แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 839

ถ. มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง หมายถึงเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวเท่านั้น

สุ. เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาประกอบไปด้วย ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อุตติยสูตร ข้อ ๗๕๐ สาวัตถีนิทาน มีข้อความว่า

ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อุตติยะ เพราะฉะนั้น เธอจงชำระเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์เสียก่อน ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรม คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นอันตรง.

ดูกร อุตติยะ เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ …

เข้าใจว่าอย่างไรตอนนี้ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ควรพิจารณาโดยรอบคอบ โดยถี่ถ้วนจริงๆ

ถ. ตามพยัญชนะที่อาจารย์กล่าวมา ก็หมายความว่า ก่อนที่จะเจริญ สติปัฏฐาน จะต้องชำระศีลให้ดี และทำความเห็นให้ตรงก่อน อย่างนั้นหรือ

สุ. ถ้าฟังแล้วคิดอย่างนี้ จะต้องทราบว่า ทำอย่างไรศีลจึงจะดี จะชำระด้วยวิธีไหน

ถ. ก็น่าคิดอยู่ ถ้าศีลดี ก็หมายถึงศีลไม่ขาดนั่นเอง

สุ. ที่ว่าศีลดีนี้ หรือชำระศีลให้บริสุทธิ์นี้ ท่านผู้ฟังลองคิดดูว่า ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ ศีลนั้นจะชำระให้ดี ให้บริสุทธิ์ได้ไหม และต้องประกอบด้วยความเห็นอันตรงด้วย

สำหรับผู้ที่ขาดสติ ย่อมล่วงศีล แต่ว่าเมื่อนึกได้ขณะใด เป็นสติ เป็นกุศลธรรมที่ระลึกได้ และถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน การระลึกในศีลที่ขาดไปหรือว่าในขณะที่ล่วงศีล ย่อมมีได้รวดเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่แม้ว่าเป็นผู้ที่มีสติปัฏฐาน ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ล่วงศีลตาม พระวินัยบัญญัติได้ แต่ว่าผู้ใดจะรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าตนเองล่วงและเห็นตามความเป็นจริงด้วยว่า ได้ล่วงศีลข้อใดไปแล้วตามความเป็นจริง ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีปกติมีสติ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมทำให้รู้ได้ชัดในขณะที่ศีลไม่บริสุทธิ์ แม้ในขณะที่อกุศลจิตกำลังเกิดขึ้น ในขณะนั้น ไม่ใช่ในภายหลัง แต่ว่าสำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะระลึกถึงการขาดศีลก็ต่อเมื่อได้ล่วงศีลไปแล้วเป็นเวลานาน แต่สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่อกุศลจิตกำลังเกิดขึ้นปรากฏ สติที่ระลึกรู้ในขณะนั้น ย่อมชัด ย่อมละเอียด และย่อมเป็นปัจจัยให้ศีลนั้นบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

และไม่ใช่ว่าเมื่อศีลนั้น มีสติที่ระลึกรู้ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ในขณะนั้นตรงตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่มีความเห็นอันตรงแล้ว ผู้นั้นจะหยุดเจริญสติปัฏฐาน เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อใดแล ศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง อย่าลืม ต้องทั้งสองอย่าง คือ ทั้งศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง ซึ่งความเห็นจะตรงไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เมื่อนั้น เธอพึงอาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้ว เจริญสติปัฏฐาน ๔ เพราะฉะนั้น ไม่มีการหยุดที่จะเจริญสติปัฏฐานเลย

ข้อความต่อไปมีว่า

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ดูกร อุตติยะ เธอจงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อใดเธออาศัยศีล ตั้งมั่นในศีลแล้วจักเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อย่างนี้ เมื่อนั้น เธอจักไปพ้นฝั่งแห่งบ่วงมาร

