แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 920

อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ไม่ใช่ว่าไม่มี มี เมื่อเป็นของจริง และต้องเกิดจากเหตุที่สมควร ไม่ใช่ว่าเพียงสงบเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วควรจะกล่าวว่า ไม่ใช่จิตที่สงบเลย ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแต่เพียงกำลังของจิตซึ่งตั้งมั่นที่อารมณ์เดียวด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความสงบ แต่บุคคลนั้นก็ยังเข้าใจว่า สามารถที่จะกระทำสิ่งที่พิเศษจากปกติธรรมดาได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ที่แท้จริง อิทธิปาฏิหาริย์ที่แท้จริงสามารถที่จะเกิดได้จากจิตที่สงบมั่นคง และต้องอบรมเจริญจนกระทั่งชำนาญอย่างยิ่ง โดยการที่

พึงยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดในกสิณ ๘ มีโอทาตกสิณ เป็นที่สุด พึงฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔

นี่ยังไม่ถึงอิทธิปาฏิหาริย์ เพียงแต่ว่าเมื่อฌานจิตเกิดพอสมควร มีความชำนาญพอสมควรแล้ว ยังต้องฝึกฝนอบรมอีกมาก โดยอาการ ๑๔ คือ

๑. กสิณานุโลมโต โดยเข้าฌานอนุโลมตามกสิณ

คือ ฌานเดียวเข้าปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ ตามลำดับของกสิณ โดยฌานเดียว

๒. กสิณปฏิโลมโต โดยเข้าฌานย้อนกสิณ

ที่เคยเข้าตามลำดับ ก็จะต้องเข้าย้อนทีละกสิณ

๓. กสิณานุโลมปฏิโลมโต โดยเข้าฌานตามลำดับกสิณและย้อนกสิณ

ต้องชำนาญมาก เข้าตามลำดับกสิณและก็ย้อน และตามลำดับ และก็ย้อน และตามลำดับ และก็ย้อน ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง แล้วแต่ที่จะชำนาญ

๔. ฌานานุโลมโต โดยเข้าตามลำดับฌาน

คือ เข้าฌานที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ ตามลำดับ

๕. ฌานปฏิโลมโต โดยเข้าย้อนฌาน

คือ เข้าฌานที่ ๕ และเข้าฌานที่ ๔ ที่ ๓ ที่ ๒ ที่ ๑

๖. ฌานานุโลมปฏิโลมโต โดยเข้าตามลำดับและย้อนฌาน

คือ เข้ากสิณเดียวตั้งแต่ฌานที่ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ และก็ ๕ – ๔ – ๓ – ๒ – ๑

๗. ฌานานุกฺกนฺติกโต โดยตามลำดับกสิณแต่ข้ามฌาน

เข้ากสิณเดียวแต่ข้ามฌาน คือ เข้าฌานที่ ๑ ข้ามไปฌานที่ ๓ และข้ามไปฌานที่ ๕

๘. กสิณุกฺกนฺติกโต โดยลำดับฌานแต่ข้ามกสิณ

เข้าฌานเดียวแต่ข้ามกสิณ คือ เข้าปฐวี และก็เตโช ไม่ใช่ว่าต้องตามลำดับ

๙. ฌานกสิณุกฺกนฺติกโต โดยข้ามฌานและข้ามกสิณ ทั้ง ๒ อย่าง

ฌานที่ ๑ เป็นปฐวีกสิณ ข้ามไปฌานที่ ๓ เป็นเตโชกสิณ คือ ข้ามทั้งฌานและข้ามทั้งกสิณ

๑๐. องฺคสงฺกนฺติกโต โดยก้าวล่วงองค์ฌาน

๑๑. อารมฺมณสงฺกนฺติกโต โดยก้าวล่วงอารมณ์

๑๒. องฺคารมฺมณสงฺกนฺติกโต โดยก้าวล่วงองค์และอารมณ์

๑๓. องฺคววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดองค์

๑๔. อารมฺมณววฏฺฐาปนโต โดยกำหนดอารมณ์

ข้อความใน วิสุทธิมรรค ได้อธิบายถึงการฝึกฝนจิตโดยอาการ ๑๔ โดยละเอียด ก่อนที่จะสามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ซึ่งการกระทำอิทธิฤทธิ์ก็แล้วแต่ว่าจะฝึกหัดให้สามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ในทางไหนได้ ถ้าจะฝึกหัดให้เกิดตาทิพย์ ก็ต้องหัดเฉพาะตาทิพย์ ถ้าจะให้เกิดหูทิพย์ ก็จะต้องเฉพาะหูทิพย์ ถ้าจะให้ระลึกชาติ ก็เฉพาะระลึกชาติ จะให้กระทำปาฏิหาริย์แต่ละอย่างได้ ก็ต้องแต่ละปาฏิหาริย์

