แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 922

สุ. สมถภาวนาเป็นกุศล แต่ว่าจุดประสงค์ของพุทธบริษัทควรจะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเองจะเป็นเหตุให้จิตสงบขึ้น โดยเป็นสมถภาวนาทีละเล็กทีละน้อย เพราะผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมเป็นผู้ที่กุศลเจริญ

โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงคำว่า เจริญกุศล หรือว่าเจริญสติ หรือว่าเจริญสมาธิ เจริญสมถะ แต่ที่จริงแล้วสติเจริญ กุศลเจริญ หรือว่าสมถะ ความสงบเจริญ เวลาที่มีความเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นสติเจริญ หรือว่าความสงบเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย ซึ่งความสงบนั้นจะค่อยๆ เจริญขึ้นตามเหตุตามปัจจัยด้วย

อย่ามุ่งหวังที่จะสงบโดยไม่ได้รู้เรื่องของสมถภาวนาอย่างถูกต้อง เพียงอ่านหนังสือยังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า จิตที่สงบมีลักษณะอย่างไร ในขณะไหน เพราะฉะนั้น ก็มีความเข้าใจที่สับสนและคลาดเคลื่อน เช่น มุ่งหวังที่จะทำ อากาสานัญจายตนฌานโดยที่ฌานจิตยังไม่เกิด หรือว่าความเข้าใจเรื่องสมถภาวนายังไม่ถูกต้อง

บางท่านถามว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นๆ แล้ว จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ส่วนมากใช้คำว่า กุศล แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของกุศลจิต ด้วยเหตุนี้จึงสงสัยว่า อย่างนี้เป็นกุศลหรือว่าไม่ใช่กุศล

ทำไมจึงเกิดความสงสัยว่า อย่างนี้เป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล ก็เพราะไม่ใช่การรู้ลักษณะของกุศลจิต เป็นแต่เพียงการใช้คำหรือใช้ชื่อว่ากุศล ฉันใด สมถะก็เหมือนกัน ใช้ชื่อ หรือใช้คำว่าสมถะ แต่ไม่ได้เข้าใจคำว่าสมถะจริงๆ ว่า สมถะหมายความถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศล ที่สงบ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นกุศล ควรจะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล จึงจะหมดความสงสัย ถ้ารู้แต่ชื่อ ก็ไม่หมดความสงสัยว่า อย่างนี้เป็นกุศลหรือเปล่า อย่างนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า ขณะที่พยายามทำจิตให้นิ่ง แล้วก็เกิดเห็นอะไรๆ ขึ้นมา ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า มีแต่ความสงสัยในชื่อ ว่าเป็นกุศลไหม เพราะไม่เคยรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลจริงๆ ใช้แต่ชื่อ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ที่ตรัสรู้อริยสัจธรรมโดยตลอด และทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะให้ผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง พิจารณาใคร่ครวญในเหตุผลจนกระทั่งสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่ให้ศึกษาเพียงชื่อต่างๆ และสงสัยกันว่า นี่เป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล แต่เป็นการอบรมปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง และรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ไม่เพียงแต่ใช้ชื่อ แต่รู้จริงๆ ว่า กุศลจิตมีลักษณะอย่างไร ต่างกับอกุศลจิตอย่างไร

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทั้งหมดจะขาดเหตุผลไม่ได้ และยิ่งเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมเป็นผู้ที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่เพราะสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดยิ่งขึ้น

ถ. ที่ปิดวิทยุ เพราะรู้ว่าถ้าเปิดต่อไป ผมจะแพ้ต่อโลภมูลจิต

สุ. แพ้เสมอ มีใครที่ชนะโลภะ

ถ. แต่ถ้าปิด อาการแพ้นั้นหยุดไป

สุ. หยุด แต่ไม่ได้ดับ

ถ. บางครั้งเคยนึกเถียงอาจารย์ในใจ ก่อนมาที่นี่ ผมได้สร้างห้องพิเศษห้องหนึ่งที่บ้านที่กรุงเทพ ผมใช้ชื่อห้องว่า อำเภอไทรน้อย ถ้าผมอยู่ในห้องนั้นแล้ว ผมบอกทุกคนในบ้านว่า ผมไม่ได้อยู่ที่นี่ ผมอยู่ไทรน้อย มีธุระอะไรให้สั่งไว้ ผมจะไม่ออกมาพบ ระหว่างที่อยู่ที่นั่นผมรู้สึกว่า ผมชนะ ไม่มีอะไรเข้ามากวนใจ แต่เสียงดนตรีเข้ามากวน ผมแพ้ทุกที

