แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 844

ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สมณพราหมณสูตร ที่ ๒ ข้อ ๘๕๐ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาต่อไปอีก

ข้อความมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดซึ่งสัทธินทรีย์ ความเกิดแห่งสัทธินทรีย์ ความดับแห่งสัทธินทรีย์ และปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัทธินทรีย์ ไม่รู้ชัดซึ่งวิริยินทรีย์ ฯลฯ สตินทรีย์ ฯลฯ สมาธินทรีย์ ฯลฯ และปัญญินทรีย์ ความเกิดแห่งปัญญินทรีย์ ความดับแห่งปัญญินทรีย์ และปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งปัญญินทรีย์

ไม่ใช่รู้ชัดแต่เฉพาะปัญญินทรีย์ หรือความเกิดแห่งปัญญินทรีย์ ความดับแห่งปัญญินทรีย์ แต่ในพระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงถึงการรู้ชัดในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งปัญญินทรีย์

แสดงว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แสนละเอียดจริงๆ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ว่าเป็นไปอย่างช้า ไม่ใช่ว่าเป็นไปได้โดยรวดเร็ว ซึ่งในสมัยนี้ไม่ใช่สมัยของอุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู ถ้าใครจะรู้แจ้ง อริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าในยุคนี้ ก็เป็นเนยยบุคคล คือ เป็นผู้ที่ต้องฟังมาก ศึกษามาก พิจารณามาก สอบถามมาก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่แสดงธรรมมาก กล่าวธรรมมาก ก็ยังจะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาอย่างมากทีเดียว จึงสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นตามลำดับขั้นได้ ไม่ใช่ว่าโดยรวดเร็ว แต่ว่าตามลำดับขั้น

สำหรับจุดประสงค์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องมรณานุสสตินั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้จิตสงบ แต่ว่าเพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นที่พึ่ง เป็นธรรมที่เป็นเกาะ เป็นธรรมที่จะทำให้ดับทุกข์ได้จริงๆ

บางคนอาจจะระลึกถึงความตาย แต่จะทราบไหมว่า ขณะที่ระลึกนั้นเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล ถ้าระลึกแล้วไม่มีการละ ไม่มีการคลายอะไรเลย ขณะนั้นจะเป็นกุศลได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ถ้าผู้ใดระลึกและพิจารณาจิตใจในขณะนั้นได้ว่า มีการ ละคลายการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในสมบัติ ในวงศาคณาญาติ หรือว่าในมานะ การถือตน ขณะนั้นย่อมเป็นประโยชน์ของการที่จะระลึกถึงความตาย แต่ถ้าระลึกแล้วไม่มีการละ ไม่มีการคลายอะไรเลย ก็ไม่มีประโยชน์

การคิดถึงความตายจะทำให้ละมานะได้ไหม

ภพนี้ ชาตินี้ อาจจะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยชาติ ตระกูล โภคสมบัติ รูปสมบัติ วิชาความรู้ บริวารสมบัติ ทุกสิ่งทุกประการ แต่ว่าภพหน้า ชาติหน้า จะเป็นใคร ยังจะมีรูปสวยรูปงาม มีทรัพย์สมบัติมาก เกิดในสกุลที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ ข้าทาสบริวารหรือเปล่า อาจจะตรงกันข้ามก็ได้ เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตาย เห็นความไม่เที่ยง ย่อมจะทำให้ท่านละคลายแม้ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในสมบัติของท่าน ซึ่งเคยถือว่าเป็นของเรา นอกจากนั้นยังทำให้ละคลายมานะ การถือตน การสำคัญตน หรือว่าความผูกพันในสัตว์ ในบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ในสังขารที่เป็นที่รัก จึงจะเป็นกุศล

แต่ถ้าคิดถึงแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย อะไรก็ไม่ได้ละ อะไรก็ไม่ได้คลาย จะกล่าวว่าเป็นมรณานุสสติ เป็นกุศลจิตได้ไหม ระลึกเฉยๆ

ผู้ฟัง ผมระลึกถึงถึงความตายแล้ว มีความรู้สึกกลัวต่ออบายภูมิ คือ กลัวว่าเมื่อไปสู่อบายแล้วหมดโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น จิตก็ดิ้นรนอยากจะออกบวช ใช้ความเพียรในด้านการเจริญสติปัฏฐานให้หนัก

