แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 882

ครั้งแรกๆ อาจจะไม่อยากฟัง ฝืนกับอุปนิสัย แต่เมื่อได้ฟังบ่อยๆ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ต้องจงใจที่จะคิดถึงความเป็นปฏิกูล แต่เมื่อมีการฟังบ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ สังขารขันธ์ สภาพของเจตสิกธรรมทั้งหลายซึ่งได้ยิน ได้ฟัง ได้พิจารณาสภาพความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกเป็นไปในความเป็นปฏิกูลได้ แต่ว่าจุดประสงค์ คือ การอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ซึ่งทุกท่านก็ทราบอยู่ เมื่อสติปัฏฐานไม่สามารถเกิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่ามีปัจจัยให้กุศลประเภทใดเกิดขึ้น ก็ควรที่จะให้เป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล

เพราะฉะนั้น ในตอนแรกอาจจะไม่ชอบฟังเรื่องของกายคตาสติ ฟังไปๆ ชอบหรือไม่ชอบก็อาจจะเกิดระลึกเห็นความเป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของกาย ในขณะนั้นจะทราบว่าเป็นกุศล ซึ่งดีกว่าที่จะเป็นอกุศล

ที่จริงแล้วเพียงฟัง ไม่เหมือนเห็นจริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังมีอีกขั้นหนึ่ง คือ บางครั้งท่านฟังได้ แต่ดูไม่ได้ เห็นไม่ได้ พิจารณาไม่ได้ แล้วแต่อัธยาศัย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ฝืน เพราะเวลาที่สติเกิด เป็นสัมมาสติจริงๆ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ กำลังไม่อยากฟัง เป็นของจริง กำลังไม่อยากดู กำลังเบือนหน้าหนี ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ถ้าจะคิดล่วงหน้าว่า จะทำอย่างนี้ จะทำอย่างนั้น จะนึกถึงอาการที่เป็นปฏิกูล หรือว่าจะพยายามทำใจกล้าดูอวัยวะส่วนต่างๆ อาการของธาตุต่างๆ ที่เป็นปฏิกูล แต่ สติปัฏฐานก็จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ว่าเป็นกาย หรือว่าเป็นเวทนา หรือว่าเป็นจิต หรือว่าเป็นธรรม ตามปกติตามความเป็นจริง

ความคิดเป็นเพียงความคิด แต่ขณะใดที่สัมมาสติเกิดจะรู้ว่า แม้ขณะที่คิดก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น

ข้อความต่อไป

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนประคองภาชนะมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมบริหารกายนี้ มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายคตาสติอันภิกษุใดไม่เข้าไปตั้งไว้แล้วในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ พึงหลีกไปเป็นแน่ ฯ

ถ้าจะไม่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลของอาการ ๓๒ จะระลึกในลักษณะที่ว่า คนประคองภาชนะมันข้น มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ แม้ฉันใด ท่านพระสารีบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ ย่อมบริหารกายนี้มีรูทะลุเป็นช่องเล็ก ช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ ซึ่งต้องเป็นปฏิกูลถ้าพิจารณาในลักษณะนี้

ผลของการที่ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาค ปรากฏว่า

ลำดับนั้นแล ภิกษุรูปนั้น ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แล้วกราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาดอย่างไร ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุ โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาดอย่างไร ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น

ดูกร ภิกษุ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระสารีบุตรว่า

ดูกร สารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้นนั่นแล ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง ฯ

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษต่อท่านผู้มีอายุนั้น ถ้าผู้มีอายุนั้นกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านผู้มีอายุนั้นจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย ฯ

จบ สูตรที่ ๑

ถ. ภิกษุรูปนั้นไปกล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยเหตุอะไร

สุ. ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์จะไม่ทำอย่างนั้น หรือถ้าท่านเป็นอริยสาวกก็จะไม่กระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ให้เห็นกำลังของอกุศลกรรมของผู้ที่เป็นปุถุชน

ถ. เรื่องธาตุ ๔ การเจริญจตุธาตุววัฏฐาน โดยนัยของสมถภาวนากับ นัยของวิปัสสนาภาวนา ต่างกันอย่างไร

