แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 935

ข้อความตอนท้ายของ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ใน ปัญจมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ข้อความตอนท้าย วินยัฏฐกถาวสานกถา คือ เป็นคาถาตอนจบของอรรถกถาพระวินัย มีข้อความว่า

พระโลกนาถผู้ชำนะ เมื่อจะทรงแนะนำบุคคลผู้ควรแนะนำ ได้ตรัสวินัยปิฎกใด ซึ่งแสดงจำแนกโดยอุภโตวิภังค์ ขันธกะ และปริวาร อรรถกถาชื่อสมันตปาสาทิกาแห่งวินัยปิฎกนั้น จบบริบูรณ์แล้ว โดยคันถะประมาณ ๒๗,๐๐๐ ถ้วน ด้วยลำดับแห่งคำเพียงเท่านี้แล

ในคำที่ว่า อรรถกถาวินัย ปลูกความเลื่อมใสรอบด้านนั้น มีคำอธิบายในข้อที่อรรถกถาชื่อสมันตปาสาทิกา เป็นคัมภีร์ปลูกความเลื่อมใสรอบด้าน ดังนี้

ในสมันตปาสาทิกานี้ ไม่ปรากฏคำน้อยหนึ่งที่ไม่น่าเลื่อมใสแก่วิญญูชนทั้งหลายผู้พิจารณาอยู่ โดยสืบลำดับแห่งอาจารย์ โดยแสดงประเภทแห่งนิทานและวัตถุ โดยเว้นลัทธิของฝ่ายอื่น โดยความหมดจดแห่งลัทธิของตน โดยชำระพยัญชนะให้หมดจด โดยเนื้อความเฉพาะบท โดยลำดับแห่งบาลีและโยชนา โดยวินิจฉัยในสิกขาบท และโดยแสดงประเภทแห่งนัยที่สมแก่วิภังค์ เพราะฉะนั้น อรรถกถาแห่งวินัย ซึ่งพระโลกนาถผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก ผู้ฉลาดในการฝึกชนที่ควรแนะนำ ได้ตรัสไว้แล้วอย่างนั้นนี้ จึงบ่งนามว่า สมันตปาสาทิกา แล

ข้าพเจ้าเมื่ออยู่ที่ปราสาท อันห้อมล้อมด้วยกำแพงทอง สะพรั่งด้วยต้นไม้มี ร่มเงาอันเย็น มีสระน้ำพร้อมมูล เป็นที่รื่นรมย์ใจ ซึ่งอุบาสกผู้ปรากฏนามว่า มหานิคมสามี ผู้เกิดในสกุลสูง เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ด้วยสัทธาไม่อากูล บำรุงพระสงฆ์ทุกเมื่อ ได้สร้างไว้ใกล้เรือนเป็นที่บำเพ็ญเพียรอันสูงลิ่ว ซึ่งภิกษุสงฆ์ผู้มี จาริตสีลอันสะอาดอาศัยอยู่ ที่ตั้งอยู่ทางด้านใต้แห่งมหาวิหาร อันประดับด้วยต้น มหาโพธิของพระศาสดา ซึ่งประดิษฐานอยู่บนภูมิภาคในอุทยานมีนามว่า มหาเมฆวัน

นี่เป็นที่เกาะลังกาอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหาร ซึ่งพระมหินทเถระได้ไปเผยแพร่พระศาสนาที่นั่น

ข้าพเจ้าได้ฟังอรรถกถา ซึ่งพระเถระในเกาะสีหลได้รจนาไว้ทั้ง ๓ คัมภีร์ เหล่านี้ คือ มหาอรรถกถา มหาปัจจรี และกุรุนที ในสำนักพระเถระผู้ปรากฏโดยนามว่า พุทธมิตต ซึ่งเป็นนักปราชญ์ รู้ทั่วถึงพระวินัย มีชื่อเสียง มาคำนึงถึง พระพุทธสิริเถระผู้มีศีลและอาจาระอันสะอาด จึงได้เริ่มรจนาอรรถกถาวินัยอันใด ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ อรรถกถาวินัยนี้ ข้าพเจ้าได้เริ่มรจนาในปีที่ ๒๐ ถ้วน ซึ่งเป็นปีที่เกษมมีชัยของพระเจ้าสิริปาล (บางแห่งเป็นพระเจ้าสิรินิวาสะ) ผู้เป็นที่อาศัยอยู่แห่งสิริ มีพระยศ ทรงปกครองลังกาทวีปทั้งสิ้นให้ปราศจากเสี้ยนหนาม สำเร็จเรียบร้อยเมื่อย่างเข้าปีที่ ๒๑

