แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 923
สุ. ความสงบมี ๒ อย่าง เวลาที่สติปัฏฐานเกิดก็สงบโดยนัยของการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา และเวลาที่จิตระลึกถึงอารมณ์ที่สงบอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดในสมถภาวนา ๔๐ ขณะนั้นเป็นความสงบขั้นสมถะ แต่ต้องศึกษาโดยละเอียด มิฉะนั้น ก็เป็นเพียงการใช้คำ เหมือนกับใช้คำว่า กุศล จนกระทั่งเกิดความสงสัยว่า นี่กุศลหรือเปล่า เพราะไม่รู้ลักษณะของกุศล เพียงแต่ใช้คำว่ากุศล จึงสงสัย
เริ่มที่จะรู้ลักษณะของกุศลหรือยัง
ถ. ขั้นแรกของการฝึกจิตให้สงบ ควรจะทำอย่างไร
สุ. ศึกษาให้เข้าใจ ก่อนที่จะทำอะไรทั้งหมดต้องมีเหตุผล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องสภาพธรรม เหตุ และผลของสภาพธรรมนั้นๆ โดยละเอียด เป็นเรื่องของปัญญา พุทธศาสนาเป็นการอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจถูกต้อง
ถ. เพราะฉะนั้น การไปนั่งทำสมาธิ ก็เป็นการไม่ถูกต้อง
สุ. ไม่สงบ ไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะสงบได้อย่างไร ก็เหมือนกับที่เคยใช้คำว่า สงบ โดยที่ไม่รู้ว่า สงบหมายถึงอะไร เวลาที่อยู่คนเดียว เงียบๆ ชายป่า ลมพัดเย็นๆ สงบไหม เริ่มสงสัยแล้ว ซึ่งก่อนนี้คงจะบอกว่า สงบ ดูรูปวิวสวยๆ มีคลอง มีทุ่งนา ป่า เขา สงบไหม
ถ. ไม่สงบ
สุ. ตอนนี้บอกว่า ไม่สงบ ซึ่งแต่ก่อนนี้เข้าใจว่าสงบ ได้ยินเสียงเพลงเบาๆ ไม่ดังก็เข้าใจว่าสงบ อยู่คนเดียวก็คิดว่าสงบ แต่ถ้าไม่ศึกษาจะไม่ทราบว่า แท้ที่จริงในขณะเหล่านั้น ไม่สงบ
ถ. ขั้นแรกที่เราจะศึกษา จะศึกษาจากที่ไหนบ้าง หรือจากหนังสือก็ได้ หนังสือธรรมที่ถูกต้องจริงๆ
สุ. เวลาที่ศึกษา หมายความว่าพิจารณาเหตุผลที่ได้ฟัง หรือว่าที่อ่าน อย่าเพียงอ่านแต่ไม่พิจารณา เขาว่าฌาน ก็เป็นฌาน เขาว่าอากาสานัญจายตนะ ก็อากาสานัญจายตนะ เขาว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็เนวสัญญานาสัญญายตนะ อย่างนั้นไม่มีเหตุผลเลย หลายท่านบอกว่า ท่านถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ท่านว่า แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะสภาพของธรรมตามความเป็นจริง เพราะแม้ลักษณะของจิตที่สงบก็ยังไม่รู้ว่า ขณะไหนที่สงบ
ถ้าถามว่า ขณะไหนสงบ บางท่านบอกว่า ขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ
มาจากไหน อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ อยู่ดีๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่เริ่มจากความสงบทีละขณะสองขณะ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งความสงบมั่นคงขึ้น ปรากฏลักษณะของความสงบที่มั่นคงเป็นสมาธิ
ถ. เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราอยู่ในอุปจารสมาธิหรือในอัปปนาสมาธิ
สุ. อย่าใช้คำ แต่ต้องรู้ลักษณะสภาพของจิต เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ สงบ หรือไม่สงบ ถ้ายังบอกไม่ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ จะถึงได้อย่างไรในเมื่อยังไม่รู้เลยว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สงบหรือไม่สงบ ถ้าคนอื่นจะบอกว่า เป็นกุศล ใช้คำอีกแล้ว ใช้แต่คำว่า กุศลบ้าง สมถะบ้าง แต่ไม่ได้รู้ลักษณะสภาพของจิตจริงๆ ว่า ขณะนั้นสงบ เป็นสมถะ เป็นกุศล หรือว่าไม่ใช่กุศล
