แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 843

จะเห็นได้ว่า ที่ยกข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎกมากล่าว ก็เพื่อที่จะให้พิจารณาจริงๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหมายอย่างไร คือ ให้พุทธบริษัทเป็นผู้ที่ดำรงมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะนี้บางท่านก็อาจจะคิดว่า อย่างโน้นง่ายกว่า อย่างนี้ดีกว่า แต่ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงแสดงธรรมไว้มากมาย จะทำให้พิจารณาได้ว่า แทนที่จะต้องการอย่างอื่น ก็ควรที่จะเป็นผู้ที่เห็นคุณของการอบรมเจริญสติปัฏฐานแม้เพียงชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งในภายหลังย่อมเป็นผู้ที่มีความชำนาญ และสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้จริงๆ

ข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อกุสลราสิสูตร มีว่า

สาวัตถีนิทาน

ณ ที่นั้นแล ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธภาษิตนี้ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕

ไม่มีใครชอบ ใช่ไหม นิวรณ์ ๕ เพียงได้ยินชื่อก็รังเกียจ ไม่อยากจะมีเลย แต่มีอยู่เป็นประจำ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ นิวรณ์ ๕

ทุกคนไม่อยากมีอกุศลธรรม พากเพียรที่จะใช้วิธีอื่นที่จะละ ที่จะดับอกุศลธรรม แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ข้อความต่อไป

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึง สติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่ สติปัฏฐาน

ท่านที่รู้ตัวเองว่าเพียงแต่ท่องเมตตา ไม่ใช่ขณะที่เป็นเมตตาจริงๆ ถ้าไม่เคยอบรมเจริญสติปัฏฐานเลยจะรู้อย่างนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน มีปัจจัยที่จะให้สติแต่ละขั้นเกิดขึ้นได้รวดเร็ว เป็นต้นว่า บางครั้งก็ระลึกเป็นไปในทาน หรือว่าเป็นไปในศีล หรือว่าเป็นการระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐาน ถ้าหากว่าตราบใดกุศลจิตเป็นไปในทาน เป็นไปในศีลเกิดขึ้น และสติหยั่งลงสู่สภาพของจิตที่เป็นกุศล เป็นสุขมาก

สุ. ชอบไหม

ผู้ฟัง เห็นความสุข เห็นความสงบ ที่เกิดจากจิตที่เป็นกุศล

สุ. ชอบไหม

ผู้ฟัง ชอบ

สุ. เพราะฉะนั้น ก็ติดบ่วงไปตลอดทาง การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องแกะบ่วงไปตลอดทาง

ผู้ฟัง จริงอยู่ เป็นปัจจัยแก่โลภะ ก็ยังมีกิเลสอยู่ จะทำอย่างไรได้

สุ. มีหนทางเดียว คือ อบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น ละเอียดขึ้น

ผู้ฟัง บางทีอยากจะใส่บาตร ถึงเวลาตอนเช้าง่วงไม่อยากตื่น บางทีก็ตระหนี่ไม่ยอมเผื่อแผ่ แต่เมื่อคิดว่าเราต้องขัดเกลากิเลส จิตที่คิดจะสละ ช่วงนั้นสงบ เป็นกุศลแรงขึ้นมาถึงกับลุกจากเตียง รีบแต่งตัวออกไปใส่บาตร สติก็เกิด ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นความสุขเกิดจากความสงบ

สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นหนทางไกล ไกลมากทีเดียว เพราะปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียดจริงๆ จึงจะละได้ มิฉะนั้นแล้วเวลามีสภาพธรรมบางอย่างบางประการเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ก็ยังคงมีความพอใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

เมื่อเห็นความละเอียดของความพอใจที่มีอยู่เรื่อยๆ แม้ในขณะที่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น และเห็นโลภะละเอียดขึ้น เมื่อเห็นละเอียดขึ้น ก็ย่อมละโลภะอย่างละเอียดได้

ผู้ฟัง อาจารย์เคยพูดว่า ทุกสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานให้มาก ให้เจริญขึ้น จะเห็นจิตที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เห็นสภาพธรรมที่ไม่แน่นอน เดี๋ยวเปลี่ยนไป เดี๋ยวเปลี่ยนมา เห็นได้ชัดในความที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สภาพธรรมเป็นอย่างนั้นจริงๆ