ท่านใช้เวลา ๑ ปี ในการรจนา สมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาพระวินัย เมื่อท่านได้ฟังอรรถกถา ๓ คัมภีร์ คือ มหาอรรถกถา มหาปัจจรี และกุรุนที ซึ่งเมื่อท่านได้รจนาอรรถกถาของพระวินัย อรรถกถาของพระสูตร และอรรถกถาของ พระอภิธรรมแล้ว คัมภีร์ทั้ง ๓ เล่มนั้นก็สูญไป ยังคงเหลือแต่อรรถกถาที่ท่านรจนา คือ อรรถกถาของพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

ข้อความต่อไปมีว่า

อรรถกถาวินัยนี้ เข้าถึงความสำเร็จได้ในโลกซึ่งคับคั่งด้วยอุปัทวะ (คือ อันตราย) ในกาลเพียงปีเดียวโดยปราศจากอุปัทวะ ฉันใด ความริเริ่มทั้งปวงที่ อิงอาศัยธรรมะ ห่างอุปัทวะของสัตว์โลกทั้งมวล จงพลันสำเร็จ ฉันนั้นเถิด

อนึ่ง บุญใดซึ่งข้าพเจ้าผู้มีความนับถือพระสัทธรรมมาก รจนาอรรถกถานี้ เพื่อให้พระธรรมตั้งอยู่ยั่งยืน ได้สร้างสมแล้ว ด้วยอานุภาพแห่งบุญทั้งมวลนั้น ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้เสวยรสแห่งพระสัทธรรมของพระธรรมราชาเถิด ขอพระสัทธรรม จงตั้งอยู่ตลอดกาลนานเถิด ขอฝนจงตกตามฤดูกาล ยังประชาให้ชุ่มชื่นตลอดกาลนานเถิด ขอพระราชาจงปกครองแผ่นดินโดยธรรมเถิด ฉะนี้แล

ไม่มีข้อความที่แสดงถึงอธิษฐานที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือว่าจะเป็นพระสาวกของพระศรีอริยเมตไตรย์ในอรรถกถาของพระวินัยโดยตรง แต่ว่าในหนังสือที่พระภิกษุชาวพม่า คือ พระมหามังคลเถระรจนาเมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๕ มีชื่อว่า พุทธโฆสุปปัตติ หรือมหาพุทธโฆษสนิทานวัตถุ ซึ่งเขียนเป็นภาษาบาลี มี ๘ บท ๓๐ หน้า มีข้อความที่แสดงว่า ท่านพระพุทธโฆษาปรารถนาที่จะเป็นพระสาวกของพระศรีอริยเมตไตรย์ แต่บางท่านกล่าวว่า เป็นความปรารถนาของท่านผู้รจนาเอง คือ ท่านพระมหามังคละ ชาวพม่า ผู้ประพันธ์ประวัติของท่านพระพุทธโฆษา

ข้อความต่อไปตอนท้ายของ วินยัฏฐกถาวสานคาถา มีข้อความว่า

อรรถกถาพระวินัย ชื่อว่าสมันตปาสาทิกา อันพระเถระผู้อันครูทั้งหลายขนานนามว่า พุทธโฆษะ ผู้ประดับด้วยสัทธา ปัญญา และความเพียรอันบริสุทธิ์ยิ่ง ผู้รุ่งเรืองด้วยกองคุณ มีศีล อาจาระ ความซื่อตรง และความอ่อนโยน เป็นต้น ผู้สามารถหยั่งลงสู่ชัฏ คือ ลัทธิของตนและลัทธิฝ่ายอื่น ผู้ประกอบด้วยความเฉียบแหลมด้วยปัญญา ผู้มีอานุภาพแห่งญาณ ไม่ติดขัดในสัตถุศาสนากับทั้งอรรถกถาอันต่างด้วยปริยัติ คือ พระไตรปิฎก ผู้รู้ไวยากรณ์มาก เป็นมหากวี นักพูดประเสริฐ พูดคำที่ควรพูดในกาลที่ควร ผู้ประกอบด้วยถ้อยคำอันสละสลวยไพเราะอย่างยิ่ง ซึ่งเปล่งออกโดยง่าย ซึ่งให้เกิดแก่กรณสมบัติ ผู้เป็นเครื่องประดับวงศ์ของพระเถระทั้งหลาย ผู้อยู่ในมหาวิหาร ผู้ยังเถรวงศ์ให้สว่าง มีปัญญามั่นคงดีในอุตริมนุสสธรรมอันประดับด้วยคุณ มีอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา เป็นต้น เป็นประเภท มีปฏิสัมภิทาญาณอันแตกฉานเป็นบริวาร ผู้มีปัญญาไพบูลย์หมดจดดี ได้รจนาแล้วนี้ จบแล้ว

