แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 934
สุ. สติปัฏฐานต้องอบรมเจริญ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งมีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้รู้ได้ ความรู้สึกเสียใจกับความรู้สึกดีใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริง วันหนึ่งๆ ก็แล้วแต่ว่าจะดีใจบ่อย หรือว่าจะเสียใจบ่อย หรือว่าจะรู้สึกเฉยๆ บ่อย แต่ถ้าสติไม่ระลึกจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีลักษณะของตนเกิดขึ้นปรากฏและก็หมดไป เปลี่ยนแปลงไปเป็นสภาพธรรมอื่นอยู่ เรื่อยๆ แต่ละขณะ ทุกๆ ขณะในขณะนี้
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นปกติ และเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่มีลักษณะปรากฏจริงๆ จนกว่าจะรู้ชัด ถ้ามีความต้องการเกิดขึ้นก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ต้องการ แต่แม้กระนั้นสติก็สามารถระลึกรู้ลักษณะสภาพของความต้องการว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา
เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ ที่จะรู้แม้ลักษณะของความต้องการ ซึ่งเกิดติดตาม สติปัฏฐานว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง
ถ้าระลึกรู้บ่อยๆ จนกระทั่งชำนาญ จนกระทั่งเป็นพละ ก็จะเข้าใจในอรรถของสัทธาพละ สติพละ วิริยพละ สมาธิพละ ปัญญาพละว่า ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดก็ตาม สติที่เป็นพละแล้ว ย่อมสามารถระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ปัญญาพละสามารถรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ นามธรรมหรือรูปธรรมประเภทใดๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นจะไม่ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐาน แต่เพราะสติที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยแต่ละทาง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้างในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ จะเป็นปัจจัยทำให้ สติพละเกิดขึ้น เมื่อนั้นจึงจะสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดต่อกัน ทางตาต่อกับทางใจ ทางหูต่อกับทางใจ ทางจมูกต่อกับทางใจ ทางลิ้นต่อกับทางใจ ทางกายต่อกับทางใจตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใดก็ได้ ไม่มีการจำกัด หรือว่าไม่มีกฎเกณฑ์ที่วางระเบียบแบบแผนไว้ว่า จะต้องรู้ลักษณะของนามนั้นก่อน หรือว่ารูปนั้นทีหลัง เป็นเรื่องปกติธรรมดาจริงๆ
ถ. ร่างกายของเราเมื่ออายุมากขึ้น แก่ลงๆ สติก็มีความหลงเกิดขึ้น เป็นต้นว่า รับประทานอาหารแล้วก็บอกว่า ยัง หรือว่ายังไม่ได้รับประทานก็บอกว่า รับแล้ว หรือว่ามีสภาพเป็นเด็กๆ อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าเราเจริญสติ เหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นไหม หรือว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้นตามภาวะของร่างกาย ของสังขาร ที่ผมเห็นมา แม้แต่ผู้ที่เข้าวัด ถือศีล ฟังธรรม พอแก่มากๆ ก็หลง คุณพ่อผมเอง ไปให้หมอตรวจ หมอก็ว่าหลงเสียแล้ว
สุ. แล้วแต่การสะสม ตอนเป็นเด็กมีโมหะ และก็เพิ่มขึ้นจนถึงวัยหนุ่มสาว ไม่ใช่ว่าโมหะนั้นจะลดน้อย ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เพิ่มขึ้น ซึ่งกว่าจะถึงวัยชรา จะมากสักแค่ไหน ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ ถ้าเป็นผู้ที่สะสมปัญญา ก็แล้วแต่กำลังของสติปัญญาอีกเหมือนกัน ถ้าเป็นปัญญาที่ไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะตามควร แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้า หรือแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ได้ทรงแสดงธรรมว่า แม้ใครจะหามพระองค์ไปด้วยเตียงน้อย ก็ไม่ใช่จะทำให้ความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นด้อยลง หรือว่าหมดลง เพราะว่าพระคุณที่ได้อบรมเจริญพระบารมีมาที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่มีวันที่จะหมดสิ้น หรือว่าเสื่อมลง ด้วยการที่ต้องถูกหามไปในเตียงน้อยๆ แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่น โลภะหรือโทสะย่อมเกิด พร้อมทั้งโมหะ
