แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 884

สุ. นี่เป็นการประพฤติธรรม หรือปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญเมตตาจริงๆ คำว่า ภาวนา คือ การอบรมให้มี ให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะไปมุ่งหวังที่จะท่องจนกระทั่งเกิดอุปจารสมาธิ หรือความสงบที่มั่นคงขึ้น

ถ้าในชีวิตประจำวันไม่มีเมตตา เวลาที่อยู่คนเดียวตามลำพังจะนึกอย่างไรเมตตาจึงจะเกิดขึ้น ในเมื่อตลอดวันเมตตาไม่ได้เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ การอบรมจริงๆ เวลาที่มีสัตว์ มีบุคคล มีเหตุการณ์เฉพาะหน้าเกิดขึ้น

สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมเป็นอนัตตา แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เช่น บางครั้งโลภะอาจจะเกิด แต่ก็อาจจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดคั่นเมตตา และในขณะนั้นถ้ามีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นการรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งแต่ละท่านไม่สามารถจะทราบได้ว่า สังขารขันธ์ที่สะสมมาจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้ขณะต่อไปจะเป็นการรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล จะเป็นความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ แต่รู้ได้ว่า สภาพธรรมแต่ละขณะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเมื่อมีการฟังธรรม พิจารณาธรรมมากขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้กุศลเกิดได้ เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน หรือขั้นของศีล หรือขั้นของการเจริญความสงบ หรือสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่มุ่งมั่นเจาะจงจะทำแต่เฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว หรือความสงบอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่า ยังไม่เข้าใจชัดในเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

อย่าลืม ธรรมสำหรับประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทาน ของศีล ของสมถะ หรือของสติปัฏฐาน

ในบางพระสูตรพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาทั้งสมถะและวิปัสสนารวมกัน ไม่แยก ไม่ใช่ว่าจะกล่าวถึงมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยตลอด และในบางพระสูตรก็เป็นเรื่องของการอบรมทั้งสมถะและวิปัสสนา ซึ่งไม่ได้ทรงแยกโดยนัยของกาย หรือเวทนา หรือจิต หรือธรรม แต่เมื่อเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เป็นเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานทั้งสิ้น

ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาราหุโลวาทสูตร อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือนท่านพระราหุลว่า

... ดูกร ราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้

ท่านผู้ฟังคงเคยได้ยินคำว่า ขันธ์

ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งมีคำอธิบายความหมายของขันธ์ว่า ได้แก่ สภาพธรรมที่สามารถจำแนกออกได้ ๑๑ อย่าง หรือ ๑๑ กอง คือ สภาพธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต เป็นอนาคต เป็นปัจจุบัน เป็นภายใน เป็นภายนอก หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี หรืออยู่ในที่ใกล้ก็ดี

ข้อความในพระสูตรและพระอภิธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน ข้อความใดซึ่งประมวลไว้ในพระอภิธรรม พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ในพระสูตรต่างๆ ข้อที่น่าคิด คือ ท่านพระราหุลท่านได้สะสมบารมีมาที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ท่านพระราหุลระลึกรู้ลักษณะของรูป และเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ให้ทราบว่า อกุศลที่ได้สะสมมาเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังมาก ลองพิจารณาดูในวันหนึ่งๆ สำหรับการที่สติจะเกิด กับการที่อกุศลจิตจะเกิด ในแต่ละวัน ในแต่ละเดือน ในแต่ละปี ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ อกุศลมีกำลังกว่า ถึงแม้ว่ากุศลที่ได้สะสมมามีกำลังที่อาจหรือสามารถจะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ แต่ตราบใดที่ปัญญาซึ่งเป็นโลกุตตรปัญญายังไม่เกิดขึ้นกระทำกิจประหารกิเลส อกุศลทุกประเภทก็ยังมีกำลังตามการสะสม

