แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 930

สมัยต่อมาเป็นสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๑๙ ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ไป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระพุทธวิปัสสี ได้ทรงผนวช บำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมทรงเป็นพญานาคอตุละ ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระพุทธวิปัสสี ประโคมดนตรีถวาย และได้ถวายตั่งทอง

ต่อมาเป็นสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๐ ทรงพระนามว่า พุทธสิขี ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้

ค่อยๆ ใกล้เข้ามาแล้ว

ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า อรินทมะ ได้ถวายทาน อธิษฐานวัตร บำเพ็ญบารมี

สมัยต่อมาเป็นสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๑ ทรง พระนามว่า พระพุทธเวสสภู ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงผนวช และบำเพ็ญเพียร ๖ เดือน ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ในครั้งนั้น ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า สุทัสสนะ ได้ถวายทานและบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคพุทธเวสสภู ทรงตั้งมั่นในวัตรและศีล

ต่อจากนั้นก็ถึงภัทรกัปนี้ ซึ่งทุกท่านกำลังมีชีวิตอยู่ในกัปนี้ เป็นกัปที่มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระพุทธกกุสันธะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๒ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ได้ทรงรับพยากรณ์ พระพุทธกกุสันธะทรงผนวช และบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่า เขมะ ได้ทรงถวายทาน และออกบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระพุทธกกุสันธะ

ต่อมาในภัทรกัปนี้เอง สมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๒๓ คือ พระพุทธโกนาคมนะ ทรงผนวชและทรงบำเพ็ญเพียร ๖ เดือน ได้ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า ปัพพตะ ได้ถวายทาน สละราชสมบัติ และออกบวชในสำนักของพระพุทธโกนาคมนะ

คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมได้ทรงออกผนวชในสมัยของพระพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้ทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระองค์ที่ ๒๒ พระองค์ที่ ๒๓ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว และพระองค์ที่ ๒๔ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๓ ในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า พระพุทธกัสสปะ ซึ่งได้ทรงผนวช และได้บำเพ็ญเพียร ๗ วัน ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค พระองค์นี้ทรงเป็นโชติปาลมาณพ และได้ออกบวชในสำนักของพระพุทธกัสสปะ

ภัทรกัปยาวนานมาก เมื่อได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์ และเมื่อพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมาพร้อมแล้ว ก็ได้ตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๔ ในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า พระสมณโคดม

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอดทน และอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต่อไป แต่ไม่ทราบว่า ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศไหน เป็นสาวก หรือว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

สำหรับพุทธประวัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนมากท่านผู้ฟัง ทราบแล้ว เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงประวัติการบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าของ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ซึ่งจะบรรลุได้ในสมัยที่ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ว่างจากพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

เวลาที่พระธรรมอันตรธานไปหมดแล้ว ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาบารมีมาในอดีตสามารถมีปัจจัยพร้อมที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยตนเอง เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้ว่าในชาตินั้นไม่ได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ได้หมายความว่า ในอดีตไม่เคยฟังธรรม

แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่ต้องทราบว่า ในอดีตพระองค์ได้เคยทรงอุปสมบทในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้ทรงศึกษา ประพฤติปฏิบัติธรรม และบำเพ็ญบารมี จนพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค ที่ ๑ ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ ข้อ ๒๙๖ เป็นคาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแสดงไว้ ซึ่งใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขัคควิสาณสูตร มีข้อความว่า

สำหรับผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยต้องทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป แล้วต้องบังเกิดในสกุลกษัตริย์ หรือสกุลพราหมณ์ สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมี ๒ อสงไขยแสนกัป และเกิดในสกุลกษัตริย์ สกุลพราหมณ์ หรือสกุลคฤหบดีก็ได้

สำหรับอัครสาวกต้องบำเพ็ญบารมี ๑ อสงไขยแสนกัป และบังเกิดในสกุลกษัตริย์ หรือสกุลพราหมณ์

สำหรับมหาสาวก หรือพระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พระพุทธอุปัฏฐาก จะต้องบำเพ็ญบารมีแสนกัป และบังเกิดในสกุลกษัตริย์ ในสกุลพราหมณ์ หรือ สกุลคฤหบดีก็ได้

สำหรับการตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า อุปมาเหมือนกับรสของกับข้าวที่ พรานป่าได้ลิ้มในเมือง ฉะนั้น

