แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 887

การอบรมเจริญสติปัฏฐานทุกขณะ ไม่ใช่ด้วยความจงใจ ไม่ใช่ด้วยความต้องการ หรือตั้งใจ เพราะเจตนาเจตสิกไม่ใช่มรรคหนึ่งมรรคใดในมรรคมีองค์ ๘ แล้วแต่สติจริงๆ ถ้าสติเกิดจะระลึกที่ลม บังคับให้สติไประลึกที่อื่นได้ไหม นั่นแสดงถึงความหวั่นไหว ความไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดและชินขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ธาตุดิน คือ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งกำลังมี กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระราหุลระลึกรู้ ในความไม่เที่ยง ในความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทท่านพระราหุล ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ท่านอาจจะเคยคิดว่า ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไร แม้ในขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ สภาพที่กำลังอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่ปรากฏ

ถ้าอากาศเปลี่ยนแปลง รู้สึกเย็น หรือว่ารู้สึกร้อน ดูเป็นของธรรมดา ดูเป็นชีวิตประจำวัน ไม่น่าจะมีความสำคัญที่สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนซึ่งกำลังเกิดดับของลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นปกติธรรมดานี่เองที่สติจะต้องระลึกจนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในสิ่งซึ่งดูเป็นธรรมดาที่สุดที่มีปรากฏ

สำหรับความไม่เที่ยงของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมกับพระภิกษุทั้งหลายใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร

เวลาที่เห็นความไม่เที่ยงของธาตุลมภายนอก เคยนึกบ้างไหมว่า ธาตุลมภายในร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยง หรือว่าหลงลืมสติรู้แต่ลมภายนอกที่ไม่เที่ยง เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี แต่ธาตุลมภายในก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของธาตุลมจริงๆ ธาตุลมที่จะไม่ดับมีไหม ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น จะต้องอดทน มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม และจะประจักษ์ได้จริงๆ ว่า ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมที่ปรากฏนั้นไม่เที่ยง เช่นเดียวกับความไม่เที่ยงของธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมภายนอก แต่โดยมากหลงลืมสติ รู้แต่ความไม่เที่ยงของธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมภายนอก เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงแสดงธรรมกับพระภิกษุทั้งหลาย ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของธาตุที่กำลังปรากฏ

ในขณะนี้เอง ไม่มีใครที่จะไม่มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ที่จะประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตนของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็โดยการที่สติระลึกรู้ลักษณะของธาตุดินที่กำลังปรากฏ ธาตุไฟที่กำลังปรากฏ หรือธาตุลมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง ระลึกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประจักษ์ได้ว่า แม้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่กาย ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็ไม่เที่ยง เช่นเดียวกับธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมภายนอก

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้นแลอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้

เกื้อกูลไหม มีประโยชน์ไหม เพราะว่านี่เป็นชีวิตประจำวัน มีใครบ้างที่ไม่เคยได้ยินคำพูดที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งอาจจะเป็นคำด่า หรือคำตัดพ้อ หรือคำกระทบกระเทียบ แม้เป็นภิกษุ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา

การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ให้รู้แต่เฉพาะธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เวลาที่ได้ยินคำที่ไม่น่าพอใจ เวทนาเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นโทมนัสเกิดขึ้น ผู้นั้นก็มีสติที่จะรู้ว่า แม้เวทนา คือ ความรู้สึกซึ่งไม่พอใจนั้น ก็อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และพิจารณาต่อไปว่า ก็แต่ว่าทุกขเวทนานั้นแลอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้

เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะรู้อย่างนี้ไหมว่า ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้ ถ้าไม่มีคำพูดอย่างนั้นกระทบโสตปสาท ไม่มีการคิดนึกเข้าใจในความหมายของคำนั้น ทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนาก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยผัสสะจึงเกิดได้

ถ. วาโยธาตุที่เป็นปรมัตถ์ มีลักษณะที่ตึงหรือไหว ส่วนธาตุลมที่พัดไปพัดมานี้ เป็นลมที่เราบัญญัติเรียกกัน

สุ. ไม่มีสภาวะ ไม่มีสภาพที่พัดหรือ พัดหรือไหวก็เป็นลักษณะของธาตุลม มีทั้งลมภายนอก มีทั้งลมภายใน

