แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 883
ถ. ผมยังติดใจในเรื่องการท่อง คือ ผมคิดว่าเรื่องท่องในอารมณ์กัมมัฏฐาน ขณะที่ท่องนี้ควรจะเป็นกุศล เช่น การแผ่เมตตาเขาให้ท่องว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ จงมีความสุข บริหารตนอยู่เถิด ขณะที่ท่องขณะนั้นผมคิดว่าเป็นกุศล เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ให้ตรึกไปในกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก แต่ให้ตรึกไปในเนกขัมมวิตก อพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด ขณะนั้นเป็นอวิหิงสาวิตก จึงควรจะเป็นกุศล
สุ. ใครจะรู้ ถ้าสติไม่เกิดระลึกสภาพของจิตในขณะที่กำลังคิดอย่างนั้น เพราะทุกคนคิดคำอะไรก็ได้ด้วยอกุศลจิตตามปกติ แต่สภาพของจิตที่เป็นกุศล ต้องต่างกับจิตที่เป็นอกุศล
ถ. เราก็ไม่ได้คิดอย่างนี้ตลอดวัน คิดได้เป็นบางครั้ง เดี๋ยวก็หลงลืม เมื่อนึกขึ้นมาก็คิดใหม่ ขณะที่หลงลืมขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ขณะที่จำได้ เราก็นึกได้ พูดในใจว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวรอย่างนี้เป็นต้น ที่พูดในใจขณะนั้นเป็นอวิหิงสาวิตกแน่นอน อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมเข้าใจว่า ขณะที่คิดขณะนั้นเป็นกุศล คือ ผมได้ไปอ่านอาการของสติ มีอธิบายว่า ความตามระลึก ความหวนระลึก ความทรงจำ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม อาการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอาการของสติ ฉะนั้น ความทรงจำนี้เป็นสติ ขณะที่จำได้ว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร ขณะนั้นก็เป็นความทรงจำที่จำได้ ผมคิดว่า ที่จำได้ก็เพราะมีสติ
สุ. อย่าลืมว่า ถ้าเป็นกุศลต้องปราศจากทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ และในขณะที่กล่าวว่า มีเมตตาเป็นอารมณ์ จะต้องมีสัตว์หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้น ไม่ใช่เลื่อนลอยเฉยๆ แต่ต้องมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังเป็นอารมณ์ และสติจึงจะระลึกรู้ว่า ขณะนั้นมีโลภะในบุคคลนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่มีโทสะ เพราะบางท่านคิดถึงหลายคน เวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์เป็นตัวอย่าง มีเรื่องราวของบุคคลแต่ละบุคคลที่ท่านรู้จัก ท่านจำได้ หรือว่าท่านรู้เรื่อง ซึ่งเวลาที่สติไม่เกิด ถ้าเป็นการกระทำหรือเป็นข่าวที่ไม่เหมาะไม่ควรของบุคคลนั้น จิตของท่านขุ่นข้อง ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต ไม่ใช่เป็นกุศลจิต ไม่ใช่เป็นเมตตา แต่ถ้าเป็นเรื่องของบุคคลอื่นซึ่งเป็นที่รักที่คุ้นเคย ท่านก็เกิดโลภะ ความยินดี ความพอใจขึ้น แต่ที่จะเป็นเมตตา ต้องหมายความว่า แม้ในขณะที่ไม่มีปฏิฆะ คือ ความขุ่นเคืองใจ ก็ต้องไม่มีโลภะด้วย ต้องมีบุคคลจริงๆ มีสัตว์จริงๆ ในขณะนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จิตในขณะนั้นเป็นกุศลประกอบด้วยเมตตา เพราะปราศจากทั้งโลภะและโทสะ