สุ. ถ้าจะตายวันนี้ จะทำอะไรให้สำเร็จได้บ้างหรือเปล่า ที่กลัวๆ นี้ ก็เพียงแต่คิดเฉยๆ ยังคิดฝันที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างโน้น หรือว่าควรจะเกิดกุศลในขณะที่ระลึกถึงความตาย ซึ่งอาจจะเกิดเดี๋ยวนี้ ขณะนี้

ถ. จะเป็นกุศลหรือเปล่าที่ผมคิดว่า ถ้าไปอบายแล้ว โอกาสที่ได้จะเจริญ สติปัฏฐานไม่รู้อีกนานเท่าไรที่จะมาสู่สุคติ

สุ. เป็นกุศล หรือเป็นกังวล

ถ. คิดถึงความตาย ไม่รู้จะมาเมื่อไร คงเป็นกังวล

สุ. ถ้าเป็นกุศลตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังจริงๆ ในการแสดงธรรม คือ ระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมทันที

ถ้าท่านผู้ใดกำลังโกรธ ระลึกถึงความตายแล้ว เป็นกุศล เป็นอย่างไร ยังโกรธต่อไป ผูกโกรธไว้ พยาบาท หรือเมื่อระลึกถึงความตายแล้ว กุศลจิตเกิด ละความโกรธได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาความโกรธติดตามไปในภพต่อไปด้วย ความโกรธมีประโยชน์อะไร แต่เพราะไม่ได้ระลึกถึงความตายก็มีความโกรธ เดี๋ยวโกรธอย่างนั้น เดี๋ยวโกรธอย่างนี้ เดี๋ยวโกรธเรื่องนั้น เดี๋ยวโกรธเรื่องนี้ และก็ผูกโกรธจนกระทั่งเป็นความพยาบาท

แต่ถ้าระลึกถึงความตาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ จะละความโกรธได้ เพราะรู้จริงๆ ว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาความโกรธติดตามไปด้วย ควรที่จะละความโกรธ ความผูกโกรธ หรือความพยาบาท หรือความริษยา หรือความตระหนี่ ก็แล้วแต่ ในขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้จิตน้อมไปพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นอกุศลอย่างไร แต่ไม่ใช่ว่าระลึกเฉยๆ และกล่าวว่าเป็นกุศล โดยที่ไม่มีการละคลายอะไรเลย แต่เมื่อระลึกแล้วที่จะเป็นกุศล จะต้องมีการละคลายโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา ริษยา พยาบาท มานะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นท่านกำลังเป็นอกุศลอย่างไร และการระลึกถึงความตายเป็นปัจจัยที่จะทำให้ละอกุศลนั้นในขณะนั้นได้

ถ. ผมคิดถึงความตายคล้ายๆ กับว่า เรามาเยี่ยมโลกนี้ ไม่ช้าก็ตายจากกันไป เขาจะล่วงเกินเราบ้างก็ช่างเขา ไม่ได้ถือสา ไม่เอาเรื่องกับเขา เพราะไม่ช้าก็ต้องตายจากกัน ทำนองนี้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าจะเป็นกุศลหรือเปล่า

สุ. ลองพิจารณาเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลไหม ต้องพิจารณาเอง เป็นปัญญาของตนเอง

เวลาที่ระลึกถึงความตายโดยไม่แยบคาย ย่อมทำให้เกิดความกลัว หรือความห่วงใย หรือความกังวล แต่เวลาที่เป็นการระลึกถึงความตายอย่างถูกต้องด้วยความแยบคาย ย่อมเป็นปัจจัยให้ละความห่วง ความกังวลต่างๆ ได้ เพราะว่าเมื่อตายแล้ว จะไม่เหลือความจำของชาตินี้เลยว่าเคยเป็นบุคคลใด ไม่เหลือความคิดที่เคยคิดในเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันในโลกนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันกับบุคคลต่างๆ ในโลก เพราะเวลาที่สิ้นชีวิตไปแล้ว นอกจากจะเอาทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ไปไม่ได้ ก็ยังเอาบุคคลทั้งหลายอันเป็นที่รักในโลกนี้ติดตามไปไม่ได้ และยังเอาความทรงจำทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ไปด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ความจำก็ไม่เหลือ เป็นบุคคลใหม่ทันที เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภพใหม่ ชาติใหม่ ก็เป็นบุคคลใหม่ เป็นเรื่องใหม่ ไม่เกี่ยวข้องผูกพันกับเหตุการณ์เก่าๆ ในโลกเก่า

เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังทรงจำสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นบุคคลต่างๆ เป็นเหตุการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ แท้ที่จริงแล้วโดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ ว่างจากการเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นชั่วขณะที่นามธรรมเกิดขึ้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แล้วแต่ขณะจิต และก็หมดไปทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้น ว่างจริงๆ จากการเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่ต้องรอไปจนกระทั่งถึงความตายเกิดขึ้น จึงจะปรากฏว่าหาบุคคลเก่าที่เคยอยู่ในโลกนี้ไม่ได้อีกเลย แต่แม้ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ยังหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในรูปธรรมนามธรรมซึ่งเกิดดับในขณะนี้ไม่ได้จริงๆ

เมื่อปัญญารู้ชัดว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรอคอยไปจนกระทั่งถึงขณะที่เป็นความตายของบุคคลนั้น บุคคลนี้ จึงจะเกิดมรณานุสสติขึ้น แต่แม้ในขณะนี้เอง ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีความตายอยู่ทุกขณะ สูญจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย

ข้อความใน พระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงความตาย ที่จะเกื้อกูลแก่มรณสติก็มีมาก ซึ่งใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สัลลสูตรที่ ๘ ข้อ ๓๘๐ มีข้อความว่า

ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้

จริงไหม ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ไม่มีเครื่องหมายที่จะให้รู้เลยว่า ชีวิตของใครจะอยู่ต่อไปถึงพรุ่งนี้ หรือว่าเดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ว่า จากที่นี้ไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นสุข หรือว่าจะเป็นทุกข์ จะประสบกับอิฏฐารมณ์ หรืออนิฏฐารมณ์ จะมีอุบัติเหตุ หรือว่าไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะว่าชีวิตไม่มีเครื่องหมาย ใครๆ รู้ไม่ได้

ข้อความต่อไป

ทั้งลำบาก ทั้งน้อย และประกอบด้วยทุกข์ สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วจะไม่ตายด้วยความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นไม่มีเลย แม้อยู่ได้ถึงชราก็ต้องตาย เพราะสัตว์ทั้งหลายมีอย่างนี้เป็นธรรมดา ผลไม้สุกงอมแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดแล้ว ชื่อว่าย่อมมีภัย เพราะจะต้องตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของมฤตยู มีมฤตยูเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกันทั้งหมด เมื่อสัตว์เหล่านั้นถูกมฤตยูครอบงำแล้วต้องไปปรโลก บิดาจะป้องกันบุตรไว้ก็ไม่ได้ หรือพวกญาติจะป้องกันพวกญาติไว้ก็ไม่ได้ ท่านจงเห็น เหมือนเมื่อหมู่ญาติของสัตว์ทั้งหลายผู้จะต้องตาย กำลังแลดูรำพันอยู่โดยประการต่างๆ สัตว์ผู้จะต้องตายผู้เดียวเท่านั้นถูกมฤตยูนำไป เหมือนโคที่บุคคลจะพึงฆ่าถูกนำไปตัวเดียว ฉะนั้น

ความตายและความแก่กำจัดสัตว์โลกอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดสภาพของโลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ท่านย่อมไม่รู้ทางของผู้มาหรือ ผู้ไป ไม่เห็นที่สุดทั้งสองอย่าง ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์ ถ้าผู้คร่ำครวญหลงเบียดเบียนตนอยู่ จะยังประโยชน์อะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ไซร้ บัณฑิตผู้เห็นแจ้งก็พึงกระทำความคร่ำครวญนั้น บุคคลจะถึงความสงบใจได้เพราะการร้องไห้ เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่ ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น และสรีระของผู้นั้นก็จะซูบซีด บุคคลผู้เบียดเบียนตนเองย่อมเป็นผู้ซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปแล้ว ย่อมรักษาตนไม่ได้ด้วยความรำพันนั้น การรำพันไร้ประโยชน์ คนผู้ทอดถอนถึงบุคคลผู้ทำกาละแล้วยังละความเศร้าโศกไม่ได้ ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก ย่อมถึงทุกข์ยิ่งขึ้น ท่านจงเห็นคนแม้เหล่าอื่นผู้เตรียมจะดำเนินไปตามยถากรรม (และ) สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้มาถึงอำนาจแห่งมัจจุแล้ว กำลังพากันดิ้นรนอยู่ทีเดียว ก็สัตว์ทั้งหลายย่อมสำคัญด้วยอาการใดๆ อาการนั้นๆ ย่อมแปรเป็นอย่างอื่นไปในภายหลัง ความพลัดพรากกันเช่นนี้ย่อมมีได้ ท่านจงดูสภาพแห่งโลกเถิด