ถ. ถ้าจะศึกษาจากหนังสือธรรมต่างๆ ก็มีมาก
สุ. มีมาก อ่านและพิจารณา ถ้าอ่านแต่ไม่ได้พิจารณา จะไม่ได้เหตุผลอะไรเลย อย่าเชื่อตามโดยง่าย
ผู้ฟัง เรื่องอ่านหนังสือธรรมทุกวันนี้ ถ้าตัวเองไม่มีภูมิความรู้มาก่อน จะพิจารณาไม่ได้ ผู้ที่จะพิจารณาได้ต้องอาศัยตัวเองมีความรู้มาก่อน ผมมีความคิดที่จะแนะนำ คือ อ่านพระไตรปิฎกเท่านั้น หนังสือของอาจารย์ต่างๆ ทุกวันนี้มีมาก แต่เราจะพิจารณาได้อย่างไรว่า อาจารย์ไหนพูดตามพระไตรปิฎก และอาจารย์ไหนพูดเอาเอง ถ้าเราไม่ได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกด้วยตนเอง เราจะพิจารณาไม่ออกว่า อาจารย์ไหนพูดเอาเอง อาจารย์ไหนพูดตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะฉะนั้น อ่านจากพระไตรปิฎกปลอดภัยที่สุด
สุ. พระไตรปิฎกก็ยาก เพราะฉะนั้น ต้องอดทน มีวิริยะ มีขันติ มีความตั้งใจมั่นที่จะพิจารณาจนกระทั่งได้เหตุผล และเป็นความเข้าใจจริงๆ ถ้าไม่เข้าใจ ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจก็ต้องรู้ว่า เข้าใจ ถ้าเข้าใจยังน้อยอยู่ ก็ต้องรู้ว่า เป็นความเข้าใจที่น้อยอยู่
ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้ถ้าปัญญาตัวเองยังไม่ถึง เช่น เวลานี้มีสำนักหนึ่งที่ปฏิบัติกัน คำว่า จิตสั่ง ไปพูดกับคนที่ศึกษามาแล้ว หรือว่ายังไม่เคยศึกษาอะไร ทั่วๆ ไป เขาจะต้องรับรองว่า มีเหตุผลจริงๆ เพราะว่าการที่ผมยืนนี้ ถ้าจิตไม่สั่งก็ไม่ยืน และการที่ผมจะยกมือไปหยิบของ ถ้าจิตไม่สั่ง มือก็ไปไม่ได้ คนธรรมดาสามัญต้องยอมรับว่ามีเหตุผล อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาตามอาจารย์ต่างๆ จะพิจารณาอย่างไร ถ้าปัญญาไม่ถึงพิจารณาไม่ได้ เพราะฉะนั้น การไขว้เขว การที่จะผิดพลาดต่างๆ มีได้
สุ. เริ่มจากพระอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งประมวลข้อความต่างๆ ใน พระอภิธรรม เพราะในทั้ง ๓ ปิฎกนี้ ถ้าจะเริ่มอ่านจากพระไตรปิฎกเล่มหนึ่งเล่มใด ก็จะพบพยัญชนะและข้อความหลายตอนซึ่งไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ถ้าได้ศึกษา พระอภิธัมมมัตถสังคหะก่อน มีความเข้าใจในปรมัตถธรรมแล้ว ก็จะอ่านพระไตรปิฎกมีความเข้าใจได้พอสมควร และถ้าศึกษามากขึ้น พิจารณามากขึ้น เจริญสติปัฏฐานมากขึ้น จะทำให้เป็นการเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนขึ้น ตรงตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า จิตสั่งไม่มี เพราะข้อความในพระไตรปิฎก หรือในพระอภิธัมมัตถสังหคะก็แสดงว่า จิตเป็นสภาพที่มีลักษณะรู้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตใดเกิดขึ้นในขณะไหน จิตเป็นสภาพรู้ และอารมณ์เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น ไม่มีสั่ง เพราะว่าในขณะนั้นรู้อารมณ์ ไม่ใช่สั่ง ยังมีอะไรสงสัยไหมในเรื่องของสมถภาวนา ซึ่งสมัยนี้ใช้คำนี้กันมาก
ถ. เมตตา เจริญได้ทั้ง ๓ ทวาร คือ กาย วาจา ใจ ถ้าเป็นกรุณา มุทิตา อุเบกขา จะเจริญได้กี่ทวาร
