แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 914

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เมตตาวรรคที่ ๑ เมตตสูตร ข้อ ๙๑ แสดงอานิสงส์ของเมตตาว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญ เนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี พึงหวังได้อานิสงส์ ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ หลับก็เป็นสุข ๑ ตื่นก็เป็นสุข ๑ ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก ๑ เป็นที่รักของมนุษย์ ๑ เป็นที่รักของอมนุษย์ ๑ เทวดาย่อมรักษา ๑ ไฟ ยาพิษ หรือศัสตราไม่กล้ำกรายผู้นั้น ๑ เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ ย่อมไปบังเกิดใน พรหมโลก ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญ เนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ ปรารภด้วยดี พึงหวังได้อานิสงส์ ๘ ประการนี้ ฯ

ก็ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง หากว่าเขาไม่มีจิตคิดประทุษร้ายสัตว์ แม้สักตัวเดียว เจริญเมตตาจิตอยู่ เพราะเจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมเป็นกุศล เขามีใจอนุเคราะห์หมู่สัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ประเสริฐ กระทำบุญมาก พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรมเช่นกับฤๅษี ชำนะแผ่นดินอันประกอบด้วยหมู่สัตว์ เจริญรอยตามกัน บูชายัญเหล่าใด คือ สัสสเมธ ความทรงพระปรีชาในการบำรุงพืชพันธ์ธัญญาหาร ปุริสเมธ ทรงพระปรีชาในการเกลี้ยกล่อมประชาชน สัมมาปาสะ มีพระอัธยาศัยดุจบ่วงคล้องน้ำใจประชาชน วาชเปยยะ มีพระวาจาเป็นที่ดูดดื่มน้ำใจคน ซึ่งมีผลคือทำให้นครไม่ต้องมีลิ่มกลอน มหายัญเหล่านั้นทั้งหมด ยังไม่เทียบเท่าส่วนที่ ๑๖ แห่งเมตตาจิตที่บุคคลเจริญดีแล้ว ดุจกลุ่มดวงดาวทั้งหมดไม่เทียบเท่าแสงจันทร์ ฉะนั้น ผู้ใดมี เมตตาจิตในสรรพสัตว์ ไม่ฆ่า (สัตว์) เอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้นย่อมไม่มีเวรกับใครๆ ฯ

จบ สูตรที่ ๑

ได้รับผลของเมตตา ๘ ประการนี้แล้วหรือยัง

หลับก็เป็นสุข

ถ้าโกรธใครจะนอนหลับเป็นสุขไหม ลองคิดดู แต่เวลาที่ไม่โกรธ ไม่มีเวรกับใครๆ อภัยให้หมดทุกคนได้ ในขณะนั้นหลับเป็นสุขจริงๆ เพราะไม่เกิดอกุศลจิตที่ เร่าร้อนก่อนจะหลับ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เวลาจะหลับ สติสัมปชัญญะเกิดหรือเปล่า พอที่จะรู้ขณะจิตก่อนที่จะหลับไหมว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นโทสะ หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือว่าเป็นเมตตา ซึ่งผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อสภาพธรรมเป็นอกุศล สติสัมปชัญญะเห็นความเป็นอกุศลว่าเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ปัญญาย่อมจะสามารถละคลายอกุศลได้เบาบางยิ่งขึ้น เพราะในขณะนั้นสามารถที่จะรู้ความต่างกันของกุศลและอกุศล

อานิสงส์ทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นเครื่องพิจารณาสอบทานกุศลของท่านเองว่า ได้อบรมเจริญมากพอที่จะได้รับอานิสงส์ทั้ง ๘ ประการนี้หรือยัง ไม่ใช่ว่าหวังผลว่า อยากหลับเป็นสุขจริงๆ จะทำอย่างไร และก็หาวิธีอื่น ซึ่งไม่มี นอกจากกุศลเท่านั้นที่จะทำให้เกิดอานิสงส์ดังที่ได้กล่าวแล้ว

