แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 864

สุ. ตามความเป็นจริงแล้ว หทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจริงๆ มองไม่เห็นด้วยตา เช่นเดียวกับจักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปที่สามารถรับกระทบสีสันวัณณะต่างๆ เป็นรูปที่ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ หรือเช่นเดียวกับโสตปสาท ซึ่งเป็นรูปที่มีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถรับกระทบเสียง เป็นรูปที่ไม่มีใครสามารถจะเห็นได้เลย

รูปที่ปรากฏให้เห็นได้ มีเพียงรูปเดียวในรูป ๒๘ รูป คือ สีสันวัณณะต่างๆ แต่สีสันวัณณะไม่ใช่หัวใจ ไม่ใช่หทยวัตถุที่เกิดดับและเป็นที่เกิดของจิตตั้งแต่ปฏิสนธิ

ทันทีที่จิตเกิดขึ้น มีหทยรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม เกิดกับกลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูป และมีหทยรูปอีก ๑ ชีวิตินทริยรูปอีก ๑ รวมกลุ่มนั้นมี ๑๐ รูป เรียกว่า วัตถุทสกะ คือ หทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป ในขณะนั้นยังไม่มีรูปร่างสัณฐานเป็นหัวใจ หรือว่าดอกบัวตูม ใช่ไหม แต่รูปนั้นมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้นพร้อมกับปฏิสนธิจิตแล้ว และรูปนั้นไม่ใช่ว่าเที่ยง แต่เกิดดับโดยที่ไม่มีใครเห็นเลย ขณะใดเห็น ขณะนั้นเห็นสีสันวัณณะ ไม่ใช่เห็นหทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่มีการเจริญเติบโตขึ้น ส่วนต่างๆ ของร่างกายครบถ้วนขึ้น ใน ขณะนั้นจะมีกลุ่มของรูปซึ่งมีรูปร่างสัณฐานเหมือนดอกบัวตูม เป็นรูปร่างของเนื้อหัวใจ แต่ไม่ใช่รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจริงๆ

รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตที่เรียกว่า หทยวัตถุ เป็นรูปซึ่งมองไม่เห็น และปกติเมื่อมีการเจริญเติบโตขึ้น รูปนั้นจะอยู่กลางหัวใจ ซึ่งรูปนั้นเกิดดับโดยกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น เวลาที่ผ่าตัดหัวใจออกไป ไม่มีใครยับยั้งกรรมที่จะทำให้หทยวัตถุเกิดได้ เช่นเดียวกับตอนที่ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ไม่มีรูปร่างของหัวใจ เพราะยังไม่ได้เจริญเติบโต แต่มีกลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา และหทยะซึ่งเป็นที่ตั้งที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และ ชีวิตินทริยรูป

ในกลุ่มที่เล็กที่สุดนี้ กรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป ซึ่งมองไม่เห็น ๙ รูป มีรูปเดียวที่มองเห็นได้ คือ สี เพราะฉะนั้น หทยวัตถุจริงๆ มองไม่เห็น กระทบสัมผัสไม่ได้ ถ้ากระทบสัมผัส ก็กระทบสัมผัสกับอ่อนหรือแข็ง ซึ่งเป็นธาตุดิน

ถ. การเจริญสติปัฏฐาน โดยเฉพาะปฏิกูลบรรพนี้ มีบางสำนักหรือบางคนพูดว่า เป็นสมถะเท่านั้น เจริญวิปัสสนาไม่ได้ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยชี้แจงการเจริญสติปัฏฐาน โดยนัยที่ใช้ปฏิกูลบรรพ