นั่งเก้าอี้สวยๆ ใหญ่ๆ กับนั่งเก้าอี้ตัวเล็กๆ ความรู้สึกต่างกันไหมสำหรับผู้ที่มีกิเลส แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีกิเลส ไม่ต่าง ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน ไม่ว่าจะเพิ่งตรัสรู้หรือ ว่าใกล้จะปรินิพพาน ปัญญาของพระองค์ไม่ได้หมดสิ้นไปตามวัย
ถ. คำว่า สภาวะ กับคำว่า ลักษณะ ๒ คำนี้ต่างกันอย่างไร
สุ. สภาวะ หมายความถึง สภาพธรรม ว. กับ พ. ใช้แทนกันได้ เป็นสิ่งที่ มีจริง สิ่งที่มีจริงมีลักษณะต่างๆ กันไป โลภะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง โทสะก็เป็นสิ่งที่มีจริง จึงเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะของโลภะซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริง ต่างกับลักษณะของโทสะซึ่งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริง
ถ. ดังนั้น คำว่า สภาวะ กับ ลักษณะ ก็ใช้ซ้ำ
สุ. ลักษณะของสภาพธรรม
ถ. ลักษณะของโลภะก็มีของเขาอยู่ ลักษณะของโทสะก็มีของเขาอยู่ คำว่า สภาวะ ที่เราจะใช้กับธรรมชาติชนิดนี้ สมมติคำว่า โลภะ จะใช้ว่า สภาวะของโลภะได้ไหม
สุ. ได้ สภาพหรือลักษณะ
ถ. ในขณะนั้นที่โลภะเกิด ปรากฏชัดเพียงอย่างเดียว เรียกว่า สภาวะ
สุ. เป็นสิ่งที่มีจริง
ถ. ผมเคยฟังเทปที่คุณลุงคนหนึ่งอธิบายว่า ภาษาบาลีบอกว่าธรรมชาติอันใดที่ปรากฏได้ให้รู้ตามความเป็นจริง ธรรมชาตินั้นถือว่าเป็นสภาวะ
สุ. เป็นสิ่งที่มีจริง
ถ. บางครั้งมีคนบอกให้ฟังว่า สภาวะต่างกับลักษณะตรงที่ สภาวะจะปรากฏเป็นอนิจจัง อย่างที่เข้าใจกันว่า เป็นสามัญญลักษณะ
สุ. สภาพธรรม หมายความถึง สิ่งที่มีจริง
ถ. เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์ก็หมายถึงสภาพที่มีจริง อะไรแบบนั้น หรืออย่างไร ลักษณะก็ควรจะเป็นอันหนึ่ง สภาวะก็ควรจะเป็นอันหนึ่ง ใช่ไหม
สุ. สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงนี้มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ วิเสสลักษณะ เป็นลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง
วิเสสลักษณะของโลภะ เป็นความต้องการ ความพอใจ ความติด ความไม่สละ ความปรารถนา วิเสสลักษณะของโทสะ เป็นปฏิฆะ เป็นความหยาบกระด้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น จะต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น
และสามัญญลักษณะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งมี ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แก่ สภาพที่ไม่เที่ยง สภาพที่เป็นทุกข์ สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน นี้เป็นสามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย แต่วิเสสลักษณะ หมายความถึงลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละชนิด
ถ. ที่เรียกว่าต่างกัน ก็มี ๒ ชนิดนี้ ถ้าเราจะหาข้อสรุปที่แน่นอนว่า ๒ พยางค์ หรือ ๒ ประโยคนี้ จะใช้ต่างกัน
สุ. สภาพธรรม หมายความถึง สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงมีลักษณะประจำตัวอยู่ ๒ อย่าง คือ วิเสสลักษณะ ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละชนิด กับ สามัญญลักษณะ ซึ่งสาธารณะทั่วไปกับสังขารธรรมทั้งหลาย คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ขอกล่าวถึงท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งท่านที่ศึกษาปริยัติธรรมไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรมก็ตาม ย่อมศึกษาอรรถกถาด้วย และเมื่อศึกษาอรรถกถาแล้วจะทราบว่า ผู้ที่รจนาอรรถกถาส่วนใหญ่ คือ ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมีผู้ที่สงสัยและมีปัญหาว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า บางท่านก็รู้สึกว่าจะขาดความเคารพนอบน้อมในท่านพระพุทธโฆษาจารย์ เพราะคิดว่าท่านคงไม่ใช่พระอรหันต์ ตามประวัติของท่านในพุทธโฆษานิทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภิกษุชาวพม่ารจนาขึ้นแสดงว่าท่านปรารถนาที่จะเป็นสาวกของพระศรีอริยเมตไตรย์ และเมื่อท่านมรณะแล้ว ท่านก็เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แต่ถ้าดูในคัมภีร์ต่างๆ ที่ท่านรจนา ก็ยากที่จะคิดว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์
เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงข้อความที่ปรากฏในอรรถกถา เช่น ใน ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล
สมันตปาสาทิกา เป็นอรรถกถาพระวินัย ซึ่งท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้รจนา ซึ่งข้อความในอารัมภกถามีว่า
ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแด่พระผู้เป็นที่พึ่ง ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา พระองค์ผู้ทรงกระทำกรรมที่ทำได้ยากยิ่งตลอดกาล ซึ่งจะนับประมาณมิได้ แม้ด้วยหลายโกฏิกัปป์ ทรงถึงความยากลำบากเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการแก่พระธรรมอันประเสริฐ อันขจัดเสียซึ่งข่ายคือกิเลส มีอวิชชาเป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าทรงเสพอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งสัตวโลกเมื่อไม่หยั่งรู้ต้องท่องเที่ยวไปสู่ภพน้อยและภพใหญ่
ข้าพเจ้าขอถวายนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระอริยสงฆ์ผู้ประกอบด้วยคุณ มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะเป็นเค้ามูล เป็นเนื้อนาบุญของเหล่าชนผู้มีความต้องการด้วยกุศล
ข้าพเจ้ามนัสการอยู่ซึ่งพระรัตนตรัย อันควรนมัสการโดยส่วนเดียว ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ได้แล้วซึ่งกุศลผลบุญที่ไพบูลย์หลั่งไหลไม่ขาดสายอันใด ด้วยอานุภาพแห่งผลบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ปลอดอันตราย
ข้าพเจ้าจักอาศัยอานุภาพของท่านบูรพาจารย์ พรรณนาพระวินัยให้ไม่ปะปนกัน ซึ่งเมื่อทรงอยู่แล้ว ศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มิได้ทรงตั้งมั่นอยู่ในส่วนสุดทั้ง ๒ แต่ทรงดำรงชอบด้วยดีในมัชฌิมาปฏิปทา เป็นอันประดิษฐานอยู่ได้
แท้ที่จริงพระวินัยนี้ ถึงท่านบูรพาจารย์ผู้องอาจ ซึ่งขจัดมลทินและอาสวะออกหมดแล้วด้วยน้ำคือญาณ มีวิชชาและปฏิสัมภิทาบริสุทธิ์ ฉลาดในการสังวรรณนา พระสัทธรรม หาผู้เปรียบปานในความเป็นผู้ขัดเกลาได้ไม่ง่าย เปรียบดังธงชัยของวัดมหาวิหาร ได้สังวรรณนาไว้โดยนัยอันวิจิตร คล้อยตามพระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ กระนั้น เพราะสังวรรณนานี้มิได้อำนวยประโยชน์ไรๆ แก่ชาวภิกษุในเกาะอื่น เพราะท่านเรียบเรียงไว้ด้วยภาษาชาวเกาะสิงหล ฉะนั้น ข้าพเจ้าผู้รำลึกอยู่ด้วยดีโดยชอบ ถึงคำเชิญของพระเถระนามว่า พุทธสิริ จึงจักเริ่มด้วยดีซึ่งการสังวรรณนานี้ อันควรแก่นัยพระบาลี ณ บัดนี้ และเมื่อจะเริ่มด้วยดีซึ่งสังวรรณนานั้น จักเอามหาอรรถกถาเป็นโครงของสังวรรณนานั้น ไม่ละข้อความอันควร แม้จากวินิจฉัยซึ่งท่านกล่าวไว้ในอรรถกถามหาปัจจรี และอรรถกถาอันปรากฏด้วยดี โดยชื่อว่ากุรุนที เป็นต้น กระทำเถรวาทไว้ในภายในแล้ว จึงจักเริ่มด้วยดีโดยชอบซึ่งสังวรรณนา
ขอภิกษุทั้งหลายปูนเถระ ปูนใหม่ และปานกลาง ผู้มีจิตเลื่อมใสเคารพนับถือพระธรรมของพระตถาคตเจ้า ผู้มีดวงประทีปคือพระธรรม จงตั้งใจฟังสังวรรณนานั้นของข้าพเจ้าโดยเคารพเถิด
พระอรรถกถาจารย์ชาวสิงหล มิได้ละมติ (อธิบาย) ของท่านพุทธบุตรทั้งหลาย ผู้รู้ธรรมวินัยเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ได้แต่งอรรถกถาในปางก่อน เพราะเหตุนั้นแล คำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งหมด ยกเว้นคำที่เขียนด้วยความพลั้งพลาดเสีย ย่อมเป็นประมาณแห่งบัณฑิตทั้งหลาย ผู้มีความเคารพในสิกขาในพระศาสนานี้ ก็เพราะแม้วรรณานี้ จะแสดงข้อความแห่งคำทั้งหลายที่มาในพระสุตตันตะให้เหมาะสมแก่พระสูตร ละทิ้งภาษาอื่นจากอรรถกถานั้นเสียทีเดียว และย่นพลความที่พิสดาร (คำประพันธ์ที่พิสดาร) ให้รัดกุมเข้า ก็จักไม่ให้เหลือไว้ซึ่งข้อวินิจฉัยทั้งปวง ไม่ข้ามลำดับพระบาลีที่เป็นแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรตามศึกษาวรรณนานี้ โดยเอื้อเฟื้อแล