แม้พระนามว่า พุทโธ ของพระโลกเชษฐ์ ผู้มีพระหฤทัยสะอาดคงที่ แสวงหาคุณใหญ่หลวง ยังเป็นไปอยู่ในโลกตราบใด ขออรรถกถาวินัยนี้จงตั้งอยู่ในโลก แสดงนัยเพื่อความหมดจดแห่งศีลแก่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้แสวงหาพระนิพพานเป็นที่หลีกออกจากโลก ตราบนั้นเทอญ

อรรถกถาวินัยจบแล้ว

ข้อความตอนท้ายกล่าวว่า ประดับด้วยคุณมีอภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทา เป็นต้น อภิญญา ๖ ได้แก่

๑. อิทธิวิธา หรืออิทธิวิธี ได้แก่ ความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เช่นเดินบนน้ำ หรือว่าเหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น

๒. ทิพพโสต หูทิพย์ สามารถที่จะได้ยินเสียงใกล้ไกลได้

๓. เจโตปริยญาณ คือ สามารถที่จะรู้จิตของบุคคลอื่น

๔. ทิพพจักษุ สามารถที่จะเห็นสิ่งที่อยู่ไกลใกล้ได้

๕. ปุพเพนิวาสานุสติ สามารถระลึกชาติได้

๖. อาสวักขยญาณ คือ ญาณที่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

ข้อความในอรรถกถาอื่นๆ ใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ก็ไม่มีข้อความที่ท่านแสดงว่า ท่านปรารถนาที่จะเป็นพระสาวกของพระศรีอริยเมตไตรย์

ใน คันถารัมภกถา คือ บทเริ่มของ คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ซึ่งเป็น อรรถกถาทีฆนิกาย มีข้อความว่า

ข้าพเจ้า พระพุทธโฆษาจารย์ ขอนมัสการด้วยเศียรเกล้าซึ่งพระสุคตเจ้าผู้พ้นคติ ๕ มีพระทัยเยือกเย็นด้วยพระกรุณา มีความมืดคือโมหะ อันดวงประทีปคืออรหัตตมรรคปัญญาขจัดแล้ว ทรงเป็นครูของโลกพร้อมทั้งมนุษย์และเทวดา พระพุทธเจ้าทรงอบรมพระสัมมาสัมโพธิญาณ และทรงทำให้แจ้งซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงบรรลุพระธรรมใด มีมลทินไปปราศแล้ว ข้าพเจ้าขอนมัสการด้วยเศียรเกล้า ซึ่งพระธรรมอันยอดเยี่ยมนั้น

ข้าพเจ้าขอนมัสการด้วยเศียรเกล้าซึ่งพระอริยสงฆ์ ซึ่งเป็นหมู่แห่ง พระอริยบุคคลทั้ง ๘ พวก ผู้ย่ำยีเสียได้ซึ่งมารและเสนามาร ผู้เป็นบุตรชอบด้วย พระธรรมวินัยของพระสุคตเจ้า

บุญใดสำเร็จด้วยการไหว้พระรัตนตรัยด้วยคาถาทั้ง ๓ นี้ มีอยู่แก่ข้าพเจ้า ผู้มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอันตรายอันอานุภาพแห่งบุญนั้นขจัดราบคาบแล้ว ด้วยประการดังนี้

