แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 866

ข้อความต่อไป

ซึ่งอุทรใดเล่า ความไม่ชอบใจในอาหารทั้งหลายมีข้าวและน้ำเป็นต้น ย่อมเกิดได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงความไม่ชอบใจเพราะการแลดูด้วยปัญญาจักษุเล่า

อนึ่ง ในอุทรใดเล่า อาหารมีข้าวและน้ำเป็นต้น ที่ตกไปแล้ว (คือ กลืนเข้าไปแล้ว) ย่อมถึงซึ่งการจำแนกเป็น ๕ อย่าง

อาหารที่รับประทานเข้าไปแล้ว จะจำแนกออกได้เป็น ๕ ส่วน คือ

ส่วนหนึ่ง สัตว์ทั้งหลายย่อมเคี้ยวกิน ส่วนหนึ่งไฟในท้องย่อมเผาผลาญ ส่วนหนึ่งเป็นมูตร (ปัสสาวะ) ส่วนหนึ่งเป็นคูถ (อุจจาระ) ส่วนหนึ่งถึงซึ่งความเป็นอาหารเหลว ย่อมเข้าไปพอกพูนเลือดเนื้อให้เจริญ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ส่วนซึ่งเหลือแล้วจากการใช้ ออกมาทางตาเป็นขี้ตา ทางหูเป็น ขี้หู เป็นต้น นอกจากจะเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ นี่คือส่วนของอาหารที่เหลือจากการใช้ เป็นส่วนต่างๆ แล้ว

ว่าโดยปริจเฉท กำหนดด้วยเยื่อหุ้มอุทร และส่วนที่เป็นอาหารใหม่ นี้เป็นสภาคปริจเฉทของอาหารใหม่ แต่วิสภาคปริจเฉท เป็นเช่นกับเกสานั่นแหละ

นี่เป็นเรื่องจริงในร่างกาย ซึ่งเป็นปฏิกูลอย่างนี้ตลอดเวลา สำหรับเรื่องของอาหารใหม่ ท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณา และรู้สึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาหารได้ โดยนัยของอาหาเรปฏิกูลสัญญา เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนาก็ไม่ได้จำกัดว่า จะต้องให้เป็นเฉพาะในอารมณ์นั้นอย่างเดียว แล้วแต่ว่าเมื่อน้อมนึกแล้วจะมีสัญญาความจำในความเป็นปฏิกูลของอาหาร และเกิดความสงบ ขณะนั้นก็เป็นนัยของ อาหาเรปฏิกูลสัญญา หรือว่าจะโดยนัยของการเป็นอาหารใหม่ก็ได้

สำหรับข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระอภิธรรม วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ ได้แสดงถึงการบริโภค ตั้งแต่การกลืนกิน จนถึงการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะซึ่งเป็นอาหารเก่า คือ จากการเป็นอาหารใหม่ในขณะที่กลืนกิน จนกระทั่งไปถึงการเป็นอุจจาระ คือ อาหารเก่า

ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระอภิธรรม วิภังคปกรณ์ ฌานวิภังค์ มีข้อความเรื่องการบริโภคอาหาร ซึ่งท่านผู้ฟังที่บริโภคอยู่ทุกวัน อาจจะยังไม่ได้ระลึกถึงการบริโภคดังที่ท่านพระอรรถกถาจารย์ได้แสดงไว้ แต่เมื่อได้ทราบ ก็จะเห็นจริง และอาจจะเกิดระลึกอย่างนั้นบ้างด้วยกุศลจิต

ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี มีว่า

เวลาที่บริโภคอาหารนั้น ควรจะระลึกถึงความจริงว่า เปรียบตัวเองผู้บริโภคเหมือนคนอนาถา การบริโภคอาหารนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่บริโภคไม่ได้ คนอนาถาต้องมีสิ่งที่จำเป็นหลายอย่างที่ต้องการในการที่จะดำรงชีวิต ฉันใด ในขณะที่ท่านผู้ใด ก็ตามที่กำลังจะบริโภคอาหาร ในขณะนั้นก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องบริโภค ขณะที่จะบริโภคนั้น ก็เปรียบตัวท่านที่กำลังจะบริโภคเหมือนคนอนาถา ซึ่งก็ไม่ใช่คนอนาถาที่ ไม่น่าสงสาร แต่ความจริงแล้ว เป็นคนอนาถาที่แสนจะน่าสงสาร เพราะกายมีความเป็นปฏิกูลต่างๆ ยังไม่พอ ยังจะต้องมาจุนเจือ มาค้ำจุนร่างกายซึ่งเป็นปฏิกูล เพื่อที่จะให้ดำรงต่อไป เหมือนกับคนอนาถาที่มีน้ำเลือด น้ำหนอง และหนอนไหลออกแล้วจากปากแผลทั้งหลาย เกลื่อนกล่นแล้วด้วยแมลงวันหัวเขียว บางครั้งคนที่ใจดี ก็ให้ผ้าพันแผลชนิดดี บางครั้งก็ให้ชนิดไม่ดี บางครั้งก็ได้กระเบื้องสำหรับใส่เภสัชชนิดดี บางครั้งก็ได้ชนิดไม่ดี

ลองคิดถึงภาพของคนอนาถาซึ่งมีน้ำเลือด น้ำหนอง และหนอนไหลออกจากปากแผลทั้งหลาย เกลื่อนกล่นด้วยแมลงวันหัวเขียวตอม และบางครั้งก็มีผู้มีใจดีให้ผ้าพันแผลชนิดดี ซึ่งเสื้อผ้าที่กำลังสวมใส่อยู่ในขณะนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับผ้าพันแผล แล้วแต่ว่ากรรมจะจำแนกให้มีผ้าพันแผลชนิดใด ในบางครั้งก็ได้สวมใส่ผ้าพันแผลชนิดดี บางครั้งก็ได้ชนิดไม่ดี แล้วแต่ว่ากรรมจะจัดสรรให้สิ่งใด และสำหรับในการรับประทานอาหาร บางครั้งก็ได้กระเบื้องสำหรับใส่เภสัชชนิดดี

อาหารเปรียบเหมือนยาจริงๆ ใครไม่บริโภคไม่ได้ จะต้องมีความทุกข์ มีความกระวนกระวาย มีความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร ไม่ต่างกับการรับประทานยา ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่แม้กระนั้น ดูความวิจิตรของชีวิตของ แต่ละบุคคลที่จะต้องเป็นไปตามกรรม

สำหรับคนอนาถา บางครั้งก็ได้กระเบื้องสำหรับใส่เภสัช คือ ยา ชนิดดี แล้วแต่ใครจะให้ บางครั้งก็ได้ชนิดไม่ดี แต่ท่านที่รู้สึกว่า ท่านยังไม่ใช่คนอนาถา ลองคิดถึงการบริโภคของท่านแต่ละครั้ง ลองดูภาชนะที่ใส่อาหารที่บริโภคแต่ละวัน บางครั้งก็ประณีต บางครั้งก็ไม่ประณีต บางครั้งอาจจะเป็นจานแตก จานบิ่นก็ได้ แล้วแต่สภาพการณ์ในแต่ละขณะ ในแต่ละวัน และถ้าจะพิจารณาละเอียด ไม่ใช่แต่เฉพาะจานที่ใส่อาหาร แก้วใส่น้ำ ทุกสิ่งทุกประการที่เป็นเครื่องบริโภค ก็แล้วแต่ว่า แต่ละขณะจิตจะมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการกระทบสิ่งที่เป็นโผฏฐัพพะอย่างใด ซึ่งคนอนาถาไม่เป็นผู้ดีใจหรือเสียใจในวัตถุเหล่านั้น เพราะว่ามีความต้องการท่อนผ้า สักว่าเป็นเครื่องปกปิดแผลเท่านั้น

รู้สึกอย่างนี้หรือเปล่า ในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ฟัง ไม่ระลึกถึงความจริง จิตก็จะเพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเครื่องแต่งกาย ในภาชนะ ในเครื่องใช้ ในทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถ้าระลึกถึงคนอนาถาซึ่งกำลังป่วยหนัก และสิ่งที่ต้องการที่สุด คือ เภสัช หรือยา หรือสำหรับท่อนผ้านั้น ก็มีความต้องการ เพียงว่านำมาปกปิดแผลเท่านั้นจริงๆ

