แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 913
ผู้ฟัง ผมคิดว่า การท่องว่า ให้นาย ก. มีความสุข ก็เพื่อเมตตาจิตของเราต่อไปจะได้มีเมตตาต่อกับนาย ก.
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังบอกว่า ตำรากล่าวว่าอย่างนั้น ข้อความใน วิสุทธิมรรค ตามหัวข้อของการที่จะอบรมเจริญตามลำดับ คือ
เจริญเมตตา จำละโทสะ บรรลุขันติ เพราะเหตุไร เพราะสำหรับภาวนา คือ เมตตานี้ จำละโทสะ และบรรลุขันติ ก็แต่ว่าใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อละโทษอะไรๆ ที่ตัวยังไม่เห็นแล้ว และไม่อาจเพื่อบรรลุอานิสงส์อะไรๆ ที่ตัวยังไม่ทราบแล้ว
ไม่ได้บอกให้ท่อง แต่ให้รู้เหตุผล ข้อความต่อไปแสดงโทษของโทสะ อานิสงส์ของขันติ ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่เวลาที่โทสะเกิด สติสัมปชัญญะระลึกทันที เห็นโทษของโทสะในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าให้ท่อง แต่ว่าโทษของโทสะ อานิสงส์ของขันติ ต้องระลึกได้ในขณะนั้น และเริ่มเจริญเมตตาโดย จำต้องรู้บุคคลเป็นโทษ ๖ จำพวก และแสดงว่า เจริญเมตตาในบุคคลเป็นโทษไม่สำเร็จ
ไม่มีการกล่าวว่า ท่องเสียก่อน ท่องมากๆ หรือว่าท่องนานๆ แต่นี่เป็นเรื่องของการให้ปัญญาเกิดขึ้นเห็นว่า สิ่งใดเป็นกุศลที่ควรเจริญ สิ่งใดที่เป็นอกุศลที่ควรละเว้น เป็นลำดับ และข้อความต่อไป คือ แผ่เมตตา หรือเจริญเมตตาในอาจารย์ เป็นต้น
ยังแผ่ไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีที่จะแผ่ ต้องให้เมตตาเกิดก่อนจนกระทั่งชำนาญ จนกระทั่งกว้างออกไปจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง จากอาจารย์กว้างออกไปถึงสหายยอดรัก ในบุคคลผู้ผูกเวร ต่อจากนั้นถ้าไม่ระงับ ต้องนึกถึงพุทธโอวาทใน กกจูปมสูตร
ไม่ได้บอกให้ท่องต่อไปเมื่อยังไม่ระงับ แต่บอกว่า ถ้าไม่ระงับต้องนึกถึง กกจูปมสูตร และแสดงถึง กกจูปมสูตร โดยย่อ มีข้อความว่า
แม้หากโจรผู้หยาบช้าพึงเอาเลื่อยมีคันทั้ง ๒ ข้าง ตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดยังใจให้ประทุษร้ายแม้ในโจรนั้น เธอนั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะยังใจให้ประทุษร้ายในโจรนั้น
เป็นเรื่องให้พิจารณา ให้นึกได้ ให้สติสัมปชัญญะเกิดที่จะไม่โกรธในบุคคลนั้น ถ้ายังไม่ระงับก็ต้องนึกถึง ระลึกถึงข้อความที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตรต่างๆ เช่น เปรียบคนมักโกรธเหมือนฟืนเผาผี และตรัสไว้อีกว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฟืนเผาศพอันไฟติดทั้ง ๒ ข้าง ตอนกลางจมคูถ (คือ อุจจาระ) ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เพื่อเป็นไม้ฟืนในบ้าน ทั้งไม่สำเร็จประโยชน์เพื่อเป็นไม้ในป่า แม้ฉันใด บุรุษบุคคลผู้ขี้โกรธนี้ เรากล่าวว่า มีอุปมาเหมือน อย่างนั้น ฉะนี้
ข้อความต่อไป
ครั้นนึกถึงโอวาทดังนี้แล้ว จึงสั่งสอนตนว่า บัดนี้ท่านเมื่อยังโกรธอย่างนี้ จักไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค ยังมิหนำซ้ำ เธอเมื่อโกรธตอบกลับเลวไปเสียกว่าบุรุษผู้โกรธก่อนอีก เท่านี้พอทำเนา ยังจักไม่ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก และตนเองจักทำธรรมที่ข้าศึกพึงทำแก่กันแก่ตนเอง ซ้ำยังต้องเป็นผู้เปรียบเสมือนดุ้นฟืนที่เขาเผาศพ ฉะนี้ (แล้วพึงบรรเทาความแค้นนั้นเสีย)