การศึกษาธรรมเป็นเรื่องละเอียด ไม่ใช่เพียงแต่อ่านและจำคำต่างๆ และก็นึกบ่อยๆ ท่องบ่อยๆ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ความจริงว่า ในวันหนึ่งๆ ท่านมีบุคคลที่เป็นที่รัก ท่านมีบุคคลที่เป็นที่ชัง ท่านมีบุคคลที่เป็นผู้เฉยๆ ด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านนึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดใน ๓ บุคคลนี้ด้วยความหลงลืมสติ ขณะนั้นจะกล่าวไม่ได้เลยว่า ปราศจากโลภะบ้าง หรือโทสะบ้าง เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นเมตตาจริงๆ ที่เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งต่างจากอกุศลซึ่งเป็นโลภะและโทสะ ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อปราศจากโทสะแล้วจะเป็นกุศลทันที เพราะบางครั้งเมื่อไม่มีโทสะ แต่มีโลภะ ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่เมตตา และต้องมีสัตว์ มีบุคคลจริง ๆ
เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ท่านเพียงแต่นึกท่อง หรือว่าท่านค่อยๆ อบรมเจริญเมตตาจริงๆ จนกระทั่งไม่ว่าท่านจะประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าพอใจในชีวิตประจำวัน เมตตาสามารถที่จะเกิดแทนอกุศลได้ ซึ่งนั่นแสดงว่า ท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาแล้ว เพราะฉะนั้น เมตตาจึงมีเหตุ มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีสัตว์บุคคลเฉพาะหน้า ที่ควรจะเป็นปฏิฆะหรือความขุ่นเคืองใจ ท่านก็มีกุศลจิตเกิดขึ้น คือ ความเมตตาในบุคคลนั้น
แทนที่จะท่องไปๆ แต่พอถึงชีวิตประจำวันจริงๆ มีเหตุการณ์ที่ขุ่นข้องที่ไม่ น่าพอใจเกิดขึ้น ท่านเต็มไปด้วยพยาปาทะ หรือปฏิฆะ ความไม่พอใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปแอบท่องที่มุมห้องตอนดึกๆ แต่พอมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่มีปัจจัยที่จะให้มีเมตตาในสัตว์ในบุคคลนั้นเลย เพราะฉะนั้น อย่างไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากัน เวลาที่ท่านอยู่ในมุมมืดในห้อง ไม่มีสัตว์บุคคลปรากฏที่จะให้ท่านเกิดเมตตาจริงๆ กับการที่ท่านพบกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันซึ่งควรจะมีเมตตา ซึ่งขณะนั้นควรเจริญเมตตาเพราะมีสัตว์บุคคลที่กำลังเป็นวัตถุที่ควรจะเมตตาจริงๆ
ถ. นั่นก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง แต่ว่าขณะที่อยู่ในมุมมืด หรืออยู่ในบ้าน อยู่ในห้องที่จะตรึกถึง หรือคิดถึงศัตรู เพียงคิดก็ยังเกิดยาก บางครั้งก็ไม่ยอม เช่น นาย ก. เคยทำความเดือดร้อนให้เรา ถ้าเราจะอยู่ในบ้าน นึกในใจ พูดในใจว่า ขอให้นาย ก. จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ บางครั้งก็ไม่ยอม