ตื่นก็เป็นสุข

เวลาตื่นก็ยังพิสูจน์ได้อีกว่า เมตตาเจริญมาพอหรือยัง เพราะถ้าโกรธใครค้างอยู่ในใจ ตื่นขึ้นมาเป็นอย่างไร จิตใจเศร้าหมอง หมกมุ่น ไม่ลืมเรื่องนั้นเลย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริง แต่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตที่ขุ่นข้องเกิดขึ้น มีสัญญา ความทรงจำถึงเรื่องที่ขุ่นเคืองใจในทันทีที่ตื่นขึ้น หรือถ้าท่านได้กระทำผิดพลาดไปด้วยประการใดๆ ก็ตาม ที่เป็นเหตุให้เกิดความกังวล ทันทีที่ตื่นขึ้นก็อดที่จะนึกถึงโทษของความผิดที่ได้กระทำไปไม่ได้ เพราะลักษณะของคนที่ทำผิดย่อมเกิดความกลุ้มใจเป็นทุกข์ทั้งหลับและตื่น ก่อนจะหลับจิตใจก็เศร้าหมอง ตื่นขึ้นก็เป็นทุกข์ นั่นเป็นลักษณะของผู้ที่หลับด้วยอกุศลจิตที่เกิดก่อน และเมื่อตื่น ก็มีอกุศลจิตเกิดทันที

แต่ถ้าเป็นอกุศลจิตที่เป็นโลภะ ไม่ทราบใช่ไหม ถ้าสติไม่เกิดในขณะนั้นจะ ไม่ทราบเลยว่า ทันทีที่ตื่นขึ้นจิตโน้มไปสู่ความต้องการในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่าเป็นประเภทที่เบาบาง หรือว่าอ่อน เพราะฉะนั้น ก็ไม่เห็นโทษของอกุศลที่เกิดความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ลักษณะของโทสะเป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง ทำให้สามารถรู้ได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศล ของจิตที่เศร้าหมอง แต่ลักษณะของโลภะยากที่จะรู้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า อกุศลใดเป็นโลภะ อกุศลใดเป็นโทสะ

ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก

สิ่งที่ลามก คือ อกุศลทั้งหลายในฝัน ซึ่งยับยั้งไม่ได้ แล้วแต่ว่าสะสมเหตุปัจจัยอะไรมาที่จะทำให้จิตทางมโนทวารเกิดขึ้นตรึกนึกถึงอารมณ์ที่เคยเห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และความทรงจำในเรื่องต่างๆ พร้อมทั้งกิเลสที่มีอยู่ ก็จะทำให้เป็นความฝันต่างๆ ซึ่งเป็นอกุศลจิตในขณะที่ฝัน

ส่วนใหญ่ของความฝัน ท่านจะทราบได้ว่า เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการสะสมในจิตใจว่ามากด้วยกุศลหรือมากด้วยอกุศล ถ้าเป็นผู้สะสมเมตตา ย่อมไม่ฝันเห็นสิ่งลามก คือ ไม่ใช่อกุศลจิตที่ฝัน

เป็นที่รักของมนุษย์

นี่เป็นอานิสงส์อีกประการหนึ่งของเมตตา พอจะทราบได้ใช่ไหมว่า ท่านเป็นที่รักของบุคคลส่วนมากหรือเปล่า ถ้าไม่เข้าข้างตัวเอง ก็จะเป็นการสำรวจตรวจลักษณะของจิตได้ว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นที่รัก หรือว่าเพราะเหตุใดจึงไม่เป็นที่รัก บางคนอาจจะโทษกรรมเก่า ทั้งๆ ที่ทำดีทุกอย่างก็ยังไม่เป็นที่รักของคนอื่น ก็อาจจะเกิดความน้อยใจ เสียใจ แต่อย่าลืมว่า คนอื่นสามารถเพียงแค่ทำร้ายกาย แต่ใจของท่าน อกุศลของท่านเองจะทำร้ายจิตใจของท่าน เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกถึงเหตุอื่นที่จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ผู้ที่อบรมเจริญกุศล อบรมเจริญเมตตา พร้อมที่จะให้อภัยบุคคลอื่น และมีจิตใจที่ไม่เศร้าหมอง ในขณะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะทำร้ายจิตใจที่เป็นกุศลได้ เพราะบุคคลอื่นไม่ว่าจะพยายามสักเพียงใดก็ทำร้ายท่านได้เพียงกายและวาจาเท่านั้น

บางคนอยากจะเป็นที่รักของมนุษย์ โดยลืมว่า ท่านก็ต้องรักมนุษย์อื่นด้วยเหมือนกัน คือ แทนที่จะคอยความรักของคนอื่นให้เมตตาท่าน ให้รักท่าน ท่านควรที่จะรักคนอื่น คือ เมตตาคนอื่น ดีกว่าหวังจะให้เป็นที่รัก ถ้าท่านรักคนอื่น ท่านจะไม่มีความทุกข์เดือดร้อนเพราะสภาพของจิตที่เป็นกุศลของท่านไม่ใช่เป็นโลภะ ความต้องการที่จะได้ความรักหรือว่าความเมตตาจากบุคคลอื่น ซึ่งนั่นเป็นความหวัง เป็นลักษณะของอกุศล ยังคงต้องการความเมตตาความรักของบุคคลอื่น แต่ขณะใดที่ท่านเมตตาคนอื่น รักคนอื่น ในขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งจะไม่ทำให้จิตใจของท่าน เศร้าหมอง

