แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 848

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราสมมติขึ้นเพื่อจะให้รู้เนื้อความโดยง่าย ในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ คำว่า อสรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้าทั้ง ๔ จำพวกนั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คำว่า เพชฌฆาตทั้ง ๕ คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่าเพชฌฆาตคนที่ ๖ ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่า บ้านร้างนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน ๖ ฯ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้บัณฑิตผู้ฉลาดมีปัญญาใคร่ครวญอายตนะภายใน ๖ นั้น ทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็จะปรากฏว่า เป็นของว่างเปล่า สูญทั้งนั้น ฯ

คำว่า โจรผู้ฆ่าชาวบ้านนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายนอก ๖ ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ

จริงไหม ไม่เห็นว่าเดือดร้อนใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ขณะที่กำลังพอใจในรูป เดือดร้อนสักแค่ไหนด้วยความพอใจนั้น โดยมากมักจะเห็นความเดือดร้อนเพราะเห็นรูปที่ไม่พอใจ เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตาย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ธรรมดาในขณะนี้ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ขณะอื่น อย่ารอ และอย่าเลือก ทางตาที่กำลังเห็น ตรัสไว้ ทรงแสดงไว้ ที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง

หูย่อมเดือดร้อนเพราะเสียงเป็นที่พอใจและไม่พอใจ

เคยสบายเพลิดเพลินเพราะเสียงที่พอใจมานานแล้ว ต่อไปนี้ให้ทราบว่า ในขณะที่กำลังสบายเพลิดเพลินนั้น เดือดร้อนด้วยความพอใจนั้นเอง ไม่ใช่เดือดร้อนแต่เฉพาะได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ แม้ขณะที่กำลังได้ยินเสียงที่พอใจก็ต้องทราบว่า เดือดร้อนแล้วเพราะความพอใจนั้น

จมูกย่อมเดือดร้อนเพราะกลิ่นเป็นที่พอใจและไม่พอใจ

แทนที่จะรู้ว่าเดือดร้อนเพราะกลิ่นที่พอใจ กลับไปแสวงหากลิ่นที่พอใจ ใช่ไหม มีครบทุกอย่างแล้วไม่พอ ยังจะต้องมีกลิ่นหอมๆ ด้วย นั่นคือการไม่รู้ว่า เดือดร้อนเพราะกลิ่นที่พอใจ

ลิ้นย่อมเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ

พระผู้มีพระภาคตรัส ทรงแสดงไว้เพื่อที่จะให้ระลึกถึงความทุกข์ ความเดือดร้อนเพราะรสเป็นที่พอใจและไม่พอใจ

กายย่อมเดือดร้อนเพราะโผฏฐัพพะเป็นที่พอใจและไม่พอใจ

ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิด จะเป็นอย่างนี้ไหม เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏพร้อมด้วยปัญญาที่กำลังศึกษา น้อมไปที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นจึงจะรู้ว่าสงบ เพราะไม่ได้เดือดร้อนด้วยความพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่กำลังเห็นรูป หรือว่าได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบโผฏฐัพพะ ที่จะเห็นว่าเดือดร้อนได้ ก็ต่อเมื่อขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

คำว่า ห้วงน้ำใหญ่นั้น เป็นชื่อแห่งโอฆะทั้ง ๔ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ

กาโมฆะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภโวฆะ คือ ความยินดีพอใจในภพ ในการเกิด ทิฏโฐฆะ คือ ความยินดีพอใจในความเห็นผิด ซึ่งรวมทั้งในการปฏิบัติผิดด้วย ถ้าไม่มีความยินดีพอใจ จะเห็นผิดว่าเป็นถูกไม่ได้ หรือว่าจะยังคงปฏิบัติผิดต่อไปไม่ได้ อวิชโชฆะ คือ ห้วงน้ำของอวิชชา การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ในโอฆะทั้ง ๔ ท่านผู้ฟังพอจะพิจารณาได้ใช่ไหมว่า ท่านอยู่ในห้วงน้ำไหน กามโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ หรือว่าแวดล้อมด้วยโอฆะทั้ง ๔ ยากแก่การที่จะข้ามไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกษมที่ปลอดภัย

ข้อความต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

คำว่า ฝั่งข้างนี้อันเป็นที่น่ารังเกียจเต็มไปด้วยภัยอันตรายนั้น เป็นชื่อแห่งร่างกายของตน คำว่า ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัยนั้น เป็นชื่อแห่งนิพพาน คำว่า แพนั้น เป็นชื่อแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ คำว่า พยายามข้ามไปด้วยมือและเท้า เป็นชื่อแห่งวิริยารัมภะ คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้วขึ้นบกไป เป็นชื่อแห่งพระอรหันต์ ฯ