ถ้าอ่านพระไตรปิฎกหรือว่าในอรรถกถาทั้งหลายดูเสมือนว่า มีตัวตนที่จะระงับความโกรธได้ หรือว่ามีตัวตนที่จะทำสติ จะมีสติ จะเจริญสติ จะเจริญเมตตา แต่ต้องไม่ลืมว่า จะต้องเข้าใจอรรถ แม้ว่ารูปพยัญชนะสำหรับผู้ที่ยังมีความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนอยู่ ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะเข้าใจอย่างนั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะทำสติ มีสติ หรือมีเมตตาได้ ถ้าสภาพธรรมเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม การพิจารณาโดยถูกต้องย่อมเป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดขึ้นระลึกได้ และพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยการที่เมื่อสติมีปัจจัยจึงเกิดขึ้นระลึกได้ และพิจารณาถูก แต่ถ้าสติยังไม่เกิด ความโกรธมีปัจจัย ความโกรธนั้นก็ยังคงเกิดขึ้นต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านจะไปทำ หรือว่าจะให้มีเมตตา หรือว่าจะให้บรรเทาความแค้น แต่การระลึกถึง การไม่หลงลืม การระลึกได้ถึงคำสอนที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เป็น อันมาก เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้ความโกรธนั้นบรรเทา
ข้อความต่อไปมีว่า
ถ้าไม่ระงับ ต้องนึกถึงความดีของผู้นั้น
ซึ่งข้อความนี้มาจาก อาฆาตวินยสูตร ที่ว่า
เมื่อเธอขะมักเขม้นพยายามอยู่อย่างนี้ ถ้าความแค้นนั้นระงับได้ เช่นนั้นเป็นการดี ถ้าไม่ระงับ ครั้นคราวนี้ต้องระลึกถึงธรรมใดธรรมหนึ่งก็ตามของบุคคลผู้เป็นข้าศึกของตนนั้น ที่สงบเสงี่ยมบริสุทธิ์ ที่เมื่อนึกถึงก็นำให้เลื่อมใส แล้วบรรเทาความอาฆาตเสีย จริงอยู่ คนบางคนมีเฉพาะมารยาททางกายเสงี่ยมงาม และความเสงี่ยมงามของผู้นั้น ชนทุกคนย่อมรู้ได้เมื่อเขาทำวัตรปฏิบัติมาก ส่วนมารยาททางวาจา และความประพฤติทางใจ ไม่สงบเสงี่ยม
นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแต่เฉพาะส่วนที่ดีของผู้ที่เป็นศัตรู หรือว่าที่กำลังโกรธในขณะนั้น ไม่มีเรื่องที่จะให้ท่องเลย
ข้อความต่อไปมีว่า
ถ้าไม่สงบ พึงสอนตน เมื่อพยายามอยู่อย่างนี้ ความอาฆาตยังเกิดอยู่อีก คราวนี้บุคคลนั้นพึงสอนตนอย่างนี้ว่า ผิว่าทุกข์อันคนผูกเวรทำให้แก่ท่านที่กายของตัวไซร้ ไฉนท่านจึงปรารถนาที่จะทำทุกข์ให้ในจิตของตัวเอง
น่าฟังไหม ถ้าบุคคลนั้นทำทุกข์ให้เกิดกับกายของเรา ทำไมเราถึงทำทุกข์ให้เกิดขึ้นกับใจของเราเองด้วย คือ คนอื่นสามารถที่จะทำทุกข์ให้เกิดขึ้นกับเราได้เฉพาะ ทางกาย เช่น เบียดเบียนประทุษร้าย หรือว่าอาจจะกระทบกระทั่งด้วยวาจา เหตุไฉนเราจึงจะให้ทุกข์เกิดขึ้นกับจิตของเราเองด้วยเล่า โดยการที่ให้ความโกรธเกิดขึ้นประทุษร้ายจิตใจของตัวเอง ในเมื่อคนอื่นสามารถจะทำได้เพียงกาย หรือวาจา แต่ตัวเองทำทุกข์ให้กับจิตของตนเอง เวลาที่ความโกรธของตนเองเกิดขึ้น