สุ. เหมือนกัน ทางกาย เวลาที่ใครได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไปแสดงมุทิตาจิตกันด้วยกาย มีวัตถุ มีสิ่งของไปร่วมแสดงความยินดีด้วย ทางวาจาก็กล่าวคำซึ่งแสดงถึงจิตที่บันเทิงด้วย ยินดีด้วย หรือทางใจ เวลาที่นึกถึงความสุข ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะที่บุคคลอื่นได้รับ ก็พลอยชื่นชมยินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นทางใจ
มีท่านที่ถามเรื่องการแผ่เมตตาให้เทวดา ท่านข้ามมนุษย์ มนุษย์ที่เห็นกันอยู่ทุกวันๆ ยังไม่ได้ระลึกเลยว่า มีเมตตาในแต่ละบุคคลพอเพียงแล้วหรือยัง แต่ว่านึกถึงบุคคลในภูมิอื่น เช่น เทพและเทวดา ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียด
การเจริญกุศล ควรจะเป็นการเจริญกุศลที่กว้างออกๆ จริง และต้องด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจึงจะเป็นกุศลที่กว้างออก หรือว่าแผ่ขยายไปได้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาจิตใจของตัวเองว่า เวลาที่นึกถึงเทวดา โดยการศึกษาปรมัตถธรรมทราบว่า เทพมีจริง เทวดามีจริง พรหมมีจริง อรูปพรหมมีจริง เทวดาก็อยู่ในสวรรค์ชั้นต่างๆ รูปพรหมก็อยู่ในพรหมภูมิชั้นต่างๆ อรูปพรหมก็อยู่ใน อรูปพรหมภูมิ แต่ว่าใจก็อดนึกถึงไม่ได้ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น ซึ่งการนึกถึงเทวดานี้ ก็ควรที่จะพิจารณาจิตใจในขณะที่คิดถึงนั้นว่า เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศลก่อนที่จะแผ่ มิฉะนั้นแล้วจะข้ามไปหมด มุ่งแต่จะคิดว่า การแผ่เมตตานั้นเป็นเรื่องท่อง เป็นเรื่องของการท่อง ตามรูปของพยัญชนะที่มีแสดงไว้
แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การเจริญเมตตาเป็นเรื่องของจิตที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ และประกอบด้วยความหวังดีเวลาที่นึกถึงสัตว์ บุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในโลกนี้ สัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นบุคคลในภูมิอื่นๆ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นต้องพิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะว่า เวลาที่คิดถึงเทวดา จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ปกติคิดอย่างไร เวลาที่คิดถึงเทวดา
ผู้ฟัง คิดว่า เทวดามีอำนาจ และได้ศึกษาว่า ถ้าแผ่เมตตาให้เทวดา เทวดาท่านจะปกปักรักษาคุ้มครอง เพราะฉะนั้น จึงแผ่เมตตา หรือแผ่กุศลให้แก่เทวดา
สุ. ไม่พ้นจากการรักตัวเอง รักชีวิต เพราะรู้ว่า เทวดามีอำนาจและสามารถที่จะปกปักรักษาถ้าเพียงท่านแผ่อุทิศส่วนกุศลให้เทวดา หวังอีกแล้ว เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ที่จะขัดเกลากิเลสต้องรู้ว่า กิเลสเกิดเมื่อไหร่ ขณะไหน มีลักษณะอาการอย่างไร เพราะโลภะชาญฉลาดมากจริงๆ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ว่าขณะใดเป็นโลภะ ขณะนั้นไม่มีทางที่จะหมดโลภะ เช่น พอนึกถึงเทวดา ก็หวังประโยชน์ของตัวเองจากเทวดา คือ หวังให้เทวดาปกป้องคุ้มครองรักษา ขณะนั้นเป็นโลภะ และการมุ่งที่จะแผ่กุศลก็เพื่อหวังผล คือ การได้รับความคุ้มครองปกป้องจากเทวดา ซึ่งไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญกุศล เพราะเป็นการหวังผล