จบ สูตรที่ ๑

ถ. คำว่า ภพ ภโวฆะ มีความหมายอย่างไร

สุ. ความยินดีพอใจในการเกิดขึ้น

ถ. เกิดขึ้นในอัตภาพต่างๆ

สุ. ในชีวิต

ถ. ในภพต่างๆ หรืออย่างไร ผมสงสัยว่า เมื่อเกิดเป็นสัตว์นรกจะพอใจหรือในชีวิต หรือในความเป็นอยู่ของเขาได้อย่างไร

สุ. มีความพอใจในชีวิตว่าเป็นของเราหรือเปล่า ชีวิตเราจะไปเกิดที่ไหน ก็เป็นชีวิตเรา

ถ. สัตว์นรกที่ได้รับทุกข์ทรมาน ถึงเป็นมีชีวิตของเขา ที่เขารู้สึกว่าเป็นชีวิตของเขา แต่เขาจะทรมานอยู่ตลอดเวลา

สุ. อยากจะเป็นสุขไหม เพราะฉะนั้น ก็ยังยินดีในภพ ในการเกิดขึ้น หวังที่จะให้เกิดเป็นสุข ยังหวังอยู่ ยังยินดีอยู่ ไม่ใช่ว่าจะเห็นโทษจริงๆ และไม่ปรารถนาการเกิดอีกเลย ไม่ใช่ปรารถนาที่จะอยู่ในสภาพอย่างนั้น แต่ปรารถนาที่จะเกิดเป็นสุขต่อไป ไม่ใช่ไม่ปรารถนาที่จะไม่เกิดอีก ยังไม่พร้อมที่จะถึงนิพพาน

จะไม่ให้เห็นอีกเลยเอาไหม เวลานี้มีคนที่รัก มีมิตรที่รัก มีสหายที่รัก มีญาติที่รัก มีทรัพย์สมบัติที่รัก มีตัวตนซึ่งเป็นที่รัก จะไม่ให้เห็นญาติที่รักอีกเลย มิตรสหายที่รักอีกเลย วัตถุซึ่งเป็นที่พอใจอีกเลย เดี๋ยวนี้ เอาไหม ไม่เห็นอะไรอีกเลย ไม่ได้ยินอะไรอีกเลย ทั้งหมด เอาไหม

ยังไม่เอา ใช่ไหม ขอเห็นคนนั้นก่อน หรือว่าขอไปจัดแจงทรัพย์สมบัติก่อน ต้องให้เห็นว่าเป็นกิเลส ให้เห็นว่าเป็นทุกข์ จึงจะมีความเพียรที่จะข้ามฝั่ง แต่ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นที่น่ารังเกียจ ก็ยังอยู่ในสภาพที่น่ารังเกียจ ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็อยู่ต่อไปได้โดยไม่รังเกียจ เวลานี้ไม่รังเกียจการเห็น ไม่รังเกียจที่จะเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงอยู่กับสิ่งที่น่ารังเกียจโดยไม่รังเกียจเลย ก็ไม่ถึงนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้าม

ถ. ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาไว้ว่า การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจนั้น เดือดร้อน แต่พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้ทรงอธิบายไว้ว่า เดือดร้อนอย่างไร ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนเลย ที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจ

สุ. กำลังพอใจ ไม่เดือดร้อนหรือ

ถ. กำลังพอใจ ไม่เดือดร้อน

สุ. ไม่ได้เดือดร้อนเพราะความพอใจเลยหรือ

ถ. ไม่ได้เดือดร้อนเลย

สุ. ถ้าสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จะเห็นไหมว่า ขณะที่พอใจนั้นไม่สงบ เดือดร้อน

ถ. ถ้าสติเกิด ก็ไม่เห็นอีก

สุ. สติเกิด ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ปัญญาน้อมศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ เช่น ความรู้สึกก็เป็นความรู้สึก ไม่ใช่ความจำ ความสุขก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้น และก็เปลี่ยนไป หมดไป

ถ. เรื่องการเห็น การได้ยิน ขณะที่หลงลืมสติ เห็นแล้วก็รู้ว่า นี่โต๊ะ นี่เก้าอี้ ขณะที่มีสติ มีความรู้สึกตัว เห็นแล้วก็รู้ว่า นี่โต๊ะ นี่เก้าอี้ การเห็นทั้ง ๒ นี้ มีอะไรต่างกัน ขณะที่มีการรู้สึกตัว กับขณะที่หลงลืมสติ

สุ. สติระลึกรู้อะไร

ถ. ก็ไม่ได้รู้อะไร

สุ. ไม่ได้ ถ้าสติเกิด หมายความว่ากำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมลักษณะหนึ่งลักษณะใดทีละลักษณะ ขณะนี้ท่านผู้ฟังกำลังนั่งอยู่ และเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งท่านจะทราบได้ว่า ท่านหลงลืมสติ หรือว่ามีสติ

