แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 860

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระอภิธรรมวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ มีข้อความที่เป็นการอธิบายถึงส่วนต่างๆ ของกายโดยความเป็นปฏิกูล ซึ่งอาจจะเกื้อกูลให้เกิดความสงบ แต่อย่าลืมว่า จุดประสงค์ คือ ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่จะระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง มีบ่อยไหม และก็ยากไหม ทั้งๆ ที่มีส่วนต่างๆ ของกายปรากฏอยู่เป็นประจำ

การที่สติไม่ค่อยจะเกิดระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายโดยความเป็นปฏิกูล หรือว่าโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนานั้น ก็เป็นเพราะแม้ว่าจะมองเห็นว่า ที่กายนี้มีส่วนต่างๆ ปรากฏ แต่ก็ยังมีความสำคัญทุกอย่างในส่วนต่างๆ ของกายที่ประชุมรวมกัน ในสักกายะ คือ การประชุมของส่วนต่างๆ ของกายของปุถุชน ซึ่งใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายสูตร มีข้อความว่า

ความสำคัญทุกอย่าง ย่อมเกิดขึ้นในสักกายะของปุถุชน เพราะว่าไม่รู้สักกายะตามความเป็นจริงว่า รูปที่ต้องแตกทำลายน่ารังเกียจนั้นเป็นทุกข์ แต่ผู้เขลาก็ย่อมยึดถือด้วยอำนาจกำหนดหมาย โดยความเป็นของงามและเป็นสุข

วันนี้ทั้งวันจะคิดถึงส่วนต่างๆ ของกายด้วยอำนาจกำหนดหมาย โดยความเป็นของงาม นี่แน่นอน เป็นประจำวัน นี่คือลักษณะของผู้เขลา เพราะฉะนั้น จึงมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจแห่งตัณหา ด้วยอำนาจของความพอใจในส่วนต่างๆ ของกาย เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ

ซึ่งตามธรรมดาทุกคนย่อมเห็นว่า ไฟเป็นของร้อน เข้าใกล้ไม่ได้ อันตราย ต้องเกิดความทุกข์ เพราะจะต้องถูกไฟไหม้ แต่ทำไมแมลงเม่าบินเข้ากองไฟด้วยความต้องการ ด้วยความยินดี ด้วยความปรารถนา ฉันใด ส่วนต่างๆ ของกาย ซึ่งประชุมรวมกันเป็นรูปที่ต้องแตกทำลายน่ารังเกียจนี้ เป็นทุกข์ แต่ผู้เขลาไม่เห็น เพราะฉะนั้น จึงยึดถือด้วยอำนาจกำหนดหมาย โดยความเป็นของเที่ยงและเป็นสุข

ทั้งๆ ที่ควรจะเห็นจริงๆ ว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าต้องบริหารทุกส่วนของกาย แต่เมื่อมีความยินดีพอใจในสักกายะ ในส่วนต่างๆ นี้แล้ว ในร่างกายนี้แล้ว ก็ย่อมติดในนิจจสัญญา คือ เห็นว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เมื่อเห็นว่าเที่ยง ก็ย่อมจะมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจของมานะ เหมือนสุนัขกำหนดหมายหลุมคูถว่าเป็นของเรา หรือว่าพอใจในสภาพที่เป็นปฏิกูลนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องสืบต่อไปถึงการเห็น สักกายะว่าเป็นตน เมื่อมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจความยินดีซึ่งเป็นตัณหา ด้วยอำนาจของมานะแล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดหมายด้วยอำนาจของความเป็นตัวตน ด้วยอำนาจของทิฏฐิ เหมือนการกำหนดภาพที่ปรากฏในกระจก