สุ. ความจริง ไม่ต้องพูดเป็นคำอย่างนั้น แต่ขณะที่นึกถึงนาย ก. เปลี่ยนจากความที่เคยพยาบาทหรือโกรธเคืองโดยการที่รู้ว่า นาย ก. เป็นผู้ที่อาจจะยังไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติ ไม่มีหนทาง หรือไม่มีแม้ทางสงบใจ ไม่มีแม้แต่การที่จะอบรมปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ควรหรือที่ผู้รู้จักหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะขัดเกลากิเลสจะโกรธนาย ก. ทั้งๆ ที่นาย ก. ไม่รู้อะไรเลย นาย ก. มีโมหะมาก มีโลภะมาก มีโทสะมาก นาย ก. ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน นาย ก. ไม่สนใจ นาย ก. ยังไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่จะอบรมเจริญแม้ความสงบและปัญญา เพราะฉะนั้น ควรหรือผู้ที่รู้หนทางบ้างแล้วจะไปโกรธผู้ที่ยังมืด หรือเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเท่ากับไปส่งเสริมให้นาย ก. เป็นอกุศลยิ่งขึ้น เพราะอกุศลของตนเอง แทนที่จะช่วยกันขัดเกลา ซึ่งผู้ที่รู้ควรจะขัดเกลา เพราะนาย ก. ไม่สามารถจะขัดเกลาได้ เพราะนาย ก. ไม่รู้ นี่จึงเป็นการคิดถึงนาย ก. ด้วยความเมตตา แทนที่จะท่องว่า ขอให้นาย ก. มีความสุข
ยังไม่ต้องให้นาย ก. มีความสุข ตัวคนที่คิดถึงนาย ก. มีความสุขเสียก่อน โดยการที่มีเมตตาต่อนาย ก. ในขณะนั้น เพราะถ้ามีปฏิฆะ หรือพยาบาทในขณะนั้น นาย ก. ก็ไม่มีความสุขจากการที่ผู้นั้นคิด และใจของผู้นั้นเอง แทนที่จะเกิดเมตตาก็เป็นเพียงคิด ซึ่งท่านก็กล่าวว่ายาก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดเป็นคำอย่างนั้น แต่เริ่มมีเมตตาขณะใดที่ระลึกถึงนาย ก. โดยการตรึกในทางที่ถูก ในทางที่จะไม่เกิดปฏิฆะ หรือพยาปาทะต่อนาย ก.
ถ. ผู้ที่จะตรึกถึงขั้นนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่ศึกษา และผู้ที่อบรมเจริญปัญญามามากแล้ว แต่ว่าผู้ที่ศึกษาปานกลาง จะคิดถึงโลภะ โทสะ โมหะของนาย ก. ไม่ได้คิดถึงเป็นส่วนใหญ่ เพราะอย่างนั้นขั้นต้นจะนึกในใจว่า ขอให้นาย ก. มีความสุข เพราะได้ศึกษามาว่า การแผ่เมตตานี้จะต้องแผ่ไปใน ๓ บุคคล คือ มัชฌัตตบุคคล กับปิยบุคคล กับเวรีบุคคล และแผ่ไปให้ตัวเองด้วย เพราะฉะนั้น จะแผ่ให้กับเวรีบุคคล คือ ศัตรูนี้ ครั้งแรกไม่ต้องลงทุนอะไร เพียงแต่นึกให้ศัตรูของเรานี้มีความสุข แต่แค่นี้ก็ไม่ยอมนึกแล้ว
สุ. เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกถึงสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นแต่ละบุคคล เป็นการตั้งต้นที่จะอบรมเจริญเมตตาให้มีบุคคลจริงๆ ซึ่งเคยเป็นที่รัก หรือว่าเป็นที่ชัง หรือว่าเป็นที่เฉยๆ เพื่อจะได้รู้ว่า จิตใจในขณะนั้นมีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า
