แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 938

นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน เพราะเรื่องของความหวังยังไม่หมดแน่นอน ทุกคนมีความหวัง มีความต้องการ แต่ไม่ว่าจะหวังหรือไม่หวัง หรือว่าหวังก็ไม่ใช่ ไม่หวังก็ไม่ใช่ก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับการประพฤติที่แยบคาย คือ ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่หวังแต่ประพฤติไม่แยบคาย ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ หรือผู้ที่หวังแต่ประพฤติถูกต้องแยบคาย ก็ย่อมสามารถบรรลุมรรคผลได้

ชีวิตจริงของท่านผู้ฟัง ท่านหวังหรือไม่หวัง ถ้าท่านเป็นผู้ที่หวัง ก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของท่านว่าถูกต้องไหม ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าความหวังเกิดขึ้น สติสามารถระลึกรู้ในอาการหวัง ในสภาพที่หวังว่า เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ต่างกับสภาพธรรมชนิดอื่น เช่น เห็น หรือได้ยิน หรือสภาพของโทสะ ปฏิฆะ ความไม่แช่มชื่น หรือสภาพธรรมอีกหลายอย่างที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน แต่บางครั้งก็ไม่หวัง เพราะรู้ว่าจะหวัง สักเท่าไรก็ไม่ใช่จะบรรลุมรรคผลได้ด้วยความหวัง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าไม่หวัง ก็ยังขึ้นอยู่กับการประพฤติอีกว่า เมื่อไม่หวังแล้ว ถ้าประพฤติไม่แยบคาย ก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผล

แต่บุคคลใดที่แม้ไม่หวัง แต่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ก็ย่อมสามารถบรรลุมรรคผลได้ หรือบางครั้งบุคคลนั้นก็หวัง และก็ไม่หวัง ก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติอีกว่า แยบคายหรือไม่แยบคาย ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถูกต้องแยบคาย ก็ย่อมจะบรรลุมรรคผลได้ แต่จะหวังและ ก็ไม่หวัง ถ้าประพฤติไม่แยบคาย ไม่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถบรรลุได้ หรือจะว่าหวังก็ไม่ใช่ ไม่หวังก็ไม่ใช่ ก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติว่า ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถูก ก็ย่อมบรรลุได้ แต่ถ้าประพฤติไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เหตุที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ย่อมไม่สามารถบรรลุธรรมได้

เมื่อท่านพระภูมิชะสนทนากับพระราชกุมารชยเสนะแล้ว ก็ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว เมื่อพยากรณ์อย่างนี้ จะเป็นผู้กล่าวตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และวาทะอนุวาทะไรๆ อันชอบด้วยเหตุ จะไม่ถึงฐานะน่าตำหนิบ้างหรือ ฯ

เพราะว่าข้อความที่ท่านสนทนากับพระราชกุมารชยเสนะ ที่ท่านตอบพระราชกุมารนั้น เป็นข้อความที่ท่านไม่เคยได้รับฟังมาก่อนจากพระผู้มีพระภาค แต่ท่านก็แสดงธรรมนั้นตามความเป็นจริง ตามการประพฤติปฏิบัติของท่าน

ข้อ ๔๐๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภูมิชะ เหมาะแล้ว เธอถูกถามอย่างนี้ เมื่อพยากรณ์อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้กล่าวตามถ้อยคำของเรา ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และวาทะอนุวาทะไรๆ อันชอบด้วยเหตุ ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิ

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ละเอียดในการศึกษาธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งต่อไปว่า จะต้องฟัง พิจารณา ตรวจสอบเทียบเคียงสิ่งที่ได้ฟัง จนกว่าจะได้เหตุผลที่ถูกต้องจริงๆ ซึ่งแม้แต่ท่านพระมหากัจจานะซึ่งเป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลาย ผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร เวลาที่ท่านแสดงธรรมกับบุคคลอื่นแล้ว ท่านก็ให้ผู้ที่ได้ฟังนั้น ไปเฝ้าและกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค ซึ่งข้อความใน มหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ข้อ ๕๔๘ – ข้อ ๕๖๕ มีเนื้อความว่า

