แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 931

คาถาที่ ๓ แห่งวรรคที่ ๒ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๑๔ ใน ขัคควิสาณสูตร มีข้อความเรื่องกำไลทอง ๒ อันที่กระทบกันบ่อยๆ เป็นเหตุให้สติของผู้ที่ได้อบรม เจริญบารมีมาพร้อมที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม สามารถเห็นโทษของการติดอยู่ในกาม ข้อความนั้นกล่าวถึงสมัยหนึ่งในอดีตกาล นานแสนนานมาแล้ว ณ เมืองพาราณสี ซึ่งเวลานี้ก็ยังมีเมืองพาราณสีอยู่ เรื่องมีว่า

พระเจ้าพาราณสีพระองค์หนึ่ง เสด็จเข้าสู่ที่บรรทมในเวลากลางวัน ในฤดูร้อน ก็ ณ ที่ใกล้ของพระองค์นั้น นางวรรณทาสีคนหนึ่งกำลังบดจันทน์เหลืองอยู่ ที่แขนข้างหนึ่งของนางมีกำไลทองอยู่อันหนึ่ง ที่แขนอีกข้างหนึ่งมีกำไลทอง ๒ อัน กำไลทอง ๒ อันนั้นกระทบกันอยู่ ส่วนกำไลทองอีกอันหนึ่งหากระทบอะไรไม่

พระเจ้าพาราณสีทรงเห็นเหตุนี้แล้ว ก็ได้ทรงแลดูนางทาสีนั้นบ่อยๆ พลางทรงดำริว่า ในการอยู่กันเป็นหมู่คณะก็ย่อมมีการกระทบกระทั่งอย่างนี้เหมือนกัน

จริงไหม แม้ในระหว่างเพื่อนสนิทมิตรสหายผู้เป็นที่รัก ถ้าอยู่ด้วยกัน กำไลทอง ๒ อันที่จะไม่กระทบกัน เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่รวมกัน ไม่ว่าจะอยู่กับ เพื่อนสนิทมิตรสหาย ผู้เป็นที่รัก เป็นผู้ที่ถูกอัธยาศัยเพียงไร ก็จะต้องมีการกระทบกระทั่งกันเช่นกำไลทอง ๒ อัน แต่ในการอยู่ผู้เดียวหามีการกระทบกระทั่งกันไม่

โดยสมัยนั้น พระเทวีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพได้ประทับยืนถวายงานพัดอยู่ พระนางทรงดำริว่า พระเจ้าพาราณสี เห็นจะมีพระทัยปฏิพัทธ์ในนางวรรณทาสี ดังนี้แล้ว จึงให้นางทาสีนั้นลุกขึ้นแล้วพระนางเองก็ทรงเริ่มบดจันทน์เหลืองนั้นเสียเอง ที่พระพาหา (แขน) ทั้งสองของพระนางมีกำไลทองหลายอันกระทบกันอยู่

นางทาสีมีกำไลทองที่แขนข้างหนึ่ง ๑ อัน และที่แขนอีกข้างหนึ่งมี ๒ อัน ก็กระทบกันเพียง ๒ อัน แต่สำหรับพระมเหสี กำไลทองหลายอันกระทบกันอยู่ ก่อให้เกิดเสียงดังหนักขึ้น

พระเจ้าพาราณสียิ่งทรงเบื่อหน่ายยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ประทับบรรทมอยู่โดย พระปฤษฎางค์เบื้องขวานั่นเอง ก็ทรงเริ่มเจริญวิปัสสนา ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว

ไม่ต้องไปไหน ทั้งๆ ที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินประทับบรรทมอยู่ในเวลากลางวัน ในฤดูร้อน และสำหรับข้อความที่ว่า ทรงเริ่มเจริญวิปัสสนา ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า วิปัสสนาเริ่มเจริญ มิฉะนั้นแล้ว จะมีความเข้าใจผิด ยึดถือสภาพธรรมโดยความเป็นตัวตนอยู่ แม้อ่านพระธรรมก็เข้าใจว่า จะต้องเจริญวิปัสสนา แต่เมื่อศึกษาแล้ว อย่าลืมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้พยัญชนะจะมีข้อความอย่างนั้น ก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า วิปัสสนาเริ่มเกิดและเจริญ ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะเจริญวิปัสสนา แต่เพราะสติเกิดและเจริญขึ้น จึงเป็นวิปัสสนาเจริญ แม้พยัญชนะจะเป็นว่า ทรงเริ่มเจริญวิปัสสนา