นี่คืออารัมภกถาของท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านได้ถวายนมัสการแด่พระรัตนตรัย และขออานุภาพแห่งกุศลผลบุญนั้นจงให้ท่านเป็นผู้ที่ปลอดอันตราย เพื่อที่จะได้สังวรรณนา หรือว่ารจนา คัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ เพราะเหตุว่าเมื่อพระมหินทเถระได้ไปเผยแพร่พระธรรมที่เกาะสิงหล คือ ที่เกาะลังกาแล้ว คำสอนของพระมหินทเถระได้จารึกไว้เป็นภาษาสิงหล ไม่ใช่ภาษามคธ ภายหลังทางอินเดียได้อาราธนาให้ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปแปล อรรถกถาจากภาษาสิงหลที่เกาะลังกากลับคืนเป็นภาษามคธ คือ ภาษาบาลี เพื่อประโยชน์กับพุทธศาสนิกชนทุกชาติ ทุกภาษา เพราะว่าพุทธศาสนิกชนใช้ภาษามคธ คือ ภาษาบาลี เป็นภาษากลาง
ถ้าได้อ่านคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายที่ท่านรจนาเรียบเรียงจะเห็นได้ว่า ยากที่บุคคลใดจะกระทำได้เช่นท่าน จนมีคำกล่าวว่า พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ตราบใด ชื่อของท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็จะคงอยู่ตราบนั้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ในยุคนี้ ก็ยังไม่มีชื่อของท่านผู้ใดที่จะมีผู้ที่ศึกษาในคัมภีร์เหล่านั้นเท่ากับศึกษาจากอรรถกถาที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้รจนาไว้ ไม่มีใครที่จะเปรียบหรือจะเทียบกับท่านได้
ถ. โดยอายุของพระพุทธศาสนาแล้ว ตอนที่พระพุทธโฆษาจารย์ท่านยังอยู่ อายุยังไม่เกิน ๒,๐๐๐ ปี ใช่ไหม
สุ. ประมาณนั้น
ถ. ตอนนั้นพระอรหันต์ยังไม่หมดไป อีกอย่างหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบตาม พระธรรมวินัยที่ท่านได้รจนาอรรถกถาไว้ และเราประพฤติปฏิบัติได้ผล เป็นอันว่า อย่างน้อยท่านก็ต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์แน่ เพราะถ้าท่านพรรณนาไว้ผิดพลาด เราก็ปฏิบัติไม่ได้ผล ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น
สุ. นี่เป็นเรื่องชื่อ เช่น ชื่อพุทธโฆษาจารย์ เป็นคำแทนคำบัญญัติสภาพปรมัตถธรรมที่สะสมมา ที่เป็นผู้รวบรวม รจนาอรรถกถาของพระไตรปิฎกไว้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ท่านที่ไม่ต้องการชื่อ หรือว่าไม่สนใจในชื่อ หรือ ในความสำคัญตน เช่น ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ในยุคนั้นไม่มีการที่จะกล่าวหรือแสดงว่าบุคคลใดเป็นพระอรหันต์
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีเรื่องหลายเรื่องที่กล่าวถึงพระภิกษุในเกาะลังกาที่ได้บรรลุอรหันต์ชื่อต่างๆ นั่นเป็นในสมัยก่อนท่านพระพุทธโฆษาจารย์ คือ เป็นสมัยที่ท่านพระมหินทเถระได้ไปเผยแพร่พระธรรมที่เกาะลังกา เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่าน พระพุทธโฆษาจารย์รจนาอรรถกถา ก็ได้อาศัยตัวอย่างตามที่ปรากฏในคัมภีร์เดิม ในอรรถกถาเก่าๆ สมัยที่พระมหินทเถระได้เผยแพร่พระศาสนาที่นั่น ไม่ใช่ในยุคของท่าน ซึ่งในยุคของท่าน ไม่มีการกล่าวหรือแสดงว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ หรือว่าบุคคลใดเป็นพระอรหันต์ แต่ข้อความในวิสุทธิมรรคกล่าวถึงพระอรหันต์ในครั้งอดีตเมื่อครั้งสมัยที่พระมหินทเถระได้ไปเผยแพร่พระศาสนาที่เกาะลังกา และท่านแปลจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ เพราะฉะนั้น ก็มีตัวอย่างของบุคคลผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้าในสมัยโน้น แต่ผลที่พุทธศาสนิกชนได้รับจากคัมภีร์อรรถกถาที่ท่านรจนาไว้ ก็ควรที่จะระลึกถึงพระคุณของท่าน แต่ก็ไม่มีข้อความตอนใดเลย แม้ตัวท่านเองที่จะกล่าวว่า เป็นพระอรหันต์