แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 886

ถ. อนิจจสัญญา หมายความว่าอะไร

สุ. สัญญา เป็นความจำ อนิจจ ความไม่เที่ยง

ถ. หมายความว่า ความจำไม่เที่ยง หรือ สิ่งที่ถูกจำไม่เที่ยง

สุ. จำลักษณะที่ไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่เกิดดับ

ถ. ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้เจริญอนิจจสัญญา คือ การจำลักษณะที่ไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่เกิดดับ จะละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนได้อย่างไร เมื่อเพียงจำเฉยๆ

สุ. ไม่ใช่จำเฉยๆ เวลานี้ได้ยินคำว่า อนิจจัง จำคำว่า อนิจจัง แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะอนิจจัง เพราะฉะนั้น สัญญาจำคำ สัญญายังไม่ได้จำลักษณะที่เป็นอนิจจลักษณะ จนกว่าประจักษ์อนิจจลักษณะขณะใด สัญญาขณะนั้นเป็น อนิจจสัญญา

ถ. ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ

สุ. เวลานี้จำคำ ใช่ไหม จำคำว่า อนิจจะ อนิจจา อนิจจัง จำคำว่า ไม่เที่ยง แต่ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงซึ่งกำลังเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น ยังไม่มีอนิจจสัญญาจริงๆ ที่ประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงที่เกิดดับ เพราะขณะนี้เป็นเพียงสัญญาที่จำคำว่า ไม่เที่ยง จำคำว่า อนิจจา จำคำว่า อนิจจัง จำคำว่า อนิจจสัญญา แต่สัญญาที่เป็นอนิจจสัญญายังไม่ได้เกิดขึ้นประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

ถ. อนิจจสัญญา ประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

สุ. แน่นอน ควรเจริญให้เกิดขึ้น

ถ. ผมยังไม่เข้าใจที่ว่า อนิจจสัญญา ประจักษ์ความเกิดดับ

สุ. เวลานี้กำลังประจักษ์ความเกิดดับหรือเปล่า

ถ. ยังไม่ประจักษ์ความเกิดดับ

สุ. เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่อนิจจสัญญา เป็นแต่เพียงสัญญาที่จำคำว่า อนิจจา แต่ไม่ใช่สัญญาที่ประจักษ์ความเกิดดับ ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่

ถ. ความจริง สัญญาหมายถึงความจำ ใช่ไหม

สุ. สภาพธรรมที่จำ ขณะนี้เป็นนิจจสัญญา ไม่ใช่อนิจจสัญญา คนกำลังยืนอยู่ เป็นคนกำลังยืน ไม่ใช่สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น สัญญาในขณะนี้ไม่ใช่อนิจจสัญญา แต่เป็นนิจจสัญญา

ถ. สมมติว่า ใช่อนิจจสัญญา

สุ. ขณะนั้นกำลังประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ. หมายความว่า ถ้าเห็นอย่างนี้ ก็มีสติระลึกรู้

สุ. วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ที่เป็นวิปัสสนาญาณเพราะว่าประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เวลานี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่ไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่อนิจจสัญญา เพราะยังไม่ประจักษ์

ถ. ผมฟังแล้วรู้สึกว่า ขัดกับรากศัพท์ เพราะรากศัพท์ของสัญญา คือความจำ แต่ที่อธิบายมานี่ คล้ายๆ กับว่าประจักษ์

สุ. ถ้าไม่ประจักษ์ จะจำได้อย่างไร

ถ. หมายความว่าประจักษ์ก่อน

สุ. ขณะที่กำลังประจักษ์ มีสัญญาที่จำลักษณะที่ไม่เที่ยงของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าประจักษ์ ถ้าไม่เคยประจักษ์ จะไปจำอย่างไร สัญญาเป็นสภาพที่จำ ถ้าไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง สัญญาจะไปจำความไม่เที่ยงได้อย่างไรในเมื่อยังไม่เคยประจักษ์ แต่ขณะนี้กำลังประจักษ์ความไม่เที่ยง สัญญาก็จำลักษณะที่ ไม่เที่ยง สัญญาเป็นสภาพที่จำ ขณะที่ประจักษ์สภาพที่ไม่เที่ยง สัญญาเกิดขึ้น จำลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่กำลังประจักษ์ ไม่ลืม

การอบรมเจริญเมตตาภาวนา กรุณาภาวนา มุทิตาภาวนา อุเบกขาภาวนา เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งท่านผู้ฟังควรที่จะได้พิจารณาโดยละเอียดถึงสภาพของจิต ในขณะนั้นว่า เป็นกุศลจริงๆ หรือเปล่า