สุ. สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องของการเจริญสมถภาวนา ก็จะพิจารณาส่วนต่างๆ ของกาย กายคตาสติ โดยนัยของสมถะที่ทำให้จิตสงบเท่านั้น แต่สำหรับ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะคิดอะไร ฟังอะไร ขณะนั้นสติสามารถที่จะเกิดตามระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ต้องการที่จะระลึกถึงส่วนต่างๆ ของกายแล้วสงบเท่านั้น แต่ ไม่ว่าจะเป็นในขณะใดที่จิตจะน้อมไปถึงสภาพธรรมที่ได้ยิน หรือได้ฟัง หรือพิจารณา และมีปัจจัยที่สติจะเกิดตาม ระลึกรู้ นั่นเป็นจุดประสงค์ของสติปัฏฐาน

ผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจคำว่า กายคตาสติ เช่น ใน กายคตาสติสูตร ไม่ได้หมายเฉพาะการระลึกถึงส่วนต่างๆ อาการต่างๆ ของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุน้ำ ที่กายเท่านั้น แต่หมายความถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด ๑๔ บรรพ แต่ทรงใช้คำว่า กายคตาสติ เพราะเป็นสติที่ระลึกเป็นไปในกาย

เพราะฉะนั้น คำว่า กายคตาสติ ไม่ได้หมายเฉพาะสมถะอย่างเดียว แต่เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด ซึ่งแสดงลักษณะของธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม โดยอาการต่างๆ เช่น โดยอาการที่เป็นลมหายใจ โดยอาการที่ ทรงอยู่ตั้งอยู่เป็นอิริยาบถต่างๆ โดยอาการที่ทรงอยู่ตั้งอยู่เคลื่อนไป เหยียดคู้ต่างๆ โดยอาการที่เป็นส่วนต่างๆ ของกาย ซึ่งโดยนัยของสมถภาวนาใช้คำว่า กายคตาสติ

แต่ว่าโดยนัยของวิปัสสนา กายคตาสติ หมายถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด เพราะเป็นการระลึกถึงอาการของกายซึ่งเป็นธาตุทั้ง ๔ โดยสังเขป หรือว่าโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง

ถ. สมมติว่า เราระลึกถึงในขณะที่ร้อน มีเหงื่อออก หรือขณะอยู่ในที่แออัด มีเหงื่อไหล ขณะที่จิตเรานึกถึงความร้อนหรือเหงื่อ ความคิดของเราที่เกิดขึ้นโดยมีเหงื่อหรือความร้อนเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นจะเรียกว่า เจริญสติปัฏฐานได้ไหม

สุ. สำหรับเรื่องเหงื่อ เป็นอาการของธาตุน้ำ ซึ่งปฏิกูล จะระลึกอย่างไรสำหรับผู้ที่เจริญสมถภาวนา ก็ต้องระลึกถึงเหงื่อที่เต็มขุมขน ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้นโดยความเปลี่ยนไปของอุตุ หรือฤดู คือ อากาศ ทำให้เกิดเหงื่อ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีเหงื่อท่วมตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เวลาที่ร้อนจัด หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ก็ทำให้เหงื่อเกิดขึ้น ผู้นั้นก็ระลึกถึงเหงื่อ ขณะนั้นเห็นในความเป็นปฏิกูลของเหงื่อซึ่งมีอยู่ เป็นสมถะ แต่ถ้าในขณะนั้น อาการของธาตุซึ่งสติระลึกรู้โดยความเป็นธาตุ ไม่ได้นึกถึงเหงื่อ ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครจะไปจัดแจงได้ว่า อย่าระลึกถึงผม อย่าระลึกถึงเหงื่อ อย่าระลึกถึงอาหารเก่า อย่าระลึกถึงอาหารใหม่ จิตใจของคนไม่สามารถจะบังคับได้ แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะน้อมนึกเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือว่านึกถึงอะไร แต่วันหนึ่งๆ ก็อาจจะมีหลายครั้งที่ระลึกถึงส่วนต่างๆ ที่กาย ถ้าระลึกด้วยความยินดีพอใจก็เป็นอกุศล แต่เวลาที่เข้าใจถึงการที่จะน้อมถึงความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ที่ปรากฏออกมาให้เห็น ขณะนั้นจิตสงบได้เป็นสมถะ เพราะสมถะหมายความถึงสงบ แต่ในขณะใดที่ไม่ได้นึกถึงเหงื่อเลย ร้อน แต่ไม่ได้นึกถึงส่วนที่เป็นเหงื่อ ลักษณะที่เป็นเหงื่อ ในขณะนั้นสติระลึกถึงสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะที่ร้อน ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน

ถ. ทำนองเดียวกัน ขณะที่ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ เช่น พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับหัวใจ เรานึกถึงคำว่า หัวใจ ตามที่ท่านอาจารย์บรรยาย โดยที่ความรู้สึกเกิดขึ้นคิดถึงหัวใจเป็นอารมณ์ ส่วนจิตใจที่เรานึกนี้ จะนำมาเป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐานได้ไหม

สุ. ได้แน่นอน ไม่ว่าจะนึกถึงอะไร สติเกิดตามระลึกรู้ในขณะนั้นว่า เป็นสภาพรู้ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ของภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะฟังเรื่องอะไร หรือฟังเรื่องกายคตาสติ ในขณะนั้นสามารถที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ไม่ใช่เพราะสมถะหรือสงบเท่านั้นในขณะที่ฟัง แต่เพราะอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลัง ได้ยิน หรือว่ากำลังเข้าใจ กำลังนึกถึง โดยความเป็นสภาพรู้แต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน

ถ. เวลานอนอยู่ บางครั้งลมพัด รูปไหวปรากฏ ตอนนั้นยังไม่ได้หลับสนิท พิจารณาลักษณะรูปไหว จะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. สติเกิด ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ใครรู้ ต้องผู้นั้นรู้ และขณะที่ สติปัฏฐานเกิด จะต้องมีอาการของรูปหรือนาม คือ มีลักษณะของรูปนั้นๆ หรือนาม นั้นๆ ปรากฏ เป็นเครื่องให้สติระลึกรู้

ถ. ใช่หรือเปล่า

สุ. ใช่หรือเปล่า ใครรู้

ถ. เวลานอนหลับ ฝันว่าเสียใจ และพิจารณาลักษณะของนามธรรม เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

สุ. เป็นหรือเปล่า ใครรู้ ถ้าสติเกิด ไม่หลงลืม และก็รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน

ถ. ในฝันก็นึกว่า เจริญสติว่าสี ตอนนั้นฝันไปเรื่อยๆ ก็เกิดความเสียใจขึ้นมา

สุ. สติปัฏฐานเกิดในขณะที่ฝันได้ไหม ใครจะตอบได้ นอกจากคนนั้นตอบ ใช่ไหม คนที่สติปัฏฐานเกิดก็รู้ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดก็รู้ ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิดก็รู้ นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดก็ไม่รู้ อย่างนั้นจะเรียกว่าเจริญสติปัฏฐานไม่ได้

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า เวลาคนอื่นเกิดความโมโห หรืออะไรอย่างนี้ ให้เราพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงของลักษณะที่ปรากฏ ก็เหมือนกับว่าจะให้ไปพิจารณาลักษณะของคนอื่น ก็เป็นการนึก

สุ. มิได้ ตัวเองเป็นอย่างไร

ถ. อาจารย์กล่าวว่า เห็นคนอื่นโกรธ สติก็สามารถจะเกิดได้ ให้พิจารณาสภาพตามความเป็นจริง

สุ. แล้วแต่ว่าขณะนั้นอะไรจะปรากฏ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สติสามารถที่จะเกิดรู้ลักษณะของสภาพนั้น และถ้าปัญญาคมกล้าก็ประจักษ์ความเกิดดับ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องดับ

ถ. แต่ส่วนมากสติไม่ค่อยเกิด

สุ. เป็นของธรรมดา ต้องอบรม ต้องเจริญนาน อยากที่จะให้โลกุตตรจิต คือ มรรคจิต ผลจิตเกิด รู้แจ้งนิพพานไหม