สุ. ไม่ชอบเสียงดนตรี แต่ชอบบ้านไทรน้อย ใช่ไหม ก็ยังไม่ชนะโลภะ ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่าคิดว่า จะชนะโลภะได้

สภาพธรรมที่สามารถจะดับ หรือระงับ หรือบรรเทาโลภะได้ คือ ปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญายังไม่เกิดก็เข้าใจเองว่าชนะ ก็รู้เรื่องชื่อของกุศลและอกุศล แต่ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพจิตที่เป็นอกุศล และที่เป็นกุศล

ถ. เคยรู้มาว่า การทำสมาธิเข้าฌานขั้นสูงๆ สามารถที่จะเห็น จะคุยกับหลวงปู่มั่น หรือหลวงปู่ฝั้น ซึ่งท่านจะให้ธรรม หรือสอนอะไรให้ อยากทราบว่า สิ่งนั้นคืออะไร เกิดจากอะไร

สุ. เคยเรียนถามท่านที่สอนหรือเปล่า

ถ. ถาม แต่ยังไม่ได้รับความรู้ที่แน่นอน

สุ. อยากทราบว่าคืออะไร ใช่ไหม มีท่านผู้ฟังที่จะช่วยกรุณาให้ความเห็นบ้างไหม

ผู้ฟัง ตามที่คุณถาม อย่าไปเชื่อเลย ผู้ที่ได้ฌานได้อะไรจริงๆ ท่านไม่มาคุยหรอก คนที่ขี้โม้ ขี้โกหก เพื่อหวังลาภยศนั่นแหละจะมาคุย จำไว้แค่นี้ เท่านั้นแหละ

สุ. เวลาที่ได้ยินได้ฟังอะไรมา ได้ยินแต่ชื่อ แต่ยังไม่ได้เข้าใจในเหตุในผลของสภาพธรรมนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น บางคนบอกว่า นั่งนิ่งๆ และก็หลับตา นึกถึงอะไรสักอย่างหนึ่ง จะเป็นที่ตัวเอง ที่กาย หรือพระพุทธรูป หรืออะไรก็ตาม จนกว่าจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง และบอกว่านั่นเป็นฌานจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาจริงๆ จะรู้ว่า นั่นไม่ใช่ฌานจิต

การศึกษาธรรมเป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา ไม่ว่าจะเรื่องของอกุศลใดๆ ก็ตาม หรือว่ากุศลขั้นใดๆ ก็ตาม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียดตลอด ๔๕ พรรษา ผู้ใดต้องการรู้เรื่องของฌานจิต หรือเรื่องของโลกุตตรจิต หรือเรื่องของอกุศลจิตอกุศลกรรมโดยละเอียดอย่างไร จะศึกษาได้จากพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยครบถ้วน แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ก็เป็นการอ่านเรื่องในหนังสือที่บางท่านเขียนไว้ตามความคิด หรือตามความเข้าใจของท่านผู้นั้นเอง ซึ่ง ไม่ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเลื่อมใส มีความศรัทธาในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ควรที่จะศึกษาพระธรรมโดยตรง เพื่อที่จะได้เข้าใจโดยถูกต้อง

ถ. สมมติว่า เพ่งพระพุทธรูป เพ่งจนจิตสงบแล้ว มองไป คิดไป นึกไปแต่พระพุทธรูป อยากทราบว่า บุญกุศลที่จะเกิดนี้ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะผมไม่ได้ปฏิบัติให้เกิดบุญ คือ ผมเอาแต่สติเพ่งอยู่ที่พระพุทธรูปนั้น ผมไม่ได้ทำบุญอะไรเลย ผมจะได้บุญอย่างไร