พระอัครมเหสีซึ่งมีจันทน์อยู่ในพระหัตถ์ เสด็จเข้าไปหาพระเจ้าพาราณสี ซึ่งประทับบรรทมเสวยความสุข ด้วยความสุขอย่างยิ่ง

เวลาที่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว หมดทุกข์ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ยินเสียงกำไลทองกระทบกัน เสียงดังขึ้นๆ แต่เพราะเหตุว่าวิปัสสนาเริ่มเจริญ ทำให้ทรงตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า และเสวยความสุขด้วยความสุขอย่างยิ่ง

พระอัครมเหสีทูลว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันจะลูบไล้จันทน์เหลืองให้แก่พระองค์

พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า

เจ้าจงหลีกไป เจ้าจงอย่าทา

ทาหรือไม่ทาจะมีความสุขกว่ากัน ลองคิดดู ชีวิตของคฤหัสถ์กับชีวิตของ พระปัจเจกพุทธเจ้า คฤหัสถ์ยังบริโภคกาม ยังยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงละ สละเพศของคฤหัสถ์สู่เพศของบรรพชิตไม่ได้ ตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ต้องรู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น แต่มีหนทางอบรมเจริญปัญญาที่จะทำให้ละความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ต้องด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น ด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ด้วยการนึกละ

พระอัครมเหสีทูลว่า

อะไรเพคะ มหาราช

พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า

เราไม่ใช่พระราชา

อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังการสนทนาปราศรัยนั้นของทั้งสองพระองค์ดังนี้แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า อันอำมาตย์เหล่านั้นทูลเจรจา โดยกล่าวถึงพระองค์ว่า มหาราช ก็ตรัสว่า ดูก่อนพะนาย เราไม่ใช่ราชา

คาถาที่ ๓ นี้ เป็นคาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสว่า

เราครั้นเห็นแล้วซึ่งกำไลทองกระทบอยู่ที่ข้อมืออย่างนี้แล้ว จึงคิดอย่างนี้ว่า เมื่อมีการอยู่เป็นหมู่คณะ ย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน เมื่ออยู่แต่ผู้เดียว ก็หามีการกระทบกระทั่งกันไม่ ดังนี้แล้ว จึงเริ่มเจริญวิปัสสนา จึงได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

ไม่ต้องห่วงใช่ไหมว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศไหน แม้เป็นพระเจ้าพาราณสี ก็ยังสามารถบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณได้ เมื่อได้อบรมเหตุให้ถึงพร้อมแล้ว เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันชาติก็อบรมเหตุ ส่วนผลย่อมมีในวันหนึ่ง และในชาตินั้นจะเป็นใครก็ไม่ทราบ

. อาจารย์เคยสอนว่า เวลาที่สติจะเกิด ความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความจำที่มั่นคง

สุ. แต่ไม่ใช่เราจำ ในขณะนี้ที่สติของใครกำลังเกิด หมายความว่า ขณะนั้นมีสัญญา ความจำ เป็นปัจจัยที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัญญาทำหน้าที่ของสัญญาทุกขณะ ไม่มีใครต้องทำหน้าที่จำเลย ใช่ไหม พอเห็นก็รู้ ใครรู้ ใครจำ สัญญาเกิดขึ้นกระทำกิจของสัญญา คือ จำ หรือหมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราพยายามจะจำ แต่สัญญาเกิดขึ้นกระทำกิจของสัญญา คือ จำ

ทุกครั้งที่จำอะไรได้ ทุกครั้งที่ความจำเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสัญญาเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจของสัญญาเจตสิก คือ จำ

ขณะนี้ที่ฟังนี้ จำอยู่ทุกขณะ และดับไป แล้วแต่ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นจำสิ่งที่กำลังเห็นทางตา หรือเสียงที่กำลังได้ยินทางหู สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ใจที่กำลังคิดนึก ในขณะนั้นก็ต้องจำเรื่องนั้นจึงคิดเรื่องนั้นได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จำ แต่ขณะใดที่สติเกิด สติเป็นสังขารขันธ์ มีสัญญาความจำที่มั่นคง เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ต่อไปเป็นคาถาที่ ๒ แห่งวรรคที่ ๓ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๒๒ เรื่องมีว่า

ดังได้สดับมา พ่อครัวของพระเจ้าพาราณสีปรุงพระกระยาหารที่มีรสอย่างดีเลิศถวายพระราชา ด้วยคิดหวังว่า พระราชาจะประทานทรัพย์ให้เป็นรางวัล

ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่พ้นความหวัง แม้ว่าเป็นพ่อครัวซึ่งเป็นผู้มีสามารถปรุงพระกระยาหารที่มีรสอย่างดีเลิศถวายพระราชา ก็ยังหวังว่า พระราชาจะประทานทรัพย์ให้เป็นรางวัล

พระกระยาหารนั้นมีรสอร่อยเลิศ ซึ่งแม้เพียงกลิ่นเท่านั้น ก็ยังทำให้พระเขฬะ (น้ำลาย) เกิดขึ้นในพระโอษฐ์

เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดอะไรในขณะไหน ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรม เป็นสัญญา ความจำ ในรสอันเลิศของกลิ่นอาหาร ก็ทำให้พระเขฬะ คือ น้ำลาย เกิดขึ้นในพระโอษฐ์ เพราะอาหารนั้นประณีตมาก

พอพระราชาทรงใส่พระกระยาหารคำแรกลงในพระโอษฐ์ ประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารนั้น เป็นดุจน้ำอมฤตถูกต้องฉะนั้น

เคยบริโภคอาหารอย่างนี้ไหม รสประณีตจนกระทั่งเพียงใส่อาหารคำแรกลงในปาก ประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารนั้น เป็นดุจน้ำอมฤตถูกต้องฉะนั้น

พ่อครัวก็คิดว่า พระราชาจะประทานรางวัลแก่เรา บัดนี้

แม้พระราชาก็ทรงดำริว่า พ่อครัวควรได้รับรางวัล

นี่เป็นเพียงความคิด แต่ไม่ได้ตรัสอะไรเลย จนกระทั่งเสวยเสร็จ

ด้วยทรงพระดำริว่า ชื่อเสียงไม่ดีจะพึงบังเกิดแก่เราผู้ประทานรางวัลแก่พ่อครัวว่า พระราชานี้เป็นคนโลเล ติดในรส ดังนี้

พ่อครัวที่เฝ้าดูอยู่ก็ไม่สมหวัง และยังคิดว่าพระราชาพระองค์นี้ไม่มี ชิวหาวิญญาณ คือ ไม่รู้รสอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินจะทรงกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระองค์ก็ทรงพิจารณาว่าควรหรือไม่ควร ดังนั้น ถึงแม้อาหารจะมีรสประณีตสักเพียงไร ก็ทรงพระดำริว่า ถ้าประทานรางวัลให้กับพ่อครัวจะทำให้มีคนกล่าวว่า พระราชานี้เป็นคนโลเล ติดในรส

ในวันที่สอง พ่อครัวนั้นก็ได้นำพระกระยาหารที่มีรสไม่ดีเข้าไปถวายพระราชา พระราชาเสวยอยู่ แม้ทรงทราบอยู่ว่า วันนี้พ่อครัวควรแก่การคุกคาม ควรแก่การข่ม แต่ครั้นทรงพิจารณาดุจนัยก่อน ก็ไม่ได้ตรัสอะไร เพราะทรงกลัวการถูกติเตียน

พ่อครัวก็คิดว่า พระราชาไม่ทรงทราบเลยทั้งโภชนะที่ดีและที่ไม่ดี ก็เลยปรุง พระกระยาหารถวายไปตามเรื่อง นี่เป็นความเข้าใจผิด เวลาที่เห็นคนไม่พูดอะไร ไม่ติ ไม่บ่น ไม่ว่าอะไรในเรื่องอาหาร

ผลก็คือ

พระราชาทรงเบื่อหน่าย ด้วยทรงพิจารณาถึงความโลภในอาหาร แล้วทรงสละราชสมบัติออกผนวช เจริญวิปัสสนา ได้ทำปัจเจกโพธิญาณให้แจ้ง และได้ทรงภาษิตคาถาว่า

บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่มีความกระหาย ไม่ลบหลู่ มีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว ไม่มีความอยาก ครอบงำโลกทั้งปวงได้แล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด

ประโยชน์ของการได้บริโภคอาหารไปตามเรื่อง ย่อมมี ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาแล้วย่อมเบื่อหน่ายจริงๆ เดี๋ยวก็ได้อาหารที่ประณีต เดี๋ยวก็ได้อาหารที่ไม่ประณีต และ พ่อครัวก็ทำอาหารถวายไปตามเรื่อง แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นพระราชาก็ยังต้องมีการ รับผลของกรรมเป็นวิบาก แล้วแต่ว่าวันไหนจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่สมควรจะเบื่อ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชา

ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา อธิบายอรรถของพยัญชนะเหล่านี้ว่า

ความโลภ ในที่นี้หมายถึง ความอยากในรส เพราะเหตุว่าผู้ใดถูกความอยากในรสครอบงำแล้ว ผู้นั้นย่อมโลภจัด และโลภบ่อยๆ

