แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 941

สุ. บางท่านบอกว่า วันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น น่าจะเป็นการดีถ้าจะทำให้จิตสงบ ก็คงจะเหมือนกับชีวิตประจำวันที่ว่า บางท่านมีอกุศลเกิดมาก ก็ปล่อยให้เป็นอกุศลไป และบางท่านเมื่อเห็นว่าเป็นอกุศล ก็ไม่อยากให้เป็นอกุศลต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อมีทางที่จะทำได้หรือเป็นไปได้ ก็ใคร่ที่จะทำให้กุศลจิตเกิด ให้สงบเสียก่อน แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า ที่คิดอย่างนั้น ก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมดับไปเป็นธรรมดา และไม่มีโอกาสที่จะรู้เลยว่า แม้ในขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

แต่การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เลือก และไม่ได้รอด้วย แล้วแต่ว่าปัญญาจะเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดบ้าง และเมื่อยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็ระลึกจนกว่าจะศึกษาและรู้เพิ่มขึ้น จนถึงขณะที่สามารถประจักษ์ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมโดยไม่ได้เลือกและโดยไม่ได้รอ เพราะว่าเป็นความสมบูรณ์ของเหตุที่ได้อบรมเจริญปัญญามาแล้ว จนกระทั่งปัญญามีปัจจัยที่จะแทงตลอดประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ และก็อบรมเจริญจริงๆ อย่าให้มีความหวัง หรือความต้องการที่จะชักนำไปสู่การไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

. เป็นความจริง มีเรื่องหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับใครผมก็จำไม่ได้ ที่โดนเรียกว่า ใบลานเปล่าๆ จนท่านสังเวชใจ ท่านก็ไปหาลูกศิษย์ที่ท่านเคยสั่งสอน ให้แนะนำธรรมแก่ท่าน ศิษย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอนเพราะท่านเป็นอาจารย์ อาจารย์ก็ไปหาเณร เณรบอกท่านว่า มีจอมปลวกอยู่อันหนึ่ง มีรูอยู่ ๖ รู เหี้ยเข้าออกตาม รูนั้นๆ และให้ดูว่า เหี้ยเข้าออกทางรูไหน ให้ดูตามนั้น ผมเข้าใจว่า เป็นสมถะ เพราะระลึกถึงธรรม แต่พอถึงวิปัสสนา เมื่อเราได้ฟังธรรมนี้แล้วก็พิจารณาดูว่า เหี้ยหมายความว่าอย่างไร และรูทั้ง ๖ หมายความว่าอะไร เป็นต้นว่า ในร่างกายเรานี้มีตา หู จมูก เป็นต้น เราเห็นนั่นเป็นรูป นี่เป็นนาม เรารู้แล้ว ศึกษาแล้ว เกิดจากเวทนาเราก็รู้ กายเรากำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ ลมพัดมากระทบ มีความเย็น รู้สึกว่าความเย็นเกิดขึ้น เราก็รู้ว่าความเย็นที่เกิดขึ้นนั้นอาศัยธาตุไฟ อย่างนี้เป็นต้น ผมเข้าใจว่า การเจริญสมถวิปัสสนาคงจะเป็นอย่างนี้ อาจารย์ช่วยแนะนำด้วย

สุ. ใบลานเปล่าในครั้งอดีตมี ในปัจจุบันนี้ยังคงมีหรือเปล่า โมฆบุรุษมี ตั้งแต่ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ในครั้งนี้มีโมฆบุรุษหรือเปล่า คือ ถ้าเป็นเพียงการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจหรือว่าอาจจะเป็นเพื่อจุดประสงค์อื่น ย่อมเป็นใบลานเปล่าหรือว่าโมฆบุรุษ

แต่ถ้าเป็นการศึกษาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ชัดเจนขึ้น ให้ถูกต้องขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ในอรรถของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง นั่นคือจุดประสงค์ และผู้ใดที่ศึกษาอย่างนี้ ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เพื่อจุดประสงค์อย่างนี้ ไม่ใช่ใบลานเปล่า ไม่ใช่โมฆบุรุษ

เพราะฉะนั้น อย่าเพียงต้องการที่จะฟังมากๆ และไม่พิจารณาว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ปรากฏรอบตัวทุกวันที่จะให้รู้ชัด ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม ถ้าเพียงฟังแต่ไม่ได้ศึกษาลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏรอบตัวแต่ละขณะตามปกติตามความเป็นจริง ในขณะนั้นเป็นโมฆบุรุษ เพราะว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษา ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟัง เป็นใบลานเปล่า หรือว่าเป็นบุรุษเปล่า ไม่ใช่ฟังเฉยๆ หรือว่าฟังเพียงเพื่อทราบ เพื่อเข้าใจเท่านั้น แต่ว่าฟังเพื่อที่จะให้รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อลคัททูปมสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือนว่า