สำหรับเมตตาภาวนา ธรรมที่เป็นข้าศึก ที่ตรงกันข้าม คือ โทสะ วันหนึ่งๆ ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ปราศจากเมตตาจึงโกรธ ความโกรธอาจจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็มีปัจจัย คือ การได้ยินได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญเมตตา เป็นปัจจัยทำให้ระลึกได้ว่า ในขณะที่โกรธนั้นไม่มีเมตตา เมื่อเป็นผู้ที่จะเจริญกุศล อบรมเจริญเมตตาภาวนาก็ไม่ควรที่จะโกรธ ซึ่งถ้าไม่โกรธในขณะนั้น และมีการระลึกถึงบุคคลนั้นด้วยจิตที่ปรารถนาที่จะให้เขาเป็นสุข ไม่เดือดร้อน ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของกุศลซึ่งประกอบด้วยเมตตา

สำหรับข้าศึกใกล้ของเมตตา คือ ราคะ หรือโลภะ เพราะฉะนั้น จะต้องทราบ จะต้องรู้ทั้งข้าศึกไกลและข้าศึกใกล้ สำหรับข้าศึกไกล ก็เห็นชัดว่าขณะใดที่เกิดพยาบาท หรือความโกรธ หรือความขุ่นเคืองใจ ในขณะนั้นปราศจากเมตตาในบุคคลนั้น แต่ว่าข้าศึกใกล้ ใกล้ชิดกันมากกับความเมตตา คือ โลภะ หรือราคะ ความยินดี ความรักใคร่ ความพอใจ ถ้าบุคคลที่รักเป็นสุข ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข จิตใจของท่านในขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นเมตตา เพราะฉะนั้น เมตตาจริงๆ ก็ไม่ใช่ของง่าย คือ จะต้องปราศจากทั้งโทสะและโลภะด้วย

ลักษณะของกรุณา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จะละวิหิงสาได้ วิหิงสา คือ การเบียดเบียน ขณะใดที่ประทุษร้ายบุคคลอื่นทางกาย หรือทางวาจา หรือแม้ด้วยใจ ในขณะนั้นปราศจากความกรุณา

สำหรับข้าศึกใกล้ของกรุณา คือ โทมนัสเวทนา จริงไหม เวลาที่เห็นคนลำบาก กำลังตกทุกข์ได้ยาก จิตใจเป็นอย่างไร กรุณา หรือว่าโทมนัส

ถ. ขณะที่เห็นผู้อื่นเขาลำบาก ใจเราก็สงสาร เป็นกรุณา หรือเมตตา

สุ. แล้วแต่ความรู้สึก ถ้าขณะนั้นเป็นโทมนัสเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล นั่นเป็นข้าศึกใกล้ของกรุณา

ถ. เช่น เห็นสัตว์ที่ลำบาก หรือคนที่ลำบาก เรามีจิตคิดปรารถนาจะช่วยเหลือ อย่างนี้เป็นอะไร เป็นกรุณา หรือเป็นโทมนัส

สุ. ถ้าขณะนั้นจิตใจเศร้าหมอง เป็นโทมนัส ขณะนั้นไม่ใช่กุศล เป็น โทสมูลจิตที่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น ต้องระวัง เวลาที่จะอบรมเจริญกรุณาภาวนา ไม่ใช่ให้เป็นผู้ที่โทมนัส หรือว่าพลอยเศร้าหมองไปกับบุคคลที่กำลังเดือดร้อน

ถ. เห็นเขาลำบาก เห็นแล้วก็สงสาร

สุ. สงสาร เอื้อเฟื้อ เพราะฉะนั้น ควรรู้ลักษณะของจิตว่า ประกอบด้วยโทมนัสหรือเปล่า ถ้าประกอบด้วยโทมนัส ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่เป็นกรุณา เพราะถ้าเป็นกุศลจิต จะต้องเกิดกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ไม่ใช่โทมนัสเวทนา

