แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 927

การเป็นเพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่า สามารถที่จะสละทุกอย่าง วงศาคณาญาติ มิตรสหาย ความสนุกสนาน ความบันเทิงใจ ความรื่นรมย์ใจทั้งหลาย สำหรับคฤหัสถ์ย่อมสามารถที่จะบริโภคโภคสมบัติ แต่ด้วยความไม่ติด แต่สำหรับบรรพชิตนั้น ต้องละโภคสมบัติทั้งหมด นี่เป็นความที่ต่างกัน

ไม่มีคฤหัสถ์คนไหนที่จะไม่บริโภคสมบัติ แต่ว่ามีคฤหัสถ์ที่บริโภคสมบัติด้วยความไม่ติด ด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม และจะรู้ได้อย่างไรว่า ติดหรือไม่ติด มากหรือน้อยแค่ไหน

ถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญา ไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นย่อมแสดงว่า ยังมีความติดข้องอยู่มากในโภคสมบัติ แต่ถ้ามีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีการอบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นหนทางให้บุคคลนั้นสามารถละคลายและดับความยินดีพอใจ ความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอัธยาศัยจริงๆ ที่สามารถจะละอาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ย่อมสามารถที่จะบวชได้ แต่ผู้ที่ยังมีการสะสมที่จะเป็นคฤหัสถ์ สามารถที่จะบริโภคโภคสมบัติด้วยความยินดี แต่ไม่ติดข้อง เพราะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา แต่ถ้าบรรพชิตยังคลุกคลี ยังมีจิตใจเหมือนกับคฤหัสถ์ทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริง

มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความประพฤติที่เหมาะสม ที่จะเป็นอัธยาศัยของบรรพชิตทั้งหลาย

ข้อความมีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งสบง ทรงบาตรจีวรแล้ว เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเช้า ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน

สมัยนั้นแล ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ มีเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกัน พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะที่แต่งตั้งไว้มากด้วยกันแล้ว จึงมีพระดำริดังนี้ว่า ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน ที่นี่มีภิกษุอยู่มากมายหรือหนอ ฯ

สมัยนั้นแล ท่านพระอานนท์กับภิกษุมากรูปทำจีวรกรรมอยู่ในวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้นอยู่แล้ว จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ แล้วประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

ดูกร อานนท์ ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน ที่นั่นมีภิกษุอยู่มากมายหรือ ฯ

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

มากมาย พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จีวรกาลสมัยของพวก ข้าพระองค์กำลังดำเนินอยู่ ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย ดูกร อานนท์ ข้อที่ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่นั้นหนอ จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ตามความปรารถนาโดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้ผู้เดียวหลีกออกจากหมู่อยู่ พึงหวังเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่ เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนาโดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นเป็นฐานะที่มีได้

นี่เป็นความต่างกันของเพศบรรพชิตกับเพศฆราวาส ถ้าเป็นบรรพชิตและยังคลุกคลีแวดล้อมด้วยมิตรสหายมากมายเหมือนอย่างคฤหัสถ์ นั่นไม่ใช่อุปนิสัยที่แท้จริงที่ควรจะเป็นเพศบรรพชิต

ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มหาสุญญตสูตร มีว่า

ในกาลก่อนนั้น พระผู้มีพระภาคไม่เคยเห็นภิกษุ ๑๐ รูป ๑๑ รูป ๑๒ รูป อยู่ในที่เดียวกัน ทรงดำริว่า การอยู่เป็นคณะนี้เป็นที่เกลื่อนกล่นวุ่นวายในวัฏฏะ เพราะเป็นมาเสียจนเคยชินมาแล้วในวัฏฏะ

ใช่ไหม โดยเพศของคฤหัสถ์

เช่นเดียวกับน้ำที่ตกลงสู่แม่น้ำ และการอยู่เป็นคณะได้ประพฤติกันมาแล้วในนรก เดรัจฉาน ปิตติวิสัย (คือ เปรต) และอสุรกาย ในมนุษยโลก เทวโลกและพรหมโลก

การอยู่กันมากๆ มีอยู่เสมอเป็นประจำมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ ตั้งแต่ในนรกก็มี เดรัจฉานก็อยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ เป็นคณะ พวกเปรต อสุรกาย พวกมนุษย์ก็อยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นคณะ แม้เทวดาและพรหมทั้งหลายก็อยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นคณะ