สุ. แต่ต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๖ ทาง โดยแยกจากกันว่า รูปธรรมทางตา ไม่ใช่นามธรรมที่เห็น รูปธรรมคือเสียงทางหู ไม่ใช่นามธรรมที่ได้ยิน ต้องแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทางให้ชัดเจนถูกต้องว่า ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรม

ผู้ฟัง ผมเห็นสภาพจิตที่เปลี่ยนไปมา บางทีสนทนาอยู่หรือทำอะไรที่เราหมกมุ่นอยู่ เวลามีอะไรผ่านมาทางตาหรือทางหู จิตเราแวบไปทางอื่นแล้ว มีเหตุปัจจัยทำให้จิตเราไหวไป ทิ้งเรื่องเก่าไป มีปัจจัยใหม่มา ไปอีกแล้ว ลักษณะเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้เห็นความเป็นอนัตตาของรูป

สุ. เพราะฉะนั้น จึงต้องรู้ในความละเอียดว่า จะต้องมีการพิจารณารู้ถึงสภาพที่แท้จริงของลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า ที่เป็นนามธรรมนั้นคืออย่างไร

บางพระสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แต่ว่าโดยเทศนาโวหาร ก็ทรงเทศนาหลายประการเพื่อที่จะให้ผู้ฟังแต่ละท่านในขณะนั้นได้เข้าใจสภาพธรรมโดยทั่วถึง ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต ชาครสูตรที่ ๖ ข้อ ๑๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลหมักหมมธุลีเพราะนิวรณ์ ๕ อย่าง บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕ อย่าง

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานโดยละเอียดแล้ว จะไม่รู้ลักษณะของสัทธา ลักษณะของวิริยะ ลักษณะของสติ ลักษณะของสมาธิ ลักษณะของปัญญาไม่ได้ เพราะเป็นธรรมที่มีเกิดขึ้นปรากฏเป็นอินทรีย์ ๕ และข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สมณพราหมณสูตรที่ ๑ ข้อ ๘๔๘ ซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยโดยละเอียด มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น เราไม่นับว่าเป็นสมณะในพวกสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในพวกพราหมณ์ เพราะท่านเหล่านั้นยังไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้ชัดซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอินทรีย์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เรานับว่า เป็นสมณะในพวกสมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในพวกพราหมณ์ เพราะท่านเหล่านั้นกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ และของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

จบ สูตรที่ ๖

ถ้าท่านผู้ฟังไม่ละเลยการพิจารณาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดซึ่งความเกิด อย่าลืม ไม่ใช่รู้เฉยๆ ว่า ขณะนี้เปลี่ยนไปแล้ว จากทางนี้เป็นทางนั้น ลักษณะอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง นั่นไม่ใช่รู้ชัดในความเกิด กำลังได้ยินเสียง รู้ว่าไม่ใช่เห็น เสียงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ชัดในความเกิดหรือเปล่า เปลี่ยนไปแล้วใช่ไหม จากทางตาไปเป็นทางหู เพียงอย่างนั้น ชื่อว่ารู้ชัดในความเกิดหรือเปล่า

ผู้ฟัง การเกิดขึ้นและดับไป ผมก็ไม่ได้ยืนยันว่าเห็นอย่างนั้น แต่เห็นสภาพที่ว่า อย่างบางทีเราเกิดโทสะ จิตนี้ขุ่นมัว พอมีเสียงมากระทบทางหูทำให้เราเกิดการหัวเราะโสมนัส เขาก็เกิดในทันทีที่เปลี่ยนไป ผมก็เห็นว่า สภาพธรรมเปลี่ยนไป มี เหตุปัจจัยตามที่เคยเรียน เคยฟังมาตามที่บรรยาย เป็นอย่างนั้นจริงๆ

สุ. แต่ชื่อว่ารู้ชัดในความเกิดไหม

ผู้ฟัง ผมไม่ยืนยัน

สุ. ขอให้พิจารณา ชื่อว่ารู้ชัดในความเกิดไหม ไม่แน่ใจ หรือรู้จริงๆ ว่า ไม่ชัด ยังไม่ใช่การรู้ชัดจริงๆ ในความเกิด ต้องแน่ใจ ไม่อย่างนั้นบางท่านอาจจะคิดว่าท่านรู้ชัดแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องกระทำอีกแล้ว

ผู้ฟัง จะไปรู้ชัดได้อย่างไร ยังไม่เห็นการเกิดขึ้นและดับไป ก็ย่อมเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้