ถ. หมายความว่า บัญญัติกับปรมัตถ์ไม่ต่างกันหรือ

สุ. ปรมัตถธรรมเป็นสภาพที่มีจริง ถ้าไม่มีคำที่จะบัญญัติเรียกสภาพนั้น ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า หมายถึงสภาพไหน เพราะลักษณะของธาตุดิน ไม่ใช่ธาตุไฟ ไม่ใช่ธาตุน้ำ ไม่ใช่ธาตุลม จึงต้องอาศัยบัญญัติให้รู้ว่า หมายถึงลักษณะปรมัตถธรรมอะไร

ถ. เป็นอย่างนั้น

สุ. ผัสสะกระทบจึงได้เกิดมีการได้ยินขึ้น เวทนาอะไรเมื่อครู่นี้ สติสามารถที่จะรู้ว่า จะต้องอาศัยปัจจัย คือ การกระทบ จึงเกิดได้

ถ. ลมที่ท่านพระสารีบุตรอธิบาย ลมที่ใครๆ ก็รู้กันได้ ลมที่พัดไปพัดมานี้ เป็นลมที่เป็นบัญญัติทั้งนั้น ผมยังสงสัย

สุ. ลมเป็นสิ่งที่มีจริงหรือเปล่า

ถ. มี

สุ. ลมภายใน กับลมภายนอก มีลักษณะเป็นธาตุเดียวกัน หรือเป็นธาตุที่ต่างกัน

ถ. ธาตุเดียวกัน

สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าจะเป็นลมภายใน หรือลมภายนอก ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะพัดหรือไหว

ถ. ผมสังเกตพิจารณารูปไหว หรือว่าธาตุลม ไม่เคยปรากฏสักที

สุ. ก็ไม่เป็นไร เมื่อไรปรากฏ สติระลึก เมื่อนั้นก็รู้ ไม่ใช่ไปคอยดู

ถ. ถ้าจะเข้าใจตามที่ท่านพระสารีบุตรกล่าว ผมก็รู้จักดีว่า ธาตุลมเป็นอย่างไร แต่ที่ว่ารูปไหวเป็นธาตุลม รูปไหวผมก็พยายามสังเกต ไม่ปรากฏสักที

สุ. ไม่เป็นไร ไม่ปรากฏก็ไม่เป็นไร เมื่อไรปรากฏ สติระลึกจึงรู้ลักษณะที่ไหวในสภาพที่ไหว ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่ในตัวจะปราศจากธาตุลมไม่ได้ ที่ช่องจมูกก็มีลมหายใจซึ่งกำลังเข้าออกและเกิดดับ แต่เมื่อไม่ปรากฏก็ยังไม่ปรากฏ ไม่จำเป็นต้องอยากรู้ มีความเป็นตัวตนที่ต้องการจะรู้รูปหนึ่งรูปใด แล้วแต่ว่ารูปใดจะปรากฏ

ถ. รูปไหวกับธาตุลม ต่างกันหรือเหมือนกัน

สุ. ไม่ต่างกัน ลักษณะของธาตุลม คือ อาการที่ไหว

ถ. ในเมื่อไม่ต่างกัน ผมก็แปลกใจเหลือเกิน ลมนี้มากระทบเมื่อไร ผมก็รู้เมื่อนั้น แต่รูปไหว ไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร

สุ. อะไรกระทบ ที่ว่าลมกระทบ

ถ. ก็ลมที่พัดไปพัดมา

สุ. ลักษณะอะไรกระทบ ไม่เอาชื่อลมมากระทบ เอาลักษณะ ที่ว่าลมมากระทบนั้น ลักษณะของอะไรกระทบ สิ่งที่กระทบมีลักษณะอย่างไร จึงกล่าวว่า ลมกระทบ

ถ. เมื่อลมกระทบ เย็นก็มี ร้อนก็มี

สุ. เพราะฉะนั้น เย็นหรือร้อนไม่ใช่ธาตุลม กล่าวว่าลมกระทบ แต่ว่าลักษณะที่กระทบเย็นหรือร้อน เพราะฉะนั้น เป็นลักษณะของธาตุไฟที่กระทบ

ถ. หมายความว่า ขณะที่ลมกระทบเย็นปรากฏ ขณะที่รู้ลักษณะที่เย็นไม่ใช่ลม

สุ. ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่าลืม สติระลึกรู้ลักษณะ ไม่ใช่ชื่อ เคยเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม แต่ขณะนั้นลักษณะอะไรปรากฏ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้แยกกัน สิ่งที่เราสมมติกันเรียกว่า น้ำที่ดื่ม มีทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สิ่งที่เราสมมติเรียกว่า ลมพัดไปมา มีทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่แยกจากกัน เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าอะไรกระทบ สติระลึกรู้ลักษณะ ไม่ใช่รู้ชื่อ