ข้อ ๒๗๘

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุรุษเปล่าเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้นเป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเปล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเปล่าเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษ เสาะหา งูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่ข้อมือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตายหรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้นเป็นเหตุเพราะอะไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกบุรุษเปล่าบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นนั่นแล ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ... อัพภูตธรรม เวทัลละ บุรุษเปล่าเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้นเป็นผู้มีการข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเปล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้นแห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเปล่าเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะธรรมทั้งหลาย อันตนเรียนไม่ดีแล้ว

นี่เป็นความสำคัญมากที่ว่า เมื่อศึกษาแล้วต้องพิจารณา จึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้วอาจจะเข้าใจธรรมผิด เป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นโทษ เป็นความทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะธรรมเปรียบเหมือนงูพิษ ซึ่งถ้าจับไม่ดี ก็จะกัดบุรุษนั้น ทำให้เกิดทุกข์โทษภัยจนกระทั่งสิ้นชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมแล้ว ต้องพิจารณาเพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติให้ถูก ต้องเข้าใจว่าที่ศึกษานี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติถูก

เพราะฉะนั้น ถ้าได้รับฟังและพิจารณาแล้วเห็นว่า ธรรมใดไม่ประกอบด้วยเหตุผล ก็อย่าประพฤติปฏิบัติตามโดยเข้าใจว่า ธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผลนั้นเป็นธรรมที่ถูก เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมวินัย คือ ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

การศึกษาธรรม เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพื่อการประพฤติถูก เพื่อละการประพฤติผิด

. ในพระสูตรที่อาจารย์ยกขึ้นมา ฟังๆ แล้วก็งงที่ว่า ศึกษาธรรมไม่ดี คือ ผู้ศึกษาศึกษาแล้วคลาดเคลื่อน ผู้ศึกษานั้นเข้าใจธรรมผิด หรือว่าธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ว่าธรรมไม่ดี

สุ. ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง คือ ธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏรอบตัว เพราะฉะนั้น ที่จะศึกษาเรื่องของธรรม คือ ศึกษาเรื่องสภาพธรรมที่เห็น สภาพธรรมที่ได้ยิน สภาพธรรมที่ได้กลิ่น สภาพธรรมที่ลิ้มรส สภาพธรรมที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ที่เกิดขึ้นเป็นปกติเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

การปฏิบัติถูก คือ การระลึกรู้และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง จนกว่าความเข้าใจถูกความเห็นถูกตรงตามที่ทรงแสดงจะค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น รู้ในสภาพธรรมที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะประจักษ์ชัด ถ้าไม่ได้ศึกษาอย่างนี้ หรือว่าศึกษาอย่างนี้แต่ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ทรงแสดงไว้เพื่อให้ประจักษ์ชัด ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษา

และถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกไม่เกิดขึ้น และยังเป็นการเผยแพร่ในข้อปฏิบัติที่ผิด ซึ่งย่อมจะเป็นการทำลายข้อปฏิบัติที่ถูก เป็นโทษมากทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่นด้วย

. ทุกวันนี้มีพุทธบริษัทมากเหมือนกันที่จุดมุ่งหมายของการศึกษา ศึกษานักธรรมบ้าง ศึกษาบาลีบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อจะได้ปริญญา และก็ได้ความรู้ แต่ขณะที่ศึกษาเพื่อได้ความรู้นั้น ไม่ได้มีข้อปฏิบัติ ไม่ได้ปฏิบัติเลย มุ่งแต่จะศึกษาเท่านั้น แบบนี้จะเป็นการศึกษาที่เป็นงูพิษไหม

สุ. มีข้อความว่า บุรุษเปล่าเหล่านั้น เป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ กลัวว่าคนอื่นจะติถ้าไม่ศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น จึงเรียน แต่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะรู้ชัด เพราะฉะนั้น ก็เป็น บุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่ได้ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา

ถ. คัมภีร์เปล่าที่ท่านผู้ฟังคนนั้นยกขึ้นมา คือ ท่านพระโปฐิละ ซึ่งพระโปฐิละนั้น ท่านไม่ได้ปฏิบัติธรรมมาตลอดพระพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์ ท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมแต่ไม่ได้ปฏิบัติ ส่วนใหญ่สายกัมมัฏฐานในประเทศไทยตำหนิการศึกษา มักจะยกเอาท่านพระโปฐิละขึ้นมาอ้างว่า ผู้ที่ปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องศึกษา เพราะว่าที่จะรู้แจ้งมรรคผลนิพพานต้องเกิดจากการปฏิบัติเท่านั้น การศึกษา จะศึกษาสักเท่าไรก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาไม่จำเป็น ให้มุ่งปฏิบัติอย่างเดียว

แต่ท่านลืมว่า พระคัมภีร์เปล่านั้น ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด เพราะฉะนั้น การศึกษา ถ้าศึกษาแล้วไม่ได้ปฏิบัติ แต่ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุในอนาคตได้

สุ. ที่จะบรรลุได้ ต้องปฏิบัติ ต้องมีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษามาถึง ๗ พระองค์

