แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 909

ในวันนี้ มีท่านผู้ฟังที่ได้พิจารณาจิตใจและรู้ว่าเมตตาภาวนาได้เจริญขึ้น บ้างไหม ซึ่งผลของการฟังพระธรรม ควรเป็นปัจจัยทำให้เมตตาเจริญขึ้น เพราะธรรมทั้งหมดสำหรับประพฤติปฏิบัติตาม และควรพิจารณาว่า มีเมตตาเพิ่มขึ้นไหม และ มีเมตตากับบุคคลใดได้มากขึ้น

สำหรับบุคคลที่ท่านคิดว่า คนนี้ยังเมตตาด้วยไม่ได้ คิดว่าไม่สามารถจะเมตตาคนนี้ได้ แต่การที่เมตตาเจริญขึ้น จะทำให้เวลาที่ท่านนึกถึงบุคคลนั้นและตรวจสอบจิตใจว่า ขณะนั้นความรู้สึกที่มีต่อคนที่ท่านเคยคิดว่าเมตตาด้วยไม่ได้นั้น เปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่เป็นมิตรขึ้น ประกอบด้วยเมตตาแทนที่จะเป็นความขุ่นเคืองใจได้ นี่คือการเจริญขึ้นของเมตตาในชีวิตประจำวัน

ถ้าในชีวิตประจำวันเมตตายังไม่เจริญขึ้น แสดงว่า ไม่สามารถมีความสงบมั่นคงขึ้นเพราะเมตตา เพราะเมตตาจะต้องเกิด และก็อบรม และก็เจริญขึ้น จนกว่าลักษณะของความสงบจะปรากฏเพิ่มขึ้นได้

เมตตาเป็นสิ่งที่ควรอบรมเจริญ เพราะเป็นกุศลที่จะขัดเกลาละคลายโทสะให้เบาบางได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการอบรมเจริญเมตตาแม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยให้เห็นประโยชน์ว่า กุศลทั้งหมดอย่าประมาท กุศลแม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยที่เกิดขึ้นได้ก็เป็นประโยชน์ ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต บาลีแห่งเอกธรรม ข้อ ๕๔ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุซ่องเสพเมตตาจิต แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะกล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า กุศลทั้งหลายสามารถที่จะอบรมเจริญขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยได้ สิ่งที่คิดว่ายาก เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าค่อยๆ ฝึกหัดอบรมก็ย่อมจะค่อยๆ เกิด จนกระทั่งสามารถมีมากได้ เพราะฉะนั้น การที่จะให้มีเมตตาจิตมากขึ้น อย่าหวังว่าวันหนึ่งจะมีมาก แต่ว่าทุกขณะที่เมตตาสามารถเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นปัจจัยให้มีเมตตามากได้ มิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคคงไม่ตรัสว่า แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ถ้าไม่มีเมตตาเลย และหวังจะให้สงบจนถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

และสำหรับการที่จะอบรมเจริญพรหมวิหาร ๔ ไม่จำเป็นต้องเจริญเพียง พรหมวิหารใดพรหมวิหารหนึ่งให้มีมากก่อนจึงจะเจริญพรหมวิหารอื่น เพราะธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของพรหมผู้ประเสริฐมี ๔ อย่าง คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ข้อความใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส แสดงลักษณะของพรหมวิหาร ๔ ซึ่งลักษณะของเมตตาได้กล่าวถึงแล้ว เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงลักษณะของกรุณา มุทิตา และอุเบกขา

กรุณาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีความเป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์ เป็นลักษณะ

มีการไม่อดกลั้นได้ต่อความทุกข์ที่เกิดแก่ผู้อื่น เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีการไม่เบียดเบียน เป็นอาการปรากฏ

มีการเห็นความเป็นผู้อนาถาของสัตว์ผู้ตกยาก เป็นปทัฏฐาน

มีการเข้าไปสงบวิหิงสา คือ การเบียดเบียน เป็นสมบัติ

มีความเกิดความโศก เป็นวิบัติ

เพราะบางทีเวลาเห็นบุคคลอื่นกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน มีความสงสารมาก จนกระทั่งจิตใจเศร้าหมองพลอยเป็นทุกข์อย่างมากไปด้วย จนถึงกับร้องไห้ก็มี เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังร้องไห้ สงสาร เสียใจ เป็นทุกข์ ขณะนั้นไม่ใช่ กรุณาเจตสิก แต่เป็นอกุศลจิต

เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่จะอบรมเจริญกุศล จะปราศจากสติสัมปชัญญะไม่ได้ มิฉะนั้นไม่สามารถที่จะแยกลักษณะของอกุศลและกุศลออกจากกัน ถ้าแยกไม่ออก ในขณะที่อกุศลจิตเกิด ก็อาจจะคิดว่าขณะนั้นเป็นกุศล

ถ้าบุคคลใดกำลังได้รับความทุกข์ ที่จะเป็นกรุณา คือ ท่านมีจิตที่เห็นอกเห็นใจ สงสาร มีความเป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์ เป็นลักษณะ มีความไม่อดกลั้นได้ต่อความทุกข์ที่เกิดกับผู้อื่น คือ ไม่เฉยเมยเวลาที่เห็นผู้อื่นกำลังประสบทุกข์ยาก เป็นกิจ มีการไม่เบียดเบียน เป็นอาการปรากฏ แต่ในทางตรงกันข้าม เวลาที่กำลังเบียดเบียน หรือว่าเห็นใครเบียดเบียน ขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ถึงลักษณะของจิตของผู้นั้นได้ว่า ปราศจากกรุณา ขณะนั้นเป็นอกุศล

ปกติมีไหม กรุณา ใครเป็นผู้ที่มีกรุณามากที่สุด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ เพราะถ้าไม่ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ คงจะไม่ทรงแสดงธรรม ไม่มีข้อความที่จดจำสืบต่อกันมาจนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎกให้บุคคลรุ่นหลังได้รู้ว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมที่จะทำให้สัตว์โลกทั้งหลายพ้นจากความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงอย่างไร

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความกรุณา ก็มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกและทางธรรมเท่าที่จะทำได้

สำหรับลักษณะของมุทิตา

มุทิตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีการบันเทิงทั่ว เป็นลักษณะ คือ มีจิตที่ยินดี

มีการไม่ประพฤติริษยา เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีการพิฆาตความไม่ยินดีด้วย เป็นอาการปรากฏ

มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน

มีการเข้าไปสงบความไม่ยินดีด้วย เป็นสมบัติ

มีการเกิดความร่าเริง เป็นตัววิบัติ

การที่แสดงลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด ทั้งลักษณะ ทั้งกิจ ทั้งอาการที่ปรากฏ ทั้งเหตุใกล้ที่จะให้เกิดขึ้น ก็เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลซึ่งใกล้เคียงกัน เพราะตามปกติธรรมดา ถ้ามีความรู้สึกร่าเริงยินดี ย่อมเป็นลักษณะอาการของโลภะในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะที่มีการบันเทิงทั่วเพราะมีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลาย พลอยยินดีด้วย เวลาที่บุคคลอื่นได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ในขณะนั้นเป็นลักษณะของมุทิตา ถ้า มีการเข้าไปสงบความไม่ยินดีด้วย เป็นสมบัติ แต่ถ้ามากเกินไป เพราะยินดีด้วยกับผู้ที่เป็นที่รัก ขณะนั้นสติจะต้องเกิด เพื่อที่จะได้พิจารณารู้ลักษณะของจิตว่า ขณะนั้นความยินดีนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือว่าเป็นจิตที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยมุทิตา

สภาพใกล้กันมาก เพราะปกติจิตใจย่อมมีปัจจัยให้เกิดอกุศลอยู่บ่อยๆ แม้แต่เวลาที่บุคคลใดได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ก็สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า ท่านเฉยๆ ไม่ยินดีด้วย หรือว่าท่านยินดีด้วย แต่ยินดีด้วยโลภะ เพราะว่าสภาพของจิตเกิดดับ สืบต่อกันเร็วมาก ซึ่งผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบต้องเข้าใจว่า ความสงบ หมายความถึงจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นปราศจากทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ จึงชื่อว่าสงบ แต่ถ้าปราศจากสติก็จะมีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดบ้าง อกุศลจิตเกิดบ้าง สลับกันไป เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า บุคคลที่ท่านไม่สามารถจะยินดีด้วยในสมบัติของเขา เป็นผู้ที่ไม่เป็นที่พอใจ หรือในขณะนั้นเพราะจิตริษยา

ความริษยาเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีจริง เป็นเจตสิกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเวลาที่เห็นบุคคลอื่นเพียบพร้อมด้วยสมบัติ หรือว่าได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ด้วยสติว่า ขณะนั้นลักษณะของจิตประกอบด้วยริษยา หรือว่าเป็นจิตที่ยินดีด้วยที่เป็นมุทิตา

ควรที่มุทิตาจะเกิด แต่เพราะเหตุใดมุทิตาจึงเกิดไม่ได้ ถ้าระลึกได้ จะเห็นสภาพของจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้นว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดไม่ได้ หรือว่าเวลาที่ยินดี ร่าเริงยิ่งนัก เกินลักษณะของมุทิตา ขณะนั้นต้องรู้ว่า เป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งควรที่จะขัดเกลาให้เบาบางด้วย

สำหรับลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

มีการเป็นไปโดยอาการมีตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

มีการเห็นความเป็นผู้เสมอกันในสัตว์ทั้งหลาย เป็นรสะ

มีการเข้าไปสงบความยินดีและยินร้าย เป็นอาการปรากฏ

มีการเห็นความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนในสัตว์ทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

มีการเข้าไปสงบความยินดีและยินร้าย เป็นสมบัติ

มีการเกิดอุเบกขาไร้ญาณที่อาศัยเรือน เป็นตัววิบัติ

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ได้ด้วยสติ ไม่ใช่ว่าอุเบกขาตลอดเวลาไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งนั้น เข้าใจว่ามีตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งความจริงไม่ใช่ แต่เป็นผู้ที่ในขณะนั้นกุศลจิตไม่ได้เกิดขึ้น ไม่รู้ว่าสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่เป็นกลางจริงๆ นั้น ต้องเป็นลักษณะที่ มีตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ก็เหมือนกับบุคคลอื่น สามารถที่จะเข้าไปสงบความยินดียินร้ายได้ในขณะนั้น เป็นอาการปรากฏ และมีการเห็นความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นปทัฏฐาน

สำหรับพรหมวิหารทั้ง ๔ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกรรมดีทั้งหลาย เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลในธรรมที่ดีทุกอย่างให้บริบูรณ์ เพราะแม้ในการให้ทาน ก็ย่อมไม่แบ่งแยกการให้เฉพาะบางพวก ถ้าไม่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยพรหมวิหาร การให้ก็อาจจะแบ่งแยก ให้เฉพาะกับบางพวกเท่านั้น นอกจากนั้นยังเป็นธรรมที่ยังศีลให้บริบูรณ์ด้วยเมตตา และเมตตานั้นเองจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดพรหมวิหารอื่น คือ กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เวลาที่มีเหตุปัจจัย ปทัฏฐานที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นๆ

สำหรับข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรที่จะอบรมเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ ไม่จำเป็นต้องเจริญแต่เฉพาะเมตตาอย่างเดียวไปมากๆ ก่อน จึงจะเจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขาในภายหลัง

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒ อาฆาตวินยสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๖๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาตซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญกรุณาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญอุเบกขาในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงถึงการไม่นึก ไม่ใฝ่ใจในบุคคลนั้น ๑ ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงนึกถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตนให้มั่นในบุคคลนั้นว่า ท่านผู้นี้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักเป็นทายาท (ผู้รับผล) ของกรรมนั้น ดังนี้ ๑ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นด้วยประการฉะนี้ ฯ

จบ สูตรที่ ๑

ทุกคนมีผู้ซึ่งท่านโกรธ หรือว่าขุ่นเคืองมากหรือน้อยก็แล้วแต่ ผูกโกรธไว้นาน หรือว่าจะหายไปก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่า เวลาใดที่ความอาฆาต หรือความพยาบาท หรือโทสะ หรือจิตที่หยาบกระด้างเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งมีทางที่จะระงับได้ด้วยการเจริญพรหมวิหาร ๔ ซึ่งข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้ไม่ยากเลย ใช่ไหม ที่ว่า ความอาฆาตพึงบังเกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น ๑