อาหารเป็นเรื่องใหญ่ ใช่ไหม วุ่นวายมากเหลือเกิน เพราะเหตุว่าผู้ใดถูกความอยากในรสครอบงำแล้ว ผู้นั้นย่อมโลภจัด มีความพอใจยิ่งขึ้น และโลภบ่อยๆ ในรสอาหารต่างๆ

ผู้ไม่หลอกลวง หมายถึง เพราะไม่ถึงความกระหยิ่มในโภชนะที่พอใจ เป็นต้น

ผู้ไม่มีความอยาก หมายถึง เพราะไม่มีความอยากเพื่อจะดื่มนั้น อธิบายว่า ผู้เว้นแล้วจากความใคร่ที่จะบริโภค เพราะความอยากในรสที่ดี

ผู้ไม่มีความลบหลู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าหมายเอาการที่พระองค์ไม่มีการลบหลู่คุณของพ่อครัว ในกาลที่เป็นคฤหัสถ์

แล้วแต่ว่าพ่อครัวจะปรุงอาหารอย่างไร ก็ไม่ตรัสอะไรทั้งสิ้น

คาถาที่ ๓๑ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๑ ในวรรคที่ ๔ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่อง พระเจ้าพาราณสีเสวยอาหารที่ประณีตเพียงพระองค์เดียวเพราะติดในรส ภายหลังก็ทรงระลึกได้ เห็นโทษ และได้สละราชสมบัติทรงผนวช บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

ดูเป็นชีวิตของบุคคลในครั้งอดีต ซึ่งสามารถบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เพียงในเหตุการณ์ธรรมดาสามัญ ซึ่งทุกท่านก็คงจะเคยประสบกับเหตุการณ์นั้นๆ เช่น บางท่านอาจจะเป็นผู้ที่บริโภคอาหารที่ประณีตมีรสอร่อยเพียงผู้เดียว เคยไหม หรือว่าทุกครั้งที่มีอาหารที่ประณีตก็บริโภคร่วมกับผู้อื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ติดในรสมากๆ ลองสังเกตดู อาจจะมีบางท่านซึ่งบริโภคอาหารที่มีรสประณีตนั้นเพียงผู้เดียว ไม่สามารถเอื้อเฟื้อสละเจือจานเผื่อแผ่ให้กับบุคคลอื่นได้ แต่แม้กระนั้น ผู้ที่ได้อบรมเจริญบารมีมาที่สามารถจะบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ ก็ยังมีสติ การระลึกได้ และเห็นโทษของการติดในรสของตน ซึ่งเป็นผู้ที่บริโภคผู้เดียว

เพราะฉะนั้น สำคัญที่สติ ไม่ว่าจะอยู่ในเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าสติสามารถที่จะเกิดขึ้นพิจารณา เห็นโทษ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง สติเจริญ ปัญญาเจริญ วิปัสสนาเจริญ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่เกี่ยวกับการที่จะต้องออกไปบรรพชาอุปสมบท แต่เป็นการสะสมอบรมเจริญเหตุที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ว่าจะประสบเหตุการณ์ใดๆ ในเพศใด สติก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ระลึกเห็นคุณและโทษของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงได้

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นคาถาที่ ๒๐ ซึ่งเป็น คาถาที่ ๑๐ ในวรรคที่ ๒

ข้อความมีว่า

พระโอรสของพระเจ้าพาราณสีใคร่ที่จะบวช ทั้งๆ ที่ยังทรงพระเยาว์ พระราชาและพระมเหสีได้ทรงทัดทานไม่ให้บวช แต่ไม่สำเร็จ ก็ทรงอนุญาตให้พระโอรสบวชได้ แต่ให้พระโอรสปฏิญาณว่า เมื่อบวชแล้วต้องอยู่ในอุทยานเท่านั้น ไม่ให้ไปที่อื่น เมื่อพระโอรสทรงผนวชแล้ว พระอัครมเหสีพร้อมด้วยหญิงนักฟ้อน ๒๐,๐๐๐ นางแวดล้อม เสด็จไปถวายภัตตาหาร และสนทนาปราศรัยจนถึงเที่ยงวัน พระราชาเสด็จมาในเวลาเที่ยงวัน ให้พระโอรสเสวยแล้ว ทรงสนทนาปราศรัยตลอดวันจนถึงเย็น แล้วเสด็จกลับ โดยให้ราชบุรุษเฝ้าปรนนิบัติรักษาอยู่ตลอดคืน

เปิด  257
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566