แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 850

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ คำว่า ฝั่งนี้ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ คำว่า ฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖

พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น แสดงให้เห็นว่า ฝั่งนี้ หมายความถึงอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งทุกท่านกำลังมีในขณะนี้

คำว่า ฝั่งโน้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ รูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่ปรากฏทางกาย และสภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน มีใครพ้นจากฝั่งนี้และฝั่งโน้นบ้างไหม

ถ้าจะเปรียบตัวท่านเสมือนท่อนไม้ที่ลอยอยู่ในสมุทร ลอยอยู่ในแม่น้ำ ไม่มีการที่จะพ้นไปจากฝั่งนี้และฝั่งโน้น คือ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน เดี๋ยวได้กลิ่น เดี๋ยวลิ้มรส เดี๋ยวรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เดี๋ยวคิดนึก วันหนึ่งๆ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ นี่คือ ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ซึ่งถ้าตัวท่านอุปมาเหมือนกับท่อนไม้ ก็จะเข้าใกล้ฝั่งนี้และฝั่งโน้นอยู่ตลอดเวลา

คำว่า จมในท่ามกลาง เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ

ความยินดีพอใจ มีใครที่พ้นแล้วจากความยินดีพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ยังติดอยู่ จมอยู่ในท่ามกลางของมหาสมุทร

คำว่า เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

อัสมิมานะ คือ ความสำคัญว่าเป็นเรา วันหนึ่งๆ มีจริงๆ หรือเปล่า อัสมิมานะ ท่านไม่เคยที่จะคิดถึงคนอื่น เป็นไปได้ไหม หรือว่าไม่เคยคิดสำคัญในตนเอง เป็นไปได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องสักการะ เรื่องสรรเสริญ ทำไมจึงต้องการ ถ้าไม่เห็นผิดว่าเป็นเราซึ่งควรจะต้องมีลาภอย่างบุคคลอื่นมี หรือว่า มียศอย่างบุคคลอื่นมี หรือว่ามีสักการะ การเคารพ นบไหว้ อย่างคนอื่นได้รับ หรือว่าเป็นการสรรเสริญอย่างที่คนอื่นได้รับ เพราะฉะนั้น การสำคัญในตนจะทำให้ท่านมีความติด มีความพอใจอย่างมากในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสักการะ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า คำว่า เกยบก เป็นชื่อแห่งอัสมิมานะ

ดูกร ภิกษุ ก็มนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า มนุษย์ผู้จับ

ชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ นี้ แม้ว่าจะพ้นจากเพศคฤหัสถ์ไปสู่ เพศบรรพชิตแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะตัดขาดจากคฤหัสถ์ ไม่มีการเห็น ไม่มีการเกี่ยวข้องด้วยเลย ถ้าตราบใดที่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ย่อมถึงการประกอบตนในกิจการอันบังเกิดขึ้นแล้วของเขา ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า มนุษย์ผู้จับ

เป็นชีวิตจริงๆ ทุกๆ วัน ซึ่งทุกท่านจะต้องพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขณะใดเป็นความสำคัญตนว่าเป็นเรา สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าตามความเป็นจริงแล้ว เป็นเราได้ไหม เป็นเพียงสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นเพียงธาตุรู้เสียงที่กำลังปรากฏ

ถ้าจะคิดนึกถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือว่าจะคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเพียงสภาพที่คิดนึกเท่านั้น ในขณะนั้นไม่เป็นเรา ไม่ใช่อัสมิมานะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้รู้ความจริงของกุศลเป็นกุศล และอกุศลเป็นอกุศล และอกุศลแต่ละลักษณะก็เป็นสภาพของอกุศลธรรมแต่ละลักษณะ

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ อมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน

ที่จะไม่ถูกอกุศลธรรมครอบงำนั้นยากนัก ไม่อย่างนี้ ก็ต้องอย่างโน้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ อมนุษย์ผู้จับเป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า อมนุษย์ผู้จับ

พ้นจากโลกนี้แล้ว ก็ยังติดตามคิดไปถึงภพหน้า ชาติหน้า ตามข้อความที่ว่า ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักได้เป็นเทวดาหรือเทพยเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง

ยังเป็นเรา หรือว่าเราเป็น ไม่ใช่ลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ คำว่า เกลียวน้ำวนๆ ไว้ เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ดูกร ภิกษุ ความเป็นของเน่าในภายใน เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าในภายใน มีใจชุ่มด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย ดูกร ภิกษุ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้เน่าในภายใน ฯ

ก็โดยสมัยนั้นแล นายนันทโคบาลยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้นแล นายนันทโคบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เข้าใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่ติดบนบก ไม่ถูกมนุษย์จับ ไม่ถูกอมนุษย์จับ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร นันทะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงมอบโคให้เจ้าของเถิด ฯ

นายนันทโคบาลกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โคที่ติดลูกจักไปเอง ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ท่านจงมอบโคให้แก่เจ้าของเถิด นันทะ ฯ

ครั้งนั้นแล นายนันทโคบาลมอบโคให้แก่เจ้าของแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มอบโคให้เจ้าของแล้ว ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค

นายนันทโคบาลได้บรรพชาอุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็แลท่านพระนันทะอุปสมบทแล้วไม่นาน เป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็ท่านพระนันทะได้เป็น พระอรหันต์องค์หนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