จริงอยู่ นรกชื่อว่าเผาไหม้อยู่เป็นคณะ แม้ในดิรัจฉาน ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ตัวปลวกไม่มีประมาณ ไม่มีกำหนด ในรังมดดำมดแดง ก็ฉันนั้น การอยู่เป็นคณะ ในดิรัจฉาน ในเปตนคร คือ แม้ในเมืองเปรต แม้ในครึ่งโยชน์ก็เต็มไปด้วยเปรต ในปิตติวิสัยก็เช่นกัน ในเมืองพาราณสีก็อยู่กันแน่นขนัด ในเทวโลกและพรหมโลก นับแต่ภุมเทวดาเป็นต้นไปก็อยู่กันเป็นคณะ ในที่แห่งหนึ่งมีพระพรหมอยู่เป็นจำนวนหมื่น ทรงดำริว่า เราบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ สิ้น ๔ อสงไขยแสนกัป ก็เพื่อที่จะกำจัดการอยู่เป็นคณะ

คือ การที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อยู่เพียงลำพังพระองค์เดียวกับนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่ต้องอยู่ร่วมกับใครอีกเลย เพราะไม่มีการเกิดขึ้น

พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ก็บัดนี้ภิกษุเหล่านี้พากันอยู่เป็นคณะ ทำการไม่สมควร ทรงเกิดธรรมสังเวชขึ้นเพราะภิกษุทั้งหลาย แล้วทรงดำริอีกว่า จะบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุ ๒ รูปไม่พึงอยู่ในที่เดียวกันก็ได้ แต่ก็ไม่สมควรบัญญัติ เราจะแสดงสูตรชื่อว่า มหาสุญญตาปฏิบัติ ที่เปรียบด้วยการบัญญัติสิกขาบทแก่กุลบุตร ผู้รักการศึกษา และเปรียบด้วยกระจกที่ติดตัวทุกคนเข้าไปทางประตูเมือง กษัตริย์ เป็นต้น เห็นโทษของตนในกระจกอันหนึ่ง ละโทษนั้นแล้ว กลับเป็นผู้ไม่มีโทษ ฉันใด เมื่อเรานิพพานแล้วเป็นเวลา ๕,๐๐๐ ปี กุลบุตรทั้งหลายรำพึงถึงสูตรนี้ อยู่บรรเทาคณะ ชื่นชมยินดีในเอกีภาพ จะถึงที่สุดความทุกข์ในวัฏฏะได้ ดังนั้นเหมือนกัน

กุลบุตรทั้งหลายรำพึงถึงพระสูตรนี้ เหมือนจะให้เต็มมโนรถของพระผู้มีพระภาค บรรเทาคณะ ให้ทุกข์ในวัฏฏะสิ้นไป แล้วปรินิพพานนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสมัยทำงานก็ตาม ไม่ทำก็ตาม ไม่ต้องพูดถึง แท้จริงภิกษุผู้ยินดีในหมู่คณะ ย่อมไม่งามโดยแท้ ท่านอย่าอุปถัมภ์ในฐานะไม่ควรอุปถัมภ์เลย

คือ อย่าสนับสนุนให้จับกลุ่มกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อัธยาศัยจริงๆ ของผู้ที่จะเป็นบรรพชิต ควรจะต้องเป็นอย่างนี้

ข้อความในอรรถกถาตอนท้ายมีว่า

จริงอยู่ ถ้าบางคนเป็นผู้มีปัญญาน้อย บวชใหม่ พึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคนำพวกเราออกจากหมู่คณะ เหมือนกับต้อนโคที่เข้านาออกไป ผูกมัดไว้ในเอกีภาพ แต่พระองค์เองมีพระราชา ราชมหาอำมาตย์ เป็นต้น แวดล้อม ทรงปรารภเทศนานี้ ก็เพื่อจะแก้วาทะนั้นว่า พระผู้มีพระภาคแม้ประทับนั่งท่ามกลางบริษัทเต็มจักรวาล ก็ชื่อว่าเป็นผู้ผู้เดียว และอธิบายว่า คำว่า สุญญตํ ได้แก่ สุญญตผลสมาบัติ

ถ. ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิภิกษุทั้งหลายที่อยู่กันเป็นหมู่ เป็นคณะ แต่บางทีภิกษุทั้งหลายตั้ง ๑,๒๕๐ รูป ติดตามพระพุทธเจ้าไป อย่างนี้ไม่เรียกว่า เป็นหมู่ เป็นคณะหรือ

