แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 907

ถ. ผมมีเพื่อนที่เคยปกครองลูกน้องเป็นสิบเป็นร้อย เพื่อนคนนี้ปกติเป็นคนมีเมตตา เป็นคนมีศีลธรรม แต่เขาพูดถึงวิธีการปกครองคนของเขาว่า จะต้องใช้อุบาย หรือใช้คำพูด หรือการลงโทษต่างๆ ทำให้ผมคิดว่า บุคคลที่จะเจริญเมตตาได้ดี คือ ผู้ที่ไม่ได้รับผิดชอบการงานที่มากมายนัก

สุ. พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองพระนครพาราณสี รับผิดชอบมากไหม ท่านเป็นผู้มีเมตตาได้ไหม พระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบัน แสดงความที่พระองค์ทรงมีพระเมตตาให้ประจักษ์แก่ประชาชนได้มากหรือน้อย

ถ. ทำให้ผมระลึกถึงเพื่อนบ้านคนหนึ่งเป็นหญิงชราชาวจีน เป็นคนแปลกกว่าคนอื่นที่เคยพบ คือ ไม่เคยแสดงโทสะออกมา ไม่ว่าจะถูกสามีด่า หรือถูกลูกหลานว่า หรือใครว่าอะไร มีแต่พูดดี ทำดีเท่านั้น ถ่อมตนอยู่ตลอดเวลา ผมก็คิดว่า เขาไม่ได้รับผิดชอบอะไร

สุ. ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่อย่างนั้น ไม่รับผิดชอบอะไรเลยหรือ

ถ. เขาไม่ได้รับผิดชอบเรื่องปากท้อง เพียงดูแลอย่างธรรมดา และมีวาจาที่ไพเราะมาก เท่าที่เกิดมาเพิ่งเห็นคนนี้เป็นคนแรกในชีวิต

สุ. ชอบไหม

ถ. ของดี ชอบ

สุ. ถ้าทุกคนเป็นอย่างนั้นดีไหม

ถ. ก็ดี แต่คำว่า อดทนต่อคำพูดที่ดุร้ายต่างๆ นี้ ผมคิดว่า ถ้าไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน หรือว่าไม่มีสติ หรือไม่พิจารณาถึงโทษ การที่จะให้คนอื่นได้รับความทุกข์ หรือว่าความอดทนต่างๆ เหล่านี้ ผมรู้สึกว่าเจริญยากเหลือเกิน

สุ. ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด จะมีความรู้สึกว่าเป็นตัวเรา และยังเห็นอกุศลเป็นกุศลในบางครั้ง

ถ. แต่ที่ผมพอจะปฏิบัติได้ คือ บางครั้งเท่านั้นเองที่คิดขึ้นมาได้ว่า เขาว่าเราเจ็บแสบดีนัก แต่ว่าเราควรงดเว้น เพราะถ้าเราไปว่าเขา เขาก็ต้องเจ็บแสบเหมือนที่เขาว่าเรา เขาจะต้องทุกข์แน่ เราเองก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว จึงไม่ไปว่าเขา อะไรทำนองนี้

สุ. ถ้าอบรมเจริญไปเรื่อยๆ เมตตาก็เพิ่มขึ้น ควรที่จะเห็นประโยชน์และเจริญเมตตาให้เพิ่มขึ้น ดีกว่าเจริญโทสะ หรือว่ามีโทสะมาก

สำหรับสมถภาวนา ควรอบรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีข้อความใน อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต มหานามสูตรที่ ๒ ว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงหายจากประชวร คือ หายจากภาวะที่ประชวรไม่นาน ก็สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อ พระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทราบข่าวดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำ จีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไรพระเจ้าข้า ฯ

ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสให้เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ศีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ

และข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งอนุสสติทั้งหลายเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น เมตตาก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหน สถานที่ใด นั่ง นอน ยืน เดิน กระทำกิจการงาน ก็ย่อมกระทำด้วยเมตตาได้ เวลาที่ทำงานก็ทำกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ใช่ไหม ขณะนั้นก็กระทำกิจการงานที่ประกอบด้วยเมตตาจิตได้