สุ. ต่างกันที่ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของธาตุหนึ่งธาตุใด พิจารณารู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคลในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงรูปธรรม ชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับนามธรรมที่กำลังรู้ในลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ส่วนสมถภาวนาไม่รู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แม้ว่ากำลังมีลักษณะของธาตุเป็นอารมณ์ แต่ไม่รู้ความไม่ใช่ตัวตน ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม สมถภาวนาไม่รู้ เพราะไม่ได้พิจารณา

เรื่องของสมถะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยวิตกเจตสิก อย่างเช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังปรากฏ แต่อาการอื่นไม่ปรากฏ ต้องอาศัยการฟัง และน้อมนึกถึง

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องของการคิด แต่เมื่อทุกคนไม่สามารถที่จะหยุดคิดได้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอารมณ์ที่เป็นกุศลว่า คิดอย่างไรเป็นกุศล คิดอย่างไรเป็นอกุศล ไม่สามารถที่จะห้ามคิดถึงบุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือสัตว์ บุคคลต่างๆ แต่ทรงแสดงว่า ถ้าคิดด้วยเมตตา หรือกรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นกุศล แต่ขณะที่คิดนั้น ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนโดยเป็นนามธรรมหรือ เป็นรูปธรรม จึงเป็นแต่เพียงกุศลขั้นสงบ

ในบางพระสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของกายคตาสติโดยเป็น อสุภะ ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อาพาธสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภสัญญา ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

เพราะฉะนั้น บางครั้งทรงแสดงโดยนัยของกายคตาสติ และบางครั้งทรงแสดงโดยนัยของอสุภสัญญา เป็นเรื่องที่จะให้พิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูล เกิดความสลด และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง การคิดถึงปฏิกูลนี้น้อย จะมีความรู้สึกว่าปฏิกูลเมื่อเห็นสิ่งที่น่าเกลียดจริงๆ ซึ่งส่วนมากจะมีความยินดีพอใจ แต่ถ้าขณะใดที่ตัดเล็บมากองไว้ หรือมองเห็นผมในร้านทำผมที่เขาตัดไว้เกลื่อนกลาดเป็นที่น่ารังเกียจ หรือเห็นกระดูกของสัตว์ เห็นเครื่องในของสัตว์ บางครั้งก็มีความรู้สึกว่าเป็นปฏิกูล แต่เมื่อยังไม่ได้ฟังคำอธิบายในแนวทางเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ไม่เข้าใจคำว่า น้อมมาสู่ตน แต่ก็ได้น้อมมาเหมือนกัน เพราะท่านบอกว่า สิ่งที่ปรากฏภายนอก ตับ ไต ไส้พุง กระดูก หรือผม หรือเล็บ หรือว่าแม้แต่ศพของสัตว์ ก็น้อมมาสู่ตนว่า เหมือนเรา แต่ก็เป็นเพียงว่า สัตว์นั้นๆ เหมือนเราเท่านี้เอง ยังเอาบัญญัติมาเป็นอารมณ์ ก็เป็นสมถภาวนา แต่เมื่อได้ฟังคำอธิบายเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาที่ท่านอาจารย์แนะนำให้ ก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และมีสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง แต่บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าน่าเกลียด บางทีก็มีความยินดีพอใจในความที่น่าเกลียดนั้น

สุ. ชีวิตประจำวัน อย่าลืม ถึงแม้ว่าข้อความในพระไตรปิฎก หรือใน อรรถกถาจะได้กล่าวถึงสภาพที่เป็นปฏิกูลของส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนบางครั้งดูเหมือนจะเห็นชัดว่าช่างปฏิกูลจริงๆ แต่ที่จะละด้วยปัญญาตามความเป็นจริงในขณะนั้น ที่จะรู้ชัดว่าจิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นความสงบ เป็นสมถะ หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนา ต้องอาศัยการอบรมการเจริญสติปัฏฐานจนชำนาญโดยเป็นลำดับด้วย