มีไหม ภาพในกระจก เราหรือเปล่าในกระจก ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้ว่า ไม่มีตัวเราอยู่ในกระจก แต่เวลาที่เห็นกระจกทุกครั้งเคยคิดอย่างนั้นหรือเปล่าว่าไม่ใช่เรา ที่อยู่ในกระจกนั้นไม่ใช่เรา เคยคิดอย่างนั้นไหม สำหรับคนที่มีความเห็นผิดก็เช่นเดียวกัน เห็นสักกายะทั้งหมด และก็ยึดถือว่าเป็นตน เห็นตนในตน เหมือนการกำหนดภาพที่ปรากฏในกระจก นี่เป็นการยึดถือที่เหนียวแน่นมาก แม้ไม่มีตัวตนในกระจก ก็ยึดถือว่าเป็นเราในกระจก และถ้าไม่ใช่ในกระจก กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ก็ยิ่งต้องเป็นเรา เพราะฉะนั้น การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ก็ย่อมจะมากมายเหนียวแน่น มั่นคง แน่นแฟ้นมาก ยากแก่การที่จะละ

คำว่า มญฺญนา หมายถึง การสำคัญ การกำหนดหมาย เป็นชื่อของบ่วงมารที่ละเอียดสุขุม บ่วงมารอันละเอียดสุขุมนั้น มีลักษณะหย่อนแก้ได้ยาก เปลื้องได้ยาก จึงผูกมัดปุถุชนไว้ ถึงแม้จะดิ้นรนมากเท่าไร ก็ไม่พ้นสักกายะไปได้ เหมือนสุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเครื่องผูกที่เหนียวแน่น ซึ่งไม่สามารถจะพ้นจากหลักซึ่งฝังไว้อย่างมั่นคงได้

ยากเหลือเกินที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เหนียวแน่นเหลือเกิน ไม่ว่าจากทางตาไปถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถึงส่วนต่างๆ ที่ปรากฏ ก็ยังคงผูกพันไว้ด้วยความเป็นตัวตนอย่างยิ่ง

มลฺลีโน สักกายะย่อมเบียดเบียนอยู่เป็นนิจด้วยชาติ ชรา และความทุกข์ทั้งหลาย มีโรค เป็นต้น การที่ท่านทั้งหลายตามเห็นสักกายะโดยความเป็นอสาตะ คือ โดยเป็นสภาพที่ไม่น่าชื่นใจ โดยความเป็นเภทะ คือ โดยสภาพที่แตกทำลาย โดยความเป็นอนัตตา คือ โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เรากล่าวว่า อันนั้นเป็นความเจริญของท่านทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ลองคิดเปรียบเทียบดูว่า เห็นส่วนต่างๆ ของกาย สักกายะ ที่ประชุมรวมกัน โดยอำนาจอย่างคนเขลา หรือว่าอย่างที่เป็นความเจริญ คือ เห็นโดยสภาพที่เป็นอสาตะ ไม่น่าชื่นใจ โดยสภาพที่เป็นเภทะ แตกทำลาย และโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อเป็นความยากเหลือเกินสำหรับทุกท่านที่จะเห็นกายตามความเป็นจริงได้ ทั้งโดยนัยของสมถะและโดยนัยของสติปัฏฐาน ท่านพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงได้อนุเคราะห์เกื้อกูล แสดงการที่จะพิจารณาส่วนต่างๆ ของกาย เพื่อให้เกิดความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความใน สัมโมหวิโนทนี

ท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะรู้สึกเบื่อ เพราะเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของกายอย่างละเอียด แต่ด้วยการเห็นพระคุณของท่านอรรถกถาจารย์ ซึ่งท่านได้กรุณาสงเคราะห์บุคคลในรุ่นหลังที่จะให้เกิดความสงบโดยการพิจารณาสภาพของส่วนต่างๆ ที่กาย จึงขอกล่าวถึงข้อความในอรรถกถาตอนนี้

สำหรับส่วนต่างๆ ของกายที่จะระลึก มีอาการ ๓๒ อย่าง เริ่มด้วยเกสา คือ ผมทั้งหลายก่อน ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

สีของผมทั้งหลายโดยปกติดำ มีสีเหมือนลูกประคำดีควายสด

ท่านที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จักลูกประคำดีควายสด ก็นึกถึงเท่าที่สามารถจะระลึกได้ คือ สีโดยปกติดำ

โดยสัณฐาน ยาวกลม โดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน คือที่ศีรษะ โดยโอกาส กำหนดด้วยจอนหูทั้ง ๒ ข้าง คือ ที่อยู่หรือที่เกิดของผมกำหนดด้วยจอนหูทั้ง ๒ ข้าง ข้างหน้ากำหนดด้วยหน้าผากเป็นที่สุด ข้างหลังกำหนดด้วยคอต่อ หนังสดหุ้มกะโหลกศีรษะเป็นโอกาสที่ตั้งของผมทั้งหลาย