สุ. อานิสงส์ของการอยู่เป็นหมู่คณะมีอยู่อย่างเดียว ซึ่งข้อความนี้มีใน ปปัญจสูทนี อรรถกถา มหาสุญญตสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกผู้สดับแล้ว ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละสิ่งที่มีโทษ เจริญสิ่งที่ไม่มีโทษ ย่อมบริหารตนให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นพหูสูต เหมือนทหารที่สมบูรณ์ด้วยอาวุธ ผู้ใดเรียนปริยัติแล้วไม่ปฏิบัติคล้อยตามให้เหมาะสมแก่ปริยัตินั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่มีอาวุธ ส่วนผู้ใดปฏิบัติตาม ผู้นั้นชื่อว่ามีอาวุธ เพราะฉะนั้น ไม่สมควรติดตามเพื่อประโยชน์นั้น

คือ ไม่ควรที่จะติดตามเพียงเพื่อเรียนเท่านั้น เพราะถ้าติดตามเพียงเพื่อเรียน เพื่อฟัง เพื่อเข้าใจ ก็ยังไม่พอ ต้องเพื่อปฏิบัติด้วย

ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์ในการติดตามพระผู้มีพระภาคเป็นจำนวนมาก เพื่อฟัง เพื่อที่จะได้เหมือนกับผู้ที่มีอาวุธ สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะถ้าไม่ฟังเลย หรือว่าเรียนปริยัติแล้ว ไม่ปฏิบัติคล้อยตามให้เหมาะสมแก่ปริยัตินั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่มีอาวุธ

นอกจากนั้นแล้ว ยังแสดงความต่างกันของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา กับนักบวชนอกศาสนาว่า สำหรับผู้ที่บวชแล้ว ประโยชน์สูงสุดควรจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งศาสนาอื่นไม่มี

ทรงอุปมาว่า

คนที่ตกจากหลังลา ไม่ได้มีทุกข์ใหญ่โตมากมาย เพียงแต่ร่างกายเปื้อนฝุ่นเท่านั้น ฉันใด ในพาหิรสมัย คือ ในลัทธิภายนอก ก็เสื่อมแต่เพียงโลกียคุณเท่านั้น เพราะไม่มีคุณที่สูงกว่านั้น เพราะว่าการบรรพชาภายนอกนั้น ไม่มีคุณที่จะพึงบรรลุอันยิ่งใหญ่ มีเพียงสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ เท่านั้น ส่วนในศาสนานี้ พึงบรรลุมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน อันเป็นคุณยิ่งใหญ่ได้ เปรียบเหมือนขัตติยกุมาร อุภโตสุชาต ผู้อยู่บนคอช้าง เสด็จเลียบพระนคร ตกจากคอช้าง ก็ย่อมประสบทุกข์มาก ฉันใด เมื่อเสื่อมจากศาสนา ก็ชื่อว่าเสื่อมจากโลกุตตรคุณทั้ง ๙ ฉันนั้น

จุดประสงค์ของการที่จะบวชอย่าลืมว่า เพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม บุคคลใดบวชแล้วไม่ได้กระทำกิจนี้ ผู้นั้นย่อมอุปมาเหมือนกับขัตติยราชกุมารซึ่งตกลงจากคอช้าง ย่อมเจ็บมากกว่าคนที่เพียงตกลงจากหลังลา สำหรับคนที่ตกลงจากหลังลา ก็เหมือนกับนักบวชภายนอกศาสนา เพราะเมื่อเสื่อม ก็เสื่อมจากเพียงโลกียคุณ คือ ฌานสมาบัติต่างๆ แต่สำหรับในพระศาสนานี้ เมื่อเสื่อม คือ เสื่อมจากการที่จะบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า

ถ. ถ้าภิกษุทั้งหลายอยู่ร่วมกัน จับกลุ่มกัน สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ และนำความรู้ความเข้าใจนั้นไปปฏิบัติ ก็ไม่น่ามีโทษอะไร

สุ. ไม่มีโทษแน่ ถ้าเป็นการฟัง การศึกษา และการปฏิบัติตามพระธรรม ไม่ใช่การชอบ การยินดีคลุกคลีในหมู่คณะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบวชจึงต้องพิจารณาตัวเองจริงๆ โดยรอบคอบว่า บวชเพื่อจุดประสงค์อะไร และเมื่อบวชแล้วก็ต้องประพฤติตามจุดประสงค์นั้น ซึ่งเป็นความต่างกันระหว่างเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต ถ้าเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แม้ไม่บวชก็บรรลุได้ เป็นที่รู้กันแล้วว่า ผู้ที่ไม่บวช ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบวชต่างกับผู้ที่แม้ไม่บวชก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยอัธยาศัยของตนเองที่ต้องการจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิต ซึ่งสละทั้งหมด ทั้งบ้านเรือน ทั้งวงศาคณาญาติ ทั้งทรัพย์สมบัติ ต้องมีอัธยาศัยอย่างนั้น เพราะถึงแม้ไม่สละอย่างนั้น ก็ยังรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่มีสัจจะ ความจริงใจในการบวช