สุ. เวลาที่ดูพระพุทธรูป จิตสงบหรือไม่สงบ

ถ. จิตสงบ แต่ผมไม่ได้ไปทำอย่างอื่นๆ ที่จะให้เป็นบุญขึ้น

สุ. รู้ได้อย่างไรว่า จิตสงบ

ถ. ก็ผมเพ่งดูพระพุทธรูปอยู่อย่างนั้น ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า อะไรอย่างนี้

สุ. งามไหม

ถ. งาม

สุ. งาม พอใจในความงามของพระพุทธรูปไหม

ถ. พูดถึงความพอใจ รู้สึกว่าตอบอาจารย์ลำบาก แต่รู้สึกว่างาม

สุ. รู้สึกว่างาม ก็พอใจ ขณะนั้นสงบหรือ

ถ. ก็ไม่แน่ แต่ผมรู้สึกว่าสงบ

สุ. เรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องแน่ ไม่ใช่เรื่องไม่แน่ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะต้องเกิดขึ้นรู้ในขณะที่กำลังเห็นว่า จิตสงบหรือไม่สงบ ซึ่งความสงบไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป

ถ. อยู่ที่จิต

สุ. อยู่ที่จิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นพระพุทธรูป จิตสงบหรือไม่สงบ ที่จะรู้ได้ต้องสติสัมปชัญญะเกิด ไม่ใช่ว่าพอเห็นพระพุทธรูปก็สงบแล้ว นั่งจ้องไปๆ เข้าใจว่าสงบขึ้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดจะรู้ได้อย่างไรว่า ในขณะนั้นไม่ใช่สงบ เพราะพระพุทธรูปงาม

ถ. สติสัมปชัญญะคืออย่างไร

สุ. เวลานี้มีจิตไหม

ถ. มี

สุ. สงบหรือไม่สงบ

ถ. ยังไม่สงบ

สุ. ยังไม่สงบ ทำไมรู้ว่าไม่สงบ

ถ. ก็ยังไม่ได้คิดแน่วแน่ถึงกิจการอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด

สุ. เวลาคิดแน่วแน่ นั่นเป็นลักษณะของสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของสัมปชัญญะ

ถ. สัมปชัญญะ หมายความว่าอย่างไร อาจารย์โปรดอธิบาย

สุ. พร้อมสติที่รู้สภาพของจิต เวลาที่เห็นพระพุทธรูป เพ่งความสนใจไปที่พระพุทธรูป ไม่ใช่ที่จิต

ถ. สนใจไปที่พระพุทธรูป ไม่ใช้จิต

สุ. ไม่ใช่ที่จิต

ถ. ไม่ได้สนใจที่ดวงจิต

สุ. เพราะฉะนั้น ไม่รู้สภาพของจิตที่กำลังเห็นพระพุทธรูป เพราะว่ามุ่ง จดจ่ออยู่ที่พระพุทธรูป ซึ่งในขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดขึ้นพิจารณาสภาพของจิตว่า สงบหรือไม่สงบ

ถ. จะสงบได้เมื่อไหร่

สุ. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณ แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตที่ระลึกอย่างนี้ ผ่องใส สงบ เพราะเห็นพระคุณเวลาที่นึกถึงพระพุทธคุณ

ถ. ถ้าอย่างนั้น เข้าใจ

สุ. ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังดู หรือจ้องพระพุทธรูป ใช่ไหม นี่เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาโดยละเอียด อย่าใช้เพียงชื่อ แม้แต่คำว่า กุศล ก็อย่าใช้เพียงคำ ต้องเข้าใจลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่สงบ แม้แต่สมถะ ความสงบ ก็ต้องรู้ว่า ขณะไหนที่เป็นพุทธานุสสติ ซึ่งไม่ใช่ขณะที่จ้องพระพุทธรูป แต่เป็นขณะที่ระลึกถึง พระพุทธคุณ