พรานป่าไม่ได้อยู่ในเมือง แต่ก็ได้ลิ้มรสของกับข้าวในเมือง เพราะฉะนั้น รสจริงๆ ของกับข้าวในเมือง พรานป่าลิ้ม แต่ไม่สามารถที่จะอธิบายแจกแจงจารนัยได้ว่า นี่เป็นรสอะไร ประกอบด้วยอะไร และปรุงอย่างไร ท่านผู้ฟังคงจะเคยรับประทานอาหารรสแปลกๆ ใช่ไหม บางอย่างก็ไม่ทราบเลย ถ้าเป็นอาหารต่างชาติต่างภาษา ยิ่งไม่รู้เลยว่า อาหารนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาพร้อมที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็อุปมาเหมือนกับพรานป่าที่ลิ้มรสอาหารในเมือง แต่ไม่สามารถแสดงธรรมได้ละเอียด เพื่อเกื้อกูล เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ดังเช่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

สำหรับผู้ที่จะบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จะต้องบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร ทุกพระองค์ หมายความว่า ไม่ว่าท่านจะไปสู่ที่ใด หรือจะกลับมาจากที่ใดก็ตาม เป็นผู้ที่มีสติอยู่เสมอ ใช้คำว่า การนำไปและนำกลับมาสู่วิหาร ไม่ว่าจะไปในที่ใด

ส่วนมากท่านผู้ฟังบอกว่า ถ้าท่านอยู่กับที่ สติปัญญาเกิดได้ง่ายกว่าเวลาที่ ท่านไปที่อื่น เช่น ไปทำธุรกิจต่างๆ หรือว่าไปสถานที่ต่างๆ ใจมุ่งที่จะไปสู่สถานที่นั้น เริ่มตั้งแต่การคิดตระเตรียมที่จะไป และแม้ในขณะที่กำลังไป ใจก็คิดถึงที่ที่จะไป ถ้าเป็นธุระ ก็เป็นเรื่องที่จะพูด ในขณะนั้นหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น บางท่านก็บอกว่า ถ้าว่างๆ อยู่กับบ้าน สติเกิดมาก แต่ว่าผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกพระองค์ จะต้องทรงบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรทุกพระองค์ คือ การนำไปและนำกลับเป็นปกติในชีวิตของพระองค์

ทุกท่านนำมาหรือเปล่า ออกจากบ้านมาที่นี่นำมาหรือเปล่า หมายความว่า สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่จะมา ในขณะที่กำลังมา ในขณะที่ถึง ในขณะนี้ และเดี๋ยวก็จะกลับ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังกลับ และในขณะที่เข้าสู่บ้าน แล้วแต่ว่าท่านจะเป็นเพศใด ถ้าเป็นเพศบรรพชิตก็สู่กุฎี วิหาร

นี่แสดงให้เห็นถึงการอบรมเจริญปัญญา เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ไม่ใช่เป็นเรื่องเลือก หรือไม่ใช่เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดคิดว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว กิเลสประมาณอารมณ์ ประมาณสถานที่ว่า สถานที่นี้ไม่ได้ สถานที่นั้นได้ อารมณ์นี้ได้ อารมณ์นั้นไม่ได้ ใครเป็นผู้ที่กำลังคิดอย่างนั้นถ้าไม่ใช่กิเลส ซึ่งกำลังวัดหรือประมาณอารมณ์ด้วยกิเลส แต่ถ้าเป็นปัญญาที่ได้อบรมเจริญจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด สติมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ จึงจะเป็นปัญญาที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น การอบรม ก็เป็นการอบรมในขณะนี้แต่ละขณะตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่สามารถรู้แจ้ง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขัคควิสาณสูตร มีว่า

ชื่อว่ากัมมัฏฐาน มี ๒ อย่าง คือ สัพพัตถกกัมมัฏฐาน ๑ ปาริหาริยกัมมัฏฐาน ๑ เมตตาและมรณสติ ชื่อว่าสัพพัตถกกัมมัฏฐาน เพราะเป็นกัมมัฏฐานอันบุคคลจำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง ปาริหาริยกัมมัฏฐาน ได้แก่ กัมมัฏฐานอื่นตามอัธยาศัย เช่น จตุธาตุววัฏฐาน อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ อนุสสติ ๑๐