ถ. อยาก

สุ. พร้อมหรือยัง

ถ. ยัง

สุ. ยัง ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เรื่องอยาก กับเรื่องพร้อม ผู้ที่มีปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริง เป็นผู้ตรง ยังไม่ได้รู้อะไรเลย

ทางตาที่กำลังเห็น ซึ่งความจริงทุกคนอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ คือ เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ไม่ใช่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นเป็นโลกของปรมัตถสัจจะ ยังไม่สามารถที่จะแยกโลกทั้งสองในชีวิตประจำวัน จะรู้แจ้งนิพพานได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น เรื่องอยากเป็นเรื่องอยาก แต่เรื่องตรงต้องเป็นเรื่องตรง ว่าพร้อมที่จะรู้แจ้งนิพพาน พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจริงหรือเปล่า ถ้ายังไม่พร้อม ก็รู้ว่า ไม่จำเป็นต้องอยาก เสียเวลา และแม้ว่าอยากจะเกิดขึ้น อยากนั้นก็หมดไป แต่หน้าที่คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ตามปกติ ก่อนที่จะรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ได้

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้ความจริง ก็มีแต่ความอยาก และบางครั้งก็ถูกความอยากนำไป พาไป จนหลอกตัวเองว่า ใกล้ที่จะรู้แจ้งนิพพาน หรือว่าอาจจะกำลังรู้แจ้งนิพพาน หรือคิดว่าเดี๋ยวก็คงจะรู้แจ้งนิพพานภายในเย็นนี้ หรืออาทิตย์นี้ หรือเดือนนี้ หรือปีนี้ โดยที่ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงเลยว่า ทางตา รู้ความต่างกันของขณะที่เป็นปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะจริงๆ หรือยัง ถ้ายังไม่รู้ ก็ยังไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือสมมติสัจจะว่าเป็นของจริงแท้

คนที่กำลังนั่ง จริงเหลือเกิน นั่นคือโลกของสมมติ ไม่ใช่โลกของปรมัตถ์ แต่ผู้ที่อบรมเจริญเจริญปัญญาจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาจะต้องเกิดขึ้น ตามรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ชัดในความต่างกันของปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะโดยสติปัฏฐาน เพราะปรมัตถสัจจะปรากฏทางตา ไม่ใช่คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏเป็นคน เป็นสัตว์

ปรมัตถสัจจะปรากฏทางหู เสียงปรากฏทางหู ไม่ใช่ขณะที่นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ของเสียง ซึ่งเป็นสมมติสัจจะ กลิ่นปรากฏทางจมูก ไม่ใช่ขณะที่กำลังนึกถึงเรื่องกลิ่นต่างๆ ซึ่งเป็นสมมติสัจจะ รสปรากฏที่ลิ้น เป็นปรมัตถสัจจะ ไม่ใช่ขณะที่กำลังนึกชอบในรสต่างๆ ซึ่งสมมติเป็นรสนั้น รสนี้ หรือในขณะที่กำลังคิดถึงรสนั้นรสนี้ต่างๆ

ทางกายก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่ากระทบสัมผัสอะไร ต้องรู้ขณะที่ต่างกันของ ปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ ซึ่งเกิดทางมโนทวารต่อจากทางกายทวาร