นี่คือประการที่ ๑ ไม่ยากเลยที่จะพูด แต่ที่จะทำจริงๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่ว่าท่านสะสมเหตุปัจจัยมาที่จะปฏิบัติตามได้โดยง่าย หรือว่าท่านยังจะต้องอบรมเจริญอีกมากที่จะปฏิบัติตามได้ ซึ่งข้อความใน วิสุทธิมรรค สมาธินิทเทส พรหมวิหารนิเทส เรื่องการเจริญเมตตา ก็เป็นข้อความที่ขยายจากพระสูตรนี้ที่ว่า เวลาที่มี ความอาฆาต หรือความโกรธ เกิดขึ้นในบุคคลใด พึงเจริญเมตตาในบุคคลนั้น

ความละเอียดมีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายสูตร ท่านผู้ฟังคงจะไม่ลืมข้อความใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายถึงการพิจารณาบุคคลเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นว่า พิจารณาอย่างไรจึงจะระงับความโกรธ หรือความอาฆาตในบุคคลนั้นได้ เพราะทุกบุคคลย่อมมีกาย วาจา ใจ

บางท่านกายดี วาจาไม่ดี ใจไม่ดี บางท่านกายไม่ดี วาจาดี ใจไม่ดี บางท่านกาย วาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ว่าเป็นผู้ที่ได้ทางสงบใจ ยังมีการฟังธรรม ยังมีการสนใจศึกษาธรรม รู้ว่าธรรมใดเป็นธรรมที่ถูก ธรรมใดจะขัดเกลากิเลสได้ ธรรมใดที่จะอบรมเจริญ แต่เมื่อยังไม่ได้อบรมเจริญ กายส่วนที่ไม่บริสุทธิ์ คือ ที่ไม่ดี ก็ย่อมมีปรากฏ วาจาส่วนที่ไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่ดี ก็ย่อมมีปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะนึกถึงบุคคลนั้นและไม่โกรธ ระงับความอาฆาต โดยมีความเมตตาในบุคคลนั้นได้ เมื่อนึกถึงเฉพาะส่วนที่ดี ในขณะที่ส่วนที่ดีปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปนึกถึงส่วนที่ไม่ดีของคนอื่น ในเมื่อนึกแล้วจิตใจเศร้าหมอง แต่ในคนนั้นเองต้องมีสิ่งที่ดี คือ บางคนกิริยามารยาทนุ่มนวล วาจาก็ดี แต่ว่าใจยังไม่เป็นไปตามกายและวาจา

เพราะฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้ ก็พิจารณาในส่วนที่ดี คือ กายที่บริสุทธิ์ หรือวาจาที่บริสุทธิ์ และก็เกิดเมตตาได้ หรือบางท่านอาจจะเกิดความกรุณา สงสาร เกื้อกูลบุคคลที่กำลังมีความทุกข์ เพราะนึกถึงส่วนที่ดีของเขา คือ กายที่ดี หรือวาจาที่ดี หรือแม้ว่ากาย วาจาไม่ดี แต่ก็ยังเป็นผู้ที่ยังได้ทางสงบใจ เป็นผู้ที่ควรจะอนุเคราะห์ ควรที่จะเกื้อกูล ยิ่งถ้าท่านสามารถจะมีมุทิตากับบุคคลนั้นได้ ย่อมแสดงว่า การอบรมพรหมวิหารของท่านเจริญขึ้น

เพียงไม่โกรธ อาจจะได้ แต่ว่าเมื่อไม่โกรธแล้ว จะกรุณาถึงกับจะช่วยบุคคลนั้นไหม ถ้าเขาประสบความทุกข์ ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตา มีความเห็นว่า โทสะเป็นอกุศลที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น ก็อาจจะมีการพิจารณากาย วาจา ส่วนที่ดีของบุคคลนั้นจึงไม่โกรธ ในขณะนั้นละความโกรธได้ เป็นเมตตา มีความรู้สึกเป็นเพื่อนเกิดขึ้น แต่ว่าจะถึงกับกรุณาไหม ถ้าบุคคลนั้นตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบความลำบาก หรือจะถึงกับมุทิตา พลอยยินดีไปด้วยไหม ถ้าบุคคลที่ท่านขุ่นเคืองใจได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข ถ้าจิตใจของท่านสามารถจะบันเทิง ยินดีด้วย ประกอบด้วยมุทิตาจิต ในขณะนั้นแสดงว่า พรหมวิหารของท่านเจริญขึ้น

เปิด  260
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565