ขณะที่หลงลืมสติ ไม่ได้ระลึกเลยสักนิดเดียวว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทางตา ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏที่เคยเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หลับตาแล้วไม่ปรากฏ ไม่ต้องไปคิดเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นชื่อ เพราะสิ่งนี้ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น เมื่อหลับตาแล้วก็ไม่มี นี่คือสติที่กำลังระลึก และน้อมไปที่จะรู้

ถ. เมื่อสติเกิดแล้ว จะน้อมหรือไม่น้อม ได้ยินหรือเห็นก็รู้เรื่อง และก็รู้ความหมาย

สุ. สติปัฏฐานจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ที่สำคัญคือ ทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ใช่ทีละอย่าง ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน

ถ. ใช่

สุ. ถ้ารู้ลักษณะของเสียง ในขณะนั้นไม่ใช่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่ได้ยินคือ สภาพที่กำลังรู้เสียง นี่เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ปัญญาเจริญตรงนี้ คือ การที่รู้ว่ารูปธรรมไม่ใช่นามธรรม

ถ. ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ความต่างกันของกิจมีอยู่

สุ. เพราะฉะนั้น ความต่างกันอีก คือ ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ปัญญาต้องละเอียด และต้องรู้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็รู้ว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็รู้ว่าเป็นสติปัฏฐาน

ถ. ขณะมีสติเกิดขึ้น และจะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะยุ่งยากต่อผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ที่ยังไม่ประจักษ์ว่า นี่เป็นนาม หรือเป็นรูป เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิดขึ้นครั้งใดจะพิจารณาตรงนี้ เป็นความยุ่งยาก เกิดความลำบากเหลือเกินตอนที่สติเกิด สติไม่เกิดก็แล้วกันไป แต่เมื่อสติเกิดแล้ว ขณะที่ฟังก็รู้อยู่ว่าสติเกิดขึ้นนี้จะต้องรู้สภาพธรรมทางใดทางหนึ่ง จะต้องรู้ว่านี่เป็นรูป หรือเป็นนาม แต่ขณะที่สติเกิดขึ้น จิตน้อมไปรู้ เมื่อน้อมไปรู้แล้วไม่ประจักษ์ ก็ต้องเดากันไป เป็นอย่างนี้ทุกที

สุ. ถ้าจะให้ใจเร็ว หรือว่ารู้ชัดทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ให้รู้ว่า ขณะใดที่ไม่รู้ขณะนั้นเป็นความจริงที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น อย่าลืม เมื่อมีสติแล้ว ผลก็คือจะ ค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ที่จะค่อยๆ รู้ขึ้นนี้ ช้าเร็วอย่างไรแล้วแต่การสะสมอบรมมาด้วย แต่ว่าเมื่อสติเกิดแล้ว เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญารู้ได้

ผู้ฟัง สติเกิดขึ้นระลึกรู้ ระลึกแล้วไม่รู้ ก็ต้องไปตั้งต้นพิจารณาภาวะของนามรูปนั้นใหม่ ถ้าไม่รู้ ก็ต้องรู้อย่างนี้ จนกระทั่งรู้ชัด รู้ความเป็นอนัตตา

สุ. ทุกคนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง รู้สติ รู้ปัญญาของตัวท่านเอง และรู้ว่า ขณะใดที่ปัญญาเริ่มจะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องมีการเริ่มต้น ไม่ใช่ว่าทันทีก็เป็นปัญญาที่คมกล้า แต่ปัญญาจะเจริญได้ก็ต้องมีการเริ่มต้น หรือมีการตั้งต้นที่จะศึกษา สังเกต พิจารณา และค่อยๆ รู้จริงๆ

ทำไมจึงกล่าวว่า ค่อยๆ รู้ จะรู้มากทันทีไม่ได้หรือ ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน ถ้านามธรรมและรูปธรรมเกิดดับช้าๆ หรือช้ามาก ก็ยังมีโอกาส มีเวลาพอที่จะศึกษาลักษณะของนามนั้นได้นาน แต่เพราะไม่ว่าจะเป็นเสียง ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ได้ยินก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กำลังฟังนี้ดูเสมือนว่ามีความเข้าใจทันทีพร้อมกับที่ได้ยิน แต่ว่าเวลาที่เป็นปัญญาที่รู้ชัดตามความเป็นจริง ได้ยินเป็นสภาพรู้ไม่ใช่เสียง เสียงไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้คำ หรือรู้เรื่อง และได้ยินไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้คำและรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น สติเกิดระลึกรู้ทีละลักษณะ เสียงปรากฏ แต่บางคนก็สงสัยว่า นี่ได้ยินหรือเสียง ใช่ไหม เพราะในขณะนั้นได้ยินก็ต้องมี จะมีแต่เสียงปรากฏโดยไม่มีได้ยินไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงปรากฏครั้งหนึ่งๆ โดยการฟังทราบว่า เสียงเป็นรูปธรรมปรากฏทางหู ได้ยินเป็นสภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฏ โดยการศึกษาไม่มีข้อสงสัยเลย แต่ว่าเวลาเสียงปรากฏ ได้ยินหรือเสียง จะมีการสงสัย