มาณพแม้จะพึงเป็นอยู่ร้อยปีหรือยิ่งกว่านั้น ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้ เพราะเหตุนั้นบุคคลฟังพระธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว เห็นคนผู้ล่วงลับทำกาละแล้ว กำหนดรู้อยู่ว่า บุคคลผู้ล่วงลับทำกาละแล้วนั้น เราไม่พึงได้ว่า จงเป็นอยู่อีกเถิด ดังนี้ พึงกำจัดความรำพันเสีย บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำ ฉันใด นรชนผู้เป็นนักปราชญ์มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดนุ่น ฉะนั้น

คนผู้แสวงหาความสุขเพื่อตน พึงกำจัดความรำพัน ความทะยานอยาก และความโทมนัสของตน พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศรคือกิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก เยือกเย็น ฉะนี้แล ฯ

จบ สัลลสูตรที่ ๘

เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า อย่าลืม นรชนผู้เป็นนักปราชญ์ มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดนุ่น ฉะนั้น

ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม ก็จะต้องคิดไป คิดมาจนกว่าความเศร้าโศกนั้นจะคลายลง แต่ว่าสำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ขณะที่กำลังเศร้าโศกเพราะขณะนั้นหลงลืมสติ แต่ว่าเวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของความรู้สึก เวทนา แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นความรู้สึกลักษณะใด ก็มีแต่ลักษณะสภาพของจิต ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้น ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีใคร ในขณะนั้นจิตจึงผ่องใส ปราศจากความโศกเศร้า เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่กำลังโศกเศร้า ที่จะให้กำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลันเหมือนลมพัดนุ่นได้ ก็ต้องเป็นในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งในขณะที่ สติเกิดย่อมผ่องใสเพราะเป็นกุศล และไม่เศร้าโศกเพราะประกอบด้วยสัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา

เพราะฉะนั้น จะไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานได้ไหม แม้แต่ในตอนท้ายของพระสูตรนี้ที่ว่า พึงถอนลูกศรคือกิเลสของตนเสีย เป็นผู้มีลูกศรคือกิเลสอันถอนขึ้นแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ถึงความสงบใจ ก้าวล่วงความเศร้าโศกได้ทั้งหมด เป็นผู้ไม่มีความเศร้าโศก เยือกเย็น ฉะนี้แล

ขอกล่าวถึงข้อความซึ่งเป็นมรณานุสสติต่อไป ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ชราสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์เป็นอยู่เกิน (๑๐๐ปี) ไปไซร้ สัตว์นั้นก็ย่อมตายแม้เพราะชราโดยแท้แล ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหนเป็นของเที่ยง ไม่มีเลย

บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้มีความเป็นไปต่างๆ มีอยู่ ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่าสิ่งนี้เป็นของเรา จำต้องละสิ่งนั้นไปแม้เพราะความตาย บัณฑิตผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของเรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปในความเป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา

บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นอารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมเห็นบุคคลผู้ที่ตนรักทำกาละล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น

บุคคลย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ของคนทั้งหลาย ผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟังแล้วบ้าง ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวขวัญถึงของบุคคลผู้ล่วงไปแล้วจักยังคงเหลืออยู่ ชนทั้งหลายผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตนถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศกความร่ำไรและความตระหนี่ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลายผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้ เที่ยวไปแล้ว

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ อันต่างด้วยนรกเป็นต้น (การไม่แสดงตน คือ การไม่เกิดของขันธ์ในภพ) ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ผู้เสพที่นั่งอันสงัดว่า เป็นการสมควร มุนีไม่อาศัยแล้วในอายตนะทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ทั้งไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียดชัง ย่อมไม่ติดความร่ำไรและความตระหนี่ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่เกลียดชังนั้น เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น หยาดน้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ฉันนั้น ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วย (มรรคอย่างอื่น) ทางอื่น ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล ฯ

จบ ชราสูตรที่ ๖

เมื่อไม่ติด จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ นอกจากเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือสังขารอันเป็นที่รักและที่ชัง

เปิด  271
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566