คำว่า โดยปริจเฉท ความว่า เกสาทั้งหลาย เบื้องต่ำท่านกำหนดด้วยรากของตนที่เข้าไปตั้งอยู่ในหนังหุ้มศีรษะ มีปลายประมาณเท่าปลายเมล็ดข้าวเปลือก เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดด้วยผมด้วยกัน คือ กำหนดอย่างนี้ว่า ผม ๒ เส้น รวมเป็นเส้นเดียวกันย่อมไม่มี ดังนี้เรียกว่า สภาคปริจเฉท

ความที่ผมทั้งหลายยังไม่ปะปนกันกับโกฏฐาสที่เหลืออย่างนี้ว่า เกสาไม่ใช่โลมา โลมาไม่ใช่เกสา ดังนี้ กำหนดอย่างนี้ว่า ชื่อว่าเกสาทั้งหลายเป็นโกฏฐาสส่วนหนึ่ง ดังนี้เรียกว่า วิสภาคปริจเฉท นี้เป็นการกำหนดผมทั้งหลายโดยสีเป็นต้น

โกฏฐาส คือ ส่วนต่างๆ แต่ละส่วนๆ ลักษณะไม่เหมือนกัน คือ ขนที่กายกับผมที่บนศีรษะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่ละส่วน

สงบไหม แค่นี้ ยากจริงๆ โดยนัยของสมถภาวนาที่จะให้เกิดความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น สำหรับข้อความในอรรถกถาจะมีข้อความที่แสดงว่า

แม้พระอรหันต์ท่านนั้นก็เป็นสุขวิปัสสกะเช่นเดียวกับรูปอื่นๆ คือ บรรลุ อริยสัจธรรมด้วยปัญญา ไม่ใช่บรรลุพร้อมด้วยความสงบขั้นฌานต่างๆ

ข้อความต่อไปโดยนัยของสมถภาวนามีว่า

ส่วนกำหนดโดยปฏิกูล ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งสีเป็นต้น ของผมทั้งหลาย พึงทราบดังต่อไปนี้

ก็ขึ้นชื่อว่า เกสาทั้งหลายเหล่านี้เป็นของปฏิกูล แม้โดยสี แม้โดยสัณฐาน แม้โดยกลิ่น แม้โดยที่อยู่ แม้โดยโอกาส ก็เป็นของปฏิกูล ด้วยว่ามนุษย์ทั้งหลาย เห็นอะไรๆ มีสีเหมือนเกสาในภาชนะแห่งข้าวยาคู หรือว่าในภาชนะแห่งภัตร แม้อันเป็นของที่ชอบใจ ย่อมรังเกียจ โดยการกล่าวว่า สิ่งนี้เจือด้วยผม จงนำมันออกไป

จะสวยก็เฉพาะอยู่บนศีรษะ แต่เวลาที่ไปตกอยู่ในที่อื่น โดยเฉพาะในภาชนะแห่งภัตร คือ ในที่ใส่อาหาร ก็ไม่มีใครพอใจ เพราะฉะนั้น ต้องนำออกไป

เกสาทั้งหลายเป็นของปฏิกูลโดยสีอย่างนี้

นี่เป็นตอนกลางวันที่มองเห็นชัดถนัดว่าเป็นเส้นผมในอาหาร ก็เกิดความรังเกียจ แต่เวลาที่บริโภคในเวลากลางคืน เห็นไม่ชัด แต่เพียงถูกต้องเส้นปอ หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งมีสัณฐานเหมือนผม ก็ย่อมรังเกียจ ฉันนั้นนั่นแหละ ไม่มีความต้องการที่จะให้อยู่ในอาหารเลย ผมทั้งหลายเป็นของปฏิกูลโดยสัณฐานอย่างนี้

อนึ่ง กลิ่นของผมทั้งหลาย อันเว้นจากการตบแต่ง มีการทาด้วยน้ำมัน และอบด้วยดอกไม้ เป็นต้น ย่อมมีกลิ่นน่ารังเกียจอย่างยิ่ง กลิ่นของผมทั้งหลายที่เขาใส่ไปในไฟ มีกลิ่นน่ารังเกียจยิ่งกว่านั้น