จริงไหม สมัยนี้ที่ทำกัน ได้ฌานกันบ้างหรือยัง จึงได้ทำ หรือว่าไม่ได้อะไรเลย ก็ยังทำกันไป โดยกล่าวว่า บุคคลนั้นสามารถที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เหตุกับผลต้องตรงกัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาเหตุกับผลจริงๆ ไม่ใช่ผู้ที่หวั่นไหวและตื่นเต้นไปตามคำบอกเล่า หรือคำเล่าลือต่างๆ เพราะรู้ว่าอิทธิปาฏิหาริย์มีจริง แต่ต้องประกอบด้วยเหตุที่สมควรจึงจะเป็นได้ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของจิตที่สงบเลย ไม่มีสติสัมปชัญญะเลย เพียงแต่มีสมาธิเท่านั้น และจะกล่าวว่าผู้นั้นกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ผลก็ย่อมไม่สมควรแก่เหตุ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ผู้ฟัง คำว่า จิตว่างก็ดี หรือสุญญตาก็ดี ถ้าหากบุคคลนั้นยังถอนอวิชชา ถอนอุปาทาน และยังถอนมิจฉาทิฏฐิไม่ได้ ตราบนั้นบุคคลนั้นก็ยังไม่รู้สุญญตา หรือจิตว่าง ผมคิดว่า คงเข้าใจยาก เพราะจิตว่าง บุคคลนั้นต้องเข้าใจถึงขั้นโลกุตตระ อย่างอิทธิฤทธิ์ เช่น เหาะเหินเดินอากาศได้ หรืออะไรทำนองนี้ ผมคิดว่าคงไม่ใช่อย่างนั้น ผมคิดว่า คงจะเป็นบุคคลาธิษฐานกับธรรมาธิษฐาน

สุ. คิดว่าไม่มีจริงหรือ พระพุทธเจ้าทรงกระทำได้ไหม

ผู้ฟัง เราเข้าใจคำสอนของพระผู้มีพระภาคไปในทางบุคคลาธิษฐานมากกว่า

สุ. ถ้าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็เหมือนคนธรรมดา มีความสามารถ เท่าๆ กันกับคนธรรมดา

ผู้ฟัง ตามที่ผมเข้าใจ คำว่า พุทธะ แปลว่าผู้รู้ อย่างรู้นี้ รู้วิชชา และวิชชานี้แปลว่าพุทธะ

สุ. วิชชามีเท่าไร วิชชา ๘ ซึ่งรวมทั้งจักษุทิพย์ โสตทิพย์ด้วย วิชชาทางโลกมีมากมาย แต่วิชชาทางธรรม มีวิชชา ๓ วิชชา ๘

ผู้ฟัง พุทธะในตำรา เขาแปลว่าผู้รู้ คือ รู้วิชชา

สุ. พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ประกอบด้วยวิชชาจรณสัมปันโน ทั้งวิชชาและจรณะ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ซึ่งในจรณะนั้นก็มีฌานสมาบัติด้วย

ผู้ฟัง อิทธิฤทธิ์นี้ยังสงสัยอยู่ ยังสงสัยเรื่องเหาะเหินเดินอากาศได้

สุ. ถ้าคนที่จิตไม่สงบ ไม่ถึงฌานจิต ไม่ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จะกล่าวว่า เหาะเหินเดินอากาศได้ ดำดินได้ ก็น่าสงสัย ควรแก่การที่จะไม่เชื่อถือ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าบุคคลใดสามารถที่จะถึงเนวสัญญานาสัญญายนฌาน และฝึกฝนจิตอย่างที่ได้กล่าวถึงนี้ และน้อมจิตไปที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์เฉพาะอย่างๆ บุคคลนั้นย่อมสามารถจะกระทำได้มากและน้อยตามควรแก่ความสามารถ ตามควรแก่การฝึกฝน ตามควรแก่การชำนาญ ซึ่งไม่มีผู้ใดเสมอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้ฟัง คงเป็นภาษาธรรมมากกว่า

