แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 885

ต่อจากธาตุไฟและธาตุลม พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราหุลว่า

ดูกร ราหุล ก็อากาศธาตุเป็นไฉน อากาศธาตุเป็นภายในก็มี เป็นภายนอก ก็มี ก็อากาศธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน สิ่งใดเป็นภายใน อาศัยตนเป็นอากาศ มีลักษณะว่าง อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องคอสำหรับกลืนอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม และช่องสำหรับถ่ายอาหารที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มออกเบื้องล่าง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างอื่นเป็นภายใน อาศัยตน เป็นอากาศ มีลักษณะว่าง ไม่ทึบ มีลักษณะไม่ทึบ เป็นช่อง มีลักษณะเป็นช่อง อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายใน อันกรรมและกิเลสเข้าไปยึดมั่น นี้เราเรียกว่าอากาศธาตุเป็นภายใน

ก็อากาศธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด อากาศธาตุนั้นเป็นอากาศธาตุเหมือนกัน อากาศธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นอากาศธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายใน อากาศธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในอากาศธาตุ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระธรรมทั้งหมดเกื้อกูลที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้น รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

มีคำถามต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอากาศธาตุให้พิสดารเล่า

เป็นความจำเป็นที่จะต้องรู้ลักษณะของอากาศธาตุ เพราะปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ลักษณะของอากาศธาตุด้วย

แก้ว่า ที่ตรัสก็เพื่อที่จะแสดงอุปาทายรูป อันที่จริงมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วในหนหลัง หาได้ตรัสอุปาทายรูปไม่ เพราะฉะนั้น เพื่อจะแสดงอุปาทายรูปนั้นโดยแนวนี้ จึงตรัสอากาศธาตุให้พิสดาร คือ ให้ละเอียดขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง แม้รูปอันอากาศภายใน ปริจฉินน กำหนดแล้ว ก็ย่อมปรากฏได้ รูปอันอากาศกำหนดแล้ว เป็นรูปที่แจ่มแจ้ง วิภูสิตะ เพื่อความแจ่มชัดแห่งรูปนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงประกาศรูปนั้นไว้

อากาศธาตุมีอยู่ตลอดทั่วร่างกาย ที่มองเห็นเวลานี้ เห็นสี เวลาที่กระทบสัมผัส อ่อน แข็ง แต่ลักษณะของอากาศธาตุซึ่งแทรกซึมอยู่ทั่วกายปรากฏหรือยัง กำลังระลึกรู้ลักษณะสภาพที่อ่อนแข็ง ลักษณะของอากาศธาตุซึ่งคั่นอยู่ทุกกลาปที่ละเอียดที่สุด เพราะรูปที่เป็นร่างกายก็ดี ซึ่งเป็นภายใน หรือรูปซึ่งเป็นภายนอกก็ดี สามารถที่จะกระจัดกระจายออกได้เป็นส่วนที่เล็กที่สุดเพราะมีอากาศธาตุคั่นอยู่ นี่เป็นความจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แม้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งซึ่งเคยกระทบ แล้วก็ปรากฏแต่เพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะของปฐวีธาตุเท่านั้น เวลาที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ลักษณะของอ่อนแข็งนั้นย่อมเป็นการประชุมรวมกันของรูปหลายกลาป ซึ่งคั่นด้วยอากาศธาตุ เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของ ปฐวีธาตุ หรือรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นความอ่อนหรือความแข็ง ซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่ ไม่ใช่เพียงนึกว่า อ่อนหรือแข็ง ก็จะเป็นการละคลายการยึดถือปฐวีธาตุว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ปัญญาจะต้องรู้ชัดถึงลักษณะที่แท้จริงของรูปซึ่งอ่อนหรือแข็ง ซึ่งเป็นเพียงกลาปเล็กๆ ที่คั่นด้วยอากาศธาตุ จึงจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของกลาปที่กำลังเป็นอารมณ์ได้