อรรถกถาใด อันพระอรหันต์ ๕๐๐ พระองค์สังคายนาแล้วในปฐมสังคายนา และสังคายนาภายหลัง แม้ในทุติยสังคายนาและตติยสังคายนา เพื่อที่จะประกาศเนื้อความของทีฆนิกาย ซึ่งกำหนดหมายไว้ด้วยสูตรขนาดยาว ละเอียดลออ ประเสริฐยิ่งกว่านิกายอื่น อันพระพุทธเจ้าและพระสาวกสังวรรณนาแล้ว มีคุณค่าทางปลูกฝังศรัทธา ก็อรรถกถานั้นอันพระอรหันต์นามว่า พระมหินทเถระนำจากประเทศอินเดียมายังประเทศลังกา ต่อมาได้เรียบเรียงด้วยภาษาสิงหล เพื่อประโยชน์แก่ ชาวลังกาทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะถอดภาษาสิงหลออกจากอรรถกถานั้น แล้วแปลเป็นภาษามคธอันน่ารื่นรมย์ใจ ถูกต้องตามระเบียบภาษาบาลี ไม่มีภาษาอื่นปะปน จะไม่คัดค้านทฤษฎีของพระเถระทั้งหลาย ผู้สังกัดในนิกายมหาวิหาร ผู้ค้ำจุนไว้ซึ่งเถรวงศ์ ผู้มีการวินิจฉัยละเอียดรอบคอบ จะตัดทอนข้อความที่วนไปวนมาออก แล้วเรียบเรียงอรรถกถาของทีฆนิกายเพื่อความชื่นชมยินดีของสาธุชน และเพื่อความตั้งยืนนานของพระธรรม

คำวินิจฉัยอย่างพิสดาร ธุดงคธรรม พระกัมมัฏฐานทั้งปวง ความพิสดารของฌานและสมาบัติที่ประกอบด้วยวิธีการคล้อยตามจริต ๖ อภิญญาทั้งปวง คำวินิจฉัยที่ประมวลไว้ด้วยปัญญา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปปาทเทศนาที่ไม่นอกแนวพระบาลี มีนัยบริสุทธิ์และละเอียดลออ และวิปัสสนาภาวนา

เรื่องราวดังกล่าวทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วอย่างบริสุทธิ์ดี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะไม่เขียนเรื่องราวทั้งหมดนั้นในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินีนี้อีก คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ที่ข้าพเจ้าแต่งไว้ด้วยประการดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่ในท่ามกลางแห่งนิกายทั้ง ๔ จักประกาศเนื้อความตามที่กล่าวไว้ในนิกายทั้ง ๔ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ขอท่านสาธุชนทั้งหลาย จงถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นกับอรรถกถา สุมังคลวิลาสินีนี้เป็นหลัก แล้วเข้าใจเนื้อความอันอิงอาศัยทีฆนิกายเถิด ดังนี้แล

ไม่มีข้อความที่แสดงว่า ท่านอธิษฐานขอเป็นสาวกของพระศรีอริยเมตไตรย์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังที่ได้ศึกษาปริยัติธรรม นอกจากจะระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ควรที่จะระลึกถึงคุณของพระอรรถกถาจารย์ ซึ่งได้รจนาอรรถกถาของพระไตรปิฎกทั้ง ๓ คือ ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งยากที่จะหาบุคคลใดที่มีความสามารถกระทำอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะรังเกียจ หรือคิดว่าท่านไม่ใช่พระอรหันต์

. มีข้อความหนึ่งที่อาจารย์กล่าวถึงเมื่อครู่นี้ที่ว่า ข้าพเจ้าได้อาศัยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย หมายความว่า ท่านปลอดภัย คือ ท่านปราศจากกิเลส ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

สุ. มิได้ เวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะรจนาคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และเพราะเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของอดีตกรรม เพราะฉะนั้น ก็เกรงว่าถ้าไม่อาศัยบารมีของความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็อาจจะมีอุปสรรค มีอันตรายทำให้การรจนาคัมภีร์นั้นไม่สำเร็จ ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย แม้แต่อาจารย์รุ่นหลังๆ เวลาที่จะแต่งคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ก็อาศัยผลของกุศลปกป้องคุ้มครองอันตรายเพื่อให้ปลอดภัย สามารถรจนาคัมภีร์นั้นได้สำเร็จ

. ท่านไม่ได้ปรารถนาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของท่าน

สุ. มิได้ เพราะว่ามักจะได้ยินได้ฟังบางท่าน ไม่ค่อยจะมีศรัทธาเลื่อมใสในท่านพระพุทธโฆษาจารย์ โดยคิดว่าท่านเป็นเพียงพระอรรถกถาจารย์รุ่นหลัง แต่ความจริงรุ่นภายใน ๑,๐๐๐ ปีหลังปรินิพพาน ไม่ใช่รุ่นหลังๆ อย่างสมัยศตวรรษที่ ๑๕ หรือว่าในยุคนี้สมัยนี้ และถ้าได้ศึกษาจริงๆ จะเห็นความเฉียบแหลมของปัญญาที่ไม่มีผู้ใดสามารถเทียมเท่าได้ในการเข้าใจพระไตรปิฎกของท่านพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านเองก็ได้กล่าวว่า ท่านรจนาตามคัมภีร์เดิม ๓ คัมภีร์ ที่ท่านได้ศึกษา ได้ฟังมา