สุ. เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคได้ฌานจิตด้วยหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่ไม่ประกอบด้วยฌานจิต พระผู้มีพระภาคทรงบรรลุฌานด้วยหรือเปล่า

ผู้ฟัง อย่างที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ธรรมตัวนี้ ...

สุ. ความต่างกันของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระสงฆ์สาวก มีไหม

ผู้ฟัง ในตำราเขาว่ามี

สุ. มี เพราะพระสงฆ์สาวกไม่ได้อบรมเจริญบารมีเท่ากับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีคุณธรรมที่จะเสมอเทียบกับพระองค์ได้ ไม่ว่าจะด้วยพระปัญญา หรือว่าอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ท่านพระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระสารีบุตร เป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยที่ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวก ผู้เลิศในทางปัญญา ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกผู้เลิศในทางอิทธิปาฏิหาริย์ ถ้าอย่างนั้นตำแหน่งนี้ก็หายไป

ผู้ฟัง ผมคิดว่า เป็นภาษาธรรมมากกว่า

สุ. ภาษาธรรม คืออะไร ในเมื่อท่านพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา และภาษาธรรมของท่านพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกผู้เลิศในทางอิทธิปาฏิหาริย์ จะต่างกับท่านพระสารีบุตรอย่างไร

ผู้ฟัง ไม่ใช่ หมายความว่าภาษาของพระพุทธเจ้า หมายความว่าภาษาคน ไปอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมก็ไปอีกอย่างหนึ่ง

สุ. จิตที่สงบมีไหม และจิตที่สงบขึ้นๆ มั่นคงขึ้น มีได้ไหม และจิตที่สงบมั่นคงขึ้นนี้ แบ่งออกเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นที่สูงที่สุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีได้ไหม เมื่อมีได้ สภาพของจิตซึ่งละเอียด ประณีต ผ่องใส เป็นกุศลที่เป็นมหัคคตะ ไม่ใช่เป็นมหากุศลที่เป็นไปในทานบ้างชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ เป็นไปในศีลบ้างชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเป็นไปในความสงบของจิตชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าเป็นมหัคคตจิต จิตที่สงบมั่นคง ผ่องใส เป็นกุศลอย่างยิ่ง มีได้ไหม

ถ้าจิตอย่างนั้นมีได้ เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นเป็นปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ไหม

ในเมื่อสมัยนี้จิตของคนก็ยังไม่ละเอียด ยังไม่ประณีต ยังไม่เป็นกุศลอย่างคนในครั้งกระโน้นที่ได้อบรมเจริญความสงบ ก็ยังสามารถที่จะออกไปนอกโลก ออกไปถึงดาวต่างๆ นอกโลกได้ ดังนั้น จิตของผู้ที่สงบ ละเอียด ประณีต เป็นกุศล จะมีกำลังมากกว่าจิตของปุถุชนที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ สามารถที่จะกระทำสิ่งซึ่งบุคคลในสมัยนี้เรียกว่าเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ได้ไหม

ผู้ฟัง ผมคิดว่า เพราะความเข้าใจของพุทธบริษัท สมัยปัจจุบันกับสมัยอดีต สมัยที่พระพุทธเจ้า …

สุ. สมัยนี้กับสมัยก่อนต่างกันในข้อไหน และเหมือนกันในข้อไหน

ผู้ฟัง คือ การบรรลุมรรคผล บรรลุง่าย

สุ. ในสมัยนี้หรือ

ผู้ฟัง ไม่ใช่ ในสมัยพระพุทธเจ้า

สุ. ในสมัยก่อน และไม่ใช่แต่เฉพาะการบรรลุมรรคผล แม้แต่ความสงบของจิตที่มั่นคงเป็นฌานขั้นต่างๆ ก็มีมากกว่าในสมัยนี้ ถูกต้องไหม