ถ. การเจริญปฏิกูลบรรพ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ส่วนใหญ่เท่าที่ฟังมาจะต้องเป็นสมถกัมมัฏฐาน แต่ที่จะเจริญเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน สมมติว่า เห็นผม จะเจริญเป็นรูปารมณ์ เป็นสี หรือว่าจะเจริญโดยลักษณะเป็นของปฏิกูล โดยที่เกิด สัณฐาน อะไรอย่างนี้ ผมยังมีความเข้าใจไขว้เขวอยู่

สุ. จุดประสงค์ที่สูงที่สุด คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ที่เรียกว่า ผม ก็คือลักษณะที่แข็ง เป็นอาการของธาตุดิน แต่ว่าทุกท่านเห็นผมอยู่ตลอดเวลา ทั้งจับ ทั้งหวี ทั้งทำความสะอาดทุกอย่าง แต่สติก็ไม่เกิดที่จะระลึกรู้ในสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้น การที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือ การฟัง การพิจารณา การอบรมเจริญจนกระทั่งชำนาญ

ความคิด เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ความคิดเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บางครั้งคิดเป็นอกุศล และบางครั้งควรจะคิดเป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศลได้ ถ้ามีโอกาสได้ฟังและได้พิจารณา เพราะฉะนั้น เวลาฟังเรื่องความเป็นปฏิกูลของส่วน ต่างๆ ของกาย ทั้งๆ ที่ไม่อยากเห็นว่ากายเป็นปฏิกูล ไม่พอใจที่จะเห็นว่ากายนี้ น่ารังเกียจ ไม่อยากที่จะรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าฟังบ่อยๆ เกิดความเข้าใจ ไม่ต้องคิดว่า ไม่อยากจะให้เป็นปฏิกูล ก็อาจจะระลึกถึงสภาพที่เป็นปฏิกูลที่ได้ฟังบ่อยๆ แทนจิตที่เป็นอกุศลจะเกิดขึ้น ซึ่งการระลึกรู้สภาพที่เป็นปฏิกูลและไม่มีความยินดีที่เป็นโลภะ ในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิตขั้นสมถะ และสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิต หรือสภาพของความรู้สึก หรือสภาพของรูปโดยนัยของสติปัฏฐานได้ ถ้าเป็น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ไม่ใช่ให้เพียงสงบ แต่เมื่อไม่สามารถที่จะไม่ให้เกิดการนึกคิดได้ ก็ให้นึกคิดในทางที่เป็นกุศล

ถ. ผมพอจะเข้าใจในทางที่จะให้จิตสงบ คือ ในขณะที่เราเห็นรูปที่สวยงาม ถ้าเราเจริญในทางที่จะให้จิตสงบ เราก็นึกถึงสิ่งที่เป็นปฏิกูล ก็จะทำให้จิตสงบไปได้ชั่วขณะ

สุ. สิ่งที่น่าคิดจุดนี้ คือ อย่าพยายามที่จะให้สงบ เพราะหลายท่านอยากจะให้สติปัฏฐานเกิด ก็พยายาม อยากจะให้สงบ ก็พยายาม แต่ที่จริงแล้วควรจะทราบว่า จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือ สติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าขณะนั้นไม่มีปัจจัยที่สติจะเกิด แต่มีปัจจัยที่ความสงบ คือ การระลึกถึงความเป็นปฏิกูลเกิดขึ้น ก็ขอให้เป็นปัจจัยที่ทำให้รู้ว่า ขณะนั้นสงบ เพราะระลึกถึงความเป็นปฏิกูล แต่อย่าให้มีความต้องการที่จะสงบ

ถ. ที่จะเป็นสติปัฏฐาน คือ ถ้าสติจะเกิด ก็เกิดระลึกขึ้นว่า นี่เป็นแต่เพียงความคิด หรือว่าความรู้สึก ให้รู้อย่างนั้นในขณะนั้น ใช่ไหม

