แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 836

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการตรงต่อสภาพธรรม เพราะปัญญารู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นถูกต้อง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เพราะสติระลึกทันทีในขณะนั้น และปัญญาอบรมเจริญจนกระทั่งรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

สติปัฏฐานจะเกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพที่กำลังคิดอย่างนั้นก็ได้ แล้วแต่ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใด สติปัฏฐานก็สามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และปัญญาก็ค่อยๆ เริ่มเกิดน้อมไปที่จะรู้สภาพที่แท้จริงของธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นลักษณะของนามธรรม หรือเป็นลักษณะของรูปธรรม เป็นปกติ

ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้เกี่ยวกับการบวช ซึ่งที่จริงแล้วการเจริญ สติปัฏฐานไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิตก็ได้ทั้งนั้น แต่ในพระไตรปิฎกเขาชักชวนให้บวชจริงๆ ผมมีเพื่อนซึ่งปกติเขากินเหล้าเมายา คบเพื่อนเที่ยวเตร่ เขาบวชที่แก่งคอยมา ๓ ปีแล้ว ผมไปเยี่ยมและถามถึงข้อปฏิบัติ เขาบอกว่า มี ๙ หรือ ๔ ข้อ จำไม่ได้ เช่น ให้รับสัจจะ ถ้าพูดว่าทำ ก็ต้องทำ พูดว่าเลิกเหล้า ก็ต้องเลิกจริงๆ อาจารย์ที่เป็นพระสอนให้นั่งสมาธิ ดูธูป และระลึกถึงสังขารของตัวเอง

สุ. ท่านผู้ฟังคิดถึงอนาคตมาก ใช่ไหม อยากจะบวช และคิดถึงอดีตที่ไปหาเพื่อน ได้ยินได้ฟังอะไรมา เดี๋ยวก็นึกถึงอนาคต พออ่านพระไตรปิฎก ก็อยากจะบวชอีก ก็เป็นเรื่องของอนาคตส่วนมาก และเดี๋ยวนี้ล่ะ เสียดาย คิดถึงอดีตอีกแล้วที่เคยพบกันเคยคุยกัน และก็เกิดความเสียดาย ก็เป็นเรื่องอดีตบ้าง อนาคตบ้าง และขณะนี้ ปัจจุบันนี้ล่ะ

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความคิดและความหวัง ถึงจะเป็นเรื่องของกุศลจิต ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น เช่น การบวช จะคิดอีก พรุ่งนี้ก็คิด เดือนหน้าก็คิด ปีหน้าก็คิด ก็ยังคงเป็นเรื่องของอนาคต เพราะยังไม่ได้บวช แต่ว่าขณะนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ ใช่ไหม เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แทนที่จะคิดเรื่องอยากจะบวช ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ต่างกันกับตอนที่บวชแล้ว หรือว่ายังไม่ได้บวช ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ต้องทราบว่า จิตคิดถึงอนาคตโดยที่ว่าหลงลืมปัจจุบัน เพื่อที่จะได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เพียงชั่วขณะเดียวก็มีประโยชน์มาก เพราะการที่ปัญญาจะเจริญก็เมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แม้แต่การคิดในขณะนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

ถ. สติที่เกิดจากการสำรวมอินทรีย์ กับสติที่เกิดโดยไม่ได้สำรวมมาก่อน ต่างกันอย่างไร

สุ. สติมีหลายขั้น

ถ. การสำรวมอินทรีย์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นไปในสติปัฏฐานเช่นกัน

สุ. ตามพระวินัยบัญญัติก็ส่วนหนึ่ง

ถ. จะไม่เป็นการบังคับสติ หรือไม่เป็นตัวตนหรือ

สุ. ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดขณะใด ก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แต่ก็เป็นกุศล ทางตาก็รู้ว่า ควรที่จะมองอะไร ขณะไหน อย่างไร ไม่ปล่อยจิตให้เพลิดเพลินไปอย่างไร ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นมีสติ แต่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็มีการสำรวมสังวรเป็นขั้นๆ