. แต่ท่านไม่ได้บอกว่า มีการปฏิบัติ

สุ. ในขณะที่เป็นชาติสุดท้าย ชาติเดียวไม่พอสำหรับการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

. ใช่ แต่ในคัมภีร์ก็ไม่ได้ปรากฏว่า ท่านได้ปฏิบัติ บอกแต่ว่า ท่านเป็นอาจารย์สอนปริยัติมาในสมัยพระพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์

สุ. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเคยเจริญสติปัฏฐานก่อนที่จะได้ฟังธรรมหรือเปล่า แต่เพียงได้ฟังก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่ต้องถึงคัมภีร์ต่างๆ มากมายหลายคัมภีร์ในชาตินั้นเลย เพียงได้ฟังสั้นๆ แต่ย่อมหมายความว่า ท่านเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญเหตุมาแล้ว สมควรที่ผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมจะเกิด ก็เกิดได้

เพราะฉะนั้น สำหรับท่านพระโปฐิละก็เหมือนกัน จะต้องมีอดีตชาติซึ่งท่านสะสมอบรมมาแล้ว รวมทั้งการศึกษาของท่าน ท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในคัมภีร์ต่างๆ จากสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์ ซึ่งหมายความว่าการอบรมเจริญเหตุที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องมีก่อนนั้น แต่ว่าในชาตินั้น ชีวิตของท่านสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ก็เป็นบุคคลเช่นนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสะสมมาที่จะไม่ได้ศึกษาคัมภีร์ใดๆ ก่อนที่จะได้เป็นพระโสดาบัน ชีวิตของท่านตามความเป็นจริง ก็เป็นอย่างนั้น และชีวิตของบรรพชิตหลายรูปก็มีการศึกษา มีการฟังธรรม แล้วแต่ว่าท่านจะชำนาญในนิกายใด คัมภีร์ใดมากน้อยเท่าไร และจะบรรลุเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ที่จะให้เกิดนามธรรมแต่ละขณะจิตวิจิตรไปตามการสะสม ซึ่งไม่ซ้ำกัน ไม่เหมือนกันเลย

จะเอาตัวอย่างของใคร แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่อยากจะฟังมากๆ แต่ไม่พิจารณาว่า ธรรมคือสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม คือ การฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้น ลึกซึ้งขึ้น จนกว่าจะเป็นปัจจัยให้สติเกิด และศึกษาจนกว่าจะรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง

. พระสูตรที่อาจารย์ยกขึ้นมาก็น่าคิด ส่วนใหญ่คนเข้าใจว่า การศึกษาพระพุทธพจน์ หรือการศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า จะต้องเป็นกุศล จะต้องไม่มีโทษ แต่ในพระสูตรที่อาจารย์ยกขึ้นมาบอกว่า ผู้ใดศึกษาไม่ดีแล้ว เป็นโทษ ธรรมนั้นเป็นงูพิษ ผู้ที่จะได้ยินได้ฟังอย่างนี้น้อยมาก

สุ. แต่ปรากฏว่า การศึกษาปริยัติธรรมก็มีมาก และการปฏิบัติผิดก็มีมากด้วย แสดงให้เห็นถึงการศึกษาโดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะศึกษาธรรมต้องเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่า ศึกษาเพื่ออะไร และธรรมคืออะไร ธรรม คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ การศึกษา คือ การฟังให้เข้าใจชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าสติจะระลึกและศึกษาจนกระทั่งประจักษ์ชัดในลักษณะของธรรมที่ปรากฏตามที่ทรงแสดงไว้

ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ ซึ่งเป็นพระอภิธรรมปิฎกคัมภีร์ที่ ๑ มีข้อความว่า

คำถามที่ว่า พวกไหนศึกษาพระธรรม

มีคำแก้ว่า พวกพระเสกขะและพวกกัลยาณปุถุชนศึกษา

คำถามที่ว่า พวกไหนศึกษาสำเร็จแล้ว

มีคำแก้ว่า พวกพระอรหันต์ ขีณาสพศึกษาสำเร็จแล้ว

คำถามที่ว่า พวกไหนทรงจำไว้

มีคำแก้ว่า เป็นไปแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นก็ทรงจำไว้

คำถามที่ว่า ใครนำมา

มีคำแก้ว่า อันอาจารย์นำสืบทอดกันมา

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พวกไหนศึกษาพระธรรม พวกพระเสกขะและพวกกัลยาณปุถุชนศึกษา

ท่านที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่ใช่พระเสกขบุคคล พระเสกขบุคคลหมายความถึงพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล พระอริยเจ้า ๓ ประเภทเป็นผู้ที่ศึกษา และยังจะต้องศึกษาต่อไป เพราะฉะนั้น มีคำถามว่า พวกไหนศึกษาสำเร็จแล้ว พวกพระอรหันต์ ขีณาสพศึกษาสำเร็จแล้ว

ถ้ายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องศึกษาอยู่ ศึกษาอะไร ก็ศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะรอบตัว ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสภาพธรรมต่างๆ ที่ปรากฏ

เปิด  267
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566