แต่ว่าก่อนนี้ไม่เคยที่จะระลึก ที่จะศึกษา หรือสังเกต หรือสำเหนียก พิจารณาลักษณะของเสียง ซึ่งต่างกับสภาพที่ได้ยิน แต่โดยอาศัยการฟังว่า ปัญญาจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง ที่ว่ารู้ชัดตามความเป็นจริง จะต้องอบรมจนกระทั่งถึงขั้นที่สภาพของรูปธรรมปรากฏโดยความเป็นรูปธรรม สภาพของนามธรรมปรากฏโดยความเป็นนามธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ขณะนี้ถ้าจะบอกว่า นามธรรมและรูปธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยังไม่ใช่ความจริง เพราะสติยังไม่ได้ระลึกมากพอที่ปัญญาจะศึกษาและรู้ชัดจนกระทั่งปัจจัยปรุงแต่งให้ปัญญาเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน แม้ว่านามธรรมและรูปธรรมจะไม่ใช่ตัวตน แต่อวิชชา ความไม่รู้ และความเห็นผิดซึ่งไม่ได้เคยเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาเพียงพอ ก็จะต้องทำให้เกิดความสงสัย เกิดความไม่แน่ใจ และไม่รู้ชัดว่า ขณะนี้เป็นเสียง หรือว่าเป็นได้ยิน

สติจะต้องระลึกตรงลักษณะจริงๆ ขณะที่ระลึกที่สิ่งที่ปรากฏ สภาพจริงๆ ที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นลักษณะของเสียง ซึ่งไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้เสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมเจริญพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างจนกว่าจะเป็นปัญญาที่รู้ชัด ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ความเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ยังเป็นปกติ แต่ปัญญาเพิ่มความรู้ขึ้น

ถ. ทำอย่างไรจึงจะให้สติระลึกเสมอ ให้ระลึกได้เสมอ

สุ. ไม่มีตัวตนที่จะให้สติระลึกได้เสมอ เพราะสติและปัญญาเป็นสังขารขันธ์ เป็นขันธ์ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่ง การฟังในวันนี้ไม่หายไปไหน ไม่สูญหายไป เก็บสะสมสืบต่อในจิตแต่ละขณะต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยไม่ได้คาดฝัน นั่นคือลักษณะของอนัตตา

ถ้าใครเตรียม คอย หวัง รอ ที่จะให้สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นไม่ใช่เหตุที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด เพราะปัจจัยจริงๆ คือ การฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ทำให้ระลึกได้ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ตามปกติ และจะรู้ได้ว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่เพราะอาศัยการฟังเป็นปัจจัย เป็น สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้เกิดสติปัฏฐานขึ้น

อย่าลืม ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ไม่มีใครสงสัยในชื่อขันธ์ ๕ แต่ต้องเข้าใจในอรรถ ลักษณะที่แท้จริงของขันธ์ทั้ง ๕ ด้วยว่า รูปขันธ์ ได้แก่ รูป สภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ทุกอย่าง ทุกลักษณะเป็นรูป รูปจำอะไรไม่ได้ รูปเป็นสุข รูปเป็นทุกข์ไม่ได้ ลักษณะของรูปแต่ละอย่างเป็นรูปขันธ์

เวทนาขันธ์ เป็นเพียงความรู้สึกซึ่งเกิดทุกขณะจิต เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ในขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จำเกิดกับจิตทุกขณะ

แต่ว่าลักษณะของศรัทธา หิริ โอตตัปปะ สติ ปัญญา โลภะ โทสะ โมหะ ต่างๆ เหล่านั้น เป็นสังขารขันธ์ สะสมปรุงแต่งให้เกิดในลักษณะอาการของโลภะนานาประการ โทสะต่างๆ หลายๆ ขั้น รวมทั้งสติและปัญญาที่จะคมกล้าขึ้น ก็เป็นสังขารขันธ์ ซึ่งต้องเกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ใช่เพราะอำนาจความปรารถนาหรือความต้องการ

เปิด  260
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565