ถ. ในเมื่อสนทนาธรรมไม่มีโทษ ทำไมพระผู้มีพระภาคยังทรงตำหนิ

สุ. ทรงตำหนิการคลุกคลี ไม่ใช่ทรงตำหนิการสนทนาธรรม

ถ. หมายความว่า ขณะที่สนทนาธรรม ขณะนั้นไม่ชื่อว่าคลุกคลี

สุ. ไม่ชื่อว่าคลุกคลี เพราะเป็นการอบรมเจริญปัญญา และต้องปฏิบัติให้คล้อยตามปริยัติที่ได้ศึกษาด้วย เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดเรียนปริยัติแล้ว ไม่ปฏิบัติคล้อยตามให้เหมาะสมกับปริยัตินั้น ผู้นั้นชื่อว่าไม่มีอาวุธ

ถ. คลุกคลีหมายความว่าอย่างไร

สุ. ชอบที่จะอยู่ สนุกดี

ถ. เท่านั้นหรือ

สุ. มีความพอใจที่จะคลุกคลี ที่จะอยู่ด้วยกัน เป็นความพอใจที่จะอยู่ร่วมกัน เหมือนอย่างมิตรสหาย คฤหัสถ์มีมิตรสหายเพราะอะไร เพราะอยู่ด้วยกันแล้วสบาย ยืนสบาย นอนสบาย พูดสบาย รับประทานอาหารสบายกับบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นสหาย

ถ. พระก็เหมือนกัน ก็มีสหาย

สุ. ถ้าจะเหมือน จะต้องไม่เป็นพระ เป็นคฤหัสถ์ก็ยังรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะบวชจริงๆ ต้องพิจารณาตนเองอย่างรอบคอบว่า มีอัธยาศัยที่จะสละทั้งหมด นอกจากบ้านเรือน ยังต้องสละวงศาคณาญาติ มิตรสหายด้วย จึงจะเป็นเพศบรรพชิต เหมาะสมแก่การที่จะประพฤติธรรมในเพศของบรรพชิต

ข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอันตรายของแม้เป็นผู้ที่อยู่ผู้เดียว ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร อานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตะ เคยยะ และไวยากรณ์เลย นั่นเพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลายอันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น เป็นเวลานาน ดูกร อานนท์ แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดาเพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ฯ

ไม่ใช่เรื่องให้ยินดีในการคลุกคลีกันเลย เรื่องทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องมักน้อย เรื่องความรู้ยิ่ง เรื่องสงบกิเลส เรื่องดับกิเลส เรื่องคลายกำหนัด เรื่องความหน่ายส่วนเดียว เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เป็นเรื่องไม่คลุกคลีทั้งหมด และแม้จะอยู่ผู้เดียวแล้ว ก็ยังมีอันตราย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีอุปัททวะของอาจารย์ อุปัททวะของศิษย์ อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ฯ

สำหรับผู้ที่บวชแล้ว ก็ยังมีอันตราย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อานนท์ ก็อุปัททวะของอาจารย์ย่อมมีได้อย่างไร ดูกร อานนท์ ศาสดาบางท่านในโลกนี้ ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง และลอมฟาง เมื่อศาสดานั้น หลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทจะพากันเข้าไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบทพากันเข้าไปหาแล้ว ศาสดานั้น จะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

ดูกร อานนท์ ศาสดานี้เรียกว่า อาจารย์มีอุปัททวะ ด้วยอุปัททวะของอาจารย์ อกุศลธรรมอันลามกเศร้าหมองเป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว ดูกร อานนท์ อย่างนี้แล อุปัททวะของอาจารย์ย่อมมีได้ ฯ

อยู่ที่ไหนก็ไม่พ้นอันตราย ถ้ายังมีกิเลส

เป็นผู้ที่พอใจในการอยู่ในถ้ำ ในซอกเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง แต่คฤหบดีทั้งหลายก็ยังไปหา เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดีเข้าไปติดต่อคบหากับท่านแล้ว จิตของศาสดานั้นย่อมหมกมุ่น ถึงความวุ่นวาย เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก

เพราะฉะนั้น มีหนทางเดียวจริงๆ คือ เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะดับกิเลสได้จริงๆ จึงจะพ้นจากอันตรายได้

เปิด  230
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566