แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 944

ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ใครจะไม่ให้เห็นเกิดขึ้นไม่ได้ มีปัจจัยที่จะให้เห็นเกิดขึ้นเห็น เห็นก็ต้องเห็น แต่เห็นจะคิดนึกอะไรหรือจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้วิจิตรเกินกว่าเห็น ที่กำลังเห็นในขณะนี้ไม่ได้เลย เพราะว่าจิตที่เห็นเป็นจิตประเภทหนึ่งในจิตหลายๆ ประเภท ซึ่งต่างกันไปแต่ละขณะตามเหตุตามปัจจัย

ต้องเข้าใจเรื่องการเห็นเพิ่มขึ้นว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นเพียงเห็น สภาพที่กำลังเห็นนี้ทำอื่นไม่ได้ ได้ยินเสียงไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ เห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็นเท่านั้น และห้ามไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็น คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

ในขณะนี้มีสภาพรู้ ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ใช้คำว่า เห็น แต่เป็นธรรม เป็นของจริง เป็นสภาพที่ลึกซึ้งหรือจะใช้คำว่าลึกลับก็คงจะไม่ผิด เพราะว่าไม่ปรากฏ แต่จะต้องอาศัยความรู้ว่า สภาพนั้นมีจริง เป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นและ ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ไม่มีใครไปจับ ไปยึด นำมาทดลอง นำมาพิสูจน์ได้ แต่มีสติที่เกิดขึ้นและระลึกได้ว่า ในขณะนี้เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น เป็นสภาพของจริงชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา และจะทำกิจอื่นนอกจากเห็นก็ไม่ได้

ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพเห็นหรือธาตุเห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน จะไม่มีการประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของธรรมใดๆ เลย เมื่อไม่มีการประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ย่อมไม่เห็นความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น กิเลสก็ย่อมจะดับไม่ได้ เพราะปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะเป็นเราเห็น และต้องการที่จะเห็นต่อไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม ต้องเข้าใจด้วยว่า เพื่อให้เข้าใจชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นความรู้ชัด จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง คือ รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นอนัตตา แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้ายังเป็นตัวตนอยู่ ต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น และต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อนัตตาหมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้นจึงปรากฏ และก็ดับไป

นิพพานก็เป็นอนัตตา แต่ยังไม่ปรากฏ เพราะว่ายังไม่รู้ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏก่อน เมื่อยังไม่มีความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก่อน ปัญญาก็จะไม่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้ เพราะต้องละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏ เนื่องจากปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

แต่ถ้าจะกล่าวคำหนึ่งคำใดให้ท่านผู้ฟังทำอย่างอื่น เช่น ขณะนี้มาทำให้จิตสงบกันดีกว่า ถ้ากล่าวอย่างนี้ สติจะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพรู้ที่กำลังเห็น หรือในขณะที่เสียงปรากฏ สติก็จะไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังรู้เสียง ซึ่งไม่ใช่ตัวตนสักขณะเดียว เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็ไม่มีโอกาสที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง และย่อมจะไม่มีประโยชน์อะไรถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาพระธรรมให้เป็นเรื่องราวแต่ไม่พิสูจน์พระธรรมว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนี้เป็นความจริง และก็ไม่มีวันที่จะประจักษ์ชัด ถ้าสติไม่เริ่มเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

บางท่านคิดว่า ถ้าจะปล่อยให้ชีวิตผ่านไปตามเหตุตามปัจจัยดูเหมือนจะ ไม่สำรวม อกุศลย่อมเกิดตามเหตุตามปัจจัย ท่านก็มีตัวตนที่อยากจะได้กุศล แต่โดยความไม่รู้ และด้วยความอยากจะได้ เพราะว่าไม่พอใจในอกุศล ซึ่งกุศลก็มีหลายขั้น ถ้าไม่เข้าใจเรื่องการอบเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ท่านอยากจะสงบ เพราะเห็นชัดทันทีว่าในขณะนั้นปริยุฏฐานกิเลสไม่ได้เกิดขึ้น คือ ความไม่แช่มชื่น ที่เป็นโทสะบ้าง หรือโลภะบ้างไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านหวังเพียงแค่นั้น ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ไม่ใช่การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะมีกุศลที่เป็นความสงบของจิตเกิด แต่ก็เป็นตัวตนทุกภพทุกชาติไป และเมื่อไรปัญญาจะประจักษ์ชัดว่า เห็นที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นจิต เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