คนอนาถานั้น ย่อมไม่เป็นผู้ดีใจหรือเสียใจในวัตถุเหล่านั้น เพราะว่าต้องการประโยชน์เพียงท่อนผ้าสำหรับปกปิดแผล หรือว่ายาสำหรับรักษาโรค

แต่ว่าเมื่อไรจะรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ในแต่ละวันที่บริโภคปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องนุ่งห่ม หรือว่าเรื่องอาหารการบริโภค

และสำหรับกระเบื้องนั้น คนอนาถานั้นไม่เป็นผู้ดีใจหรือเสียใจ เพราะมีความต้องการสักว่าเป็นเครื่องใส่เภสัชเท่านั้น และอาหารที่ได้แล้วในบาตร ก็ราวกะเภสัช คือ เป็นเพียงยาเท่านั้น

ถ้าเป็นอย่างนี้ได้จริงๆ จิตจะสงบจากโลภะ โทสะ และถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลในขณะนั้นตามความเป็นจริง ก็ย่อมสามารถที่จะละการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนด้วย

เพราะฉะนั้น เรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ว่า อาหารที่เป็นสัปปายะจริงๆ ที่สบาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ประณีต หรือมีรสประการใดก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่ว่า ขณะนั้นกุศลจิตที่บริโภคอาหารนั้นเกิด หรือว่าอกุศลจิตเกิด

ความสำคัญอยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่อาหาร ถ้าท่านบริโภคอาหารอร่อย และเกิดความยินดีพอใจ เป็นโลภะ ขณะนั้นอาหารนั้นเป็นสัปปายะไหม ถ้าจะเป็น ก็เป็นสำหรับกายเท่านั้น แต่ไม่ใช่สัปปายะสำหรับใจ ซึ่งที่ถูกแล้ว ควรจะเป็นทั้ง ๒ ประการ เพราะเมื่อร่างกายได้อาหารที่เหมาะที่ควร ทำให้ไม่กระวนกระวาย ไม่เดือดร้อน ไม่เจ็บไข้ ก็ควรจะรู้ประโยชน์ของอาหาร คือ บริโภคเพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เรื่องของการบริโภคอาหาร ใน สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส วิริยสัมโพชฌงค์ มีข้อความว่า

แม้พระศาสดามิได้ทรงอนุญาตปัจจัยทั้งหลายแก่ท่าน (คือ แก่ภิกษุทั้งหลาย) ด้วยทรงเห็นว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยอย่างนี้แล้วจะอยู่เป็นสุข มีร่างกายแข็งแรง ที่แท้ทรงอนุญาตปัจจัยเหล่านั้นด้วยทรงเห็นว่า ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้แล้ว ทำ สมณธรรม จักพ้นจากวัฏฏทุกข์

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของอาหาร ไม่ควรจะเป็นเฉพาะสัปปายะสำหรับร่างกายเท่านั้น แต่ควรจะเป็นสัปปายะสำหรับให้กุศลธรรมเจริญขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

ใครๆ ชื่อว่า เป็นอัตตาผู้บริโภคในภายใน ย่อมไม่มี

ในขณะที่บริโภคอาหาร ควรที่จะได้ระลึกด้วยว่า ใครๆ ชื่อว่า เป็นอัตตา คือตัวตน ซึ่งกำลังบริโภคอาหารนั้น ไม่มี

ตามความเป็นจริงนั้น ก็แต่ว่า ด้วยการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิต มีประการดังที่กล่าวแล้ว

คือ ข้อความในตอนต้นกล่าวถึงในขณะที่ครองผ้า ได้แก่ ทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร จีวร เป็นต้น ว่าไม่มีสัตว์บุคคลในขณะนั้น เป็นแต่เพียงวาโยธาตุซึ่งเกิดจากจิตซึ่งแผ่ไป ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นอิริยาบถต่างๆ ขณะที่ทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร จีวร ฉันใด ใครๆ ชื่อว่า เป็นอัตตาผู้บริโภคในภายใน ย่อมไม่มี