ถ. ผมก็รู้สภาวะที่เป็นธาตุ ๔ ก็มีลักษณะอยู่ แต่ฟังท่านพระสารีบุตรอธิบายคำว่า ธาตุลม เอาชื่อมาอธิบาย ผมก็เลยสงสัย

สุ. ลักษณะของธาตุลมมีไหม

ถ. ลักษณะของลม ไม่เคยปรากฏ

สุ. มี กับปรากฏ ไม่เหมือนกัน

ถ. ตามที่ศึกษาก็รู้ว่ามี แต่ว่าไม่เคยปรากฏ

สุ. จักขุปสาท มีไหม

ถ. มี

สุ. ปรากฏหรือเปล่า

ถ. ไม่ปรากฏ

สุ. เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี ไม่ปรากฏก็ได้ แต่มี จนกว่าสิ่งนั้นจะปรากฏ จึงจะรู้ลักษณะของสิ่งนั้นได้ แต่ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่ปรากฏ ก็ไม่มี

ถ. แต่ว่าลม ตามที่ท่านพระสารีบุตรอธิบาย คล้ายๆ กับว่า ปรากฏ

สุ. สำหรับท่าน และสำหรับบุคคลซึ่งมีลักษณะของลมปรากฏ แม้แต่ ธาตุน้ำที่เป็นสุขุมรูป เป็นรูปที่ละเอียด ในพระไตรปิฎกไม่ได้แยกธาตุน้ำออก แม้แต่ใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวถึงความไม่เที่ยงของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ว่าธาตุน้ำจะปรากฏกับท่านผู้ใด ในขณะที่กระทบสัมผัสทางกายย่อมปรากฏแต่เฉพาะธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนธาตุน้ำเป็นสุขุมรูป เป็นรูปที่สามารถรู้ทางใจ ไม่ใช่ทางกาย แต่ก็ได้แสดงไว้ เพราะที่ใดมีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ย่อมจะมีธาตุน้ำด้วย แต่ใครจะรู้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือว่าธาตุน้ำจะปรากฏกับใคร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มี

ถ. ธาตุลมที่ท่านกล่าวไว้ว่า ใครๆ ก็ปรากฏ ใครๆ ก็เห็น ที่ลมพัด บ้านช่องพัง พัดนครพัง ก็เป็นลมที่ใครๆ เข้าใจ ลมที่เราเรียกกัน ลมที่เราสมมติกัน

สุ. เมื่อเข้าใจลักษณะของลมภายนอก เวลาที่ลมภายในปรากฏ จะได้รู้ว่าเป็นธาตุชนิดเดียวกันนั่นเอง ไม่มีความต่างกันระหว่างลักษณะของธาตุที่เป็นธาตุลม ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน เมื่อสติยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของธาตุลมภายใน ก็มีการคิดนึกถึงธาตุลมภายนอก แต่ธาตุลมภายในก็มี และลักษณะก็เป็นเช่นเดียวกับลักษณะของธาตุลมภายนอก

ถ. ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ที่ไม่เข้าใจก็เพราะว่า ทำไมลมภายนอกเรารู้ได้ ปรากฏอยู่ แต่ลมภายใน ทำไมเราไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้

สุ. รู้ได้ ปรากฏ เวลาที่เรียนถามท่านผู้ฟังว่า ลักษณะอะไรปรากฏ ท่านผู้ฟังก็ตอบว่า เย็นร้อน ซึ่งก็ยังไม่ใช่ลักษณะของธาตุลม

ถ. เย็น ร้อน นั่นภายใน

สุ. ลักษณะของธาตุไฟ

ถ. ภายนอกที่พัดบ้านช่องพังทลาย ล้มไป เรารู้ มีปรากฏ

สุ. รู้ หรือกระทบสัมผัสปรากฏ หรือคิดนึก

ถ. คิดนึก และเห็นด้วย

สุ. เห็นไม่ได้ เห็นธาตุลมไม่ได้

ถ. เห็นบ้านช่องพัง

สุ. ทุกอย่าง สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง ทางตา สภาพธรรมใดปรากฏ ทางหูเป็นสภาพธรรมใดที่ปรากฏ ทางจมูกเป็นสภาพธรรมใดที่ปรากฏ ทางลิ้นเป็นสภาพธรรมใดที่ปรากฏ ทางกายเป็นสภาพธรรมใดที่ปรากฏ ทางใจเป็นสภาพธรรมใดที่ปรากฏ การอบรมเจริญปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมเพราะเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแต่ละทาง ถูกต้องตามความเป็นจริง

