แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 902
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงพราหมณ์ภารทวาชโคตร ซึ่งได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค แต่ท่านเป็นผู้ที่มีญาติมิตรสหายมาก เพราะฉะนั้น เมื่อญาติมิตรสหายของท่านได้ทราบข่าวว่า ท่านเกิดความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคและอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ญาติมิตรสหายของท่านก็โกรธ ขัดใจ และได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แสดงอาการโกรธต่างๆ ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้เกิดในสมัยที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์
ต่อไปเป็นข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อสุรินทกสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า
... อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระสมณโคดม โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ด่า บริภาษพระผู้มีพระภาคด้วยวาจา อันหยาบคาย มิใช่ของสัตบุรุษ ฯ
อาการของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษย่อมต่างกัน
เมื่ออสุรินทกภารทวาชพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรง นิ่งเสีย ฯ
ไม่โต้ตอบด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งท่านผู้ฟังที่ยังมีกิเลสอยู่ ลองพิจารณาการนิ่งของท่านว่า ถึงแม้จะเป็นการนิ่งด้วยกัน แต่สภาพของจิตในขณะที่กำลังนิ่งนั้น ย่อมต่างกัน การนิ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ของพระอนาคามีบุคคล ของพระสกทาคามีบุคคล ของพระโสดาบัน และของปุถุชน ย่อมต่างกัน เพราะผู้ที่ยังไม่ได้ดับความโกรธเป็นสมุจเฉท บางครั้งอาจจะนิ่ง ไม่แสดงอาการทางกาย ทางวาจาให้ปรากฏ แต่ใจใครจะรู้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ และสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เวลาเห็นคนอื่นนิ่ง ก็ย่อมจะเข้าใจตามอัธยาศัยของตนเองว่า บุคคลนั้นนิ่งเพราะเหตุอื่น ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ลำดับนั้นแล อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า
พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว พระสมณะ เราชนะท่านแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา ย่อมสำคัญว่าชนะทีเดียว แต่ความอดกลั้นได้เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่ ผู้ใดโกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ผู้นั้นเป็น ผู้ลามกกว่าบุคคลผู้โกรธแล้ว เพราะการโกรธตอบนั้น
บุคคลไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติสงบอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและแก่ผู้อื่น เมื่อผู้นั้นรักษาประโยชน์อยู่ทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของผู้อื่น ชนทั้งหลายผู้ไม่ฉลาดในธรรมย่อมสำคัญบุคคลนั้นว่าเป็นคนเขลา ดังนี้ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อสุรินทกภารทวาชพราหมณ์ก็เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
สั้นมาก แต่ผู้ที่พิจารณาเห็นคุณประโยชน์จริงๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ที่อบรมได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตาม เวลาที่ท่านผู้ใดกล่าวคำหยาบ ขณะนั้นเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ อาจจะเข้าใจว่าชนะแล้ว ที่สามารถจะกล่าวคำอย่างนั้นกับผู้อื่นได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้แพ้อกุศล ไม่ควรที่จะเข้าใจว่าเป็นผู้ที่ชนะ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่จะอบรมเจริญธรรมที่จะขัดเกลากิเลสต่อไป คงจะพิจารณาได้ว่า ท่านจะชนะอะไรดี จะชนะคนอื่นด้วยการแสดงวาจาหรือกิริยาด้วยความโกรธ โดยเข้าใจว่าในขณะนั้นชนะ แต่ความจริงแพ้ ที่จะชนะจริงๆ คือ ชนะกิเลส เพราะ ผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลชนะได้โดยยาก
ถ้าใครกำลังโกรธ ก็อย่าอยู่ร่วมกับเขา คือ อย่าโกรธกับเขาด้วย เพราะขณะใดที่โกรธตอบ ขณะนั้นอยู่ร่วมกัน บริโภคร่วมกันกับอกุศลธรรม