เพราะฉะนั้น คนที่รู้ลักษณะของกุศลจิต และรู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ย่อมเป็นผู้ที่เจริญกุศลมาก โดยการที่ไม่ห่วงใยถึงความรู้สึกของคนอื่นว่า ท่านจะเป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รัก แต่ว่าท่านเองเป็นผู้มีเมตตา เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล อนุเคราะห์บุคคลอื่น เป็นสิ่งที่ท่านมีฉันทะ มีความพอใจที่จะให้กุศลเกิดขึ้น นี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของโลภเจตสิกกับฉันทะเจตสิก ถ้าเป็นโลภะ มีความต้องการ แม้แต่ความต้องการซึ่งจะให้ตนเองเป็นที่รัก นั่นเป็นลักษณะของโลภะ ต่างกับฉันทะซึ่งมีความพอใจที่จะเมตตา หรือว่าเจริญเมตตาในบุคคลอื่น แม้ว่าท่านจะไม่เป็นที่รักก็ตาม

ลักษณะของฉันทะในการเจริญกุศล ต่างกับลักษณะของโลภะ บางคนที่มี โลภะมากๆ และไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถที่จะรู้ชัดในความต่างกันในลักษณะของโลภะและฉันทะ เพราะฉะนั้น เวลาที่อยากจะเจริญกุศล ก็เป็นไปด้วยความต้องการ คือ ต้องการกุศลบ้าง หรือว่าต้องการอานิสงส์ ผลของกุศล ยังไม่สามารถที่จะทิ้งโลภะหรือว่าความต้องการได้ เพราะท่านรู้ว่าถ้าทำกุศลแล้วย่อมได้รับผลของกุศล เพราะฉะนั้น ใจของท่านก็มุ่งหวังไปที่ผลของกุศล ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของโลภะ ต่างกับผู้ที่มีฉันทะในการอบรมเจริญกุศลที่ไม่ใช่ต้องการด้วยโลภะ แต่เป็นความพอใจ ไม่สามารถที่จะไม่เจริญกุศลได้ ไม่ใช่ด้วยความหวังในผล แต่เพราะเป็นอัธยาศัยจริงๆ ที่เป็นฉันทะในการอบรมเจริญกุศล โดยไม่คิดถึงผล หรือว่าไม่ได้หวังในผลของกุศล

เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องพิจารณาจิตใจของท่านด้วยสติสัมปชัญญะ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่ว่าจะพรากจากโลภะไปได้ทั้งหมด แต่เพราะปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดนั่นเองทำให้เห็นความต่างกันของสภาพธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยที่ว่าลักษณะหนึ่งเป็นอกุศล อีกลักษณะหนึ่งเป็นกุศล ซึ่งจะทำให้ท่านเจริญขึ้นทางฝ่ายกุศล และมีฉันทะจริงๆ ในการเจริญกุศล ไม่ใช่มีโลภะในผลของกุศล

เป็นที่รักของอมนุษย์

ก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่จำเป็นที่จะต้องหวัง หรือคิดที่จะเป็นที่รักของอมนุษย์ด้วยความพอใจ หรือว่าด้วยความต้องการ ในเมื่อท่านเป็นผู้ที่มีฉันทะที่จะอบรม เจริญกุศล ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้กุศลจิตเกิด โดยไม่ได้มุ่งหวังผลหรืออานิสงส์ของกุศล

เทวดาย่อมรักษา

ได้ยินอย่างนี้บางท่านก็ยินดีแล้ว ใช่ไหม ต้องการที่จะให้มีผู้คุ้มครองเป็นเทพ นั่นเป็นลักษณะของโลภะ แต่ถ้าเป็นลักษณะของฉันทะจริงๆ ที่เป็นกุศลจริงๆ ที่เป็นเมตตาจริงๆ แม้ว่าท่านจะไม่คำนึงถึงว่าเป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์ หรือเทวดาย่อมรักษาก็ตาม กุศลจิตของท่านเองย่อมเป็นเหตุให้ท่านเป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์ และเทวดาย่อมรักษาด้วย