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารตโปทาราม เขตพระนครราชคฤห์ เทวดาท่านหนึ่งได้เข้าไปหาท่านพระสมิทธิในตอนใกล้รุ่งเมื่อท่านสรงน้ำที่สระตโปทะเสร็จแล้ว เทวดาได้ถามท่านพระสมิทธิว่า ทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ท่านก็ตอบตามความเป็นจริงว่า ท่านจำไม่ได้ เทวดาท่านนั้นได้ขอให้ท่านเรียนและทรงจำไว้ ซึ่งท่านพระสมิทธิก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอให้ทรงแสดงธรรมเรื่องผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสโดยย่อ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อ ท่านก็คิดว่าท่านควรจะได้ความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ท่านจึงได้ขอให้ท่านพระมหากัจจานะแสดงธรรมที่ได้รับฟังจากพระผู้มีพระภาคโดยละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อท่านพระมหากัจจานะได้แสดงธรรมโดยละเอียดแล้ว ได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิ มีข้อความว่า

ข้อ ๕๖๒

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อแก่เราทั้งหลายว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ ดังนี้ มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร แล้วทรงลุกจากอาสนะ เสด็จเข้าไปยังพระวิหาร นี้แล ข้าพเจ้าทราบเนื้อความโดยพิสดารอย่างนี้ ก็แหละท่านทั้งหลายหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลสอบถามเนื้อความนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านทั้งหลายอย่างใด พวกท่านพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น ฯ

เมื่อภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว และได้กราบทูลให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก แม้หากพวกเธอสอบถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็จะพยากรณ์เนื้อความนั้นอย่างเดียวกับที่ มหากัจจานะพยากรณ์แล้วเหมือนกัน ก็แหละเนื้อความของอุเทศนั้นเป็นดังนี้แล พวกเธอจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

ที่กล่าวถึงข้อความในพระสูตรต่างๆ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาถึงประโยชน์ที่สำคัญ คือ การเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังโดยถูกต้อง

เรื่องของสังสารวัฏฏ์เป็นเรื่องที่ยาวนาน สำหรับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน ตามชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละภพแต่ละชาติจริงๆ เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ว่า ชั่วขณะหนึ่งๆ คือ สังสาระที่จะไม่กลับมาอีก

แม้แต่เพียงเสียงที่ปรากฏ ปรากฏแล้ว เป็นสังสาระแล้ว จะไม่ย้อนกลับมาอีก หรือว่าการระลึกรู้ลักษณะที่อ่อนหรือที่แข็ง ตามปกติในขณะนี้เอง ไม่ใช่ขณะอื่น เป็นสังสาระ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นชีวิตของแต่ละบุคคลซึ่งจะไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ตรงต่อลักษณะของสังสาระที่กำลังปรากฏในแต่ละขณะ ซึ่งเป็นแต่ละชีวิต ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ชาติก่อน กับชาตินี้ และในชาติต่อไป ก็เป็นแต่ละลักษณะตามการสะสม ซึ่งทุกท่าน จะต้องเป็นผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะที่กำลังปรากฏตามปกติ จึงจะสามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องคอยจนถึงชาติหน้า หรือว่าพรุ่งนี้ เพราะว่าทุกขณะนี่เองที่เป็นสังสาระ ที่ผ่านไป และไม่กลับมาอีก

สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ ทุคตสูตร ข้อ ๔๔๓ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อ เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้วโดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบ สูตรที่ ๑

เป็นธรรมดา มีใครบ้างที่ไม่เคยเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ เวลาเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้ว โดยกาลนานนี้

จริงไหม ถ้าเห็นคนที่พิการ มีอาการวิกลวิการต่างๆ เคยคิดบ้างไหมว่า เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วในกาลนานมาแล้ว หรือว่าอาจจะเป็นอย่างนี้ หรือยิ่งกว่านี้ ในอนาคต

ไม่ว่าจะเห็นใครก็ตามที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ หรือว่าเป็นผู้ที่พิการ หรือมีความทุกข์ความทรมานอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ทราบว่า ทุกท่านเคยเป็นมาแล้ว ไม่ใช่ไม่เคย เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะประมาท ไม่ควรที่จะ ดูหมิ่น หรือว่าไม่ควรที่จะนึกรังเกียจ แต่ควรที่จะเป็นคติให้ระลึกได้ว่า เคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว และก็ไม่แน่ อาจจะเป็นอย่างนี้อีกก็ได้