บางท่านก็คิดว่า จะทำหลายอย่าง จะทำสำรวม จะทำสงบบ้าง ล้วนแต่เป็นเรื่องของการทำทั้งสิ้น แต่ให้ทราบว่า เวลาที่ไม่ทำ ปัญญาสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ซึ่งกำลังไม่ได้ทำ ตามปกติตามความเป็นจริงว่า เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น เป็นธาตุรู้ที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้ไหม

ท่านคิดว่า ท่านจะต้องทำอย่างนี้บ้าง ท่านจะต้องทำอย่างนั้นบ้าง เวลาที่ท่านคิดว่า ท่านจะทำสำรวม ท่านก็พอใจในความสำรวม เวลาที่ท่านคิดว่า ท่านจะทำความสงบ ท่านก็พอใจในขณะที่ท่านคิดว่าสงบ แต่ใครเป็นตัวตนที่จะทำได้อยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นที่จะเป็นไปอย่างนั้น แต่เข้าใจผิดว่าเป็นตัวท่านที่ทำ และก็สามารถที่จะทำได้ ซึ่งนั่นเป็นความเห็นผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทุกขณะต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ แต่เมื่อไรจะรู้ชัดอย่างนั้น

และในวันหนึ่งๆ ที่กำลังไม่ได้ทำ มีไหม เพราะว่าไม่มีใครที่จะสามารถทำอยู่ได้ตลอดเวลา และที่ท่านแยกสำรวม คือ การทำสำรวม เพราะฉะนั้น ในขณะที่ไม่ได้ทำสำรวมย่อมมี ซึ่งขณะนั้นอกุศลย่อมเกิด ย่อมปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง แต่รู้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังอาจจะมีความโน้มเอียงที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ตามความเห็นผิด ตามความเข้าใจผิด ตามความไม่มั่นคงในการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ให้ทราบว่า ในขณะอื่นที่ไม่ใช่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ขณะนั้นไม่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลส คือ การยึดถือ สภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ

การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการยาก แต่ไม่ท้อถอย ไม่ใช่บังคับให้สติเกิด แต่รู้ว่าเพราะมีปัจจัยที่จะเกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้าง แม้กุศลและอกุศลเหล่านั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้ารู้อย่างนี้ การเป็นผู้ที่มั่นคงในการอบรมเจริญ สติปัฏฐานจะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แต่ถ้าท่านจะทำ ก็ลำบาก เพราะว่าไม่สามารถจะทำอยู่ได้ตลอดเวลา และเวลาที่ไม่ทำ จะไม่รู้เลยว่า ลักษณะของสภาพธรรมตามปกตินั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ผู้ฟัง การปฏิบัติเจริญภาวนามี ๒ อย่าง คือ วิปัสสนาภาวนาและ สมถภาวนา ถ้าวิปัสสนาภาวนาทำไม่ได้ ต้องแล้วแต่ว่าสติเกิดขึ้นในขณะใด ที่ไหน ก็ระลึกที่นั่น ส่วนสมถภาวนาต้องทำ คือ ในพระอภิธรรมปิฎก คัมภีร์ไหนจำไม่ได้ ท่านบอกว่า ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนา ในปฐมยามต้องเดินจงกรม ในมัชฌิมยามให้นอน ในปัจฉิมยามต้องเดินจงกรมอีก ต้องทำอย่างนี้

สุ. ขอประทานโทษ ผู้เจริญวิปัสสนาต้องทำอย่างนี้ด้วยหรือเปล่า

ผู้ฟัง ผู้ที่ทำวิปัสสนาภาวนาไม่ต้อง

สุ. ใน อปัณณกสูตร ซึ่งเป็นการแสดงถึงข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง มีการกล่าวถึงยามทั้ง ๓ นี้ด้วย เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า