สุ. เพราะฉะนั้น รู้ชัดในความเกิดหรือเปล่า เวลาที่รู้ว่าความโกรธเกิดขึ้น เปลี่ยนจากทางตาที่กำลังเห็นหรือเสียงที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นชื่อว่ารู้ชัดในความเกิดหรือเปล่า

ผู้ฟัง ถ้าเป็นเช่นนั้นก็รู้ชัด ผมเห็นสภาพธรรมเป็นอย่างนี้

สุ. ท่านอย่าประมาทความหมายของคำว่า ชัด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มิฉะนั้นแล้วท่านจะรู้สึกว่า ท่านรู้ชัดจริงๆ หรือว่ารู้ชัดแล้ว โดยไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในความเกิด

ผู้ฟัง เจริญสติปัฏฐาน รู้ภาวะของนามรูป บางทีระลึกไปก็ไม่รู้เรื่อง ก็กลับมาคิดพิจารณาว่า ธรรมไม่ว่านามหรือรูป การกระทบทุกขณะ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปรมัตถธรรมหมด ต้องมาพิจารณาอย่างนี้ เรากระทบแล้ว เริ่มต้นใหม่ พิจารณาแล้ว สติน้อมไปใหม่ เป็นอย่างนี้

สุ. อยากให้ตอบตัวเองให้แน่ใจว่า รู้ชัดแล้วหรือยังในความเกิด

ผู้ฟัง ไม่ชัด

สุ. อย่างนั้นดีกว่า เป็นปัญญาจริงๆ ที่รู้ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้อบรมต่อไป เพราะความรู้ชัดจะต้องมีแน่ และเป็นความรู้ชัดจริงๆ ซึ่งไม่เหมือนกับความที่คิดว่ารู้ชัดแล้ว

ผู้ฟัง ไม่ใช่แก้ตัว แต่ว่าโดยลักษณะความเป็นนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ผมกล้ายืนยันด้วยสัจจะว่า ผมเคยรู้ชัดในสภาพความเป็นอนัตตา เป็นความจริง

สุ. นี่เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงธรรมมาก และโดยละเอียด ทั้งพระสูตรและพระอภิธรรม

ผู้ฟัง ผมรู้ความเป็นอนัตตาเช่นนั้นจริงๆ ใครจะเชื่อ ไม่เชื่อ ก็คิดเอา แต่ผมรู้อย่างนั้นจริงๆ

สุ. ยาก

ผู้ฟัง แต่ผมเคยผ่านมาแล้ว ผมรู้อย่างนั้นจริงๆ ผมกล้ายืนยันกับตัวเอง ไม่กลัวบาป หรือไม่กลัวต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

สุ. ยากที่จะให้รู้ความต่างกันของการประจักษ์แจ้ง กับความคิดที่ว่ารู้ชัด

ถ. สภาพที่รู้ชัดนี้ หมายถึงว่าตัวเองจะต้องไม่สงสัยด้วยใช่ไหม จะต้องไม่มีข้อสงสัย ข้อข้องใจ ต้องกระจ่างแจ้งด้วยตัวเอง

สุ. บางท่านพอรู้อย่างนี้ ก็บอกว่าไม่สงสัย อย่างไรๆ ก็ไม่สงสัย เชื่อแล้ว แน่ใจแล้ว ก็หลอกตัวเองอีก เพราะถ้าสงสัยเดี๋ยวจะกลายเป็นไม่ชัด ก็เลยไม่สงสัยดีกว่า ก็เลยแน่ใจว่าไม่สงสัย ชัดจริงๆ ซึ่งก็เป็นการหลอกตัวเองด้วย

ผู้ฟัง ผมขอยืนยันตามเดิม เป็นอย่างนั้นจริงๆ พ้นจากความสงสัยในขณะนั้นแล้ว รู้อย่างนั้นจริงๆ ความเป็นอนัตตาในนามทางตา หรือในรูปทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กายก็เคย เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมไม่เปลี่ยน ผมรู้อย่างนั้นจริงๆ