ถ. สำรวมในศีล คือ ระวังอย่าให้ล่วงศีล พอจะเข้าใจ แต่สำรวมที่เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ผมยังแคลงใจอยู่

สุ. ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่เกิดอกุศลจิต จะไม่ชื่อว่าสำรวมหรือ และสำรวมละเอียดกว่า เพราะสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นด้วย ละเอียดกว่าสำรวมขั้นศีล สติเกิด ยับยั้งอกุศล แล้วแต่จะเป็นขั้นใด ขั้นศีล หรือปาติโมกข์ ก็เป็นตามพระวินัยบัญญัติ

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ไม่ใช่บังคับ ขณะที่กำลังสำรวมตามพระวินัยบัญญัติ สติปัฏฐานระลึกรู้ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เคยวิรัติวจีทุจริตไหม ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า ไม่เกิด ก็เป็นการสำรวมขั้นศีลที่จะไม่กล่าววาจาทุจริต แต่ว่าสติปัฏฐานละเอียดกว่านั้น เพราะรู้ลักษณะสภาพของการวิรัติในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจึงวิรัติ ไม่ใช่เราเว้น ถ้าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วต้องดับไปทั้งนั้น คำว่า ไตรลักษณ์ หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

รู้ได้ แต่ยาก ทันทีคงไม่ได้ ต้องรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือว่าเป็นรูปธรรมเสียก่อนจนกระทั่งชิน ขณะนี้ชินหรือยัง ทางตายังไม่ทั่ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงมีหลายขั้น และวิปัสสนาญาณก็มีหลายขั้นตามความสมบูรณ์ของปัญญาแต่ละขั้น ซึ่งในขั้นต้นไม่ใช่การประจักษ์การ เกิดดับ

สำหรับอารมณ์ของสมถภาวนา ๔๐ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ และสำหรับอนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ ก็ได้กล่าวถึงแล้ว ต่อไปก็เป็น มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตาย เป็นอารมณ์หนึ่งที่จะทำให้จิตสงบ

กุศลจิตเกิดได้ถ้ามนสิการ หรือพิจารณาความตายด้วยความแยบคาย แต่ไม่ใช่หมายความว่า ใครก็ตามที่ระลึกถึงความตายแล้วสงบ เป็นไปไม่ได้ จิตที่จะสงบได้ จะต้องประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่า ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่ควรที่จะมีความยินดี มีความติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในตัวตน หรือในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ ในวัตถุซึ่งเป็นที่รัก ที่พอใจ เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นของเราอย่างแท้จริง แม้แต่สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนของเราก็ไม่เที่ยง อยู่ได้เพียงแค่อายุซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้

บางท่านอาจจะสิ้นชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยที่ยังเป็นเพียงกลละ คือ ก้อนของรูปซึ่งยังไม่ครบส่วนต่างๆ แต่ว่าเมื่อมีปฏิสนธิแล้ว ก็สามารถที่จะมีการตายหรือจุติได้ ไม่ว่าจะในระยะเวลายาวสั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทุกคนไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตของท่านจะยาวหรือจะสั้นแค่ไหน

สำหรับท่านที่ระลึกถึงความตายแล้วกลัว ขณะนั้นไม่ใช่มรณสติ เพราะสติไม่เกิดในขณะที่ระลึกถึงความตาย ด้วยเหตุนี้เมื่อคิดถึงแล้วจึงกลัว แต่ถ้าระลึกด้วยปัญญาที่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ความไม่เที่ยง การกลัวความตายก็จะน้อยลง แต่ว่าต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยด้วย

ทุกคนตอนที่เป็นเด็ก ไม่มีใครที่ไม่กลัวความตาย เด็กทุกคนกลัว บางคนก็คิดว่า ถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไร ก็อยากจะหนีไปให้สุดขอบโลกถ้าสามารถจะเป็นไปได้ แต่เมื่อโตขึ้นก็เห็นว่า ความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ต้องมีการตาย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่การอบรมเจริญปัญญาของแต่ละท่านที่จะรู้ว่า ท่านมีการระลึกถึงความตายบ่อยๆ เนืองๆ จนรู้ความจริง จนสามารถที่จะหวั่นไหวน้อยลง ไม่มีการหวาดกลัวความตายเหมือนตอนที่ยังเป็นเด็กหรือตอนที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาแล้วหรือยัง