เวลานี้ไม่ได้กลิ่นอย่างนั้น ใช่ไหม ทำให้รู้สึกว่าไม่น่ารังเกียจเลย แต่การที่จะให้เกิดความสงบจากความยินดีพอใจ ต้องระลึกถึงแม้ในขณะที่ผมทั้งหลายที่เขาใส่ไปในไฟ มีกลิ่นน่ารังเกียจยิ่งกว่านั้น

อันที่จริง ว่าโดยสีและสัณฐาน เกสาทั้งหลายไม่พึงเห็นเป็นของปฏิกูลก็ได้ แต่เมื่อว่าโดยกลิ่น พึงเป็นของปฏิกูลโดยแท้ เหมือนอย่างว่า อุจจาระของเด็กอ่อน โดยมีสีเหมือนขมิ้น แม้โดยสัณฐาน ก็มีสัณฐานเหมือนแง่งขมิ้น และซากสุนัขดำซึ่งขึ้นพองอันเขาทิ้งแล้วในที่กองขยะ โดยสี มีสีเหมือนผมตาลสุก โดยสัณฐาน มีสัณฐานกลมเหมือนตะโพนที่เขาปล่อยกลิ้งไป เพราะฉะนั้น สิ่งแม้ทั้งสอง เมื่อว่าโดยสีและสัณฐาน ก็ไม่พึงเป็นของปฏิกูล แต่เมื่อว่าโดยกลิ่น พึงเป็นของปฏิกูลได้ ฉันใด แม้เกสาทั้งหลายก็พึงเป็นฉันนั้น

นอกจากนั้นยังอุปมาต่อไป เพื่อที่จะให้เกิดความสงบจากการที่จะพอใจในเรื่องของผม โดยมีข้ออุปมาว่า

เหมือนอย่างว่า ผักสำหรับแกงทั้งหลาย อันเกิดแล้วในที่อันไม่สะอาด โดยการไหลไปแห่งน้ำครำ ย่อมเป็นของน่ารังเกียจ ย่อมเป็นของไม่น่าบริโภคแก่มนุษย์ชาวนครทั้งหลาย ฉันใด แม้ผมทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมเป็นของน่ารังเกียจอย่างยิ่ง เพราะเกิดแล้วด้วยการไหลไปแห่งน้ำหนอง น้ำเลือด น้ำดี และน้ำเสมหะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงเป็นของปฏิกูล โดยที่อยู่แห่งผมทั้งหลาย

ยากหรือง่าย ฟังแล้ว ไม่สงบเลยหรือเปล่า พิจารณาหรือเปล่า ถึงพิจารณาก็ยากที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสงบหรือยัง หรือว่าสงบหรือเปล่า ถ้าไม่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น อย่าลืม ที่ท่านพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายท่านอนุเคราะห์ด้วยการแสดงความปฏิกูลต่างๆ นานาประการ แต่ก็ยากที่จะเกิดความสงบได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยเป็นสุขวิปัสสกะจึงมีมากกว่าผู้ที่รู้แจ้ง อริยสัจธรรมพร้อมกับฌานจิต คือ บรรลุฌานด้วย

สำหรับเรื่องของผม ข้อความในอรรถกถายังมีต่อไป แต่ขอข้ามไปถึงโลมา คือ ขน ซึ่งเป็นโกฏฐาสที่ ๒ คือ ส่วนที่ ๒ ที่มีอยู่ที่กาย ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยจะมีใครพิจารณาถึงความปฏิกูลของขนที่มีอยู่ที่ร่างกาย

