แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 842

ถ. ธรรมเอกผุดขึ้น ธรรมเอกนั้นคืออะไร

สุ. สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

ถ. ถ้าพิจารณาอารมณ์ทางตา อารมณ์ทางตาเป็นธรรมเอกในขณะนั้นหรือ

สุ. ทีละอย่าง ปรากฏตามความเป็นจริง

ถ. การเจริญสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่าเป็นเกาะ แต่ผมคิดว่าการเจริญสมถภาวนาก็น่าจะเป็นเกาะได้

สุ. ถ้าเป็นได้ก็ทรงแสดงไว้ ใครจะรู้ดีกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะถึงแม้ว่าจะได้บรรลุถึงอรูปฌานก็ยังมีกิเลสที่จะทำให้เกิดในกามภูมิได้ จะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีสุข มีทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ จะเรียกว่าเป็นเกาะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ไม่ทำให้ถึงฝั่ง

ถ. เมื่อเจริญสมถภาวนา มีโอกาสที่จะเกิดในสุคติภูมิ ก็สามารถเจริญกุศลขั้นต่างๆ ได้อีก เพราะฉะนั้น การเจริญกุศลขั้นต่างๆ ก็น่าจะเป็นเกาะด้วย

สุ. เวลานี้อยู่ในกามสุคติภูมิ เป็นมนุษย์ซึ่งแสนที่จะเกิดยาก มีโอกาสที่จะเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งส่วนมากก็ยังเป็นอกุศลจิตอยู่ แต่เห็นโทษของอกุศลไหม และเห็นด้วยไหมว่าอกุศลมีกำลังมาก ทั้งๆ ที่มีโอกาสเจริญกุศลได้ แต่วันหนึ่งๆ อกุศลก็มีโอกาสเกิดมากกว่า

ถ. ด้วยเหตุนี้สมถะน่าจะเป็นเกาะ เพราะสมถะเป็นกุศลก็ยังดีกว่าให้จิตเป็นอกุศล สติปัฏฐานเกิดยากกว่าสมถะ เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด และสมถะก็ไม่เจริญ แทนที่จิตจะเป็นกุศลก็เป็นอกุศล การเจริญสมถะง่ายกว่าการเจริญสติปัฏฐาน เพราะสติขั้นสมถะเกิดง่ายกว่า สมมติว่าวันหนึ่งๆ ขับรถ รถติดบนถนน เราก็เจริญสมถะในขณะที่รถติด นึกไป ท่องไป ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด ท่องไปอย่างนั้น ขณะที่ท่องไปขณะนั้นจิตก็ยังเป็นกุศล แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเกิดนิดเดียว พิจารณาอารมณ์ทางใดทางหนึ่ง และก็หลงลืมไป ตั้งอยู่ไม่นาน แต่กุศลขั้น สมถภาวนาตั้งอยู่ได้นาน และท่องไปได้เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า สมถภาวนาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน แทนที่จิตจะเป็นอกุศลก็ให้เป็นกุศลยังดีกว่า

สุ. มีความพอใจในกุศล จะละความพอใจในกุศลนั้นได้เมื่อไร ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อไรจะถึง อยากจะถึง แต่บอกว่ายาก และก็ไม่อบรมด้วย เมื่อไหร่จะถึง

ถ้ารู้ว่ายาก ก็เริ่มอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นผู้ที่ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อมีเหตุสมควรแก่ผลแล้วย่อมสมหวัง คือ ถึง แต่นี่อยากจะถึง และบอกว่ายาก และแทนที่จะอบรมเจริญให้ง่ายขึ้น ก็กลับไม่อบรมเลย

ถ. ทุกวันนี้กลัวนรก เพราะฉะนั้น ต้องการกุศล กุศลไม่พาไปนรก ส่วนปัญญาที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจธรรมบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ยังไม่ได้หวัง กลัวแต่จะไปอบายเท่านั้น

สุ. เวลานี้ไม่ได้อยู่ในอบาย ไม่ต้องกลัว และที่อบายภูมิจะเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ได้ แต่ที่นี่เจริญได้ ขณะนี้กำลังอยู่ที่นี่ ยังไม่ต้องกลัวอบาย เพราะว่ายังอยู่ในภูมิที่ไม่ใช่อบาย ถ้ากลัวจริงๆ ทางเดียวที่จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน นั่นคือผู้ที่กลัวจริงๆ