ก็แต่ว่า ด้วยการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิต ชื่อว่าการถือบาตร ย่อมมีด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิตนั่นแหละ

แม้แต่ในขณะที่ถือบาตร ถือจาน ถือช้อน ถือส้อม ในขณะที่กำลังบริโภค ในขณะนั้นก็ด้วยการแผ่แห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิตนั่นเอง ที่ทำให้มีกิริยาอาการอย่างนั้นในขณะนั้นได้

ถ้าไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ในขณะนั้นเคลื่อนไหวไม่ได้ จะไม่มีการบริโภค จะไม่มีการรับประทานอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ขณะที่ถือช้อนส้อม หรือว่าเครื่องใช้ในการบริโภค ก็ควรที่จะระลึกถึงสภาพที่เป็นรูปธรรมในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือสภาพของนามธรรมที่กำลังรู้ลักษณะของรูปธรรมในขณะนั้น

แม้การหยั่งมือลงในบาตร ย่อมมีด้วยการแผ่ไปของวาโยธาตุ อันเกิดจากจิตนั่นแหละ

เวลาที่พระภิกษุท่านจะฉันอาหาร มีตั้งแต่การถือบาตร และการหยั่งมือลงในบาตร นี่คือผู้ที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ผู้พิจารณาธาตุ ย่อมมีแต่อาการของธาตุเท่านั้นที่ปรากฏ

ต่อจากนั้น ก็เป็นขณะที่ กระทำคำข้าว อาโลปกรณํ การยกคำข้าว อาโลปอุทฺธรณํ การอ้าปากรับ มุขวิวรณํ ย่อมมี

ในขณะที่รับประทานอาหาร มีตั้งแต่การถือ การหยั่งมือลง การกระทำคำข้าว การยกคำข้าว การอ้าปากรับ ถ้าสติเกิดจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ใครๆ ย่อมไม่เปิดซึ่งกระดูกคางทั้งหลายด้วยกุญแจ ด้วยเครื่องยนต์

เวลาจะอ้าปาก มีใครจะใช้เครื่องมืออื่นไหม เช่น กุญแจ หรือเครื่องยนต์ต่างๆ

แต่ว่าด้วยการแผ่ไปแห่งวาโยธาตุ อันเกิดจากจิตนั่นแหละ ที่ทำให้กระดูกคางก็อ้าขึ้น และการวางคำข้าวในปาก ย่อมมี

เลือกได้ไหมว่า จะให้สติเกิดในขณะไหน ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติจนกระทั่งเป็นปกติ ชำนาญ คล่องแคล่วจริงๆ มีปัจจัยที่จะให้สติเกิดในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร ในขณะนั้นสติสามารถที่จะเกิดดับสืบต่อกัน ทางตาถึงทางใจ ทางหูถึงทางใจ ทางจมูกถึงทางใจ ทางลิ้นถึงทางใจ ทางกายถึงทางใจ ให้ทราบว่า สติที่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งชำนาญคล่องแคล่ว สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้

ขณะที่บริโภค ฟันทั้งหลายเบื้องบนกระทำหน้าที่เป็นสาก มุสล ฟันทั้งหลายเบื้องล่างทำหน้าที่เป็นครก อุทุกฺขล และลิ้นทำหน้าที่เป็นมือ มีน้ำลายจาง ตนุกเขโฬ ที่ปลายลิ้น น้ำลายข้น พหุลเขโฬ ที่โคนลิ้น ย่อมเปื้อนอาหารนั้นในที่นั้น ด้วยประการฉะนี้

ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ตลอดเวลา

อาหารนั้นพลิกกลับไปมาด้วยมือ คือ ลิ้น ในครก คือ ฟันเบื้องล่าง เปียกชุ่มแล้วด้วยน้ำเขฬะ คือ น้ำลาย แหลกละเอียดแล้วด้วยสาก คือ ฟันเบื้องบน