สำหรับท่านที่กลัว ท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วที่ท่านกลัวความตายนี้ ท่านกลัวอะไร ซึ่งส่วนมากแล้ว กลัวการพลัดพรากจากความเป็นบุคคลนี้ และจากทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นที่รักเป็นที่พอใจที่ท่านยึดถือ ยึดมั่น เกี่ยวข้องในชีวิตนี้ นอกจากนั้น ยังกลัวความเจ็บ ความปวด ความทรมานต่างๆ ก่อนที่จะตาย ซึ่งบางท่านอาจจะกลัวมากกว่าความตายจริงๆ

สรุปแล้วก็คือ กลัวประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก เช่น ความทุกข์ ความทรมานก่อนที่จะตาย หรือว่ากลัวการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก คือ จากการเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ภพนี้ กลัวการที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่รักที่พอใจและบุคคลซึ่งเป็นที่รักที่พอใจ แต่ให้ทราบว่า ถึงจะกลัวแค่ไหน ก็ไม่พ้น

เพราะฉะนั้น แทนที่จะกลัว ก็นึกถึงบ่อยๆ ว่า วันหนึ่งต้องจาก ต้องพลัดพราก ต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน ก็จะทำให้รู้สึกชินขึ้นกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว เป็นการพลัดพรากอยู่ทุกขณะ ขณะเมื่อครู่นี้ก็เป็นขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ซึ่งจะไม่กลับมาอีก และสำหรับภพนี้ชาตินี้ ก็เป็นแต่เพียงชาติหนึ่งที่มีการเห็น การได้ยินอยู่ในโลกมนุษย์นี้ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งต่อไปก็ไม่ทราบว่าจะเป็นบุคคลไหน เกิดในภพไหน ในโลกไหน แต่ที่จะไม่เกิดอีกนั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น น่ากลัวไหม ความตาย

เพียงแต่เป็นการย้าย หรือเปลี่ยนจากการเป็นบุคคลที่เคยเป็นในชาตินี้ เป็นบุคคลใหม่อีกบุคคลหนึ่งในภพหน้า ในชาติหน้า แล้วแต่ว่าบุญกรรม หรือว่าบาปกรรมจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิไหน มีกำเนิดอย่างไร มีชาติ มีตระกูล มีลาภ มียศ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายต่างๆ แต่ไม่ผิดจากชาตินี้ เพราะยังจะต้องเป็นเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และการรู้อารมณ์ต่างๆ การคิดนึกทางใจนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ชาติหน้าก็ไม่ต่างอะไรกับชาตินี้ ท่านซึ่งมีบุคคลเป็นที่รัก และวัตถุซึ่งเป็นที่รักในชาตินี้ ชาติหน้าท่านก็มีใหม่ เป็นบุคคลใหม่ มีบุคคลซึ่งเป็นที่รักใหม่ และมีวัตถุซึ่งเป็นที่ยินดีที่พอใจใหม่ ดูแล้วก็เหมือนว่า ไม่สูญเสียอะไร แต่ถึงอย่างนั้น การติดในความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ก็มาก จนกระทั่งทำให้ท่านหวั่นกลัว และไม่พอใจเลยที่จะพลัดพราก หรือว่าสูญเสียความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ไป

เสียดายไหม การที่จะเป็นบุคคลนี้ หรือว่าพร้อม ขณะไหนก็ได้ที่จะเป็นบุคคลอื่นตามบุญกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นใคร เพราะฉะนั้น ต้องเร่งประกอบกรรมดี นี่คือจุดประสงค์ของการที่ระลึกถึงความตาย