. ถ้าท่านไม่ได้แปลจากภาษาสิงหลมาเป็นภาษาบาลี จะไม่มีใครรู้เรื่องภาษาสิงหลหรือ

ส. ถึงรู้ แต่อรรถก็คงจะไม่มีความหมายที่กระชับ หรือว่าถูกต้องแน่นอน มั่นคง แจ่มแจ้งเท่ากับภาษามคธ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นภาษาที่เหมาะที่ควรแก่การดำรงพระศาสนา จะใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ก็ยิ่งแย่

. ในสมัยที่สังคายนาครั้งที่ ๑ ใช้ภาษาอะไร

สุ. ภาษามคธท่องจำ ท่องสืบต่อๆ กันมา

, ไม่มีตำราเลยหรือ

สุ. ไม่ได้จารึกไว้ ขอให้เห็นถึงสติปัญญาของบุคคลในสมัยโน้น ไม่ต้องจด ความเข้าใจแจ่มแจ้งไม่คลาดเคลื่อน พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกอบด้วย ธรรมปฏิสัมภิทา อรรถปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา

ผู้ฟัง ผู้ที่ปฏิบัติแล้วก็รู้สึกว่าซาบซึ้ง และอนุโมทนาท่านเป็นอันมากด้วยความเคารพ ปฏิบัติมาเป็นเวลาหลายปีพอที่จะได้รับประโยชน์อย่างนี้ เพราะอาศัยที่ท่านได้ศึกษาสืบต่อกันมา ความซาบซึ้งในการปฏิบัติ ทำให้มีความพอใจในพยัญชนะ ในอรรถที่เราได้ปฏิบัติมา ได้เทียบเคียงดูจนดิฉันรู้สึกว่า คำพูดในพระพุทธคุณที่กล่าวว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ... ซึ่งแปลว่า พระผู้มีพระภาคประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สมบูรณ์ด้วยอรรถพยัญชนะแล้ว เมื่อปฏิบัติมาก็รู้สึกว่า หาที่จะติไม่ได้ การศึกษาอย่างอื่นนั้น ผู้ที่ปฏิบัติหรือผู้ที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครื่องบิน หรือว่าทำงานอย่างอื่น จะเป็นรถยนต์ หรืออะไรก็ตามแต่ ผู้ที่ทำครั้งแรกจะไม่ดีเท่ากับผู้ที่ทำครั้งหลังๆ ต่อมา แต่ว่าเมื่อเราปฏิบัติพระธรรมของ พระพุทธองค์แล้ว เราไม่สามารถจะเข้าถึงความลึกซึ้งละเอียดลออได้ตามที่กล่าวไว้ในพระสูตร หรือว่าในพระอภิธรรมเลย แม้แต่ ๑ ในล้านก็รู้สึกว่ายังไม่ถึง ยิ่งไปเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความลึกซึ้งละเอียดลออ ดิฉันคิดว่า ท่านเป็นพระอรหันต์หรือท่านไม่เป็น พระธรรมนั้นก็เป็นพระธรรมที่แจ่มแจ้ง ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สัตว์โลกอยู่ และไม่สามารถจะปฏิบัติให้เข้าถึงความลึกซึ้งละเอียดลออเท่านั้นเลย

สุ. นี่เป็นประโยชน์มาก ซึ่งเป็นข้อเตือนใจให้ท่านหมดความคิดสงสัยว่า ท่านพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น ใครจะรู้ ใช่ไหม เมื่อไม่รู้ก็ไม่ต้องห่วงกังวลว่าท่านเป็นหรือไม่เป็น แต่เมื่อได้รับประโยชน์จากปัญญาของท่าน ก็ควรน้อมระลึกถึงพระคุณของท่าน โดยที่ไม่ประมาท หรือไม่คิดว่าท่านเป็นเพียง พระอรรถกถาจารย์ เพราะผู้ที่ศึกษาธรรมหรือคัมภีร์ที่ท่านรจนาไว้ ไม่สามารถมีสติปัญญาเท่าท่านได้ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะลบหลู่คุณของท่าน

เปิด  258
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566