เริ่มจากการที่จะระลึกถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อที่จะได้รู้สภาพของจิตที่ประกอบด้วยเมตตาแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่นึกถึงคำ นี่เป็นความต่างกัน เพราะว่าการนึกถึงคำท่านก็บอกแล้วว่า ยาก และยังไม่รู้ด้วยว่า ขณะที่นึกนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตจริงๆ ถ้าลักษณะของเมตตาไม่ได้เกิดขึ้นปรากฏ ขณะนั้นไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า กำลังนึกด้วยเมตตา แต่เวลาที่นึกถึงด้วยเมตตานี้ สภาพของเมตตามีลักษณะจริงๆ เป็นสภาพที่อ่อนโยน ตรงกันข้ามกับปฏิฆะ หรือพยาปาทะ
ถ. บางครั้งผมก็ท่อง ขับรถไปผมก็ท่อง ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด ขับรถไปก็ท่องไป แต่บางครั้งที่รถจะออกจากซอย เราไปทางเอก เราก็ไม่ยอมให้เขาไปก่อน พอนึกขึ้นได้ ถามตัวเอง ไหนว่าจะให้บุคคลทั้งหลายมีความสุข แค่จะให้รถเขาไปก่อนยัง ไม่ยอม แต่ก็ยังให้ผลดี ครั้งแรกไม่ยอมให้เขาไปก่อน ครั้งต่อๆ ไปนึกได้ มีโอกาสที่จะให้เขาไปก่อนได้ ก็หยุดรถให้เขาไปก่อน นี่คือผลของการนึกคิด
สุ. ขณะที่หยุดรถไม่ได้บอกว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข ใช่ไหม
ถ. ไม่ได้ขอ
สุ. เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องคิดเป็นคำ แต่ให้เข้าใจสภาพของจิตว่า เวลาที่เมตตาเกิด ต่างกับเวลาที่พยาปาทะหรือปฏิฆะเกิด
ถ. แต่ขณะที่หยุดรถ ก็เป็นผลที่มาจากการท่อง ถ้าไม่ได้ท่อง ก็ไปเรื่อยๆ เราถือว่าเป็นทางเอก เราไปก่อน เราก็ไปก่อนเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ท่อง ก็ไม่หยุดรถ
สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดว่า ขณะที่ท่อง เป็นเมตตาจริงๆ หรือท่อง และเวลาที่กำลังเมตตาจริงๆ ที่ให้ผู้อื่นไปก่อน ขณะนั้นไม่ได้ท่อง
ถ. การท่องนี้มีผล เป็นผลที่มาจากการท่อง ถ้าไม่ได้ท่อง ก็ไม่ได้ถามตัวเองว่า ไหนว่าจะให้สัตว์อื่นมีความสุข ขณะที่ถามตัวเอง ผลมาจากการท่อง
สุ. ขณะที่ถามตัวเองเป็นปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่เพียงท่องแล้ว มิฉะนั้นแล้ว ก็คงท่องต่อไป แต่ขณะนั้นรู้สึกตัว ไม่ใช่เพียงท่อง เมตตาไม่ใช่เพียงท่อง แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติจริงๆ
ถ. เป็นอย่างนั้นจริงๆ ขณะที่หยุดรถ ไม่ได้ท่อง
สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า หลายท่านที่เพียงท่อง ผลก็คือ ทันทีที่ท่องเสร็จ พอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็เกิดโกรธ นั่นเพียงท่อง แต่ผู้ที่รู้ว่า ไม่ใช่เพียงท่อง จะมีสติระลึกได้ว่า เมตตาต้องเกิดในขณะที่มีสัตว์มีบุคคลเฉพาะหน้า