ไม่มีเรื่องท่องเลย จนกระทั่งถึง กัมมัสสกตาญาณ นึกถึงเรื่อง สีลวชาดก นึกถึงจารีตของพระศาสดา นึกถึง ขันติวาทีชาดก นึกถึง จูฬธัมมปาลชาดก นึกถึง ฉัททันตชาดก นึกถึง มหากปิ นึกถึง ภูริทัตตนาคราช นึกถึง จัมเปยยกนาคราช ล้วนเป็นเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟังจนกระทั่งเป็นปัจจัยที่จะให้จิตบรรเทาจากความโกรธ ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังน้อย ก็มีปัจจัยที่จะให้นึกได้น้อย ความโกรธก็บรรเทาได้ยาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังมากและไม่หลงลืม ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เรื่องของการเจริญเมตตาละความโกรธ ถ้าไม่ระงับต้องนึกถึงสังสาระไม่มีที่สิ้นสุด ถ้ายังไม่ระงับต้องนึกถึงอานิสงส์ของเมตตา ถ้าไม่ระงับต้องทำการแยกธาตุ ถ้าไม่ระงับต้องทำการเผื่อแผ่
เป็นเรื่องของการกระทำด้วย เพราะ ก็ผู้ที่ไม่อาจทำการแยกธาตุได้ พึงทำการให้และแบ่งปัน คือ ให้ของของตนแก่ผู้อื่นซึ่งเป็นข้าศึก
ถ้าอยากจะชนะใจตนเองจริงๆ ไม่โกรธคนที่เป็นข้าศึกจริงๆ เมื่อนึกด้วยประการทั้งปวงก็ยังไม่หาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ให้ปันแก่ผู้ที่เป็นข้าศึกเสีย ถ้าสามารถจะทำได้ก็ย่อมจะทำให้ความโกรธเบาบาง และรับของของผู้อื่นซึ่งเป็นข้าศึกด้วย เพราะบางคนถ้าเป็นคนที่เป็นข้าศึกให้ ไม่ยอมรับ ยังโกรธอยู่ แม้จะเป็นวัตถุที่เป็นประโยชน์ก็ยังไม่ยอมรับ เป็นเรื่องอะไรกันก็ไม่ทราบ คือ เป็นเรื่องของอกุศลมากมาย ทั้งหนาแน่น ทั้งวิจิตรต่างๆ ตามอารมณ์ ตามเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และที่ให้ทำอย่างนี้ เพราะทานมีมหานุภาพ คือ มีอานุภาพใหญ่
เพราะฉะนั้น ความโกรธจะสงบได้ ต้องเจริญเมตตาบ่อยๆ ไม่ได้บอกว่า ให้ท่องบ่อยๆ เพิ่มพูนความเป็นผู้มีจิตสม่ำเสมอกันในชนทั้ง ๔ คือ ในตน ในบุคคล ที่รัก ในคนกลางๆ ในคนผูกเวร จนกว่าจะเสมอทั่วไปในสัตว์ทั้งหลาย จิตจึงจะสงบขึ้น จนกระทั่งประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าจะนึกถึงบุคคลใด ก็นึกถึงด้วยเมตตา และเมื่อความสงบมั่นคง สามารถที่จะมีกับบุคคลทั่วไป ความสงบที่มั่นคงก็จะเพิ่มขึ้น จนถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
ถ. อาจารย์บอกว่า ไม่ให้ท่อง
สุ. การท่องคืออะไร การท่อง คือ การคิด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ถ. การท่องเป็นการจดจำ เพื่อให้ระลึกถึงได้
สุ. เพื่อจะให้เข้าใจ หรือให้จำ
ถ. ให้จดจำ ให้ระลึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นได้
สุ. โดยไม่ต้องเข้าใจหรือ
ถ. เมื่อระลึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ก็เข้าใจ
สุ. ถ้าบอกว่า เห็นๆ เข้าใจอะไร ได้ยินๆ เข้าใจอะไร ถ้าเพียงได้ยิน ก็ไม่มีประโยชน์ จะพูดว่า เห็น ก็ไม่เข้าใจ จะพูดว่า ได้ยิน ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น
ถ. ที่อาจารย์พูด เฉพาะคำๆ นี่
สุ. ถูก ก็เหมือนกัน ถ้ามีคนบอกว่า เห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรม ก็ท่องใช่ไหม เห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรม เข้าใจอะไร
ถ. เขาต้องเข้าใจเอง ต่อไปเขาเข้าใจ
สุ. ต่อไปเขาจะเข้าใจเอง โดยไม่ศึกษา เป็นไปไม่ได้
ถ. การเข้าใจก็เป็นการศึกษาแล้ว
สุ. มิได้ ต่อไปเขาจะเข้าใจเอง โดยไม่ศึกษาเป็นไปไม่ได้ ถ้าบอกว่า เห็นเป็นนามธรรม สีเป็นรูปธรรม และคนนั้นจะเกิดความเข้าใจเองโดยไม่ศึกษา เป็นไปไม่ได้