อย่าลืมว่า การอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้น เพื่อบรรเทา เพื่อละคลาย เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ต้องเห็นโทษของอกุศล ต้องเห็นโทษของโลภะ ต้องเห็นโทษของโทสะ ต้องเห็นโทษของโมหะจริงๆ กุศลจึงจะเจริญ ความสงบของจิตซึ่งเป็นสมถะจึงจะเจริญขึ้น และสติปัฏฐานซึ่งประกอบด้วยปัญญาก็จะเจริญขึ้น เพราะปัญญารู้ว่า ขณะใดเป็นอกุศล และรู้ว่าควรที่จะละอกุศล
เพราะฉะนั้น โดยนัยนั้นไม่ใช่การเจริญความสงบ เพราะเป็นไปด้วยความต้องการ ไม่ว่าจะกล่าวคำสักร้อยครั้งพันครั้ง ก็ยังเป็นไปด้วยความหวังผล คือ ความต้องการจากเทวดา แม้แต่การที่จะอุทิศส่วนกุศล หรือว่าแผ่เมตตาให้กับเทวดา ก็จะต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การอบรมเจริญเมตตาเพื่อขัดเกลากิเลสของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อหวังผลตอบแทนจากผู้ที่ท่านคิดว่าท่านแผ่เมตตาไปให้ เพราะถ้าโดยลักษณะนั้น ไม่ได้แผ่เมตตา แต่ว่าเป็นการหวังผล เช่นเดียวกับคาถากันงู ดูเหมือนท่านมีเมตตาต่องูมาก แต่ว่าหวังผลไม่ให้งูกัด อย่างนั้นหรือเมตตางู
เพราะฉะนั้น เรื่องของเมตตาเป็นเรื่องของการที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะสภาพของจิตว่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะนั้นจะไม่เป็นความสงบเลย
การแผ่เมตตาในเทวดาโดยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เทพมีจริง และการที่เกิดเป็นเทวดานั้น เพราะผลของกุศลจึงทำให้เกิดในเทวโลกได้ มีความชื่นชมในกุศลของผู้ที่เกิดในเทวโลกว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำบุญกุศลมาแล้ว จึงมีปัจจัยทำให้ท่านเกิดในเทวโลกได้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ริษยา รู้จริงๆ ว่าเป็นเพราะผลของกุศล และยินดีด้วยในการเกิดเป็นเทวดาของท่านเหล่านั้น ขณะนั้นเป็นจิตที่สงบ เป็นกุศลแล้วที่นึกถึงกุศลธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทพ
และท่านที่คิดจะแผ่เมตตาให้เทวดา ก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงเหตุผลต่อไปว่า ท่านจะแผ่อย่างไร ท่านจะให้อาหารเหมือนอย่างมนุษย์ เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะอาหารของเทวดาไม่ใช่อาหารของมนุษย์ ถ้าท่านคิดว่าจะเอาอาหารของมนุษย์ไปให้เทวดา จะไม่สำเร็จประโยชน์แก่เทวดาเลย เพราะเทวดาไม่ได้บริโภคอาหารของมนุษย์ เทวดามีอาหารทิพย์ของเทวดา
การที่จะเจริญเมตตาในภูมิมนุษย์นี้ กระทำได้ทั้งโดยทาน การให้วัตถุเกื้อกูลกับบุคคลอื่น หรือว่าโดยศีล การวิรัติ การไม่เบียดเบียนประทุษร้าย ไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาต ไม่พยาบาทในบุคคลอื่น ในขณะนั้นเป็นเมตตาระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่เทพไม่ต้องการบริโภคอาหารของมนุษย์ และท่านเองไม่สามารถที่จะไปฆ่าเทวดา เพราะเทวดาเป็นเทพ เกิดขึ้นเพราะผลของบุญ มีอายุตามที่ท่านได้กระทำบุญมาแล้วว่า ท่านจะมีชีวิตอยู่ระหว่างที่เป็นเทพนั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น ท่านจะไปวิรัติการฆ่าเทวดาก็ไม่ได้ หรือว่าจะเอาอาหารไปให้เทวดาก็ไม่ได้ นอกจากจะคิดถึงคุณของเทวดาที่ท่านเป็นผู้กระทำบุญมาแล้ว และชื่นชมยินดี อนุโมทนาด้วยในบุญกุศลที่ท่านได้กระทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น หนทางเดียว คือ ทำความดี และอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาอนุโมทนาด้วย นั่นคือการแผ่เมตตาให้แก่เทวดา ไม่ใช่วิธีท่องหรือวิธีอื่น