ผู้ฟัง ไม่เป็น เพราะส่วนใหญ่กลางคืนก็นอนกันทั้งนั้น

สุ. โดยปกติ

ผู้ฟัง โดยปกติแล้ว กลางคืนต้องนอน

สุ. โดยปกติทุกคนนอนมาก ใช่ไหม แต่พอฟังก็รู้สึกว่า ชีวิตนี้ตอนไหนมีประโยชน์ ตอนหลับ หรือตอนตื่น

ผู้ฟัง ก็แล้วแต่

สุ. โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา

ผู้ฟัง ถ้าโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญา ตอนตื่นเป็นประโยชน์

สุ. เมื่อเข้าใจว่าตอนตื่นมีประโยชน์ และถ้านอนมักจะหลับ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าการตื่นมีประโยชน์จะทำอย่างไร ถ้านอนก็มักจะหลับ ก็ไม่นอน ใช่ไหม เมื่อไม่นอนจะทำอะไร ก็เดินบ้าง นั่งบ้างตามสมควร ต้องเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า ไม่ใช่เพียงที่จะให้เกิดความสงบ ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่จำเป็นต้องทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตลอด ๔๕ พรรษา

ท่านผู้ฟังเข้าใจว่า สมถภาวนาเป็นเรื่องต้องทำ เข้าใจว่าอย่างนั้น และมีความรู้สึกว่า เป็นตัวตนที่ทำ ใช่ไหม แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ต้องมีบุคคล ๒ บุคคลที่มีความเข้าใจต่างกัน

ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ซาบซึ้ง ยังไม่ประจักษ์ชัดในความหมายของธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ย่อมจะมีความสำคัญผิดว่า เป็นตัวตนที่ทำ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฟัง พิจารณา และเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็จะรู้ได้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นก็เป็นอนัตตา ถ้าเกิดความยินดีพอใจขึ้นก็รู้ว่า เป็นอนัตตา ถ้าเกิดความไม่แช่มชื่นไม่พอใจ ก็รู้ว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเกิดกุศลจิต สงบก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราต้องทำ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความสงบของจิต จิตย่อมจะไม่สงบขึ้น แต่เพราะอาศัยความรู้เป็นปัจจัย พร้อมกับสภาพของสังขารขันธ์อื่นๆ เช่น ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ เป็นต้น ทำให้ความสงบเพิ่มขึ้น มั่นคงขึ้น ซึ่งผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาย่อมสำคัญผิดว่า เป็นเราที่กำลังทำ เป็นตัวตน แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาย่อมรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็น กุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นความสงบเพียงเล็กน้อย หรือว่าความสงบที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ซึ่งสติปัฏฐานสามารถ รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แม้สภาพธรรมที่สงบหรือ ไม่สงบว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเอาประโยชน์อย่างไหน จะเอาประโยชน์ที่จะทำความสงบและก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คิดว่าต้องทำ หรือว่าจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นอกุศลหรือกุศล ไม่ว่าจะเป็นความสงบขั้นใดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น และสติปัฏฐานยังสามารถเกิดระลึกรู้ชัดในลักษณะของ สภาพธรรมแต่ละลักษณะ สามารถที่จะประจักษ์ชัดในความไม่ใช่ตัวตน จนถึงสามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้

ผู้ฟัง ผู้ที่ทำสมถภาวนาบางท่านก็ไม่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะของความเป็นอนัตตา ผู้ทำสมถะบางท่านอาจจะไม่รู้ แต่ก็ทำสมถะได้

สุ. เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้ทำสมถะ หรือว่าทรงแสดงธรรมเรื่องการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง เพราะว่าก่อนการตรัสรู้ของ พระผู้มีพระภาค ก็มีบุคคลที่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงความสงบขั้นสูงที่สุด คือ อรูปฌานขั้นที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่ไม่สามารถจะรู้ลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น ได้ยินที่กำลังได้ยินตามปกติ

ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ทั้งสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เพราะว่าขณะที่ภาวนานั้นจิตเป็นกุศล และพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญกุศลทุกประเภท

สุ. แต่ผู้ที่เป็นพุทธบริษัท จะได้ประโยชน์อะไรจากพระธรรมเพิ่มขึ้นจากการเป็นพุทธบริษัท เพราะถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ต่างอะไรเลย แม้แต่กับสมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่ต่างกัน ความต่างกันมีเพียงประการเดียว คือ เป็นผู้ที่ฟังและอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะประจักษ์ชัดตามความเป็นจริง

ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเป็นตัวตน กำลังทำความสงบอยู่ จะเป็นเดินจงกรมก็ดี นั่งขัดสมาธิก็ดี ขณะนั้นจิตของเขาก็เป็นกุศล เมื่อเป็นกุศล ขณะนั้นถือว่าเป็นประโยชน์

สุ. ทำอย่างไร เดินจงกรมแล้วสงบ

. เดินจงกรม ก็พิจารณาอารมณ์กัมมัฏฐานได้

สุ. คืออะไร

. ขณะที่เดิน ขณะนั้นพิจารณาอารมณ์กัมมัฏฐานอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

สุ. คืออะไร อารมณ์กัมมัฏฐานอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ก็ยังไม่รู้ว่าอารมณ์อะไร ผิดถูกแค่ไหน ต้องให้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องรู้จริงๆ

ผู้ฟัง ขณะที่เดิน ขณะนั้นจะรู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ ลมหายใจเข้าก็รู้ได้ ลมหายใจออกก็รู้ได้ ในขณะนั้น

สุ. และรู้ได้อย่างไรว่า สงบ

ผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติต้องรู้ ขณะที่สงบต้องรู้ว่าสงบ ขณะที่ไม่สงบต้องรู้ว่าไม่สงบ

สุ. ต้องมีสติสัมปชัญญะ ใช่ไหม ต้องรู้ว่า ปกติธรรมดาที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ กับในขณะที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์และสงบนั้นเพราะอะไร ต้องมีเหตุผล

ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นมีสติตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ คือ ลมหายใจ

สุ. สติ หรือสมาธิ

ผู้ฟัง ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาด้วย

สุ. ปัญญารู้อะไร ในขณะที่ลมหายใจปรากฏ

ผู้ฟัง รู้ลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง

สุ. และทำไมจึงสงบ

ผู้ฟัง ก็ขณะนั้นไม่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ มีลมหายใจเป็นอารมณ์จึงสงบ

สุ. ขณะที่เห็น มีอะไรเป็นอารมณ์บ้างไหม มีโลภะบ้างไหม ขณะที่กำลังเห็น

ผู้ฟัง มีบ้าง ไม่มีบ้าง

สุ. รู้หรือ รู้ว่ามีโลภะในขณะที่กำลังเห็นหรือ หรือเข้าใจว่ามี แต่ไม่ได้รู้ว่ามี

ผู้ฟัง เข้าใจว่ามี

สุ. เพราะฉะนั้น ก็เลยเข้าใจว่า เวลาที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์นั้น สงบ แต่ไม่ใช่รู้ว่า สงบ เพราะแม้ในขณะนี้ที่กำลังเห็นก็ไม่ได้รู้จริงๆ ว่า มีโลภะ เพียงแต่เข้าใจว่ามี เพราะฉะนั้น เวลาที่มีลมหายใจจริงๆ เป็นอารมณ์ ก็เข้าใจว่า คงจะสงบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จริงๆ ว่าสงบหรือเปล่า

ผู้ฟัง ไม่ใช่ ขณะที่รู้ลมหายใจ กับขณะที่เห็น ไม่เหมือนกัน

สุ. ต่างกันอย่างไร เพราะว่าการรู้อารมณ์มี ๖ ทาง

ผู้ฟัง ต่างกันที่ว่า มีการใส่ใจ กับไม่มีการใส่ใจ

เปิด  305
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566