ถ. จริงอย่างที่อาจารย์พูด แต่ถ้าเขาคิดตาม เขาก็เข้าใจเหมือนกัน
สุ. ไม่ได้พูดอย่างนี้ ต้องพูดมากกว่านี้ สภาพรู้ คำว่านามธรรม หมายความถึง สภาพที่มีจริงที่น้อมไปสู่อารมณ์ ต้องพูดมาก ทั้ง ๓ ปิฎกที่ทรงแสดงไว้เพื่อให้เข้าใจ ไม่ใช่เพื่อให้ท่อง แต่เวลาที่มีการได้ยินได้ฟัง ย่อมมีปัจจัยที่จะให้คิดเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะคิดเป็นคำเรื่องหนึ่งเรื่องใด ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่า นามธรรม ก็จะไม่เกิดความคิดคำว่า นามธรรม
ถ. ผมคิดว่า บางคำต้องท่อง ไม่ท่องจำไม่ได้ แต่บางคำไม่ต้องท่อง
สุ. ประโยชน์ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่าลืม แม้แต่เมตตา ถ้าไม่รู้ ก็ท่อง เพื่อที่จะให้ตัวเองเป็นที่รัก เป็นที่เมตตา แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องรู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลที่ต้องการให้คนอื่นเมตตา เป็นโลภะของตัวเอง ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จิตไม่สงบในขณะที่ท่อง เพราะต้องการผลประโยชน์ คือ ความเมตตาจากบุคคลอื่น
ถ. แต่เมื่อท่อง เขาเข้าใจแล้ว ก็เป็นความรู้
สุ. เขาเข้าใจ เป็นไปได้อย่างไรโดยที่ไม่ศึกษา หรือว่าไม่ฟังให้ละเอียด ความเข้าใจเกิดจากการท่อง หรือจากการศึกษา
ถ. เมื่อเข้าใจ ก็แปลว่าศึกษาอยู่ในตัวแล้ว
สุ. ถ้าไม่ฟัง จะเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไหม ถ้าใครๆ สามารถที่จะเข้าใจเองได้ พระผู้มีพระภาคไม่ต้องทรงแสดงอะไร
ถ. ในอดีตชาติ เขาเคยฟังมาแล้ว เขาก็ไม่ต้อง
สุ. อดีตชาติเคยฟังมาแล้ว เพราะฉะนั้น ปัจจุบันชาตินี้จะเป็นอดีตของ ชาติหน้า เพราะฉะนั้น ก็ให้เข้าใจชาตินี้ เพื่อว่าชาตินี้จะเป็นอดีตของชาติหน้า
ถ. ก็ชาตินี้เขาก็ศึกษาแล้ว ศึกษาเหมือนกัน
สุ. ต้องศึกษา ไม่ใช่ท่อง เพราะฉะนั้น คิดดีๆ ว่า ท่อง ต้องการอะไร ต้องการอะไรที่ท่อง ถ้าต้องการผล คือ ให้เป็นที่รักที่พอใจ ขณะนั้นเป็นโลภะ ไม่ได้เป็นกุศล ต้องการประโยชน์จากการท่อง
ผู้ฟัง ผมคิดว่า คนที่เรียนวิชา ฝึกวิชาทุกอย่าง เป็นเรื่องการงานหรือเป็นการเรียน เมื่อเข้าใจแล้ว รู้แล้ว ทำเป็นแล้ว ผู้นั้นย่อมสบาย คือ ไม่ต้องไปท่อง สำคัญอยู่ที่เข้าใจ อย่างผมอาชีพเป็นช่าง ผมเข้าใจการทำต่างๆ พอเห็นงานแล้วรู้ คือ ไม่ต้องท่องว่าทำอย่างไร เข้าใจหมด ไม่เคยท่อง แต่ว่าเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจธรรม หรือวิชาความรู้ต่างๆ ก็ใช้การไม่ได้ แต่เมื่อเข้าใจธรรม หรือเข้าใจวิชาทางโลก ก็ทำงานสำเร็จด้วยดี ถ้าไม่เข้าใจ ทำผิดๆ ถูกๆ ไม่ได้เรื่อง
สุ. เรื่องคาถาเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านเคยได้ยินได้ฟัง เคยมี เคยท่อง เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ว่า คาถาทั้งหมดที่ท่อง ที่สวดนั้นเพื่ออะไร ถ้าท่านพิจารณาและเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ท่านจะได้ประโยชน์ จริงๆ จากคาถานั้น แต่ถ้าไม่ได้พิจารณาหรือไม่เข้าใจ ย่อมไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากคาถานั้น เพราะท่องเพื่อหวังผลด้วยโลภมูลจิต
ผู้ฟัง เรื่องการท่อง ตั้งแต่อาจารย์ได้ยกตัวอย่างพระสูตรที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ผู้ที่จะแผ่เมตตาไปโดยไม่เจาะจงนั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้ปฐมฌานก่อนจึงจะแผ่เมตตาไปโดยไม่เจาะจงได้ หลังจากนั้นผมก็แผ่ไปโดยเป็นบุคคล เป็นหมู่ไป และสังเกตจิตใจของตัวเองว่า ขณะที่ตรึก หรือพูดว่า ขอบุคคลทั้งหลายในบริเวณนี้จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีความสุข บริหารตนเถิด ขณะที่พูดอย่างนั้น ขณะนั้นจิตไม่ประกอบด้วยเมตตา ตอนหลังนี้ก็ไม่ได้ท่อง แต่ยังเห็นว่า การท่องบางครั้งมีประโยชน์อยู่บ้าง คือ ทำให้มีสติในขณะที่ท่อง แต่เมตตาในขณะที่ท่องไม่มี
สุ. การอบรมเจริญภาวนา หมายความว่า กุศลเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงเพิ่มขึ้นจากการเพียงท่องมาเป็นสติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตในขณะนั้นว่า ประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ประกอบด้วยเมตตา นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะของเมตตาจะทำให้เมตตาเจริญขึ้น ไม่ว่าในขณะที่นึก เป็นการคิดนึกทางใจ หรือว่าเป็นการกระทำทางกาย สติสัมปชัญญะจะทำให้รู้ว่า ขณะที่กระทำอย่างนั้น ประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ประกอบด้วยเมตตา หรือในขณะที่กล่าววาจา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะหนึ่งลักษณะใด สติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นจะทำให้ระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ประกอบด้วยเมตตา จึงจะเป็นการอบรมเจริญเมตตาภาวนาให้มากขึ้น ไม่ว่าในขณะที่มองดูบุคคลอื่น ในขณะที่เห็นเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติสัมปชัญญะจะทำให้รู้ลักษณะของเมตตาในขณะนั้นว่า เกิดขึ้นหรือเปล่า และย่อมจะทำให้เมตตาเจริญขึ้นเมื่อรู้ลักษณะของเมตตาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน จะสังเกตความต่างกันได้ของการเพียงท่อง ซึ่งเมตตายังไม่เจริญ กับเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ว่า ขณะใดจิตประกอบด้วยเมตตาและขณะใดไม่ประกอบด้วยเมตตา เพราะวันหนึ่งๆ ก็มีการเห็นสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆ และมีการพูดมาก ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ไม่ทราบว่าคำพูดนั้นประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ ถ้าเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยเมตตาย่อมมีประโยชน์ และขณะนั้นก็เป็นการอบรมเจริญเมตตา
สำหรับการอบรมเจริญกุศล มีอานิสงส์ มีประโยชน์มาก แต่เวลาที่กล่าวถึงอานิสงส์ของกุศล บางท่านที่ลืมจุดประสงค์ของการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐานเพื่อขัดเกลากิเลส อาจจะพอใจในอานิสงส์ของกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ทราบว่าเมตตามีอานิสงส์ประการใดบ้าง ก็นึกอยากที่จะได้รับอานิสงส์ของเมตตาทันที แต่ตามความจริงแล้ว ถ้าได้ทราบอานิสงส์ของเมตตา ควรจะเป็นการตรวจสอบเมตตาจิตของท่านว่า เมตตาจิตของท่านมีมากพอที่จะได้รับอานิสงส์ตามที่ทรงแสดงไว้หรือไม่ เพื่อเป็นเครื่องเตือนว่า ควรจะอบรมเจริญเมตตาจนกว่าจะได้รับอานิสงส์ตามที่ทรงแสดงไว้