สำหรับสูตรต่อไป คือ สุขิตสูตร ข้อ ๔๔๔ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อ เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ... เธอทั้งหลายเห็นบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยสุขเห็นปานนี้มาแล้วโดยกาลนานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารกำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

จบ สูตรที่ ๒

เวลาที่เห็นคนที่สมบูรณ์พูนสุข มีบริวารคอยรับใช้ เพียบพร้อมด้วยความสุข รู้สึกอย่างไร ไม่ใช่ตัวท่านอีกเหมือนกัน หรือว่าท่านก็เคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว แน่นอน ไม่ต้องเปรียบเทียบด้วยความรู้สึกโทมนัส หรือน้อยใจ หรือเสียใจ แต่ทุกท่านเคยเป็นอย่างนี้มาแล้วในกาลครั้งหนึ่ง เพราะสังสาระกำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ไม่ว่าจะเห็นใคร เหมือนเห็นตัวท่านเอง เคยเป็นอย่างนั้น เคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะสุขเพียงไร หรือไม่ว่าจะทุกข์เพียงไร เป็นสิ่งที่ขึ้นๆ ลงๆ ในสังสารวัฏฏ์ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และไม่ย้อนกลับมาอีกสักขณะเดียว ให้ทราบด้วยว่า ไม่ว่าสังสาระในอดีตจะยาวนานมาแล้วสักเท่าไร หรือว่าสังสาระที่ยังกำหนดเบื้องปลายไม่ได้ในอนาคตอีกนานสักเท่าไร สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดับไปแล้วจะไม่ปรากฏอีก เสียงที่ปรากฏทางหูที่ดับไปแล้วก็จะไม่กลับคืนมาอีกเลย

เพราะฉะนั้น เป็นแต่ละขณะ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเปลี่ยนไป จากบุคคลหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกบุคคลหนึ่ง จากบุคคลที่เพียบพร้อมด้วยความสุขมีบริวารคอยรับใช้ ก็อาจจะไปเป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นคนพิการ

เคยเป็นมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเห็นผู้ที่มีความทุกข์ หรือว่าผู้ที่มีความสุข พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเป็นไหม ทุคติบุคคล หรือเป็นแต่ผู้ที่เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ทุกชาติๆ ไป

รู้จักที่สุดเบื้องต้นของสังสาระหรือ จึงบอกว่า ไม่เคย พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า เธอทั้งหลายเห็นทุคตบุรุษผู้มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยทุกข์เห็นปานนี้มาแล้วโดยกาลนานนี้

เพราะฉะนั้น ใครจะคัดค้านไม่ได้

เคยฆ่าสัตว์ ฆ่านก ฆ่าปลา หรืออะไรบ้างไหม เท่าที่จำได้เคยหรือเปล่า ผลของกรรมย่อมมี ชาติหนึ่งชาติใดก็ย่อมจะเป็นอย่างนั้นได้

หรือว่าเคยให้ทานก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายเห็นบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ พึงลงสันนิษฐานในบุคคลนี้ว่า เราทั้งหลายก็เคยเสวยสุขเห็นปานนี้มาแล้วโดยกาลนานนี้

สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไป ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ควรจะคิดถึงขณะนี้และขณะต่อไป

ข้อความใน มาตังคชาดก เป็นพระชาติหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคเป็นบุคคลที่มีรูปซึ่งไม่น่าดู และเป็นผู้ที่ยากจนขัดสน แสดงให้เห็นว่า แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมากจนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในอดีต ในสังสาระ ก็เคยเป็นบุคคลผู้มีรูปไม่น่าดู และเป็นผู้ที่ยากจน

เพราะฉะนั้น ทุกท่านในที่นี้คงจะแน่ใจได้ใช่ไหมว่า เคยเป็นอย่างนั้นมาแล้ว หรือถ้าผู้ใดเสวยสุขและผู้อื่นเห็น ก็ทราบได้ว่า เคยเป็นอย่างนั้นมาแล้วเหมือนกัน

ข้อความใน มาตังคชาดก มีว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระมหาบุรุษกระทำซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ได้เกิดในสกุลของคนจัณฑาล ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยอาหารซึ่งตนให้สุกเอง