ผู้ฟัง อย่างสมัยนี้ ผมสังเกตว่า บางคนเรียนมาตั้งแต่อายุ ๑๗ – ๑๘ ปี จนกระทั่งอายุ ๔๐ – ๕๐ ปี ก็ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย คือ ไปติดแต่ในสมมติบัญญัติ ปรมัตถบัญญัติส่วนมากมักไม่เข้าใจ เช่น การเกิด การเกิดส่วนมากเข้าใจว่าเกิดจากท้องแม่ การเกิดอย่างแท้จริงไม่ใช่อย่างนั้น คนเราไม่เข้าใจภาษาธรรมกับภาษาคน ถ้าเข้าใจเรื่องนี้เกิดแล้ว เข้าใจถูกแล้ว ผมคิดว่าสัมมาทิฏฐิอย่างเดียวเท่านั้น

สุ. ดิฉันก็ยังไม่เข้าใจ หมายความว่า ไม่มีคนเกิดจากท้องแม่กันหรือ

ผู้ฟัง ไม่ใช่ พวกนักศึกษาบางคน แต่ไม่ใช่ท่านอาจารย์ ผมคิดว่า ...

สุ. ทุกคนก็เกิดจากท้องแม่กันทั้งนั้น

ผู้ฟัง เกิดอย่างนั้น เขาเรียกว่าเกิดของรูปนาม เช่น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ดังนี้ เป็นสภาวะที่เปลี่ยนแปลง ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า ให้เราเข้าใจถูก ผมคิดว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนยกบุคคลาธิษฐานกับธรรมาธิษฐานมาพูด

สุ. พระผู้มีพระภาคทรงสอนเรื่องอะไรบ้าง ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ทรงสอนเรื่องอะไรบ้าง ทรงสอนเรื่องสภาพธรรมทั้งหมดที่มีจริง จิตที่สงบมีจริงไหม

ผู้ฟัง อย่างที่ว่า การเกิด ส่วนมากท่านพูดไปอย่างหนึ่ง แต่พวกเราเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง การเกิดของท่าน โดยมากเกิดกิเลส แต่เราไปยึดการเกิดนี้ว่าเป็นตัวตนว่านี่เป็นตัวเรา เป็นของเรา ผลที่สุดเลยไม่รู้เรื่องว่า ธรรมคืออะไร

สุ. ธรรมคืออะไร

ผู้ฟัง ธรรม ก็ปกติๆ คือ เราปฏิบัติชีวิตประจำวันของเราให้ปกติ การเดิน การยืน การนั่ง การนอนให้ถูกให้ต้องเท่านั้น

สุ. กุศลจิตเป็นปกติไหม

ผู้ฟัง ผมก็คิดว่าอย่างนั้น

สุ. อกุศลจิตเป็นปกติไหม

ผู้ฟัง อกุศลจิต ก็สุดแล้วแต่บุคคลที่ปฏิบัติ

สุ. กุศลมีกี่ประเภท

ผู้ฟัง หมายถึงดีหรือชั่ว

สุ. มีกี่ประเภท มีกี่อย่าง ประเภทใหญ่ๆ ทานเป็นกุศลไหม

ผู้ฟัง เป็น

สุ. ศีลเป็นกุศลไหม

ผู้ฟัง เป็น

สุ. ความสงบเป็นกุศลไหม

ผู้ฟัง เป็น

สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าจิตสงบขึ้นๆ เป็นกุศลยิ่งขึ้น

ผู้ฟัง อย่างการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นั่ง หมายความว่า นั่งจนไม่รู้สึกตัว อย่างนี้ใช่ไหม

สุ. มิได้

ผู้ฟัง ไม่ได้ใช่ไหม อย่างนี้ได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง นั่งโดยไม่รู้สึกตัวอะไรเลย

สุ. ไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง อย่างนั่งยุบหนอ พองหนอๆ โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก หมายความว่า เราทำไปแล้ว เราไม่มีปัญญา สติปัญญาระลึกถึงอะไรต่ออะไรได้ แต่พิจารณาลมหายใจเข้าออกๆ ไม่รู้เรื่องอะไร ผลที่สุดไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย บางคนเรียนมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี

สุ. ก็ไม่ใช่วิปัสสนา และไม่ใช่สมถะด้วย

ผู้ฟัง ถ้าหากพูดแบบท่านอาจารย์ ผมคิดว่าถูกต้อง

สุ. กุศลมีหลายขั้น มีทั้งที่เป็นมหากุศล มีทั้งที่เป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า กุศลแต่ละขั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับกุศลที่เป็นรูปาวจรกุศล หรือว่าอรูปาวจรกุศล หรือโลกุตตรกุศล ต้องเจริญอบรม ไม่เหมือนกับกุศลขั้นทานและขั้นศีล แต่กุศลนั้นมีจริง ถ้าเป็น รูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล ก็เป็นมหัคคตกุศล ซึ่งในพระไตรปิฎกพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่า สมถะ ก็อย่าเพิ่งเชื่อทันทีเวลาที่ใครบอกว่าเป็นสมถะ แต่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า สมถะคืออะไร เกิดขึ้นขณะไหน เจริญขึ้นได้อย่างไร และวิปัสสนาคืออะไร เกิดขึ้นในขณะไหน เจริญขึ้นได้อย่างไร ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ก่อน

สำหรับภาวนา ต้องเป็นปัญญาจึงจะเจริญได้ ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้มีปัญญาที่รู้ถูกต้องในเรื่องของจิตที่สงบ หรือเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ย่อมไม่สามารถที่จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาได้เลย และเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องผลของการอบรมเจริญสมถภาวนา แต่ว่าแม้แต่เมตตาในชีวิตประจำวันจริงๆ เดี๋ยวก็เกิดได้ เดี๋ยวก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่จะให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ หรือถึงอัปปนาสมาธิ ที่จะให้ถึงฌานจิต ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการไปนั่ง พยายามท่อง และก็คิดว่า เดี๋ยวนิมิต จะเกิด เดี๋ยวจะถึงอุปจารสมาธิ หรือว่าเดี๋ยวจะถึงฌานจิต นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง

ผู้ฟัง ผมคิดว่า นักศึกษามักจะเข้าใจทำนองนั้นมากกว่า คือ ติดอยู่ในตำรับตำรา ไม่พิจารณาที่อยู่ใกล้ๆ ตัว

สุ. เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ กลับมาถึงขณะนี้ ปัจจุบันนี้ เป็นสติขั้นไหน ขั้นสมถะ หรือว่าขั้นสติปัฏฐาน ต้องมีสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ว่า เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศล เป็นกุศลที่เป็นสมถะ หรือว่าเป็นกุศลที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นความรู้จริงๆ ประกอบด้วยสัมปชัญญะจริงๆ

ขณะที่ท่านพระสารีบุตรถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคที่ถ้ำสุกรขาตา ก่อนที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ฌานจิตเกิดมากมายโดยประการต่างๆ ทั้งๆ ที่กำลังถวายอยู่งานพัด นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นปกติ ความชำนาญ ไม่ใช่ว่าต้องไปนั่ง นิ่งๆ อยู่คนเดียว แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญจนกระทั่งชำนาญแล้ว ไม่ว่าท่านจะยืน เดิน นั่ง นอน ฌานจิตจะเกิดสลับกับกามาวจรจิต คือ จิตที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายบ้าง คิดนึกทางใจบ้าง

อย่างเช่น ท่านพระมหาติสสะ ท่านออกไปบิณฑบาต เห็นหญิงที่แต่งตัวสวยงามเดินสวนทางไป ฌานจิตเกิดกับท่านในขณะที่ท่านกำลังเดินบิณฑบาต โดยการที่ท่านเห็นเป็นกระดูก อัฏฐิกสัญญา เป็นอสุภกัมมัฏฐาน ด้วยความชำนาญ เป็นปกติ สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่มีการผิดปกติ

เพราะฉะนั้น เรื่องของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องของสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่ใช่คลาดเคลื่อนเป็นอาการที่ปรากฏผิดปกติ เพราะจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด ในขณะนี้จิตที่สงบเกิดได้ สลับกับจิตที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง หรือว่า สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สลับกับจิตที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เป็นต้น ได้เป็นปกติ

เปิด  288
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566