มีใครบ้างไหม เวลารับประทานอาหารแล้วไม่เป็นอย่างนี้ อาหารที่จะไม่พลิกกลับไปกลับมาก มีไหมในขณะที่บริโภค ไม่มีมือ แต่ในปากนั้นมีลิ้น เพราะฉะนั้น อาหารที่อยู่ในปากก็เหมือนกับอยู่ในครก คือ ฟันเบื้องล่าง แล้วก็เปียกชุ่มด้วยน้ำลาย แหลกละเอียดแล้วด้วยสาก คือ ฟันเบื้องบน

ใครๆ ชื่อว่า ใส่อาหารเข้าไปภายในด้วยช้อนหรือด้วยทัพพี ย่อมไม่มี

บางท่านอาจจะบอกว่า ไม่มีใครรับประทานอาหารด้วยทัพพี แต่คนที่กำลังหิวมาก บางทีเห็นแล้วจะตกใจ อาจจะหาช้อนไม่ได้ สิ่งไหนที่อยู่ใกล้ ก็อาจจะบริโภคด้วยความหิวกระหายจริงๆ ในขณะนั้น ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้ว จะเห็นได้จริงๆ ว่า จิตขณะนั้นเต็มไปด้วยโลภะ ความต้องการ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และในชีวิต ในสังสารวัฏฏ์ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ใครจะกระทำอาการอย่างไร ในวันไหน ในขณะไหน

อาหารนั้นย่อมเข้าไปด้วยวาโยธาตุเทียว

ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีใครที่ใส่อาหารนั้นเข้าไป แต่ต้องมีธาตุซึ่งเคลื่อนไหว คือ ธาตุลม เป็นผู้ที่กระทำกิจ คือ อาหารนั้นย่อมเข้าไปด้วยวาโยธาตุเทียว

อาหารที่เข้าไปแล้วๆ ใครๆ ชื่อว่า ทรงอยู่ เพราะกระทำภาชนะเครื่องรองรับย่อมไม่มี

อาหารไปที่ไหน ไม่มีตัวตนอีกเหมือนกัน ซึ่งเป็นผู้ที่จะรับอาหารเข้าไปสู่ข้างใน

อาหารนั้นย่อมตั้งอยู่ด้วยสามารถแห่งวาโยธาตุนั่นแหละ แล้วก็ตั้งอยู่ข้างในกระเพาะอาหาร เพราะธาตุลมนั้นเอง อาหารที่ตั้งอยู่แล้ว อยู่แล้ว ไม่ได้ไปไหน ใครๆ ชื่อว่า หุงอยู่ เพราะกระทำเตา หรือก่อไฟสำหรับหุง ย่อมไม่มี อาหารนั้นย่อมสุกด้วยเตโชธาตุเทียว

ในท้อง ในกระเพาะอาหาร มีธาตุไฟซึ่งทำหน้าที่ย่อยอาหารซึ่งตั้งอยู่ในที่นั้น ให้ละเอียด ไม่ใช่ว่ามีใครเอาเตาเข้าไปตั้ง หรือว่าไปก่อไฟ ไปหุงอาหารที่มีอยู่ให้สุก ในขณะนั้น แต่ว่าธาตุไฟซึ่งเกิดเพราะกรรม มีในที่นั้น กระทำกิจของธาตุไฟ ซึ่งธาตุไฟก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะเผา หรือจะทำให้อาหารนั้นสุก เพราะธาตุไฟไม่ใช่สภาพรู้ แต่ที่ใดที่มีไฟ ที่นั่นก็มีสภาพธรรมซึ่งกระทำกิจเผาไหม้ และสำหรับธาตุไฟในท้องก็เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน นี่เป็นเหตุที่ท่านผู้ใดมีกรรมดี การย่อยอาหารของท่านก็เป็นไปด้วยดี ท่านผู้ใดมีกรรมที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้การย่อยอาหารนั้นไม่เป็นไปด้วยดี

อาหารที่สุกแล้วๆ ใครๆ ชื่อว่า นำออกภายนอกด้วยท่อนไม้ หรือไม้เท้า ย่อมไม่มี อาหารนั้นย่อมออกไปด้วยวาโยธาตุนั่นแหละ

เปิด  233
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565