ถ. เข้าใจแล้ว ขอบพระคุณ

สุ. เรื่องสมถภาวนา เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังยังมีความคิดเห็น หรือประสบการณ์อะไรที่ข้องใจอยู่อีกหรือเปล่า

ผู้ฟัง ผมขอพูดถึงเรื่องสมถะ การเจริญพระพุทธคุณแบบเจริญพุทโธ อย่างท่านที่ถามว่า เพ่งพระพุทธรูป เป็นสมถะ เป็นสมาธิหรือเปล่า ตามความเข้าใจของผม แต่ก่อนก็เคยปฏิบัติอย่างนั้น คือ เพ่ง และทำให้จิตสงบในพระพุทธรูปนั้น แต่ยังไม่เข้าถึงความจริงแท้ คือ ถ้าพระพุทธรูปที่ท่านสร้างไว้เพื่อให้ระลึกถึง พระพุทธคุณ เมื่อเราเพ่งเห็นรูปร่างเป็นอย่างนี้ ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน บางทีก็เป็นอกุศล มีการเห็นว่าสวย หรือตรงนั้นไม่สวย สลับกันไป ตอนหลังผมมาฟังอาจารย์ ได้ฟังคำบรรยายต่างๆ พอเข้าใจได้ว่า เมื่อเราเห็นพระพุทธรูป ระถึงถึงท่านว่า ตรัสรู้เองโดยชอบ ท่านเป็นถึงพระมหากษัตริย์ มีสมบัติทรัพย์เหนือกว่าพวกเราทั้งหลาย มีความสุข เหตุใดท่านจึงสละราชสมบัตินั้น และนึกถึงว่า ท่านเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย ท่านก็มีความสลดพระทัย คิดว่าความสุขทั้งหลายไม่สามารถยั่งยืนไปได้จึงบรรพชาเป็นสมณะ และท่านก็เจริญเรื่อยไปต่างๆ นานา จนได้ฌาน ท่านก็ยังไม่พอใจ เมื่อระลึกได้ถึงอย่างนี้ ผลปรากฏว่าจิตสงบ ไม่ได้ระลึกถึงเรื่องอื่น และเมื่อท่านได้กระทำทุกรกิริยา หาวิธีต่างๆ เมื่อไม่ได้ผล ท่านก็ละสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาเจริญทางใหม่ เป็นเหตุให้ท่านรู้แจ้งอริยสัจ ๔ เมื่อระลึกถึงอริยสัจ ๔ ก็มาสรุปลงด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อระลึกอยู่เรื่อยๆ ขณะนั้นจิตใจย่อมสงบ ไม่มีอกุศล

ผมเจริญอย่างนี้อยู่บ่อยๆ เป็นต้นว่า กลางคืนลุกขึ้นมา ตี 3 ตี 4 นอนไม่หลับ ระลึกถึงพระพุทธบ้าง พระสงฆ์บ้าง บางองค์ท่านมีประวัติมาอย่างไร เราก็นึกถึงอย่างนั้นๆ ปรากฏว่าเช้าขึ้นมา เหมือนกับเรานอนหลับสนิทตลอดคืนเลย ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผมปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกๆ วัน อานิสงส์ของการเจริญพุทธคุณที่ถูกต้อง ควรจะเป็นอย่างนี้ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

ถ. ดิฉันสงสัยเรื่องความสงบ ที่อาจารย์ตั้งปัญหาว่า การทำทานมีจิตกุศล ใช่ไหม ดิฉันอยากทราบว่า การทำทานที่เกิดกับสติสัมปชัญญะ บางครั้งอาจจะไม่เกิดกับกุศลก็ได้

สุ. เช่นในขณะไหน

ถ. เช่น ในขณะที่เราทำทาน เราเกิดความสงสัยว่า ที่เราทำไปนี้ถูกหรือผิด

สุ. ทาน หมายถึงการให้วัตถุที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้รับ ในขณะนั้นจิตต้องประกอบด้วยเมตตา