ถ. ที่ว่าอุทิศส่วนกุศล คือ ในขณะที่เราทำทาน หรือว่าประกอบกุศลแล้ว ก็แผ่ส่วนกุศลให้เทวดา ใช่ไหม
สุ. ถ้าทำความดี ท่านเป็นเทพ ท่านก็ต้องอนุโมทนาในความดีที่คนนั้นทำ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะให้ท่านคุ้มครองโดยการเพียงแต่ท่อง แต่ทุกขณะที่ทำดี เทวดาเห็น ถ้าเป็นเทวดาที่ดี ท่านก็อนุโมทนา ท่านก็ชื่นชม และท่านก็มีกุศลจิตที่จะกระทำสิ่งที่เท่าที่ท่านสามารถจะกระทำได้ต่อบุคคลนั้น แต่อย่าหวัง เพราะถ้าหวัง ก็เป็นโลภะ
ถ. ที่ว่าแผ่ส่วนกุศล ก็ไม่มีความหมาย
สุ. แผ่ได้ ทำความดีให้ท่านอนุโมทนา เพราะให้ทานวัตถุกับท่านไม่ได้ อาหารท่านก็มีอาหารที่เป็นทิพย์ ประณีตกว่าอาหารมนุษย์ เสื้อผ้า เครื่องบริโภคของท่านก็ประณีตกว่าทั้งหมด ท่านมีเพชรนิลจินดามากมาย ทรัพย์สมบัติมหาศาล เกินกว่ากษัตริย์มหาศาลในโลกใดๆ โดยการเกิดเป็นเทพ เพราะฉะนั้น มนุษย์จะไป หยิบยื่นอะไรให้ท่าน ก็ไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่ต้องการของท่าน แต่ทำความดี ท่านเห็น ท่านรู้ ท่านอนุโมทนา
ถ. เท่านั้นเอง
สุ. จะอะไรอีก ทาน ก็ให้ท่านไม่ได้ ศีล จะไปฆ่าท่านก็ไม่ได้ มีอยู่ทางเดียว คือ ทำความดีให้ท่านชื่นชม อนุโมทนา และแผ่อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน เวลาที่ทำความดีแล้ว
ถ. แผ่ หมายความว่า ระลึกถึงท่านหรือ
สุ. เหมือนกับอุทิศส่วนกุศลให้ใครๆ โดยทั่วไป พอไหม แต่ต้องมีเหตุผล ต้องเป็นกุศลจริงๆ ต้องให้สงบจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าเอาอกุศลมาเป็นกุศล คละเคล้ากันไปและเข้าใจว่า อกุศลนั่นเองเป็นกุศล
ถ้ามีความเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อย ท่านเป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อพระธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่สามารถจะ ละคลาย บรรเทา ขัดเกลาอกุศลจนกระทั่งสามารถดับได้เป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เป็น คำสอนของศาสดาซึ่งไม่รู้แจ้ง เพราะฉะนั้น ก็มีอกุศลธรรมคละเคล้ากันไปกับ กุศลธรรม ไม่ใช่อย่างนั้น แต่อกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล
สำหรับท่านที่หวังจะให้เทวดาปกป้องคุ้มครองรักษา โดยการท่องคำแผ่เมตตาให้กับเทวดา เวลาที่ท่านประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน นึกโทษเทวดาบ้างไหมว่า ไม่คุ้มครองรักษา อุตส่าห์แผ่เมตตาไปก็มากมาย พอถึงเวลาจริงๆ ก็ต้องประสบกับเคราะห์กรรม เคยนึกโกรธเทวดาบ้างไหม
ก็ดีที่ว่าไม่โกรธ ทั้งๆ ที่หวังจะให้เทวดาปกป้องคุ้มครอง แสดงให้เห็นว่า ถ้าท่านหวัง และไม่ได้สิ่งที่หวัง ต้องเป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นจิตที่สงบจริงๆ ไม่ได้มุ่งหวัง ทำกุศลเพราะมีฉันทะในกุศลเท่านั้น มีความพอใจในสภาพธรรมที่เป็นกุศล โดยที่ไม่ได้มุ่งหวังผลของกุศล เพราะฉะนั้น ก็ย่อมจะไม่โทษใคร หรือว่าไม่เกิดความทุกข์เดือดร้อนเพราะคิดว่า เมื่อแผ่ส่วนกุศลให้เทวดาแล้ว ทำไมเทวดาไม่รักษา