การฟังพระธรรม เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด และการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ปราศจากความสงบ เพราะฉะนั้น แม้ใน มหาหัตถิปโทปมสูตร ความสงบก็เกิดร่วมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่น ในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ เป็นคำตัดพ้อ กระทบกระเทียบเปรียบเปรย หรือว่าเป็นคำด่า สติ จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นและไม่โกรธ ไม่เป็นอกุศล เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้การได้ยิน หรือแม้ความรู้สึกในขณะนั้น เช่น ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง คำว่า ภิกษุ ไม่ใช่คนอื่น หมายถึงท่านที่กำลังเจริญสติปัฏฐานด้วย ในขณะนี้ย่อมรู้ว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง

สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเมื่อครู่นี้หมดแล้ว มีสภาพธรรมใหม่ซึ่งกำลังปรากฏ ถ้าเป็นเสียงกำลังปรากฏก็เสียงใหม่ ซึ่งผัสสะกำลังกระทบในขณะที่เสียงนั้นปรากฏ ความรู้สึกในขณะที่ได้ยินเสียงก็เป็นความรู้สึกใหม่ ไม่ใช่ความรู้สึกเก่าเมื่อครู่นี้แล้ว เพราะความรู้สึกเก่าที่เกิดเพราะได้ยินเสียงเก่าก็ดับไป แต่ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ผัสสะใหม่กระทบเสียงใหม่ ความรู้สึกใหม่กำลังรู้ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเห็นว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าเวทนาเป็นของไม่เที่ยง

ถ้าเห็นว่าผัสสะไม่เที่ยงแล้ว เวทนาจะเที่ยงได้อย่างไร เพราะความรู้สึกซึ่งกำลังรู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อสิ่งที่ปรากฏนั้นดับไป ความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏนั้นก็ดับไปด้วย และแล้วแต่ว่าขณะใหม่นี้มีอะไรกำลังปรากฏ ก็มีความรู้สึกใหม่กำลังรู้สึกในอารมณ์ใหม่ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น แม้เวทนาก็เป็นของไม่เที่ยง

ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง

เมื่อครู่นี้ฟังเรื่องของวาโยธาตุ เวลานี้กำลังฟังเรื่องของผัสสะ ของเวทนา ของสัญญาไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมด แม้แต่ความจำซึ่งเกิดจำสิ่งที่กำลังปรากฏก็หมดสิ้นไปพร้อมกับการหมดไปของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง

ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

สังขารไม่ยืนยาวเลย เพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้อารมณ์อะไร เช่น ผัสสะก็เป็นสังขารขันธ์ เพราะเจตสิก ๑ ดวง คือ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ซึ่งจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบ ผัสสะซึ่งเป็นสังขารขันธ์ก็ไม่เที่ยง และไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า สังขารขันธ์อะไรจะเป็นปัจจัยให้ผัสสะอะไรเกิดขึ้นกระทบอารมณ์อะไรในขณะต่อไป ซึ่งเพียงชั่วกระทบ มีสภาพธรรมที่ผัสสะกระทบปรากฏแล้วก็ดับหมด เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง

สภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ เป็นของที่ไม่เที่ยง

จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้นย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

ขณะนั้นไม่โกรธ เป็นความสงบ เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น จะโกรธขันธ์ไหน จะโกรธรูปขันธ์ที่ ไม่เที่ยง คือ เสียงที่ไม่เที่ยง หรือจะโกรธเวทนาขันธ์ที่ไม่เที่ยง หรือจะโกรธสัญญาขันธ์ ที่ไม่เที่ยง หรือจะโกรธสังขารขันธ์ที่ไม่เที่ยง หรือจะโกรธวิญญาณขันธ์ที่ไม่เที่ยง

เพราะฉะนั้น ก็เป็นการอบรมเจริญอโทสะ หรือเมตตา ที่จะมีเมตตาตลอด โดยทั่ว ที่สามารถจะดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท

เปิด  233
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566