นี่เป็นภาษาธรรม หมายความว่าในอดีตกาล พระมหาบุรุษ คือ พระโพธิสัตว์ ได้เกิดในสกุลของคนจัณฑาล ซึ่งเป็นผู้ที่หุงหากินเอง ไม่มีบริวารคอยรับใช้

พระมหาบุรุษนั้น ชื่อว่า มาตังคะ เป็นผู้มีรูปไม่น่าดู อยู่ในกระท่อมทำด้วย หนังสัตว์ ภายนอกพระนคร เที่ยวขอท่านเลี้ยงชีวิตอยู่ภายในพระนคร

ถ้าเห็นขอทาน อาจจะเป็นพระมหาบุรุษได้ไหม ในอนาคต อย่าประมาท และอย่าดูหมิ่น

ต่อมาวันหนึ่ง ในพระนครนั้นมีงานนักขัตฤกษ์ แม้ธิดาของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุราว ๑๕ – ๑๖ ปี มีรูปสวยน่ารักดุจนางเทพกัญญาก็คิดว่า จะไปเล่นนักษัตรตามสมควรแก่สกุลวงศ์ของตน ก็ได้จัดแจงให้ยกสัมภาระเครื่องเล่นนักษัตร มีของเคี้ยวของบริโภคมากมายบรรทุกไปในเกวียน แล้วได้ขึ้นยานซึ่งเทียมด้วยแม่ม้า สีขาวปลอดไปสถานที่ในอุทยาน พร้อมด้วยบริวารหมู่ใหญ่

ธิดาพราหมณ์มหาศาลคนนี้มีชื่อว่า ทิฏฐมังคลิกา ซึ่งเล่ากันมาว่า นางไม่ปรารถนาที่จะเห็นรูปซึ่งไม่สวยงาม เพราะคิดว่าการเห็นรูปที่ไม่สวยงามนั้น เป็นอวมงคล (คือ ไม่เป็นมงคล ถ้าจะได้เห็นสิ่งใดที่ไม่สวยงาม) เพราะฉะนั้น นางจึงได้นามว่า ทิฏฐมังคลิกา

ครั้งนั้น นายมาตังคะนั้น ตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ นุ่งผ้าเก่า ถือไม้ตาลในมือ และมีภาชนะในมือสำหรับขอทาน เข้าไปสู่พระนคร เห็นมนุษย์เป็นอันมาก ก็ได้เคาะ ไม้ตาลแต่ไกลทีเดียว

ครั้งนั้น นางทิฏฐมังคลิกาก็ได้ให้ไล่คนเลวๆ ที่อยู่ข้างหน้าออกไป นางทิฏฐมังคลิกาไม่ได้ไล่เอง แต่ให้บุรุษทั้งหลายไล่คนเลวๆ ที่อยู่ข้างหน้าๆ ออกไป ด้วยการกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงลุกออกไป ท่านทั้งหลายจงลุกออกไป ดังนี้

พอเห็นนายมาตังคะอยู่ที่กลางประตูพระนคร ก็ได้กล่าวว่า นี้ใครกัน

ก็ได้รับคำตอบว่า ข้าพเจ้า คือ คนจัณฑาล ชื่อว่า มาตังคะ

นางทิฏฐมังคลิกานั้นก็คิดว่า เมื่อชนทั้งหลายเห็นบุรุษเช่นนี้แล้ว ไปแล้วจะมีความเจริญที่ไหนได้

พอเห็นคนที่มีรูปไม่น่าดู เป็นขอทาน ก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะไปอุทยานนั้น เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์แล้วในวันนั้น เพราะฉะนั้น ก็สั่งให้ยานกลับ พวกบริวารที่ไปด้วยก็โกรธมาก เพราะควรที่จะได้บริโภคของเคี้ยวของบริโภคทั้งหลายที่บรรทุกเกวียนไปมากมาย ก็กลับไม่ได้บริโภคอาหารเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ก็จับนายมาตังคะ และขว้างปาด้วยก้อนดิน เข้าใจว่านายมาตังคะนั้นตายแล้ว ก็ได้จับเท้าโยนไปส่วนข้างหนึ่ง และกลบเสียด้วยขยะ พากันหลีกไป

เปิด  235
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566