สำหรับเรื่องของการกลัวความตาย และไม่กลัวความตาย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในปัจจุบันนี้ หรือในยุคนี้เท่านั้น ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๔ มีเรื่องของบุคคลที่กลัวความตายและไม่กลัวตาย ซึ่งมีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร พราหมณ์ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่ สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย มีอยู่

ดูกร พราหมณ์ ก็สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กามอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะต้องละกามอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ย่อมถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ

จริงไหม ลองนึกถึงความตายเดี๋ยวนี้ กลัวอะไร

เวลาที่นึกถึงการที่จะต้องพลัดพรากจากบุคคลซึ่งเป็นที่รัก หรือว่าทรัพย์สมบัติที่เป็นที่พอใจ ทำให้ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น ใช่ไหม นั่นคือ อาการที่กลัวตาย

กลัวเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น มรณสติทั้งหมด เป็นอารมณ์ซึ่งจะทำให้จิตสงบเป็นกุศล ถ้ารู้ว่ากลัวอบายภูมิ ก็ต้องอบรมเจริญกุศล และจิตจะสงบจากความกลัว

ประการต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์แม้ บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ

ในข้อต้น เป็นห่วงกลัวที่จะต้องพลัดพรากจากกามซึ่งเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทรัพย์สมบัติ สิ่งของ หรือว่าญาติมิตรบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นที่รัก แต่ว่าอีกบุคคลหนึ่ง มีความติด ความห่วงใยในกายอันเป็นที่รัก เบื่อหรือยังตัวอันนี้ ร่างกายอันนี้ หรือว่ายังพอใจอยู่ ยังไม่อยากจะเปลี่ยนเป็นกายอื่น ตัวอื่น บุคคลอื่นในภพอื่น ยังพอใจอยู่ใช่ไหมในบุคคลนี้ ในร่างกายนี้ ใครได้ร่างกายอย่างไร มีร่างกายอย่างไร ก็พอใจในร่างกายนี้ ไม่ต้องการที่จะให้สูญไป หรือว่าเสียกายนี้ไป

ประการต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

อีกประการหนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขา เมื่อเขามีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง ดูกร ผู้เจริญ คติของคนไม่ได้ทำความดี ไม่ได้ทำกุศล ไม่ได้ทำความป้องกันความกลัว ทำแต่บาป ทำแต่กรรมที่หยาบช้า ทำแต่กรรมที่เศร้าหมอง มีประมาณเท่าใด เราละไปแล้วย่อมไปสู่คตินั้น เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ย่อมร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญถึงความหลงใหล ดูกร พราหมณ์ แม้บุคคลนี้แล ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมกลัว ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ

กลัวอบายเพราะอะไร

ผู้ฟัง ผมกลัวอบาย เพราะผู้ที่บำเพ็ญพุทธภูมิ ที่มาตรัสรู้นี้ ขนาดสั่งสมกุศลมามากสักแค่ไหน ก็ยังเวียนตาย เวียนเกิด พลาดพลั้งไปสู่อบาย แล้วตัวเราเล่า ปัญญาบารมีก็ไม่ค่อยมี มีน้อยมาก เราหรือจะไม่ต้องไปอบาย ก็ต้องไปแน่นอน คิดแล้วก็เศร้าโศก เศร้าหมองทุกครั้ง

สุ. เป็นอกุศล ขณะนั้น

ผู้ฟัง กลัวจริงๆ ด้วย พลัดพรากจากสมบัติ รูป รส กลิ่น เสียง ผมไม่หวั่นไหว หวั่นไหวอยู่อย่างเดียว ดูอย่างพระโพธิสัตว์ เท่าที่ผมอ่านในพระไตรปิฎก ไปอบาย ไปเกิดเป็นช้างบ้าง ลิงบ้าง นกบ้าง บารมีของท่านแค่ไหน ลองคิดดู ยังพลั้งไปได้ แล้วอย่างเรา เป็นสิ่งที่แน่ๆ อยู่แล้ว จะพ้นไปได้อย่างไร รู้อย่างนี้แล้ว ผมเศร้าจริงๆ

เปิด  227
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565