ถ. เราก็มี แต่ในขณะเดียวกันเราก็สงสัยว่า สิ่งที่เราทำไปนั้นถูกหรือผิด

สุ. คนละขณะจิต

ถ. ก็เกิดพร้อมกัน

สุ. ดูเหมือนว่าพร้อม แต่กุศลจิตเป็นกุศลจิต อกุศลจิตเป็นอกุศลจิต

ถ. จะสงบหรือ

สุ. ขณะใดที่เป็นกุศล สงบ เพราะไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล

ถ. เพราะฉะนั้น กุศลกับอกุศล ก็ลบล้างกันในทานนั้น

สุ. เกิดคนละขณะ กุศลก็ให้ผลเป็นกุศลวิบาก

ถ. จิตเกิดดับๆ ทุกขณะ แต่ว่าติดต่อกันจนไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ ในขณะที่เรายื่นไป เราก็เกิดเมตตาจิต และดีใจว่าเขาได้รับสิ่งของที่เราให้ด้วยความพอใจ ทั้งของเขาและของเรา แต่เราก็คิดว่า บางคนอาจจะไม่ต้องการสิ่งนี้ก็ได้

สุ. คนละขณะแล้ว กุศลจิตเป็นกุศลจิต และก็ดับไป

ถ. จึงจะสงบหรือ

สุ. เพราะในขณะที่ให้ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ

ถ. และสติที่เกิดขณะไหน

สุ. เวลาที่ระลึกที่จะให้ นั่นคือสติ ไม่ใช่เรา เพราะว่าวันหนึ่งๆ ลองสำรวจ พิจารณาจิตใจว่า เป็นทาสของโลภะ หรือความต้องการนี้มากแค่ไหน เพราะทุกคนหวังแต่จะได้

ถ. เกิดเมตตา คิดที่จะให้

สุ. ขณะนั้นเป็นสติ

ถ. อันนี้สงบ ใช่ไหม

สุ. สงบเพราะเป็นกุศล สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ

ถ. งั้นก็น้อยมาก

สุ. น้อย จนกระทั่งไม่ได้สังเกต เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญ สมถภาวนา ไม่ใช่ว่ากุศลจิตไม่เกิดเลยก็ไปนั่งเพ่ง นั่งจ้องสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อที่จะให้สงบ แต่ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา กุศลจิตต้องเกิดพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่พิจารณา เริ่มรู้ลักษณะสภาพของความสงบของจิตที่เป็นกุศล

ถ. เรื่องเสียง อย่างเพลงที่ฟังในขณะที่เรานั่งสมถกัมมัฏฐาน

สุ. สมถกัมมัฏฐาน นั่งอีกแล้ว

ถ. เราได้ยิน ในขณะที่เรานั่ง ยังไม่ใช่สมถะ เพราะยังไม่สงบ

สุ. ทีแรกอาจจะเข้าใจว่าเป็นสมถะ ซึ่งนั่นเป็นการใช้คำ ใช้ชื่อ โดยที่ยังไม่ได้รู้หรือเข้าใจลักษณะของความสงบจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ใช้คำนั้นติดปาก แต่เวลาที่เข้าใจแล้ว ก็ไม่ใช้คำนั้น

ถ. จะใช้คำว่า เราจะนั่งเพื่อรักษาใจให้สงบ

สุ. เป็นไปไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นรู้ลักษณะสภาพความสงบของจิต ไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบ จะไปนั่งเพื่อรักษาจิตให้สงบได้อย่างไร

ถ. ถ้าเช่นนั้นกล่าวว่า เรานั่ง และได้ยินเสียง เสียงนั้นที่เราได้ยิน มีทั้งที่พอใจและไม่พอใจ เราก็พยายามที่จะตัดออกไป คือ เราได้ยินเสียงนั้นตลอดเวลา เราก็ไม่สนใจที่จะฟังเสียงนั้น อย่างนี้เรียกว่า สงบได้ไหม

สุ. ไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ง่าย ทำเป็นไม่ได้ยินก็คิดว่า ขณะนั้นสงบแล้ว แต่เรื่องของสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาเป็นเรื่องของปัญญาต่างขั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่สามารถที่จะสงบได้ ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบให้มั่นคง

เปิด  283
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565