สุ. ถ้าเกิดขึ้นได้ จะเป็นสติปัฏฐานที่มีประโยชน์มาก ข้อสำคัญคือ คิดหลายอย่าง แต่สติปัฏฐานก็ยังไม่เกิด นี่เป็นความสำคัญที่ว่าสติปัฏฐานเกิดยาก ไม่ใช่เกิดง่าย และในระหว่างที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด อกุศลที่มีกำลังย่อมเกิด เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องของสมถภาวนา ซึ่งเป็นกุศลขั้นหนึ่ง นอกจากขั้นทานและขั้นศีล เพื่อให้มีปัจจัยเกื้อกูลให้กุศลจิตเกิดแม้ไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน

หลายท่านอาจจะคิดว่า ในชาตินี้สติปัฏฐานยากเกินไป มีหลายท่านที่เปลี่ยนความมุ่งหมาย ลืมว่าจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดคือสติปัฏฐาน ท่านเหล่านั้นเห็นว่า ทางตาที่กำลังเห็นยากเหลือเกินที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ได้ระลึกว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็น เพราะฉะนั้น บางท่านก็กล่าวว่า เมื่อยากอย่างนี้ก็ควรเจริญความสงบก่อน

ยากจริง แต่อย่าท้อถอย และอย่าเปลี่ยนจุดประสงค์ ควรจะมีวิริยะ ความพากเพียรที่จะรู้ว่า ความรู้ย่อมเกิดเพราะการศึกษา เมื่อท่านเป็นผู้ที่ใคร่ในปัญญา เป็นผู้ที่ใคร่ในการศึกษา และมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้ศึกษา อย่าลืมว่า การเป็น ผู้ใคร่ในปัญญา คือ จะต้องรู้โดยศึกษา เพราะฉะนั้น จึงใคร่ที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาด้วย เป็นผู้ยินดีในการศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะรู้ว่าถ้าสติไม่เกิด ไม่มีวิริยะที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้ คือ กำลังเห็น ถ้าไม่เริ่มต้นในวันนี้ จะเริ่มต้นวันไหน

ถ้าพอใจที่จะเพียงสงบ ก็จะมีแต่ความต้องการอยู่แค่สงบ และเมื่อเป็นทุกวัน ก็เป็นทุกเดือน และก็เป็นทุกปี และก็เป็นทุกภพ ทุกชาติ ไม่มีการที่จะใคร่ยินดีในการศึกษาที่จะให้เกิดปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ต้องใคร่ครวญ ยาก แต่ว่าอย่าเปลี่ยนจุดประสงค์เป็นอื่น

แม้ในเรื่องของสมถภาวนาก็เช่นเดียวกัน บังคับไม่ได้ที่จะคิด เมื่อมีปัจจัยที่จะให้คิดเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปฏิกูลมนสิการบรรพ หรือการอบรมเจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นจะลืมการศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

จุดประสงค์ในชีวิตไม่ควรเป็นอย่างอื่น นอกจากเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลจึงรู้ว่า ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้ความสงบขั้นการระลึกถึงความเป็นปฏิกูลเกิด แต่ไม่ใช่ต้องการที่จะระลึกถึงความเป็นปฏิกูลเพื่อให้สงบ ถ้าเป็นอย่างนั้น ความต้องการเช่นนั้นจะกั้นไม่ให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

แต่แม้จะคิดถึงความเป็นปฏิกูล ถ้าไม่เปลี่ยนจุดประสงค์ สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่คิด หรือความรู้สึกในขณะนั้น หรือลักษณะของผม หลังจากที่ระลึกถึงความเป็นปฏิกูลแล้ว ก็ระลึกรู้ในสภาพที่แข็งที่ปรากฏซึ่งเป็นรูปธรรม หรือระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้แข็งในขณะนั้นก็ได้