สำหรับท่านพระราหุลที่มีข้อความใน มหาราหุโลวาทสูตร ท่านติดตาม พระผู้มีพระภาคในขณะที่พระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาต ท่านเป็นผู้ที่ยังติดในรูป ยังมีความพอใจในความงามของพระผู้มีพระภาค และของท่านเองซึ่งเป็นโอรสของ พระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านระลึกถึงรูปว่า ไม่ใช่ของเรา ทำให้ท่านพระราหุลรู้สึกได้ทันทีว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบจิตใจของท่าน เหมือนกับว่าขณะใดที่จิตที่พอใจในความงามของรูปเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบ และตรัสให้ท่านเห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความที่รูปทั้งหลายเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็เห็นสมควรที่จะกลับไป ไม่ติดตามพระผู้มีพระภาค เหมือนกับโจรซึ่งถูกจับได้ของกลาง คือ ไม่ว่าจิตจะเป็นอกุศลประเภทใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทให้ระลึกได้ที่จะไม่ให้เกิดอกุศลอย่างนั้น ซึ่งท่านพระราหุลก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค รูปเท่านั้นหรือ ข้าแต่พระสุคต รูปเท่านั้นหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล ทั้งรูป ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณ

เพราะฉะนั้น ไม่เลือก แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด แต่ ชั่วขณะที่ท่านพระราหุลคิดพอใจในความงามของพระผู้มีพระภาค และในความงามของท่านเองนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกถึงความไม่ใช่ตัวตน

และเมื่อท่านพระราหุลกำลังนั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรเห็นอย่างนั้น ก็ได้บอกให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติ ตอนเย็นท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามว่า อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

ข้อที่น่าสังเกต คือ ท่านพระราหุลกราบทูลถามเรื่องการเจริญอานาปานสติ แต่ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องอานาปานสติ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม บางท่านอาจจะคิดว่า ทำไมพระผู้มีพระภาคตอบไม่ตรง แต่การตอบปัญหาธรรมทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของ ผู้ถาม ถ้าผู้ตอบสามารถรู้ได้ว่าเรื่องอะไรจะเป็นประโยชน์กว่ากันสำหรับผู้ถาม เพราะบางทีเรื่องที่ถามยังไม่ใช่ประโยชน์จริงๆ เนื่องจากความเข้าใจขั้นต้นของผู้ถามยังไม่มี แต่ว่าถามถึงเรื่องอื่น เช่น ถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยที่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสติ ยังไม่เข้าใจในเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน คำตอบทั้งหมดก็จะไม่ใช่ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะไม่สามารถที่จะเกื้อกูลผู้ถามให้เกิดปัญญาตามลำดับขั้นได้

สำหรับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก่อน ก็เพราะท่านพระราหุลยังเป็นผู้ที่พอใจในความงามของรูป ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของรูปไว้แล้วในตอนเช้า คือ ในขณะที่บิณฑบาต เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงเรื่องการที่จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ต่อจากที่ได้ทรงโอวาทท่านพระราหุลไว้โดยย่อในตอนเช้า

ซึ่งท่านคงได้รับความเข้าใจชัดเจนขึ้นอีก ถ้าท่านพิจารณา เพราะบางท่านมีความคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องทำตามลำดับที่ทรงแสดง คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านถือตรงจริงๆ ว่า ต้องเริ่มจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บางท่านถือตรงยิ่งกว่านั้นอีกว่า เมื่อทรงแสดงอานาปานบรรพเป็นบรรพแรกของ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะต้องเจริญอานาปานบรรพก่อนบรรพอื่น บางท่านเข้าใจว่าอย่างนี้ แต่พระสูตรนี้จะทำให้เข้าใจชัดว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียงลำดับ เพราะ สติเป็นอนัตตา แม้พระผู้มีพระภาคเอง เมื่อท่านพระราหุลตรัสถามเรื่องของ อานาปานสติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และตรัสอานาปานสติตอนสุดท้ายของพระสูตรนี้ เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะให้เข้าใจชัดในลักษณะของรูปซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ว่าในบรรพไหน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระราหุล เมื่อท่านพระราหุลทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่า ปฐวีธาตุเป็นภายใน

ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็น ปฐวีธาตุเหมือนกัน ปฐวีธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