ท่านผู้ฟัง ฟังดูรู้สึกว่า ซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ แต่ความหมาย ควรที่ท่านจะมั่นคงยิ่งขึ้นในอรรถที่ได้ยินได้ฟัง เช่น มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ขณะนี้สัมปชัญญะมีไหม สัมปชัญญะมีอย่างไร มีสัมปชัญญะ มีสติในขณะนี้ เพื่อกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ไม่ได้หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ลักษณะสภาพของจิต ถ้าเป็นอกุศลจิตเกิดปรากฏ ไม่ได้หวังจะให้เปลี่ยนเป็นความสงบ นั่นจึงจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เพราะความตาย มรณานุสสติ ไม่มีใครทราบจริงๆ ว่าจะมาถึงเมื่อไร สมมติว่า ท่านจะตายเดี๋ยวนี้ ซึ่งมีหลายท่านพยายามเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับขณะที่จะจุติว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าขณะนี้เองจะต้องตาย ท่านจะสงบ หรือท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ้าท่านยังต้องการจะสงบ ก็ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะมรณานุสสติไม่มีใครทราบว่าเมื่อไร เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกถึงความตายบ่อยๆ เนืองๆ จริงๆ ไม่ใช่เพื่อให้เศร้าโศก แต่เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นจุดประสงค์ที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดนึกอยากจะสงบ ขณะนั้นลืมมรณสติแล้วใช่ไหม คิดว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนาน เมื่อไรสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของกาย ก็รอไว้ทีหลัง ขณะนี้สงบเสียก่อน แต่ว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงโอวาทให้ภิกษุทั้งหลายไม่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน แม้เมื่อพระองค์ทรงพระประชวร ท่านพระอานนท์ไปเฝ้า ก็ทรงเตือนให้ภิกษุทั้งหลาย มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง คือ เจริญสติปัฏฐาน

ถ้าทุกคนระลึกถึงความตายอย่างถูกต้องจริงๆ จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ ถ้าคิดถึงความตาย ท่านอยากจะทำอะไรเวลานี้ อาจจะรีบไปทำกิจธุระทางโลกให้เสร็จ หรือว่าจะทำอะไร เพราะถึงแม้ว่าจะระลึกถึงความตาย ท่านก็ยังคิดว่ายังไม่เร็วถึงอย่างนี้ ไม่ใช่ในขณะนี้ หรือว่าไม่ใช่ในขณะต่อไป แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ระลึกถึงความตายซึ่งจะเกิดขึ้นในวันนี้ หรือว่าตอนเย็นนี้ หรือว่าชั่วขณะที่รับประทานอาหารเคี้ยวคำข้าว ๔ – ๕ คำ หรือว่าขณะที่กลืนกิน เป็นต้น คือ หมายความถึงว่าความตายนั้นอาจจะเกิดขึ้นในขณะไหนก็ได้ ซึ่งถ้าระลึกอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด

ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า

ครั้งนั้น ท่านพระอุตติยะชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ท่าน พระอุตติยะหลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนักก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี และท่านพระอุตติยะเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

ถ. ข้อความนี้ก็น่าคิดอยู่ ในพระไตรปิฎกจะมีข้อความอย่างนี้หลายแห่ง ภิกษุนั้น หลีกออกจากหมู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ ข้อความนี้คล้ายๆ กับว่า ผู้ที่จะเจริญสมณธรรม จะต้องหลีกออกจากหมู่ เป็นอย่างนี้ทุกทีใช่ไหม

สุ. เวลานี้ท่านอยู่ที่ไหน ข้อสำคัญที่สุด คือ ขณะนี้ ความตายเดี๋ยวนี้ ระลึกลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมที่กำลังปรากฏ สำหรับท่าน พระอุตติยะท่านจะไปไหน ท่านก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น ท่านไม่ต้องกลับบ้าน ท่านไม่ต้องไปตลาด ที่ของท่านอยู่ที่ไหน ท่านก็ไปสู่ที่นั่น นั่นเป็นเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสว่า ให้ไปเสียก่อน และจึงจะเจริญสติปัฏฐาน แม้ขณะที่ทรงโอวาทพระอุตติยะก็ไม่ได้บอกว่า ให้ไปแล้วเจริญ แต่ให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

อาจจะเป็นไปได้ไหม ที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะสิ้นชีวิตลงที่นี่