ข้อความในอรรถกถามีว่า

โลมา สีโดยปกติ ไม่ดำสนิทเหมือนเกสาทั้งหลาย แต่มีสีดำปนเหลือง โดยสัณฐานก็ไม่เหมือนกัน คือ โดยสัณฐานปลายเรียวโค้ง ปลายโอนเหมือนรากตาล โดยทิศ เกิดในทิศทั้ง ๒ โดยโอกาส เว้นโอกาสเป็นที่ตั้งแห่งผมทั้งหลาย และพื้นฝ่ามือและเท้า โดยมากเกิดในหนังหุ้มสรีระที่เหลือ โดยปริจเฉท เบื้องล่างปรากฏด้วยรากของตน อันเข้าไปตั้งอยู่ในหนังหุ้มสรีระ มีประมาณลิกขา ๑ เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดด้วยแต่ละเส้น คือว่า ขน ๒ เส้นรวมกันเป็นเส้นเดียวกัน ไม่มี นี้เป็นสภาคปริจเฉทแห่งขนเหล่านั้น แต่วิสภาคปริจเฉทเช่นกับเกสานั่นแล

สำหรับอาการต่อไปของกาย คือ เล็บ ภาษาบาลีว่า นขา พิจารณาด้วยก็ได้ในขณะที่เห็น

คำว่า นขา เป็นชื่อแห่งแผ่นเล็บ ๒๐ เล็บเหล่านั้นแม้ทั้งปวง โดยสี มีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานเหมือนเกล็ดปลา โดยทิศ เกิดแล้วในทิศทั้ง ๒ คือ เล็บเท้า เกิดแล้วในทิศเบื้องต่ำ เล็บมือ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน โดยโอกาส คือที่ตั้ง ตั้งอยู่เฉพาะแล้วที่หลังปลายนิ้วทั้งหลาย โดยปริเฉทกำหนดในทิศทั้ง ๒ ด้วยเนื้อปลายนิ้วทั้งหลาย และด้วยเนื้อหลังนิ้วข้างใน และปลายกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดแต่ละอัน คือ เล็บทั้งสองรวมเป็นอันเดียวกันไม่มี นี้เป็นสภาคปริจเฉทแห่งเล็บเหล่านั้น

ถ้าจะพิจารณาเล็บ ก็ต้องดูให้เห็นเป็นปฏิกูลจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่งาม โดยสัณฐาน ก็มีสัณฐานเพียงเหมือนกับเกล็ดปลา เพราะฉะนั้น ที่ว่าสวยสักเท่าไร ก็คือเกล็ดปลาที่ติดอยู่ที่ปลายนิ้ว

อาการต่อไป อาการที่ ๔ คือ ฟัน ภาษาบาลีว่า ทันตา มีข้อความว่า

คำว่า ทันตา ฟันทั้งหลาย ได้แก่ กระดูกฟัน ๓๒ ซี่ ของผู้ที่มีฟันบริบูรณ์ ฟันแม้เหล่านั้น โดยสี มีสีขาว โดยสัณฐาน มีสัณฐานมิใช่น้อย คือ แต่ละซี่นั้นมีรูปร่างไม่เหมือนกัน จริงอยู่ บรรดาฟันเหล่านั้น ฟันสี่ซี่ในท่ามกลางแห่งแถวฟันเบื้องล่างก่อน มีสัณฐานเหมือนเมล็ดฟักที่เขาปักเรียงลำดับที่ก้อนดินเหนียว ในข้างทั้งสองแห่งฟันเหล่านั้น ฟันแต่ละซี่ๆ มีรากเดียวปลายเดียว มีสัณฐานเหมือนดอกมะลิตูม ถัดจากนั้นไป แต่ละซี่มี ๒ ราก มี ๒ ปลาย ถัดจากนั้นไป ฟัน ๒ ซี่ มีราก ๓ ปลาย ๓ ถัดจากนั้นไปข้างละ ๒ ซี่ มีราก ๔ ปลาย ๔ ดังนี้ แม้ในแถวเบื้องบน ก็นัยนี้นั่นแหละ โดยทิศ เกิดแล้วในทิศเบื้องบน โดยโอกาส ตั้งอยู่เฉพาะแล้วที่กระดูกกรามทั้งสอง โดยปริจเฉท เบื้องล่างกำหนดด้วยพื้นรากของตน อันตั้งอยู่ที่กระดูกกราม เบื้องบนกำหนดด้วยอากาศ เบื้องขวางกำหนดแต่ละซี่ คือ ฟัน ๒ ซี่รวมเป็นซี่เดียวกันไม่มี นี้เป็นสภาคปริจเฉทแห่งฟันเหล่านั้น แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

เปิด  241
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565