใจยินดีในความสงบนั้นอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่จะให้หมดโลภะ จะต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ โดยที่ไม่มุ่งหวังสิ่งใดเลย เพราะเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องละ
ส่วนมากท่านผู้ฟังที่ยังไม่มั่งคงในการเจริญสติปัฏฐานรู้ว่า จิตไม่สงบ หลายท่านต้องการอะไร ต้องการให้สงบ เห็นไหมว่า ผิดไปจากจุดประสงค์ คือ การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
กุศลจิตมีหลายขั้น ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อท่านผู้ใดเห็นประโยชน์ของสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดทุกครั้งไปที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางครั้งอาจจะระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่เข้าใจธรรม ขณะนั้นจิตสงบ หรือว่าระลึกถึงความตาย ซึ่งเป็นของที่แน่นอนว่า เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะยึดถือสิ่งใดไปได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง มีเกิดก็ต้องมีตาย ขณะนั้นจิตอาจจะสงบ แต่ถ้าใครพอใจที่จะให้สงบอย่างนั้น สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะคนนั้นต้องการความสงบยิ่งขึ้น
บางท่านถามว่า ทำอย่างไรจึงจะถึงอุปจารสมาธิ
ต้องการอะไร ต้องการความสงบขึ้นอีก นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ การละ แต่เป็นเรื่องของความยินดี ความต้องการ ความพอใจในผลของทาน หรือ ในผลของศีล หรือในความสงบ
แต่ว่าผู้ที่มั่นคงจริงๆ จะรู้สึกตัวว่า ทำอย่างไรจึงจะละความพอใจในความสงบ ไม่ได้ต้องการความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิเลย ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นทันที นั่นเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ยากไหม ถ้าไม่รู้ ก็ต้องการความสงบอีกแล้ว แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ก็ไม่มีการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมจนกระทั่งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน จนดับกิเลสได้
ผู้ฟัง การทำทาน ผมเคยคิด คือ เคยสมทบเงินช่วยออกรายการ จิตคิดเคารพในพระธรรม พระธรรมนั้นมีประโยชน์ ต้องการเพื่อให้ตัวเราเองได้รับฟัง ได้รับประโยชน์ และคนอื่นก็ได้รับฟังด้วย ขณะที่กำลังคิดนั้น เพื่อเคารพธรรม แต่ยังมีอีกนิดหนึ่ง คือ ยังมีความหวังว่า ทำอย่างนี้จะได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ยังมีคิดอย่างนั้นอีก ความวิจิตรของจิตนี่มากมาย
สุ. ความคิดห้ามไม่ได้ แต่คิดแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นกุศลก็ได้ มีความปลาบปลื้มผ่องใสในกุศลที่ได้กระทำแล้ว และก็รู้อานิสงส์ด้วยว่าจะให้ผลทำให้เกิดเป็นเทวดา แต่คิดที่เป็นอกุศลนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ มีความยินดีต้องการที่จะเกิดที่นั่น มีความพอใจ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นผลของกุศลที่จะเป็นอย่างนั้น นั่นเป็นความเห็นถูก
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมของจิตในขณะนั้นว่า เป็นความติดข้อง เป็นความพอใจที่เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นความปลาบปลื้มโสมนัสในกุศล จิตผ่องใสปราศจากโลภะ ในขณะนั้นก็เป็นกุศล
ผู้ฟัง คนส่วนมากทำบุญ หรือทำทานแล้ว รักษาศีลแล้ว ต้องการผลทั้งนั้น อย่างผมบางครั้งให้ทานแล้ว ก็ปรารถนาผลบุญอันนี้ ขอให้มีปัญญารู้ทั่วถึงธรรม รู้ทั่วถึงนามรูป ผมก็ปรารถนาอยู่ทุกวัน ต้องการอยู่อย่างนี้ ซึ่งปกติธรรมดาแล้ว คนเราสร้างกุศลจะต้องได้รับผลของกุศล แต่ผลนี้แทนที่จะให้เราได้รับรูป รส กลิ่น เสียง หรือภพภูมิที่ดี ผมไม่ต้องการอย่างนั้น ขอเป็นสติปัญญาเท่านั้น
สุ. ถ้าระลึกรู้ทันทีก็ไม่ต้องขอ ไม่ต้องหวัง เพราะผลมีทันที คือ น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่จะเพิ่มความรู้ขึ้น
ผู้ฟัง พูดถึงคำว่า ระลึก ก็เพียรระลึกอยู่ บางทีระลึกแล้วตัวตนก็เกิดแทรก บางครั้งระลึกแล้วไม่รู้เลย บางครั้งก็รู้ภาวะของนามและรูปได้ ก็เพียรระลึกอยู่ แต่เป็นตัวตนเสียเป็นส่วนมาก รู้ว่าสติและปัญญามีประโยชน์มาก จึงไม่ขออะไรทั้งสิ้นนอกจากสติและปัญญาที่รู้ทั่วถึงไตรลักษณ์ของนามรูป
สุ. ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลจิต ไม่ใช่เป็นความติดข้องต้องการ ก็น่าอนุโมทนา
เป็นกุศลก็ได้ เป็นโลภมูลจิตก็ได้ ใครรู้ สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ขณะนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และดับไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คนอื่นจะรู้ได้ หรือแม้แต่ตัวเองที่จะคิดพิจารณา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นขณะที่สติกำลังระลึกจริงๆ เป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจึงจะรู้ชัดว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล