แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 948
ถ. ปฏิสนธิจิตตามที่ได้ศึกษา เกิดขึ้นพร้อมๆ ในวาระแรกเลย หรือว่ามาเกิดในวาระสุดท้ายตอนออกจากครรภ์มารดา
สุ. ไม่ใช่มาเกิดตอนออกจากครรภ์
ถ. เกิดวาระแรกเลย
สุ. ใช่
ถ. ที่ว่า หทยวัตถุ อาศัย ...
สุ. มิได้ เกิดขึ้นที่กลางหัวใจ ตามปกติ เว้นแต่เวลาที่ตัดหัวใจออกไป ถ้าตัดไปแล้ว กรรมไม่ได้ตามไปให้ไปเกิดที่กลางหัวใจที่ถูกตัด เพราะว่าตามตลาดก็มีหัวใจ แต่ไม่มีหทยวัตถุ แต่กรรมยังคงทำให้หทยวัตถุเกิด เพราะจิตยังเกิดดับโดยต้องอาศัยหทยวัตถุที่ส่วนหนึ่งของกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่นำเอาหัวใจเทียมใส่เข้าไป กรรมก็ยังคงทำให้หทยวัตถุเกิด
ถ. เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๔ หรือ ๒๕๐๙ มีการตัดหัวใจทิ้ง และเอาหัวใจคนอื่นเข้าไปใส่แทน ก่อให้เกิดความสงสัยว่า ขณะนั้นถ้าจิตเดิมของตัวนาย ก. ที่อยู่ที่หัวใจเก่า
สุ. นาย ก. ยังคงเป็นเจ้าของอยู่หรือ ออกไปแล้วก็ยังคงเป็นเจ้าของอยู่
ถ. นาย ก. ยังนอนอยู่ เอาหัวใจออกไปแล้ว เอาหัวใจของนาย ข. มาใส่
สุ. หัวใจของนาย ข. ยังคงเป็นของนาย ข. หรือเปล่า โดยโวหารเป็นของนาย ข. แต่โดยสภาพธรรมไม่ใช่ของใคร กลายเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะอุตุ ไม่ใช่เกิดเพราะกรรม
ถ. จากนั้นนาย ก. ก็อยู่ต่อไปได้ประมาณ ๖ – ๗ เดือน แต่ปรากฏว่าร่างกายของนาย ก. ไม่ชอบใจหัวใจของนาย ข. หัวใจนาย ข. ก็หลุดออกจากรอยเย็บ
สุ. ไม่ชอบหัวใจนาย ข. หรือ เป็นไปไม่ได้
ถ. มิได้ ร่างกายนาย ก. ไม่ชอบหัวใจนาย ข. เพราะภูมิต้านทานของนาย ก. ไม่คุ้นกับหัวใจนี้
สุ. ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ถ. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน South Africa คนๆ นี้ได้เปลี่ยนหัวใจหลายครั้ง สุดท้ายไม่มีเงินจะเปลี่ยน และอยากตายมาก แต่ตอนเปลี่ยนไม่รู้จิตใคร ผมสงสัยมาก
สุ. เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ลักษณะของจิตว่า เป็นสภาพรู้ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว และหทยวัตถุเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วโดยมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ซึ่งคนอื่นไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์จะค้นคว้าทฤษฎีใหม่ๆ หรือว่าวิทยาการใหม่ๆ ซึ่งเกี่ยวกับรูปร่างกาย รูปเหล่านั้นทั้งหมดเป็นรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นปัจจัย ไม่ใช่เพราะกรรมเป็นปัจจัย นักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์ ไม่สามารถสร้างรูปที่เกิดเพราะกรรมได้
ในร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่ไม่เหมาะสม ก็มีการเพิ่มเติมดิน น้ำ ไฟ ลม ให้ได้ส่วนสัดที่เหมาะสม เมื่อกรรมยังเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ชีวิตก็ยังดำรงอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าอาศัยแต่เพียง ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมภายนอกมาปรุงแต่งโดยที่ไม่มีรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิด
ชีวิตที่กำลังดำรงอยู่ที่รูปร่างกายนี้ มีรูปที่เกิดเพราะกรรมหลายกลุ่ม เป็นส่วนใหญ่ มีรูปหลายกลุ่มที่เกิดเพราะจิต มีรูปหลายกลุ่มที่เกิดเพราะอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน มีรูปหลายกลุ่มที่เกิดเพราะอาหาร ร่างกายนี้จึงดำรงอยู่ได้ ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดำรงอยู่ไม่ได้ เช่น ถ้ารูปที่เกิดเพราะกรรมดับไปแล้วไม่เกิดอีก จะมีคนนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลย ก็เปลี่ยนสภาพโดยการที่กรรมจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตพร้อมเจตสิกและรูปเกิดขึ้นในภพภูมิต่อไป หมดสิ้นความเป็นบุคคลนี้ ถ้ากรรมไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ
และถ้าไม่มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิต ก็ไม่ได้ ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการที่จะกระทำกิจการงาน ไม่มีการที่จะสืบต่อดำรงร่างกายนี้ต่อไปได้ ถ้าไม่มีรูปที่เกิดเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อน ร่างกายนี้ก็ไม่สามารถจะดำรงต่อไปได้ นี่เป็นเหตุที่จะต้องมีการหายใจ และมีรูปภายนอกซึ่งเป็นอากาศเข้าไป เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้รูปร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยดี และยังต้องมีรูปซึ่งเกิดเพราะอาหาร ถึงแม้ว่าจะมีรูปที่เกิดขึ้นเพราะกรรม มีรูปที่เกิดเพราะจิต มีรูปที่เกิดเพราะอุตุ ก็ยังไม่พอ สำหรับสัตว์ที่อยู่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในมนุษย์ เป็นต้น จะต้องอาศัยรูปที่เกิดเพราะอาหารด้วย นี่เป็นเหตุที่จะต้องรับประทานอาหาร เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว อาหารนั้นเป็นปัจจัยทำให้รูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเกิดขึ้น อุปการะเกื้อกูลแก่ร่างกายให้ดำรงชีวิตต่อไปได้ด้วยดี
จิตดวงเดียวเที่ยวไป แต่ละคนมีจิตเกิดขึ้นทีละดวง คือ ทีละขณะ และไม่ได้อยู่นิ่ง เกิดขึ้นทางตาเห็นสิ่งต่างๆ ทางหูได้ยินเสียงต่างๆ ทางจมูกได้กลิ่นต่างๆ ทางลิ้นลิ้มรสต่างๆ ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึกเรื่องราวต่างๆ และหมดไป ในขณะหนึ่งๆ นั่นเอง อย่างรวดเร็วที่สุด และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัย หทยวัตถุ ซึ่งเป็นรูปที่มองไม่เห็นเกิดขึ้น ทั้งจิตก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว และหทยวัตถุก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ว่านามธรรมนั้นเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม
ข้อความต่อไปมีว่า
ที่ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะความหมายว่า บริสุทธิ์ คำนี้ตรัสหมายเอา ภวังคจิต
ที่ท่านผู้ฟังถามว่า เวลาที่ชอบหรือชังก็รู้ แต่เวลาเฉยๆ ดูเหมือนกับว่า ไม่มีจิตในขณะนั้น ในขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ดูเหมือนว่าไม่มีจิต สงสัยว่าขณะนั้นมีจิตหรือเปล่า หรือว่าขณะนั้นคงจะไม่มีจิต แต่ให้ทราบว่า คนที่ยังไม่ตาย เมื่อเกิดมาแล้ว จิตเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไป และการดับไปของจิตดวงนั้นเองเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น และไม่ใช่ว่าจะมีการเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะมีการได้ยินอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะมีการ ได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือการคิดนึกอยู่ตลอดเวลา ถูกไหม
ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ก็มี เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิทไม่ฝัน ที่ต่างกับคนตายก็คือว่า คนตายไม่มีจิตเกิดดับ แต่ว่าคนเป็นที่หลับ ที่ชื่อว่าหลับ หลับสนิทไม่ฝัน มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่เรื่อยๆ และจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่เวลาที่ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตนั้นไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้ทำกิจคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แต่จิตนั้นทำภวังคกิจ คือ ดำรงรักษาภพชาติการเป็นบุคคลนั้น สืบต่อไว้จนกว่าจะจุติ
เพราะฉะนั้น ที่ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะความหมายว่า บริสุทธิ์ คำนี้ตรัสหมายเอา ภวังคจิต จะเห็นได้ว่า ที่ว่าบริสุทธิ์ ก็เพียงชั่วขณะที่ไม่เห็น แต่เวลาเห็นแล้ว ไม่บริสุทธิ์ ชอบบ้าง ชังบ้างในสิ่งที่ปรากฏ แต่ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน เวลาที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย ทุกคนดูเหมือนว่า เป็นคนบริสุทธิ์ ใช่ไหม ไม่ได้ต่างอะไรกับพระอรหันต์ โดยอาการที่ปรากฏภายนอก ไม่มีความรู้สึกชอบ ไม่มีความรู้สึกชัง ไม่มีความริษยา ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีมานะ ไม่มีความสำคัญตน ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอเห็นเท่านั้น จะทราบได้ว่า จิตไม่บริสุทธิ์ เพราะสะสมกิเลสไว้มาก เมื่อมีการเห็นสิ่งที่พอใจ ก็เกิดความยินดีพอใจ เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ก็มีความรู้สึกไม่แช่มชื่น มีความรู้สึกไม่พอใจ
แต่ขณะใดที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นดูเหมือนว่าบริสุทธิ์ เพราะไม่ปรากฏความรู้สึกชอบ หรือความรู้สึกชัง แต่ว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นเป็นอนัตตา เป็นจิตที่เห็น เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เห็นแล้วความรู้สึกในขณะนี้เป็นอย่างไร ความรู้สึกโสมนัส ยินดีพอใจ ในขณะนั้นไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพียงรู้ ไม่ได้รู้สึกดีใจหรือเสียใจ โสมนัสหรือโทมนัส ในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดกับจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกว่า เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ
เจตสิกทุกชนิดจะเกิดตามลำพังไม่ได้ เจตสิกจะต้องเกิดกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นสังขารธรรมไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพังเฉพาะเพียงอย่างเดียว แต่จะมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วยปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมนั้นๆ เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จิตจึงมีหลายประเภท
ถ. ภวังคจิตเป็นจิตบริสุทธิ์ทั้งหมดหรือ
สุ. ไม่ปรากฏว่า ชอบหรือชัง ที่เป็นกุศลหรืออกุศล ใช่ไหม
ถ. ภวังคจิตของมนุษย์ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นปัจจัยทำให้เกิด ก็เป็นกุศลจิต แต่ภวังคจิตของสัตว์เดรัจฉาน มีอกุศลวิบากจิตทำให้ปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้น ภวังคจิตของสัตว์เดรัจฉานไม่น่าจะเป็นกุศลจิต
สุ. ไม่ได้บอกว่าเป็นกุศล เพียงแต่ว่าไม่ปรากฏความชอบหรือความชัง เพราะว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก
ถ. ภวังคจิตของสัตว์เดรัจฉาน บริสุทธิ์หรือเปล่า
สุ. ภวังคจิตทั้งหมดบริสุทธิ์
ถ. คำว่า จิตประภัสสร บางคนเข้าใจผิดว่า จิตเดิมนี้ไม่มีกิเลส ประภัสสร บริสุทธิ์ ที่มีกิเลสเพราะภายหลังเกิดมาแล้ว อยากได้โน่น อยากได้นี่ ทำให้จิตเศร้าหมอง และเพราะเกิดมานาน ก็สะสมกิเลสไว้มากๆ เพราะฉะนั้น คำว่า จิตประภัสสร ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย
สุ. สำหรับความหมายของปัณฑระ ท่านผู้ฟังคงทราบแล้วว่าหมายถึงขณะที่เป็นภวังคจิต เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิทและไม่ฝัน ในขณะนั้นไม่ปรากฏว่าจิตเศร้าหมองหรือผ่องใส เพราะไม่ปรากฏว่า มีความชอบหรือความชังในขณะนั้น
เวลาที่มีความชัง จิตเศร้าหมองไหม เดือดร้อน ขณะใดที่เกิดชัง ไม่พอใจ ไม่แช่มชื่น ทุกท่านรู้สึกในอาการนั้นว่า เป็นสภาพธรรมที่เดือดร้อนอย่างยิ่ง ไม่ชอบเลย ไม่มีใครชอบจิตที่กระวนกระวาย กระสับกระส่าย เดือดร้อนใจ แต่เวลาที่ชอบรู้สึกไหมว่า จิตเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ เพราะความชอบ
ไม่รู้สึกเลย ใช่ไหม แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงเพื่อให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาต้องเห็นสภาพธรรมถูกต้อง ถ้าเป็นปัญญาแล้ว อกุศลใดๆ ก็ตามก็เป็นอกุศลทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าอกุศลนั้นเป็นแต่เพียงในขณะที่เกิดโทสะ อย่างที่บางท่านบอกว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่โกรธ
ถ้าทำได้ มีวิธี คนนั้นคงจะเป็นมหาเศรษฐี คือ เขียนตำราว่าด้วยการกระทำไม่ให้โกรธ ถ้าเป็นไปได้ก็คงจะขายดี แต่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ที่จะไม่โกรธจริงๆ ได้ ต้องอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะว่าการดับกิเลสรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ดับเพียงความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และเที่ยง เป็นต้น และเมื่อพระโสดาบันบุคคลอบรมเจริญปัญญาขึ้น รู้แจ้งอริยสัจธรรม ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ดับกิเลสเป็นพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ว่าละโลภะ โทสะ โมหะอย่างหยาบได้ คงเหลือแต่ โลภะ โทสะ โมหะอย่างละเอียด
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลเท่านั้น ที่จะดับโทสะได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าไม่ต้องการที่จะให้เกิดโทสะ จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงหนทางที่จะดับโทสะได้จริงๆ ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งไม่แน่นอน เพราะเมื่อมีปัจจัยที่โทสะจะเกิด โทสะก็ย่อมเกิด