มรณานุสสติ จุดประสงค์ คือ เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเมื่อระลึกถึงความตาย อย่ารอ หรือว่าอย่าคิดที่จะไปที่อื่น แล้วแต่ว่าตัวท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม กำจัดอภิชฌา ไม่ได้นึกถึงข้างหน้าเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏ ข้อสำคัญที่สุด ทำอย่างไรจึงจะละความหวัง ความพอใจในสิ่งที่ยังไม่เกิด แต่ต้องการให้เกิด

ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แทนที่จะหวัง หรือพอใจในสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทันที ไม่ต้องหวังสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฏ มีทางเดียว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที มิฉะนั้นแล้วจะไม่ชื่อว่ากำจัดอภิชฌา ยังมีอภิชฌาติดตามอยู่ เรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ตัวเลย

ถ. ข้อที่ว่า มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ดูคล้ายๆ กับว่า ถ้าเป็นทางโลก ก็มีความขยันหมั่นเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีใจแน่วแน่ที่จะเพียรทำงานให้สำเร็จเรียบร้อย ทีนี้ทางธรรม คือ มีความเด็ดเดี่ยว ตั้งหน้าตั้งตาเพียรเจริญสติปัฏฐานอยู่อย่างเดียว เป็นอย่างนี้ใช่ไหม

สุ. ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ แล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ถ. ข้อความนี้สำคัญจริงๆ ถ้าเข้าใจผิดแล้วจะยุ่งยาก

สุ. ท่านผู้ฟังมีใจเด็ดเดี่ยวที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ โดยไม่ต้องการสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้น นี่จึงจะเป็นผู้ที่มีใจเด็ดเดี่ยว

อะไรกำลังปรากฏ มีใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ร่าเริง ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงละอภิชฌา ต้องเข้าใจความหมายจริงๆ ของคำว่า เด็ดเดี่ยว อาจหาญ ร่าเริง คือ เป็นผู้ที่มั่นคงที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นแหละชื่อว่า ใจเด็ดเดี่ยว เพราะไม่ได้ต้องการอย่างอื่น ไม่รอ ไม่คอย เด็ดเดี่ยวไหมเวลานี้

ไม่ต้องการความสงบ ไม่หวังที่จะให้ความสงบมั่นคงขึ้น และเวลาที่อกุศลจิตเกิด ก็ไม่ได้ต้องการเพียงสงบ ถ้าต้องการอย่างนั้น ขณะนั้นไม่เด็ดเดี่ยว ไม่มั่นคง ไม่อาจหาญ ไม่ร่าเริง

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาความเข้าใจและความมั่นคงในการเป็นผู้ที่ มีปกติเจริญสติปัฏฐานของท่านได้ด้วยตัวของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้เด็ดเดี่ยวหรือไม่ คือ ไม่หวังอย่างอื่น นอกจากมั่นคงจริงๆ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดทั้งสิ้น นั่นคือเด็ดเดี่ยว

ไม่ใช่เด็ดเดี่ยวด้วยความเป็นตัวตน ตั้งใจ พากเพียรที่จะให้บรรลุมรรคผล ในคืนนี้ ในวันนี้ โดยที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ถ. ในยุคนี้เราเป็นผู้ที่มีปัญญายังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ก็ใช้ความเพียรในการระลึกสภาพธรรม

สุ. ก่อนที่จะเป็นท่านพระอุตติยะในชาตินั้น ก่อนชาตินั้น ความเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวของท่านเป็นอย่างไร ในชาติก่อนๆ ก่อนที่จะได้บรรลุอรหัตตผล

ท่านก็ต้องเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยว ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งในชาติก่อนนั้นยังไม่พร้อมที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ต้องมีใจเด็ดเดี่ยวแล้วที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ใช่ไหม

ก่อนที่จะเป็นท่านพระอุตติยะในภพชาติที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ชาติ ก่อนๆ ท่านได้สะสมปัญญาบารมีและสติปัฏฐานหรือเปล่า และชาติก่อนๆ ที่ท่านได้สะสมปัญญาบารมี เจริญสติปัฏฐาน มีใจเด็ดเดี่ยวที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ในชาติสุดท้าย ความหมายของใจเด็ดเดี่ยวก็ไม่ต่างกัน คือ เป็นผู้ที่เด็ดเดี่ยวที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเมื่อได้อบรมปัญญาบารมีพร้อมที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ก็บรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ แต่ใจเด็ดเดี่ยว อาจหาญ ร่าเริง ต้องเหมือนกัน คือ ระลึกลักษณะ ของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. ต่างกันที่ว่า ของเราเป็นตัวตนเสียเป็นส่วนใหญ่