สุ. และจะมีการรู้ชัดยิ่งกว่านั้นอีกไหม หรือว่าหมดแล้ว จะชัดกว่านั้นอีกไม่ได้แล้ว

ผู้ฟัง อาจารย์คิดว่า ผมพูดเรื่องไม่จริง ถ้าหากว่าขณะนี้มีองค์ตรัสรู้ ก็คงจะรู้ว่า ผมไม่ได้พูดเท็จ ไม่ได้พูดโกหก แต่ว่าจะมีปัญญาขั้นต่อไป ก็แล้วแต่การอบรมเจริญต่อไป แต่สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ผมประจักษ์มาแล้ว

สุ. รู้ชัดนามอะไร รูปอะไร

ผู้ฟัง นามทางตา รูปทางตา โดยปราศจากตัวตน

สุ. อะไรอีก

ผู้ฟัง ทางหูก็เช่นกัน

สุ. ต่อกันหรือเปล่า

ผู้ฟัง ต่อหรือไม่ต่อ ไม่รู้ รู้แต่ว่าขณะนั้นปราศจากตัวตน

สุ. ต่อหรือไม่ต่อ ไม่รู้ นี่ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของการประจักษ์แจ้ง

ผู้ฟัง แต่ผมรู้อย่างนั้นจริงๆ

สุ. ถูก แต่คำตอบที่ว่า ต่อหรือไม่ต่อ ผมไม่รู้ นั่นไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง

ผู้ฟัง แต่ผมรู้อย่างนั้นจริงๆ

สุ. เพราะฉะนั้น จึงได้เรียนให้ทราบว่า ถ้าตอบอย่างนี้หมายความว่า ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะคำตอบตอบว่า ต่อหรือไม่ต่อ ผมไม่รู้ ไม่ใช่ลักษณะของการประจักษ์แจ้ง

ผู้ฟัง ผมไม่ได้รู้ลักษณะที่ถูกต้อง แต่ว่าขณะนั้นตัวเองเป็นอย่างนั้นจริงๆ

สุ. เมื่อตัวเองเข้าใจอย่างนั้น ดิฉันจึงได้เรียนถามว่า ต่อหรือไม่ต่อกัน

ผู้ฟัง ต่อ คำนี้หมายความว่าอะไร

สุ. หมายความว่า รู้ลักษณะของนามธรรมนั้น รูปธรรมนี้ และนามธรรมนั้น รูปธรรมนี้ ที่ตอบเมื่อครู่นี้ว่า รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมทางตา รูปธรรมทางตา รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมทางหู รูปธรรมทางหู ตอบอย่างนั้น ๔ อย่าง ใช่ไหม

ผู้ฟัง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

สุ. ลักษณะของมโนทวารไม่ได้ปรากฏ ใช่ไหม

ผู้ฟัง ไม่รู้ ไม่รู้ทั้งสิ้น รู้อยู่แต่ว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน อย่างอื่นไม่รู้

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้ามีการสอบถามให้พิจารณา จะพิจารณาไหมในเรื่องความรู้ที่เข้าใจว่ารู้ ว่าจะเป็นความรู้ที่เป็นการประจักษ์แจ้งไหม เพราะการที่ใช้คำว่า รู้ชัด ย่อมหมายความถึงประจักษ์แจ้งในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง อย่างนั้นล่ะ พูดง่ายๆ ว่า ความจริงย่อมเป็นความจริง

สุ. ก็ถามคำถามเดิมที่ว่า ต่อกันหรือเปล่า ยังคงตอบว่าผมไม่รู้ ต่อหรือไม่ต่อผมไม่รู้ เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ชัดได้ตามความรู้สึกว่าชัด แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏโดยความเป็นอนัตตาทางมโนทวาร เพราะเมื่อครู่ตอบว่า รู้ชัดลักษณะของนามธรรมทางตา รูปธรรมทางตา นามธรรมทางหู รูปธรรมทางหู ไม่ได้บอกว่าทางใจ จากคำตอบนี้ อารมณ์ไม่ได้ปรากฏทางมโนทวาร และจากคำถามที่ว่า ต่อกันไหม ก็ยังตอบว่าผมไม่รู้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง

เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณา และอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ขณะใดที่มีความรู้สึกพอใจ จะเป็นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น หรือเป็นความพอใจในความคิด ในความเข้าใจในขณะนั้นว่า เป็นความรู้ชัด ยังจะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยการที่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนทางมโนทวารด้วย ไม่ใช่โดยการที่ว่า เมื่อพิจารณาไปพอสมควรแล้ว ก็คิดว่ารู้ชัดแล้ว

เปิด  245
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565