ข้อสำคัญ คือ กาย วาจา ใจ ซึ่งทุกคนมีกาย มีวาจา มีใจอยู่เสมอ และสังเกตตัวเองได้ว่า กายอ่อนโยน คือ มีจิตที่ประกอบด้วยเมตตาที่กระทำกายกรรม ต่างๆ หรือว่าประกอบด้วยโทสะ หรือว่าประกอบด้วยอกุศล วาจาก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งวาจาที่ประกอบด้วยเมตตา ต่างกับวาจาที่ไม่ประกอบด้วยเมตตาหลายประการ ไม่ลำเลิก และอดทนต่อคำชั่วร้ายได้ นั่นคือ วาจาที่ประกอบด้วยเมตตา

การอบรมเจริญเมตตาในตอนต้น เมื่อเริ่มเจริญ จะต้องรู้บุคคลที่เป็นโทษ ๖ จำพวก ซึ่งข้อความมีว่า

เบื้องต้นทีเดียว จำต้องรู้บุคคลผู้เป็นโทษว่า ไม่ควรเจริญเมตตาในบุคคลเหล่านี้ก่อน จริงอยู่ เมตตานี้ ชั้นต้นไม่ควรเจริญในบุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนผู้ไม่เป็นที่รัก ๑ คนผู้เป็นสหายรักสุดใจ ๑ คนพอปานกลาง ๑ คนผู้จองเวรกัน ๑ และไม่ควรเจริญโดยเจาะจงในคนที่ต่างเพศกัน และสำหรับคนตายแล้ว ไม่ควรเจริญทีเดียว และบุคคลที่ควรเจริญก่อน คือ ผู้ที่มีคุณความดีเสมอด้วยครูอาจารย์

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่นึกเทียบเคียงอย่างนี้ ท่านจะสังเกตเห็นลักษณะของเมตตาอย่างแท้จริงได้ไหม เพราะเมตตาย่อมมีลักษณะคล้ายกับโลภะ ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจะรู้ไม่ได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นเมตตา หรือว่าขณะนั้นเป็นโลภะ ซึ่งตามธรรมดาเวลาที่บุคคลใดเป็นที่รัก ท่านย่อมปรารถนาให้บุคคลนั้นมีความสุข แต่เพราะความรักในบุคคลนั้น หรือว่าเพราะเมตตาจริงๆ ถ้าไม่มีการเทียบเคียงกับผู้ที่เป็นครูอาจารย์ให้รู้ว่า จิตที่นึกถึงผู้ที่มีคุณความดีเสมอด้วยครูอาจารย์นั้นเป็นอย่างไร จะไม่สามารถเห็นความต่างกันของโลภะกับเมตตา

ถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ จะรู้ความต่างกันของขณะจิตซึ่งมีความหวังดีต่อมารดาบิดาว่า เป็นไปด้วยโลภะ หรือว่าเป็นไปด้วยเมตตา ถ้ารู้อย่างนี้เมตตาย่อมเจริญขึ้น และโลภะย่อมลดน้อยลง

ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ระลึกคุณผู้ที่เสมอด้วยอาจารย์ ผมเข้าใจว่า ถ้าใครทำดีกับผมมากที่สุด เมื่อผมได้อะไรที่ดี ผมก็นึกถึงคนนั้น อยากจะให้กับคนนั้น คิดถึงคนที่เคยอุปการะ เคยช่วยเหลือ เคยทำคุณงามความดีกับเรา ใช่ในลักษณะอย่างนี้หรือเปล่า

สุ. ผู้ที่มีคุณเสมอด้วยอาจารย์ อาจารย์ต้องเป็นผู้ที่หวังดีต่อศิษย์ ใช่ไหม เกื้อกูลไม่ใช่แต่เฉพาะในโลกนี้ แต่ว่าเกื้อกูลตลอดไปถึงโลกหน้า