ต้องพิจารณาแล้วจะทราบว่า รวมกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดทุกบรรพ ในข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราหุล

สำหรับข้อความเรื่องของผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เป็นปฏิกูลมนสิการบรรพ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยว่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน เพราะฉะนั้น รวมอิริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ และธาตุมนสิการบรรพด้วย

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของรูปที่กาย เวลาที่สติระลึกเป็นไปในกาย เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะอื่นนอกจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ได้ไหม

ไม่มีกล่าวไว้เลย เรื่องของท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เพราะข้อความมีว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ได้กล่าวถึงแล้ว หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังนั่ง ที่เป็นอิริยาบถบรรพ ในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวเหยียดคู้ เป็นสัมปชัญญบรรพ มีลักษณะแข้นแข็ง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าปฐวีธาตุเป็นภายใน

เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของรูป เวลาที่สติระลึก ต้องรู้ตามความเป็นจริง เมื่อไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของธาตุดิน หรือธาตุน้ำ หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม

สำหรับข้อความต่อไป โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสถึงลักษณะของอาโปธาตุ ซึ่งมีลักษณะเอิบอาบ อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องของเตโชธาตุ ซึ่งเวลาที่เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นธาตุมนสิการบรรพ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล ก็เตโชธาตุเป็นไฉน เตโชธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอกก็มี ก็เตโชธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตน เป็นเตโช มีลักษณะร้อน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มให้ย่อยไปโดยชอบ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น …

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกายที่ร้อน ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเตโชธาตุ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสรวมไว้ในข้อความที่ว่า หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่น

สำหรับข้อความในอรรถกถาได้กล่าวถึงส่วนหนา คือ ส่วนมาก ของธาตุไฟที่ปรากฏ คือ ที่ท้อง

เคยมีใครรู้สึกอย่างนั้นบ้างไหม ตามปกติ ถ้าจะปรากฏ แต่ไม่ใช่ให้เลือก ในขณะนี้ถ้าไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ ซึ่งตามปกติธาตุดินย่อมปรากฏมากกว่าธาตุอื่น แต่ถ้าขณะที่เป็นรูปที่เป็นธาตุไฟที่ร้อนมาก ก็ย่อมจะปรากฏได้ ซึ่งส่วนหนาของธาตุไฟที่จะปรากฏเป็นที่ท้อง ไม่ใช่ธาตุลม เพราะบางคนคิดว่า ธาตุลมจะปรากฏที่ท้อง เพราะฉะนั้น ท่านก็อาจจะพยายามเพ่งพินิจพิจารณาที่ท้อง เพื่อที่จะให้เห็นอาการของธาตุลม แต่ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่ตรงตามความเป็นจริงตามที่กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า อาการของธาตุไฟ ส่วนหนาที่มีมากจะปรากฏที่ท้อง อาการของธาตุลม ส่วนหนาที่มีมากจะปรากฏที่ช่องจมูก

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าถูกต้อง จะรู้สึกได้อย่างนั้นจริงๆ เพราะหลายท่านก็ถามว่า ลักษณะของธาตุลมนั้นเป็นอย่างไร ลักษณะที่เคร่งตึง หรือลักษณะที่ไหวเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนมากจะระลึกรู้แต่ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน

ขณะนี้ที่กำลังนั่ง ลักษณะของธาตุลมปรากฏไหม ผู้ที่ลักษณะของธาตุลมไม่ปรากฏ ก็อยากจะรู้ และสงสัยว่าธาตุลมมีลักษณะอย่างไร แต่ว่าธาตุลมส่วนหนาที่มีมากที่จะปรากฏนั้น ปรากฏที่ช่องจมูก ถ้ายังไม่ปรากฏ ก็ไม่ปรากฏ แต่เมื่อจะปรากฏส่วนหนา ส่วนมากที่จะปรากฏให้รู้ได้ ก็ปรากฏที่ช่องจมูก หรือว่าเบื้องบนริมฝีปาก ที่กระทบ

เปิด  245
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566