ถ. ลักษณะที่สงสารมีอยู่ คือ อยากให้เขาได้รับความสุข ให้พ้นจากความลำบากในขณะนั้น

สุ. และเวทนา ความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร

ถ. ขณะนั้นรู้สึกว่าสงสาร

สุ. เวทนา ความรู้สึกเป็นอย่างไร ประกอบด้วยโทมนัส หรือประกอบด้วยอุเบกขา

ถ. ขณะนั้นมีความรู้สึกว่า ต้องการให้เขาพ้นภัย

สุ. ขณะนั้นเป็นกรุณา แต่ว่าประกอบด้วยอุเบกขา หรือประกอบด้วยโทมนัส

ถ. ตอนแรกก็โทมนัส แต่ตอนหลังเราช่วยเขาได้ เราก็โสมนัส

สุ. เพราะฉะนั้น มีการเกิดดับของจิตหลายประเภท ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วจะรู้ชัดว่า …

ถ. ตอนแรกเราเห็นเขาลำบาก ก็นึกสงสาร ก็หาทางช่วยด้วยเงินหรือด้วยกำลังทั้ง ๒ ทาง ช่วยเสร็จแล้วก็โสมนัส

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะให้มีอกุศลจิตเกิดแทรก แต่ถ้ามีปัจจัยที่จะโทมนัส ซึ่งเป็นอกุศลจิต สติปัฏฐานสามารถที่จะระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา แม้แต่โทมนัสเวทนาในขณะนั้น

ถ. โทมนัสเวทนาปรากฏเห็นได้ชัด ตอนที่เพื่อนฝูงถูกคนอื่นทำให้ลำบาก เราก็สาปแช่งคนที่ทำเพื่อนเรา ขณะนั้นโทสะเกิด สาปแช่งคนที่ทำ และรู้สึกสงสารเพื่อน จากนั้นก็ช่วยเหลือทั้งด้วยแรงและการเงิน

สุ. สงสารเพื่อน แต่โกรธคนอื่นที่ทำเพื่อน เพราะฉะนั้น ขณะนั้นมีทั้งอกุศลจิตและกุศลจิต ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติ และรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล จะเป็นเหตุให้อกุศลลดน้อยลง เมื่อเจริญกุศลแล้ว ก็ควรเจริญกุศลให้เต็มที่ ทั้งเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา มิฉะนั้นแล้ว จะสงสารเพื่อน และโกรธคนอื่น ซึ่งในขณะที่สงสารเพื่อน ขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะความรักเพื่อนหรือเปล่า

สำหรับมุทิตา คือ การยินดีด้วยในความสุขของบุคคลอื่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จะละอรติได้

อรติ คือ ความไม่ยินดีด้วยเวลาคนอื่นมีความสุข มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ท่านยินดีด้วยได้เสมอไหม ต้องอบรมเจริญมุทิตา ถ้าไม่เสมอ เห็นชัดใช่ไหมว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แทนที่จะเป็นเหตุการณ์ที่จะเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมื่อมีปัจจัยที่อกุศลจิตจะเกิด ก็ย่อมเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง แทนที่จะเป็นกุศล

เวลาที่คนอื่นได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข แต่ท่านไม่ยินดีด้วย ทราบไหมว่า ในขณะนั้นเพราะอะไร เป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นข้าศึกกับมุทิตา เพราะอะไรจึงไม่สามารถที่จะพลอยยินดี ร่วมยินดีด้วยกับบุคคลอื่นซึ่งกำลังมีความสุข ก็เพราะว่าอิสสา คือ ริษยา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่อยากจะสะสมอิสสาหรือริษยา ก็ควรที่จะอบรมเจริญมุทิตา ซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอิสสาหรือริษยา

สำหรับข้าศึกใกล้ของมุทิตา คือ โสมนัสที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นบุคคลที่รักได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอย่างไร เกินกว่ามุทิตาแล้ว เป็นโลภะที่ประกอบด้วยโสมนัส ยินดีเหลือเกินในความสุขของบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ขณะนั้นจะเห็นชัดจริงๆ ว่า เป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่มุทิตา เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงโสมนัสเวทนา ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ

แยกได้ไหม ขณะที่กำลังยินดีด้วยในลาภ ในยศ สรรเสริญ สุข ของผู้ที่เป็นที่รัก กำลังยินดีจริงๆ ดีใจมาก ขณะนั้นจะรู้ได้ไหมว่า เป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นมุทิตาจิต

ถ. แยกได้ ส่วนมากเท่าที่ผมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า เวลาที่คนอื่นได้รับสิ่งที่ดี เรายินดีด้วย ไม่ใช่โลภะ แยกกันออก ขณะนั้นเป็นความชื่นชมยินดีกับผู้อื่นที่ได้รับความสุขจริงๆ ไม่ใช่สภาพโลภะ ต่างกัน เพราะว่าสงบ เบา

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีสติจึงจะสามารถระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