ถ. เปรียบเทียบกับคนที่อาจารย์บอกว่า เราไม่ควรแผ่ให้คนที่เรารักที่สุด กับชังที่สุด เพราะว่าจะเกิดโลภะกับโทสะได้ง่าย นำมาเทียบระหว่างเมตตาจิตกับคนที่มีคุณเสมอด้วยอาจารย์ กับคนที่เรารักที่สุดหรือเกลียดที่สุด เมื่อเทียบแล้วจะรู้ว่า การเจริญเมตตาจะเกิดจริงหรือไม่จริง ซึ่งจะช่วยให้เมตตานี้เกิดคล่องแคล่วกว่าด้วย

สุ. กับทุกคน โดยการเทียบเคียงว่า มีความรู้สึกต่อผู้ที่มีคุณความดีเสมอด้วยอาจารย์ ฉันใด มีกาย วาจาที่ช่วยเหลือ เกื้อกูล อนุเคราะห์ท่านผู้นั้น ฉันใด ก็สามารถกระทำอย่างนั้นกับผู้อื่นได้ นั่นคือจิตที่ประกอบด้วยเมตตา

และสำหรับเมตตา ไม่ใช่จะเกิดง่าย บางท่านอาจจะสังเกตได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า เมื่อเห็นว่าเมตตาเป็นสิ่งที่ควรเจริญ อาจจะคิดตั้งอกตั้งใจว่า จะให้มีเมตตามากๆ ในวันหนึ่งๆ ให้เพิ่มขึ้น แต่พอถึงเวลาจริงๆ มีเหตุการณ์จริงๆ เกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นสติไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะไม่ทราบเลยว่า ขณะนั้นประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า เพราะบางครั้งมีเมตตาเหมือนกันในใจ แต่วาจาที่กล่าวออกไปในขณะนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตา ซึ่งแสดงว่า เมตตายังไม่สม่ำเสมอที่จะให้เป็นไปทั้งใจ ทั้งกาย ทั้งวาจา ใจยังไม่ได้โกรธเท่าไร รู้สึกตัวว่าไม่ได้โกรธมาก แต่วาจาที่กล่าวออกไป ยังไม่ใช่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ เพราะจิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วมาก

สำหรับผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของเมตตาซึ่งเป็นกุศลแล้ว และมีจิตที่เป็นเมตตา แต่เมื่อยังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสม่ำเสมอจริงๆ ใจมีเมตตา และก็ดับไป แต่คำพูดที่กล่าวออกไปยังไม่ประกอบด้วยเมตตาจริงๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมตตาไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยง่าย จะต้องประพฤติปฏิบัติอบรมจริงๆ

ในวันหนึ่งๆ ก็มีทั้งคำพูดและการกระทำ ไม่ว่าจะกับบุคคลใด ณ สถานที่ใด ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตจริงๆ ในขณะนั้น เมตตาก็ย่อมจะไม่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง เพื่อที่จะให้ประพฤติปฏิบัติตาม

ถ. ถ้าอยู่ว่างๆ นึกถึงบุคคลใดที่จะประกอบด้วยเมตตา ถ้าไม่ท่อง จะนึกอย่างไร คือ ขณะที่นึกกับขณะที่ท่อง ก็อย่างเดียวกัน

สุ. คนในบ้านมีหลายคน ใช่ไหม มีทั้งผู้ที่เป็นที่รัก และผู้ที่เป็นที่เฉยๆ อย่างคนที่ช่วยเหลือกิจการในบ้าน เป็นต้น เวลาที่คิดจะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลนั้นให้มีความสุข ด้วยอาหาร ด้วยเสื้อผ้า ด้วยการกระทำ ด้วยวาจา ในขณะนั้นไม่ใช่การท่อง มีสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า คิดที่จะให้ ที่จะอนุเคราะห์ ที่จะเกื้อกูลให้เขาได้รับความสุขในวัตถุที่กำลังมีหรือเปล่า ถ้าไม่เคยคิดเลย ได้แต่ท่องว่า ขอให้เขามีความสุข แต่ของที่อยู่ข้างหน้าไม่เคยเอื้อเฟื้อให้เขาเลย แต่ใจก็ขอให้เขามีความสุขๆ แต่ว่าความสุขของเขาจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับการอนุเคราะห์ เมื่อได้รับความเกื้อกูล ไม่ใช่เพียงแต่คนอื่นคิดในใจว่า ขอให้เขามีความสุข แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย

เรื่องของการอบรมเจริญความสงบของจิต ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตที่สงบ เกิดบ่อยๆ เนืองๆ การอบรมเจริญความสงบของจิตเป็นเรื่องของจิตที่เป็นกุศล และถ้าเป็นเรื่องของเมตตา แม้ในขณะที่ไม่ได้พบใครเลย เพียงแต่นึกถึง ก็นึกถึงด้วยเมตตา ไม่นึกที่จะแข่งดี ไม่นึกลบหลู่ หรือไม่นึกที่จะทำร้ายทำลายบุคคลอื่น ในขณะนั้น จึงเป็นจิตที่คิดด้วยเมตตา ในขณะที่พูด ก็ไม่พูดด้วยการข่ม ด้วยการขู่ ด้วยการยกตน ในขณะนั้นก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา หรือการกระทำใดๆ ก็ตาม กระทำด้วยความอ่อนโยน ความเกื้อกูล ความหวังประโยชน์กับบุคคลอื่น ในขณะนั้นก็เป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเมตตา แม้ในขณะที่มองดูบุคคลอื่น สายตาที่มองดู ก็ยังประกอบด้วยเมตตา ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจะทราบไหมว่า ชั่วในขณะที่เห็น จิตประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า

ถ. ที่อาจารย์พูด ก็ใช่ แต่การท่องนั้น จุดประสงค์เพื่อที่จะให้เมตตาจิตเกิดทีหลัง ในขณะที่ท่อง จิตอาจจะไม่ประกอบด้วยเมตตา แต่เพื่อให้เมตตาเกิดในขณะจิตต่อไป

สุ. เป็นพิธีกรรม ใช่ไหม

ถ. ใช่

สุ. จะต้องมีวิธีการต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพของเมตตาสามารถที่จะเกิดขึ้นแม้โดยไม่ท่องในขณะนั้น จะไม่ดีกว่าหรือที่จะอบรมให้เมตตาเกิดในขณะที่เห็นบุคคลอื่น พูดกับบุคคลอื่น กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยจิตที่อ่อนโยน

ถ. พื้นเพของจิตยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้น จะต้องอบรมกันไปเรื่อยๆ

สุ. ไม่ทราบว่า มีท่านผู้ฟังกี่ท่านที่ดำเนินการท่อง ถ้ามีอยู่ท่านเดียว จะเปลี่ยนวิธีบ้างได้ไหม ที่จะให้ชำนาญขึ้น และก็เป็นเมตตาจริงๆ

ถ. ผมยังเห็นว่า การท่องนี้เป็นประโยชน์ คือ การที่ผมเข้าใจข้อปฏิบัติในการเจริญวิปัสสนา ก็เกิดจากการท่องเหมือนกัน ซึ่งผมเคยตั้งปัญหากับอาจารย์ว่า ขณะที่ผมขับรถบนถนน ผมเห็นเสาไฟฟ้าข้างถนนก็ท่องว่า สี เห็นหญ้าในเกาะบนถนนก็ท่องว่า นี่สี เห็นคน เห็นสัตว์ข้างๆ ถนนก็ท่องว่า สี การท่องนี้ทำให้ผมเข้าใจข้อปฏิบัติมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ผมก็ยังเห็นว่า การท่องนั้นเป็นประโยชน์

สุ. ถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่า ยังคงท่องอยู่เรื่อยๆ เวลานี้เดี๋ยว สีบ้าง เดี๋ยวก็สัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขบ้าง อย่างนั้น สลับกันหรือ

ถ. ไม่ใช่ มาถึงขั้นนี้แล้ว ไม่ต้องท่องแล้ว ขณะที่จิตเห็นรูป รูปารมณ์เกิดขึ้น ขณะนั้นก็สังเกตพิจารณา ไม่ต้องท่องแล้ว แต่ที่ปัญญามาถึงขั้นนี้ ก็เนื่องมาจากการท่องนั้นเอง