การอบรมจิตเป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยวิริยารัมภกถา คือ คำพูดที่ทำให้เกิดวิริยะในการที่จะอบรมเจริญกุศลที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดในพระไตรปิฎก ขึ้นอยู่กับท่านผู้ฟังที่จะไม่เบื่อ ที่จะอดทน ที่จะฟังให้เห็นคุณของกุศลธรรมจริงๆ และมีความพากเพียรอบรมเจริญกุศลธรรม แต่ต้องไม่ลืมว่า กุศลทั้งหลายที่จะเจริญขึ้นต้องอาศัยสติปัฏฐาน ให้สติ แต่ละขั้นสามารถเกิดระลึกได้ และเห็นโทษของอกุศลที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นปัญญาที่เห็นอกุศลตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศล เมื่อปัญญาเห็นอกุศลเป็นอกุศล ในขณะนั้น ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เกิดกุศลแทนอกุศล แต่ผู้ใดที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานไม่ได้เกิดทุกครั้ง บางครั้งเป็นสติที่เป็นไปในทาน นึกที่จะให้ มีความว่องไวเกิดขึ้น เวลาที่เห็นบุคคลที่ควรจะสละวัตถุที่เป็นประโยชน์ให้ ก็ให้ทันที ซึ่งแต่ก่อนอาจจะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยจะขยันนัก หรือจิตใจอาจจะอยากให้ แต่ ขี้เกียจที่จะให้ก็มี แต่เมื่อมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติจะมีกำลังและว่องไวขึ้น ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในความสงบของจิต ซึ่งสติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติ ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ประโยชน์ คือ กุศลธรรมย่อมเจริญขึ้นโดยอาศัยการอบรม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่จะต้องพากเพียร มีวิริยะจริงๆ ที่จะอบรมกุศลให้เจริญขึ้น
ผู้ที่เคยชินกับการท่องที่จะให้จำได้ เวลาที่เหตุการณ์จริงๆ เกิดขึ้น อย่าลืมว่าขณะนั้นประโยชน์ของเมตตามีทันทีที่มีการระลึกได้ว่า ไม่ควรที่จะโกรธตอบบุคคลอื่น หรือว่าไม่ควรที่จะโกรธ เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล
สำหรับญาติมิตรของพราหมณ์ภารทวาชโคตร มีอีกท่านหนึ่งซึ่งแสดงความโกรธต่างกับท่านอื่น ข้อความใน พิลังคิกสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ฯ พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ได้สดับมาว่า ได้ยินว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักของ พระสมณโคดม ดังนี้ โกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
ท่านผู้นี้ไม่ด่า ไม่บริภาษ แต่ก็โกรธ และความโกรธของท่านผู้นี้ คือ เมื่อได้ไปเฝ้าแล้วก็ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยที่ต่างกัน ถึงแม้ว่าจะไม่แสดงความโกรธทางกาย ทางวาจา แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้บุคคลนั้นเห็นโทษแม้ความโกรธซึ่งมีอยู่ในใจ ที่ไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระหฤทัยแล้ว ได้ตรัสกะพิลังคิกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย เป็นบุรุษผู้หมดจด ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้นผู้เป็นพาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปสู่ที่ทวนลม ฉะนั้น ฯ
ผลของการฟัง แม้พระธรรมสั้นๆ แต่พิจารณาธรรมด้วยความเคารพ คือ ในเหตุผลของธรรมที่ได้ฟัง ทำให้พิลังคิกภารทวาชพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรม เรื่องอะไร ผู้ฟังที่ได้พิจารณาจริงๆ ย่อมได้รับประโยชน์ และมีศรัทธาเลื่อมใสที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งผลคือ ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
นอกจากนั้น ข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเห็นว่า เป็นเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้บุคคลนั้นเจริญกุศล
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อหิงสกสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า
สาวัตถีนิทาน ฯ
ครั้งนั้นแล อหิงสกภารทวาชพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ครั้นแล้วสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ อหิงสกภารทวาชะพราหมณ์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าอหิงสกะ ฯ
เป็นการสนทนาปราศรัยธรรมดาๆ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถ้าว่าท่านมีชื่อว่าอหิงสกะ ท่านพึงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าอหิงสกะโดยแท้ เพราะไม่เบียดเบียนซึ่งผู้อื่น ฯ
ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อหิงสกภารทวาชพราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค และ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ให้เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้เฝ้าและสนทนาปราศรัย แม้ในโอกาสที่ควรจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อบุคคลชื่ออย่างไร ก็ควรที่จะมีความประพฤติเหมือนชื่อนั้น