ผู้ฟัง ผมก็กลัวนรกเหมือนกัน ยังศึกษาพระไตรปิฎกไม่ทั่ว ผู้ที่เจริญสมถะ หรือปรารถนาสมถะผมคิดว่า เป็นความปรารถนาที่ดีเหมือนกัน แต่เป็นการปรารถนาที่ถ้าเสื่อมเมื่อไรก็เป็นสิ่งที่ทารุณที่สุดในโลก เพราะผมอ่านพบในพระไตรปิฎก เพียรพยายามเจริญจนได้ฌาน ได้อภิญญา เจริญฤทธิ์อะไรก็ได้ แต่กามราคะเกิดขึ้นเท่านั้น ก็หมดสิ้นชั่วพริบตาเดียว อบรมมานานเท่าไร ผมคิดถึงตัวผมเอง ผมเป็นช่างเคยไปใส่กระจกให้เขา กระจกใหญ่มาก พยายามประคับประคองไปถึงที่ช่วยกันยก ใส่ไปใส่มากระจกแตก หมดอาลัยตายอยาก ทารุณใจเหลือเกิน และผู้ที่เจริญสมถะลองคิดดู ชั่วพริบตาเดียว พบสตรีงาม กามราคะเกิด หมด พังพินาศไม่มีอะไรเหลือ ทารุณ จริงๆ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นเลิศ

สุ. กุศลอื่นทั้งหลายที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าไม่ดี ดี แต่ว่าไม่ใช่เกาะ ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง เปรียบเสมือนกับเสบียงในการเดินทาง ถ้าท่านผู้ใดมีกุศลที่เป็นทานกุศล ศีลกุศล หรือว่าการอบรมเจริญความสงบของจิต ก็เป็นผู้ที่มีเสบียงในการเดินทางไกล ซึ่งท่านจะไม่หมดสิ้นการเดินทาง ยังจะต้องเดินไปอยู่เรื่อยๆ และทางนั้นก็ทุรกันดารด้วย ไม่ใช่ว่าจะประสบแต่สิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตั้งแต่เด็ก แต่ย่อมประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจด้วย มีเด็กคนไหนบ้างที่ประสบแต่สิ่งที่น่าพอใจตลอดชีวิต ไม่ประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจเลย นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ้าท่านต้องการจะเดินทางไกลที่ไม่รู้จักจบสิ้น ท่านไม่เจริญสติปัฏฐาน ท่านก็เจริญกุศลอื่นเพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางไกล แต่ยังจะต้องเดินไปเรื่อยๆ ไม่จบ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ว่าไม่ใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริง ถ้าเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงจะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่ชีวิตต้องประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ประสบกับเรื่องเศร้าโศก ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ธรรมใดจะเป็นเกาะ ธรรมใดจะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ถ้าขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะขจัดความโศกหรือความทุกข์ได้ทันทีชั่วในขณะนั้นเองที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น นี่เป็นความต่างกันระหว่างกุศลขั้นอื่นกับการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งยาก ไม่ใช่ไม่ยาก แต่เพราะยาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงโอวาท ทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้พุทธบริษัทเริ่มอบรมเจริญเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเป็นผู้ที่ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ มิฉะนั้นแล้วเวลาขับรถ รถติด นึกถึงเมตตายาว แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเห็นคุณค่าจริงๆ ของสติปัฏฐาน แล้วแต่อะไรจะปรากฏในขณะนั้น ถ้าจะเกิดเมตตาขึ้นก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ได้ติด ไม่ได้ต้องการที่จะให้มีเมตตามากขึ้น เพิ่มขึ้น สงบขึ้น แล้วแต่สภาพธรรมในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น และละความพอใจ นี่คือปัญญาจริงๆ ที่เห็นสภาพธรรมว่าไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วก็ยังเป็นเราที่สงบ ขณะนั้นเริ่มพอใจในความสงบที่กำลังสงบ จะเอาอะไรละความพอใจในความสงบ ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถมีสิ่งใดที่จะละความพอใจหรือละโลภะได้ แม้แต่กุศลทั้งหลายก็เป็นที่ต้องการของโลภะได้ เช่น ต้องการความสงบ เป็นต้น

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติสูตร ข้อ ๖๘๒ – ข้อ ๖๘๔ มีข้อความที่แสดงถึงจุดประสงค์ของการที่ทรงแสดงธรรมทั้งหมด เพื่อที่จะให้พุทธบริษัทเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดำรงมั่นในสติปัฏฐานจริงๆ

ข้อความมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลิวัน ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

ทรงเตือนแล้ว ทรงเตือนอีก จนกระทั่งทรงชี้แจงตรัสว่า นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย อนุศาสนี หมายความถึงธรรมที่ทรงแสดงบ่อยๆ เนืองๆ พร่ำสอน ทรงสอนแล้ว สอนอีก นั่นคืออนุศาสนี

ข้อความต่อไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมกระทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ กระทำความรู้สึกตัวในการเหลียว การแล กระทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้าและเหยียดออก กระทำการรู้สึกตัวในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร กระทำการรู้สึกตัวในการกิน การดื่ม การลิ้ม กระทำการรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ กระทำการรู้สึกตัวในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะอย่างนี้แล ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นอนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย

จบ สูตรที่ ๒

ติดอยู่ในรถยนต์ มีการแล การเหลียว การคู้เข้า เหยียดออก เดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด นิ่ง กระทำการรู้สึกตัวในการกิน การดื่ม การลิ้ม แต่ว่าแทนที่จะรู้สึกตัวพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ก็ไปสงบ

ถ. กระทำการรู้สึกตัวนั้นมีบางครั้ง แต่ว่าตั้งอยู่ไม่ได้นาน เมื่อตั้งอยู่ไม่ได้นาน ถ้าไม่เจริญสมถภาวนา ก็เป็นอกุศลไป

สุ. ขอประทานโทษ พอตั้งอยู่ไม่ได้นาน ก็เลยทำอย่างอื่น เห็นไหม ไม่ได้ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ระลึกรู้ ตั้งต้นใหม่ ปรารภ เริ่มอีก ตั้งต้นใหม่ ระลึกอีก รู้อีก หมดไปแล้วก็ตั้งต้นใหม่ ระลึกอีก รู้อีก เพื่อที่จะให้สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนชำนาญ จนสามารถที่จะเกิดสืบต่อกันได้

ที่สติเกิดน้อยและตั้งอยู่ไม่นาน เพราะว่ายังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่วทั้ง ๖ ทางอย่างชำนาญ อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งจะต้องอาศัยการระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ

อกุศลย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แต่กระนั้นสติก็ยังระลึกรู้ในลักษณะสภาพของอกุศลนั้นได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น

ถ. ก็ใช่อยู่ แต่จะทำอย่างไรได้ สติสัมปชัญญะยังเกิดน้อย เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดน้อย สิ่งที่พอจะเกิดได้ หรือว่าเกิดได้มากกว่า ก็ต้องเอาด้วย

สุ. ก็เลยไม่มีกำลังที่สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น เพราะไม่ได้อบรม พอน้อยก็ทิ้งไปเลย เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีกำลังที่จะเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ได้อย่างท่านที่ได้อบรมแล้วด้วยความอดทนอย่างยิ่ง ด้วยความเพียรอย่างยิ่ง คือ ไม่ว่าจะน้อยอย่างไรก็เพียรใหม่ ระลึกใหม่ รู้ใหม่ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี้เป็นอนุศาสนีของพระผู้มีพระภาคสำหรับพุทธบริษัททั้งหลาย

ถ. การท่องว่าสัตว์ทั้งหลายอย่าเบียดเบียนกัน ถูกต้องไหม

สุ. ถูก หมายความว่าอย่างไร ถูกในขั้นของสติปัฏฐาน หรือว่าถูกเป็นกุศลขั้นความสงบ

ถ. กุศลขั้นความสงบ

สุ. เป็นกุศลขั้นความสงบ ทานเป็นทาน ศีลเป็นศีล ความสงบเป็นความสงบ

ผู้ฟัง ผมได้ยินคนท่องบ่นกันมาก และผมก็เคยท่องเหมือนกัน ไหว้พระก็ท่องแบบนี้ ครั้งหนึ่งก่อนไหว้พระได้ไปทะเลาะกล่าววาจาหยาบช้าต่างๆ และไปไหว้พระท่องว่า สัตว์ทั้งหลายอย่าเบียดเบียนกันอย่างนี้ ละอายใจแก่ตัวเอง เพราะเราเองยังไม่ได้เห็นโทษของอกุศลเลย คล้ายๆ กับไปบอกคนอื่นว่า อย่าเบียดเบียนกัน อย่าทำชั่วแต่เรากลับไปทำเสียเอง น่าละอายใจแค่ไหน อย่างนี้จะเป็นประโยชน์อะไรในการท่อง เราไม่ได้ตั้งมั่นในศีล ไม่เห็นโทษของอกุศลในการพูด

สุ. เพราะฉะนั้น การพิจารณาสภาพธรรมและเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม เป็นปัญญาที่จะทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้นด้วย ท่านที่เคยท่องเรื่องเมตตา แต่แท้จริงแล้ว จิตของท่านไม่ได้เมตตาเลย ถ้ารู้ความจริงในขณะนั้นก็จะได้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นท่อง ไม่ใช่ขณะที่มีเมตตาจริงๆ

การรู้ถูกต้องตรงตามลักษณะของสภาพธรรมเป็นประโยชน์ และก็ดีที่ท่านเกิดหิริคือความละอายขึ้นว่า ท่านเพิ่งกระทำสิ่งที่ไม่ดีงามทางวาจา ทางกายด้วยกำลังของอกุศล และท่านก็หลบมาท่องสักประเดี๋ยวหนึ่ง โดยที่ว่าเป็นเพียงการท่องเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกุศลจริงๆ

เพราะฉะนั้น เป็นความต่างกัน ซึ่งการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดไม่ใช่กุศล แม้ในขณะที่กำลังท่องอย่างนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นกุศลจิตเสมอไป

เปิด  256
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565