สุ. ขอประทานโทษ คงไม่ใช่เนื่องมาจากการท่อง แต่เนื่องจากการที่รู้ว่า ขณะที่ท่องไม่ใช่สติที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นเป็นแต่เพียงขณะที่นึกถึงคำ การรู้อย่างนี้เกิดขึ้น จึงเป็นปัจจัยทำให้สติระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยไม่ท่อง มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงต้องท่องอยู่ เพราะฉะนั้น เหตุกับผลต้องให้ตรงกันด้วย ที่จะกล่าวว่า การที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นเนื่องมาจากอะไร

ถ้าเนื่องมาจากการท่อง ก็ยังคงท่องอยู่ ท่องไป ท่องเก่ง แต่เพราะเหตุที่รู้ว่า ขณะที่ท่อง ไม่ใช่ขณะที่เป็นสัมมาสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่รู้อย่างนี้ จึงเป็นปัจจัยให้สัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแทนการท่อง ฉันใด ถ้ารู้ว่าขณะที่มองดูคนอื่นด้วยความเป็นมิตร และมีจิตที่อ่อนโยน คิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือ ขณะนั้นเป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่เป็นจิตที่เพียงท่อง ท่องไปก็ไม่ใช่ด้วยเมตตาจิต ท่องเสร็จแล้ว เมตตาก็ยังไม่เกิด เวลาพูดก็ยังเป็นคำพูดที่ขู่บ้าง ข่มบ้าง หรือว่าไม่ใช่เป็นจิตใจที่อ่อนโยน ซึ่งขณะนั้นก็จะได้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน และเริ่มอบรมเจริญเมตตาจริงๆ

แต่การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้รู้ว่า การที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย การที่เพียงแต่นึกถึงคำว่าสี ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทั้งๆ ที่รู้ว่าการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่ท่องว่าสีต้องดีกว่า แต่ก็มีปัจจัยที่จะให้นึกในขณะนั้น เพราะยังไม่มีสัมมาสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต่อเมื่อใดที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีปัจจัยที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ และสัมมาสติระลึกได้ ในขณะนั้นจึงจะเห็นว่า ขณะนั้นย่อมมีประโยชน์กว่าเพียงการท่อง

เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัจจัยที่จะให้เมตตาเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อนั้นย่อมเห็นประโยชน์ว่า เมตตาที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจโดยไม่ใช่เพียงท่องนั้น เป็นเมตตาจริงๆ เพราะในขณะที่ท่อง บางครั้งจิตก็ไม่ประกอบด้วยเมตตาเลย แต่ในขณะที่กระทำด้วยกาย ด้วยวาจาจริงๆ ที่ประกอบด้วยเมตตา ในขณะนั้นเมตตาเกิดขึ้นกระทำกิจของเมตตาแล้ว จึงเป็นเหตุให้กายเป็นไปด้วยเมตตา วาจาเป็นไปด้วยเมตตา และใจที่คิดนึกก็คิดนึกด้วยเมตตา

เรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนา อย่าลืมว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ แม้แต่การอบรมเจริญเมตตา ขอให้ทราบว่า ถ้าในปกติชีวิตประจำวันไม่ได้เป็นผู้ที่มี ใจเสมอจริงๆ ประกอบด้วยเมตตาแล้ว การที่จะให้มีความสงบยิ่งขึ้น หรือหวังว่าจะมีความสงบโดยเพียงการท่องนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ท่านที่จะอบรมเจริญเมตตาควรทราบว่า จะเจริญในบุคคลใดก่อน ที่จะรู้ว่าเมตตาจริงๆ มีลักษณะอย่างไร ลองคิดดู ท่านมีญาติสนิทมิตรสหาย เปรียบเทียบความรู้สึกว่า ความรู้สึกต่อบุคคลใดเป็นเมตตาจริงๆ กับญาติสนิทเป็นเมตตาหรือว่าเป็นโลภะ กับมิตรสหายที่รักมาก เป็นเมตตาหรือว่าเป็นโลภะ

เปิด  267
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565