ถ. กรณีอย่างเรื่องของท่านจูฬปันถกที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านประทานผ้าขาวสะอาด และให้ท่านบริกรรมว่า รโชหรณํๆ บริกรรมไปจนกระทั่งผ้านั้นดำสกปรก ท่านพระจูฬบัณทกก็พิจารณาจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ พระที่ท่านเทศน์หรือแสดงจะบอกว่า เบื้องต้นต้องเจริญสมถะเสียก่อน ให้จิตสงบ ปัญญาจึงจะเกิด จะเข้าใจเป็นลักษณะอย่างนี้แทบทั้งนั้น

สุ. ตามความเป็นจริง ถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วจะเห็นว่า เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไป คือ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ซึ่งสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามปกติตามความเป็นจริง ปัญญาจึงจะรู้ชัดได้ แต่จุดประสงค์ไม่ควรจะเป็นความต้องการที่จะสงบ ถ้าเป็นอย่างนั้น สติจะไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น

หลายท่านเปลี่ยนจุดประสงค์ไปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อไร วันไหน ที่จะเริ่มยินดีศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ. ชีวิตินทริยรูป มีลักษณะอย่างไร

สุ. รูปของสิ่งที่มีชีวิต กับรูปของสิ่งที่ไม่มีชีวิต ลักษณะที่ปรากฏให้สัญญาจำได้ ต่างกัน หรือเหมือนกัน

ถ. ต่างกัน

สุ. ต่างกัน เพราะรูปที่เกิดจากกรรมของสัตว์ที่มีชีวิต มีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย

ถ. ชีวิตในความหมายของปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร

สุ. เป็นรูปที่ทรงชีวิตที่ทำให้สามารถรู้ว่า ต่างกับรูปที่ไม่ได้เกิดเพราะกรรม

ถ. หทยรูปที่เป็นที่เกิดของจิตทั้งปวง ยกเว้นทวิปัญจวิญญาณ เวลาคิดก็ต้องเกิดที่หทยรูป

สุ. ใช่

ถ. เวลาที่ผมคิดมากๆ รู้สึกปวดหัวมาก ไม่เคยรู้สึกเลยว่า ...

สุ. ปวดหัว ก็ไม่ใช่ปวดหทยรูป

ถ. ผมสงสัยว่า ทำไมถึงเกี่ยวข้องกับศีรษะ

สุ. มีปัจจัยที่จะให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นที่ไหน ความเจ็บปวดก็เกิดขึ้นที่นั่น

ถ. และเราจะรู้แจ้งด้วยว่า เวลาคิดจะต้องเกิดที่หทยรูปเท่านั้น

สุ. สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ปัญญาต้องรู้ตามความเป็นจริง ถ้าเป็นการรู้จริง ไม่ผิดกับที่ทรงแสดงไว้ในปรมัตถธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลาป กลุ่มของรูปซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่ ตามความเป็นจริงต้องเป็นอย่างนั้น แต่เวลาที่ยังไม่เป็นตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ตามความเป็นจริงได้

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญภาวนา คือ อบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ เสมอด้วยไฟ เสมอด้วยลม และเสมอด้วยอากาศ ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญเมตตาภาวนา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญ กรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้ เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้ เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้ เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้

ตอนนี้เข้าใจคำว่า เจริญ แล้วใช่ไหม คือ ประพฤติปฏิบัติอบรมจริงๆ ไม่ใช่ไปนั่งท่อง จะท่องอะไรดี อันไหน ตรัสให้เจริญหมดทุกอย่าง เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เธอจงเจริญ อุเบกขาภาวนาเถิด เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เธอจงเจริญอนิจจสัญญาเถิด

ทุกอย่าง แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ควรแก่การที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมข้อใดที่จะเป็นกุศล ท่านพระราหุลยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มหาราหุโลวาทสูตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านพระราหุล อบรมเจริญกุศลทุกประการในชีวิตประจำวันของท่าน

เปิด  240
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565