นี่เป็นการละคลายการยึดถือตัวตนในโลกของสมมติสัจจะ เพราะขณะที่ปัญญารู้ปรมัตถสัจจะ จะเห็นปรมัตถธรรมนั้นเป็นตัวตนไม่ได้ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทาง เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจในสภาพที่เป็นปรมัตถ์ จึงไม่มีตัวตนในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์เลย แต่เวลาที่คิดนึกทางใจถึงปรมัตถ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอะไรก็ตาม ขณะนั้น ผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้ว่า ขณะนั้นเป็น สมมติสัจจะ เป็นเพียงความจริงของความคิดนึก ในขณะที่คิดนึกเท่านั้น ไม่ใช่ในขณะที่เป็นปรมัตถสัจจะ จึงจะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ขณะใดเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ ขณะใดเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู และต่อจากนั้นเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางใจ จึงจะละคลายความสำคัญตน ซึ่งเป็นโลกของสมมติสัจจะทางมโนทวาร จนกระทั่งแม้ปกติธรรมดาอย่างนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติก็สามารถที่จะเกิดต่อกันอย่างมั่นคง ทางตาและทางใจ ทางหูและทางใจ ปรากฏความไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นทางตาหรือทางใจ ทางหูหรือทางใจ ทางจมูกหรือทางใจ ทางลิ้นหรือทางใจ ทางกายหรือทางใจ จึงจะละคลายความยึดมั่นในนามรูป จนกว่าปัญญาจะคมกล้าขึ้นพร้อมที่จะประจักษ์แจ้ง รู้ชัดในอริยสัจธรรมได้ แต่ไม่ใช่ว่าอยาก ต้องถามตัวเองว่า พร้อมหรือยัง ถ้ายังไม่พร้อม ก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ เท่านั้นเอง

ถ. การมาฟังธรรม หรือการฝึกหัดเจริญสติปัฏฐานนี้ เทียบเท่ากับการฝึกละสมมติสัจจะ และฝึกให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ตรงต่อสัจธรรมจริงๆ เมื่อฝึกอย่างนี้ต่อไปแล้ว อย่างเช่นพระอริยะ ท่านจะรับอารมณ์ต่างๆ ไม่เหมือนธรรมดาอย่างปุถุชน คงจะเป็นสภาวธรรมมากกว่าสมมติสัจจะ หรืออย่างไร

สุ. สติเกิด ชำนาญมากกว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มจะอบรม

ถ. การรับอารมณ์คงจะเป็นไปตามปกติ แต่ที่พิเศษ คือ ละสมมติสัจจะเท่านั้นเองใช่ไหม

สุ. ความรู้ รู้ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน และรู้ว่า ขณะนั้นเป็นการรู้อารมณ์ทางไหน

ถ. แต่ว่าเป็นการรับอารมณ์อย่างธรรมดาทั่วไป เป็นปกติ

สุ. แน่นอน เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่เริ่มรู้ว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น ต้องรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ จึงได้รู้ความต่างกันว่า ตอนที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถจะเป็นปกติอย่างนี้ได้เพราะยังไม่ชำนาญพอ แต่ว่าเมื่ออบรมจนชำนาญ ยิ่งชำนาญขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเป็นปกติเท่านั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมจึงไม่ใช่การรู้ในขณะอื่น แต่เป็นการรู้ในขณะที่กำลังเป็นปกติอย่างขณะนี้นั่นเอง

ถ. ปกติตามธรรมชาติ ก็อยู่ในสภาวธรรมทั้งนั้น ไม่มีสมมติสัจจะ แต่เรามายึดในสมมติสัจจะ และที่เรามาฟัง มาอบรม หรือภาวนานี้ ก็เพื่อละสมมติสัจจะ ให้รู้ความเป็นจริงที่เป็นสัจธรรม

สุ. และรู้ว่าขณะใดเป็นสมมติสัจจะ คือ ขณะที่คิดนึกทางมโนทวาร

ถ. ที่ฝึกๆ อยู่ทุกวันนี้ วิปัสสนา

สุ. ใช่

มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านคาดหมายการที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรม ว่าจะเป็นอย่างอื่น แต่ว่าแท้ที่จริงแล้ว คือ ปัญญาที่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอนัตตา

ขณะนี้สภาพธรรมเป็นอนัตตาอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นอื่น แต่ปัญญายังไม่รู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า ขณะที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของอนัตตานั้น ต้องเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ขณะนี้ แต่แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้นั่นเองเป็นอนัตตา ไม่ใช่เป็นอื่น เป็นอนัตตาในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องพิจารณาจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง

เปิด  249
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565