ได้ยินอย่างนี้ อย่าเริ่มที่จะเลือก แต่ให้ทราบว่า อัธยาศัยของท่านเวลาที่สติเกิดน้อมไปที่กัมมัฏฐานใด บางท่านอาจจะน้อมไปที่จตุธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาลักษณะของธาตุ ๔ หรือว่าอนุสสติ ๑๐ หรือว่ากสิณ ๑๐ หรือว่าอสุภะ ๑๐

ถ้าเวลานี้จิตของท่านไม่ได้น้อมไปที่กสิณ ๑๐ มีอย่างอื่นไหมที่สติจะน้อมไปได้ ไม่ใช่ว่าให้ท่านไปเพียรทำกสิณ ๑๐ ก่อน เพราะต้องการที่จะมีกสิณ ๑๐ เป็นอารมณ์ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องเลือก แต่เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กัมมัฏฐานที่เป็นสัพพัตถกกัมมัฏฐานเกื้อกูลต่อกัมมัฏฐานอื่นเป็นประจำ ในชีวิตปกติประจำวัน เช่น เมตตาและมรณสติ เวลาที่ระลึกถึงความตาย ซึ่งไม่แน่ว่าเมื่อไร ณ สถานที่ใด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้วิริยะเกิดขึ้น สติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ขอกล่าวถึงข้อความที่เป็นคาถาบางคาถาใน ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ เพราะว่า ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงได้ทั้งหมด

คาถาที่ ๒ แห่งวรรคที่ ๒ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๑๓ มีคำแปลภาษาไทยว่า

พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสคาถาว่า เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์ เป็นต้น

ซึ่งมีคำอธิบายว่า หมายถึงพระอเสขบุคคล คือ พระอรหันต์

พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและ ผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น

ขัคควิสาณะ คือ นอแรด เป็นผู้ที่เป็นผู้เดียว มีนอแรดอันเดียว แต่ก็ต้องเข้าใจความหมายของอรรถของผู้เดียวด้วย คือ พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นี้ทรงเห็นโทษของการที่จะคบหาสมาคมกับผู้ที่ไม่ใช่สหายผู้ประเสริฐหรือเสมอกัน เพราะฉะนั้น จึงตรัสคาถานี้ ถ้าไม่ศึกษาข้อความในอรรถกถาก็คงไม่ทราบว่า เพราะเหตุใด พระปัจเจกพระพุทธเจ้าพระองค์นี้จึงตรัสคาถาเรื่องที่เกี่ยวกับการบริโภคโภชนะ ซึ่งการที่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นี้ตรัสเช่นนี้ ก็เพราะเรื่องมีว่า

ในครั้งนั้น พระราชาพระองค์หนึ่งตรัสถามพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายเป็นใคร

ในสมัยนั้นก็น่าสงสัย เพราะไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหลืออยู่ และในสมัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า มีพระปัจเจกพุทธเจ้าหลายพระองค์ได้ ไม่เหมือนสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องมีเพียงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น มีถึง ๒ พระองค์ไม่ได้

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถวายพระพรว่า

มหาบพิตร อาตมาภาพทั้งหลายชื่อว่า อนวัชชโภชิโน

คือ ผู้ฉันอาหารไม่มีโทษ

เรื่องปกติประจำวันเหลือเกิน การบริโภคอาหาร แต่ก็เป็นธรรมที่น่าคิดว่า ท่านบริโภคอาหารที่มีโทษหรือว่าไม่มีโทษในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องบริโภคอาหารวันละหลายครั้ง บริโภคอาหารที่มีโทษหรือว่าอาหารไม่มีโทษ

พระราชาตรัสถามว่า

ท่านผู้เจริญ คำว่า อนวัชชโภชิโน นี้จะมีประโยชน์อะไร

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถวายพระพรว่า

มหาบพิตร อาตมาภาพทั้งหลายได้โภชนะจะดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ก็ฉัน โดยไม่มีอาการแปลก

คือ ไม่ดีใจหรือเสียใจ บริโภคได้ทั้งนั้น

คนที่ยังมีกิเลส ฟังแล้วจะระลึกได้ทันทีว่า ท่านมีกิเลสมากหรือน้อย เพราะท่านบริโภคอย่างนี้ได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม ก็บริโภคได้โดยไม่มีอาการแปลก คือ ไม่ดีใจหรือเสียใจ