อย่างเวลาที่เห็นสิ่งที่ปฏิกูล มีใครบ้างไหมที่จะไม่เกิดความรังเกียจ ไม่ใช่ สลดใจ ไม่ใช่เห็นความเป็นปฏิกูลด้วยปัญญาแล้วเกิดความสงบ แต่ว่ารังเกียจในสภาพที่เป็นปฏิกูล อะไรจะเป็นก่อน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญภาวนาและก็รู้เหตุที่จะทำให้กุศลจิตเกิด แต่ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุในขณะนั้น ย่อมไม่เกิดความรู้สึกรังเกียจ หรือว่าถ้าจะประกอบด้วยความเมตตาหรือกรุณาในขณะนั้น ย่อมบรรเทาหรือละความรังเกียจได้

อย่างเวลาที่ได้พบเห็นท่านที่มีโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งมีอาการที่ปฏิกูล ถ้าไม่ได้เป็น ผู้ที่อบรมเจริญภาวนา คือ เมตตา กรุณา หรือว่าสติปัฏฐานจริงๆ ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกรังเกียจในเลือด ในหนอง ในน้ำเหลือง ในเสลด ในอาการต่างๆ ของกาย ที่ปฏิกูล แต่ว่าผู้ใดที่เป็นผู้ที่หนักแน่น หรือว่าอบรมเจริญเมตตาและกรุณามามาก ขณะนั้นกุศลจิตจะเกิด จะไม่มีความรังเกียจในสภาพที่เป็นปฏิกูล ในขณะนั้นจิตสงบด้วยความกรุณาซึ่งเป็นกุศล หรือว่าด้วยเมตตาที่เป็นกุศล

แต่ถ้าขณะนั้นเป็นผู้ที่มั่นคงที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยนัยของวิปัสสนา ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นย่อมจะละความรังเกียจได้ด้วยปัญญา

เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิตตามปกติตามความเป็นจริง

เวลาประสบกับสภาพที่เป็นปฏิกูลต่างๆ ต่อไปนี้คงจะระลึกได้และสังเกตได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ปราศจากความรังเกียจโดยนัยใด โดยนัยของสมถะที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา หรือว่าโดยการระลึกถึงความเป็นธาตุโดยนัยของวิปัสสนา หรือว่ายังคงรังเกียจอยู่ ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลไม่ใช่กุศล เพราะว่าสิ่งที่เป็นปฏิกูลย่อมมีปรากฏ และขณะนั้นจะระลึกรู้สภาพของจิตจริงๆ ว่า เป็นสภาพจิตที่เป็นอกุศล ที่รังเกียจในความเป็นปฏิกูล หรือว่าปราศจากความรังเกียจ

ในพระไตรปิฎก ในบางพระสูตรพระผู้มีพระภาคทรงแสดงอารมณ์ของ สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนารวมกัน ไม่ทรงจำแนกออกเป็นบรรพต่างๆ ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อาพาธสูตร ข้อ ๖๐ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง ที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่าน พระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระอานนท์แสดงธรรม คือ สัญญา ๑๐ ประการแก่ท่านพระคิริมานันท์ภิกษุ เพราะเมื่อเป็นธรรมไม่ว่าใครจะแสดง ผู้ที่พิจารณาย่อมจะได้รับประโยชน์

สัญญา ๑๐ ประการ คือ อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา ๑ อานาปานัสสติ ๑ ฯ

ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ทรงแสดงสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาโดยรวมกัน โดยไม่แยกกัน เพราะสำหรับอนิจจสัญญานั้น คือ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ

สำหรับอนัตตสัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้

สำหรับอสุภสัญญา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ

พิจารณาได้ไหมขณะนี้ฟังบ่อยๆ

เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ ว่า ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม เนื้อหัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของ ไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้

ข้อความต่อไป อาทีนวสัญญา คือ การเห็นโทษของสภาพธรรมที่มีปรากฏ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกร อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละออง บวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ด้วยประการดังนี้ ดูกร อานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

ไม่ว่าจะเป็นสัญญาใดในสัญญา ๑๐ ก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานทั้งสิ้น จึงจะเห็นโทษอย่างนี้ หรือว่าเห็นโทษอื่นๆ จนกระทั่งมีสัญญาต่อไป คือ ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา และตอนสุดท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถึงอานาปานสติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในบางสูตรแสดงโดยละเอียดและแยกกัน แต่ในบางสูตรแสดงโดยรวม ไม่แยก

เปิด  236
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566