ไฟ ยาพิษ หรือศัสตราไม่กล้ำกรายผู้นั้น

อยากจะทดลองหรือเปล่าว่า ท่านมีเมตตามากแค่ไหน พอที่ไฟ ยาพิษ หรือ ศัสตราจะไม่กล้ำกรายได้จริงๆ หรือเปล่า เพราะบางคนก็อดที่จะสงสัยในอานิสงส์ของเมตตาไม่ได้ว่า จะเป็นจริงอย่างนี้หรือไม่ แต่ถ้าจิตของท่านเป็นจิตที่ผ่องใสเป็นกุศล เป็นเมตตาจริงๆ แม้ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ ก็อาจจะทำให้ แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆ ได้ เพราะในขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ถ้าเป็นกุศลที่มั่นคงสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่ประกอบด้วยเมตตา ไฟ ยาพิษ หรือศัสตราก็ไม่อาจที่จะกล้ำกรายผู้นั้นได้

ข้อความต่อไปที่ว่า

เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ ย่อมบังเกิดในพรหมโลก

แสดงให้เห็นชัดว่า เป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานควบคู่กันไปกับการเจริญกุศลอื่นๆ ทุกประการ ผลของการเจริญเมตตาอย่างสูง เวลาที่ความสงบมั่นคงขึ้นจนถึงปฐมฌาน ย่อมทำให้เกิดในพรหมโลกขั้นปฐมฌานภูมิ ถ้าเจริญขึ้นถึงฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน ย่อมทำให้เกิดในทุติยพรหมภูมิ ซึ่งในรูปพรหมนี้สูงขึ้นไปตามขั้นของฌาน แต่ที่สูงกว่านั้น คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็น พระอรหันต์ที่จะไม่ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้น จึงมีข้อความว่า เมื่อแทงตลอดคุณธรรมที่สูงขึ้นไปยังไม่ได้ คือ ยังไม่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ย่อมไปบังเกิดในพรหมโลก

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ให้เจริญแต่เมตตา หรือว่าหวังที่จะถึงอุปจารสมาธิหรือ อัปปนาสมาธิโดยไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และกุศลอื่นๆ ย่อมจะเจริญขึ้น

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสเป็นเครื่องยืนยัน มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเมตตาเจโตวิมุตติอันบุคคลเสพแล้วโดยเอื้อเฟื้อ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้เป็นดุจยาน กระทำให้เป็นที่ตั้ง หมั่นเจริญเนืองๆ สั่งสมไว้โดยรอบ …

ไม่เว้น โดยรอบทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นทิศไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลไหน เชื้อชาติใด ภาษาใด เหตุการณ์ใดก็ตาม

ข้อความต่อไป

ก็ผู้ใดมีสติมั่นคง

นี่เป็นเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นสติย่อมมั่นคงไม่ได้

ก็ผู้ใดมีสติมั่นคง เจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ สังโยชน์ของผู้นั้น ผู้เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปธิกิเลส ย่อมเบาบาง หากว่าเขาไม่มีจิตคิดประทุษร้ายสัตว์ แม้สักตัวเดียว เจริญเมตตาจิตอยู่ เพราะเจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมเป็นกุศล เขามีใจอนุเคราะห์หมู่สัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ประเสริฐ กระทำบุญมาก

ค่อยๆ เกิดขึ้น เพิ่มขึ้นหรือยังสำหรับเมตตา ไม่ใช่เพียงขั้นนึก ทางตาที่กำลังเห็น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าบุคคลซึ่งเคยเป็นศัตรู หรือว่าคนซึ่งเคยเป็นที่รัก สติและสัมปชัญญะจะต้องพิจารณารู้ว่า ในขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นเมตตา เมื่อสามารถรู้ได้เมตตาย่อมเจริญ แต่ถ้าไม่สามารถที่จะรู้ได้ โลภะก็ยังคงมีมากอยู่เช่นเดิม

การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญเมตตา แม้ในวันรักษาอุโบสถ ก็ควรจะรักษาศีลที่ประกอบด้วยเมตตา ข้อความใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สัตตสูตร ข้อ ๒๒๒ กล่าวถึงอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นขณะไหน เวลาใด ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องของอุโบสถ ซึ่งก็ทราบกันว่าเป็นเรื่องของการรักษาศีล ๘ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ คือ ต้องอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น คือ ประกอบด้วยเมตตาด้วย

สำหรับองค์ที่ ๙ มีข้อความว่า

บุคคลมีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ และ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ถึงความ เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ อุโบสถชื่อว่าประกอบด้วยองค์ที่ ๙ นี้ ด้วยประการดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างนี้แล จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก ฯ

จบ สูตรที่ ๘

เปิด  261
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565