จบ สูตรที่ ๔

ท่านผู้ฟังคงปรารถนาว่า เมื่อไรจะเป็นอย่างนายนันทโคบาล เพียงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจ และมีศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่จะไม่ติดฝั่งข้างโน้นและฝั่งข้างนี้ จนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้าในอดีตอนันตชาติของนาย นันทโคบาลไม่เคยฟังพระธรรมเลย ไม่เคยอบรมเจริญสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมาก่อน ก็ย่อมจะไม่ถึงวันนั้น ที่จะเป็นนายนันทโคบาล ซึ่งชีวิตประจำวันก็คือเป็นคนเลี้ยงโค แต่ว่าได้อบรมเจริญปัญญามาที่จะเข้าใจในขณะที่ได้ฟังธรรม และเห็นคุณค่าของการที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

ถึงแม้ว่าในชาตินี้ยังไม่ใช่นายนันทโคบาล หรือว่ายังไม่สามารถที่จะเป็นอย่างนายนันทโคบาล แต่ก็สามารถที่จะอบรมเจริญสติและปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะชิน จนกว่าจะชำนาญ จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในวันหนึ่ง ซึ่งจะต้องอาศัยชีวิตตามปกติตามความเป็นจริงแต่ละขณะนี่เอง

สภาพธรรมทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้ ไม่ว่าจะเป็นในพระสูตรไหน หรือว่าใน พระวินัยปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้เลย แต่สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น จนกระทั่งประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้

ท่านผู้ฟังเคยตั้งใจจะทำอะไรไหม ก็คงจะมีบ่อยๆ ทั้งความตั้งใจที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ในขณะที่ศึกษาปรมัตถธรรมก็ทราบว่า เป็นเจตนาเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะตั้งใจ จงใจ ขณะนั้นที่ศึกษาปรมัตถธรรมทราบว่า เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็นเจตนาเจตสิก แต่นั่นก็ยังไกล ใช่ไหม เพราะเป็นเพียงสภาพธรรมที่ได้ศึกษา ได้เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น ตามตำราที่อ่าน หรือในขณะที่ฟัง

แต่ในขณะนี้ ความตั้งใจก็มี เจตนา ความจงใจก็มี และก็มีสภาพธรรมอื่นๆ อีกที่ทรงแสดงไว้ แต่ถ้าสติยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ขณะนั้นจะมีความรู้สึกว่า เป็นเราตั้งใจ เป็นเราคิด เป็นเราจงใจ แม้ว่าจะได้ศึกษาปรมัตถธรรมว่าเป็นเจตนาเจตสิก

เวลาฟัง เข้าใจว่าเป็นเจตนาเจตสิก แต่เวลาที่สภาพของเจตนากำลังเกิดขึ้นกระทำกิจตั้งใจหรือจงใจ สติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพที่กำลังจงใจ ตั้งใจในขณะนั้น ลืมแล้วว่า เป็นเจตนาเจตสิกตามที่ได้เคยฟังหรือว่าเคยศึกษา

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เข้าใจชัดเจนว่า สภาพธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดนั้น สามารถที่จะเป็นปัฏฐาน เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้จนกระทั่งปัญญาประจักษ์แจ้งว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

ข้อสำคัญ คือ อย่าไปอยู่ในโลกของความฝัน คือกระทำอย่างอื่นขึ้นรู้ แต่ต้องอยู่ในโลกของความจริงในขณะนี้แต่ละขณะ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน เป็นขณะที่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังมีแล้วในขณะนี้ ไม่ใช่พยายามที่จะให้สิ่งอื่นเกิดขึ้นต่อไป

อะไรกำลังมีอยู่ อะไรกำลังมีแล้ว อะไรกำลังปรากฏ นั่นเป็นสิ่งที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีแล้ว กำลังมีอยู่ กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ แต่ไม่ใช่คิดว่า ประเดี๋ยวจะสงบ

เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านผู้ฟังได้ฟังเรื่องของมรณานุสสติ และเข้าใจจริงๆ ว่า จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อเกื้อกูลให้พุทธบริษัทเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องของมรณานุสสติ คือ เป็นผู้ที่ระลึกถึงความตาย ก็ไม่ใช่ให้เพียงระลึกและเกิดความสงบ แต่ว่าให้ระลึกเพื่อสติจะได้เกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน ไม่ประมาท ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปฏิปทาสูตรที่ ๔ มีข้อความที่แสดงว่า ปฏิปทา คือ การดำเนิน เป็นหนทางตรงที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น มีหนทางเดียว คือ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อนาทิกะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมา ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนมีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ฯ

สำหรับข้อความต่อไปก็เป็นโดยนัยเดียวกัน คือ เมื่อกลางคืนนั้นสิ้นไปหมายความว่าชีวิตก็ปลอดภัยไปคืนหนึ่ง และกลางวันเวียนมาถึง ภิกษุนั้นก็ย่อมพิจารณาโดยนัยเดียวกัน

ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ

จบ สูตรที่ ๔

ผู้ที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่สงสัยเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาว่า จุดประสงค์สูงที่สุด คือ อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งใน วันหนึ่งๆ นั้น ย่อมมีทั้งการเห็นและการคิดถึงสิ่งที่เห็น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลอย่างไร สติและปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น

บางท่านก็คงจะคิดถึงความตาย ซึ่งจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อให้คิดต่อไปให้สงบ แต่เมื่อคิดแล้ว เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะยังมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพราะหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สงสัยและไม่สนใจที่จะไปทำให้จิตสงบขึ้นจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงว่า มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

เปิด  263
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565