สำหรับการเจริญอุเบกขาภาวนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จะละปฏิฆะได้

เวลาเห็นความทุกข์ยากของบุคคลอื่น เวลาที่จิตใจไม่สบาย เพราะขณะนั้นลืมคิดถึงเหตุที่ทำให้บุคคลนั้นประสบกับเหตุการณ์อย่างนั้น จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เป็นปฏิฆะ แต่ถ้าระลึกถึงกรรมซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้บุคคลได้ประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ขณะนั้นก็จะทำให้ละปฏิฆะ คือ ความไม่พอใจได้

สำหรับข้าศึกใกล้ของอุเบกขาภาวนา คือ ความเฉยด้วยความไม่รู้

ความเฉยมีหลายอย่าง เห็นเฉยๆ อย่างนี้ ต้องรู้ด้วยว่า เป็นความเฉยแบบไหน เฉยเพราะรู้ พิจารณาถึงกรรม ถึงเหตุที่ทำให้ประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ หรือว่าเฉยทั้งนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีปัญญา หรือว่าไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้เกิดกุศลจิตอะไรเลย

ถ. ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความเฉยเกิดขึ้นจากการพิจารณาถึงกรรม ผมไปเที่ยวพัทยา เห็นเขาตกปลามาขาย ปลายังเต้นอยู่ ยังเป็นอยู่ ผมสงสารอยากซื้อไปปล่อย แต่คนขายบอกว่า ปลานี้ช้ำแล้ว ปล่อยไปก็ต้องตาย ก็คิดว่าเป็นกรรมของเขา อย่างปลาน้ำจืด ปลาช่อน ปลาดุก ปลาไหล ผมก็เคยปล่อย ตอนที่ปล่อยรู้สึกสงสาร ชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราสามารถช่วยเขา เขาย่อมได้รับอิสระ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ซื้อจนหมดเงิน ปล่อยจนหมด ปล่อยไม่หมดก็สงสารตัวนั้น แทบจะไม่มีค่ารถกลับบ้านทุกครั้ง

สุ. ขออนุโมทนา ท่านที่ได้ฟังธรรม ได้พิจารณาธรรมบ่อยๆ เวลาที่ประสบกับเหตุการณ์ใดๆ ที่ไม่สามารถจะเจริญภาวนาอื่น เช่น เมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้เจริญอุเบกขาเวทนาได้

ต่อจากข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภภาวนา และอนิจจสัญญาภาวนา ตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา

แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่สำหรับทุกคน ท่านพระราหุลได้สะสมบารมีที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท และการที่ท่านได้เป็นพระโอรสของพระผู้มีพระภาคในชาติสุดท้าย ท่านต้องอบรมเจริญบารมีมากกว่าสาวกอื่นๆ แต่ว่าน้อยกว่าอัครสาวก คือ ต้องอบรมเจริญบารมีถึง ๑ แสนกัป

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะทำอย่างท่านพระราหุล หรือจะคิดเองว่า เมื่อท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติ ท่านก็จะเจริญอานาปานสติ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราหุลว่า

ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป หาเป็นอันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติไม่ทราบชัด แล้วดับไป

นี่คือปัญญาจริงๆ เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจ ปัญญาที่อบรมจนกระทั่งรู้ชัดว่า แม้กระทั่งลมหายใจก็เป็นแต่เพียงสภาพของรูปธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น ชินกับลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมชนิดใด รูปธรรมชนิดใด แม้ว่าเป็นลมหายใจที่ปรากฏ จะเป็นลมที่ละเอียดสักเพียงไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงสภาพลักษณะของรูปธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกว่าจะชินกับลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างนี้ ปัญญาจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยทั่ว เมื่อทั่วแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมชนิดใด รูปธรรมชนิดใด แม้ว่าเป็นลมหายใจที่ละเอียด ก็เป็นเพียงรูปธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อชินกับลักษณะของลมหายใจ หรือว่านามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแล้ว บุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันบุคคลเจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป

เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ต้องการที่จะจดจ้องที่ลมหายใจโดยปัญญาไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และหวังว่าลมหายใจ จะดับ ทั้งๆ ที่ลมหายใจก็กำลังเกิดดับ แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของ ธาตุลม หรือธาตุดิน หรือธาตุไฟที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะประจักษ์ได้ว่า แม้ลมหายใจก็เกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง แต่ไม่ใช่ด้วยความต้องการด้วยความจงใจ

เปิด  251
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565