สุ. แต่ท่านผู้ฟังก็เคยคิดว่า ท่านเด็ดเดี่ยวมาก พากเพียรที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยหวังที่จะได้ผล ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เด็ดเดี่ยว เพราะเป็นไปกับความหวัง

แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องละ อย่าลืม การเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องละอภิชฌาและโทมนัส ตั้งต้นด้วยการละ และปัญญาก็รู้ลักษณะของสภาพธรรม และละคลายเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยตามความรู้ที่เกิดขึ้น แต่ต้องเป็นเรื่องละ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเรื่องละนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ก็ยิ่งมีใจเด็ดเดี่ยว คือ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่หวัง แต่ถ้ายังหวังตราบใด ขณะนั้นไม่เด็ดเดี่ยวแล้ว เป็นไปกับความหวังแล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านพระอุตติยะก่อนที่จะถึงชาติที่ท่านจะบรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ ท่านต้องมีใจเด็ดเดี่ยวพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ละภพ แต่ละชาติ ไปจนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย เมื่อใจของท่านเด็ดเดี่ยวที่จะพิจารณาลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่ได้อบรมมา อินทรีย์ทั้งหมดที่ได้อบรมมา ก็พร้อมที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

การบรรลุคุณธรรม ขึ้นอยู่กับสติปัญญา อินทรีย์ที่ได้เจริอบรม พร้อมกับการเด็ดเดี่ยว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที โดยไม่หวังอะไร

ถ. ส่วนมากจะเป็นตัวตนเสียเป็นส่วนใหญ่

สุ. แต่ว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเริ่มต้นด้วยการละ อย่าหวังอะไร พิจารณาอบรมเจริญปัญญา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น วันหนึ่งย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

ถ. ข้องใจอยู่ที่ว่า ทำไมอยู่แต่ผู้เดียว

สุ. ความหมายของอยู่ผู้เดียวได้เคยกล่าวถึงแล้วในพระสูตร นั่งอยู่คนเดียว แต่ใจคิดถึงคนโน้น คนนี้ คิดถึงอีกคนหนึ่งก็ ๒ คน คิดถึงอีกคนหนึ่งก็ ๓ คน คิดถึงได้ ๔ คน ๕ คน ๑๐๐ คน ๑,๐๐๐ คน ถึงอยู่คนเดียวก็ไม่ชื่อว่าอยู่ผู้เดียว เพราะอยู่กับบุคคลตั้งหลายคนในความคิด แต่ขณะนี้ท่านผู้ฟังสามารถที่จะอยู่ผู้เดียวได้ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญารู้ชัดว่า ไม่มีใครเลย เป็นแต่สภาพธรรมที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครเลยทั้งสิ้นในที่นี่ นั่นคือ อยู่ผู้เดียวจริงๆ

ถ. ขอตัวอย่าง กาย เวทนา จิต ธรรม ที่กำลังปรากฏ

สุ. ขณะนี้มีกายไหม

ถ. ขณะนี้ กายมี

สุ. สติระลึกที่กาย

ถ. เวลานี้หรือ ระลึกแล้ว

สุ. อะไรปรากฏที่กาย

ถ. ไม่ทราบ ยังเป็นนักเรียนใหม่

สุ. บอกว่ามีกายใช่ไหม

ถ. กาย เวทนา จิต ธรรม

สุ. ขณะนี้มีกาย ระลึกที่กายว่า มีลักษณะสภาพธรรมอะไรปรากฏที่กายที่ว่ามี เมื่อมี ก็ต้องมีของจริงที่มีลักษณะ จึงจะกล่าวได้ว่ามี

ถ. ทุกวันนี้คนเราไม่ได้อยู่ในความจริง อยู่ในความหลอกลวง ผมก็เห็นว่าเป็นกาย รูปร่างเป็นคน เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย จะให้รู้ละเอียดอย่างพระอภิธรรม ยังรู้ไม่ได้ เพราะว่ายังไม่รู้

เปิด  217
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565