สำหรับการที่จะควรเจริญเมตตา ซึ่งโดยมากทุกท่านมักจะคิดถึงกุศลเฉพาะในเรื่องของทาน โดยเฉพาะในวันพิเศษตามโอกาส ท่านอาจจะคิดว่า วันนี้ควรเป็น วันกระทำทาน ซึ่งอาจจะเป็นวันพระ หรือวันที่ท่านเห็นสมควรที่จะกระทำทานกุศล แต่ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นถึงกุศลที่ควรเจริญ ขั้นต่อไปด้วย ไม่ใช่เพียงในขั้นของทานเท่านั้น
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค โอปัมมสังยุต โอกขาสูตร ข้อ ๖๖๗ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเช้า ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเที่ยง ผู้ใดพึงให้ทานประมาณ ๑๐๐ หม้อใหญ่ในเวลาเย็น ผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเช้า โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเที่ยง โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค หรือผู้ใดพึงเจริญเมตตาจิตในเวลาเย็น โดยที่สุดแม้เพียงชั่วการหยดน้ำนมแห่งแม่โค การเจริญเมตตาจิตนี้มีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้ง ในวันหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ เมตตาเจโตวิมุตติ กระทำให้มาก กระทำให้เป็นประดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้งอาศัย ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภด้วยดี ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ
จบ สูตรที่ ๔
มีข้อคิดอะไรบ้างไหมเวลาที่ฟังสูตรนี้แล้ว หรือว่าอยากจะได้อานิสงส์อีกแล้ว พอทราบว่า การเจริญเมตตาจิตมีผลมากกว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ๓ ครั้งในวันหนึ่งนั้น ท่านผู้ฟังรู้สึกอย่างไร เมื่อได้ยินอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ควรจะเห็นว่า กุศลทั้งหมดที่เกิด ไม่ใช่เพื่อหวังผล แต่เพื่อขัดเกลาอกุศลซึ่งมีอยู่มากมาย เหนียวแน่น และหนาแน่น แม้แต่การให้ก็อย่าหวังผล แต่ให้เพราะรู้ว่าการติดในวัตถุเป็นสิ่งที่สละยาก ละยาก ถ้าไม่สะสมการสามารถที่จะให้ได้บ่อยๆ เนืองๆ ก็ไม่มีกำลังที่จะให้
เพราะฉะนั้น เรื่องของเมตตา สำหรับท่านที่สะสมความโกรธไว้มาก ซึ่งถ้าสติไม่ได้เกิดเห็นโทษของความโกรธแล้ว ยากที่จะเจริญเมตตา
บางท่านพยายามเจริญกุศลทุกประการ รวมทั้งเป็นผู้ที่เห็นโทษของโทสะ ด้วย และอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเห็นอกุศลตามความเป็นจริงละเอียดยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าเป็นผู้ที่ความเมตตาค่อยๆ เจริญขึ้น เวลาที่คิดถึงบุคคลอื่น ก็คิดด้วยความหวังดี ด้วยความปรารถนาดี แต่อกุศลที่มีอยู่ในใจก็ยังมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นปรากฏให้เห็นว่า แม้กายไม่ได้แสดงออก แม้วาจาไม่ได้แสดงออก แต่อาจจะยังมีความขุ่นเคืองใจในบางกาล และในบางกาลก็ดูเหมือนว่าเป็นผู้ที่มีใจเมตตากับบุคคลทั่วๆ ไป แต่เวลาที่มีปัจจัยที่จะให้เกิดวาจาที่ไม่ดีเกิดขึ้น ก็กล่าววาจาที่ไม่ดีออกไปทันที เร็วเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ปกติก็เป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตา เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น บางครั้งเมตตาด้วยใจ แต่ทางกายบางครั้งก็หลงลืมสติ และก็มีกายวาจาที่ไม่ประกอบด้วยเมตตา
เรื่องของการอบรมจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ตรง เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้าไม่ได้อบรมปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แม้ว่าปกติจะเป็นผู้ที่มีพื้นจิตประกอบด้วยความเมตตากรุณา เป็นกุศล แต่ก็ยังมีโอกาส มีเหตุการณ์ที่จะเป็นปัจจัยให้กายที่ไม่ดี หรือว่าวาจาที่ไม่ดีเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยเฉพาะหน้าทันที แต่สติซึ่งเป็นที่ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้น และเห็นโทษของอกุศลในขณะนั้นที่เกิดแล้ว ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ก็ยังเห็นความเป็นอกุศล และความเป็นโทษของอกุศล ซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ถ้ารู้สึกอย่างนั้น มีสติเกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างนั้น ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า เมตตาที่ได้อบรมเจริญแล้ว ก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง
ผู้ฟัง ผมไปซื้อกุญแจลูกบิด แต่เขาเอาของเก่ามาขายให้ ผมไม่รู้ ก็นำไปใส่ ให้ลูกค้า ลูกค้ารู้ว่าเป็นของเก่า เขาเกรงใจผม ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร แต่ตัวผมเกิดโทสะ จะไปต่อว่าคนขาย เกิดมีสติขึ้นมาว่า จิตเป็นโทสะ เมื่อมีสติ ก็ยังไม่ได้ละวาจาทุจริต แต่เบาบางลงเท่านั้นเอง ต่อว่าไปบ้าง ถ้าไม่มีสติคงหนักกว่านี้