ถ. มีวันหนึ่ง ผมท่องเมตตาอยู่ในบ้าน วันนั้นไม่ได้ไปทำงาน อยู่ในบ้านครึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ไม่ได้ไปไหน อยู่ในบ้านก็ท่องอยู่อย่างนี้แหละ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนอยู่เถิด ท่องอยู่อย่างนี้ตั้งครึ่งวัน ตอนบ่ายไปทำงานข้างนอก ขับรถไปน้ำมันรถหมดก็เลี้ยวเข้าปั๊มเติมน้ำมัน ข้างหน้าผมมีรถโตโยต้าโคโรน่าคันหนึ่ง เขาก็เลี้ยวเข้าไปในปั๊มน้ำมันเดียวกัน รถคันหน้าเขาก็จอดที่ปั๊มหน้า ผมก็จอดที่ปั๊มหลัง ไม่ทราบว่าเหตุการณ์อะไรทำให้รถข้างหน้าถอยหลังมาชนเอาไฟเลี้ยวของผมแตก ขณะนั้นโกรธมาก เพราะว่าไฟเลี้ยวของผมซื้อในเมืองไทยไม่ได้ ต้องสั่งมาจากเมืองนอก อย่างเร็วที่สุดจะต้องใช้เวลา ๔๐ – ๕๐ วัน พอนึกถึงอย่างนี้แล้วโกรธมาก ก็เลยหน้าบึ้งไป เขาถามว่า จะว่าอย่างไร ผมก็บอกว่า ไฟเลี้ยวอันนี้ราคาถึง ๕๐๐ บาท เขาก็ว่า ไฟเลี้ยวแค่นิดเดียวทำไมตั้ง ๕๐๐ บาท ผมก็บอกว่า ไฟเลี้ยวนี้ในเมืองไทยซื้อไม่ได้ ต้องสั่งเมืองนอกกว่าจะได้ก็ต้องใช้เวลา ๔๐ – ๕๐ วัน เขาก็เชื่อ แต่จะให้แค่ ๒๐๐ บาท ผมไม่ยอม ผลสุดท้ายไปโรงพัก ได้เงิน ๕๐๐ บาทจนได้
ผมเห็นว่า การท่องนี้ ต้องท่องถึงมีกำลัง ถ้ากำลังไม่พอ เจอกิเลสเข้า ที่ท่องมาล้มหมด
สุ. ท่องตั้งครึ่งวัน แต่ก็ยังไปจัดการเสียเรียบร้อย
ถ. การเจริญเมตตา ถ้าใช้ท่อง เมื่อก่อนผมก็เคยท่อง แต่ไม่ได้ผลอะไร เป็นการเข้าใจที่ผิด ที่จะให้ได้ผลต้องเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ ปีสองปีนี้ผมรู้สึกเมตตาเพิ่มขึ้นมากกว่าเก่า เพราะคำๆ เดียวของอาจารย์ที่ได้บรรยายให้ฟัง คือ การกระทำไม่ว่ามากหรือน้อยเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ทำให้ผมคิดอยู่เสมอ
อย่างเช่น เมื่อครู่นี้เองผมกินน้ำแข็ง คุณลุงก็ทำท่าอยากจะกินน้ำแข็ง ครั้งแรกยังไม่อยากจะไปซื้อให้ พอครั้งที่สองคุณลุงก็ได้รับประโยชน์สุข เมตตาเกิด รีบตรงไปซื้อทันทีอย่างคล่องแคล่ว สติเกิดในขณะนั้น รู้สึกว่าเบาและอ่อน และทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นยุง หรือเป็นสัตว์ที่เราจะฆ่า หรือตกอยู่ในที่ลำบาก ผมมักจะช่วย บางทีขี้เกียจ ไม่อยากจะลุกขึ้น แต่เพื่อประโยชน์เขา เพื่อชีวิตเขา การลุกขึ้นเราเสียสละแค่นี้ เป็นประโยชน์สุขแก่สัตว์ทั้งชีวิตของเขาเลย ผมก็ช่วยอยู่เสมอๆ หลายๆ เรื่อง บางทีขอทานมาขอเป็นคนหนุ่ม มือไม้ก็ยังดี ๆ ทำไมมาขอ ให้น้อยก็ไม่ได้ ต้องให้บาทหนึ่ง คิดว่าเขาได้สตางค์ไปคงได้ความสุข เพื่อไปซื้ออาหารกินคงได้รับความสุข บางครั้งเขามาขายของ ผมไม่อยากจะซื้อ แต่ก็ซื้อด้วยความเมตตาจริงๆ ไม่ได้ซื้อด้วยความอยากได้ หรือต้องการ เพราะฉะนั้น คำพูดของอาจารย์คำเดียวเท่านั้นว่า การกระทำไม่ว่ามากหรือน้อย เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ผมคิดถึงทีไร กุศลที่เป็นเมตตาเกิดทุกครั้ง ไม่เว้นสักครั้งเลย
สุ. ขออนุโมทนา