เรื่องอาหารเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่ติดในรส ถ้าอาหารไม่ถูกปาก เสียใจ ถ้าอาหารอร่อย ดีใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการบริโภคที่มีโทษอยู่เรื่อยๆ สำหรับผู้ที่มีกิเลสมาก และหลงลืมไม่ได้พิจารณาว่า วันหนึ่งๆ สะสมกิเลสเพิ่มขึ้น หรือว่าประพฤติปฏิบัติหนทางที่จะทำให้กิเลสลดลง แม้ในการบริโภค ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ไม่ว่าจะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกเรื่อง ประมาทไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าได้ฟังธรรมที่เกี่ยวกับทางหนึ่งทางใด ย่อมจะเกื้อกูลให้ท่านระลึกได้ว่า เป็นการบริโภคที่มีโทษหรือไม่มีโทษ

เมื่อพระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็ทรงดำริว่า ไฉนหนอ เราจะพึงเข้าไปทดลองพระคุณเจ้าเหล่านี้ว่า พระคุณเจ้าจะเป็นเช่นนั้น หรือว่าไม่เป็น

ในวันนั้น พระราชาจึงทรงอังคาสพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยข้าวปลายเกวียนกับน้ำผักดอง พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ฉัน โดยไม่แสดงอาการวิกาล (คือ ไม่มีอาการที่ผิดปกติเลย) ประดุจฉันน้ำอมฤต ฉะนั้น

พระราชาทรงดำริว่า พระผู้เป็นเจ้าเหล่านั้นไม่ได้แสดงอาการผิดปกติใดๆ ก็เพราะท่านได้ให้สัญญาไว้ในวันหนึ่งแล้ว เราจะทราบกันในวันรุ่งขึ้น

คิดว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น จำเป็นต้องไม่แสดงอาการผิดปกติ เพราะได้ตรัสอย่างนั้นไว้แล้ว เพราะฉะนั้น พระราชาพระองค์นั้นก็คิดที่จะทดลองอีกในวันรุ่งขึ้น

จึงได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นอีก แม้ในวันที่ ๒ ต่อจากวันนั้นไป พระราชาก็ได้ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้น

ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ฉัน โดยไม่แสดงอาการวิกาลเหมือนเดิม ทีนั้นพระราชาทรงดำริว่า ทีนี้เราจะถวายอาหารที่ดียิ่งขึ้น แล้วจะทดลองดูอีก ดังนี้แล้ว จึงได้ทรงนิมนต์แม้อีก ได้ทรงกระทำสักการะเป็นอันมาก ทรงอังคาส พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยของควรเคี้ยวและควรบริโภคอันประณีตสิ้น ๒ วัน พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นก็ฉัน โดยไม่ทรงแสดงอาการแปลกอันใดเหมือนเดิม กระทำมงคลแก่พระราชา แล้วหลีกไป

เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน พระราชาก็ทรงดำริว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้บริโภคโภชนะที่ไม่มีโทษ โอหนอ แม้เราก็จะพึงบริโภคโภชนะที่ไม่มีโทษ ดังนี้แล้ว จึงทรงละมหาราชสมบัติ ถือการบรรพชา ปรารภวิปัสสนา ก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า อยู่ในท่ามกลางพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่โคนแห่ง ต้นรกฟ้า ได้ตรัสพระคาถานี้

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านพิจารณาว่า ผู้ที่ได้อบรมเจริญบารมีที่จะได้เป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ พิจารณาได้ถึงอย่างนี้ แต่ผู้ที่อบรมบารมีมายังไม่พร้อม ยังไม่พอ แม้เห็นอย่างนี้ จะพิจารณาได้ถึงอย่างนี้ไหม และสามารถที่จะสละมหาราชสมบัติ ถือการบรรพชา บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ไหม สำหรับผู้ที่บำเพ็ญบารมียังไม่ถึงพร้อม

นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมปัจจัยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงชาติที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งไม่ทราบว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็นสาวก ถ้าท่านไม่ได้ปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องเพศว่า จะเป็นบรรพชิต หรือจะเป็นคฤหัสถ์ เพราะว่าสำคัญที่เหตุ คือ การอบรมเจริญบารมี

เปิด  240
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566